Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สรุปสถานการณ์โลก ปี 2554 (ตอนที่ 1)

สรุปสถานการณ์โลก ปี 2554 (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2554 – วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2555

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ จะเป็นคอลัมน์ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ก็ได้เวลาที่จะมาสรุป ประมวลเหตุการณ์สถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา และที่ผมได้ทำมาทุกปี คือ จะเลือกเรื่องที่สำคัญที่สุด 10 เรื่อง มาสรุป และจัดอันดับความสำคัญ โดยจะไล่ตั้งแต่อันดับ 10 ไปจนถึงอับดับ 1

อันดับ 10 : ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

สถานการณ์โลกเรื่องแรก ที่ในแง่ของไทยอาจจะมีความสำคัญเป็นอันดับ 1 แต่ในแง่ผลกระทบต่อโลก ก็น่าจะอยู่ประมาณอันดับ 10 คือ เรื่อง ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ซึ่งถือว่าเป็นความขัดแย้งทางทหารที่รุนแรงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เป็นปัญหายืดเยื้อมานาน นับตั้งแต่กรณีเขาพระวิหาร แต่ได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นการปะทะกันทางทหาร ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ UNSC ได้ประชุมเรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตครั้งใหญ่ของไทย ที่ไม่ต้องการให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ UNSC ได้ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิงอย่างถาวร แก้ปัญหาด้วยการเจรจา และสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ปัญหา

ต่อมาได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนขึ้น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่อินโดนีเซีย การที่อาเซียนเข้ามามีบทบาท ถือเป็นการพ่ายแพ้ทางการทูตครั้งใหญ่ของไทย โดยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่ได้เข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ก็ไม่มีความคืบหน้าทางการทูต การประชุม JBC ก็ไม่ได้มีผลอะไรเป็นรูปธรรม การประชุม GBC ก็ถูกยกเลิก และเกิดความล่าช้าในเรื่องผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซีย นำไปสู่การเกิดการปะทะกันทางทหารอีกครั้งในเดือนเมษายน

ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ไทยได้เรียกร้องให้ชะลอการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไม่ได้ผล ไทยจึงประกาศจะลาออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก

และในช่วงปลายเดือนเมษายน กัมพูชาได้ทิ้งไพ่ใบสำคัญ โดยได้ยื่นเรื่องต่อศาลโลก ให้ตีความใหม่เกี่ยวกับคำตัดสินกรณีเขาพระวิหาร เมื่อปี 1962 โดยขอให้ตีความคำตัดสินที่บอกว่า การที่เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชานั้น จะรวมถึงเขตทับซ้อนหรือไม่ ต่อมา ศาลโลกได้มีการกำหนดเขตปลอดทหาร และขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอนทหารออกจากเขตดังกล่าว

อันดับ 9 : ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯต่อเอเชีย

สำหรับสถานการณ์โลกที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 9 คือ บทบาทของสหรัฐฯต่อเอเชีย
ในปีนี้ สหรัฐฯเดินหน้ายุทธศาสตร์เชิงรุกต่อภูมิภาคอย่างเข้มข้น ทั้งในกรอบทวิภาคี และพหุภาคี ไฮไลท์ของยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อภูมิภาค เกิดขึ้นในระหว่างการเยือนออสเตรเลียของ Obama ในเดือนพฤศจิกายน Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาของออสเตรเลีย ประกาศนโยบายครั้งสำคัญของสหรัฐฯต่อเอเชียว่า สหรัฐฯกำลังจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางทหารครั้งใหญ่ต่อเอเชีย และจะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ เป็นลำดับสูงสุด ในปี 2012 จะส่งทหาร 2,500 นาย มาประจำการอยู่ที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งอาจเป็นก้าวแรกของการจัดตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในอนาคต

เวทีพหุภาคีที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ เวที East Asia Summit หรือ EAS โดย Obama ได้เข้าร่วมประชุม EAS เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน สหรัฐฯมองว่า การเป็นสมาชิก EAS จะทำให้สหรัฐฯเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค จะช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศเอเชียตะวันออกรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน

ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯในการปิดล้อมจีน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงทางด้านการทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจด้วย เครื่องมือสำคัญ คือ การผลักดัน FTA ตัวใหม่ ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งได้มีการจัดประชุมสุดยอดสมาชิก TPP 9 ประเทศที่ฮาวาย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน

อันดับ 8 : ความขัดแย้ง จีน-สหรัฐฯ

สำหรับสถานการณ์โลกที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 8 คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยในปีนี้ มีเหตุการณ์หลายเรื่องที่ส่อเค้าให้เห็นว่า ทั้ง 2 ประเทศจะกลับมาขัดแย้งกันอีก

ในเดือนมิถุนายน ทั้งจีนและสหรัฐฯซ้อมรบในทะเลจีนใต้

ต่อมาในเดือนสิงหาคม ผู้นำฝ่ายทหารของสหรัฐฯ คือ Mike Mullen ได้ตอกย้ำว่า สหรัฐฯจะเดินหน้าปฏิบัติการสอดแนมทางทหาร ทั้งทางทะเลและทางอากาศ ใกล้ชายฝั่งของจีนต่อไป

ทุกๆปี กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจะเผยแพร่เอกสารประเมินแสนยานุภาพทางทหารของจีน สำหรับในปีนี้ เอกสารดังกล่าว ได้วิเคราะห์ว่า การผงาดขึ้นมาของจีน จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ โดยจีนให้ความสำคัญต่อการเตรียมพร้อมในการทำสงครามกับไต้หวัน

นอกจากทางด้านการทหารแล้ว ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังได้ลุกลามขยายวงเข้าสู่มิติทางด้านเศรษฐกิจด้วย ในช่วงเดือนตุลาคม ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องค่าเงินหยวนได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง วุฒิสภาของสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมายที่จะให้มีการตอบโต้ โดยการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศที่มีค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเป้าของกฎหมายฉบับนี้ ก็คือ จีน แต่จีนก็ได้ออกมาเตือนว่า กฎหมายดังกล่าว จะเป็นการเปิดฉากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน

อับดับ 7 : ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

สำหรับสถานการณ์โลกที่มีความสำคัญเป็นอับดับ 7 คือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งนับเป็นความขัดแย้งที่วิกฤตที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจลุกลามกลายเป็นสงครามในอนาคตได้

ในช่วงเดือนมิถุนายน วิกฤตได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง โดยเวียดนามได้กล่าวโจมตีจีนอย่างรุนแรงว่า เรือรบของจีนได้ทำลายสายเคเบิลเรือสำรวจก๊าซและน้ำมันของเวียดนาม และต่อมา ได้มีการเดินขบวนของชาวเวียดนามนับพันคนเพื่อประท้วงจีน ส่วนจีน ก็ได้ตอบโต้และย้ำถึงอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยกล่าวหาเวียดนามว่า สำรวจน้ำมันอย่างผิดกฎหมาย และละเมิดอธิปไตยของจีนอย่างรุนแรง

ฟิลิปปินส์ก็ได้ออกแถลงการณ์โจมตีจีนอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่า เรือรบจีนได้ยิงปืนเข้าใส่เรือประมงของฟิลิปปินส์ ในบริเวณเกาะ Jackson Atoll ซึ่งฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นของตน แต่ทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยตอกย้ำว่า จีนต้องการสันติภาพ และจะไม่ใช้กำลัง นอกจากจะถูกโจมตีก่อน

ตัวแปรสำคัญและผู้ที่อยู่เบื้องหลังฉากความขัดแย้งนี้ คือ สหรัฐฯ โดยการที่สหรัฐฯเข้ามายุ่งกับปัญหานี้และยุแหย่ให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน เป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ เพื่อเปิดช่องให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และเพื่อปิดล้อมจีนทางทหารด้วย

อันดับ 6 : ปัญหาอิหร่าน

สถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 6 คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน โดยเรื่องหลัก คือ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และความขัดแย้งกับสหรัฐฯ
ในเดือนตุลาคม ได้เกิดประเด็นร้อนระหว่า
งสหรัฐฯกับอิหร่าน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยแผนของอิหร่านที่จะลอบสังหารทูตซาอุดิอาระเบียประจำสหรัฐฯ รวมทั้งแผนก่อวินาศกรรมระเบิดสถานทูตซาอุดิอาระเบีย และอิสราเอล ในกรุงวอชิงตัน ดี ซี โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ องค์กร Quds Force ของรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งเป็นองค์กรที่สหรัฐฯกล่าวหาว่า ให้ความช่วยเหลือตาลีบันในอัฟกานิสถาน และโจมตีทหารสหรัฐฯในอิรัก

หลังจากนั้น วิกฤตอิหร่านได้ลุกลามบานปลายมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ IAEA ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ IAEA ออกมาประกาศเช่นนี้ โดยก่อนหน้านี้ อิหร่านประกาศมาตลอดว่า อิหร่านต้องการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อใช้อย่างสันติ โดยหลังจากการเปิดเผยของ IAEA ก็ทำให้หลายฝ่ายในสหรัฐฯ ตื่นตระหนกต่อภัยคุกคามจากอิหร่าน และได้มีเสียงเรียกร้องให้ใช้กำลังทหารโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน

(โปรดอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า ซึ่งจะสรุปสถานการณ์โลกอันดับที่ 1-5)

ไม่มีความคิดเห็น: