Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2012 (ตอนจบ)

แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2012 (ตอนจบ)

คอลัมน์โลกปริทรรศน์
25 ธันวาคม 2554

คอลัมน์โลกปริทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2012 ไปบ้างแล้ว โดยการวิเคราะห์ดังกล่าว เป็นการสรุป วิเคราะห์ จากเอกสารของ Council on Foreign Relations ซึ่งเป็น think tank ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ซึ่งได้เผยแพร่เอกสาร ชื่อ “Preventive Priorities Survey : 2012” คาดการณ์สถานการณ์โลกในปี 2012 โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

เอกสารดังกล่าว ถูกจัดทำขึ้นเพื่อมองถึงแนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2012 โดย Center for Preventive Action ของ Council on Foreign Relations ได้จัดทำการสำรวจกลุ่มข้าราชการ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดทำรายการเกี่ยวกับภัยคุกคามในปี 2012 โดยรายการดังกล่าว ได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ และแตกต่างกันไปตามระดับของความเสี่ยง และลักษณะของความขัดแย้ง โดยรายการของสถานการณ์ในกลุ่มที่ 1 เป็นสถานการณ์ที่คุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯโดยตรง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจนำไปสู่การที่สหรัฐฯ จะต้องใช้กำลังทางทหารเพื่อจัดการกับภัยคุกคามดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะพันธกรณีตามสนธิสัญญาทางทหาร โดยรวมถึงภัยคุกคามต่อทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

ตอนที่แล้วได้สรุป วิเคราะห์กลุ่มที่ 1 ไปแล้ว คอลัมน์ในตอนนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3

กลุ่มที่ 2

สำหรับเรื่องที่อยู่ในกลุ่มที่ 2 นี้ จะเป็นภัยคุกคามที่กระทบต่อประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ แต่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯโดยตรง และไม่เกี่ยวข้องกับประเทศที่เป็นพันธมิตรทางทหารของสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นปัญหาในกลุ่มที่ 2 แบ่งออกได้ ดังนี้

• ตะวันออกกลาง

สถานการณ์ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในตะวันออกกลาง จะยังคงเป็นปัญหาต่อไปในปี 2012 โดยประเทศแรกที่สหรัฐฯจับตามอง คือ ความวุ่นวายทางการเมืองในอียิปต์ ซึ่งแม้ในปีนี้ การลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาล Mubarak จะประสบความสำเร็จไปแล้ว และดูเหมือนว่า อียิปต์จะเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว แต่การเมืองของอียิปต์ยังไม่นิ่ง เพราะยังมีความขัดแย้งกันระหว่างหลายกลุ่ม โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน และการเพิ่มอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มหัวรุนแรง

จุดอันตรายอีกหนึ่งจุดในตะวันออกกลาง คือ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับตุรกี ซึ่งกำลังมีแนวโน้มของความตึงเครียด และความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีแนวโน้มที่อิสราเอลอาจถูกโจมตี ทั้งจากขบวนการก่อการร้าย หรือจากอิหร่าน ก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่

สำหรับสถานการณ์ในซีเรีย ในปี 2012 ยังคงน่าวิตก หลังจากในปีนี้ ได้มีความวุ่นวายทางการเมืองอย่างหนัก และปี 2012 คาดว่า จะยังคงมีความวุ่นวายต่อไป และอาจลุกลามบานปลายมากขึ้น จนถึงขั้นอาจต้องมีการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งจะทำให้สถานการณ์คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลิเบียในปีนี้

นอกจากนี้ ความวุ่นวายทางการเมืองในเยเมนและบาเรน ก็ยังเป็นเรื่องน่าห่วง สำหรับปี 2012 โดยเฉพาะในบาเรน หากเกิดความวุ่นวายบานปลาย อาจจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน คือ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน เข้าแทรกแซงทางทหารได้ ซึ่งก็จะทำให้วุ่นวายกันใหญ่

• เอเชีย

สำหรับในเอเชีย มี 2 เรื่องที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 ที่เป็นภัยคุกคามกระทบต่อประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ
จุดแรก คือ ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งยังคงมีปัญหาคุกรุ่นกันอยู่ และวิกฤตมีความเสี่ยงที่อาจลุกลามบานปลายไปสู่การใช้กำลังทางทหาร โดยอาจมีการผสมโรงจากขบวนการก่อการร้าย

สำหรับจุดร้อนอีก 1 จุด ในเอเชีย คือ ทะเลจีนใต้ ปีนี้ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะระหว่างจีนกับเวียดนาม และจีนกับฟิลิปปินส์ โดยมีสหรัฐฯเป็นตัวยุแหย่ ให้เกิดความขัดแย้งหนักขึ้น เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯได้เข้ามาวุ่นวายในความขัดแย้งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเข้าไปถือหางทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ ด้วยการเข้าไปกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับทั้ง 2 ประเทศ ล่าสุด สหรัฐฯก็ประกาศจะส่งทหารมาประจำการอยู่ที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งในอนาคต อาจพัฒนาเป็นฐานทัพใหม่ของสหรัฐฯ Darwin มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์เพราะอยู่ใกล้กับทะเลจีนใต้มาก ดังนั้น จากแนวโน้มในปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า ปี 2012 โอกาสของความขัดแย้งทางทหารในทะเลจีนใต้ ก็เพิ่มสูงขึ้น

อีกประเทศหนึ่งในเอเชียใต้ที่ยังน่าเป็นห่วง คือ อัฟกานิสถาน แม้ว่าสหรัฐฯจะพยายามทำสงครามเอาชนะนักรบตาลีบัน แต่ขณะนี้ ผลกลับตรงกันข้าม เพราะฝ่ายตาลีบันอยู่ในสถานะได้เปรียบขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าสหรัฐฯจะประกาศที่จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในอนาคต แต่แนวโน้มในปี 2012 คาดว่า สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน จะยังคงไม่ดีขึ้น โดยอาจมีแนวโน้มที่จะทรุดหนักลงเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะแนวโน้มของการที่ฝ่ายตาลีบันจะรุกคืบยึดพื้นที่ในอัฟกานิสถานได้มากขึ้น และกองกำลังนาโต้อาจต้องถอยร่นลงไปเรื่อยๆ

กลุ่มที่ 3

จะเป็นประเด็นปัญหาและภัยคุกคาม ที่จะมีผลกระทบทางด้านมนุษยธรรม แต่จะเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ โดยจะเป็นปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคเหล่านี้

• อัฟริกา

อัฟริกาเป็นทวีปและภูมิภาคที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ ดังนั้น แม้ว่า ในปี 2012 จะยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นหลายจุด แต่จะไม่สำคัญในสายตาของสหรัฐฯ

จุดล่อแหลมที่มีแนวโน้มจะเกิดสงครามและความขัดแย้งทางทหาร ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างซูดานกับซูดานใต้ (ชื่อเดิม คือ ดาร์ฟู)

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะมีความวุ่นวายทางการเมือง และสงครามเกิดขึ้นในหลายประเทศในภูมิภาค ที่สำคัญได้แก่ ไนจีเรีย สำหรับความไม่สงบในโซมาเลีย ก็มีแนวโน้มจะขัดแย้งกันมากขึ้น และอาจมีการแทรกแซงจากประเทศภายนอก นอกจากนี้ เคนยา และคองโก ก็เป็นประเทศที่ล่อแหลม ที่จะมีความขัดแย้งในปี 2012

• คอเคซัส

อีกภูมิภาคที่มีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกัน แต่เป็นภูมิภาคที่ไม่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ คือ แถบเทือกเขาคอเคซัส ซึ่งจะมีจุดอันตราย 2 จุด จุดแรก คือ ความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย โดย 2 ประเทศได้ทำสงครามกันมาตั้งแต่ ปี 2008 แล้ว แต่ขณะนี้ การเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งยังไม่ประสบความสำเร็จ และมีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามขึ้นได้อีก
ส่วนอีกจุดหนึ่ง คือ ความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน ซึ่งขัดแย้งกันมานานหลายปีแล้ว ในกรณีพิพาทในเขต Nagorno Karabakh ปี 2012 มีความเป็นไปได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสอง อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามได้

• ภูมิภาคอื่นๆ

สำหรับในภูมิภาคอื่นๆ ก็ยังมีอีกหลายประเด็นความขัดแย้ง ที่อาจกลายเป็นประเด็นร้อนในปี 2012 แต่จะไม่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ได้แก่ ความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองในลิเบีย แม้ว่าจะโค่นรัฐบาล Gaddafi ลงได้ในปีนี้ แต่ลิเบียในยุคหลัง Gaddafi มีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่สงบขึ้น และจะมีความขัดแย้งกันหลายฝักหลายฝ่าย ส่วนในเอเชียกลาง ก็มีแนวโน้มของความวุ่นวายทางการเมือง โดยเฉพาะในประเทศคีร์กีซสถาน ส่วนในลาตินอเมริกา ก็จะมีประเทศเวเนซุเอลา ที่อาจมีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นในปี 2012 โดยเฉพาะในยุคหลัง Chavez

ไม่มีความคิดเห็น: