Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศในอนาคต : ผลกระทบต่อไทย

สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศในอนาคต : ผลกระทบต่อไทย

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศในอนาคต และผลกระทบที่จะมีต่อไทย โดยผมจะแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นสภาวะแวดล้อมทางด้านการเมืองความมั่นคง และสภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ โดยในแต่ละด้าน จะแบ่งย่อยออกเป็น ระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี

สภาวะแวดล้อมด้านการเมืองความมั่นคง

• ระดับโลก
สำหรับการวิเคราะห์ตรงนี้ จะเน้นการวิเคราะห์ระบบการเมืองความมั่นคงโลกในอนาคต และประเด็นปัญหาสำคัญๆ
สำหรับในเรื่องระบบการเมืองความมั่นคงโลกนั้น ในอดีตและปัจจุบัน เป็นระบบ 1 ขั้วอำนาจ ที่มีสหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก หากเปรียบระบบโลกเป็นปิรามิด ในปัจจุบัน มีสหรัฐฯอยู่บนยอดปิรามิดเพียงประเทศเดียว สหรัฐฯมีพลังอำนาจแห่งชาติที่ครบเครื่องในทุกๆด้าน ทั้งอำนาจทางทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม สหรัฐฯเป็นผู้นำในระบบโลก โดยครอบงำองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ UN นอกจากนั้น สหรัฐฯก็มีเครือข่ายทางทหารทั่วโลก โดยเฉพาะพันธมิตรนาโต้

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต มีแนวโน้มชัดเจนว่า มหาอำนาจใหม่กำลังจะผงาดขึ้นมา โดยเฉพาะจีน อินเดีย บราซิล และรัสเซีย สำหรับ จีน ถือว่ามาแรงที่สุด ในอนาคต จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอิทธิพลของจีนจะขยายออกไปเรื่อยๆ ดังนั้น ระบบโลกมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้วอำนาจไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ แต่ก็จะยังคงไม่ใช่ระบบหลายขั้วอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น ระบบการเมืองโลกในอนาคต จะมีลักษณะเป็นลูกผสม หรือ กึ่งหนึ่งขั้วอำนาจ กึ่งหลายขั้วอำนาจ

นอกจากนี้ ในอนาคต องค์การระหว่างประเทศจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ UN จะทำให้ระบบโลกมีลักษณะเป็นโลกาภิบาล หรือ global governance มากขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นระบบพหุภาคีนิยม (multilateralism) มากขึ้น แต่ระบบพหุภาคีนิยม ก็จะยังไม่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป ระบบการเมืองความมั่นคงโลกในอนาคต จะมีลักษณะเป็นระบบลูกผสมระหว่างระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ระบบหลายขั้วอำนาจ และระบบพหุภาคีนิยม ผมอยากจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า uni-multilateralism

ระบบโลกดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่เป็นประเทศขนาดกลาง ดังนั้น ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่รองรับต่อระบบโลกในอนาคต และไทย จะต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงผลกระทบทั้งในเชิงบวก และในเชิงลบ คือวิเคราะห์ว่า ระบบโลกจะเป็นภัยต่อไทยอย่างไร และจะเป็นโอกาสต่อไทยอย่างไร

อีกมิติหนึ่งในการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมในระดับโลก คือ การระบุถึงประเด็นปัญหา หรือ issues ที่สำคัญในอนาคต ซึ่งผมมองว่า ในมิติด้านความมั่นคง จะมี 4 เรื่องใหญ่

เรื่องที่ 1 คือ แนวโน้มที่มหาอำนาจจะมีความขัดแย้งกันมากขึ้น โดยเฉพาะ ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเก่ากับมหาอำนาจใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สหรัฐฯซึ่งเป็นมหาอำนาจเก่า จะมีความขัดแย้งกับมหาอำนาจใหม่ คือ จีน มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจีนต้องการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ และเป็นผู้นำโลก จีนจะท้าทายระเบียบโลกของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯก็จะต้องพยายามอย่างถึงที่สุด ที่จะรักษาสถานะอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของตนต่อไปให้ได้ยาวนานที่สุด

เรื่องที่ 2 คือ แนวโน้มของการปะทะกันทางอารยธรรม ซึ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และทางศาสนา ได้กลายเป็นต้นตอหลักของสงคราม แนวโน้มของความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลาม กำลังจะขยายตัวออกไปเรื่อย
ส่วนเรื่องที่ 3 ที่ผมมองว่า น่าจะเป็นปัญหาในระดับโลกในอนาคต คือ ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะพลังงาน น้ำ และอาหาร ในอนาคต การแย่งชิงทรัพยากรเหล่านี้ อาจจะเป็นต้นตอใหม่ของความขัดแย้งและสงคราม

ส่วนเรื่องที่ 4 คือ สงครามในอนาคต จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากปัจจุบัน โดยจะไม่ใช่เป็นสงครามที่เราคุ้นเคยกัน ที่น่าสนใจ คือ cyber warfare คือ การทำสงครามกันใน internet โดยจะมียุทธศาสตร์การโจมตีเครือข่ายและข้อมูลของกันและกัน นอกจากนี้ สงครามนอกรูปแบบอาจจะวิวัฒนาการออกไป โดยเฉพาะสงครามกองโจร และสงครามในรูปแบบของการก่อการร้าย

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ จะกระทบต่อไทยอย่างหนีไม่พ้น ไทยจะต้องศึกษาผลกระทบของปัญหาเหล่านี้ และกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรองรับต่อผลกระทบดังกล่าว

• ระดับภูมิภาค

สำหรับสภาวะแวดล้อมด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียนั้น จะมีวิวัฒนาการไปในทิศทางเดียวกับสภาวะแวดล้อมในระดับโลก

ระบบการเมืองความมั่นคงในภูมิภาค จะเป็นระบบลูกผสม ซึ่งจะประกอบด้วย ระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ระบบหลายขั้วอำนาจ และระบบพหุภาคีนิยม โดยสหรัฐฯจะยังคงบทบาทการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค และพยายามรักษาระบบหนึ่งขั้วอำนาจในภูมิภาค สหรัฐฯต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค แต่ในขณะเดียวกัน การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย จะทำให้ระบบความมั่นคงในภูมิภาค มีลักษณะหลายขั้วอำนาจมากขึ้น นอกจากนั้น การผงาดขึ้นมาของอาเซียน ในการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค จะทำให้ในอนาคต อาเซียนจะเป็นองค์กรพหุภาคีนิยมที่สำคัญในระบบความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ระบบในภูมิภาคมีลักษณะเป็นระบบพหุภาคีนิยมมากขึ้น

โดยสรุปแล้ว ระบบความมั่นคงในภูมิภาค จะเป็นระบบลูกผสม ตามที่ได้กล่าวข้างต้น คือ เป็นระบบ uni-multilateralism เหมือนในระบบโลก

สำหรับประเด็นปัญหาที่สำคัญในภูมิภาคในอนาคตนั้น จะมีหลายเรื่อง
เรื่องแรก คือ ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่ในอนาคต น่าจะมีแนวโน้มขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องที่ 2 ในอนาคต ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคจะยังไม่หมดไป จะมีจุดอันตรายหลายจุด อาทิ ความขัดแย้งจีน-อินเดีย จีน-ญี่ปุ่น ปัญหาไต้หวัน ปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ เป็นต้น

สำหรับปัญหาอื่นๆในอนาคตที่น่าจะเป็นจุดอันตราย คือ ปัญหาการก่อการร้ายในภูมิภาค การแข่งขันทางทหาร และแนวโน้มการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์

เช่นเดียวกับในระดับโลก ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาค เพื่อรองรับต่อระบบและปัญหาในภูมิภาคในอนาคต

• ระดับทวิภาคี

สำหรับสภาวะแวดล้อมด้านการเมืองความมั่นคงในระดับทวิภาคีนั้น คือ แนวโน้มความสัมพันธ์ทวิภาคีไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และไทยกับมหาอำนาจ

ที่น่าเป็นห่วง คือ แนวโน้มความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ดี โดยเฉพาะกับกัมพูชา ในอนาคต ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีระเบิดเวลารอการระเบิดอยู่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องพรมแดน ที่เรามีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด คือ ทั้งกับพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย หากในอนาคต รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องความไม่ไว้วางใจกัน การปลุกระดมลัทธิชาตินิยม และบาดแผลทางประวัติศาสตร์ รากเหง้าของปัญหาเหล่านี้ คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแก้ได้ ดังนั้น ปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สำหรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองความมั่นคงกับมหาอำนาจนั้น ไม่น่าเป็นห่วง เพราะไทยมีความสามารถเข้ากับประเทศมหาอำนาจได้ดี ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น

สภาวะแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ

• ระดับโลก

สำหรับสภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจนั้น ก่อนอื่น ต้องวิเคราะห์ถึงระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนว่า กำลังวิวัฒนาการไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ในอดีต สหรัฐฯและตะวันตกครอบงำเศรษฐกิจโลก แต่ในอนาคต การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ และการรวมกลุ่มกันของประเทศยากจน จะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกเป็นระบบหลายขั้วอำนาจอย่างชัดเจน
สำหรับระบบการค้าโลกในอนาคต ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า บทบาทของ WTO จะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากความล้มเหลวของการเจรจารอบโดฮา แต่ที่เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศรวย กับ กลุ่มประเทศยากจน กำลังจะกลายเป็นตัวแปรกำหนดระบบการค้าโลกในอนาคต

เช่นเดียวกับระบบการเงินโลก มีคำถามสำคัญในเรื่องเสถียรภาพของระบบ แม้ว่าตะวันตกจะยังครอบงำระบบการเงินโลกในปัจจุบันอยู่ แต่ในอนาคต มหาอำนาจใหม่และประเทศยากจนจะพยายามเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ในอนาคต ความขัดแย้งเหนือ-ใต้ หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน จะเป็นความขัดแย้งหลักในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจโลกของไทยว่า เราจะมียุทธศาสตร์ในการรองรับระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างไร

• ระดับภูมิภาค

สำหรับสภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจในเอเชียนั้น

ประเด็นแรกที่สำคัญในอนาคต คือ แนวโน้มการผงาดขึ้นมาของเอเชีย หรือ The Rise of Asia ซึ่งจะทำให้มีการย้ายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจโลกจากตะวันตกมาตะวันออก

และในอนาคต สถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค จะเป็นแนวโน้มสำคัญ โดยการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 จะทำให้อาเซียนมีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค การผงาดขึ้นมาของอาเซียน จะทำให้อาเซียนสามารถเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะการขยายวงออกไปเป็น อาเซียน+3 ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก และกรอบใหญ่ที่มีชื่อว่า East Asia Summit หรือ EAS

อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะประสบกับเวทีเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะเป็นคู่แข่งของอาเซียนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอเปค นอกจากนั้น มหาอำนาจเศรษฐกิจจะพยายามคงบทบาทของตนไว้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้มีแผนที่จะจัดตั้ง FTA ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ขึ้นมาเพื่อแข่งกับ FTA ของอาเซียน และยังมีมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ เช่น จีน อินเดีย รวมถึงมหาอำนาจเศรษฐกิจเก่า เช่น ญี่ปุ่น จะยังคงมีบทบาทที่โดดเด่นแข่งกับบทบาทของอาเซียนในอนาคต

ดังนั้น ในภูมิภาค ในอนาคต จะมีระบบเศรษฐกิจในลักษณะเป็นลูกผสม คือ มีลักษณะเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ ที่มีมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นตัวแสดงหลัก แต่ในขณะเดียวกัน การผงาดขึ้นมาของอาเซียน จะทำให้ระบบมีลักษณะพหุภาคีนิยมเพิ่มขึ้นมาด้วย
ระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคในอนาคต จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับไทย ที่จะต้องวิเคราะห์ถึงภัยและโอกาส รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์ในการรองรับระบบในอนาคต

• ระดับทวิภาคี

สุดท้าย ผมจะวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในระดับทวิภาคีของไทย ซึ่งสามารถแยกออกมาเป็น 3 มิติ ดังนี้
มิติแรก เป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอน เพราะหากในอนาคต ความสัมพันธ์ในภาพรวมไม่ดี จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจด้วย

ส่วนมิติที่ 2 คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจ ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง เพราะแนวโน้มความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างไทยกับมหาอำนาจ น่าจะดี ไทยคงจะเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐฯต่อไป

ส่วนในมิติที่ 3 คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจใหม่ และภูมิภาคอื่นๆ ในอนาคต จะมีการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ๆในหลายภูมิภาค อาทิ เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา ตุรกี อียิปต์ อัฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นต้น ดังนั้น ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ที่จะปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจใหม่ๆเหล่านี้ด้วย

กล่าวโดยสรุป จากที่ผมวิเคราะห์มาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศในอนาคต จะมีความยุ่งยากซับซ้อน และมีความไม่แน่นอนสูง ไทยจะต้องทำการบ้านหนัก ในการวิเคราะห์ผลกระทบทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบ และกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรองรับต่อสภาวะแวดล้อมในอนาคต ที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและอย่างรวดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น: