Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สถานการณ์การก่อการร้ายสากลปี 2010

สถานการณ์การก่อการร้ายสากลปี 2010
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 47 วันศุกร์ที่ 13 - วันพฤหัสบดีที่ 19 2553

เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐโดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ (National Counterterrorism Center) ได้เผยแพร่เอกสารรายงานประจำปี เกี่ยวกับสถานการณ์การก่อการร้ายสากลทั่วโลก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์รายงานดังกล่าว ดังนี้

ภาพรวม
จากการประเมินของรัฐบาลสหรัฐ การก่อการร้ายสากลมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2009 มีการก่อวินาศกรรมทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ครั้ง ใน 83 ประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 15,000 คน อย่างไรก็ตามจำนวนการก่อการร้ายลดลงจากปี 2008 ซึ่งมีประมาณ 12,000 ครั้ง และในปี 2007 ประมาณ 14,000 ครั้ง โดยการก่อการร้ายในปี 2009 ลดลงจากปี 2008 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่การก่อการร้ายลดลง

ในอดีต ตะวันออกกลางถือเป็นศูนย์กลางของการก่อวินาศกรรม แต่ในปัจจุบัน การก่อการร้ายได้ย้ายฐานมาอยู่ที่เอเชียใต้ โดยเฉพาะในปากีสถานและอัฟกานิสถาน โดยภาพรวมแล้ว เกือบ 2 ใน 3 ของการก่อวินาศกรรม เกิดขึ้นในเอเชียใต้และตะวันออกกลาง สำหรับในกรณีอิรัก การก่อการร้ายได้ลดลง และระเบิดฆ่าตัวตายก็ลดลง จากปี 2007 ที่มีจำนวน 350 ครั้ง เหลือเพียง 80 ครั้ง ในปี 2009

Al-Qa’ida
สำหรับองค์กรก่อการร้ายที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะต่อสหรัฐคือ Al-Qa’ida โดยฐานที่มั่นของ Al-Qa’ida ในปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน โดยเฉพาะตามพรมแดนระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน สหรัฐมองว่า Al-Qa’ida ในปากีสถานเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐที่สำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐประเมินว่า บทบาทของ Al-Qa’ida กำลังตกต่ำลง ทั้งนี้เพราะกองกำลังทหารของรัฐบาลปากีสถานได้ดำเนินการโจมตีฐานที่มั่น ทำให้เกิดการสูญเสียผู้นำ ทำให้ยากลำบากมากขึ้นในการระดมเงินทุน ในการฝึก และในการหาสมาชิกใหม่ รวมทั้งการวางแผนโจมตีสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่าย Al-Qa’ida ในภูมิภาคต่างๆ ที่สำคัญ อันดับแรกคือ กลุ่ม Al-Qa’ida in the Arabian Peninsula ซึ่งวางแผนโจมตีสหรัฐ ในวันที่ 25 ธันวาคมปีที่แล้ว แต่ไม่สำเร็จ นอกจากนี้ กลุ่มนี้ยังได้โจมตีรัฐบาลเยเมน และได้ลอบสังหาร Prince Muhammad bin Nayif หัวหน้าหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายของซาอุดิอาระเบียด้วย

กลุ่มก่อการร้ายอีกกลุ่มที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกลุ่ม Al-Qa’ida คือ Al-Shabaab ซึ่งได้ยึดครองพื้นที่เป็นบางส่วนในประเทศโซมาเลีย

Al-Qa’ida in the Islamic Maghreb เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีบทบาทสำคัญทางตอนเหนือของอัฟริกา แต่กลุ่มนี้ประสบความล้มเหลวในการก่อวินาศกรรมในแอลจีเรีย และกำลังประสบปัญหาทางการเงิน จึงได้หันมาใช้วิธีการจับชาวตะวันตกเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศ Mali, Mauritania และ Niger

และกลุ่ม Lashkar e-Tayyiba ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายในอินเดียและปากีสถาน มีบทบาทสำคัญในการก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ ปี 2008 กลุ่มนี้ถูกมองว่า กำลังจะมีบทบาทมากขึ้น และกำลังมีเป้าหมายที่จะก่อวินาศกรรมเป้าหมายของตะวันตกและสหรัฐ กลุ่มนี้จึงถูกจับตามองว่า กำลังจะพัฒนาไปสู่การเป็นภัยคุกคามในระดับโลก

ประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้าย
ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุว่า อิหร่านเป็นประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้ายอันดับหนึ่ง โดยอิหร่านยังคงให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางและเอเชียกลาง โดยเฉพาะกลุ่ม Hizballah และ HAMAS อีกประเทศหนึ่งที่ถูกกล่าวหาคือ ซีเรีย ซึ่งได้มีพฤติกรรมเหมือนอิหร่านคือ ได้มีการสนับสนุน HAMAS กลุ่ม Palestinian Islamic Jihad และกลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์อีกหลายกลุ่ม

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐประเมินว่า การต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาคประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะได้มีความร่วมมือในระดับพหุภาคีอย่างจริงจัง มีการพัฒนาบุคลากร นโยบายของรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และรัฐบาลมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การก่อการร้ายในภูมิภาคยังไม่หมดไป โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2009 ได้มีระเบิดฆ่าตัวตายจากกลุ่ม Jemaah Islamiya หรือ JI สร้างความเสียหายให้กับโรงแรมในกรุงจาการ์ตา 2 แห่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง โดยมีการจับกุมผู้ก่อการร้ายได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงผู้นำของกลุ่ม JI ด้วย

สำหรับในฟิลิปปินส์ ได้มีความพยายามจากหลายๆ ประเทศ ร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนทางใต้ของฟิลิปปินส์อย่างสันติวิธี โดยกลุ่มก่อการร้ายในฟิลิปปินส์ได้มีความสัมพันธ์ทั้งกับ JI และกลุ่ม Abu Sayaf

สำหรับในกรณีของประเทศไทย รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การก่อการร้ายทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งยังคงมีการก่อวินาศกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีผู้ที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความรุนแรงไปแล้วกว่า 4,000 คน นับตั้งแต่ความรุนแรงได้ลุกลามขยายตัวมากขึ้นตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ความรุนแรงในปี 2009 ได้เพิ่มมากขึ้นจากปี 2008 โดยได้มีการใช้ระเบิดที่มีอานุภาพมากขึ้นกว่าในอดีต

รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐมองว่า หน่วยงานต่างๆ ของไทยกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อต่อสู้กับแนวคิดหัวรุนแรง นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือ พลเอกทรงกิตติ จักกาบาตร์ ได้พบปะกับผู้นำทหารของทางมาเลเซียคือ Haji Zainal และได้ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความมั่นคงในบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย และต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2009 นายกอภิสิทธิ์ได้พบปะหารือเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย คือ Najib Razak และได้ตกลงที่จะเพิ่มประสิทธิภาพความมั่นคงตามชายแดน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทางฝ่ายไทยจะมีความห่วงกังวลว่า กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติอาจจะเข้ามามีความสัมพันธ์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย แต่รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐมองว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะชี้ว่า กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติได้เข้ามามีบทบาทในภาคใต้ของไทย และยังไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของไทยกับเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาค

บทวิเคราะห์
โดยภาพรวม จะเห็นได้ว่า เอกสารประเมินการก่อการร้ายปี 2010 ของรัฐบาลสหรัฐมองว่า การก่อการร้ายมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่แน่ใจว่า การประเมินของรัฐบาลสหรัฐจะถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าเราจะวิเคราะห์ต่อยอดออกไปว่า แนวโน้มสถานการณ์การก่อการ้ายในอนาคตจะลดลงจริงหรือไม่ ผมมองว่า สถานการณ์การก่อการร้ายสากลในปีนี้ และในอนาคต คงจะลุกลามบานปลายต่อไป ไม่จบง่ายๆ โดยขณะนี้ มีแนวโน้มว่า การก่อการร้ายกำลังลุกลามขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เยเมน และโซมาเลีย

สงครามในอัฟกานิสถานก็ได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐค่อนข้างจะประเมินเข้าข้างตนเอง โดยได้มองข้ามปัญหาใหญ่คือ สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซึ่งทั้งนักรบTaliban และ Al-Qa’ida ได้ฟื้นคืนชีพ แหล่งซ่องสุมใหญ่อยู่ที่บริเวณพรมแดนของปากีสถานกับอัฟกานิสถาน นักรบ Taliban ได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานมากขึ้นเรื่อยๆ และกองกำลังนาโต้และสหรัฐก็กำลังตกที่นั่งลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ การบ้านชิ้นยากที่สุดของรัฐบาลโอบามา ขณะนี้คือ สงครามในอัฟกานิสถาน การที่สหรัฐหวังจะเอาชัยชนะคงไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับสถานการณ์ในปากีสถานก็กำลังเข้าสู่จุดวิกฤติเช่นเดียวกัน ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฉบับนี้ ดูเหมือนจะพยายามมองข้ามปัญหาในปากีสถาน แต่ผมมองว่า ปากีสถานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ เช่นเดียวกับในอัฟกานิสถาน ปากีสถานได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมทั้งของ Al-Qa’ida และ Taliban และนักรบ Taliban ได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: