Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2553

แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2553
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2553

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์โลกในปีนี้ โดยเรื่องสำคัญ ๆ ที่จะต้องจับตามอง มีอยู่ 6 เรื่องใหญ่ดังนี้

ปัญหาภาวะโลกร้อน

ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว การประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน ผลการประชุมล้มเหลว เพราะข้อตกลงที่เรียกว่า Copenhagen Accord เป็นข้อตกลงที่เจรจากันระหว่างสหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล และอัฟริกาใต้เท่านั้น ข้อตกลงจึงมีปัญหาทางสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศ และข้อตกลงไม่ได้กำหนดว่า จะเจรจาในรูปแบบสนธิสัญญาเมื่อใด และไม่มีการกำหนดปริมาณการตัดลดก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด

มี 4 เรื่องใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรกคือ รูปแบบของข้อตกลง โดยประเทศยากจนต้องการคงพิธีสารเกียวโตต่อไป ในขณะที่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนที่พิธีสารเกียวโต เรื่องที่สอง คือ การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก โดยประเทศยากจนต้องการให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา เรื่องที่สาม คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง 40 % ภายในปี 2020 ส่วนประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้มีการกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก และถ้าสหรัฐฯจะตั้งเป้าก็จะลดเพียง 4% เท่านั้น ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยจะต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเทศยากจนเรียกร้องประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1% ของ GDP แต่ประเทศร่ำรวยก็ไม่ยอมตั้งเป้าตามที่ประเทศยากจนต้องการ

ดังนั้น ในปีนี้ การเจรจาภาวะโลกร้อนจะเดินหน้าเจรจาต่อไปอย่างไร ผมมองว่า ขณะนี้เป็นเรื่องยากมากที่จะตกลงกันได้ใน 4 เรื่องดังกล่าว โดยแต่ละประเทศก็พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ให้น้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด สหรัฐฯ ที่ควรจะเล่นบทบาทเป็นผู้นำก็ล้มเหลว ดังนั้น เราคงจะไม่เห็นการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ภายในปีนี้แน่

ปัญหาการก่อการร้ายสากล

อีกเรื่องที่ต้องจับตาดูกันในปีนี้คือ ปัญหาการก่อการร้ายที่ยังคงลุกลามบานปลายไม่จบ ปีที่แล้ว Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศยุคใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับโลกมุสลิม โดยเชื่อว่า กุญแจสำคัญของการลดความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลามคือ ความพยายามเข้าใจกัน และลดความมีอคติต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า แนวนโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในปีนี้ได้อย่างไร ในปีนี้ มีแนวโน้มว่า การก่อการร้ายจะลุกลามขยายตัว โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เยเมนและโซมาเลีย และนโยบายของ Obama จะนำไปสู่ชัยชนะในสงครามอัฟกานิสถานและปากีสถานต่อนักรบตาลีบันได้อย่างไร

สงครามในอัฟกานิสถานได้เลวร้ายลงเรื่อย ๆ เพราะทั้งนักรบตาลีบันและ Al Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ แหล่งซ่องสุมใหม่ของ Al Qaeda อยู่บริเวณพรมแดนระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน ตาลีบันได้พยายามที่จะล้มล้างรัฐบาล Karzai และได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ Obama ต้องตัดสินใจเพิ่มจำนวนทหารไปอีก 30,000 คน แต่ก็เป็นเกมที่ค่อนข้างเสี่ยงมาก เพราะอาจซ้ำรอยสงครามเวียดนาม เพราะสาเหตุหลักที่ตาลีบันได้ยึดครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะชาวอัฟกานิสถานสนับสนุนตาลีบัน และต่อต้านกองกำลังต่างชาติจากนาโต้ และสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ในปีนี้ คงต้องจับตาดูว่า การบ้านชิ้นยากสุดของ Obama คือ สงครามอัฟกานิสถานจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร แต่ผมมองว่า การที่สหรัฐฯหวังที่จะเอาชนะในสงครามอัฟกานิสถานคงไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับสถานการณ์สู้รบระหว่างปากีสถานกับนักรบตาลีบันก็กำลังเข้าสู่จุดวิกฤต ปากีสถานได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมใหม่ของ Al Qaeda และตาลีบัน ขณะนี้นักรบตาลีบันได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้มีความหวาดวิตกมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงความมั่นคงปลอดภัยของความมั่นคงของอาวุธนิวเคลียร์ในปากีสถาน โดยหากตาลีบันสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้ จะทำให้รัฐบาลตาลีบันในปากีสถานมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองถึง 80 ลูก

วิกฤตนิวเคลียร์

อีกเรื่องที่ยังคงต้องจับตามองในปีนี้ คือ วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือและอิหร่าน ปีที่แล้ว เกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 2 ทำให้โลกตกตะลึง เกาหลีเหนือได้กลับมาเดินหน้าโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ที่ Yongbyon ซึ่งเกาหลีเหนือได้ปิดไปเมื่อ 2007 จึงมีความห่วงกังวลว่า เกาหลีเหนือจะเดินหน้าต่อในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้กับประเทศอื่นด้วย เช่นเดียวกับอิหร่านก็ยังคงเดินหน้าต่อในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้ว Obama ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ต่ออิหร่านและเกาหลีเหนือ โดยหันมาใช้ไม้อ่อน คือ นโยบายปฏิสัมพันธ์และได้เริ่มมีการเจรจากับอิหร่านและเกาหลีเหนือ แต่ขณะนี้ผลของนโยบายปฏิสัมพันธ์ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เพราะท่าทีของทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด

ดังนั้น ในปีนี้ คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดว่า นโยบายปฏิสัมพันธ์ของ Obama จะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวอย่างไร หากเรามองโลกในแง่ดี ก็อาจจะหวังว่า การเจรจาน่าจะนำไปสู่การผ่อนคลายวิกฤตนิวเคลียร์ลงไปได้ แต่การเจรจาคงหนีไปไม่พ้น เจรจาสองฝ่ายระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ และ สหรัฐฯกับอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ คงจะต้องยอมหลายเรื่อง เช่นสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีเหนือ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือและอิหร่าน ให้หลักประกันความมั่นคง โดยไม่ขู่จะโจมตีหรือโค่นรัฐบาลทั้งสอง ทั้งนี้ เพื่อแลกกับการที่เกาหลีเหนือและอิหร่านจะยอมอ่อนข้อลง

สันติภาพในตะวันออกกลาง

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันในปีนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ปีที่แล้ว Obama ได้พยายามเน้นการแก้ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ โดยเสนอทางแก้ที่เรียกว่า two- state solution คือ การให้รัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่เส้นทางสันติภาพในตะวันออกกลางก็เต็มไปด้วยอุปสรรค โดยในปีนี้ หากมีการผลักดันให้มีการเจรจา ก็มีหลายเรื่องที่ยากจะหาข้อยุติ อาทิ เขตแดนของรัฐปาเลสไตน์ สถานะของกรุงเยรูซาเล็ม สถานะของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์กว่า 5 ล้านคน และปัญหาการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขต west bank ดังนั้น ในปีนี้จึงต้องดูว่า สันติภาพในตะวันออกกลางจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยเฉพาะความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะได้รับการแก้ไขได้หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่า เป็นเรื่องยากมาก

ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ

ในสมัยรัฐบาล Bush ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียเสื่อมโทรมลงไปมาก จนถึงขั้นมีบางคนมองว่า การเมืองโลกจะกลับไปสู่สงครามเย็นภาคสองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้ว Obama ได้เดินทางไปรัสเซีย และประกาศนโยบายต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียใหม่ และหลังจากได้หารือกับ Medvedev ก็ได้มีข้อตกลงกันหลายเรื่อง ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียได้เริ่มดีขึ้น โดย Obama ประสบความสำเร็จในการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง
ดังนั้น แนวโน้มในปีนี้ ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย น่าจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องไม่มองโลกในแง่ดีเกินไป ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของการเมืองโลกนั้นสวนทางกับแนวคิดของ Obama คือ มีลักษณะเป็นโลกแห่งสัจจนิยมที่มองโลกในแง่ร้าย และมักจะมองประเทศอื่นว่าเป็นศัตรู การเมืองโลกจึงเต็มไปด้วยการแข่งขันและความขัดแย้ง ทั้งสองประเทศก็คงจะหลีกหนีตรรกะของการเมืองโลกไปไม่พ้น

สำหรับความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับจีนก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย คือ ในสมัยรัฐบาล Bush กลุ่มอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยวมองว่า จีนกำลังเป็นภัยคุกคาม ยุทธศาสตร์ของ Bush คือ นโยบายปิดล้อมจีน แต่มาในสมัย Obama ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯก็เปลี่ยนมาเป็นนโยบายปฏิสัมพันธ์ โดยในช่วงปลายปีที่แล้ว การเยือนจีนของ Obama ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยได้มีการขยายความร่วมมือในหลายสาขาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า สหรัฐฯกับจีนจะตกลงกันได้ทุกเรื่อง ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนอาจจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ความสัมพันธ์ที่ในปีนี้ดูมีแนวโน้มดีขึ้น อาจจะสะดุดลงไป ก็เป็นไปได้

วิกฤตเศรษฐกิจโลก

เรื่องสุดท้ายที่คงจะต้องจับตาดูกันในปีนี้ คือ การคลี่คลายของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ปีที่แล้วประเทศต่าง ๆ ได้หาหนทางกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลทั่วโลกได้ใช้จ่ายเงินในการกอบกู้วิกฤตถึง 10 ล้านล้านเหรียญ รวมทั้งได้มีการจัดประชุมสุดยอด G20 ไปแล้ว 3 ครั้ง เพื่อประสานความร่วมมือมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบระบบการเงิน การเพิ่มบทบาทให้กับ IMF รวมทั้งการปฏิรูประบบการเงินโลก ซึ่งดูแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า มาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและมาตรการกอบกู้วิกฤตในระยะสั้นกำลังจะได้ผล

ดังนั้น ในปีนี้ จึงมีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่า วิกฤตน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ คงจะเริ่มเป็นบวก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างเช่นจีน ก็คงจะฟื้นตัวเร็วมาก และอาจจะกลับมามีอัตราการเจริญโตที่สูงเกินความคาดหมายได้

ไม่มีความคิดเห็น: