Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน

ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551 ปีที่ 12 ฉบับที่ 4342

ขณะนี้ ไทยกำลังรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียน โดยในช่วงดังกล่าวไทยจะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ 3 ครั้ง คือ การประชุมสุดยอดในเดือนธันวาคมปีนี้ และสำหรับปีหน้า ช่วงกลางปี จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และจะจัดประชุมสุดยอดในปลายปีหน้าอีก 1 ครั้ง จึงนับเป็นโอกาสทองของไทย ที่จะพลิกฟื้นบทบาทนำของไทยในอาเซียน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะเสนอแนวทางในการเล่นบทบาทนำของไทยในการผลักดันในเรื่องต่างๆ

ยุทธศาสตร์หลัก

เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ บทบาทนำของไทยในอาเซียนได้ลดลง นโยบายของรัฐบาลทักษิณในขณะนั้น เน้นทวิภาคี เจรจาสองฝ่าย และจากสองฝ่ายก็มาเป็นอนุภูมิภาค ตั้งวงเล็กกว่าอาเซียนคือ ACMECS ซึ่งไทยสามารถเป็นหัวหน้าวงได้ แต่พอมาถึงวงอาเซียนเราก็ทิ้งไป แล้วรัฐบาลทักษิณก็มาสร้างวงที่ใหญ่กว่าอาเซียน คือ วง ACD ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ฝ่ายไทยจะต้องรีบพลิกฟื้นสถานการณ์ นำไทยกลับมามีบทบาทนำในอาเซียนโดยไทยจะต้องรีบผลักดันความคิดริเริ่มข้อเสนอใหม่ๆให้เกิดขึ้น ซึ่งประเด็นที่ไทยน่าจะมีบทบาทนำได้มีดังนี้

กฎบัตรอาเซียน

เป็นที่คาดว่า ในการประชุมสุดยอดในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องในกฎบัตร ที่ไทยควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

· วัตถุประสงค์
ในกฎบัตรอาเซียนมีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ต่างๆของอาเซียน เรื่องสำคัญที่ไทยควรผลักดัน คือเรื่องการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
อย่างไรก็ตาม ในกฎบัตรอาเซียน ไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายว่า ภายหลังปี 2015 หลังจากการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นแล้ว อาเซียนจะพัฒนาไปเป็นอะไรต่อไป ผมขอเสนอว่า เป้าหมายระยะยาวของอาเซียน หลังปี 2015 คือการพัฒนาไปเป็นสหภาพอาเซียน (ASEAN Union) โดยคงจะมีลักษณะคล้ายๆกับสหภาพยุโรปในปัจจุบัน

· หลักการ
มาตรา 2 ของกฎบัตรอาเซียน พูดถึงหลักการต่างๆ แต่มีหลักการหนึ่ง คือ หลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศสมาชิก ซึ่งผมมองว่า ในโลกยุคปัจจุบัน หลักการดังกล่าวควรมีความยืดหยุ่น และอาเซียนควรมีสิทธิในการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในได้ หากมีความจำเป็น

· กลไก
ในบทที่ 4 ของกฎบัตรอาเซียนได้กล่าวถึงกลไกต่างๆของอาเซียน แต่ก็มีหลายประเด็นที่ผมดูแล้วน่าจะเป็นปัญหา
- ในกฎบัตรกำหนดจะให้มีการจัดตั้งกลไกใหม่ขึ้นมา อาทิ ASEAN Coordinating Council และ ASEAN Community Council ซึ่งผมดูแล้ว อาจจะมีปัญหาความซ้ำซ้อนกับกลไกเดิมของอาเซียน โดยเฉพาะจะไปซ้ำซ้อนกับASEAN Ministerial Meeting (AMM) และ ASEAN Economic Ministers (AEM)

- สำหรับประเด็นเรื่องบทบาทของเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนนั้น ถึงแม้ในกฎบัตรจะได้พยายามเพิ่มบทบาท แต่ผมดูแล้ว ยังมีบทบาทจำกัด โดยหากเมื่อเอาไปเทียบกับ บทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติ

- สำหรับกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ถึงแม้กฎบัตรจะบอกว่าจะมีการจัดตั้งกลไกดังกล่าวขึ้นมา แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ผมเกรงว่า ในขั้นตอนของการจัดทำบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ประเทศที่มีระบอบเผด็จการโดยเฉพาะพม่า อาจจะพยายามตัดแขนตัดขา และตัดทอนอำนาจของกลไกดังกล่าว จนในที่สุดอาจจะเป็นเพียงได้แค่เสือกระดาษ

- นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกลไกที่ไม่ได้อยู่ในกฎบัตร ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกสำหรับภาคประชาชน โดยน่าจะมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษา (Consultative Council) ซึ่งจะเป็นช่องทางหลักเพื่อให้ประชาชนและภาคประชาสังคม เข้ามามีบทบาทในกิจกรรมความร่วมมือของอาเซียน นอกจากนี้ ฝ่ายไทยน่าจะผลักดันให้มีการศึกษารูปแบบการพัฒนาให้อาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการพัฒนากลไกภาคประชาชน (track III) ของอาเซียน
ในระยะยาว ฝ่ายไทยอาจจะต้องผลักดันให้มีการแก้ไขกฎบัตร เพื่อเพิ่มกลไกดังกล่าวเข้าไป รวมทั้งในระยะยาว อาจจะให้มีการจัดตั้งสภาอาเซียน (ASEAN Parliament) และ ศาลสถิตยุติธรรมอาเซียน (ASEAN Court of Justice)

- สำหรับในประเด็นหลักการตัดสินใจนั้น กฎบัตรอาเซียนยังคงติดยึดอยู่กับหลักฉันทามติอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นปัญหามากสำหรับความก้าวหน้าของอาเซียน ผมเห็นว่า ฝ่ายไทยควรผลักดันให้มีการรื้อฟื้นแนวคิดเรื่องการลงคะแนนเสียงในบางกรณี รวมทั้งผลักดันกลไกบังคับให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎบัตร และมาตรการลงโทษ หากมีการละเมิดกฎบัตร ประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในกฎบัตร

ประชาคมการเมืองความมั่นคง

อีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายไทยควรผลักดันในการประชุมสุดยอดเดือนธันวาคมนี้ คือ เรื่องการจัดตั้งประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน ประเด็นสำคัญที่ไทยน่าจะผลักดันในเรื่องนี้ คือ กลไกป้องกันความขัดแย้ง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าของอาเซียน และไทยน่าจะผลักดันการเสริมสร้างกลไกแก้ไขความขัดแย้ง และจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพของอาเซียน
อีกเรื่องหนึ่งคือ ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย ที่ผ่านมา ความร่วมมือของอาเซียนในการต่อต้านการก่อการร้ายนั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่เราเลียนแบบอเมริกา คือเน้นการใช้กำลังเข้าปราบปราม แต่ผมคิดว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลอย่างยั่งยืน อาเซียนควรปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหา คือ ยุทธศาสตร์ชนะใจและจิตวิญญาณ ยุทธศาสตร์ชนะสงครามอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์การใช้พระคุณแทนพระเดช และยุทธศาสตร์การแก้ที่รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง

ประชาคมเศรษฐกิจ

ไทยควรเล่นบทบาทนำในการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี 2015 ให้ได้ แต่ถ้าดูตามทฤษฎีแล้ว ตลาดร่วมอาเซียนในปี 2015 จะเป็นตลาดร่วมที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ เพราะตลาดร่วมจะต้องมี 4 เสรี คือ เสรีการค้าสินค้า เสรีการค้าภาคบริการ เสรีการเคลื่อนย้ายทุน และเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในอนาคต อาเซียนคงจะต้องหารือกันว่า เราจะเป็นตลาดร่วมแบบไหน
ปัญหาใหญ่ของอาเซียนอีกเรื่องหนึ่งคือ ช่วงว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก ฝ่ายไทยจึงน่าจะผลักดันให้อาเซียนมีมาตรการลดช่องว่างดังกล่าวอย่างจริงจัง มาตรการอันหนึ่งที่น่าจะทำได้คือ การจัดทำ ASEAN Development Goals ซึ่งเป็นแนวคิดที่กระทรวงต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ โดยควรจะเป็นการต่อยอดออกไปจาก Millennium Development Goals ของสหประชาชาติ

ความสัมพันธ์กับภายนอก

อีกมิติหนึ่งที่ฝ่ายไทยควรเล่นบทบาทนำ คือ การผลักดันกระบวนการความสัมพันธ์อาเซียนกับประเทศต่างๆ
มิติแรกคือความสัมพันธ์ในกรอบอาเซียน + 1 ซึ่งโดยภาพรวม ในขณะนี้ ความสัมพันธ์ก็ราบรื่นดี โดยเฉพาะกับ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และ EU ในขณะนี้ อาเซียนเน้นการเจรจา FTA กับประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐยังไม่ดีเท่าที่ควร ฝ่ายไทยจึงควรเล่นบทบาทนำในการผลักดันให้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐขึ้นเป็นครั้งแรก และผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหรัฐ

มิติที่สอง คือ ความร่วมมือในกรอบอาเซียน +3 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป้าหมายหลักที่ฝ่ายไทยควรผลักดันในการประชุมสุดยอดอาเซียน +3 คือ การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกขึ้น โดยน่าจะให้ทำการศึกษาถึงรูปแบบ และรายละเอียดของประชาคมดังกล่าว

มิติสุดท้ายคือ อาเซียนในเวทีโลก อาเซียนยังมีปัญหาอย่างมาก ในการกำหนดท่าทีร่วมกันในเวทีโลก จะเห็นได้ว่าท่าทีของประเทศอาเซียนใน WTO ก็ไปกันคนละทิศคนละทาง ไทยจึงน่าจะผลักดันให้มีความร่วมมือ กำหนดท่าทีร่วมกันของอาเซียน อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเวที WTO และ UN

ที่ผมกล่าวมาข้างต้น เป็นข้อเสนอต่างๆ ที่ผมคิดว่า ฝ่ายไทยควรผลักดัน และเล่นบทบาทนำในช่วงที่ไทยรับบทเป็นประธานอาเซียนเป็นเวลาปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ที่ยังมีปัญหาความไม่แน่นอนทั้ง ตัวผู้นำประเทศและตัวรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็ทำให้ผมอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ไทยจะสามารถเล่นบทประธานอาเซียนได้อย่างสมศักดิ์ศรีหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: