Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

42 ปีบทบาทไทยในอาเซียน

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 57 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 23 - วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2552

42 ปีบทบาทไทยในอาเซียน

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะพูดถึงบทบาทของไทยในอาเซียน ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในช่วงของการก่อตั้ง ไทยเป็นคนตั้งอาเซียนขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะเน้นว่า ในอดีต ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทนำในอาเซียน ตั้งแต่เป็นคนริเริ่ม ตั้งแต่เป็นคนก่อตั้ง อาเซียนเกิดที่กรุงเทพฯ ถ้าเป็นคน อาเซียนก็คงจะต้องมีสัญชาติไทย และอาเซียนก็คลอดที่ห้องบัวแก้ว วังสราญรมย์ ซึ่งเป็นห้องที่ได้มีการลงนามในปฎิญญากรุงเทพฯ เมื่อปี 1967 ไทยจึงมีบทบาทมาตั้งแต่แรกหลังจากนั้น ในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ในช่วงที่อาเซียนเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในช่วงที่พลิกบทบาท พลิกศักราชใหม่ของอาเซียน ไทยก็มีบทบาทสำคัญในหลายๆครั้ง ปี 1975 อินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์หมด ไทยก็มีบทบาทสำคัญ ในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรกที่บาหลีในปี 1976 ต่อมาในปี 1978 เวียดนามบุกยึดเขมร ไทยได้มีบทบาทในการผลักดันให้อาเซียนร่วมมือกัน ประสานนโยบายกัน เราใช้เวลานานที่เดียว เกือบสิบปี แต่ในที่สุด ก็ประสบความสำเร็จ ในปี 1989 เวียดนามได้ถอนทหารออกไปจากเขมร

หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ไทยก็มีบทบาทอีกครั้ง โดยไทยเป็นคนเสนอ ให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA ขึ้นในปี 1992 ต่อมาในปี 1995 เป็นปีแรกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงเทพฯ ในครั้งนั้น ไทยผลักดันเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือกันของอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง คือการเสนอให้เอาประเทศที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก ให้มาเป็นสมาชิกให้หมด ตอนแรกมี 5 ประเทศสมาชิกก่อตั้ง ต่อมาปี 1985 ก็มีบรูไนเข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 แต่ในภูมิภาคนี้ ยังมี 4 ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก คือเวียดนาม ลาว เขมร พม่า ไทยเป็นคนผลักดันว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องดึงเอาประเทศเหล่านี้ เข้ามาอยู่ในครอบครัวอาเซียน เป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด ในการประชุมสุดยอดในปี 1995 ที่ประชุมก็ตกลงในหลักการว่า จะเดินหน้าในเรื่องนี้ และ ในปี 1995 เวียดนามก็เข้ามาเป็นสมาชิก ปี 1997 ก็เป็นลาวกับพม่า พอปี 1999 ก็เป็นประเทศกัมพูชา ตอนนี้เราก็มี 10 ประเทศครบ

อย่างไรก็ตาม บทบาทนำของไทย ได้เกิดการพลิกผัน เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 1997 ซึ่งเหมือนเป็นการเสียกรุงครั้งที่ 3 เศรษฐกิจไทยย่อยยับจากวิกฤตต้มยำกุ้งในครั้งนี้เป็นอย่างมาก บทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศก็ตกต่ำลง อาเซียนก็ล้มลุกคลุกคลานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับไทย ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ในช่วงปี 1997 ถึง 1999 ก็พังกันหมด ทั้งไทย ทั้งอาเซียน ต่อมา ปี 2000 อาเซียนเริ่มฟื้น แต่ไทยกลับมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือมีการพลิกขั้วทางการเมือง เกิดมีพรรคการเมือง “ไทยรักไทย” แล้วหัวหน้าพรรคคือ พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อนายกฯทักษิณ เข้ามาเป็นผู้นำ การทูตและนโยบายต่างประเทศไทยก็เปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ และในหมู่นักวิชาการต่อไปว่า ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เราได้เราเสียอะไรมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ต้องยอมรับว่า มีความคิดริเริ่มในเรื่องนโยบายต่างประเทศหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้งเวที ACD ขึ้นมา ซึ่งเป็นเวทีหารือเอเชียทั้งทวีป เรื่องของกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งการผลักดันในเรื่องการเจรจา FTA ทวิภาคี ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการทูตไทยในสมัยนั้น คือในช่วงปี 2001 ถึง 2006

แต่ตรงนี้ หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า นโยบายต่างประเทศในสมัยรัฐบาลทักษิณ อาเซียนได้ถูกลดความสำคัญลง ความสำคัญของอาเซียนต่ำกว่าของ ACD ต่ำกว่าความร่วมมืออนุภูมิภาค ต่ำกว่า FTA ทวิภาคี เพราะฉะนั้น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ในเวทีอาเซียน ไทยจึงไม่ได้มีการผลักดัน ไม่ได้มีความคิดริเริ่มเหมือนที่ไทยได้เคยทำมาในอดีต บทบาทของไทย ก็แผ่วลงไปเยอะ ในขณะเดียวกัน ข้อเสนอการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็เป็นข้อเสนอของสิงคโปร์ ข้อเสนอประชาคมความมั่นคงอาเซียนก็เป็นข้อเสนอของอินโดนีเซีย ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ฟิลิปปินส์ก็เป็นคนผลักดัน มาเลเซียก็ไปผลักดันอาเซียน+3 จะเห็นได้ว่า ในช่วงนี้ ไทยไม่ได้มีบทบาทที่โดดเด่นอย่างที่เราเคยเป็นสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้ดีขึ้นเลย หลังจากมีการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน ปี 2006เมื่อมีรัฐบาลขิงแก่ ทุกอย่างก็หยุดหมด เป็นยุค “ใส่เกียร์ว่าง” รวมทั้งการทูตไทยก็ “ใส่เกียร์ว่าง” เราเหมือนจะขอเวลานอก เราไม่ทำอะไรเลย ไทยไม่มีบทบาทอะไรเลย ในกรอบความร่วมมือต่างๆ รวมทั้งอาเซียนด้วย

หลังจากนั้น มีการเลือกตั้ง แล้วมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ก็คือ มีรัฐบาลสมัคร มีรัฐบาลสมชาย การเมืองไทยก็ปั่นป่วน เกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง รัฐบาลก็ไม่มีเวลาที่จะคิดริเริ่มในเรื่องการทูตใหม่ๆ ไม่มีเวลาที่คิดที่จะมาเป็นผู้นำอาเซียน ก็คิดแต่ว่า จะทำอย่างไร ที่จะรอดจากการถูกล้มรัฐบาล เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ที่ทำให้บทบาทไทยตกต่ำลงไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดสำคัญ คือ พอถึงไทยได้รับเป็นประธานอาเซียน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ในสมัยรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ก็เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง ทำให้กำหนดเวลาการประชุมสุดยอด ในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ต้องเลื่อนออกไป และมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการประชุมหลายครั้ง รวมทั้งสถานที่ประชุม ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์อาเซียน ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า จะเกิดเรื่องวุ่นวายยุ่งเหยิงอย่างนี้ ทั้งวันประชุม ทั้งสถานที่ประชุม ตอนแรกเราจะจัดที่กรุงเทพฯ ตอนหลังก็จะย้ายไปเชียงใหม่ เพราะเป็นฐานเสื้อแดง พอตอนหลัง รัฐบาลสมชายล้ม รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็จัดประชุมที่เชียงใหม่ไม่ได้ จึงจะไปจัดประชุมที่ภูเก็ต แต่ก็มีปัญหาอีก เพราะว่าห้องเต็ม ประชุมไม่ได้ ต้องไปประชุมที่ชะอำ หัวหิน ก็ปั่นป่วนไปหมด

จึงกลายเป็นว่า การที่ไทยได้เป็นประธานอาเซียน และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ได้มีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนด้วย แทนที่เราจะใช้โอกาสทองอันนี้ ที่เราเป็นประธานอาเซียน ผลักดันให้ไทยกลับมามีบทบาทนำในอาเซียน แต่กลับเปลี่ยน “โอกาส” ให้กลายเป็น “วิกฤต”ไปซะ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก วิกฤตการเมืองไทย วิกฤตอาเซียนยังไม่จบ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา การประชุมที่พัทยา การประชุมอาเซียน+3 อาเซียน+6 ที่พัทยาก็ล่ม เพราะเสื้อแดง ผมคิดว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่การประชุมสุดยอดล่ม เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโลกเลยก็ได้ ที่การประชุมในระดับใหญ่ๆอย่างนี้ มีทั้งผู้นำญี่ปุ่น จีน อินเดีย ต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีกันสับสนอลม่าน ทุลักทุเลมากเลย ชื่อเสียงประเทศไทย หน้าตาประเทศไทย อยู่ที่ไหน แล้วไทยเราจะเหลืออะไร ในเรื่องของภาพลักษณ์ของประเทศ และ credit ความน่าเชื่อถือของประเทศ มันเสียหายหนักมาก
โอกาสของเราก็เสียไป บทบาทนำของเราก็แผ่วลงไป ผมคิดว่า ในระยะหลังๆนี้ เราตกลงไปเยอะ เราแย่ลงไปเยอะ สถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ในฐานะที่เราเป็นประธานอาเซียน แต่เราไม่ได้ทำหน้าที่นั้นให้ดี

นั่นเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว ตอนนี้ก็อยากจะมองไปข้างหน้า กำลังจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่หัวหิน ในช่วงวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ ผมคิดว่า เราคงต้องเอาใจช่วยรัฐบาล ว่า อย่าให้มีอะไรเกิดขึ้นอีก ขอเอาใจช่วยให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น

ไม่มีความคิดเห็น: