Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Obama เยือนจีน ตอนที่ 1

Obama เยือนจีน (ตอนที่ 1)
สยามรัฐสัปดาหวิจาณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 10 วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน - วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2552

ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก ที่สำคัญคือได้มีการหารือกับผู้นำจีน คือ Hu Jintao หลังการหารือ ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมสัมพันธภาพระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (Joint Statement on US-China Relationship) คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า จะสรุปวิเคราะห์แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

ก่อนอื่น ผมจะขอกล่าวถึงภูมิหลังยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อจีน โดยในสมัยรัฐบาล Bush กลุ่มอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยวมองว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคามมากขึ้น และมองว่าเป้าหมายหลักของจีนคือ การก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค ดังนั้น ข้อสรุปของยุทธศาสตร์ Bush คือ นโยบายปิดล้อม เพื่อสกัดกั้นการแพร่ขยายของอิทธิพลจีน อย่างไรก็ตาม การดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนอย่างเต็มรูปแบบเหมือนยุทธศาสตร์ปิดล้อมสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็นทำได้ยาก เพราะจีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ไปแล้ว ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของ Bush ในทางปฏิบัติจึงมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ คือ ปิดล้อมทางการทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ

ต่อมา ในสมัยรัฐบาล Obama ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯต่อจีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ ยังมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ แต่ Obama มีนโยบายจะเพิ่มสัดส่วนการปฏิสัมพันธ์เป็นพิเศษ และพยายามที่จะลดสัดส่วนของนโยบายปิดล้อมลง

ภาพรวมการเยือนจีนของ Obama

ความสัมพันธ์สหรัฐ- จีน กำลังจะกลายเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก โดยในการเยือนจีนของ Obama ครั้งแรกนี้ Obama พยายามตอกย้ำนโยบายต่างประเทศใหม่ของตน คือ นโยบายปฏิสัมพันธ์ โดยได้พยายามขยายความร่วมมือกับจีนในทุก ๆ ด้าน

ผมมองว่า ในภาพรวม การเยือนจีนของ Obama ในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ดูจากรายละเอียดแถลงการณ์ร่วมที่ได้มีการขยายความร่วมมือไปมากมายหลายสาขา อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ Obama ในการสานฝันให้เป็นจริงโดยเฉพาะนโยบายปฏิสัมพันธ์และเน้นความร่วมมือกับจีน ไม่เคยมีครั้งใดที่จีนกับสหรัฐฯ จะมีท่าทีตรงกันได้มากมายหลายเรื่องเหมือนกับในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า สหรัฐฯกับจีนจะตกลงกันได้ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและการค้ายังคงตกลงกันไม่ได้และไม่ได้ปรากฏผลข้อตกลงเรื่องนี้ในแถลงการณ์ร่วม อีกเรื่องที่ยังคงเป็นปัญหาขัดแย้งกัน ก็คือ เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งผมจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

ความร่วมมือด้านทหารและความมั่นคง

ในแถลงการณ์ร่วม ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญต่อเวทีหารือใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น คือ US-China Strategic and Economic Dialogue ซึ่งได้ประชุมไปครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี และกำลังจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ที่กรุงปักกิ่ง ในช่วงกลางปี 2010 ทั้งสองฝ่ายเน้นที่จะเพิ่มการหารือแลกเปลี่ยนกันในทุกระดับ โดยจะให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประจำทุกปี

สำหรับความร่วมมือทางด้านการทหารนั้น ก็มีพัฒนาการที่สำคัญ คือ นายพล Xu Caihou รองประธานคณะกรรมาธิการทหารของจีนได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯในเดือนตุลาคม และนายพล Chen Binde ผู้นำกองทัพของจีนก็กำลังจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ คือ Robert Gates ก็กำลังจะเดินทางไปเยือนจีนเช่นเดียวกัน ในแถลงการณ์ร่วมได้บอกว่า ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมให้มีโครงการความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐฯและจีนตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย

ผมมองว่า ความร่วมมือทางทหารที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นพัฒนาการที่สำคัญ ทั้งนี้ เพราะในอดีต ทหารของทั้งสองฝ่ายมีความหวาดระแวงกันสูงมาก และมักจะมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรู

ในแถลงการณ์ร่วมยังได้เน้นว่า ทั้งสองฝ่ายจะพยายามสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน โดยจีนได้ย้ำว่า จะเดินหน้าพัฒนาอย่างสันติ และจะส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่ง ในขณะที่สหรัฐฯ ก็กล่าวว่า ยินดีที่จีนประสบความสำเร็จ รุ่งเรือง และแข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นในเวทีโลก ทั้งสองฝ่ายย้ำว่า จะเสริมสร้างความสัมพันธ์จีน – สหรัฐฯ ที่มีลักษณะเป็นเชิงบวก สร้างสรรค์ มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จและเน้นความร่วมมือกัน

ปัญหาไต้หวัน

ในแถลงการณ์ร่วม ได้บอกว่า ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับปัญหาไต้หวัน โดยจีนได้เน้นว่า ปัญหาไต้หวันเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน และหวังว่า สหรัฐฯจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาและสนับสนุนท่าทีของจีน ในขณะที่สหรัฐฯก็บอกว่า สหรัฐฯมีนโยบายจีนเดียว และจะยึดมั่นในหลักการของแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ เกี่ยวกับเรื่องไต้หวัน สหรัฐฯยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันดีขึ้น และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มการหารือและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งสองฝ่ายได้ตอกย้ำคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ตั้งแต่ปี 1998 ว่าจะไม่มุ่งเป้าอาวุธนิวเคลียร์ไปยังอีกประเทศหนึ่ง

ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อสนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์(NPT) บทบาทของ IAEA และข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความพยายามที่จะป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดประชุมสุดยอดคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะเห็นโลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ โดยจะร่วมมือกันในการทบทวนสนธิสัญญา NPT ในปี 2010 และจะให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา CTBT ซึ่งย่อมาจาก Comprehensive Nuclear Test Ban Treaty นอกจากนี้ ทางฝ่ายจีนได้ให้ความสำคัญต่อความคิดริเริ่มของสหรัฐฯที่จะจัดประชุมสุดยอดเกี่ยวกับความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในเดือนเมษายน ปี 2010

ผมมองว่า ผลการเยือนจีนของ Obama และรายละเอียดของแถลงการณ์ร่วมชี้ให้เห็นว่า ในหลาย ๆ เรื่องเป็นเรื่องที่สหรัฐฯยอมประนีประนอมและโอนอ่อนตามท่าทีของจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ในประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ตรงนี้ ดูแล้วจีนจะเป็นฝ่ายยอมเดินตามท่าทีของสหรัฐฯ ก็เป็นลักษณะแลกเปลี่ยนกัน ยื่นหมูยื่นแมวกัน

ปัญหาเกาหลีเหนือ

สำหรับในประเด็นปัญหาด้านเกาหลีเหนือนั้น ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อกระบวนการเจรจา 6 ฝ่าย และการปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วม กันยายน 2005 รวมทั้งความต้องการที่จะให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ การสถาปนาความสัมพันธ์ให้อยู่ในระดับปกติ และส่งเสริมให้มีสันติภาพที่มั่นคงถาวรในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ฝ่ายจีนได้แสดงความยินดีที่ได้เริ่มมีการติดต่อกันในระดับสูงระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ โดยทั้งจีนและสหรัฐฯ หวังว่า การเจรจา 6 ฝ่ายจะได้มีการจัดประชุมโดยเร็ว

ปัญหาอิหร่าน

ทั้งสองฝ่ายแสดงความห่วงใยต่อพัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับกรณีปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน แต่ก็ยินดีที่ได้มีการเจรจาหารือที่เจนีวา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงทั้ง 5 กับอิหร่าน ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะแก้ไขปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน และทั้งสองฝ่ายตอกย้ำว่า การเจรจาน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหานี้อย่างสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ และได้เรียกร้องให้อิหร่านปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงและกับ IAEA

( โปรดอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)

ไม่มีความคิดเห็น: