Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2551 (จบ)

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2551 (จบ)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ที่ 2-วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2552 หน้าที่ 25-26

ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์สรุปสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา 5 เรื่องแรกไปแล้ว ในวันนี้จะมาต่อในอีก 5 เรื่องที่เหลือ

6. สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย

สถานการณ์โลก เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอับดับ 6 คือ สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย ในรอบปีที่ผ่านมา สงครามที่รุนแรงที่สุดคือ สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย สงครามครั้งนี้ เกิดขึ้น เมื่อจอร์เจียได้บุกเข้าไปในเขต South Ossetia ในวันที่ 7 สิงหาคม ต่อมาในวันที่ 8 สิงหาคม รัสเซียได้ตอบโต้ ด้วยการส่งทหารหลายพันคนเข้าไปใน South Ossetia และโจมตีที่มั่นทางทหารหลายแห่งในจอร์เจีย ต่อมาความขัดแย้งได้ลุกลามไปในเขต Abkhazia ทางตะวันตกของจอร์เจีย

รัสเซียคือผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ เพราะจากสงคราม ทำให้รัสเซียมีพลังอำนาจมากขึ้น สามารถใช้กำลังทหารบุกเข้าไปในเขตอิทธิพลของรัสเซีย และเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า รัสเซียกำลังกลับขึ้นมาผงาดเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารอีกครั้งหนึ่ง รัสเซียได้แสดงให้เห็นเป็นบทเรียนชัดว่า อะไรจะเกิดขึ้นสำหรับประเทศที่ตีตัวออกห่างจากรัสเซีย

รัสเซียมองว่าตะวันตกโดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ กำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย และลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยการดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิก NATO และ EU และขยายอิทธิพลตะวันตกเข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือ ในยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน เทือกเขาคอเคซัส และเอเชียกลาง รัสเซียไม่พอใจอย่างมาก ที่สหรัฐกำลังพยายามดึงเอายูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก NATO

Putin มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะสถาปนาเขตอิทธิพลของรัสเซียขึ้นมาใหม่ โดยสร้างเครดิตให้กับกองทัพรัสเซีย และพยายามที่จะทำให้เพื่อนบ้านรัสเซียเห็นว่า การเป็นพันธมิตร NATO และการใกล้ชิดกับตะวันตกนั้น ไม่มีความหมาย ในการบุกจอร์เจีย รัสเซียได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การใกล้ชิดกับสหรัฐของจอร์เจีย ไม่สามารถช่วยจอร์เจียได้

ผู้แพ้ในสงครามรัสเซียจอร์เจียคือ ตะวันตก โดยตะวันตกไม่สามารถทำอะไรรัสเซียได้ รัสเซียถือไพ่เหนือกว่า โดยเฉพาะการ black mail ยุโรปตะวันตกในเรื่องการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตะวันตกจึงไม่กล้าส่งทหารเข้าไปเพื่อสู้รบกับทหารรัสเซีย ตะวันตกจึงไม่สามารถที่จะคานอำนาจหรือปิดล้อมรัสเซียได้

7. การก่อการร้ายในมุมไบ

สถานการณ์การก่อการร้ายซึ่งมีท่าทีว่าจะทุเลาเบาบางลงในช่วงต้นปี กลับปะทุระเบิดขึ้นในช่วงปลายปี โดยเฉพาะเหตุการณ์การก่อการร้ายในมุมไบ ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา และผมก็จัดให้เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่ 7

โดยเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นในวันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในอินเดีย ที่เมืองมุมไบซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยกลุ่มก่อการร้ายได้เข้าโจมตีโรงแรมชื่อดัง 2 แห่ง รวมทั้งภัตตาคาร สถานีรถไฟ และโรงพยาบาลในช่วงเวลาพร้อมๆกัน มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 200 คน กลุ่มก่อการร้ายที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นตัวการสำคัญคือกลุ่ม Lashkar-e-Taiba กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับ Taliban และ al-Qeada

หลังเหตุการณ์มุมไบ ความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถานก็เข้าขั้นวิกฤติ เพราะอินเดียเชื่อว่าการก่อการร้ายที่มุมไบเป็นฝีมือของกลุ่ม Lashkar ซึ่งมีรัฐบาลปากีสถานรู้เห็นเป็นใจและอาจสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ความตึงเครียดถึงขั้นที่มีชาวอินเดียเสนอให้รัฐบาลใช้กำลังทหารโจมตีปากีสถาน สำหรับทางฝั่งปากีสถานนั้น ประธานาธิบดี Asif Ali Zardari ก็ได้สั่งการให้กองทัพปากีสถานเตรียมพร้อม หลังจากได้รับสัญญาณโดยเฉพาะคำขู่จากรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย

8. การประกาศเอกราชของโคโซโว

สถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 8 ในรอบปีที่ผ่านมาคือ การประกาศเอกราชของโคโซโว

โคโซโวนั้น ในอดีตเป็นจังหวัดหนึ่งของเซอร์เบีย แต่ชาวอัลเบเนียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเป็นคนกลุ่มใหญ่ และชาวเซอร์บกลายเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ในช่วงทศวรรษ 1990 รัฐบาลเซอร์เบีย ได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนชาวเซอร์บ และมีการสังหารชาวอัลเบเนียนนับหมื่นคน จนเมื่อปี 1999 กองกำลัง NATO โดยการนำของสหรัฐ จึงถล่มเซอร์เบีย จนทหารเซอร์เบียต้องถอนออกไปจากโคโซโว และกองกำลัง NATO ได้เข้าควบคุมโคโซโวแทน

ภายหลังสงคราม ตะวันตกพยายามหว่านล้อมให้เซอร์เบียให้เอกราชแก่โคโซโว แต่เซอร์เบียไม่ยอม จนในที่สุด ตะวันตกจึงตัดสินใจให้โคโซโวประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ให้การรับรองการประกาศเอกราชของโคโซโว แต่ก็มีหลายประเทศคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเซอร์เบีย รัสเซีย และจีน โดยนายกรัฐมนตรีของเซอร์เบียไม่ยอมรับการประกาศเอกราชดังกล่าว สำหรับท่าทีของรัสเซียนั้น ก็คัดค้านการประกาศเอกราช โดยก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ประกาศหลายครั้งแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของตะวันตกที่จะให้โคโซโวเป็นเอกราช รัสเซียมองว่า ตะวันตกท้าทายรัสเซียเป็นอย่างมาก เพราะการเดินหน้ารับรองเอกราชของโคโซโวทั้งๆที่รัสเซียประกาศไม่เห็นด้วย ก็เท่ากับเป็นการตบหน้ารัสเซียอย่างแรงนั่นเอง และความไม่พอใจของรัสเซียในเรื่องนี้ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การทำสงครามกับจอร์เจียในเวลาต่อมา

9. วิกฤติทิเบต

สถานการณ์โลกที่มีความสำคัญเป็นลำดับ 9 ในรอบปีที่ผ่านมาคือ วิกฤติทิเบต

ทิเบตเคยเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่ย้อนกลับไปได้นับเป็นพันปี แต่ในปี 1951 จีนได้ส่งทหารเข้ายึดครองทิเบตและผนวกทิเบตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม ชาวทิเบตก็ไม่ยินยอมที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของจีน และได้มีการต่อต้านตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่านมา

การต่อต้านจีนของชาวทิเบตล่าสุด ระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม โดยได้มีการเดินขบวนต่อต้านจีน และการเดินขบวนก็บานปลายกลายเป็นการจลาจล ต่อมารัฐบาลจีนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้เดินขบวน โดยน่าจะมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน

วิกฤติทิเบตคราวนี้ ถือว่าเป็นวิกฤติที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี และเกิดขึ้นในจังหวะที่จีนจะจัดกีฬาโอลิมปิค ถือเป็นฝันร้ายของรัฐบาลจีน การจัดโอลิมปิคในเดือนสิงหาคม จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะใช้กีฬาโอลิมปิคเป็นโอกาสทองของจีน ที่จะประกาศศักดาความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของจีนต่อสายตาชาวโลก ไม่ใช่กลายเป็นเรื่องการนองเลือดในทิเบต ประเด็นนี้เองที่นับเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลจีนไม่กล้าที่จะทำอะไร เพราะกลัวกระทบกีฬาโอลิมปิค หากไม่มีโอลิมปิค คาดว่าจีนคงใช้กำลังเข้าปราบปรามชาวทิเบตอย่างราบคาบ

10. สงครามอิรัก

สำหรับสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา เรื่องที่มีความสำคัญเป็นลำดับ 10 คือ สงครามอิรัก ซึ่งหากเทียบกับปีที่แล้ว สงครามอิรักอยู่ในลำดับต้นๆ แต่ในปีนี้ สถานการณ์มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ นับเป็นการครบรอบ 5 ปีของสงครามอิรัก โดยสหรัฐบุกโจมตีอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปี 2003 คำถามใหญ่คือ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล Bush ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไรในอิรัก

วัตถุประสงค์หลักของการบุกอิรัก มีเหตุผลใหญ่อยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง ประการแรก คือ การมองอิรักว่าเป็นส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เหตุผลประการที่ 2 คือ ความต้องการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐในตะวันออกกลาง เหตุผลที่ 3 คือ ความต้องการที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในอิรักและตะวันออกกลาง และเหตุผลประการที่ 4 คือ เรื่องอาวุธร้ายแรง

เรามาดูว่าทั้ง 4 เรื่องนี้ 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐประสบความสำเร็จอย่างไร

เรื่องแรกคือ อาวุธร้ายแรง ในที่สุด ก็ค้นไม่พบอาวุธร้ายแรงในอิรัก ถือเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและทำให้สหรัฐเสียชื่อมาก

เรื่องที่ 2 คือ การพัฒนาประชาธิปไตย เรื่องนี้ รัฐบาล Bush ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนที่อิรักจะกลายเป็นตัวแบบประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง แต่กลับกลายเป็นอิรักลุกเป็นไฟ และกำลังเข้าขั้นจะเป็นสงครามกลางเมืองเข้าไปทุกที

เรื่องที่ 3 คือ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย รัฐบาล Bush หวังในตอนแรกว่า การบุกยึดอิรัก จะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และจะทำให้สหรัฐประสบชัยชนะในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ 5 ปีที่ผ่านมา ก็กลับตาลปัตรหมด อิรักกลับกลายเป็นศูนย์กลางของการทำสงครามศาสนา อิรักกลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก

สำหรับวัตถุประสงค์อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้สหรัฐบุกอิรักคือ ความต้องการครองความเป็นเจ้า ขยายอิทธิพลครอบงำตะวันออกกลาง สำหรับวัตถุประสงค์ข้อนี้ สหรัฐก็ล้มเหลวอีกเช่นกัน เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา อิทธิพลของสหรัฐในตะวันออกกลางกลับลดลง และในทางกลับกัน อิหร่านซึ่งเป็นตัวแสดงสำคัญที่ต้องการผงาดขึ้นเป็นเจ้าในภูมิภาค และอิทธิพลของอิหร่านก็กลับเพิ่มขึ้น

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก สำหรับข้อมูลครับ