Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2013 (ตอนจบ)



แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2013 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556 

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2013 คือปีนี้ โดยเฉพาะในประเด็นสถานการณ์ความมั่นคงโลกไปแล้ว สำหรับตอนนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ในภูมิภาคสำคัญๆ คือยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย

ภาพรวม
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ มีแนวโน้มทั้งที่เป็นบวก และแนวโน้มที่เป็นลบ โดยรวม ยังไม่มีความแน่นอนว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะดีขึ้นหรือเลวลง
สำหรับปัจจัยที่เป็นลบนั้น เรื่องแรกคือสถานการณ์วิกฤต Eurozone ซึ่งน่าจะยังคงเป็นวิกฤตอยู่ ส่วนเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็กำลังจะเผชิญกับมรสุมวิกฤตหนี้ นอกจากนี้ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ คือประเทศกลุ่ม BRIC ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ที่ในช่วงที่ผ่านมา ถูกมองว่ากำลังผงาดขึ้นมาเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจ แต่ปีที่แล้วและปีนี้ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กำลังทรุดตัวลง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้ดีขึ้น คือ การที่วิกฤต Eurozone มีแนวโน้มจะดีขึ้น ธนาคารกลางยุโรปออกมาส่งสัญญาณว่า จะเข้ามากอบกู้วิกฤต Eurozone อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความมั่นใจในตลาดการเงิน มากขึ้น ในขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเกิดขึ้นในปีที่แล้ว แต่ในปีนี้ น่าจะฟื้นตัว รัฐบาลจีนได้ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากหลีกเลี่ยงหน้าผาการเงิน (fiscal cliff) ไปได้อย่างหวุดหวิด ทำให้ สหรัฐฯหลีกเลี่ยงวิกฤตการเงินและการถดถอยทางเศรษฐกิจไปได้ระยะหนึ่ง

วิกฤต Eurozone
สำหรับเรื่องที่ต้องจับตามองมากที่สุด ยังคงเป็นเรื่องวิกฤต Eurozone วิกฤตหนี้ยุโรป เข้าขั้นวิกฤต โดยในตอนแรกรัฐบาลที่ประสบภาวะหนี้สิน ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และ โปรตุเกส แต่ต่อมา วิกฤตได้ลุกลามเข้าสู่อิตาลี และสเปน วิกฤต Eurozone ได้ส่งกระทบผลต่อเศรษฐกิจโลก สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า กำลังจะเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่
ปีที่แล้ว สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ได้มีแผนปฏิรูปเศรษฐกิจเกิดขึ้นในหลายประเทศสมาชิก Eurozone อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มในทางบวก แต่สัญญาณในเชิงลบก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลข GDP ซึ่งกรีซ ติดลบถึง 7 %  GDP ของอิตาลี เสปน และโปรตุเกส ก็มีแนวโน้มจะลดลงมาก
ดังนั้นแม้ว่าปีที่แล้ว สถานการณ์วิกฤต Eurozone จะดูดีขึ้น แต่ก็ยังไม่พ้นวิกฤต และยังคงน่าเป็นห่วง โดยมีหลายปัจจัย ที่จะทำให้วิกฤตลุกลามบานปลาย จนอาจเกิดเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ได้ในปีนี้ โดยยังมีความไม่แน่นอนว่ากรีซจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลายได้หรือไม่ และหากกรีซล้มละลาย วิกฤตจะลามเข้าสู่อิตาลี และเสปนหรือไม่ มีแนวโน้มว่า ประเทศสมาชิก Eurozone อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหนักขึ้น และอาจเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเงิน และทางการเมืองด้วย หากกรีซล้มละลาย กรีซอาจถูกขับออกจาก Eurozone ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจของยุโรปและระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม
ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ เสปน ซึ่งสถานการณ์ไม่ค่อยดี ธนาคารหลายแห่งกำลังมีปัญหา หนี้ภาครัฐสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเสปนเป็นอะไรไป หรือกลายเป็นมีสภาพเหมือนกรีซ ก็อาจจะเป็นงานหนักมาก ที่จะกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจของสเปน เพราะเสปนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ไม่เหมือนกรีซ ที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่ามาก

สหรัฐฯ
สำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปี นี้ก็น่าห่วง โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีปัญหาทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก สำหรับปัจจัยภายในคือ ปัญหาภาวะหนี้สินของภาครัฐ ซึ่งมีสูงถึง 16 ล้านล้านเหรียญ แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถหลีกเลี่ยง ภาวะหน้าผาการเงิน หรือ fiscal cliffไปได้อย่างหวุดหวิด แต่ก็น่าจะเป็นเพียงการหยุดยั้งปัญหาไว้เพียงชั่วคราว เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงอยู่ในภาวะอันตราย และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

เอเชีย
ตัวแปรสำคัญในเอเชียที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก คือ เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจจีนซึ่งในอดีตเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนประสบกับภาวะถดถอยชะลอตัว ทั้งในแง่ผลผลิตทางอุตสาหกรรม การลงทุน การค้าปลีก และการส่งออก อุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกก็อ่อนตัวลงมาก
ตัวแปรสำคัญอีกประเทศคือ เศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีความเสี่ยงอยู่มาก ปีที่แล้วญี่ปุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า อันเนื่องมาจากการปิดโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ ที่เป็นผลมาจากภัยพิบัติ Tsunami ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ดังนั้นในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกในปีนี้ ยังคงมีความเสี่ยงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในปีที่แล้ว ยังคงจะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจเอเชียประสบปัญหา ความไม่แน่นอน คือ keyword ของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
ตามที่ได้วิเคราะห์ข้างต้น เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีปัญหามาจากวิกฤตหนี้ 16 ล้านล้านเหรียญ ดังนั้น วิกฤตหนี้ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2013 แม้ว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่า และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในปีนี้ก็ตาม แต่เศรษฐกิจของเอเชียก็ผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปในยุคโลกาภิวัตน์

TPP และ RCEP
อีกเรื่องที่จะต้องจับตามองสำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ คือ ความเคลื่อนไหวในการจัดทำ FTA ในภูมิภาค โดยเฉพาะการผลักดัน TPP หรือ Trans- Pacific Partnership โดยสหรัฐฯ ในขณะที่อาเซียนก็พยายามผลักดัน FTA ตัวใหม่ของอาเซียนที่มีชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP
สำหรับ TPP รัฐบาล Obama กำลังมีนโยบายผลักดัน TPP อย่างเต็มที่ โดยจะให้เป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูงและมีความก้าวหน้ามากที่สุด และมีแผนที่จะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสหรัฐฯมีวาระซ่อนเร้นที่จะผลักดัน TPP เพื่อเป็นตัวกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ และ TPP จะเป็นตัวกันการจัดตั้ง  FTA ในกรอบ ASEAN +3 โดยการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ จะท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก สหรัฐฯจึงต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคโดยไม่มีสหรัฐฯ ด้วยการเสนอ TPP ขึ้นมา นอกจากนี้ TPP ยังเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนอีกด้วย
รัฐบาล Obama ตั้งเป้าว่า จะต้องเจรจา TPP ให้เสร็จภายในปีนี้ โดยในปีนี้จะมีการเจรจากันอย่างเข้มข้น ระหว่างสหรัฐฯกับอีก 10 ประเทศสมาชิก ในระหว่างการเยือนเอเชียของ Obama ในช่วงปลายปีที่แล้ว ก็ได้ประกาศ deadline คือเดือนตุลาคมปีนี้ ที่จะต้องเจรจาให้เสร็จ อย่างไรก็ตาม การเจรจา TPP คงจะมีความยุ่งยากสลับซับซ้อน เพราะมีหลายเรื่องหลายประเด็น ที่ผ่านมา สหรัฐฯก็เคยตั้ง deadline ให้เจรจาเสร็จในปี 2011 แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงมีความเป็นไปได้ว่า การเจรจา TPP อาจจะไม่ยุติภายในปีนี้ ซึ่งก็ทำให้สหรัฐฯวิตกกังวลมากว่า หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลง TPP ได้ ประเทศสมาชิกโดยเฉพาะในเอเชียจะเสื่อมศรัทธา เหมือนกับการเจรจา WTO รอบ โดฮา แล้วก็อาจจะหันไปให้ความสำคัญกับ FTA ของอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะ RCEP ดังนั้น รัฐบาล Obama จึงมีเดิมพันสูง ที่จะต้องผลักดัน TPP ให้สำเร็จ เพราะยุทธศาสตร์ใหญ่ของรัฐบาล Obama คือการกลับมาผงาดในเอเชีย และ TPP ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ ดังนั้นหากการเจรจา TPP ล้มเหลว ก็อาจถือเป็นการพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ และเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล Obama ที่จะทำให้สหรัฐฯกลับมาเป็นผู้นำในภูมิภาค
ตามที่ได้กล่าวข้างต้น เดิมพันสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะต้องเจรจา TPP ให้สำเร็จ ก็คือ TPP มีคู่แข่งคือ RCEP เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผู้นำอาเซียนได้ร่วมประชุมกับผู้นำของอีก 6 ประเทศที่มี FTA กับอาเซียน ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ทั้ง 16 ประเทศได้ประกาศเริ่มเจรจา RCEP โดยมีเป้าหมายที่จะให้การเจรจาบรรลุข้อตกลงภายในปี 2015 เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศที่ผลักดัน RCEP คือ จีน ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็ผลักดัน FTA ในกรอบ +3 มาโดยตลอด แต่ถูกญี่ปุ่นต่อต้าน จีนจึงหันมาสนับสนุน FTA ในกรอบ ASEAN+6 แทน ซึ่งก็มีชื่อใหม่ในปัจจุบันคือ RCEP นั่นเอง ดังนั้นหาก TPP ประสบความล้มเหลว ประเทศในภูมิภาคก็จะหันไปให้ความสำคัญกับ RCEP การแข่งขันกันระหว่าง TPP กับ RCEP ก็คือการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมทั้งการแข่งขันระหว่าง TPP กับ RCEP จะส่งผลกระทบต่ออาเซียนด้วย เพราะมีแนวโน้มว่า สหรัฐฯและจีน จะทำให้อาเซียนแตกแยก และ RCEP และ TPP ก็จะทำให้อาเซียนแตกแยก เช่นเดียวกัน โดยขณะนี้ เห็นชัดเจนแล้วว่า อาเซียนแตกออกเป็นสองฝ่าย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน เข้าร่วม TPP ไปแล้ว ในขณะที่ไทยก็ยังกลัวๆกล้าๆอยู่ และอีก 4 ประเทศก็ยังไม่เข้าร่วม ซึ่งได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย ซึ่งให้ความสำคัญกับ RCEP มากกว่า ความแตกแยกเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ดังนั้น หากอาเซียนไม่กำหนดยุทธศาสตร์ให้ดี ในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและจีน และหากอาเซียนไม่มียุทธศาสตร์ที่ดีต่อ TPP และ RCEP บทบาทของอาเซียนก็จะลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: