Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการก่อการร้าย ปี 2013

ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการก่อการร้าย ปี 2013

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่30 พฤษภาคม 2556

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “The Future of our  Fight against Terrorism” ซึ่งนับเป็นการประกาศยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายล่าสุดของสหรัฐฯ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดังนี้

                10 ปี ของสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย
                สุนทรพจน์ของ Obama เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่ เหตุการณ์ 11 กันยายน ปี 2001 นับตั้งแต่วันนั้น สหรัฐฯ ก็เข้าสู่สงคราม  Obama พยายามชี้ว่า สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จ โดยได้กำจัด al Qaeda ออกจากอัฟกานิสถาน ต่อมา ก็ทำสงครามในอิรัก และเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประเทศด้วยมาตรการต่างๆ  
                ในสมัยของรัฐบาล Obama ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้ทำสงครามกับ al Qaeda อย่างหนัก โดยเฉพาะการล่าสังหารผู้นำ Obama ยุติสงครามในอิรัก และมุ่งเป้าไปที่อัฟกานิสถาน ต่อมา Osama bin Laden ถูกสังหาร รวมทั้งผู้นำระดับสูงของ al Qaeda
                ยังไม่มีการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ต่อสหรัฐฯ นับตั้งแต่ เหตุการณ์ 11 กันยา ฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงถูกคุกคามจากการก่อการร้าย และภัยคุกคามได้วิวัฒนาการเปลี่ยนไปในช่วง 10 ปี และสหรัฐฯ ได้เสียเงินไปกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ ในสงครามดังกล่าว รวมทั้ง ทหารอเมริกันก็เสียชีวิตไปกว่า 7,000 คน

                สถานการณ์การก่อการร้ายในปัจจุบัน
            Obama ประกาศว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ ทั้งนี้เพราะ สถานการณ์และภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสถานการณ์ปัจจุบัน คือ
                al Qaeda ในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน กำลังจะประสบความพ่ายแพ้ al Qaeda ไม่สามารถโจมตีอเมริกาได้ นับตั้งแต่ เหตุการณ์ 11 กันยา ฯ แต่วิวัฒนาการของขบวนการก่อการร้าย คือ การเกิดขึ้นของสาขาย่อยของ al Qaeda ทั้งใน เยเมน อิรัก โซมาเลีย และแอฟริกาเหนือ โดยเฉพาะสาขาย่อยของ al Qaeda ในคาบสมุทรอาหรับ คือ al Qaeda in the Arabian Peninsula หรือ  AQAP ซึ่งเป็นองค์กรย่อยของ al Qaeda ที่อันตรายที่สุด
                สำหรับความวุ่นวายในโลกอาหรับ ที่เราเรียกว่า Arab Spring ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายเพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในลิเบียและซีเรีย แต่กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ มีขอบข่ายการปฏิบัติการในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคเท่านั้น ภัยคุกคามจึงมีในลักษณะเป็นภัยคุกคามท้องถิ่น อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมือง Benghazi ในลิเบีย การโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน BP ในอัลจีเรีย
                อย่างไรก็ตาม ขบวนการก่อการร้ายเหล่านี้ มีอุดมการณ์ร่วมกัน คือ        อุดมการณ์มุสลิมหัวรุนแรง ที่เชื่อว่า อิสลามกำลังมีความขัดแย้งกับโลกตะวันตก ดังนั้น การแก้ปัญหาการก่อการร้าย จึงไม่สามารถใช้เครื่องมือทางทหารและการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวได้ แต่คงต้องเอาชนะในสงครามอุดมการณ์ด้วย

                ยุทธศาสตร์
                Obama จึงได้ประกาศว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ก่อการร้าย จะต้องมียุทธศาสตร์หลักๆ ดังนี้
                ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์การเอาชนะ al Qaeda ซึ่งจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์นี้ ขณะนี้อยู่ที่อัฟกานิสถาน โดยจะมีการเปลี่ยนผ่านความรับผิดชอบด้านความมั่นคงให้กับกองทัพอัฟกานิสถาน และสหรัฐฯจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 แต่ก็ต้องมีหลักประกันว่า al Qaeda จะไม่กลับไปใช้ อัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่นอีก
                สำหรับในที่อื่นๆ ก็ต้องมีมาตรการจัดการกับเครือข่ายในประเทศต่างๆ ร่วมกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ  อาทิ ร่วมมือกับรัฐบาลปากีสถาน ร่วมมือกับกองกำลังของเยเมนในการต่อสู้กับ AQAP ในโซมาเลีย ร่วมมือกับกองกำลังของประเทศในอัฟริกา เพื่อขับไล่กลุ่ม Al Shabaab และในมาลี สหรัฐฯ ก็ร่วมกับกองกำลัง ของฝรั่งเศสในการต่อสู้กับ al Qaeda in the Islamic Maghreb
                ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย จะมีมาตรการหลายด้าน ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง การจับกุมและการบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็มีความยากลำบากมาก ในการที่จะจับกุมผู้ก่อการร้าย เพราะฐานที่มั่นของ al Qaeda มักจะอยู่ในสถานที่ที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึง สหรัฐฯ จึงต้องใช้กองกำลังพิเศษ หรือ Special Forces และใช้เครื่องบินที่ไม่มีนักบินที่เราเรียกว่า drones โจมตีสังหารสมาชิก al Qaeda
                อย่างไรก็ตาม การใช้กำลังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ทั้งนี้เพราะ เราไม่สามารถใช้กำลังในการทำสงครามอุดมการณ์ได้
                ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของ Obama คือ ยุทธศาสตร์ในการทำสงครามอุดมการณ์ ด้วยความพยายามในการจัดการกับรากเหง้าของปัญหา ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งและความไม่พอใจที่นำไปสู่แนวคิดหัวรุนแรง อย่างไรก็ตาม สงครามอุดมการณ์เป็นเรื่องสลับซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาที่ฝังรากลึก อย่างเช่น เรื่องความยากจน และความขัดแย้งทางศาสนา
                นอกจากนี้ จะต้องมีความพยายามสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในโลกอาหรับ อาทิ ในอียิปต์ ตูนีเซีย และลิเบีย สนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล Assad ในซีเรีย โดยต้องป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายสามารถเพิ่มบทบาทขึ้น ด้วยการฉวยโอกาสจากสูญญากาศแห่งอำนาจในซีเรีย จะต้องมีความพยายามสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และช่วยเหลือประเทศในโลกอาหรับและโลกมุสลิม ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการศึกษาและส่งเสริมผู้ประกอบการ

                บทวิเคราะห์
                ผมขอวิเคราะห์สุนทรพจน์ของ Obama ที่พูดถึงยุทธศาสตร์การก่อการร้ายล่าสุดของสหรัฐฯ ข้างต้น ดังนี้
·       Obama พยายามจะฉายภาพให้เราเห็นว่า สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการต่อต้านการก่อ การร้ายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่า สงครามการต่อต้านการก่อร้ายของสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาล้มเหลว  โดยแม้ว่าจะไม่มีการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในดินแดนสหรัฐฯ แต่การก่อการร้าย และกลุ่มก่อการร้ายก็มีเพิ่มขึ้นทั่วโลก เข้าทำนองยิ่งปราบยิ่งเพิ่ม
·       และที่ Obama บอกเราว่า al Qaeda ในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน กำลังประสบกับความพ่ายแพ้ ผมก็ไม่เห็นด้วย ผมมองว่า สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ยังคงเป็นวิกฤตหนักสำหรับรัฐบาล Obama นักรบตาลิบัน ยังคงขยายบทบาทและรุกคืบยึดดินแดนมากขึ้นเรื่อยๆ ในอัฟกานิถาน และผมก็ยังสงสัยว่า สหรัฐฯ จะถอนทหารออกไปได้อย่างไรในปี 2014 ผมเชื่อว่าในที่สุด สหรัฐฯ ก็จะยังคงกองกำลังทหารในอัฟกานิสถานต่อไป
·       สำหรับสถานการณ์ในที่อื่นๆ ก็ยังคงน่าหนักใจ เพราะกลุ่มก่อการร้ายยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโลกอาหรับและโลกมุสลิม และการก่อการร้ายก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขยายลุกลามออกไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแอฟริกาตอนเหนือ สถานการณ์ในมาลีค่อนข้างสาหัส โดยหากฝรั่งเศสไม่ส่งกองกำลังทหารเข้าไป al Qaeda ก็คงจะยึดอำนาจรัฐในมาลีได้แล้ว
สำหรับสงครามอุดมการณ์ เพื่อเอาชนะอุดมการณ์มุสลิมหัวรุนแรง ก็ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยขณะนี้ แนวคิดหัวรุนแรงได้ลุกลามขยายตัวไปทั่วโลก โดยเฉพาะในโลกมุสลิม กระแสต่อต้านสหรัฐฯ และตะวันตกในโลกมุสลิมไม่ได้ลดลงเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่กลับเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญคือ การที่สหรัฐฯ ล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาที่รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การก่อการร้าย มีหลายปัจจัย ทั้งที่เป็นปัจจัยภายใน ได้แก่ปัญหาความยากจนและปัญหาทางสังคม แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ปัจจัยภายนอก ที่กระทบต่อโลกมุสลิม ได้แก่ ลัทธิการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ และตะวันตก นโยบายของสหรัฐฯ ต่อตะวันออกกลางและต่อโลกมุสลิม การปะทะกันทางอารยธรรม และกระแสโลกาภิวัตน์และอารยธรรมตะวันตกที่กระทบต่อโลกมุสลิม ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขเลย ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะชนะสงครามอุดมการณ์ในเร็ววัน และปัญหาการก่อการร้ายก็จะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน 

ไม่มีความคิดเห็น: