Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551

5 ปีสงครามอิรัก (ตอนจบ)

5 ปีสงครามอิรัก (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์


เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นวาระครบ 5 ปีของสงครามอิรักโดยสหรัฐฯบุกโจมตีอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปี 2003 คอลัมน์โลกทรรศน์ได้ถือโอกาสนี้ ในการย้อนวิเคราะห์ถึงสงครามอิรักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
สำหรับตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 3 ผมได้วิเคราะห์ถึง สาเหตุว่าทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรักและผลกระทบของสงคราม ในคอลัมน์โลกทรรศน์วันนี้ จะเป็นตอนจบ ซึ่งจะได้ประเมินว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล Bush ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

5 ปีสงครามอิรัก: ความสำเร็จ?

แน่นอนสำหรับประธานาธิบดี Bush 5 ปีของสงครามอิรักคือ ความสำเร็จ และตลอดเวลาที่ผ่านมา Bush ได้ตอกย้ำถึงความสำเร็จมาโดยตลอด และล่าสุด ในโอกาสครบรอบ 5 ปีของสงคราม เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม Bush ได้กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสดังกล่าว โดยเน้นถึงความสำเร็จของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

Bush ได้กล่าวว่า สงครามอิรัก 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงกันอย่างมากว่า สงครามนี้คุ้มค่าต่อการต่อสู้หรือไม่? และสหรัฐฯจะชนะสงครามครั้งนี้ได้หรือไม่? Bush ตอบอย่างหนักแน่นว่า การล้มล้าง Saddam Hussein เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และสงครามอิรักเป็นสงครามที่อเมริกาจะสามารถชนะ และจะต้องชนะ
Bush ได้กล่าวว่า เป็นเพราะสงครามอิรักที่อเมริกาล้มล้างรัฐบาล Saddam ทำให้ Saddam ไม่สามารถกดขี่ข่มเหงชาวอิรักได้อีกต่อไป และทำให้ระบอบ Saddam ไม่สามารถบุกรุกและโจมตีประเทศเพื่อนบ้านด้วยอาวุธร้ายแรงได้อีกต่อไป Bush จึงสรุปว่า สงครามอิรักทำให้โลกดีขึ้น และทำให้สหรัฐฯปลอดภัยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการบุกยึดอิรัก ปรากฏว่ายังมีกลุ่มต่อต้าน และต่อมาก็มีกลุ่มก่อการร้ายจากภายนอกเข้ามาในอิรักเพื่อจะต่อต้านการเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยของอิรัก ดังนั้น สงครามในอิรักจึงยาวนานและยากกว่าที่คิด แต่ก็เป็นสงครามที่สหรัฐฯจะต้องชนะ ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังต่อสู้กับการก่อการร้ายในอิรัก และกำลังช่วยให้อิรักพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย

Bush กล่าวต่อว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่า สหรัฐฯกำลังจะพ่ายแพ้ โดยกลุ่มหัวรุนแรงได้ประสบความสำเร็จในการทำให้อิรักจมดิ่งเข้าสู่ความวุ่นวาย และอิรักกลายเป็นฐานที่มั่นใหม่ของขบวนการก่อการร้าย และได้สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างชาวชีอะห์ กับชาวซุนหนี่

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Bush ได้ปรับนโยบายใหม่โดยการส่งทหารเพิ่มเข้าไปอีก 3 หมื่นคน และ Bush ได้กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ใหม่กำลังประสบความสำเร็จ เพราะขณะนี้ ความรุนแรงได้ลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง การโจมตีทหารอเมริกันก็ลดลง และสหรัฐฯได้จับกุม และสังหารกลุ่มหัวรุนแรงในอิรักได้เป็นจำนวนมาก Bush จึงสรุปว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯกำลังประสบความสำเร็จ Bush ประกาศกร้าวว่า ความสำเร็จในอิรัก จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มก่อการร้ายสากล โดยเฉพาะ Al Qaeda และสหรัฐฯจะทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นประชาธิปไตย และไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของขบวนการก่อการร้าย
นั่นคือ ภาพที่ Bush พยายามจะฉายให้เห็นว่า 5 ปีของสงครามอิรัก ขณะนี้อเมริกากำลังประสบชัยชนะ


5 ปีสงครามอิรัก: ความล้มเหลว?

แต่ผมมองว่า ภาพที่ Bush ฉายออกมานั้น เป็นเพียงแค่ภาพลวงตา และผมจะพยายามชี้ให้เห็นว่า 5 ปีสงครามอิรักนั้น ประสบความล้มเหลวอย่างไร

ก่อนที่เราจะประเมินความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ เราต้องรู้ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ของการบุกอิรัก ซึ่งในคอลัมน์ตอนก่อนหน้านี้ ผมได้วิเคราะห์ไปโดยละเอียดแล้ว อยากจะสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า มีเหตุผลใหญ่ด้วยกัน 4 เรื่อง เหตุผลประการแรกคือ การมองอิรักว่าเป็นส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายหลัง 11 กันยาฯ เหตุผลประการที่ 2 คือ ความต้องการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเข้าครอบงำตะวันออกกลาง เหตุผลที่ 3 คือ ความพยายามที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในอิรักและตะวันออกกลาง และเหตุผลประการที่ 4 คือเรื่องอาวุธร้ายแรง

เรามาดูว่า ทั้ง 4 เรื่องนี้ 5 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯประสบความสำเร็จอย่างไร

เรื่องแรกคือ อาวุธร้ายแรง ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯที่ใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม ในที่สุดก็ค้นไม่พบอาวุธร้ายแรงในอิรัก ถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและทำให้สหรัฐฯเสียชื่อมาก

เรื่องที่ 2 คือ การพัฒนาประชาธิปไตยในตะวันออกกลางและอิรัก เรื่องนี้รัฐบาล Bush ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนที่อิรักจะกลายเป็นตัวแบบของประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง แต่กลับกลายเป็นอิรักลุกเป็นไฟ และกำลังเข้าขั้นจะเป็นสงครามกลางเมืองเข้าไปทุกที 5 ปีที่ผ่านมา คนอิรักตายไปนับแสนคน ทหารสหรัฐฯก็ตายไปกว่า 4 พันคนแล้ว ทฤษฎีโดมิโน่ใหม่ของ Bush ที่หวังจะให้อิรักเป็นตัวโดมิโน่ เป็นตัวแบบประชาธิปไตย และต่อไปจะทำให้ตะวันออกกกลางเป็นประชาธิปไตยนั้น ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

เรื่องที่ 3 คือ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย รัฐบาล Bush หวังในตอนแรกว่า การบุกยึดอิรัก จะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และจะทำให้สหรัฐฯประสบชัยชนะในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ 5 ปีที่ผ่านมาก็กลับตาลปัตรหมด อิรักกลับกลายเป็นศูนย์กลางของการทำสงครามศาสนา อิรักกลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก ก่อนอเมริกายึดอิรัก ไม่มีกลุ่ม Al Qaeda ในอิรัก แต่ 5 ปีที่ผ่านมา เครือข่าย Al Qaeda ในอิรักได้ขยายตัว ลุกลามไปทั่ว โดยเฉพาะ เครือข่าย Al Qaeda in Iraq (AQI) ได้กลายเป็นเครือข่ายก่อการร้ายสำคัญที่บั่นทอนเสถียรภาพของอิรักเป็นอย่างมาก

ไม่ใช่แต่ในอิรักเท่านั้น แต่กระแสการก่อการร้ายสากลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ลุกลามขยายตัวไปทั่วโลก เครือข่าย Al Qaeda และเครือข่ายร่วมอุดมการณ์ขยายไปทั่วโลกมุสลิม ในอัฟกานิสถานมีการฟื้นคืนชีพของนักรบตาลีบัน และสงครามในอัฟกานิสถานทำท่าว่าจะลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ปากีสถานก็กำลังเป็นจุดวิกฤตจุดใหม่ ที่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงกำลังพยายามที่จะเพิ่มบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และขณะนี้ทั้ง Al Qaeda, Bin Laden และ ตาลีบันได้มีแหล่งซ่องสุมใหม่ในบริเวณชายแดนปากีสถานกับอัฟกานิสถาน

สำหรับวัตถุประสงค์อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯบุกอิรักคือ ความต้องการครองความเป็นเจ้า ขยายอิทธิพลครอบงำตะวันออกกลาง สำหรับวัตถุประสงค์ข้อนี้ สหรัฐฯก็ล้มเหลวอีกเช่นเดียวกัน เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา อิทธิพลของสหรัฐฯในตะวันออกลางไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กลับลดลง และในทางกลับกัน อิหร่านซึ่งเป็นตัวแสดงสำคัญที่ต้องการผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค อิทธิพลของอิหร่านกลับเพิ่มขึ้น ศัตรูคนสำคัญของอิหร่านก็คือ Saddam ซึ่งได้ถูกอเมริกาจัดการไปแล้ว ขณะนี้ จึงเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ

นอกจากนี้ ชาวชีอะห์ซึ่งในอดีตไม่มีบทบาททางการเมือง เพราะอยู่ภายใต้การนำของชาวซุนหนี่ แต่หลังจาก Saddam ถูกโค่นลง ชาวชีอะห์ก็มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในอิรัก และชีอะห์ในอิรักก็มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับอิหร่าน อิหร่านนั้น ถือเป็นศูนย์กลางของนิกายชีอะห์ และขณะนี้แนวโน้มก็คือ อิทธิพลของชีอะห์กำลังเพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง

สำหรับสหรัฐฯ จากการที่ทำสงครามที่ไม่มีความชอบธรรมในอิรัก ทำให้ชื่อเสียงของสหรัฐฯเสียหายไปอย่างมาก ทั้งในระดับโลก และในตะวันออกกลาง

กล่าวโดยสรุป ผมมองว่า 5 ปีของสงครามอิรัก ถือเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาล Bush และสหรัฐฯกำลังตกอยู่ในสถานะลำบาก เพราะกำลังจมปลักอยู่กับสงครามที่ถอนตัวไม่ขึ้น จะถอนก็ถอนไม่ได้ ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะดึงเอา UN เข้ามาแบกรับภาระก็ไม่ได้ผล ความพยายามที่จะดึงเอาพันธมิตรและประเทศในตะวันออกกลางมาแบกรับภาระก็ไม่ได้ผล และในอนาคต หากสถานการณ์เลวร้ายลงถึงขั้นสหรัฐฯจะต้องถอนทหารออกจากอิรักในขณะที่ทหารอิรักยังไม่พร้อม ก็อาจนำไปสู่การขยายตัวของความรุนแรง และสงครามกลางเมืองที่อาจลุกลามใหญ่โตจนไม่อาจคาดการณ์สถานการณ์ได้



ไม่มีความคิดเห็น: