Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 2)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2554

ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์วิกฤตหนี้ของยุโรป หรือ วิกฤต Eurozone ไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพัฒนาการของวิกฤตและแผนการกอบกู้วิกฤตล่าสุด ซึ่งคอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ดังนี้

วิกฤต

หัวใจของวิกฤต Eurozone ในขณะนี้ อยู่ที่กรีซ ซึ่งประสบกับปัญหาวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ แม้ว่า EU และ IMF จะปล่อยเงินกู้ให้กรีซงวดแรกไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2010 เป็นเงินกว่า 150,000 ล้านเหรียญ สาเหตุที่ต้องปล่อยกู้ให้กับกรีซ เพราะความน่าเชื่อถือของประเทศตกต่ำลงอย่างมากที่สุด กรีซจึงไม่สามารถกู้ยืมเงินในตลาดการเงิน จึงทำให้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ การที่ EU และ IMF ให้ความช่วยเหลือกรีซ ก็เพื่อที่จะเป็นการให้เวลากรีซในการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อที่จะกลับมาฟื้นฟูประเทศได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของกรีซกลับแย่ลง S&P ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซต่ำที่สุด จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด

และล่าสุด สถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน และอาจรวมถึงฝรั่งเศสด้วย โดยทั้ง 3 ประเทศกำลังประสบกับภาวะวิกฤตหนี้เช่นเดียวกัน และได้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไป

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มในขณะนี้ ก็คือ ตลาดการเงินกำลังมองว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า default ดูเหมือนจะมีฉันทามติแล้วว่า กรีซคงจะผิดนัดชำระหนี้แน่ แต่ที่ยังไม่แน่ก็คือ การล้มละลายของกรีซจะส่งผลกระทบต่อ Eurozone และต่อระบบการเงินโลกมากน้อยเพียงใด และจะส่งผลกระทบเป็น domino effect มากน้อยแค่ไหน

กรีซ ขณะนี้มีหนี้อยู่ประมาณ 350,000 ล้านยูโร คิดเป็น 150% ของ GDP วิกฤตหนี้ของกรีซจะส่งผลกระทบต่อธนาคารในยุโรปที่เป็นเจ้าหนี้กรีซอยู่กว่า 3 แสนล้านยูโร โดยเฉพาะธนาคารของฝรั่งเศสและเยอรมนี อย่างไรก็ตาม หากการผิดนัดชำระหนี้ จะมีลักษณะในการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% หรือที่เรียกว่ามาตรการ “hair cut” ซึ่งถ้าออกมาเป็นแบบนี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม โอกาสของการแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้กรีซ ไปสู่ประเทศอื่นๆ ก็ยังมีอยู่สูง โดยก่อนหน้านี้ ทาง EU และ IMF ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับโปรตุเกสและไอร์แลนด์ เช่นเดียวกับในกรณีของกรีซ ดังนั้น หากกรีซล้มละลาย ตลาดการเงินก็อาจจะเกิดการตื่นตระหนกว่า ต่อไป โปรตุเกสและไอร์แลนด์ก็อาจล้มละลายตามกรีซไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น หากกรีซล้มละลาย ก็อาจจะส่งผลกระทบเป็น domino effect ต่ออิตาลี สเปน และฝรั่งเศสด้วย เศรษฐกิจของสเปนและอิตาลีใหญ่กว่าของกรีซมาก ดังนั้น หากเกิดวิกฤตหนี้ใน 2 ประเทศนี้ EU และ IMF ก็จะไม่มีเงินพอที่จะปล่อยกู้ให้กับประเทศทั้งสองได้ ซึ่งจะมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญ
ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ อิตาลี ซึ่งมีมูลค่าหนี้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯและญี่ปุ่น อิตาลีเพิ่งถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก S&P ซึ่งจะทำให้ในอนาคต อิตาลีจะกู้เงินได้ยากขึ้น ในที่สุด อาจจะเป็นวัฏจักร เหมือนกับที่กรีซประสบ คือ อาจจะไม่มีเงินชำระหนี้ได้ มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีก็ลดค่าลงไปเป็นอย่างมาก
ดังนั้น หากเกิดภาวะ domino effect ก็อาจนำไปสู่วิกฤตธนาคารครั้งใหญ่ของยุโรป จะกระทบต่อ Eurozone ทั้งระบบ และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่

มีบางคนถึงกับคาดการณ์ว่า หากปัญหาลุกลามบานปลาย ในที่สุด Eurozone ทั้งระบบอาจล่มสลาย หรืออาจมีบางประเทศอาจจะต้องถอนตัวออกจาก Eurozone ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ ในที่สุด อาจนำไปสู่ Great Depression หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งใหม่ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี

แผนการกอบกู้วิกฤต

สำหรับเค้าโครงของแผนการกอบกู้วิกฤต Eurozone ล่าสุด เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมประจำปีของ IMF ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยแผนดังกล่าว จะมีมาตรการหลักๆ อยู่ 3 มาตรการ

มาตรการแรก เป็นมาตรการในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหา โดยอาจจะมีข้อตกลงที่จะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ซึ่งมาตรการนี้ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า มาตรการ “hair cut”

สำหรับมาตรการที่ 2 จะมีการเพิ่มเงินทุนเข้าไปในกองทุนสำหรับการกอบกู้วิกฤต Eurozone ที่เรียกว่า European Financial Stability Facility (EFSF) ซึ่งในปัจจุบัน มีเงินอยู่ในกองทุนนี้ประมาณ 440,000 ล้านยูโร โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านยูโร รัฐบาลยุโรปหวังว่า มาตรการนี้จะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก EU ที่อยู่ใน Eurozone ในช่วง 5-6 สัปดาห์ข้างหน้า รัฐสภาของเยอรมนี ก็ได้ลงมติเห็นชอบกับแผนการดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา หาก EFSF สามารถเพิ่มเงินในกองทุนได้ ก็จะสามารถทำให้ EFSF มีเงินพอที่จะไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่กำลังประสบวิกฤตหนี้ได้

ส่วนมาตรการที่ 3 เป็นมาตรการในการให้ความช่วยเหลือธนาคารใหญ่ๆของยุโรป ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล้มละลายของกรีซ

ขณะนี้ ทุกฝ่ายกำลังจับตามองไปที่การประชุมสุดยอด G20 ที่จะมีขึ้นที่เมือง Cannes ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยหวังว่า G20 จะสามารถตกลงกันและผลักดันมาตรการต่างๆเหล่านี้ออกมาได้

ก่อนหน้านี้ G20 มีบทบาทน้อยมาก โดยมีเพียงการออกแถลงการณ์ว่า จะมีความร่วมมือกันในการจัดการกับวิกฤต แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดเงินเกิดความมั่นใจได้ ทั้งนี้ เพราะยังไม่มีรายละเอียดมาตรการ มีเพียงแต่คำพูด แต่ไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม
บทบาทของ G20 นั้น มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะหากเกิดสถานการณ์วิกฤตหนี้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน EU ก็คงจะไม่มีเงินพอที่จะช่วยประเทศทั้งสองได้ ดังนั้น ก็เหลือแต่ G20 เท่านั้น ที่จะเป็นกลไกเข้ามาช่วยเหลือประเทศทั้งสอง โดยหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น G20 อาจจะต้องขยายเงินทุนเข้าไปใน IMF ซึ่ง IMF ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วย EU ปล่อยเงินกู้ให้กับไอร์แลนด์ โปรตุเกส และกรีซ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเงินช่วยเหลือทั้งหมด แต่หากเกิดปัญหาขึ้นกับสเปนและอิตาลี IMF อาจจะต้องเข้ามาช่วยปล่อยกู้ให้กับทั้ง 2 ประเทศ อย่างน้อย 50% ของเงินช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งเงินดังกล่าว ก็คงจะต้องมาจากประเทศสมาชิก G20

ดังนั้น เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า EU IMF และ G20 จะสามารถผนึกกำลังในการกอบกู้วิกฤต Eurozone ครั้งนี้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ หากกลไกเหล่านี้ประสบความล้มเหลว ระบบเศรษฐกิจโลกก็คงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี อย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น: