Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 2

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ตอนที่ 2)

ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์สถานการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยได้วิเคราะห์เกี่ยวกับ Super Tuesday ไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดหลังจาก Super Tuesday


สถานการณ์หลัง Super Tuesday

ในตอนเลือกตั้งขั้นต้นช่วง Super Tuesday ผู้สมัครจากพรรค Democrat คือ Barack Obama และ Hillary Clinton ได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือดใน 24 รัฐ ซึ่งผลปรากฏออกมาว่า Hillary ชนะ Obama อยู่เล็กน้อย และคะแนน Hillary ก็นำอยู่เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง Super Tuesday Obama ก็ผงาดขึ้นมาแรงมาก และชนะ Hillary ในทุกรัฐ โดยมีการแข่งกัน 8 รัฐ Obama ชนะ ทั้ง 8 รัฐ คือ ที่ Louisiana , Nebraska, Washington, Virgin Islands, Maine, Washington D.C., Maryland และ Virginia จึงทำให้คะแนนของ Obama แซงหน้า Hillary ไปแล้ว และในการหยั่งเสียงทั่วประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่ Obama ได้แซง Hillary ไปเช่นเดียวกัน คืออยู่ที่ 45% ต่อ 44% แต่ในบาง Poll ก็ให้เสมอกันที่ 45%

การผงาดขึ้นมาของ Obama นั้น มาแรงมากในทุก ๆ กลุ่มของคนอเมริกัน ก่อนหน้านี้ Obama ถูกมองว่า มีฐานเสียงคือ คนหนุ่มสาว และคนผิวดำ แต่จากชัยชนะหลัง Super Tuesday ได้ชี้ให้เห็นว่า Obama ชนะ Hillary ในรัฐ Maine และ Washington ซึ่งเป็นรัฐของคนผิวขาว และ Obama ยังได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากผู้มีอายุสูงวัย และจากกลุ่มอิสระ (independents) ซึ่งกลุ่มอิสระนี้คือ พวกไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค Democrat หรือ Republican นอกจากนี้ ชัยชนะของ Obama ในแต่ละรัฐ ยังเป็นชัยชนะแบบถล่มทลาย ผิดความคาดหมาย

โดยเฉพาะในรัฐ Virginia Obama ชนะ Hillary ขาดลอย คือ 64% ต่อ 35% เช่นเดียวกับรัฐ Maryland ก็ชนะขาดลอย 61% ต่อ 35% และในเขต Washington D.C. ก็ชนะแบบถล่มทลาย คือ 75% ต่อ 24%
ที่น่าสนใจคือ ชัยชนะของ Obama ในรัฐ Virginia Obama ชนะ Hillary ในทุกกลุ่มคน ไม่ว่าจะในกลุ่มผู้ชายหรือกลุ่มผู้หญิง ที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้หญิงซึ่งน่าจะเป็นฐานเสียงของ Hillary แต่ Obama ก็ชนะ Hillary ในกลุ่มผู้หญิงนี้ คือชนะ 58% ต่อ 42% สำหรับคนผิวขาวซึ่ง Hillary น่าจะชนะ แต่ Hillary ก็แพ้ Obama คือแพ้ 47% ต่อ 52% ส่วนกลุ่ม Latinos คือ ชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน ซึ่งในอดีตเป็นฐานเสียงของ Hillary แต่ Hillary ก็แพ้ Obama อีก คือได้ 46% ต่อ 54% สำหรับกลุ่มสุดท้ายที่ Hillary น่าจะชนะแต่ก็แพ้คือ กลุ่มผู้สูงวัย ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป โดยแพ้ 45% ต่อ 55%


แนวโน้ม

อย่างไรก็ตาม หากดูแนวโน้มในอนาคต ก็น่าจะเป็นการพลิกไปพลิกมา โดยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จะเป็นการเลือกตั้งของพรรค Democrat ที่รัฐ Hawaii และ Wisconsin ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ยังไม่ทราบผล แต่คิดว่า Obama น่าจะชนะทั้ง 2 รัฐ

ดังนั้น Hillary ก็จะอยู่ในลักษณะ หลังพิงฝาแล้ว โดยผมคิดว่าในวันที่ 3 มีนาคม น่าจะเป็นวันชี้ชะตา Hillary โดยจะมีการเลือกตั้งในรัฐ Texas และ Ohio ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ทั้งคู่ โดย Texas จะมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งถึง 228 คน และที่ Ohio อีก 164 คน ดังนั้น ถ้า Hillary ชนะใน 2 รัฐนี้ก็จะพลิกกลับมานำ Obama ได้

สำหรับที่ Texas นั้น Hillary น่าจะเป็นต่อ เพราะมีคน Latinos อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และอาจเป็นเกือบครึ่งหนึ่งที่จะมาลงคะแนนเลือกผู้แทนพรรค Democrat ชาว Latinos เป็นฐานเสียงสำคัญของ Hillary อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า Latinos ส่วนใหญ่กลับเลือก Obama มากกว่า Hillary ในรัฐ Virginia

สำหรับรัฐ Ohio นั้น Hillary ก็น่าจะชนะเพราะนำ Obama อยู่ถึง 20% โดยที่ Ohio นั้นจะมีฐานเสียงสำคัญคือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งมีแนวโน้มเอียงที่จะชอบนโยบายเศรษฐกิจของ Hillary มากกว่าของ Obama
อีกรัฐหนึ่งที่อาจชี้เป็นชี้ตาย Hillary คือรัฐ Pennsylvania โดยจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 22 เมษายน Pennsylvania เป็นรัฐใหญ่อีกรัฐหนึ่ง มีคะแนนเสียงเลือกตั้งถึง 188 คะแนน แนวโน้มขณะนี้ Hillary ก็นำ Obama อยู่ในรัฐนี้

ข้อได้เปรียบของ Hillary

หากจะวิเคราะห์ว่าใครจะชนะได้เป็นผู้แทนพรรค Democrat นั้น คงจะต้องมาดูจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคน สำหรับ Hillary นั้นน่าจะมีข้อได้เปรียบ 3 ประการด้วยกัน

ประการที่ 1 จากที่ได้วิเคราะห์ข้างต้น คือ Hillary มีแนวโน้มที่จะชนะ ที่รัฐใหญ่คือ Texas, Ohio และ Pennsylvania ซึ่งทั้ง 3 รัฐรวมกันแล้ว มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งถึง 492 คน ซึ่งหาก Hillaryชนะ ก็จะพลิกกลับมานำ Obama ได้

ประการที่ 2 Hillary มีจุดแข็งโดยถูกมองว่า มีประสบการณ์มากกว่า Obama และนโยบายของ Hillary ก็ดูว่าน่าจะปฏิบัติได้ ซึ่งต่างจากนโยบายของ Obama ซึ่งดูค่อนข้างเพ้อฝัน

นอกจากนี้ Hillary ยังได้เปรียบ Obama ในการ debate หรือ การโต้วาทีในลักษณะตัวต่อตัว โดย Hillary น่าจะพยายามใช้ยุทธศาสตร์ให้มีการโต้วาทีกันตัวต่อตัวมากที่สุด และ Hillary จะใช้โอกาสในการ debate นั้นโจมตีนโยบายของ Obama ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบายต่างประเทศ จุดอ่อนของโยบาย Obama คือ ค่อนข้างจะเพ้อฝัน และ Hillary คงจะพยายามชี้ให้ผู้คนเห็นว่า หากปล่อยให้ Obama เป็นตัวแทนพรรค Democrat จะไปสู้ในการ debate กับ John McCain ผู้สมัครจากพรรค Republican ไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดแข็งของ McCain นอกจากนี้ Hillary คงจะโจมตี Obama อย่างหนักในเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์และความสามารถในด้านนโยบายเศรษฐกิจ

ข้อได้เปรียบประการที่ 3 ของ Hillary คือ บทบาทของ superdelegates ซึ่งคล้ายๆ กับเป็นคณะบริหารงานพรรค Democrat มีอยู่ประมาณ 800 คน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. ส.ว. อดีตประธานาธิบดี อดีตรองประธานาธิบดี และสมาชิกระดับสูงของพรรค กลุ่มนี้อาจเป็นตัวตัดสินว่าใครจะเป็นตัวแทนพรรค หากคะแนนสูสีกันและจะต้องตัดสินกันในการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนสิงหาคม

Hillary ดูจะได้เปรียบ Obama เพราะได้เสียงสนับสนุนในกลุ่มนี้มากกว่า ทั้งนี้เพราะ สามีของเธอคืออดีตประธานาธิบดี Bill Clinton ยังมีบารมี อิทธิพล และเครือข่ายภายในพรรคอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวแปรที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะท่าทีของบุคคลสำคัญในพรรคคนอื่น ๆ อาทิ Al Gore ซึ่งเป็นคนที่มีบารมีอีกคนหนึ่งในพรรค หาก Al Gore ประกาศสนับสนุนใคร คนนั้นอาจได้เปรียบ แต่ Al Gore ขณะนี้ก็ยังไม่ยอมประกาศท่าที และยังวางตัวเป็นกลางอยู่

ข้อได้เปรียบของ Obama

สำหรับ Obama นั้น ขณะนี้มาแรงมาก ทั้งนี้เพราะ ความสามารถพิเศษของเขาในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ปลุกเร้าอารมณ์และสร้างความประทับใจให้แก่คนฟังเป็นอย่างมาก

Obama นั้น จับจุดความรู้สึกของคนอเมริกันได้ถูก นั่นคือ 7 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาล Bush คนอเมริกันรู้สึกเบื่อหน่ายและผิดหวัง และต้องการการเปลี่ยนแปลง ภาษาอังกฤษก็คือคำว่า “change” Obama ก็จับเอาคำนี้มาเป็นสโลแกนการหาเสียงมาโดยตลอด ว่าเขาจะเป็นผู้ที่มา “เปลี่ยนแปลง” อเมริกา ก่อให้เกิดกระแสการสนับสนุน Obama เป็นอย่างมาก

Obama พยายามสร้างภาพว่า เขาจะอยู่เหนือการเมืองในระบบเดิม ๆ โดยจะอยู่เหนือการแบ่งแยกในเรื่องสีผิว และจะอยู่เหนือการแบ่งแยกระหว่างอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม การสร้างภาพว่า เป็นคนหนุ่มที่มองโลกในแง่ดีจึงได้สร้าง momentum ขึ้นอย่างมากในการหาเสียงในครั้งนี้ นอกจากนี้ Obama ก็พยายามที่จะสร้างภาพว่า เขาจะเป็นคนสร้างความสามัคคีและเอกภาพให้เกิดขึ้นหลังจากที่สังคมอเมริกันเกิดความแตกแยกมานาน Obama ดูเหมือนกับจะมีบารมีซึ่งเป็นลักษณะสำคัญยิ่งของผู้นำ

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของ Obama ที่ Hillary นำมาโจมตีอยู่ตลอดคือ การไม่มีประสบการณ์ และการพูดถึงแต่เรื่อง “การเปลี่ยนแปลง” นั้นดูเป็นเรื่องเลื่อนลอยและเพ้อฝัน แต่พอมาถึงนโยบายที่จะต้องนำมาปฏิบัติได้ Obama ก็ดูจะมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ หลายครั้งที่ข้อเสนอของ Obama ก็ถูก Hillary เอามาโจมตีอย่างหนักว่า เป็นข้อเสนอที่ดูโง่เขลา

ไม่มีความคิดเห็น: