Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วิกฤตราคาน้ำมัน: ผลกระทบต่อการเมืองโลก

วิกฤตราคาน้ำมัน: ผลกระทบต่อการเมืองโลก

ตีพิมพ์ใน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


บทนำ


วิกฤตราคาน้ำมัน กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และเมื่อน้ำมันมีราคาสูงถึงกว่า 130 เหรียญต่อบาเรล เราก็เริ่มมองเห็นว่า วิกฤตราคาน้ำมันกำลังจะส่งผลกระทบต่อการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำมันจึงกลายเป็นสินค้าที่มีความสำคัญยิ่งต่อภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเกือบทุกสิ่งทุกอย่างต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมัน ทุกประเทศต้องการน้ำมัน ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงราคาและจำนวนน้ำมันที่เหลืออยู่ จึงส่งผลกระทบ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อาจกล่าวได้ว่า ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบการเมืองโลกได้ผ่านยุคสมัยต่างๆ ที่สำคัญมา 3 ยุค คือ ยุคสงครามเย็น ยุคหลังสงครามเย็น และยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ จนถึงปัจจุบัน ประเด็นหลักคือ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง แต่วิกฤตราคาน้ำมันในขณะนี้ ได้ทำให้ปัญหาการก่อการร้ายลดความสำคัญลงไป เรื่องความมั่นคงทางพลังงานกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เราจึงกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการเมืองโลกหรือไม่

ตะวันออกกลาง

วิกฤตราคาน้ำมันได้ก่อให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ในเวทีการเมืองโลก และผู้ชนะที่สำคัญคือประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ โดยเฉพาะประเทศที่สามารถมีเงินเหลือใช้จากการขายน้ำมัน แต่บางประเทศที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน แต่ต้องใช้จ่ายรายได้จากน้ำมันสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์มากนัก เช่น เวเนซุเอลา อินโดนีเซีย และไนจีเรีย ดังนั้น ประเทศผู้ชนะในเกมราคาน้ำมันในครั้งนี้คือ ประเทศในตะวันออกกลาง ซาอุดิอาระเบีย และประเทศรอบอ่าวเปอร์เชีย กำลังมีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล และจะนำไปสู่ความมั่งคั่ง และอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศในอนาคต

รัสเซีย

รัสเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เป็นผู้ชนะ รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ประเทศในยุโรปต่างต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย รายได้จากการขายน้ำมัน จะทำให้รัสเซียผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจในเวทีโลกในอนาคต และรัสเซียจะมีไพ่ใบสำคัญที่จะใช้ black mail ประเทศในยุโรป ประเทศในยุโรปก็รู้ตัวดีว่า รัสเซียถือไพ่เหนือกว่า และกำลังอ่อนข้อลง เห็นได้จากการประชุมสุดยอด NATO ครั้งล่าสุด ประเทศยุโรปไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะดึงเอายูเครน และจอร์เจียมาเป็นสมาชิก NATO เพราะรู้ดีว่า รัสเซียคงไม่พอใจแน่

ตะวันตกกำลังมองรัสเซียว่า กำลังใช้การส่งออกพลังงานเป็นอาวุธในการ black mail ประเทศต่างๆ ตัวอย่างเช่น การตัดการส่งก๊าซต่อยูเครนและต่อยุโรปตะวันตกเมื่อไม่นานมานี้ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ Dick Cheney ได้โจมตีรัสเซียในเรื่องนี้อย่างรุนแรง และสหรัฐฯก็มีแผนที่จะสร้างพันธมิตรทางพลังงานเพื่อต่อต้านรัสเซีย โดยจะเห็นได้จาก การเอาใจประเทศในเอเชียกลาง ซึ่งมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล

อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ได้หว่านล้อมให้คาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถาน สร้างท่อก๊าซผ่านรัสเซีย ซึ่งเป็นการทำลายแผนของตะวันตกที่ต้องการให้สร้างท่อก๊าซโดยไม่ผ่านรัสเซีย

เอเชีย

สำหรับประเทศผู้แพ้ในเกมราคาน้ำมันครั้งนี้ คือ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันและพึ่งพาน้ำมันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังเน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าส่งออก ประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องนำเข้าน้ำมัน เช่น ไทย

สำหรับสหรัฐฯนั้น ก็แตกต่างจากประเทศในเอเชีย โดยสหรัฐฯไม่ได้กระทบกระเทือนมากนักจากวิกฤตราคาน้ำมัน ทั้งนี้เพราะ สหรัฐฯมีแหล่งน้ำมันสำรองอยู่มาก และเศรษฐกิจสหรัฐฯได้พัฒนาไปสู่เศรษฐกิจภาคบริการอย่างเต็มตัวแล้ว จึงไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเหมือนกับเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย ที่เน้นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

จีน

ประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ จีน เพราะที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้จีนต้องการนำเข้าพลังงานน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก

แนวโน้มคือ เราจะเห็นจีนมีนโยบายก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในการแสวงหาแหล่งพลังงานน้ำมันทั่วโลก จีนนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางจาก 3 ประเทศหลักคือ อิรัก อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย ในอิหร่าน จีนได้ลงทุนในการสำรวจและผลิตน้ำมันในอิหร่านซึ่งมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญ สำหรับซาอุดิอาระเบีย จีนก็พยายามจะตีสนิท ในปี 2002 ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดให้แก่จีน

การที่จีนตีสนิทกับประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา อาทิ ซูดาน ก็เพื่อหวังผลในเรื่องน้ำมัน ทำให้สหรัฐฯไม่สามารถผลักดันการคว่ำบาตรรัฐบาลซูดานในคณะมนตรีความมั่นคงได้ ในกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน Darfur

เช่นเดียวกับในกรณีของพม่า การที่ตะวันตกไม่สามารถคว่ำบาตรรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ ก็เพราะจีนให้ความช่วยเหลืออยู่ โดยสิ่งตอบแทนที่จีนได้คือ การนำเข้าทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากพม่า


การแข่งขันทางทหาร

ผลกระทบของวิกฤตราคาน้ำมันต่อการเมืองโลกอีกเรื่องหนึ่งคือ ทำให้เกิดการแข่งขันกันทางทหาร การแข่งขันกันสะสมอาวุธ งบประมาณการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจาก ความเป็นห่วงในเรื่องความมั่นคงของทรัพยากรพลังงานน้ำมัน ประเทศต่างๆ จึงสะสมกำลังทางทหารในอัตราที่สูง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง

แหล่งน้ำมัน

ดังนั้น จากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน จะทำให้การต่อสู้แข่งขันเพื่อเข้าถึงแหล่งน้ำมันมีความรุนแรงและขัดแย้งกันมากขึ้นในอนาคต มหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ยุโรป ต่างก็แสวงหาการครอบงำแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

กรณีการต่อสู้แข่งขันกันในการสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซในทะเลสาบแคสเปี้ยน กำลังเป็นกรณีสำคัญในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ

โครงการสร้างท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาได้แก่ โครงการท่อน้ำมันจากตะวันตกของคาซัคสถานไปยังจีน ระยะทาง 3,700 ไมล์ โครงการท่อน้ำมันจากเมืองบากูไปตุรกี และโครงการท่อน้ำมันในไซบีเรีย

ท่อส่งน้ำมันในอดีต ส่วนมากจะมุ่งสู่ตลาดในยุโรปและสหรัฐฯ แต่ในอนาคตความต้องการจะมาจากจีน อินเดีย และประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย ประเทศเหล่านี้ก็ต้องการท่อส่งน้ำมันที่มุ่งไปยังประเทศของตน

การแข่งขันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เกิดขึ้น ในกรณีท่อส่งน้ำมันทางตะวันออกของไซบีเรีย จีนต้องการให้ท่อส่งน้ำมันดังกล่าวมุ่งสู่ตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แต่รัสเซียไม่ต้องการเส้นทางนั้น แต่จะขยายเส้นทางไปถึงชายฝั่งตะวันออกที่เมืองท่านาคุตก้า ซึ่งญี่ปุ่นก็ต้องการเพราะอยู่ใกล้ญี่ปุ่น

สำหรับท่อส่งน้ำมันอีกเส้นหนึ่งซึ่งสหรัฐฯต้องการมาก คือ การก่อสร้างท่อส่งน้ำมันจากเมืองบากูริมฝั่งทะเลสาบแคสเปี้ยน ผ่านประเทศจอร์เจียไปถึงชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของตุรกี โดยไม่ยอมให้สร้างท่อน้ำมันผ่านรัสเซีย

ในภาพรวม มหาอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ จีนและรัสเซีย กำลังต่อสู้แข่งขันกัน ที่จะเข้ามามีอิทธิพลในแหล่งพลังงานน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และแถบทะเลสาบแคสเปี้ยน
นอกจากนี้ จุดอันตรายอีกจุดหนึ่งคือ บริเวณที่มีความจัดแย้ง อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันทางทะเล เช่น ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ความขัดแย้งในเกาะเซนซากุ ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ความขัดแย้งเหล่านี้ ลึก ๆ แล้วเกิดขึ้นเพราะ มีการคาดว่า บริเวณเหล่านี้จะเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น วิกฤตราคาน้ำมันจะทำให้บริเวณเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: