Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณ

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณ
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2553

หลังจากความวุ่นวายจากการชุมนุมในกรุงเทพ นายกอภิสิทธิ์ได้ไปเปิดตัวในเวทีโลกอีกครั้ง ในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก World Economic Forum on East Asia ที่ประเทศเวียดนาม และได้พยายามสร้างความมั่นอกมั่นใจต่อประชาคมโลกว่า สถานการณ์เลวร้ายในเมืองไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว

อีกด้านหนึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ดูเหมือนจะพยายามใช้สื่อต่างประเทศและเวทีขององค์กรระหว่างประเทศ เพื่อการสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง หลังจากรัฐบาลชุดนี้บอกว่า คุณทักษิณเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาย้อนดูยุทธศาสตร์การต่างประเทศของคุณทักษิณ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณในอดีต
ถ้ามองย้อนกลับไปในรัฐบาลทักษิณ ต้องยอมรับว่า มีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกมากทีเดียว ในสมัยนั้น มีความคิดริเริ่มขึ้นมาใหม่ๆ เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ FTA ในสมัยนั้น มีการเจรจา FTA มากมายทั้งกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ตอนที่จัดประชุมสุดยอด APEC ในปี 2003 ตอนนั้น ประเทศไทยโดดเด่นขึ้นมา ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นในเวทีพหุภาคีอย่างเช่น APEC หรือ ACD ที่คุณทักษิณผลักดันขึ้นมา เพื่อที่จะให้เป็นเวทีเพื่อการหารือทั้งทวีป โดยไทยเสนอที่จะเป็น core ของเวทีเหล่านี้ ยังมีเวทีอนุภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ACMECS หรือ BIMSTEC เกิดขึ้นในยุคนี้ ดังนั้น ผมมองว่า ความคิดริเริ่มเหล่านี้ดีมาก และดีกว่าในสมัยรัฐบาลก่อนๆ

แต่ในที่สุด ความคิดริเริ่มเหล่านี้ ถ้าเราจะประเมินว่า คนไทยได้อะไรจากความคิดริเริ่มเหล่านี้ คำตอบก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อะไร เพราะมีเรื่องของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

จริงๆ แล้วนโยบายต่างประเทศ ต้องตั้งอยู่บนหลักการของผลประโยชน์แห่งชาติ หรือ national interest อันนี้เป็นพื้นฐานที่นักการทูต หรือทุกคนที่เรียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องยึดเป็นหลัก แต่มันมีคำถามเกิดขึ้นในสมัยนั้น ในสมัยคุณทักษิณว่า นโยบายต่างประเทศทำไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือไม่ หรือทำไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม หรือของตน

เนื่องจากมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นมามาก ทำให้ผมประเมินว่า นโยบายต่างประเทศของคุณทักษิณ สอบไม่ผ่าน ในเรื่องของความสำเร็จ

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน มีเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านมาหลายเหตุการณ์ หลังจากได้มีการทำรัฐประหารในปี 2549 แล้ว ก็เกิดรัฐบาลต่างๆ ขึ้นมา มีรัฐบาลหลังจากการทำรัฐประหาร ในยุคนั้น แน่นอนว่า ในสายตาต่างชาติมองว่า การทำรัฐประหาร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามครรลองของประชาธิปไตย ฉะนั้น ในช่วงนั้น คุณทักษิณจึงได้รับความเห็นใจจากประชาคมโลก

ในช่วงนั้น การทูตไทยก็เดินลำบาก ต่างชาติ โดยเฉพาะตะวันตก ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร เป็นรัฐบาลเผด็จการ อย่างอเมริกา หยุดหมด การเยือน การติดต่อ การเจรจา FTA หยุดหมด เช่นเดียวกับยุโรป เช่นเดียวกับญี่ปุ่น หยุดหมด นี่เป็นผลกระทบที่มาจากกระทำรัฐประหาร

หลังจากนั้น เมื่อเรามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลคุณสมัคร รัฐบาลคุณสมชาย จนมาถึงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์
แต่หลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง คุณทักษิณก็มีบทบาทอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง
ผมคิดว่า ในสายตาของประชาคมโลก ก็จับตามองตรงนี้อยู่ แต่คุณทักษิณก็พยายามอย่างมาก ในการให้ข้อมูลกับสื่อต่างประเทศ เพื่อที่จะโน้มน้าวให้สื่อต่างประเทศ สนับสนุนแนวคิดของคุณทักษิณ การต่อสู้ของคุณทักษิณ และการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดง

เราจึงเห็นว่า ในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา เห็นชัดเลยว่า สื่อต่างประเทศลงข่าวที่ไม่เป็นกลาง และมีข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง ตัวอย่างเช่น มีหนังสือพิมพ์ตะวันตกฉบับหนึ่ง ลงข่าวว่า คุณอภิสิทธิ์ เป็น “unelected Prime Minister” คือ แปลเป็นไทยว่า “คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” นี่คือตัวอย่าง สื่อตะวันตกแบบนี้มีเยอะ ทั้ง CNN และอะไรต่อมิอะไร ที่ให้ข่าวบิดเบือน และไม่เป็นกลาง ซึ่งการลงข่าวแบบนี้ ก็เป็นผลบวกกับคุณทักษิณ สร้างความชอบธรรมให้กับการต่อสู้ของคุณทักษิณและกลุ่มเสื้อแดง

ผมคิดว่า คุณทักษิณมียุทธศาสตร์ที่ลึกล้ำและแหลมคมในการโน้มน้าว lobby สื่อต่างชาติให้เห็นมาในแนวนี้
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ สัญญาณของประชาคมโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ว่ามีความมั่นใจกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ในระดับไหน?

คำตอบของผมก็คือ เราต้องแยกแยะ ระหว่างสื่อตะวันตก กับรัฐบาลตะวันตก ผมคิดว่า สื่อตะวันตกค่อนข้างจะ bias และบิดเบือนข้อเท็จจริงพอสมควร ในเรื่องการรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย แต่สำหรับรัฐบาลตะวันตก การที่จะมีท่าทีอย่างไร จะต้องตั้งอยู่บนผลประโยชน์แห่งชาติของเขา ดังนั้น ในแง่ผลประโยชน์แห่งชาติ เขาก็ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทย เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ผมว่าไม่น่ามีปัญหา ผมมองว่า เขาจะยังคงสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อไป เพราะมองในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก น่าจะยังคงดีอยู่ แต่ว่าทางฝ่ายคุณทักษิณก็พยายามที่จะ mobilize ที่จะ lobby สื่อต่างชาติต่างๆ เพื่อที่จะโน้มน้าว ให้เกิด world public opinion เสียงของประชาคมโลก ที่จะมาสนับสนุนแนวทางของคุณทักษิณ ซึ่งอันนี้ เป็นเกมที่คุณทักษิณกำลังเดินอยู่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ลำบากมากขึ้น

ผมมองว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ ช้าเกินไป ในการตอบโต้กับข้อมูลต่างๆ หรือการลงข่าวต่างๆ ที่บิดเบือนเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย ผมคิดว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ทำน้อยเกินไป ทำช้าเกินไป มันไม่ทันการณ์

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยในอนาคต
นโยบายต่างประเทศของไทยในอนาคต ปัญหาเฉพาะหน้าของเราคือ เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา อันนี้ก็คงจะต้องทำหลายอย่าง ต้องแก้ปัญหาการเมืองภายใน ต้องเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง การปรองดอง
แต่ทำแค่นี้ มันไม่พอ สิ่งที่ขาดหายไปสำหรับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์คือ นโยบายในเชิงรุก เราต้องมีนโยบายในเชิงรุก ในเรื่องของทูตสาธารณะ public diplomacy คือต้องชี้แจง ต้องเข้าถึงสื่อ ต้องตอบโต้ทันควัน ต้องรุก แต่ปัจจุบัน มันเป็นนโยบายในเชิงรับหมด อันนี้เป็นจุดอ่อนสำคัญ

นอกจากการสร้างความเชื่อมั่นแล้ว ก็ต้องมีนโยบายอื่นๆ ที่จะต้องเป็นนโยบายในเชิงรุกด้วย คือจริงๆ แล้ว ความเชื่อมั่นไม่ใช่เรื่องเดียวในนโยบายต่างประเทศ เรายังจะต้องฟื้นฟู กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน กับอาเซียน บทบาทไทยในอาเซียนจะเป็นอย่างไร แล้วกับมหาอำนาจ สิ่งเหล่านี้ เราหยุดนิ่งมานานหลายปีแล้ว ผมว่า เราต้องรีบเดินหน้า ถึงแม้จะมีความยากลำบาก เพราะขณะนี้ รัฐบาลก็กำลังยุ่งอยู่กับเรื่องการเมืองภายใน จนไม่มีเวลาคิดริเริ่ม และมีนโยบายในเชิงรุกทางด้านนโยบายต่างประเทศ แต่ว่า มันก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น: