Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อเอเชีย ปี 2010

ยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อเอเชีย ปี 2010
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 39 วันศุกร์ที่ 18 - วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2553

เมื่อเร็วๆ นี้ Ron Kirk ผู้แทนการค้าของสหรัฐ หรือ USTR ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม U.S.- Asia Pacific Council ครั้งที่ 7 ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยมีหัวข้อเป็นภาษาอังกฤษว่า “U.S. – Asia Pacific Relations : Transition in the New Era” เนื้อหาของสุนทรพจน์เป็นการประกาศยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อภูมิภาคล่าสุด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปและวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

ยุทธศาสตร์การค้าของรัฐบาลโอบามา
ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Kirk ได้ฉายภาพให้เห็นถึงยุทธศาสตร์และนโยบายการค้าในภาพใหญ่ของรัฐบาลโอบามา
เมื่อ 2 -3 เดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาได้ผลักดันแนวนโยบายในการขยายการค้า โดยมีการลงนามในเอกสารที่มีชื่อว่า National Export Initiative ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยจะมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มการส่งออกของสหรัฐให้เป็นสองเท่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ หรือ USTR ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการเพื่อแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

Kirk ได้อ้างตัวเลขว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2009 การส่งออกของสหรัฐได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

ยุทธศาสตร์การค้าต่อเอเชีย
ต่อมา ในสุนทรพจน์ได้กล่าวให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อเอเชีย โดยได้บอกว่า เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่โอบามาเดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งแรก โอบามาได้เน้นว่า สหรัฐเป็นประเทศแปซิฟิค หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Pacific Nation และโอบามาได้ผลักดันวาระที่จะรื้อฟื้นการเป็นผู้นำของสหรัฐในภูมิภาค

สำหรับในด้านการค้านั้น Kirk ได้กล่าวอ้างตัวเลขว่า กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกของสหรัฐ ได้ส่งออกมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

ได้มีการคาดการณ์กันว่า ในทศวรรษหน้า การเจริญเติบโตในการค้าขายและการบริโภคจะมากระจุกตัวอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ดังนั้น สหรัฐจะต้องทำให้นักธุรกิจและแรงงานสหรัฐมีช่องทางที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคด้วย



APEC
Kirk ได้กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐคือ การใช้เวที APEC ในการขยายโอกาสทางการค้าของสหรัฐ
โดยในปี 2010 นี้ ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ที่โยโกฮามา ในช่วงปลายปี ดังนั้น สหรัฐกำลังร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ในการที่จะทำให้ผลการประชุมสุดยอดในปีนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นการเตรียมทางสำหรับการประชุมสุดยอดในปี 2011 ที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดที่ฮาวาย ซึ่งจะต้องมีผลการประชุมที่โดดเด่น

สำหรับมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐจะผลักดันใน APEC ในปี 2010 และ 2011 มีดังนี้
- ผลักดันประเด็นด้านการค้าและการลงทุน โดยรวมถึงเรื่องการกำจัดอุปสรรคทางด้านการค้า ที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคและอุปสรรคในด้านมาตรฐานสินค้า
- ผลักดันมาตรการที่จะทำให้การค้าในภูมิภาค มีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่ถูกลง ง่ายขึ้น และรวดเร็วขึ้น คือการทำให้การค้าไหลเวียนสะดวกขึ้น โดยจะต้องมีการขจัดอุปสรรคของการไหลเวียนของสินค้าใน supply chain หรือ โซ่ห่วงการผลิต และปรับปรุงความโปร่งใส และการเข้าถึงข้อมูลในด้านศุลกากร
- ขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนในการค้าและบริการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

Kirk ตอกย้ำว่า ในปี 2011 สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอด APEC ดังนั้น สหรัฐจะใช้โอกาสทองดังกล่าวในการแสดงให้เห็นว่า อเมริกาจริงจังที่จะเล่นบทบาทอย่างแข็งแกร่งและอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค การประชุมสุดยอด APEC 2011 จึงมีความสำคัญทั้งในแง่สัญลักษณ์และในแง่ของเนื้อหา

Trans - Pacific Partnership (TPP)
หัวใจของยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อเอเชีย คือ การผลักดัน FTA ในกรอบ Trans - Pacific Partnership (TPP) หรือ TPP โดย Kirk กล่าวว่า สหรัฐกำลังวางแผนในเรื่องนี้ ประธานาธิบดีโอบามาต้องการผลักดันการจัดทำ FTA ในกรอบ TPP สหรัฐมุ่งเป้าว่าจะมีการจัดทำข้อตกลงการค้าอย่างเป็นทางการในกรอบ TPP โดยสหรัฐหวังว่า ในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดและมีพลวัตรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ TPP จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าที่สมบูรณ์แบบที่สุดในศตวรรษที่ 21 และ TPP จะให้ประโยชน์ต่อสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน บูรณาการบริษัทธุรกิจของสหรัฐในห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค นอกจากนี้ TPP จะเปิดโอกาสให้กับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ในสหรัฐ รวมทั้งจะมีการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วย

สหรัฐได้เริ่มเจรจากับประเทศในกรอบ TPP อีก 7 ประเทศ เมื่อเดือนมีนาคมไปแล้ว การเจรจารอบใหม่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

บทวิเคราะห์
ผมมองว่า ยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐในภูมิภาค คือ การใช้ TPP ในกรอบของ APEC เป็นแกนกลางสำคัญของการทำ FTA ในภูมิภาค โดยจะค่อยๆ ขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุด จะบรรลุเป้าหมายที่สหรัฐได้ตั้งไว้ คือ TPP จะกลายเป็น Free Trade Area of the Asia - Pacific (FTAAP) สหรัฐคงได้บทเรียนว่า ถ้าจะจัดตั้ง FTA ทั้งภูมิภาค อาจจะลำบาก ดังนั้น จึงหันมาใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ คือ เริ่มจากไม่กี่ประเทศก่อน แล้วค่อยขยายออกไป

ผมมองว่า วาระซ่อนเร้นของสหรัฐในการผลักดัน FTA ในกรอบ TPP คือ สหรัฐกลัวการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐ และกลัวว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ คือ มีแนวโน้มของการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกรอบ อาเซียน+3 ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก โดยไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง FTA อาเซียนกับประเทศคู่เจรจาหลายประเทศ อาทิ FTA อาเซียน-จีน FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่ง FTA เหล่านี้ไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย

ดังนั้น สหรัฐจึงต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก ขณะเดียวกัน ก็ผลักดันการรวมกลุ่มโดยมีสหรัฐเป็นแกน และผลักดัน FTA โดยมีสหรัฐเป็นแกนในกรอบ TPP

ไม่มีความคิดเห็น: