Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์

ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2553

เมื่อเร็วๆ นี้ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือที่บางทีเราเรียกว่า ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง กลายเป็นประเด็นร้อนในภูมิภาค คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของความขัดแย้งดังกล่าว ดังนี้

ความสำคัญของหมู่เกาะสแปรตลีย์
หมู่เกาะสแปรตลีย์ประกอบด้วยหมู่เกาะเล็กๆ หลายร้อยเกาะ อยู่ในทะเลจีนใต้ ช่วงระหว่างเวียดนามกับฟิลิปปินส์ โดยมีพื้นที่ถึง 3,500,000 ตารางกิโลเมตร หมู่เกาะดังกล่าว มีความสำคัญทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และเศรษฐกิจ

สำหรับความสำคัญด้านความมั่นคงนั้น หมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นทางผ่านของเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ของโลก คือ คิดเป็นประมาณ 25 % ของการขนส่งทางทะเลในโลก และถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญต่อจีนมาก เพราะเป็นเส้นทางลำเลียงส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมาจีน ซึ่งคิดเป็น 80 % ของน้ำมันที่จีนนำเข้า เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งใช้เส้นทางนี้นำเข้าน้ำมันถึง 70 % และเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ดังนั้น ประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐ จึงอ้างมาโดยตลอดว่า ความสำคัญของหมู่เกาะสแปรตลีย์ คือ เรื่องของเสรีภาพในการเดินเรือ และความมั่นคงปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือ

ความสำคัญทางยุทธศาสตร์นั้น หากประเทศใดสามารถอ้างกรรมสิทธิ์มีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ได้ จะสามารถควบคุมเส้นทางการเดินเรือ และควบคุมยุทธศาสตร์ทางทะเล โดยจะสามารถกดดันจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และถ้าจีนเข้าควบคุมบริเวณดังกล่าว จะสามารถสกัดกั้นการขยายอิทธิพลทางทะเลของอินเดียและสหรัฐ และจะสามารถขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงช่องแคบมะละกา

นอกจากนี้ หมู่เกาะสแปรตลีย์ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในเกมถ่วงดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจต่างๆ โดยทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นมียุทธศาสตร์ในการใช้ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงเพื่อถ่วงดุลจีน

สำหรับความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจนั้น ก็สำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่คาดว่า จะมีมหาศาลในบริเวณดังกล่าว มีการประเมินว่า น่าจะมีน้ำมันสำรองอยู่ประมาณ 28,000 ล้านบาเรล และมีก๊าซธรรมชาติอยู่ถึง 266 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์รวมทั้งมหาอำนาจก็จ้องจะเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ รวมทั้งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว

ความขัดแย้ง
ด้วยความสำคัญของหมู่เกาะสแปรตลีย์ดังกล่าวข้างต้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคหลายประเทศจึงได้แย่งกันอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าว

จีนและไต้หวันได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเกือบทั้งหมด โดยจีนอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า แผนที่ในพงศาวดารได้ระบุหมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นของจีนมาตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล

ส่วนเวียดนาม ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์

ฟิลิปปินส์ได้อ้างว่า นักเดินเรือชาวฟิลิปปินส์เป็นคนค้นพบหมู่เกาะสแปรตลีย์ และได้อ้างอธิปไตยเป็นบางส่วนมาตั้งแต่ปี 1971

ส่วนมาเลเซียและบรูไนนั้น ได้อ้างกฎหมายทะเลในการกำหนดเขตไหล่ทวีปที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะเป็นบางส่วนในหมู่เกาะสแปรตลีย์

อย่างไรก็ตาม การอ้างอธิปไตยของประเทศต่างๆ เหล่านี้ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยังไม่มีข้อสรุป โดยการอ้างอธิปไตยของประเทศเหล่านี้ยังไม่หนักแน่นพอ ทั้งนี้เพราะไม่มีการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างสงบและนานพอโดยไม่มีการโต้แย้งจากรัฐอื่น

ดังนั้น เมื่อไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องอำนาจอธิปไตย ความขัดแย้งจึงได้เกิดขึ้นมาอย่างยืดเยื้อ ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ ถึงขั้นมีการทำสงครามกัน ในปี 1974 และปี 1988 จีนได้รบกับเวียดนาม เพื่อแย่งชิงหมู่เกาะพาราเซล นอกจากนั้น จีนกับฟิลิปปินส์มีการขัดแย้งกันหลายครั้ง จนเกือบถึงขั้นกลายเป็นสงคราม ต่อมาในปี 1992 อาเซียนได้ประกาศปฏิญญาการแก้ไขปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์อย่างสันติวิธี และได้เรียกร้องให้จีนยอมรับปฏิญญาดังกล่าว แต่จีนก็มีท่าทีแข็งกร้าวมาโดยตลอด และอ้างกรรมสิทธิ์อธิปไตยเด็ดขาดเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาต่อมา คือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนดำเนินนโยบายในเชิงรุกเพื่อเอาใจอาเซียน จีนจึงได้ยอมทำปฏิญญา Code of Conduct เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีในปี 2002 เมื่อมีการทำปฏิญญาดังกล่าว ก็ดูเหมือนมีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะทุเลาเบาบางลง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง ปัจจัยสำคัญคือ การผงาดขึ้นมาของจีน และจีนกำลังจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนมีความมั่นใจในอำนาจแห่งชาติของตนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้นโยบายต่างประเทศและท่าทีของจีนเริ่มก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ท่าทีของจีนต่อปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์เปลี่ยนไปในลักษณะแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนี้

• จีนได้เริ่มคุกคามบริษัทขุดเจาะน้ำมันตะวันตกที่เข้าไปสำรวจน้ำมันในหมู่เกาะสแปรตลีย์
• จีนได้เพิ่มกองทัพเรือเข้าไปในหมู่เกาะสแปรตลีย์มากขึ้น เรือรบจีนได้ข่มขู่เรือของประเทศอื่น ในปี 2009 มีเหตุการณ์เผชิญหน้ากับเรือรบสหรัฐ และเมื่อเดือนมีนาคม 2010 ก็มีการเผชิญหน้ากันอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างเรือรบจีนกับเรือรบสหรัฐ
• จีนได้ประกาศห้ามเรือประมงของประเทศอื่น เข้าไปจับปลาในเขตหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ และได้มีการจับกุมชาวประมงเวียดนามอยู่หลายครั้ง
• คณะทำงานระหว่างอาเซียนกับจีน เพื่อที่จะร่างข้อตกลง Code of Conduct ก็ติดขัดไม่คืบหน้า
• ในช่วงเดือนมีนาคม จีนได้ประกาศว่า หมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นผลประโยชน์หลักของจีน ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า core interest ซึ่งการประกาศของจีนทำให้ประเทศอาเซียนและสหรัฐตื่นตระหนก
• จีนได้เปลี่ยนท่าทีจากที่เคยยอมรับที่จะเจรจาปัญหานี้ ในเวทีพหุภาคีโดยเฉพาะกับอาเซียน แต่ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ปรับเปลี่ยนท่าทีไปสู่ท่าทีดั้งเดิมของจีน คือมองว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาทวิภาคี ที่จะต้องเจรจาในระดับทวิภาคีเท่านั้น

สถานการณ์ล่าสุด

จากพัฒนาการของปัญหาที่เริ่มทรุดหนักลง ในที่สุด ก็มาปะทุขึ้น ในระหว่างการประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF ที่กรุงฮานอย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยประเทศที่จุดชนวนการปะทุของปัญหาครั้งใหม่คือ สหรัฐ ในระหว่างการประชุม Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ได้ประกาศท่าทีของสหรัฐในเรื่องความขัดแย้งนี้ ซึ่งเป็นท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ซึ่งสหรัฐพยายามไม่เข้ามายุ่งกับเรื่องนี้โดยตรง แต่ Clinton กลับประกาศว่า สหรัฐถือว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และสหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ สหรัฐสนับสนุนกระบวนการทางการทูตและการเจรจา และไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังในการแก้ปัญหา Clinton ยังเน้นด้วยว่า การเจรจาจะต้องเป็นการเจรจาแบบพหุภาคี

ท่าทีที่คาดไม่ถึงของสหรัฐในครั้งนี้ อาจจะเป็นการฉวยโอกาสที่สหรัฐจ้องมองอยู่นานแล้ว ที่จะเข้าแทรกแซง โดยยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ การปิดล้อมและการสกัดกั้นอิทธิพลของจีน รัฐบาลโอบามาได้เริ่มต้นที่จะพยายามปฏิสัมพันธ์กับจีน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จใดใด สหรัฐจึงน่าจะเปลี่ยนมาเป็นยุทธศาสตร์แข็งกร้าวต่อจีน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทางการทหาร

หลังจากที่สหรัฐเปิดประเด็นเรื่องนี้ ในเวที ARF ประเทศสมาชิกอื่นก็ผสมโรงร่วมกับสหรัฐ โดยมีเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศอาเซียนที่ขัดแย้งกับจีนโดยตรง นอกจากนั้น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และ EU ก็เข้าร่วมกับสหรัฐในการหารือในเรื่องนี้ด้วย สำหรับทางฝ่ายจีนก็แสดงความไม่พอใจอย่างมาก ที่สหรัฐได้เปิดประเด็นเอาเรื่องนี้มาโจมตีจีนในเวที ARF

ต่อมา รัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์โจมตีสหรัฐว่า การที่ Clinton กล่าวในที่ประชุม ARF นั้น ถือเป็นการโจมตีจีน (attack on China) และมองว่า สหรัฐไม่ควรแทรกแซงในเรื่องนี้ และไม่เห็นด้วยที่จะให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ หลังจากนั้น ทางกองทัพจีนได้จัดการซ้อมรบ โดยมีการนำเรือรบออกมาซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และได้ประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวว่า จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์อย่างเด็ดขาด

ล่าสุด ปฏิกิริยาของจีนได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ นำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐกับเวียดนามอย่างเข้มข้น ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีความเคลื่อนไหวความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม ซึ่งน่าจะเป็นการตอบสนองต่อการซ้อมรบของจีนในหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยขณะนี้ เรือรบของสหรัฐชื่อว่า John McCain ได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองดานัง และจะเข้าร่วมภารกิจกับกองทัพเรือเวียดนาม นับเป็นครั้งแรกที่จะมีการปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือสหรัฐกับเวียดนาม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐชื่อ George Washington ก็ได้ไปจอดเทียบท่าที่เมืองดานัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 15 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสอง โดยก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกกระทรวงต่างประเทศเวียดนามได้ออกมาประกาศประณามจีน ในการส่งเรือเข้าไปในเขตหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเวียดนามถือว่า เป็นของเวียดนาม

กล่าวโดยสรุป การปะทุขึ้นของปัญหาความขัดแย้งสแปรตลีย์รอบใหม่ครั้งนี้ และการตอบโต้ของจีนอย่างก้าวร้าวในลักษณะนี้ ทำให้เข้าทางสหรัฐ จีนถูกมองจากหลายๆ ประเทศในภูมิภาคว่า ทำเกินกว่าเหตุ ปฏิกิริยาของจีนในครั้งนี้ จะยิ่งไปกระตุ้นความหวาดระแวงของประเทศในภูมิภาค ที่มองว่า จีนอาจจะเป็นภัยคุกคามและกำลังก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ผมมองว่า ปฏิกิริยาในเรื่องนี้ของจีนทำให้จีนเสียหายมาก เพราะเท่าที่ติดตามยุทธศาสตร์ของจีนมาโดยตลอดนั้น 10 ปีที่ผ่านมา จีนทุ่มทุกอย่างเพื่อที่จะซื้อใจ เอาชนะใจ ประเทศอาเซียน เพื่อให้ลดความหวาดระแวงจีนลง โดยสโลแกนของจีนคือ การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise คงได้รับผลกระทบไม่น้อยจากปฏิกิริยาของจีนในครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น: