Follow prapat1909 on Twitter

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิกฤติการเงินโลก

วิกฤติการเงินโลก
ไทยโพสต์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 4363 วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2551

ขณะนี้วิกฤติการณ์การเงินสหรัฐได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลกแล้ว เรากำลังเข้าสู่ยุควิกฤติการเงินโลก คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์วิกฤติการเงินของโลก โดยมีรายละเอียดดังนี้

ยุโรป

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วิกฤติการเงินสหรัฐได้ลุกลามระบาดเข้าไปในยุโรป โดยสถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่งในยุโรปทำท่าจะล้มละลาย

ในเยอรมนี รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยอุ้มสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ชื่อ Hypo Real Estate ซึ่งทำท่าว่ากำลังจะล้มละลาย ในตอนแรก รัฐบาลเยอรมันอัดฉีดเงินช่วยเหลือ ประมาณ 35,000 ล้านยูโร แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ จนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ประกาศอัดฉีดเงินเข้าไปอีก 50,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ต่อมาก็มีปัญหาธนาคาร Fortis ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในเบลเยี่ยม ทำท่าว่าจะล้มอีก ถึงแม้ว่าจะได้รับเงินอัดฉีดจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และลักเซมเบิร์ก จำนวน 10,000 ล้านยูโร แต่ก็ยังเอาไม่อยู่

ในอังกฤษ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ธนาคารหลายแห่งถูกโอนไปเป็นของรัฐบาล โดยเฉพาะ Northern Rock Bank และ Bradford & Bingley

ที่หนักหนาสาหัสอีกประเทศคือ ประเทศเกาะเล็กๆชื่อ ไอซ์แลนด์ ค่าเงิน Krona ของไอซ์แลนด์ตกต่ำลงอย่างมาก โดยรัฐบาลได้เข้าควบคุมกิจการธนาคารใหญ่อันดับ 3 ชื่อ Glitnir ในกรณีของไอซ์แลนด์นั้น เป็นกรณีพิเศษ เพราะสำหรับประเทศในยุโรปอื่นๆนั้น รัฐบาลพยายามจะช่วยเหลือธนาคาร แต่สำหรับไอซ์แลนด์นั้น วิกฤติกำลังจะทำให้ประเทศทั้งประเทศล้มละลาย ทั้งนี้เพราะธนาคารได้ขยายกิจการออกไปมาก และมีสินทรัพย์มากกว่า GDP ของประเทศถึง 10 เท่า

สำหรับประเทศในยุโรปอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า โดยธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 1ของอิตาลี ชื่อ Unicredit ก็ทำท่าว่าจะล้ม ทำให้ธนาคารต้องประกาศเพิ่มทุนอีก 6.6 พันล้านยูโรเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่น และตลาดหุ้นรัสเซีย ก็ตกลงถึง 19% ซึ่งนับว่าเป็นวันที่หุ้นตกต่ำมากที่สุดนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ดังนั้น เมื่อวิกฤติการเงินลุกลามใหญ่โตเช่นนี้ สหภาพยุโรปจึงได้จัดการประชุมสุดยอดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ ฝรั่งเศสเป็นประธาน EU จึงได้มีการประชุมกันที่กรุงปารีส แต่การประชุมก็ประสบความล้มเหลวในการประกาศแผนกอบกู้วิกฤติเช่นเดียวกับแผนของสหรัฐที่มีวงเงินถึง 700,000 ล้านเหรียญ กลายเป็นว่าแต่ละประเทศต่างคนต่างเอาตัวรอด ต้องช่วยธนาคารของตัวเอง ถึงแม้ว่า ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศส และผู้นำจากยุโรปอีกหลายชาติจะประกาศว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดการล้มละลายอย่างกรณีของ Lehman Brothers ขึ้นในยุโรป แต่ก็ไม่สามารถตกลงถึงแผนกอบกู้วิกฤติของ EU ร่วมกันได้

ละตินอเมริกา

วิกฤติการเงินสหรัฐ นอกจากได้ระบาดไปทั่วยุโรปแล้ว ยังได้ระบาดไปยังภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก สำหรับในละตินอเมริกา และในอเมริกาใต้ ก็ไม่รอดพ้นจากพิษวิกฤติเศรษฐกิจ โดยตลาดหุ้นบราซิลตกลงถึง 5.4% ตลาดหุ้นอาร์เจนตินาตกลงถึง 6%

สำหรับละตินอเมริกาแล้ว วิกฤติการณ์ทางการเงินดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ เพราะได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ ปี 1995 ที่เม็กซิโก โดยในครั้งนั้น สหรัฐได้เข้ามาช่วยด้วยเงิน 50,000 ล้านเหรียญ และดูเหมือนกับว่า ประเทศต่างๆในภูมิภาคได้พยายามปฏิรูประบบการเงินเพื่อให้ปลอดจากวิกฤติ โดยบราซิล เม็กซิโก และชิลี ได้มีการสำรองเงินทุนระหว่างประเทศไว้ ได้มีการปฏิรูปสถาบันการเงิน และมีการควบคุมสถาบันการเงินที่เข้มงวดกวดขันมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บราซิลได้พยายามกระจายตลาดการส่งออกจากในอดีตที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐถึง 50% ในขณะนี้ ลดลงเหลือ 15% แต่ก็ยังคงมากอยู่

อย่างไรก็ตาม วิกฤติการเงินรอบใหม่คราวนี้ กำลังลุกลามระบาดไปทั่วโลก และดูเหมือนละตินอเมริกาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เอเชีย

สำหรับในเอเชีย ก็มีลักษณะคล้ายๆละตินอเมริกา คือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เอเชียได้รับบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว โดยได้มีการปฏิรูประบบการเงิน เพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และกระจายตลาดการส่งออก

แต่วิกฤติคราวนี้ ดูจะรุนแรงเกินกว่าที่เอเชียจะหลีกเลี่ยงได้ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในเอเชียได้ตกลงอย่างมาก ท่ามกลางกระแสความหวาดวิตกถึงแนวโน้มการลุกลามของวิกฤติการเงินโลก และถึงแม้ว่าสภาคองเกรสจะได้อนุมัติเงินกอบกู้วิกฤติสหรัฐจำนวน 700,000 ล้านเหรียญ และทางสหภาพยุโรปจะได้มีการประชุมสุดยอดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ทั้งในสหรัฐและในยุโรปก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นในเอเชียได้ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในเอเชีย ก็แดงยกแผง โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นลดลงถึง 4.25% ต่ำสุดในรอบหลายปี ตลาดหุ้นฮั่งเส็งที่ฮ่องกง ตกลงถึง 4.3% ตลาดหุ้นที่เซี่ยงไฮ้ก็ตกลงถึง 5.2% และที่ตกลงอย่างมากคือตลาดหุ้นของอินโดนีเซียที่ตกลงถึง 10%

และขณะที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ คือวันพุธที่ 8 ตุลาคม ตลาดหุ้นในเอเชียยังคงดิ่งลงอย่างน่ากลัว โดยตลาดหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่นตกลงถึง 10% ซึ่งเป็นไปตามกระแสที่มาจากวอลสตรีทและดาวโจนส์ ซึ่งลดลงกว่า 500 จุด ตลาดหุ้นฮั่งเส็งตกลงอีก 5.6% ตลาดหุ้นเกาหลีตกลงอีก 6.1% และตลาดหุ้นอินโดนีเซียก็ตกลงอีก 10%

Worst case scenario ของเอเชีย ก็คือ จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งรอบ 2 ได้หรือไม่ คำตอบคือ ความเป็นไปได้ของการเกิด ยังคงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้เพราะมาตรการต่างๆที่เป็นบทเรียนจากวิกฤติเมื่อ 10 ปีที่แล้วตามที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ การเพิ่มเงินทุนสำรอง การปฏิรูปสถาบันการเงิน สถาบันการเงินในเอเชียยังคงมีสถานะแข็งแกร่งอยู่ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียในปีนี้น่าจะยังคงดีอยู่

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มตลาดหุ้นในเอเชียที่ได้ตกลงอย่างมาก โดยตกลงไปแล้ว กว่า 30% ในช่วงปีนี้ น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึง ปัญหาที่จะรออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มของปัญหาการส่งออก โดยในปีนี้ เราอาจจะเรียกว่าเป็นปีเผาหลอก ในปีหน้าน่าจะเป็นปีเผาจริง ทั้งนี้ เพราะผลกระทบจากสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐจะส่งผลในปีหน้า ในที่สุดแล้วเอเชียคงจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรควิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในครั้งนี้ได้

แต่ขณะนี้ หลายๆประเทศในเอเชียได้พยายามหามาตรการป้องกันด้วยการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ โดยไต้หวันได้ประกาศแผนอัดฉีด 5.6 พันล้านเหรียญ และเมื่อไม่กี่วันมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนองบประมาณเสริมจำนวนเงิน 17,000 ล้านเหรียญ สำหรับจีน ซึ่งในปีหน้าเศรษฐกิจคงจะโตไม่ถึง 10% ซึ่งคงจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ขณะนี้รัฐบาลจีนก็กำลังจะประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

แต่จุดอ่อนของเอเชียคือ เอเชียยังคงพึ่งการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ โดยมีสัดส่วนถึง 25% ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย การใช้จ่ายในการบริโภคถดถอย ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งมีมากมายหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: