Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Obama กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ

Obama กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 11 วันศุกร์ที่ 5-วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม 2551

ทีมเศรษฐกิจ

หลังจากที่ Obama ชนะการเลือกตั้ง แต่ในตอนนี้ ยังต้องรอถึงเดือนมกราคมปีหน้า ถึงจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ในช่วงที่ระหว่างรออยู่ Obama จึงรีบเดินหน้า หาคนที่จะมาดำรงตำแหน่งต่างๆในรัฐบาล และที่คงจะมีความสำคัญมากที่สุดคือ ทีมเศรษฐกิจ

ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดตำแหน่งหนึ่งคือ ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่ง Obama ได้เลือก Tim Geithner ให้มาเป็นรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลของเขา ปัจจุบัน Geithner เป็นหัวหน้าธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์ก Geithner มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน ซึ่งถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่ง Geithner ได้ทำงานอยู่ในกระทรวงการคลังสหรัฐเป็นเวลา 13 ปี โดยเข้าทำงานตั้งแต่ปี 1988 และได้ไต่เต้าจนได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลงานด้านกิจการต่างประเทศ ในสมัยของประธานาธิบดี Clinton ในช่วงที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ล่าสุด Geithner ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการล้มละลายของ Lehman Brothers และการเจรจาเพื่อเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่คือ AIG

สำหรับตำแหน่งที่สำคัญอีกตำแหน่งคือ ตำแหน่งผู้อำนวยการของ National Economic Council (NEC) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการประสานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในสมัยรัฐบาล Clinton ได้ริเริ่มจัดตั้งกลไกนี้ขึ้นมา Clinton ได้ใช้ประโยชน์จาก NEC ค่อนข้างมากในการประสานนโยบาย แต่พอมาถึงสมัยรัฐบาล Bush NEC ก็ถูกลดความสำคัญลง พอมาถึงสมัย Obama ดูเหมือนกับว่า Obama คงจะรื้อฟื้นกลไกนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

และคนที่ Obama เลือกให้มาคุม NEC คือ Larry Summers อดีตรัฐมนตรีคลังในสมัย Clinton Summers นั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง และมีประวัติผลงานมากมาย ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์มือหนึ่งอีกคนหนึ่ง Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นคนละพรรค Kissinger แม้จะเป็น Republican แต่ก็ยังเคยกล่าวชม Summers โดย Kissinger ถึงกับเคยกล่าวว่า ประธานาธิบดีทุกคน ควรจะต้องเอา Larry Summers เข้ามาร่วมรัฐบาล และ Obama ก็ได้ทำเช่นนั้น โดย Obama ได้บอกว่า Summers จะเล่นบทบาทสำคัญ โดยเป็นตัวประสานนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

ทั้ง Tim Geithner และ Larry Summers ถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์สายกลาง เป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่นักวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ดังนั้น การตัดสินใจเลือกทั้ง 2 คน แสดงให้เห็นว่า Obama ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ มากกว่าอุดมการณ์ อย่างไรก็ตาม Summers ไม่ค่อยปรากฏบทบาทต่อสาธารณะเท่าไหร่ ในขณะที่ Geithner ค่อนข้างจะมีความยืดหยุ่นสูง และเข้าได้กับทั้ง Democrat และ Republican

นโยบายเศรษฐกิจของ Obama

นอกจากเรื่องการจัดทีมเศรษฐกิจแล้ว Obama ได้เดินหน้าประกาศนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้ โดย Obama ได้ประกาศแผนการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ ในช่วงเดือนแรกหลังจากได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี คือในช่วงต้นปี 2009 ซึ่งรวมถึงนโยบายด้านภาษี นโยบายการสร้างงาน นโยบายด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ และการศึกษา

สำหรับมาตรการที่สำคัญที่สุดคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการอัดฉีดเงินเพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 5 แสนล้านเหรียญ ในขณะนี้ ยังไม่มีความแน่นอนว่า วงเงินเพิ่มเติมที่จะกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจจะมีวงเงินมากเท่าใด แต่จากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่ยังคงทรุดหนัก ทำให้มีกระแสข่าวออกมาว่า วงเงินอัดฉีดอาจจะขยับขึ้นไปถึง 7 แสน ล้านเหรียญ

อุปสรรค

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Obama กำลังจะเดินเครื่องเต็มที่ในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถือว่า Obama กำลังเจอการบ้านที่หนักหนาสาหัส มีอุปสรรคปัญหาหลายเรื่องที่ Obama คงจะต้องประสบ และฟันฝ่ามรสุมต่างๆ

· อุปสรรคประการแรกคือ สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ อยู่ในอาการทรุดหนัก ถือเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษ 1930 ในตอนที่ Bush ได้มาเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ เศรษฐกิจยังอยู่ในสภาวะที่ดี รัฐบาลมีสภาวะงบประมาณเกินดุล ในปี 2001 แต่ในปี 2009 ปีที่ Obama จะเป็นประธานาธิบดี มีการคาดการณ์กันว่า จะมีการขาดดุลงบประมาณมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญ

· ปัญหาอีกประการที่จะตามมาคือ เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็จะมีกระแสโดยเฉพาะจากพรรค Democrat ที่จะผลักดันมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งObama ก็คงจะต้องเจอศึกหนัก จากพรรค Democrat ของตัวเอง และจากสภาคองเกรส

· ปัญหาประการที่สาม ที่จะเป็นผลมาจากการเลือกทีมเศรษฐกิจของ Obama คือ กลุ่มที่สนับสนุน Obama คงจะรู้สึกถูกหักหลัง เพราะคนเป็นจำนวนมากที่เลือก Obama เพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป แต่คนเหล่านี้ รู้สึกผิดหวังที่ทีมเศรษฐกิจของ Obama เป็นคนที่มาจากสมัยของรัฐบาล Clinton คือ ทั้ง Summers และ Geithner เคยทำงานในกระทรวงการคลังในสมัย Clinton

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนทีมเศรษฐกิจของ Obama อาจให้เหตุผลว่า Obama ตัดสินใจถูกต้องแล้ว เพราะเมื่อดูประวัติของรัฐบาล Clinton แล้ว ก็ประสบความสำเร็จในด้านนโยบายเศรษฐกิจไม่น้อย ดังนั้น การเอาทีมของ Clinton มา ก็เท่ากับเป็นการเอาประสบการณ์อันมีค่า โดยเฉพาะประสบการณ์การกอบกู้วิกฤติการณ์ทางการเงิน เพราะทั้งสองคนเคยมีประสบการณ์ในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งที่ เม็กซิโก ละตินอเมริกา รัสเซีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

· สำหรับปัญหาสุดท้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทีมเศรษฐกิจของ Obama คือ ยังมีความไม่แน่นอนว่า ทีมเศรษฐกิจดังกล่าว จะมี teamwork มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการ NEC ของ Summers มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เหมาะกับ Summers เพราะ Summers นั้น เป็นคนที่ค่อนข้างจะแข็ง และไม่ประนีประนอม แต่ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่ต้องประสานฝ่ายต่างๆ หลายคนมองว่า จริงๆแล้ว Summers น่าจะกลับไปเป็นรัฐมนตรีคลัง น่าจะเหมาะกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: