Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โจทย์วิจัยประชาคมอาเซียน


โจทย์วิจัยประชาคมอาเซียน


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน
   2555


คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องทิศทางการวิจัยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน โดยตอนแรก จะพูดถึงประสบการณ์การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนของผม และจะกล่าวถึงข้อเสนอโจทย์วิจัยและหัวข้อวิจัยในอนาคต
ประสบการณ์การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาเซียน
ประสบการณ์ในเรื่องอาเซียนของผม ยาวนานประมาณ 30 ปี โดยจุดเริ่มต้น เริ่มตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐ ตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ก็สนใจเรื่ององค์การระหว่างประเทศ ช่วงทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก อยู่ในช่วงเวลาประมาณปี ค.ศ.1981-1984 ผมสนใจศึกษาองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนและสหประชาชาติ
ต่อมาในปี 1985 ผมเรียนจบกลับมาเมืองไทยและสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศได้ และได้ทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 1985-1998 ตอนที่ผมเข้าไปตอนแรกอยู่กรมเศรษฐกิจ และโอนไปอยู่กรมอาเซียน ในปี 1986 ถึงปี 1989 ผมจึงได้จับเรื่องอาเซียนมาโดยตลอด ตอนที่ผมอยู่กรมอาเซียน การศึกษาของผมไม่ได้เป็นแบบนักวิชาการ แต่เป็นแบบนักปฏิบัติ คือ ศึกษาในแง่การตอบโจทย์ว่า ไทยควรมีนโยบายอย่างไรต่ออาเซียน ตอนนั้นไม่ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนมาเป็นเวลา 10 ปี กล่าวคือ มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 2 ในปี 1977 และจะประชุมครั้งที่ 3 ในปี 1987
ก่อนจะมีการประชุมครั้งที่ 3ไทยก็ active มาก รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศตื่นเต้นที่จะเข้าร่วมประชุมสุดยอดที่กรุงมะนิลา ในปี 1987 โจทย์สำคัญในตอนนั้น คือ ไทยจะเอาอย่างไร ไทยพร้อมหรือยัง ที่จะเข้าร่วมกับอาเซียน อาเซียนพร้อมหรือยังที่จะเป็น  FTA อาเซียนพร้อมหรือยัง ที่จะเป็นตลาดร่วม นั่นคือ คำถามเมื่อปี 1986 ผมก็ต้องพยายามตอบโจทย์เหล่านี้ ผมได้ศึกษาว่า ไทยจะได้จะเสียอย่างไร ถ้าเราเข้าร่วม FTA หรือถ้าเป็นตลาดร่วม ตอนนั้นมีการระดมสมองกันใหญ่
                สำหรับผลการศึกษาในตอนนั้นสรุปได้ว่า ไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมและจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนแต่อินโดนีเซียไม่พร้อม เราก็เลยไปได้ไม่ถึงฝั่ง คือ ในปี  1987 อาเซียนตกลงกันไม่ได้ที่จัดตั้ง FTA เรามาตกลงกันได้ในปี 1992 ภายหลังจากที่ท่านอานันท์ ปันยารชุน เสนอการจัดตั้ง AFTA ในปี 1991
                ผมจำได้ว่า มีงานอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญมากที่ได้ศึกษาตอนที่อยู่กรมอาเซียน คือ เรื่องข้อเสนอของออสเตรเลียที่จะจัดตั้ง APEC ในปี 1989 รัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ ให้ศึกษาว่าไทยจะได้จะเสียอย่างไร ผลการศึกษาของผม คือ ไทยน่าจะเอาอาเซียนเป็นหลักและไม่ควรสนับสนุนการจัดตั้ง APEC เพราะ APEC จะถูกมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐ ครอบงำ (ซึ่งในที่สุดก็เป็นจริง) ในมุมมองของกรมอาเซียน ถ้า APEC ถูกจัดตั้งขึ้นมา จะทำให้ความร่วมมืออาเซียนเจือจางลง
                หลังจากนั้น ผมก็ไปประจำการอยู่ญี่ปุ่น 4 ปี ก็ห่างเหินจากการศึกษาอาเซียนไปพักหนึ่ง แต่พอกลับมาเมืองไทย ในปี 1993 ก็ไปอยู่กรมเอเชียตะวันออก ซึ่งในตอนนั้น กรมเอเชียตะวันออกยังดูแล เรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนอยู่ ผมจึงได้กลับมาทำเรื่องอาเซียนต่อ โดยทำในส่วนของความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงทางอาเซียน รวมทั้งอยู่ในคณะทำงานจัดประชุม ASEAN Regional Forum ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในปี 1994 ผมได้ช่วยศึกษาว่า ท่าทีของไทยต่อ ARF ควรจะเป็นอย่างไร ไทยจะได้อะไรเสียอะไร และจะผลักดันอะไรใน ARF
หลังจากนั้น ปลายปี 1998 ผมก็ออกจากกระทรวงการต่างประเทศย้ายมาเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีเวลาทำวิจัยได้เต็มที่ ผมได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอาเซียนอย่างเต็มที่ และได้มีผลงานวิจัยและงานเขียนเกี่ยวกับอาเซียนออกมาหลายชิ้น โดยในปี 2002 ผมได้วิจัยให้กับสภาวิจัยแห่งชาติ เรื่อง อาเซียนในศตวรรษที่ 21 หลังจากนั้น ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนอีกหลายเรื่อง เช่น การรวมกลุ่มเอเชียตะวันออก ซึ่งวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน +3 และได้พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ชื่อ ประชาคมเอเชียตะวันออก
                ปัจจุบันหนังสือที่ผมพิมพ์เกี่ยวกับอาเซียนทั้งหมด น่าจะมีกว่า 10 เล่ม โดยได้ทำวิจัยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และ ได้พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรื่อง ประชาคมอาเซียนในปีที่แล้ว ซึ่งก็กำลังขายดีตอนนี้พิมพ์เป็นครั้งที่ 5 แล้ว นอกจากนี้ในช่วงปี 2009 ไทยเป็นประธานอาเซียน สกว.ได้สนับสนุนให้ผมทำโครงการอาเซียนศึกษา โดยได้มีการจัดสัมมนา ระดมสมอง อภิปราย และพิมพ์เอกสารผลการประชุมออกมาเป็นหนังสือได้ 4-5 เล่ม
 ล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้จัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาขึ้น โดยผมเป็นผู้อำนวยการก่อตั้งคนแรก ศูนย์ได้ตั้งมาตั้งแต่ประมาณปลายปีที่แล้ว แต่มาเจอปัญหาน้ำท่วม จึงหยุดชะงักไปหลายเดือน แต่ก็ได้กลับมาตั้งหลักได้ใหม่ประมาณต้นปีนี้
                สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนที่ผมทำอยู่ในขณะนี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะเดาออกว่า น่าจะเน้นเรื่องอะไร เรื่องที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ การเตรียมความพร้อมของไทยสู่ประชาคมอาเซียน ที่ผ่านมา ผมได้เป็นที่ปรึกษาของ ก.พ. ในโครงการเตรียมความพร้อมข้าราชการสู่ประชาคมอาเซียน โดยได้มีการจัดทำแผนเตรียมบุคลากรภาครัฐระยะ 4 ปี และจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ผมได้เป็นที่ปรึกษาให้กับ กพร.ในการทำ road map แผนเตรียมความพร้อมของภาครัฐ รวมทั้งการจัดทำตัวชี้วัดหรือ KPI ให้กับ กพร. ในการติดตามความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย
                โจทย์วิจัยประชาคมอาเซียน
                จากประสบการณ์การศึกษาและวิจัยในเรื่องอาเซียนของผมมาหลายปีที่กล่าวข้างต้น จึงน่าจะเป็นพื้นฐานในการช่วยให้เรามองว่า การวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนในอนาคต ควรจะมุ่งไปในทิศทางใด คำถามสำคัญคือ โจทย์วิจัยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนคืออะไร เราควรจะทำวิจัยเรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับอาเซียน
                ผมมองว่างานวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนในอนาคต ควรแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
งานวิจัยในเชิงวิชาการ
รูปแบบที่ 1 คือ งานวิจัยในลักษณะที่เน้นเกี่ยวกับ ทฤษฎี เชิงวิชาการ มีลักษณะเป็นในเชิงพรรณนาและเชิงอธิบาย ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า description และ explanation
โจทย์วิจัยโจทย์แรกคือ คำถามที่ว่า ตกลงอาเซียนคืออะไรกันแน่ อาเซียน คือ ประชาคม หรือเป็นระบอบระหว่างประเทศ หรือเป็นเพียงแค่ระบบที่ 10 ประเทศมารวมกัน (system of states) หรือจะเป็นภูมิภาคภิบาล (regional governance)
ในเรื่องเกี่ยวกับประชาคมนั้น มีทฤษฎีที่เกี่ยวกับประชาคมระหว่างประเทศ หรือ ประชาคมความมั่นคงอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น Karl Deutsch ศึกษาเรื่องประชาคมความมั่นคง (security community) ทฤษฎีของ Deutsch ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ และประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 จะตรงกับประชาคมที่นักวิชาการมองหรือไม่
เรามีทฤษฎีที่เรียกว่า global governance หรือโลกาภิบาล ซึ่งจะมาวิเคราะห์อาเซียนได้อย่างไร อาเซียนจะมีลักษณะเป็นภูมิภาคภิบาล หรือ regional governance ได้หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎี constructivism ที่มองว่า การสร้างประชาคมอาเซียนจะต้องเน้นการสร้างอัตลักษณ์และบรรทัดฐาน (identity and norms)
สำหรับทฤษฎีหลักของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ ทฤษฎี realism ซึ่งเน้นในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ ก็น่าจะมาวิเคราะห์อาเซียนได้ โดยเฉพาะอุปสรรคของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน อาเซียนขณะนี้ยังมีความแตกแยกกันอยู่ ประเทศสมาชิกยังคิดในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก ดังนั้นอาเซียนจะเป็นได้แค่ system of states หรือไม่ คือมาร่วมมือกัน แต่ไม่ได้เป็นประชาคมอย่างแท้จริง เรื่องการเมือง เรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเป็นปัจจัยสำคัญทำให้อาเซียนแตกแยก จากกรณีความขัดแย้งล่าสุดในเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งเกิดจากการที่กัมพูชาไปเข้าข้างจีน ในขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามก็มีสหรัฐถือหางอยู่ และจึงเห็นได้ชัดว่า มหาอำนาจพยายามที่จะทำให้อาเซียนแตกแยก ซึ่งทฤษฎี realism จะอธิบายได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับอาเซียน ที่เรายังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด เช่น ความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการปัญหาข้ามชาติ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
บทบาทของประเทศสมาชิกต่อการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ก็ยังไม่มีคนศึกษามากนัก
นอกจากนั้น อาเซียนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่เราอยู่ในบริบทของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีมหาอำนาจเป็นตัวแสดงหลัก เพราะฉะนั้น น่าจะมีการศึกษาอย่างละเอียดถึงบทบาทของมหาอำนาจต่ออาเซียน ควรมีการศึกษาว่า สหรัฐกำลังทำอะไรอยู่  จีนกำลังทำอะไรอยู่ และอีกเรื่องที่ควรศึกษา คือ บทบาทของอาเซียนในการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค หรือ core of regional architecture 
งานวิจัยในเชิงนโยบาย
อีกรูปแบบหนึ่งของการวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนในอนาคต คือ การศึกษาวิจัยแบบ policy research คือ เป็นการตอบโจทย์และนำเสนอข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย
แน่นอนว่า ขณะนี้สิ่งที่คนไทยอยากรู้มากที่สุด คือ ไทยควรมียุทธศาสตร์อย่างไรต่ออาเซียน ไทยควรมียุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนอย่างไร ประชาคมอาเซียนจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร และไทยจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร
โจทย์วิจัยอีกโจทย์ที่สำคัญ คือ การศึกษาเสนอภาพและแนวนโยบายของอาเซียนในอนาคต ประเด็น คือ ประชาคมอาเซียนในปี 2015 จะยังไม่ใช่ประชาคมที่สมบูรณ์แบบ ถ้าเราจะสร้างประชาคมที่สมบูรณ์แบบ เราจะสร้างอย่างไร
ประชาคมอาเซียนจะยังไม่ใช่ประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ถ้าเราต้องการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราจะต้องทำอย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีโจทย์วิจัยอื่นๆอีกหลายเรื่อง ที่ควรจะมีการศึกษากันในอนาคต คือ
-                   เราจะปรับปรุงกฎบัตรอาเซียนอย่างไร
-                   เราจะทำอย่างไรให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
-                   หลัง 2015 อาเซียนจะเป็นอย่างไร ADB ได้ศึกษาไว้บ้างแล้ว ว่า ในปี 2030 GDP ของอาเซียนรวมกันจะมีมูลค่าประมาณ 7-8 ล้านล้านเหรียญ อาเซียนจะใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะส่งผลกระทบอย่างไร อาเซียนจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ เป็นขั้วเศรษฐกิจใหม่ของโลกได้หรือไม่
-                   ความสัมพันธ์อาเซียน +1 คือ ความสัมพันธ์อาเซียนกับมหาอำนาจ ควรจะเป็นไปในทิศทางใด
-                   อาเซียน +3 จะพัฒนาไปเป็นอะไร อาเซียน +3 จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออกได้หรือไม่
-                   East Asia Summit หรือ EAS จุดยืนของไทยคืออะไร ไทยควรสนับสนุนให้ EAS พัฒนาไปในทิศทางใด
-                   สุดท้าย ไทยยังสับสนว่า จะเอาอย่างไรกับ FTA ที่มีอยู่มากมายหลายกรอบ ทั้ง FTA อาเซียน +1 FTA อาเซียน +3 ซึ่งก็ยังไม่เกิด และญี่ปุ่นพยายามผลักดัน FTA ในกรอบอาเซียน +6 (CEPEA) นอกจากนี้ สหรัฐกำลังผลักดัน FTA ตัวใหม่ คือ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP อาเซียนจะเอาอย่างไรกับ FTA ต่างๆเหล่านี้
นี่คือโจทย์วิจัยใหม่ๆที่เรายังไม่ได้ศึกษาวิจัยกันอย่างละเอียดเลย 

ไม่มีความคิดเห็น: