Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ลงใน ไทยโพสตร์
วันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2552

สถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ชะอำ หัวหิน เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ได้มีการหารือกันคือ ข้อเสนอในเรื่องสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (regional architecture) โดยญี่ปุ่นได้เสนอการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก และออสเตรเลียได้เสนอการจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิค แต่ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียง 2 ตัวแบบเท่านั้น จริง ๆ แล้วมีตัวแบบสำหรับสถาปัตยกรรมในภูมิภาคอีกมากมาย ซึ่งเท่าที่ผมลองนับดู มีถึง 12 ตัวแบบ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์ตัวแบบต่าง ๆ เหล่านี้ และจะเสนอว่าตัวแบบใดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด

1.ตัวแบบ 1 ขั้วอำนาจ

ตัวแบบนี้เน้นการที่สหรัฐฯเน้นการครองความเป็นเจ้า ถึงสหรัฐฯจะไม่ได้อยู่ในภูมิภาคโดยตรง แต่ก็เป็นประเทศที่มีบทบาท โดยเฉพาะด้านการทหารและความมั่นคงมากที่สุดในเอเชีย โดยระบบที่อเมริกาใช้อยู่เรียกว่า hub and spokes โดยมีสหรัฐฯเป็น hub หรือ ดุมล้อ และมีประเทศพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐฯเป็น spokes หรือ เป็นซี่ล้อ ในปัจจุบัน ระบบ hub and spokes ยังคงมีอิทธิพลอยู่ แต่ในระยะยาว ในขณะที่จีนและอินเดียกำลังผงาดขึ้นมา ตัวแบบระบบ 1 ขั้วอำนาจกำลังจะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ และจะถูกแทนที่ด้วยระบบหลายขั้วอำนาจ ตัวแบบที่ 1 คงจะไม่ใช้ตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย เพราะหากไทยเลือกได้ เราน่าจะเลือกตัวแบบเวทีพหุภาคีที่ไทยจะมีบทบาทมากขึ้น

2. ตัวแบบหลายขั้วอำนาจ หรือ ตัวแบบดุลแห่งอำนาจ

ตัวแบบนี้จะมีลักษณะถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างมหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย อย่างไรก็ตาม ระบบหลายขั้วอำนาจนี้จะมีมหาอำนาจเป็นตัวแสดงหลัก แต่ไทยไม่ใช่มหาอำนาจ เพราะฉะนั้น ตัวแบบนี้จึงไม่ใช่ตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย

3. ตัวแบบ Condominiums of power

ตัวแบบนี้หมายความว่า จะมี 2 ประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดมาร่วมมือกัน จัดการเรื่องต่าง ๆ ในภูมิภาคทั้งหมด ซึ่งในแง่ของเอเชียคือ ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งคงจะเป็นได้ยาก และคงจะไม่ใช่ตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย

4. ตัวแบบ Concert of Asia

แนวคิด Concert of Asia เน้นการที่มหาอำนาจในภูมิภาคมาร่วมมือกัน ล่าสุด มีแนวคิดเรื่อง G8 of Asia ซึ่งเป็นแนวคิดของนักวิชาการอินโดนีเชีย ที่เสนอให้มีความร่วมมือกันระหว่างมหาอำนาจ 8 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และ สหรัฐฯ แนวคิดนี้จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและคงจะไม่ใช่ตัวแบบที่ไทยควรจะสนับสนุน เพราะสมาชิก G8 of Asia คือ มหาอำนาจ 8 ประเทศ แต่จะไม่มีอาเซียนและไม่มีไทย

5. ตัวแบบ ACD

ตัวแบบที่เหลืออีก 8 ตัวแบบ จะเป็นตัวแบบเวทีพหุภาคีต่าง ๆ ในภูมิภาค
สำหรับตัวแบบ ACD หรือ Asia Cooperation Dialogue เป็นเวทีที่รัฐบาลทักษิณได้จัดตั้ง ขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2002 โดยจะเป็นเวทีหารือของประเทศในเอเชีย ทั้งทวีป อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง ๆ บทบาทของ ACD ได้ลดลงไปมาก ทั้งนี้ เพราะว่าเวที ACD เป็นเวทีที่ใหญ่เกินไป ทวีปเอเชียมีความหลากหลายและแตกต่างกันมาก จึงเป็นการยากมากที่จะพัฒนา ACD ให้ขยายต่อไปได้ ผมดูแล้ว จึงเป็นความยากลำบากมากที่ ACD จะกลายเป็นสถาปัตยกรรมหลักในภูมิภาค ตัวแบบนี้ จึงไม่น่าจะเป็นตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย

6. ตัวแบบ APEC

เวทีพหุภาคีอีกเวทีหนึ่งที่สำคัญในภูมิภาคคือ เวที APEC อย่างไรก็ตาม APEC ก็เหมือนกับ ACD คือเป็นเวทีที่ใหญ่เกินไป สมาชิกมีความหลากหลายแตกต่างกันมาก นำไปสู่การขาดอัตลักษณ์ร่วมที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการจัดตั้งประชาคมในภูมิภาค นอกจากนี้ APEC ยังถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ จึงทำให้ประเทศต่าง ๆในเอเชียถอยห่างจาก APEC มากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะหลัง ๆ APEC ก็ไม่สามารถมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมอะไรได้เลย ดังนั้น APEC จึงไม่น่าจะเป็นตัวแบบที่ไทยควรจะผลักดัน

7. ตัวแบบ APC หรือ Asia-Pacific Community

ข้อเสนอการจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิค หรือ Asia-Pacific Community (APC)
เป็นข้อเสนอของออสเตรเลีย โดยนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียคนปัจจุบัน คือ Kevin Rudd ได้พยายามผลักดันข้อเสนอ APC อย่างเต็มที่ ล่าสุด ก็ได้มาผลักดันที่เวทีการประชุมสุดยอดที่ชะอำ-หัวหิน โดย Rudd อ้างว่า ยังไม่มีองค์กรในภูมิภาคที่จะครอบคลุมประเด็นปัญหาในทุกเรื่อง แต่ปัญหาใหญ่ของ APC คือ การขาดอัตลักษณ์ร่วมเหมือน APEC วาระซ่อนเร้นของออสเตรเลียในการผลักดัน APC คือ การที่ออสเตรเลียและตะวันตกจะใช้ APC เป็นตัวกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีประเทศตะวันตก ซึ่งหากเอเชียรวมกลุ่มกันได้สำเร็จ จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการครองการความเป็นเจ้าของสหรัฐฯและตะวันตก โดยขณะนี้ตะวันตกซึ่งมีออสเตรเลียและสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย กำลังหวาดวิตกต่อการรวมตัวของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน +3 ซึ่งไม่มีสหรัฐฯและออสเตรเลีย ดังนั้น APC จึงไม่น่าจะเป็นตัวแบบที่เป็นประโยชน์สำหรับไทย


8. ตัวแบบ อาเซียน

เวทีพหุภาคีที่สำคัญอีกเวทีหนึ่งคือ อาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ขณะนี้ อาเซียนกำลังรวมตัวกันอย่างเข็มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยกำลังจะพัฒนาไปเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 แต่ข้อจำกัดของอาเซียนคือ อาเซียนเป็นเพียงองค์กรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น และประกอบด้วยประเทศเล็ก ๆ เพียง 10 ประเทศ ดังนั้น ถึงแม้อาเซียนจะเป็นประโยชน์ต่อไทย แต่อาเซียนก็ไม่สามารถจะพัฒนาไปเป็นสถาปัตยกรรมในภูมิภาคซึ่งครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมดได้ และนั่นก็คือ เหตุผลที่ทำไมอาเซียนต้องขยายวงออกไปเป็น อาเซียน +3 และ อาเซียน +6

9. ตัวแบบ อาเซียน +1

สำหรับกรอบอาเซียน + 1 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจต่างๆ อาทิ อาเซียน – สหรัฐฯ, อาเซียน – จีน, และอาเซียน – ญี่ปุ่น ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนที่จะพัฒนาอาเซียน +1 ให้เป็นสถาปัตยกรรมในภูมิภาคคือ การดำเนินยุทธศาสตร์ hub and spokes โดยมีอาเซียนเป็น hub และมีประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ เป็น spokes อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของอาเซียน +1 คือ ไม่สามารถที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมในภูมิภาคได้

10. ตัวแบบ อาเซียน +3

อาเซียน +3 เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อาเซียน +3 มีศักยภาพอย่างมากที่จะพัฒนาไปเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยในอดีตได้มีข้อเสนอที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออกในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง ๆ กรอบอาเซียน +3 เริ่มแผ่วลง สาเหตุสำคัญมาจากการที่ประเทศอาเซียนบางประเทศ และญี่ปุ่น เริ่มหวาดระแวงว่า จีน จะครอบงำอาเซียน +3 บวกกับการที่สหรัฐฯ เริ่มออกมาคัดค้านกรอบอาเซียน +3 มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน รวมทั้งญี่ปุ่นเริ่มถอย และเริ่มหันไปให้ความสำคัญกับกรอบอาเซียน +6 มากขึ้น

11. ตัวแบบ อาเซียน +6 หรือ East Asia Summit (EAS)

ตัวแบบ EAS มีลักษณะเป็นอาเซียน +6 นอกจากจะมีประเทศอาเซียน +3 แล้ว ยังมีอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพิ่มเข้ามา จะเห็นได้ว่า ในการประชุมอาเซียนในระยะหลัง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต และการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ชะอำ – หัวหิน เห็นได้ชัดว่า อาเซียน +3 ถูกลดความสำคัญลง แต่อาเซียน +6 กลับได้รับความสำคัญมากขึ้นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น คือ Hatoyama ก็พยายามผลักดันให้ EAS พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งข้อเสนอของญี่ปุ่น ก็แตกต่างจากแนวคิดของอาเซียนที่มีมาแต่แรก โดยจุดยืนของอาเซียน คือ พัฒนาอาเซียน +3 ไม่ใช่อาเซียน +6 ให้วิวัฒนาการไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก

ผมมองว่า ไทยต้องระมัดระวังในเรื่องพัฒนาการของ EAS เพราะ EAS เป็นเหมือนดาบสองคม ข้อดีของ EAS คือ เป็นเวทีดึงเอามหาอำนาจอื่นเข้ามาถ่วงดุลจีน แต่ข้อเสียของ EAS คือ EAS ไม่สามารถพัฒนาไปเป็นประชาคมได้ เพราะสมาชิก EAS ไม่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน ดังนั้น หากไทยให้ความสำคัญกับ EAS มากเกินไป EAS ก็อาจจะกลายเป็น Trojan horse และเป็นตัวการทำลายกระบวนการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในที่สุด


12. ตัวแบบ ASEAN Regional Forum หรือ ARF


ตัวแบบสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง คือ ARF ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านความมั่นคง ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และมีสมาชิกถึง 27 ประเทศ แต่ปัจจุบัน ARF พัฒนาไปอย่างช้ามาก
ข้อเสนอตัวแบบที่ดีที่สุดสำหรับไทย
จากที่ได้วิเคราะห์ข้างต้น ผมอยากจะสรุปว่า ตัวแบบสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่ดีที่สุดสำหรับไทย คือ ตัวแบบที่จะมีอาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม โดยรวมเอาตัวแบบที่ 8-12 สรุปได้ด้วยภาพข้างล่าง

ASEAN
ASEAN+1
ASEAN+3
(East Asia Community)
ASEAN+6
(East Asia Summit: EAS)


ASEAN Regional Forum

ยุทธศาสตร์หลักของไทยคือ วงในสุดทำให้ความร่วมมืออาเซียนเข้มข้นด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์แบบโดยเร็ว สำหรับวงต่อมา คือ อาเซียน +1 ไทยควรผลักดันยุทธศาสตร์ hub and spokes วงที่สามคือ อาเซียน +3 ซึ่งไทยควรผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก
อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้วิเคราะห์ข้างต้นว่า อาเซียน +3 กับ อาเซียน +6 กำลังเกิดการซ้ำซ้อน ดังนั้น ทางออกของไทยคือ การดำเนินยุทธศาสตร์คู่ขนาน คือ พัฒนาอาเซียน +3 คู่ขนานไปกับอาเซียน +6 หรือ EAS โดยในอนาคตหากสหรัฐฯ จะเข้ามาเป็นสมาชิกใน EAS ไทยก็คงจะไม่สามารถทัดทานได้ แต่ยุทธศาสตร์ของไทย คือ การใช้ EAS ในการถ่วงดุลจีนและลดกระแสการต่อต้านจากสหรัฐฯ แต่ไม่ควรไปไกลกว่านั้น ไทยไม่ควรสนับสนุนให้ EAS พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ไทยต้องไม่ให้ความสำคัญต่อ EAS เหนือ ASEAN + 3 สำหรับวงนอกสุด คือ ARF ยุทธศาสตร์ของไทย คือ การพัฒนา ARF ขึ้นมาเป็นตัวกันการเกิดขึ้นของ APC โดยไทยน่าจะผลักดันให้ ARF พัฒนาไปเป็นเวทีหารือในทุก ๆ เรื่อง และยกระดับขึ้นเป็นการประชุมสุดยอด

ไม่มีความคิดเห็น: