Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สถานการณ์การก่อการร้ายปี 2008

สถานการณ์การก่อการร้ายปี 2008

ตีพิมพ์ใน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

เมื่อไม่กี่วันมานี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้เผยแพร่เอกสารรายงานประจำปี เกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายในรอบปีที่ผ่านมา เสนอต่อสภาคองเกรส ผมเห็นว่ารายงานนี้มีความสำคัญ จึงจะนำมาสรุปและวิเคราะห์ ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้


ภาพรวม

ในรายงานดังกล่าวได้ระบุว่า ในปี 2007 ที่ผ่านมา มีการก่อวินาศกรรมถึง 15,000 ครั้งทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2006 เล็กน้อย

สำหรับองค์กรเครือข่ายที่เป็นภัยคุกคามมากที่สุด คือ อัล เคด้า ซึ่งได้มีการปรับตัวในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
• อัล เคด้าได้มีการย้ายฐานที่มั่นใหม่ ไปอยู่ในพรมแดนระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถาน
• อัล เคด้ามีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น
• สำหรับผู้นำ แม้ว่าผู้นำคนสำคัญจะถูกสังหาร คือ Al Zawahiri แต่ อัล เคด้าก็ได้สรรหาผู้นำรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน
• เครือข่ายอัล เคด้าได้มีการปรับตัว และขยายเครือข่ายไปทั่วตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและยุโรป
• อัลเคด้าได้ใช้วิธีการใหม่ๆ ในการต่อสู้กับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ โดยในระยะหลังได้เน้นสงครามโฆษณาชวนเชื่อ เน้นการสนับสนุนจากชาวมุสลิม บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของตะวันตก เน้นการสร้างภาพว่า อัล เคด้าคือขบวนการในระดับโลก และฉวยโอกาสจากความไม่พอใจในระดับท้องถิ่น

นอกจากนี้ อัล เคด้ายังได้ใช้การปฏิบัติการด้านข้อมูลในรูปแบบใหม่คือ การใช้อิน
เทอร์เนตในการโฆษณาชวนเชื่อ การแสวงหาสมาชิกใหม่ และการแสวงหาเงินสนับสนุน
อัล เคด้าได้ฉวยโอกาสจากสงครามในอิรัก สงครามในอัฟกานิสถานและซูดาน และ
ความขัดแย้งในระดับท้องถิ่น เพื่อปลุกระดมและปลูกฝังแนวคิดหัวรุนแรง โดยมีขั้นตอนคือการปลูกฝังประชาชนที่มีความรู้สึกผิดหวังให้ยอมรับแนวคิดหัวรุนแรง เห็นใจผู้ก่อการร้าย ขั้นต่อไปก็กลายเป็นผู้สนับสนุน และในที่สุดก็กลายเป็นผู้ก่อการร้าย

สำหรับในระดับภูมิภาคนั้น ในแอฟริกา กลุ่มก่อการร้ายได้มีการเชื่อมโยงกับอัล เคด้า
มากขึ้น กลุ่มสำคัญได้แก่ Al Qaeda in Islamic Maghreb ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาในอัลจีเรีย

สำหรับในอิรัก องค์กร Al Qaeda in Iraq (AQI) ก็มีบทบาทสำคัญ อย่างไรก็ตาม
รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า หลังจากที่สหรัฐฯได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ในอิรัก โดยมีการจัดทำแผนที่เรียกว่า Baghdad Security Plan เครือข่าย AQI บทบาทก็ลดลง ชาวอิรักนิกายซุนหนี่ก็มีกระแสต่อต้าน AQI มากขึ้นเรื่อยๆ

ในโซมาเลีย มีองค์กร Al Qaeda in East Africa ซึ่งเกือบจะยึดอำนาจรัฐในโซมาเลียได้
แต่ในปี 2006 เอธิโอเปียได้ส่งทหารเข้าไปปราบปราม ขณะนี้ความขัดแย้งก็ยังคาราคาซังอยู่
อีกกลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มตาลีบันที่มีความเชื่อมโยงกับอัล เคด้าอย่างเหนียวแน่น

ขณะนี้นักรบตาลีบันได้ฟื้นคืนชีพ และได้ทำให้อัฟกานิสถานปั่นป่วน และกำลังลามเข้าไปในปากีสถาน
สำหรับรัฐบาลที่สนับสนุนการก่อการร้ายนั้น ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า อิหร่านเป็นประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้ายมากที่สุด โดยอิหร่านสนับสนุนการก่อการร้ายในอิรัก และสนับสนุนกลุ่มเฮซโบล่าห์ และกลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์อีกหลายกลุ่ม

นอกจากอิหร่านแล้ว ก็มีซีเรียที่กำลังถูกเพ่งเล็งอย่างหนัก โดยสหรัฐฯกล่าวหาว่า 90% ของผู้ก่อการร้ายที่เข้าไปในอิรัก ผ่านเข้ามาทางซีเรีย

นอกจากนี้ อิหร่านและเกาหลีเหนือ ถูกมองว่า เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจส่งต่ออาวุธร้ายแรงให้แก่ผู้ก่อการร้าย

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น รายงานระบุว่า กลุ่มเจมมา อิสลามิย่าห์ หรือ JI คือกลุ่มที่เป็นภัยคุกคามมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ทำให้บทบาทของ JI ลดลง โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้เพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมาย และทำลายเครือข่าย JI ในเกาะสุลาเวสี และเกาะชวา

นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังประสบความสำเร็จในการปราบปรามกลุ่มอาบูซายาฟ โดยผู้นำ อาบูซายาฟคือ Janjalani ได้ถูกสังหารไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาคคือ การที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายหลายพันเกาะ ทำให้ยากแก่การสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของขบวนการก่อการร้าย

สำหรับในกรณีของไทยนั้น รายงานระบุว่า ไทยร่วมมือกับสหรัฐฯอย่างดี เห็นได้จากการจับผู้นำ JI คือฮัมบาลีได้ในปี 2003 ไทยได้มีมาตรการที่จะไม่ให้ไทยเป็นแหล่งซ่องสุมของขบวนการก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของไทยคือ ปัญหาการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2004 ความรุนแรงได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

รายงานระบุว่า ไทยกับมาเลเซียมีความขัดแย้งกัน ทั้งนี้เพราะ กลุ่มก่อการร้ายมีเชื้อสายมาเลย์และเป็นชาวมุสลิม ทางฝ่ายสหรัฐฯกลัวว่า อาจจะมีการเชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของไทยกับกลุ่มก่อการร้ายในอินโดนีเซียและมาเลเซีย รัฐบาลไทยกล่าวหามาเลเซียหลายครั้ง อาทิ รัฐบาลทักษิณเคยกล่าวหาว่า มีค่ายฝึกผู้ก่อการร้ายในรัฐกลันตันของมาเลเซีย และรัฐบาลสุรยุทธ์ก็อ้างว่า ร้านอาหารไทยในมาเลเซียสนับสนุนทางการเงินแก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน

แต่คำถาม ที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนคือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของไทยมีความเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายสากลหรือไม่ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่างชาติหรือไม่ ในรายงานระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ก็มีรายงานข่าวระบุว่า ขบวนการ PULO มีการปฏิบัติการอย่างเปิดเผยในซีเรีย และผู้นำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้ลี้ภัยอยู่ในยุโรปและได้หลบซ่อนอยู่ในมาเลเซีย

มาตรการต่อต้านการก่อการร้าย

ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยมีมาตรการเหล่านี้

• การปกป้องประชาชนจากการถูกก่อวินาศกรรม
• การโดดเดี่ยวผู้ก่อการร้าย
• การได้รับการสนับสนุนจากประชาชน
• เน้นงานข่าวกรองเพื่อที่จะกำจัดผู้ก่อการร้ายโดยให้มีผลข้างเคียงกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
• สกัดกั้นขบวนการก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การโฆษณาชวนเชื่อ การวางแผนก่อวินาศกรรม และการสนับสนุนทางการเงิน
• ขจัดเงื่อนไขขั้นพื้นฐานที่ผู้ก่อการร้ายจะใช้ในการปลุกระดม
• เน้นความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลสหรัฐฯได้ริเริ่มมาตรการใหม่เรียกว่า Regional Strategic Initiative

กล่าวโดยสรุป รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ คุยโอ้อวดว่า ในปี 2007 แม้จะมี
ภัยคุกคามมากขึ้น แต่มาตรการการก่อการร้ายก็มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการก่อการร้ายในอังกฤษ เยอรมนีและเดนมาร์ก การกำจัดผู้นำขบวนการก่อการร้าย การเพิ่มความมั่นคง ทั้งในด้านพรมแดน การขนส่ง การเพิ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองในด้านต่างๆ การตัดเส้นทางการเงิน รวมทั้งการต่อสู้ทางอุดมการณ์เพื่อลดกระแสแนวคิดหัวรุนแรง


ไม่มีความคิดเห็น: