Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การประชุมสุดยอดปฏิรูประบบการเงินโลก

การประชุมสุดยอดปฏิรูประบบการเงินโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ที่ 7 - วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน 2551

แผนการจัดประชุมสุดยอด
ภายหลังจากเกิดวิกฤติการเงินลุกลามไปทั่วโลก ผู้นำของโลกตะวันตกเริ่มตื่นตัวที่จะหามาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำของยุโรป โดยประธานาธิบดีของฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy และ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป คือ นาย Jose Manuel Barroso ได้เดินทางไปพบปะกับประธานาธิบดี Bush เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อหว่านล้อมให้ประธานาธิบดี Bush จัดการประชุมสุดยอดเพื่อปฏิรูประบบการเงินโลก

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม Dana Perino โฆษกทำเนียบขาว ได้ออกมาประกาศว่าการประชุมสุดยอดครั้งแรก กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ Washington D.C. โดยจะเป็นการประชุมสุดยอดกลุ่ม G-20 เป็นครั้งแรก ทำเนียบขาวได้บอกว่า ผู้นำของสมาชิกกลุ่ม G-20 ได้รับเชิญให้มาร่วมประชุมสุดยอด เพื่อหารือเรื่องวิกฤติการเงินในขณะนี้ รวมทั้งสาเหตุและมาตรการการปฏิรูประบบการเงินโลก การประชุมสุดยอดคงจะหารือถึงผลกระทบของวิกฤติต่อประเทศกำลังพัฒนาด้วย

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Summit on Financial Markets and the World Economy” การประชุมในวันที่ 15 พฤศจิกายนจะเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรก ซึ่งต่อไปจะมีการประชุมอีกหลายครั้ง ในการประชุมครั้งแรกนั้น คงจะเน้นตกลงกันในเรื่องของหลักการหลักๆ ส่วนในเรื่องรายละเอียดนั้น คงจะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อศึกษาและเสนอต่อการประชุมสุดยอดครั้งต่อไป

ทางทำเนียบขาวมองว่า ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คงจะมีแนวคิดหลายแนวคิดเกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูป และมองว่าในการประชุมครั้งแรก คงจะยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องมาตรการ คงจะเป็นการตกลงกันกว้างๆ

ส่วนประเทศที่เข้าประชุมนั้น ตามที่ได้กล่าวแล้ว คือกลุ่ม G-20 ซึ่งเป็นกลุ่มที่สหรัฐตั้งขึ้นมาในช่วงหลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1999 โดยเป็นการขยายวงออกไปจากกลุ่ม G-8 เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มมหาอำนาจใหม่ และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยนอกจากกลุ่ม G-8 แล้ว มี 3 ประเทศจากละตินอเมริกา ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล และเม็กซิโก ส่วนประเทศจากเอเชีย มีจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ตะวันออกกลางมี ซาอุดีอาระเบีย และตุรกี ส่วนแอฟริกา มีประเทศแอฟริกาใต้

นอกจากนี้ ทางสหรัฐได้เชิญผู้อำนวยการ IMF ประธานธนาคารโลก และเลขาธิการ UN เข้าร่วมประชุมด้วย แต่โดยที่ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนั้น จะรู้แล้วว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ แต่ทางทำเนียบขาว ก็ยังไม่แน่ใจว่า ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ จะได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้หรือไม่

ท่าทีของตะวันตก
โดยภาพรวมแล้ว สหรัฐมีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปฏิรูประบบการเงินโลก โดย Bush ได้ออกมาพูดหลายครั้งว่า การปฏิรูประบบการเงินโลกจะต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรี ระบบกลไกตลาดและการค้าเสรี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน โดยสหรัฐมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของทางยุโรป ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน

ผมดูแล้ว ท่าทีของสหรัฐน่าจะออกมาในลักษณะสนับสนุนให้มีการปฏิรูปบ้างเล็กน้อย โดยคงจะเน้นในเรื่องของการเพิ่มความเข้มงวดการทำธุรกรรมทางการเงิน การเพิ่มความโปร่งใสให้กับระบบการเงิน และการเพิ่มบทบาทของ IMF

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของสหรัฐคงจะได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากประเทศยุโรปและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมองว่าต้นตอของวิกฤติคราวนี้ ก็คือ ทุนนิยมแบบอเมริกันนั่นเอง โดยกระแสโลกในขณะนี้ คือ การต้องการจะถอยห่างจากระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐก็คงจะคัดค้านอย่างเต็มที่ต่อข้อเสนอการปฏิรูป ที่จะเป็นการทำลายทุนนิยมแบบอเมริกัน โดยสหรัฐคงจะยืนยันในหลักการว่า กลไกภาครัฐควรจะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดให้น้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไร โดยผมมองว่า หาก Obama ชนะการเลือกตั้งคราวนี้ นโยบายของ Obama ในการปฏิรูประบบการเงินโลก น่าจะมีท่าทีประนีประนอมกว่าท่าทีของรัฐบาล Bush หรือของ McCain

หันมามองท่าทีของฝั่งยุโรป จะเห็นชัดเจนว่า แตกต่างจากท่าทีของสหรัฐอย่างมาก โดยผู้นำของยุโรปหลายคนได้ออกมาเสนอให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างถอนรากถอนโคน Gordon Brown นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้กล่าวว่า วิกฤติการเงินครั้งนี้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบอย่างมาก เช่นเดียวกับ นาย Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูป การควบคุมระบบการเงินโลก การควบคุมสอดส่องการทำธุรกรรมทางการเงินและธนาคาร ผู้นำยุโรปหลายคนเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกควบคุมระบบการเงินโลกขึ้นมาใหม่ Sarkozy ได้ย้ำว่าต้องมีการปฏิรูประบบทุนนิยมโลกครั้งใหญ่ โดย Sarkozy ถึงกับประกาศว่า ยุโรปต้องการระบบการเงินโลกใหม่ หรือ เรียกว่า Bretton Woods II แต่ข้อเสนอของทางยุโรป ก็คงจะได้รับการต่อต้านจากสหรัฐอย่างแน่นอน

ท่าทีของเอเชีย
จากการวิเคราะห์ข้างต้น อาจจะทำให้มองว่า การปฏิรูประบบการเงินโลกครั้งนี้ คงจะเป็นการถกเถียงกันระหว่างยุโรปกับอเมริกาเท่านั้น แต่จริงๆแล้ว ยังมีประเทศอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ใช่ตะวันตก

ซึ่งหากจะแยกแยะกลุ่ม G-20 แล้ว จะมีประเทศตะวันตกเพียง 7 ประเทศ รวม EU ก็อาจจะเป็น 8 แต่ 12 ประเทศที่เหลือ เป็นประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก และส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนามหาอำนาจใหม่ ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศจากเอเชีย ซึ่งมีมุมมองการปฏิรูประบบการเงินโลกที่ต่างจากตะวันตก

แนวโน้มที่สำคัญอย่างยิ่งของวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน คือ แนวโน้มการผงาดขึ้นมาของเอเชีย ซึ่งมีประชากรเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของขนาดเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น ในขณะที่ตะวันตกซึ่งน่าจะมีท่าทีผลักดันการเพิ่มบทบาทของ IMF และธนาคารโลกในการปฏิรูประบบการเงินโลกนั้น แต่สำหรับเอเชียนั้น มีความรู้สึกขมขื่นกับ IMF และธนาคารโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ทั้ง IMF และธนาคารโลกถูกครอบงำโดยตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ผู้อำนวยการ IMF จะเป็นชาวยุโรปมาโดยตลอด ในขณะที่ประธานธนาคารโลก จะเป็นคนอเมริกันมาโดยตลอด สหรัฐเป็นประเทศที่ครอบงำสถาบันทั้งสอง และเป็นประเทศเดียวที่มีสิทธิยับยั้งในประเด็นสำคัญๆของทั้งสององค์กร

ประสบการณ์ของเอเชียนั้น มีความขมขื่นกับ IMF มาโดยตลอด โดยไม่ใช่แต่จะถูกกีดกัน ไม่มีสิทธิ์มีเสียงใน IMF เท่านั้น แต่เอเชียจำได้ดีว่า ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 IMF ได้เข้ามามีอำนาจบาตรใหญ่ในการกอบกู้วิกฤติต้มยำกุ้ง และมีมาตรการต่างๆที่บีบคั้นประเทศที่กู้เงินจาก IMF เป็นอย่างมาก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า IMF นั้น ดำเนินมาตรการต่างๆ ก็เพื่อสอดรับกับผลประโยชน์ของสหรัฐนั่นเอง ในช่วงนั้น ญี่ปุ่น ได้เคยเสนอจัดตั้งกองทุนการเงินแห่งเอเชีย แต่ก็ถูกสหรัฐคัดค้านอย่างเต็มที่ เพราะมองว่าจะมาเป็นคู่แข่งของ IMF

ดังนั้น เราคงจะต้องจับตามองว่า ในการประชุมสุดยอดในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจากเอเชีย จะมีท่าทีอย่างไร โดยเฉพาะต่อข้อเสนอของตะวันตกที่จะให้มีการเพิ่มบทบาทของ IMF ดังกล่าวข้างต้น

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ