Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Obama เยือนจีน ตอนจบ

Obama เยือนจีน (ตอนจบ)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 11 วันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม 2552

ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก ที่สำคัญคือได้มีการหารือกับผู้นำจีน คือ Hu Jintao หลังการหารือ ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมสัมพันธภาพระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (Joint Statement on US-China Relationship)

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ได้สรุปวิเคราะห์แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวต่อให้จบ ดังนี้
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

สำหรับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ในแถลงการณ์ร่วมกล่าวว่า ทั้งจีนและสหรัฐฯ จะร่วมมือกันในการทำให้เศรษฐกิจโลกเจริญเติบโตในลักษณะที่สมดุลและยั่งยืน

ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการประชุม G20 ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินโลก และจะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของ G20 ให้ G20 พัฒนาไปเป็นเวทีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ G20 ตกลงที่จะให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้สถาบันมีความชอบธรรม มีความเชื่อมั่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะต้องมีการปฏิรูปโควต้าและสัดส่วนอำนาจในการลงคะแนนเสียงใน IMF และธนาคารโลก โดยจะต้องเพิ่มเสียง และการมีส่วนร่วมให้กับประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับในประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีนั้น ทั้งสองฝ่ายเพียงตกลงว่าจะหาหนทางที่จะแก้ความขัดแย้งทางการค้าและการลงทุน และจะให้มีการเจรจาสนธิสัญญาด้านการลงทุนทวิภาคีโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้การเจรจารอบโดฮาประสบความสำเร็จภายในปี 2010 สำหรับเวทีการหารือด้านเศรษฐกิจนั้น ได้มีการประชุม US – China Joint Commission on Commerce and Trade มาถึง 20 ครั้งแล้ว

ผมมองว่า ในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในประเด็นเรื่อง G20 และสถาบันการเงินโลก เห็นได้ชัดว่าท่าทีของสหรัฐฯ เป็นการโอนอ่อนตามท่าทีของจีนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของการหารือในครั้งนี้คือ ประเด็นความขัดแย้งทวิภาคีทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่สามารถตกลงกันได้ ก่อนหน้านี้ มีข่าวกระทบกระทั่งกันหลายครั้ง ในลักษณะที่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของทั้งสองประเทศต่อสินค้าของอีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้ ปัญหาเรื้อรังอีกเรื่องคือ ปัญหาค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งสหรัฐฯได้พยายามมาหลายปีแล้วที่จะให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน แต่จีนก็ยืนกรานที่จะไม่ยอมตามแรงกดดันของสหรัฐฯ ดังนั้น เราคงต้องจับตาดูกันว่า ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวบ่อนทำลายความพยายามของ Obama ที่จะปฏิสัมพันธ์กับจีนหรือไม่

ปัญหาสิ่งแวดล้อม

อีกเรื่องที่ Obama ประสบความสำเร็จอย่างมากในครั้งนี้คือ การหารือกับจีนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องภาวะโลกร้อน โดยในแถลงการณ์ร่วม ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันที่จะต้องร่วมหารือกันอย่างสร้างสรรค์ในปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการประชุมครั้งสำคัญในเดือนธันวาคมที่โคเปนเฮเกน ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนตรงกัน โดยยึด Bali Action Plan เป็นหลัก ทั้งจีนและสหรัฐฯ มีจุดยืนตรงกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทั้งสองฝ่ายมีท่าทีว่าการประชุมที่โคเปนเฮเกนจะต้องมีการกำหนดเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกด้วย ทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการนำไปสู่ผลการประชุมที่ประสบความสำเร็จที่โคเปนเฮเกน

ผมมองว่า ประเด็นความร่วมมือด้านภาวะโลกร้อนระหว่างจีนกับสหรัฐฯในครั้งนี้ เป็นพัฒนาการที่สำคัญมาก เพราะในอดีต สหรัฐฯกับจีนมีท่าทีในเรื่องนี้ที่อยู่ตรงกันข้ามกัน โดยสหรัฐฯ ไม่สนใจพิธีสารเกียวโต และไม่ยอมตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่จีนในอดีตก็มีท่าทีว่าจีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงได้รับการยกเว้นในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ท่าทีของทั้งสองประเทศในครั้งนี้เปลี่ยนแปลงลงไปมาก และชี้ให้เห็นว่า ในภาพรวมสหรัฐฯกับจีนสามารถที่จะมีจุดยืนร่วมกันในหลาย ๆ เรื่องอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ความร่วมมือด้านพลังงาน

อีกเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

· โดยได้มีการลงนามในพีธีสารระหว่างกระทรวงพลังงานสหรัฐฯกับของจีนเพื่อที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยพลังงานสะอาด (Clean Energy Research Center)

· ได้มีความร่วมมือในการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าทีมีชื่อภาษาอังกฤษว่า US-China Electric Vehicles Initiative โดยจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับสองประเทศในอนาคต

· มีความร่วมมือในด้านพลังงานทดแทน คือ US-China Renewable Energy Partnership

· ได้มีการจัดตั้งโครงการความร่วมมือด้านพลังงาน (US-China Energy Cooperation Program) โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้งเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

· ได้มีการจัดประชุม US-China Energy Policy Dialogue ครั้งที่ 4

· การจัดประชุม US – China Oil and Gas Industry Forum ครั้งที่ 9

· ได้มีโครงการความร่วมมือใหม่ที่มีชื่อว่า US-China Shale Gas Resource Initiative เพื่อพัฒนาทรัพยากรก๊าซธรรมชาติของจีน

· มีการจัดการประชุม Executive Committee Meeting of the Global Nuclear Energy Partnership ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ

ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงกันในเรื่องความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้มีการจัดตั้งกลไกใหม่ที่มีชื่อว่า US – China Joint Commission on Science and Technology Cooperation และจะส่งเสริมความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์อวกาศและการสำรวจอวกาศด้วย

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม

ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการติดต่อในระดับประชาชนต่อประชาชน และจะให้มีการจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ โดยในขณะนี้ มีนักศึกษาจีนเกือบ 100,000 คนที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ ในขณะที่มีนักศึกษาอเมริกันอยู่ในจีนประมาณ 20,000 คน สหรัฐฯ ได้ตั้งเป้าว่า จะส่งนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คนในช่วงอีก 4 ปีข้างหน้า และกำลังจะมีการประชุม US- China Cultural Forum ครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ

ปัญหาสิทธิมนุษยชน

สำหรับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนว่าแต่ละประเทศมีสิทธิที่จะเลือกทางเดินของตน และแต่ละประเทศควรจะเคารพในตัวแบบการพัฒนาของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายตระหนักดีว่า สหรัฐฯและจีนยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งสองฝ่ายก็จะจัดการประชุมหารือในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2010

ผมมองว่า แถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ แตกต่างจากในอดีต เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะมีท่าทีที่แข็งกร้าวและกล่าวโจมตีจีนอย่างรุนแรงในเรื่องนี้ แต่ในครั้งนี้ ท่าทีของ Obama ได้อ่อนลงไปอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า Obama ต้องการจะประนีประนอมกับจีนอย่างเต็มที่ จึงไม่อยากหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาทำให้จีนไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม ผมเดาว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ คงจะไม่พอใจต่อท่าทีของ Obama

และโดยภาพรวมแล้ว พรรครีพับริกันและฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐ คงจะมองว่า การดำเนินนโยบายปฏิสัมพันธ์กับจีนของ Obama เป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่า จีนเป็นภัยคุกคาม ดังนั้น การปฏิสัมพันธ์จะยิ่งทำให้จีนแข็งแกร่งขึ้นมา ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามหนักขึ้น และมองว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯน่าจะเป็นการปิดล้อมจีนมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: