Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ตอนจบ)

2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงภูมิหลังของนโยบายต่างประเทศไทย และได้ประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้พูดถึงความสำเร็จไปแล้ว คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะประเมินถึงความล้มเหลว และในตอนสุดท้ายของบทความ ผมจะนำเสนอข้อเสนอแนะด้วยว่า นโยบายต่างประเทศของไทย ในอนาคต ควรจะเป็นอย่างไร

ความล้มเหลว

ตอนที่แล้ว ผมพูดถึงความสำเร็จไปแล้ว ตอนนี้ จะมาดูความล้มเหลวบ้าง

ความล้มเหลวที่ผมมอง ประการแรก คือ โจทย์สำคัญ คือ ไทยจะต้องมีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก แต่ 2 ปีที่ผ่านมา ผมแทบจะไม่เห็นนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกของรัฐบาลอภิสิทธิ์เลย คือเดินหน้าไป ทำกันไปประชุมกันไป แต่ก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงเลย ไม่มี masterpiece ไม่มีนโยบายในเชิงรุก ไม่มี grand strategy และความล้มเหลวครั้งใหญ่ของนโยบายรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คือ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับกัมพูชา

สำหรับในการเป็นประธานอาเซียน ความสำเร็จคือ การจัดประชุมสุดยอด ครั้งที่ 14 ได้ แต่เราจำได้ไหมครับว่า การประชุมสุดยอดอีกครั้งที่พัทยา เกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การประชุมล่มกลางคัน บางคนอาจจะโทษว่า การประชุมล่มเพราะเสื้อแดง แต่เราก็ต้องโทษรัฐบาลด้วย รัฐบาลประเมินสถานการณ์อย่างไร รัฐบาลปล่อยให้เสื้อแดงบุกเข้าไปในที่ประชุมได้อย่างไร รัฐบาลต้องรับผิดชอบ สิ่งที่เกิดขึ้นที่พัทยาทำให้ประเทศไทยเสียชื่อมาก ผมคิดว่า ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในการประชุมใหญ่ๆ ในระดับระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่การประชุมใหญ่ๆ อย่างนี้ล่มกลางคัน และผู้นำประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ต้องหนีลงเรือ หนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ หนีกันกุลีกุจอกันไปหมด มันไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การประชุมระดับโลกเลยครับ เรื่องนี้ทำให้ประเทศไทยเสียชื่อมาก ประเทศเพื่อนบ้านเรา ตัวอย่างสมเด็จฮุนเซน ก็ออกมาเหน็บแนมว่า “ถ้าไทยเราจัดประชุมไม่ได้ ก็ไม่ต้องจัด เป็นประธานอาเซียนไม่ได้ ก็ไม่ต้องเป็น ให้คนอื่นเขาเป็นดีกว่า” เรื่องนี้ไทยเสียหายมาก เราเล่นบทประธานอาเซียนได้ไม่เต็มที่ เราเก่งมากที่เปลี่ยน “โอกาส” ให้กลายเป็น “วิกฤต” จริงๆ แล้ว เราควรใช้โอกาสจากการที่เราเป็นประธานอาเซียนให้เป็นประโยชน์ แต่ในที่สุด เราก็เปลี่ยนโอกาสให้กลายเป็นวิกฤตครับ

สำหรับบทบาทของไทยในเวทีภูมิภาคในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทอย่างไรในอาเซียน มีบทบาทอย่างไรในอาเซียน + 1 อาเซียน + 3 และอาเซียน + 6 หรือที่เราเรียกว่า EAS คำตอบของผมก็คือ เราไม่มีบทบาทที่โดดเด่น เราไม่มีบทบาทในเชิงรุก

สำหรับบทบาทของไทยในเวทีโลก 2 ปีที่ผ่านมา นายกอภิสิทธิ์ได้เข้าร่วมประชุมเวทีการประชุมในระดับโลกหลายเวที แต่ไทยก็ไม่มีบทบาทในเชิงรุก เราได้แต่เข้าไปร่วมประชุม แต่ไม่ได้ผลักดันอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าจะเป็นเวที G20 เวที UN และเวที World Economic Forum เราเป็นเพียงตัวประกอบ เล่นตามเกมมหาอำนาจเท่านั้น

สำหรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่มีนโยบายในเชิงรุกเช่นกัน ไม่มีผลงานชิ้นโบว์แดงอีกเช่นกัน

สุดท้าย ความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นๆ ถามว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีผลงานอะไรที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงบ้างกับตะวันออกกลาง อัฟริกา ยุโรป และละตินอเมริกา คำตอบก็คือ ไม่มี เราไม่มีนโยบายในเชิงรุก

เพราะฉะนั้น จากการประเมินข้างต้น ก็พอจะสรุปได้ว่า ผลงานด้านการต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ประสบความสำเร็จในบางเรื่อง แต่ก็ล้มเหลวในหลายเรื่อง ผมจึงให้เกรดรวมเป็นเกรดประมาณ C+ หรือ B- ครับ

ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทยในอนาคต

ผมได้บอกไปแล้วว่า ผมจะไม่ประเมินเพียงอย่างเดียว แต่จะเสนอแนะด้วย ผมจะเสนอว่า นโยบายต่างประเทศไทยในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร

• grand strategy

ข้อเสนอประการแรกของผม คือ ไทยควรมี grand strategy และนโยบายในเชิงรุก สิ่งที่รัฐบาล
อภิสิทธิ์ขาดมาก คือ ขาดนโยบายในเชิงรุก ขาด grand strategy ขาดยุทธศาสตร์ใหญ่ ในการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ผลักดันให้ไทยโดดเด่นในเวทีภูมิภาค และในเวทีโลกได้อีกครั้งหนึ่ง เราขาดยุทธศาสตร์ใหญ่ ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับมาดีเหมือนเดิม และเราก็ขาด grand strategy ในการกำหนดความสัมพันธ์กับมหาอำนาจด้วย

• ประเทศเพื่อนบ้าน

โจทย์ใหญ่ที่สุดของไทยในอนาคต คือ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร คำตอบคือ ความสัมพันธ์ไม่ค่อยดี พม่าก็ไม่ชอบเรา เราก็ไม่ชอบพม่า เขมรไม่ชอบเรา เราก็ไม่ชอบเขมร ลาวก็เบื่อเรา เพราะไทยก็ชอบบอกว่า ไทยเป็นพี่ ลาวเป็นน้อง เขาก็เบื่อเรา ถึงแม้จะพูดภาษาเดียวกัน แต่หลังๆ ลาวก็ไปสนิทกับเวียดนามและจีนมากกว่าไทย

เพราะฉะนั้น โจทย์ที่สำคัญต่อนโยบายประเทศไทยมากที่สุด คือ เราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างไรกับเพื่อนบ้าน เรายกประเทศหนีไปไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องอยู่กับเขาตรงนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปมีเรื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน เราควรจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราควรที่จะมีมิตรไมตรีต่อกัน อยู่กันแบบฉันท์มิตร

แล้วอะไรที่เป็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา ผมมองว่า มีหลายสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ตั้งแต่ปัจจัยทางประวัติศาสตร์ การมองเพื่อนบ้านเป็นศัตรูซึ่งฝังรากลึก เราไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อนบ้านก็ไม่ไว้ใจไทย ไทยก็ไม่ไว้วางใจเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านมองว่า ไทยครอบงำเศรษฐกิจเขา นักธุรกิจไทยเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ ฉวยโอกาสจากประเทศเขา แล้วไทยยังครอบงำทางวัฒนธรรมอีกด้วย ขณะนี้ ประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็หันมาส่งเสริมลัทธิชาตินิยมแบบสุดโต่ง ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความเกลียดชังกันเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา คือ ประวัติศาสตร์ เราต้องแก้ในเรื่องของตำราเรียนประวัติศาสตร์ ต้องมีการชำระประวัติศาสตร์ ต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่มองเพื่อนบ้านว่าไม่ได้เป็นศัตรู แต่เป็นมิตรกับเรา ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ต้องทำให้เพื่อนบ้านมีความรู้สึกว่า เราไม่ได้ไปครอบงำเศรษฐกิจเขา เราไม่ได้ครอบงำวัฒนธรรมเขา เราจะอยู่กันอย่างมีมิตรไมตรีจิตต่อกัน และลัทธิชาตินิยมก็ควรที่จะลดลง

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านก็สำคัญ โดยไทยจะต้องให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เรามีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ในแง่ของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อมีช่องว่างห่างกันมาก ก็จะเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันง่าย เพราะฉะนั้น เราจะต้องลดช่องว่างแห่งการพัฒนา ส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ชำระประวัติศาสตร์ แก้ไขตำราเรียน แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอย่างบูรณาการ

ปัญหาความขัดแย้งกับกัมพูชานั้น เป็นเรื่องที่ต้องรีบแก้ เราต้องหยุดการเผชิญหน้า หันกลับมาเจรจา เรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อน และเจรจาปักปันเขตแดน โดยต้องหาสูตรที่เป็น win – win คือ เราได้ เขาก็ได้

• มหาอำนาจ

สำหรับยุทธศาสตร์ต่อมหาอำนาจเก่านั้น ผมไม่ค่อยห่วง เพราะว่า ไทยเข้ากับมหาอำนาจได้ดี
อยู่แล้ว ผิดกับเรื่องของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรามีปัญหามาโดยตลอด กับมหาอำนาจ ผมไม่ห่วง อย่างไทยกับสหรัฐฯ คงจะไม่มีปัญหา เราจะมีความสัมพันธ์ และเป็นมิตรกับสหรัฐฯต่อไป เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ ไทย – จีน ไทย – อินเดีย ไทย – ญี่ปุ่น ผมว่าไม่น่ามีปัญหา ไม่ได้เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับเรา

แต่โจทย์ใหญ่ของไทยในอนาคต คือ ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ในปี 2050
-บราซิลจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
-เม็กซิโก อันดับ 8
-ตุรกี อันดับ 12
-เกาหลีใต้ อันดับ 13
-ออสเตรเลีย อันดับ 17
-อาร์เจนติน่า อันดับ 18
-อียิปต์ อันดับ 19
-ซาอุดิอาระเบีย อันดับ 21
-และไทย จะอยู่อันดับ 22

เพราะฉะนั้น ประเทศเหล่านี้ น่าจะเป็นประเทศเป้าหมายที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้ ที่ถือว่ากำลังจะเป็นคลื่นลูกใหม่ ที่จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต

• เวทีภูมิภาค

ส่วนบทบาทไทยในเวทีภูมิภาคนั้น อาเซียนจะต้องเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์พหุภาคีของไทย โดยจะต้องมีการพลิกฟื้นบทบาทนำของไทยในอาเซียน บทบาทนำใน อาเซียน + 1 อาเซียน + 3 และบทบาทนำในการสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ในเรื่องของเวทีพหุภาคีต่างๆ ผมว่า เราอย่าสับสน อาเซียนนั้นเป็นเวทีที่สำคัญที่สุด ในภูมิภาค มีเวทีพหุภาคีอื่นๆ อาทิ เอเปค แต่เราต้องเห็นชัดเจน เราต้องมีธงชัดเจนว่า อาเซียนสำคัญที่สุด

• เวทีโลก

สำหรับบทบาทไทยในเวทีโลก เป้าหมายในระยะยาว คือ ไทยต้องมีบทบาทมากขึ้นในเวที
โลก ใน UN , WTO ธนาคารโลก ฯลฯ ปัจจุบัน ไทยแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในเวทีโลกเหล่านี้ ขนาดเศรษฐกิจของไทยก็ไม่ได้เล็ก ในปี 2050 เราจะอยู่อันดับ 22 ของโลก เพราะฉะนั้น เราน่าจะมีบทบาทในระดับโลกเพิ่มมากขึ้น โดยในอนาคต ไทยควรจะพยายามผลักดันเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งก็จะสอดรับกับเป้าหมายในระยะยาวของไทยในอนาคตที่ผมอยากจะเสนอ คือ การผลักดันให้ไทยกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: