Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Wikileaks : ผลกระทบต่อการทูตโลก

Wikileaks : ผลกระทบต่อการทูตโลก
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 12 วันศุกร์ที่ 10 - วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2553

ข่าวการรั่วไหลข้อมูลลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านทางเวปไซท์ชื่อ Wikileaks กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลังของ Wikileaks
Wikileaks เป็นเวปไซท์ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ข้อมูลลับจากรัฐบาล โดยเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Wikileaks เริ่มเป็นที่รู้จักกันหลังจากที่ได้เผยแพร่ไฟล์ข้อมูลลับ 77,000ไฟล์ เกี่ยวกับทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน และต่อมาในเดือนตุลาคม ได้เผยแพร่เอกสารลับเกี่ยวกับสงครามในอิรัก ถึง 400,000 ไฟล์

และล่าสุด เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Wikileaks ได้เปิดเผยว่า มีไฟล์ข้อมูลลับอีก 250,000 ไฟล์ ซึ่งเป็นข้อมูลรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1966 ถึง ปี 2010 โดยข้อมูลทั้งหมด Wikileaks ได้ส่งต่อให้กับหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ เพื่อลงตีพิมพ์ต่อไป โดยมีหนังสือพิมพ์ New York Times, Guardian, Le Monde, El Pair และ Der Spiegel

สำหรับบุคคลที่ถูกจับตามองว่า น่าจะเป็นคนขโมยข้อมูลลับดังกล่าวคือ ทหารสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า Bradly Manning ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง ในเดือนกรกฎาคม กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า Manning สามารถเข้าไปในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Secret Internet Protocol Router Network ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายการติดต่อข้อมูลระหว่างรัฐบาลกับสถานทูตทั่วโลก

ข้อมูลลับ
สำหรับข้อมูลลับที่ได้มีการเผยแพร่ออกมาแล้วนั้น มีหลากหลายมาก แต่ที่สำคัญคือ

• อัฟกานิสถาน
ในเอกสารลับได้ระบุว่า สหรัฐฯ มีความเป็นห่วงกังวลถึงความสามารถของประธานาธิบดี Karzai ที่จะบริหารประเทศ โดยได้มีข้อความกล่าวถึง Karzai ว่า “เป็นคนอ่อนแอ paranoid และไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ”

• จีน
จากข้อมูลของ Wikileaks ได้เปิดเผยว่า ในปี 2007 สหรัฐฯ ได้ขอให้จีนยับยั้งการส่งอุปกรณ์ขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือไปอิหร่าน โดยเป็นการส่งทางเครื่องบินผ่านจีน แต่จีนกลับไม่สนใจ และต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน นอกจากนี้ ยังได้มีการกล่าวหาว่าจีนได้ hack เข้าไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ

• เกาหลีเหนือ
ข้อมูล Wikileaks ได้เปิดเผยว่า จีนไม่พอใจต่อพฤติกรรมของเกาหลีเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ และจีนมองว่า ควรมีการรวมชาติในคาบสมุทรเกาหลี โดยเกาหลีใต้น่าจะเป็นผู้ควบคุมคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จีนได้พูดถึงเกาหลีเหนือว่า เหมือนกับเป็นเด็กที่ถูก spoiled หรือเด็กที่ถูกตามใจจนเสียคน และมองว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงโลก นอกจากนี้ นักการทูตสหรัฐฯ ยังได้พูดถึง Kim Jong Il ว่าเป็น “flabby old chap” ซึ่งน่าจะแปลว่า “คนแก่ที่อ่อนแอ”

• อิหร่าน
สำหรับข้อมูลสำคัญที่ Wikileaks ได้เปิดเผยออกมาคือ การที่ผู้นำอาหรับหลายประเทศได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ โจมตีอิหร่าน เพื่อยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยรัฐมนตรีกลาโหมของ UAE ได้เปรียบประธานาธิบดีของอิหร่าน Mahmoud Almedinejad ว่า เปรียบเสมือน Hitler

• ปากีสถาน
สำหรับในกรณีปากีสถานได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า นักการทูตสหรัฐกลัวว่า วัตถุดิบนิวเคลียร์ของปากีสถานอาจจะตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย และตั้งแต่ปี 2007 สหรัฐฯ ได้พยายามที่จะโยกย้ายแร่ธาตุยูเรเนียมในปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ปากีสถานพยายามปฏิเสธไม่ให้ทางฝ่ายสหรัฐฯ เข้าถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของตน

• รัสเซีย
Wikileaks ได้เปิดเผยว่า นักการทูตสหรัฐฯ มองว่า รัสเซียเป็นประเทศที่มีการฉ้อฉลและอำนาจอยู่ในมือของ Vladimir Putin โดยโทรเลขฉบับหนึ่ง ได้กล่าวถึงประธานาธิบดี Medvedev ว่า เป็นเหมือน Robin ในขณะที่ Putin เป็น Batman นอกจากนี้ Wikileaks ได้เปิดเผยอีกว่า จริงๆ แล้ว Putin ก็มีความยืดหยุ่น โดยได้มีข้อมูลว่า หลังจากที่รัฐบาลโอบามาได้ยุติระบบการติดตั้งขีปนาวุธในโปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งรัสเซียได้ต่อต้านมาโดยตลอด โดยหลังจากนั้น รัสเซียได้ตอบแทนการปรับท่าทีของโอบามาด้วยการให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้นในมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลสหรัฐฯ
หลังจากที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง โดยในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงข่าว โดยบอกว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ขอประณามการเปิดเผยข้อมูลลับอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีผลทำให้ชีวิตคนหลายคนประสบอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะคนที่ให้ข้อมูล การกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ และถือเป็นการบ่อนทำลายความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะร่วมมือกับนานาชาติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้ ไม่ใช่แต่เป็นการโจมตีสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ถือเป็นการโจมตีต่อประชาคมโลกด้วย

Clinton ได้กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อหาผู้รับผิดชอบในการขโมยข้อมูลลับดังกล่าว และได้ขอให้กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปกป้องข้อมูลอย่างรัดกุม และจะไม่ให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก

Clinton ได้กล่าวในตอนท้ายว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีการติดต่อสื่อสารทางการทูต และมีข้อมูลที่ละเอียดอ่อน นักการทูตทุกประเทศต้องมีการพูดคุยกับประชาชน และต้องมีข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในวงการทูตเท่านั้น แต่ในทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักกฎหมาย นักข่าว การเงิน การแพทย์ การศึกษา และธุรกิจ ก็ต้องมีการติดต่อกันที่เป็นความลับ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้ใจกัน และการปกป้องความลับ แต่หากความลับและความเชื่อถือถูกทำลาย จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ผลกระทบ
จากการเปิดเผยข้อมูลลับของ Wikileaks ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการทูตและการเมืองโลก โดยผมจะวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้

• ผมมองว่า โดยรวมแล้ว ข้อมูลที่ Wikileaks เปิดเผยออกมา เป็นข้อมูลที่เราก็รู้อยู่แล้ว เป็นเพียงการตอกย้ำสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกที่นักการทูตสหรัฐฯ จะมองว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานอ่อนแอ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้นำอาหรับจะมีความห่วงใยต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน

• อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบางเรื่องที่คงจะส่งผลกระทบและคงจะทำให้สหรัฐฯ ประสบปัญหาในการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่นในกรณีของปากีสถาน ข้อมูล Wikileaks ได้เปิดเผยถึงการที่สหรัฐฯ พยายามเข้าไปแทรกแซงในเรื่องนิวเคลียร์ ซึ่งคงจะทำให้ในอนาคต สหรัฐฯ คงจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการเจรจากับปากีสถาน เช่นเดียวกับในกรณีเยเมน ที่รัฐบาลเยเมนสนับสนุนให้สหรัฐฯ ให้กำลังทหารโจมตีขบวนการก่อการร้ายในประเทศอย่างลับๆ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวคงจะทำให้ในอนาคต รัฐบาลเยเมนคงจะถอยห่างจากสหรัฐฯ มากขึ้น

• ส่วนผลกระทบในระยะยาวคือ ในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆ คงจะระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเผยความลับ หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ให้กับนักการทูตสหรัฐฯ ฟัง ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ คงจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการได้ข้อมูลข่าวกรองต่างๆ

• นอกจากนี้ ในระยะยาว นักการทูตสหรัฐฯ เอง คงจะระมัดระวัง และคงจะไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อะไรที่เป็นทางการที่จะเกิดการรั่วไหลได้อย่างในกรณี Wikileaks ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดข้อมูลสำคัญๆ ผมมองว่า ในกรณี Wikileaks ในครั้งนี้ คงจะเป็นสัญญาณเตือนนักการทูตต่างๆ ทั่วโลก โดยในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆ คงจะเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการติดต่อสื่อสารกัน โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นความลับ นอกจากนี้ การแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในสหรัฐฯ และในรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก คงจะมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: