Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G 8 ที่ Kyoto

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G 8 ที่ Kyoto

ภาพรวม
· เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G 8 ที่ Kyoto
ประเทศญี่ปุ่น โดยภาพรวมแล้ว การประชุมครั้งนี้ ถ้าเทียบกับการประชุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
โดยเฉพาะตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ จะเห็นได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลง โดยช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯใหม่ๆ G 8 ถูกสหรัฐฯบีบให้เน้นเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นพิเศษ มาถึงปีนี้ เรื่องก่อการร้ายดูจะลดความสำคัญลง แต่ประเด็นหลัก ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย โดยเฉพาะการเน้นวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่ยังเป็นประเด็นที่สหรัฐฯผลักดัน

· อย่างไรก็ตาม ท่าทีที่ออกมาของ G 8 ดูอ่อน และไม่ก้าวร้าวอย่างที่สหรัฐอยากให้
เป็น ทั้งนี้ ผมวิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะรัสเซีย คงจะต่อต้านท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐฯและทำให้ท่าทีร่วมของ G 8 ดูอ่อนลง ยุโรปเอง ขณะนี้ก็คงจะกลัวการเผชิญหน้ากับรัสเซีย เพราะในยุควิกฤตพลังงาน ยุโรปต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นอย่างมาก

· อีกประเด็นหนึ่งคือ กลุ่ม G 8 ไม่ได้สะท้อนถึงโครงสร้างอำนาจของโลกใน
ปัจจุบัน หมายความว่า มีบางประเทศที่มีความสำคัญต่อการเมืองโลก แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม G 8 ที่สำคัญคือจีนและอินเดีย จึงทำให้ G 8 ขาดความชอบธรรมในการเป็นกลุ่มประเทศผู้นำของโลก

อัฟกานิสถาน
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G 8 ครั้งนี้ ให้ความสำคัญอย่างมากต่อวิกฤตการณ์ใน
อัฟกานิสถาน โดย G 8 โดยเฉพาะสหรัฐฯ คงมองว่า อัฟกานิสถานเป็นแนวรบสำคัญในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้น ถ้าตะวันตกเพลี่ยงพล้ำในอัฟกานิสถาน ก็จะกระทบต่อภาพใหญ่ของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายได้

การประชุมครั้งนี้ จึงได้มีการแถลงการณ์พิเศษแยกต่างหาก เกี่ยวกับอัฟกานิสถาน โดยแถลงการณ์ได้กล่าวว่า G 8 จะสนับสนุนอัฟกานิสถานอย่างเต็มที่ ในการฟื้นฟูบูรณะประเทศและสร้างเสถียรภาพ

นอกจากนี้ จะเห็นแนวโน้มว่า G 8 และสหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะดึงเอาองค์การสหประชาชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดย G 8 ได้สนับสนุนข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงที่ 1806 ที่ให้เพิ่มบทบาท UN Assistance Mission in Afganistan (UNAMA)
G 8 สนับสนุนบทบาทของกองกำลัง International Security Assistance Force ซึ่งก็คือกองกำลังของ NATO นั่นเอง
ผมมองว่า สหรัฐฯกำลังตกที่นั่งลำบากในอัฟกานิสถาน เพราะเข้าทำนองยิ่งปราบยิ่งเพิ่ม โดยหลังจากที่อเมริกาบุกยึดอัฟกานิสถานเมื่อปลายปี 2001 แต่หลังจากนั้น นักรบตาลีบันก็ค่อยๆ ฟื้นคืนชีพและโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ และกองกำลัง NATO หนักขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้ง Al Qaeda ก็มีแหล่งซ่องสุมใหม่อยู่ตามพรมแดนติดกับปากีสถาน และ Bin Laden ก็คงจะซ่อนตัวอยู่ที่นั่น

ตะวันออกกลาง
รัฐมนตรีต่างประเทศ G 8 สนับสนุนการเจรจาของอิสราเอล-ปาเลสไตน์อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าที่จะให้บรรลุข้อตกลงภายในปีนี้ โดยจะให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่ West Bank และ Gaza เพื่อให้เป็นไปตาม roadmap ที่สหรัฐฯได้ผลักดันมาโดยตลอด ที่ประชุมสนับสนุนการที่รัสเซียจะจัดประชุมสันติภาพตะวันออกกลางที่ Moscow

ผมมองว่า การที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของรัสเซียที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตะวันออกกลาง เพื่อคานอำนาจสหรัฐฯและตะวันตก

อิหร่าน
สำหรับในกรณีอิหร่าน คงจะเดาได้ว่า G 8 จะมีท่าทีอย่างไร ท่าทีของ G 8 ก็เป็นท่าทีของสหรัฐฯนั่นเอง คือ การแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน และห่วงใยที่อิหร่านไม่ยอมปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง อิหร่านยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ต่อไป G 8 จึงกระตุ้นให้อิหร่านร่วมมือกับ IAEA และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ แต่ G 8 ก็เน้นว่า จะแก้ไขปัญหาโดยวิธีทางการทูต
ผมดูแล้ว ท่าทีของ G 8 ในเรื่องอิหร่านดูอ่อนกว่าท่าทีของสหรัฐฯ สาเหตุก็คงจะเป็นเพราะ การคัดค้านจากรัสเซีย ที่ไม่ต้องการให้มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน

อิรัก
สำหรับในประเด็นอิรักนั้น ดูภาพรวมแล้ว ก็ลดความสำคัญลงไป ผิดกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะ ความรุนแรงในอิรักเริ่มทุเลาลง G 8 และสหรัฐฯจึงหันมาเน้นการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศ และการประชุมพหุภาคีต่างๆ โดยได้มีการจัดประชุม Ministerial Conference of the Neighboring Countries of Iraq ในเดือนเมษายน และการประชุม Compact Annual Review Conference ในเดือนพฤษภาคม

ปากีสถาน
ในกรณีปากีสถานนั้น ผมขอเกริ่นว่า ตะวันตกกำลังห่วงใยสถานการณ์ในปากีสถาน เพราะมีแนวโน้มที่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มตาลีบัน กำลังมีอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากกลุ่มตาลีบันสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้ ก็จะเป็นฝันร้ายของตะวันตก เพราะรัฐบาลตาลีบันจะมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง
ดังนั้น ที่ประชุม G 8 จึงได้ให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพในปากีสถาน ว่ามีความสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาค และความมั่นคงของโลก G 8 จะให้ความช่วยเหลือต่อรัฐบาลปากีสถาน เพื่อสร้างเสถียรภาพและพัฒนาเศรษฐกิจ

เกาหลีเหนือ
ท่าทีของ G 8 ต่อเกาหลีเหนือ เห็นชัดว่า สะท้อนท่าทีของสหรัฐฯ โดยในเอกสารผลการประชุมระบุว่า เป้าหมายของ G 8 คือ ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และกระตุ้นให้เกาหลีเหนือยุติการมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง G 8 สนับสนุนการเจรจา 6 ฝ่าย และยินดีที่เมื่อไม่กี่วันมานี้ เกาหลีเหนือได้ เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของตน และได้แสดงภาพถ่ายการระเบิดทำลายบางส่วนของโรงงานนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า กรณีเกาหลีเหนือนั้น เราคงต้องดูกันยาว ๆ ผมไม่เชื่อว่า เกาหลีเหนือจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนได้ง่าย ๆ ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือก็กลับไปกลับมาตลอด จึงไม่มีความแน่นอนว่า ในอนาคต เกาหลีเหนือจะปรับเปลี่ยนท่าทีอย่างไร

พม่า
วิกฤตการณ์ในพม่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐมนตรีต่างประเทศ G 8 ให้ความสนใจ โดยได้กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือ วิกฤตพายุ Nagis และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเปิดประตูให้ความช่วยเหลือ และบุคลากรต่างๆ ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

นอกจากนี้ G 8 ห่วงใยต่อสถานการณ์การเมืองในพม่า และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่า เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และเรียกร้องให้ปล่อยตัว นักโทษทางการเมือง รวมถึงนางอองซาน ซูจี

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ท่าทีของ G 8 ดูอ่อนกว่าท่าทีของสหรัฐฯ โดยไม่ได้มีการพูดถึงมาตรการการคว่ำบาตร ซึ่งผมก็คิดว่า คงเป็นรัสเซียอีกนั่นแหล่ะ ที่คัดค้านที่จะให้ G 8 ประกาศมาตรการไม้แข็งต่อพม่า

ซูดาน
สำหรับในแอฟริกา เรื่องที่ G 8 ให้ความสำคัญที่สุดคือ วิกฤตการณ์ในซูดาน โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ใน Darfur และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง และหันมาเจรจาสันติภาพ และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ปฏิบัติตามพันธกรณีของข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง
ท่าที G 8 ในเรื่องนี้ ก็เหมือนท่าทีในเรื่องอื่นๆ คือ ดูอ่อน เมื่อเทียบกับท่าทีของตะวันตกและท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีท่าทีแข็งกร้าว และเน้นเรื่องมาตรการคว่ำบาตร

อาวุธร้ายแรงและการก่อการร้าย
สำหรับสองเรื่องนี้ ในอดีต หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่ตอนนี้ดูลดความสำคัญลง โดยมีลักษณะของการกล่าวอย่างกว้างๆ ถึงอันตรายของการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และได้กล่าวประณามการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ ตอกย้ำพันธกรณีของ G 8 เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และ G 8 กลับมาให้ความสำคัญกับกรอบ UN โดยเฉพาะการปฏิบัติตาม UN Global Counter-Terrorism Strategy
ซึ่งดูแล้ว เห็นได้ว่า ท่าทีของ G 8 ในเรื่องนี้ก็ดูอ่อนจากเดิม อาจเป็นเพราะทั้งยุโรปและรัสเซียไม่เห็นด้วยกับการใช้ไม้แข็งของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการใช้กำลังทหารในการแก้ไขปัญหา และหันมาให้ความสำคัญกับ UN ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: