Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 31 วันศุกร์ที่ 23 - วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ที่ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ การพิจารณาความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ภูมิหลัง
แนวคิดเรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2003 ในการประชุมสุดยอดที่บาหลี อินโดนีเซีย ได้มีการจัดทำ Bali Concord 2 ขึ้น ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2020 แต่ต่อมาได้ร่นมาเป็นปี 2015

สำหรับประชาคมเศรษฐกิจนั้น ในปี 2004 ได้มีการทำแผนปฏิบัติการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งประชาคม ต่อมาปี 2007 ได้มีการจัดทำ blueprint หรือแผนงาน ซึ่งมีรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ล่าสุดในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ที่เวียดนาม ได้มีการพิจารณาเอกสาร ASEAN Economic Community Scorecard ซึ่งเป็นเอกสารที่ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่อยู่ใน blueprint รายงานดังกล่าวขอเรียกย่อๆ ว่า AEC Scorecard ได้ครอบคลุมช่วงเวลาในปี 2008 ถึง 2009

การเปิดเสรีการค้าสินค้า

ใน AEC blueprint ได้มีการกำหนดเป้าหมายหลักของประชาคมเศรษฐกิจว่า จะมีการจัดตั้งตลาดเดียวหรือตลาดร่วมและฐานการผลิตเดียว (single market and production base) โดยจะมี 5 องค์ประกอบด้วยกันได้แก่ การไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า การไหลเวียนอย่างเสรีของบริการ การไหลเวียนอย่างเสรีของการลงทุน การไหลเวียนที่มีความเสรีมากขึ้นสำหรับเงินทุน และการไหลเวียนเสรีสำหรับแรงงานมีฝีมือ

สำหรับความคืบหน้าในการเปิดเสรีการค้าสินค้านั้น ถือได้ว่ามีความคืบหน้ามากที่สุด โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีนี้ อัตราภาษีของสินค้าที่ค้าขายกันระหว่างอาเซียนได้ลดลงอยู่ที่ 0 - 5 % โดยอัตราเฉลี่ยของอัตราภาษีอยู่ที่ 0.9 % ปริมาณการค้าระหว่างอาเซียนด้วยกันก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2008 มีมูลค่าการค้าถึงเกือบ 460,000 ล้านเหรียญ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ข้อตกลง ASEAN Trade in Goods Agreement จะมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเปิดเสรีขณะนี้อยู่ที่เรื่องการขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษี Non Tariff Barriers หรือ NTB อาเซียนได้มีการจัดทำกรอบการอำนวยความสะดวกทางการค้า (ASEAN Trade Facilitation Framework) เพื่อที่จะขจัดปัญหา NTB โดยเฉพาะเรื่องขั้นตอนศุลกากร กระบวนการทางการค้า มาตรฐานสินค้า และมาตรการด้านสุขอนามัย

การเปิดเสรีการค้าภาคบริการ
สำหรับการเปิดเสรีการค้าภาคบริการนั้น อาเซียนตั้งเป้าหมายว่า จะเปิดเสรีโดยเริ่มต้นจาก 4 สาขา ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ E-ASEAN ด้านสุขอนามัย และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเปิดเสรีให้ได้ภายในปี 2010 หลังจากนั้น จะเปิดเสรีทุกสาขาที่เหลือ ให้ได้ภายในปี 2015 อย่างไรก็ตาม สาขาที่น่าจะมีปัญหาคือ การเปิดเสรีสาขาการเงิน
ใน AEC Scorecard ได้รายงานว่า ได้มีการเจรจาตกลงไปแล้ว 7 รายการ ภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่า ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) ซึ่งสาขาที่มีความคืบหน้าในการเปิดเสรีภาคบริการได้แก่ สาขาการบริการทางธุรกิจ การบริการด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ การก่อสร้าง การขนส่งทางทะเล การจัดจำหน่ายสินค้า สาขาโทรคมนาคม การศึกษาและการท่องเที่ยว

การเปิดเสรีด้านการลงทุน
สำหรับการเปิดเสรีด้านการลงทุนนั้น ใน AEC Scorecard ได้รายงานความคืบหน้า การจัดทำความตกลงที่เรียกว่า ASEAN Comprehensive Investment Agreement ซึ่งเน้นเรื่องการปกป้องการลงทุน การมีกฎระเบียบด้านการลงทุนที่มีความโปร่งใส ส่งเสริมอาเซียนให้เป็นเขตการลงทุนเดียว และเปิดเสรีกฎระเบียบการลงทุนของสมาชิกอาเซียน ที่จะนำไปสู่การลงทุนเสรีและเปิดกว้างภายในปี 2015 โดยจะมีการประกาศใช้ข้อตกลงดังกล่าวในเดือนสิงหาคม ปีนี้

การเปิดเสรีการไหลเวียนของเงินทุน
สำหรับในด้านการไหลเวียนของเงินทุนนั้น อาเซียนยังไม่สามารถตั้งเป้าหมายให้เสรี 100 % ได้ ใน AEC blueprint จึงได้แค่ตั้งเป้าหมายให้การไหลเวียนของเงินทุนมีความเสรีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า freer flow of capital แทนที่จะใช้คำว่า free flow of capital

อย่างไรก็ตาม ใน AEC Scorecard ได้รายงานว่า อาเซียนได้มีมาตรการที่จะให้การไหลเวียนของเงินทุนมีความเสรีมากขึ้น โดยในเดือนเมษายนปี 2009 ได้มีการให้การรับรองต่อแผนดำเนินการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตลาดการเงินของอาเซียนอย่างบูรณาการ (integrated ASEAN capital market)

นอกจากนี้ เพื่อที่จะให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ได้ลดข้อจำกัดในเรื่องของการลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ประเทศอาเซียนบางประเทศยังมีข้อจำกัดในเรื่องนี้อยู่ อาเซียนจึงได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะให้มีการไหลเวียนของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ให้มีความเสรีมากขึ้น รวมทั้งความพยายามที่จะให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีการไหลเวียนและมีความเสรีมากขึ้น รวมทั้งให้มีการลดข้อจำกัดในเรื่องของระบบอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

การเปิดเสรีด้านแรงงาน
สำหรับในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานนั้น อาเซียนยังไม่สามารถเปิดเสรีได้ 100% AEC blueprint ได้แต่เพียงตั้งเป้าหมายเปิดเสรีเฉพาะแรงงานมีฝีมือเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการพูดถึงการเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ

ใน AEC Scorecard ได้รายงานว่า อาเซียนพยายามที่จะเปิดเสรีแรงงานมีฝีมือ อาทิ การเปิดเสรีแรงงานมีฝีมือในด้านการแพทย์ นักบัญชี วิศวกร พยาบาล และสถาปนิก เป็นต้น

ในตอนท้ายของ AEC Scorecard ได้สรุปว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้ประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจในปี 2015 โดย AEC Scorecard ได้ประเมินว่า ขณะนี้มาตรการต่างๆ ได้คืบหน้าไปแล้ว 82%

บทวิเคราะห์
จากที่ได้กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ใน AEC Scorecard ได้ชี้ให้เห็นความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นตลาดร่วมภายในปี 2015 นั้น ถ้าดูตามทฤษฎีแล้ว จะเป็นตลาดร่วมที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะตามทฤษฎี ตลาดร่วมต้องมี 4 เสรี คือ เสรีในการค้าสินค้า เสรีการค้าภาคบริการ เสรีในการเคลื่อนย้ายเงินทุน และเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่ในปี 2015 อาเซียนจะมีเสรีเพียง 2 ตัวเท่านั้น คือ เสรีการค้าสินค้ากับเสรีภาคบริการ ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงาน อาเซียนยังไม่สามารถจะเปิดเสรีได้ 100%

อุปสรรคสำคัญในการจัดตั้งตลาดร่วมอาเซียนคือ ช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ซึ่งยังคงมีความแตกต่างกันมาก ประเทศอาเซียนยังมองประเทศสมาชิกอื่นเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อาเซียนยังมีปัญหาทั้งบูรณาการในเชิงลึกและเชิงกว้าง ปัญหาบูรณาการในเชิงลึกคือ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่อาเซียนจะบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งตลาดร่วมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ ในขณะที่ปัญหาการบูรณาการในเชิงกว้างคือ ถึงแม้อาเซียนจะรวมตัวอย่างเข้มข้นแค่ไหนหรือในเชิงลึกแค่ไหน แต่อาเซียนก็ยังคงเป็นเพียงกลุ่มของประเทศเล็กๆ 10 ประเทศเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: