Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Obama เยือนเอเชีย

Obama เยือนเอเชีย

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ที่ 13 - พฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2552 หน้า 32-33

ในช่วงระหว่างวันที่ 12 -19 พฤศจิกายนนี้ ประธานาธิบดี Barack Obama จะเดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ในการมาเยือนเอเชียในครั้งนี้ Obama จะไปเยือนญี่ปุ่นก่อน ในช่วงวันที่ 12 -13 และหลังจากนั้น จะมาประชุมสุดยอด APEC ที่สิงคโปร์ในวันที่ 13-15 และในวันที่ 15 จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์ด้วย และต่อจากนั้น จะเดินทางไปเยือนจีนในวันที่ 15- 18 และสุดท้ายจะไปแวะที่เกาหลีใต้ในวันที่ 18 -19 คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงการเยือนเอเชียครั้งแรกของ Obama ดังนี้

ญี่ปุ่น

ประเทศแรกที่ Obama จะไปเยือนคือ ญี่ปุ่น ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทุกคนคงจะจับตามอง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ- ญี่ปุ่น จะเป็นอย่างไร โดยก่อนหน้านี้ เมื่อหัวหน้าพรรค DPJ คือ Yukio Hatoyama ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ได้มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ว่านโยบายของ Hatoyama จะส่งผลในทางลบต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ - ญี่ปุ่น โดย Hatoyama ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ได้พยายามขายไอเดียใหม่ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ พยายามตอกย้ำหลายครั้งว่า เป้าหมายใหม่ของนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น คือ การเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและการเมืองจากสหรัฐฯ ได้โจมตีแนวคิดทุนนิยมแบบอเมริกัน หรือ โลกาภิวัตน์ และมองว่า ทุนนิยมอเมริกันเป็นทุนนิยมแบบสุดโต่ง Hatoyama มองว่า โลกกำลังจะวิวัฒนาการไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ได้ตั้งคำถามว่า ญี่ปุ่นควรจะกำหนดจุดยืนอย่างไร เพื่อที่จะเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและการเมือง ในบริบทที่สหรัฐฯ พยายามจะคงตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกไว้ โดยมองว่า ประเทศในภูมิภาคต้องการอำนาจทางทหารของสหรัฐฯ เพื่อสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค แต่ก็ต้องการสร้างข้อจำกัดไม่ให้อเมริกาใช้อำนาจอย่างสุดโต่ง แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องลดภัยคุกคามทางทหารจากจีน

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ในที่สุดแล้ว ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น – สหรัฐฯ คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม Hatoyama คงจะบอกกับ Obama ว่า พันธมิตรระหว่างประเทศทั้งสองยังคงเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น และแน่นอนว่า สำหรับ Obama theme ของนโยบายสหรัฐฯ ในการเยือนเอเชียครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำ theme ของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในยุค Obama คือ การเน้นปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ

APEC

หลังจากการเยือนญี่ปุ่น Obama จะเดินทางมาประชุม APEC ที่สิงคโปร์ ซึ่ง Obama คงต้องพยายามผลักดันให้ APEC เดินหน้าต่อไปได้ สหรัฐฯ น่าจะผลักดันข้อเสนอการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (FTAAP) และอาจสนับสนุนข้อเสนอของออสเตรเลียเกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมเอเชียแปซิฟิค (Asia-Pacific Community –APC) แต่วาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯคือ การผลักดัน FTAAP และ APC ขึ้นมาเพื่อป้องกันการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยไม่มีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียก็คงจะไม่เล่นด้วยกับสหรัฐฯ เพราะคงจะรู้ว่า สหรัฐฯจะมาไม้ไหน โยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน มีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน ผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว ข้อเสนอของสหรัฐฯในการจัดตั้ง FTAAP และ APC น่าจะไปไม่รอด ผลการประชุม APEC ที่สิงคโปร์ก็คงจะเหมือนกับในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ก็คือ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม แต่ APEC ยังคงมีประโยชน์อย่างมากต่อสหรัฐฯ เพราะจะเป็นกลไกสำคัญในการคงอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคต่อไป และจะเป็นกลไกสำคัญในการเป็นตัวกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ

การประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ

และในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ Obama จะประชุมสุดยอดกับผู้นำอาเซียน 10 ประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในอดีตไม่เคยมีการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯเลย การที่สหรัฐฯยอมประชุมสุดยอดกับอาเซียนก็เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิทธิพลของจีนได้เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียนอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐฯ ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ การครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค ดังนั้น เราจึงได้เห็นว่า สหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล Obama ได้ประกาศจะให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในเอเชียมากขึ้น Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนปัจจุบัน ก็ได้เดินทางไปเยือนสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจากาตาร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ต่อมา ในปลายเดือนกรกฎาคม ในการประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต Hillary ได้ลงนามภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของอาเซียน

ดังนั้น การประชุมสุดยอดอาเซียน- สหรัฐฯ ครั้งนี้ จึงนับเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของความสัมพันธ์สหรัฐ – อาเซียน และเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ โดยในการประชุมครั้งนี้ ไทยยังเป็นประธานอาเซียนอยู่ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีอภิสิทธ์จะเป็นประธานการประชุมร่วมกับ Obama สำหรับเรื่องที่จะมีการหารือในการประชุมกัน น่าจะเป็นเรื่องทิศทางความร่วมมือในอนาคตของอาเซียน – สหรัฐฯ วิกฤตเศรษฐกิจโลก เรื่องปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ ภาวะโลกร้อน และจะมีการออก Joint Press Statement ผลการประชุมด้วย

จีน

หลังจากประชุม APEC และอาเซียนเสร็จ Obama จะเดินทางไปเยือนจีน ซึ่งขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์สหรัฐ- จีน กำลังจะเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก ทั้งนี้ เพราะการผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง โดยเฉพาะจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ในการเยือนจีนของ Obama ครั้งแรกนี้

Obama คงจะพยายามตอกย้ำนโยบายต่างประเทศใหม่ของตน คือ นโยบายปฏิสัมพันธ์ โดย Obama คงจะประกาศขยายความร่วมมือกับจีนในทุก ๆ ด้าน

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐฯ ต่อจีน จะยังคงมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ โดยเน้นปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ แต่เน้นปิดล้อมทางการทหาร แต่ Obama น่าจะมีนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนของนโยบายปฏิสัมพันธ์ให้มากขึ้น และลดสัดส่วนของนโยบายปิดล้อมลง

เกาหลี

และประเทศสุดท้ายที่ Obama จะไปเยือนคือ เกาหลีใต้ ในวันที่ 18 -19 พฤศจิกายน เดาได้ว่า เรื่องสำคัญที่จะหารือระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ คือ ปัญหาเกาหลีเหนือ โดย Obama คงจะพยายามผลักดันนโยบายใหม่ต่อเกาหลีเหนือ โดยจะเน้นการเจรจา ซึ่งจะแตกต่างจากในสมัยรัฐบาล Bush ที่เน้นการคว่ำบาตรและการลงโทษ เกาหลีเหนือเองก็ได้แสดงท่าทีตอบรับการเปลี่ยนนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ โดยจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือ การเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือของอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton และขณะนี้ ก็กำลังเดินหน้าสู่การเจรจาสองฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ

ไม่มีความคิดเห็น: