Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 – วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2554

ในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 19 ที่บาหลี อินโดนีเซีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ว่า ในการประชุมครั้งนี้ จะมีเรื่องสำคัญๆอะไรบ้าง ดังนี้

ประชาคมอาเซียน

เรื่องแรกที่จะเป็นไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ คือ การเดินหน้าจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 ซึ่งผมมองว่า โดยภาพรวมแล้ว การเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน เป็นไปได้ด้วยดี ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ คงไม่มีปัญหาอะไรสำคัญ

อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นไปได้ ที่เรื่องเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะในไทย กัมพูชา และเวียดนาม อาจจะกลายเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนจะหยิบยกขึ้นหารือ โดยเฉพาะการพัฒนามาตรการและกลไกของอาเซียน ในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก ในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ

แต่ผมมองว่า ในช่วงวิกฤตน้ำท่วม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในไทย อาเซียนไม่มีบทบาทอะไรเลย นับเป็นความล้มเหลวของอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ที่เมื่อเกิดวิกฤต อาเซียนก็ไม่อาจช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้ นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 1997 และต่อมา วิกฤตพายุนาร์กิส ที่ถล่มพม่า เมื่อปี 2008 โดยอาเซียนแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในการช่วยเหลือพม่า กลับกลายเป็นว่า UN กลายเป็นตัวแสดงสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ และในวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นในไทย และอีกหลายประเทศ อาเซียนก็ไม่มีบทบาทอะไรเลยอีกเช่นกัน ทั้งๆที่อาเซียนมีปฏิญญาจัดการภัยพิบัติ มาตั้งแต่ปี 1976 และต่อมา มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ แต่เป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ข้อตกลงเหล่านี้ กลายเป็นเพียงแค่ “เศษกระดาษ”

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ อาจจะมีการหารือถึงการพัฒนากลไกการจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อาเซียนไม่สามารถช่วยเหลือสมาชิกในยามวิกฤตได้ ก็เพราะอาเซียนยังไม่ได้เป็นประชาคมอย่างแท้จริง เรายังไม่มีอัตลักษณ์ร่วม ประเทศสมาชิก ลึกๆแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ที่จะต้องช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง

อาเซียนกับมหาอำนาจ

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ไฮไลท์น่าจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจเป็นหลัก โดยจะมีทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียน+1 อาทิ อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-สหรัฐฯ การประชุมสุดยอดอาเซียน+ 3 และการประชุมสุดยอด East Asia Summit หรือ EAS อีกด้วย

สำหรับในกรอบของ อาเซียน+1 นั้น ที่น่าจับตามอง คือ การประชุมสุดยอด อาเซียน-จีน เพราะก่อนหน้านี้ อาเซียนกับจีน มีปัญหากันในเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีน ในช่วงเดือนกรกฎาคม ได้มีการจัดทำ Guidelines สำหรับการแปลงปฏิญญา Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea ให้ไปสู่การปฏิบัติ ผมเดาว่า ผลการประชุมน่าจะออกมา ในทำนองที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องการแก้ปัญหาด้วยการเจรจา และจะเดินหน้าในการจัดทำ Code of Conduct ต่อไป โดยอาเซียนและจีน ก็ไม่อยากให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาค คือ เรื่องการจัดทำ FTA ในกรอบต่างๆ ขณะนี้ อาเซียนมี FTA อยู่หลายกรอบ ทั้งในกรอบ อาเซียน+1 อาทิ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น และมีข้อเสนอ FTA ในกรอบอาเซียน+3 และอาเซียน+6 อีกด้วย ที่ประชุมครั้งนี้ จะได้พิจารณาข้อเสนอของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่า อาเซียนจะบูรณาการ FTA ต่างๆเหล่านี้อย่างไร ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ใช้คำว่า อาเซียน + + FTA ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่า จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และที่จะทำให้เรื่องยุ่งมากขึ้น ก็คือ การผลักดันของสหรัฐฯที่จะตั้ง FTA ในกรอบเอเปค ที่เรียกว่า TPP เพื่อมาแข่งกับ FTA ของอาเซียนอีกด้วย

ไฮไลท์อีกเรื่องของการหารือระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจ คือ การหารือในกรอบ East Asia Summit หรือ EAS โดยปัจจัยที่จะทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา คือ การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯมองว่า การเข้าร่วม EAS จะทำให้สหรัฐฯมีบทบาทในการพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และการเป็นสมาชิก EAS จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียโดยไม่มีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯมองว่า ความร่วมมือ อาเซียน+3 เข้มข้นกว่า EAS ดังนั้น ท่าทีของสหรัฐฯ คือ การเข้ามาปรับเปลี่ยน EAS ให้มีความร่วมมือที่เข้มข้น และพยายามเข้ามามีบทบาทนำใน EAS

จากท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้อาเซียนวิตกกังวลว่า อาเซียนจะไม่สามารถคุมเกม EAS ได้ และสหรัฐฯจะเข้าครอบงำ ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนคงจะตอกย้ำท่าทีของอาเซียน ซึ่งคงจะขัดแย้งกับท่าทีของสหรัฐฯหลายเรื่อง อาทิ อาเซียนต้องการให้ EAS เป็นเวทีหารือในระดับผู้นำเท่านั้น และไม่ต้องการให้ EAS เป็นสถาบันที่เป็นทางการ ในขณะที่สหรัฐฯต้องการตรงกันข้าม สหรัฐฯต้องการให้ EAS เป็นองค์กรความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค แต่อาเซียนก็ไม่เห็นด้วย เราคงจะต้องจับตามองว่า ผลการประชุม EAS ในครั้งนี้จะออกมาอย่างไร แต่ผมเดาว่า ทั้ง 2 ฝ่ายคงจะประนีประนอมกัน และอาจจะออกมาในลักษณะ “พบกันครึ่งทาง”

อาเซียนในเวทีโลก

และเรื่องที่น่าจะมีความสำคัญในการประชุมครั้งนี้อีกเรื่อง คือ เรื่องที่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเป็น theme ของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย คือ “ASEAN Community in a Global Community of Nations” โดยอินโดนีเซียต้องการพัฒนาท่าทีร่วมของอาเซียนในเวทีโลก และเพิ่มบทบาทอาเซียนในการจัดการกับปัญหาของโลก โดยในการประชุมครั้งนี้ น่าจะมีการลงนามในปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนกับ UN

แต่โดยรวมแล้ว ผมประเมินว่า เป้าหมายของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ ประสบความล้มเหลว เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนและผลักดันเรื่องนี้ แต่บทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และการจัดการปัญหาของโลก ก็ไม่มีให้เห็นเลย จริงๆแล้ว วาระซ่อนเร้นของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ คือ การใช้ประโยชน์จากอาเซียน ในการผลักดันให้อินโดนีเซียผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคและในระดับโลกนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: