Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

Obama ประกาศนโยบายต่างประเทศ ปี 2012

Obama ประกาศนโยบายต่างประเทศ ปี 2012 ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 3– วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์2555 ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายประจำปีต่อสภาคองเกรส ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า State of the Union Address คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ สุนทรพจน์ดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ ดังนี้ ภาพรวม สุนทรพจน์ประกาศนโยบายคราวนี้ Obama เน้นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ สำหรับในด้านนโยบายต่างประเทศนั้น เป็นการประกาศความสำเร็จของการดำเนินนโยบายต่างประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะความสำเร็จในการถอนทหารออกจากอิรัก และความสำเร็จในการสังหาร Osama Bin Laden โดย Obama กล่าวว่า ผู้นำของ al-Qaeda กำลังประสบความพ่ายแพ้ เช่นเดียวกับนักรบ Taliban ในอัฟกานิสถาน และสหรัฐฯกำลังเริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน Obama ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า เขาได้รื้อฟื้นการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์กับพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งในยุโรปและในเอเชีย ก็กระชับแน่นแฟ้น นโยบายการค้า สำหรับในด้านนโยบายการค้านั้น Obama ได้ตั้งเป้าว่า จะเพิ่มการส่งออกของสหรัฐฯให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายใน 5 ปี และได้มีการทำ FTA กับปานามา โคลัมเบีย และเกาหลีใต้ ซึ่งจะทำให้การส่งออกของสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น Obama ประกาศกร้าวว่า จะเดินหน้าเปิดตลาดให้กับสินค้าอเมริกันทั่วโลก และจะไม่ยอมอยู่เฉยๆ หากคู่แข่งของสหรัฐฯไม่เล่นตามเกม ซึ่งสหรัฐฯก็ได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับประเทศเหล่านี้ไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะกับจีน และในอนาคต สหรัฐฯจะมีมาตรการตอบโต้ทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรการอุดหนุนการส่งออก Obama ได้ตั้งกลไกใหม่ คือ Trade Enforcement Unit เพื่อสอบสวนประเทศที่มีนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ การก่อการร้าย สำหรับมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายนั้น Obama กล่าวว่า การยุติสงครามในอิรัก ทำให้สหรัฐฯมีทรัพยากรมากขึ้นในการจัดการกับขบวนการก่อการร้าย โดยเฉพาะองค์กร al-Qaeda ซึ่งก็กำลังระส่ำระสาย เช่นเดียวกับสงครามในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯก็กำลังเริ่มถอนทหารออกจากประเทศนี้แล้ว Arab Spring Obama กล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในโลกอาหรับ ปีที่แล้ว Gaddafi ยังเป็นผู้นำเผด็จการที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในโลก แต่วันนี้ Gaddafi ก็ไม่อยู่แล้ว ในซีเรีย รัฐบาล Assad ก็คงจะพบว่า คงไม่สามารถต่อต้านพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกอาหรับยังคงมีความไม่แน่นอน แต่สหรัฐฯก็จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะจุดยืนของสหรัฐ คือ สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ต่อต้านความรุนแรง และสนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลกอาหรับ อิหร่าน สำหรับอิหร่าน ซึ่งเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ Obama ได้ประกาศว่า จากความสำเร็จทางการทูตของสหรัฐฯ ทำให้ประชาคมโลกมีจุดยืนร่วมกันในวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน รัฐบาลอิหร่านกำลังถูกโดดเดี่ยว และมาตรการคว่ำบาตรก็จะเดินหน้าต่อไป สหรัฐฯมุ่งมั่นที่จะป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ และ Obama ก็จะพิจารณาทางเลือกทั้งหมดที่มีอยู่ (รวมถึงทางเลือกการใช้กำลังทางทหาร) อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาอย่างสันติวิธียังมีความเป็นไปได้ และน่าจะดีกว่าทางเลือกอื่น บทวิเคราะห์ ผมมองว่า สุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่างประเทศของ Obama ล่าสุด เน้นความสำเร็จในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และเห็นได้ชัดว่า tone ของนโยบายต่างประเทศของ Obama ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากนโยบายสายพิราบ ในตอนที่ Obama เป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ มาเป็นนโยบายสายเหยี่ยวในปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Obama มีนโยบายแข็งกร้าวมากขึ้น เพราะปีนี้เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ Obama ก็รู้ดีว่า จุดอ่อนของตน ที่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันจะโจมตี คือ การที่ Obama มีนโยบายที่อ่อนแอ ยอมอ่อนข้อให้กับศัตรู Obama จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีความแข็งกร้าวมากขั้น เพื่อลดจุดอ่อนของตน อย่างไรก็ตาม Obama พยายามบอกเราว่า นโยบายต่างประเทศของตนประสบความสำเร็จในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ผมกลับมองว่า Obama ประสบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ในด้านการต่างประเทศ โดยปัญหาการก่อการร้ายสากล ยังคงลุกลามบานปลายไปทั่วโลก และไม่มีทีท่าว่าสงครามนี้จะสิ้นสุดได้เมื่อไร แม้ว่า Bin Laden จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ สงครามในอัฟกานิสถานก็ยังคงลุกลามบานปลาย นักรบ Taliban ได้รุกคืบมากขึ้นเรื่อยๆ อนาคตของอัฟกานิสถานยังคงมืดมน และยังไม่มีเค้าว่า สหรัฐฯจะชนะสงครามนี้ได้เมื่อใด นอกจากนี้ สถานการณ์ในปากีสถาน ก็น่าเป็นห่วงและเลวร้ายลงเรื่อยๆเช่นเดียวกัน สำหรับนโยบายในตะวันออกกลางนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านก็เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ล้มเหลวในการที่จะหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และสำหรับความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์นั้น Obama ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของกระบวนการเสรีภาพครั้งใหม่เพื่อแก้ไขความขัดแย้งได้ เช่นเดียวกับ Arab Spring ผมก็มองว่า สหรัฐฯล้มเหลวในการสนับสนุนประชาธิปไตยในโลกอาหรับ สำหรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจนั้น โดยเฉพาะกับรัสเซียและจีน ก็ไม่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม กลับเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีแนวโน้มขัดแย้งกันหนักขึ้นเรื่อยๆ สำหรับนโยบายต่อเอเชีย การแก้ปัญหาเกาหลีเหนือก็ไม่คืบหน้า และเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อ และการเพิ่มบทบาททางทหารของสหรัฐในภูมิภาคนั้น ก็เป็นดาบ 2 คม คือ อาจมีผลดีในการถ่วงดุลอำนาจจีน แต่ผลเสีย ก็คือ อาจทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคเกิดความตึงเครียดมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับจีนอย่างรุนแรงในอนาคตได้ สำหรับนโยบายต่อปัญหาอื่นๆของโลก อย่างเช่น เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤต Eurozone รัฐบาล Obama ก็ไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นในการกอบกู้วิกฤตแต่อย่างใด เช่นเดียวกับปัญหาภาวะโลกร้อน Obama ก็ล้มเหลว โดยเฉพาะบทบาทของสหรัฐฯในการประชุมที่โคเปนเฮเกนในปี 2009 ก็เป็นที่น่าผิดหวัง กล่าวโดยสรุป แม้ว่า Obama จะประกาศกร้าวถึงความสำเร็จของนโยบายต่างประเทศของตน แต่ผมกลับมองว่า นโยบายต่างประเทศของ Obama นั้น ล้มเหลวและเป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: