Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ระบบความมั่นคงในเอเชียตะวันออกในอนาคต: ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่1)

ระบบความมั่นคงในเอเชียตะวันออกในอนาคต: ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 1)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 55 ฉบับที่ 52 วันศุกร์ที่ 19 - พฤหัสบดีที่ 25 กันยายน 2551

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมอยากจะเอาผลการวิจัยของผมที่เพิ่งทำเสร็จไป มาสรุปให้ได้อ่านกัน งานวิจัยมีชื่อเรื่องว่า “ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในยุคหลัง-หลังสงครามเย็น”

งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ (scenario) ของระบบความมั่นคงของเอเชียตะวันออกในอนาคต โดยได้วิเคราะห์ scenario ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ระบบการเปลี่ยนผ่านแห่งอำนาจ ระบบดุลแห่งอำนาจ การปะทะกันทางอารยธรรม และระบบภูมิภาคภิบาลโดยผมจะสรุปผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (scenario) ของระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคต และจะเสนอแนะแนวนโยบายต่างประเทศของไทย เพื่อรองรับต่อระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคต ดังนี้

ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคตอันใกล้: ระบบหนึ่งขั้วอำนาจ

ระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ มีลักษณะ 1 ขั้ว คือ มีสหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก โดยขั้วอำนาจอื่น ๆ ยังคงไม่มีศักยภาพพอ ที่จะขึ้นมาแข่งขันกับสหรัฐฯได้ รัสเซียยังคงอ่อนแอและคงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่จะฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ จีนยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่จะพัฒนาศักยภาพทางด้านการทหารและเศรษฐกิจ ที่จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯได้ สำหรับสหภาพยุโรป ถึงแม้จะมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ แต่ทางด้านการเมืองความมั่นคง ยังคงต้องใช้เวลาในการรวมตัวกัน สำหรับญี่ปุ่น ก็เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นมีข้อจำกัดหลายด้านด้วยกัน ทั้งในด้านของการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ศักยภาพในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจเริ่มลดลง และอำนาจทางด้านการทหารและความมั่นคง ยังจำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯอยู่

ในขณะนี้ ระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ มีลักษณะของความเป็นหนึ่งขั้วอำนาจ ได้แก่การที่สหรัฐฯครองความเป็นเจ้าในโลก ซึ่งเป็นระบบโลกที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อเมริกากลายเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก ระเบียบโลกในปัจจุบัน มีอเมริกาเป็น “dominant nation” และอเมริกาพยายามจะรักษาระบบโลกนี้ โดยดึงมหาอำนาจระดับรองลงมา ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น ให้มาสนับสนุนอเมริกา และมีประเทศระดับกลางและระดับเล็ก ก็พอใจและสนับสนุนระเบียบโลกที่อเมริกาสร้างขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกประเทศในโลกจะเห็นด้วยและสนับสนุนระบบโลกของอเมริกา ซึ่งถ้าประเทศที่ต่อต้านอเมริกามีมากขึ้นเรื่อยๆ ระเบียบโลกของอเมริกาจะอยู่ไม่ได้ จะสั่นคลอน ซึ่งขณะนี้ มีหลายๆประเทศที่ไม่ชอบอเมริกา อเมริกายอมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ คือมีประเทศที่ต่อต้านอเมริกามากกว่าประเทศที่สนับสนุนอเมริกา เพราะฉะนั้น อเมริกาต้องทำให้ภาพนี้เปลี่ยนไป คืออเมริกามีฐานอำนาจอยู่ข้างบน และประเทศที่สนับสนุนอเมริกามีมาก ถึงแม้จะมีประเทศที่ต่อต้านอเมริกา แต่ก็มีน้อย ถ้าเป็นอย่างนี้ ระบบโลกของอเมริกาจะยังอยู่ต่อไปได้

สำหรับระบบความมั่นคงในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก แนวโน้มสำคัญคือ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตัวแสดงสำคัญที่สุด และยังคงครองความเป็นเจ้าอยู่ต่อไป โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ จะเน้น 3 เรื่องใหญ่ด้วยกัน เรื่องแรกคือ การครองความเป็นเจ้า เรื่องที่สองคือ นโยบายปิดล้อมและสกัดกั้นอิทธิพลของจีน และเรื่องที่สามคือสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ไทยคงไม่มีทางเลือกที่จะต้องเล่นตามเกมของสหรัฐฯ ทั้ง 3 เรื่อง

ในการวิเคราะห์ถึงภัยและโอกาสต่อไทย หากมองในแนวคิดสัจจนิยม จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯทำตัวเป็น "อันธพาล" จะเข้ามาครอบงำภูมิภาค ทั้งทางด้านการทหาร ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่หากมองในแนวอุดมคตินิยม การที่สหรัฐฯเป็นเจ้าครองโลก ก็น่าจะเป็นโอกาสต่อไทย ในแง่ที่สหรัฐฯจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวคานอำนาจในภูมิภาค โดยการเข้ามาถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีนและญี่ปุ่น และจะเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับไทย
หากมองในแง่นี้ นโยบายต่างประเทศไทยในระยะสั้น ก็มีความจำเป็นที่ไทยจะต้องมีนโยบายเข้าหาสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติที่จะได้ จากการเข้าหาสหรัฐฯดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้น ในระเบียบโลกที่อเมริกาเป็นเจ้าอยู่ในขณะนี้ ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้ จากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอเมริกานั้นมีอยู่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง ด้านการทหาร ด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี ด้านองค์แห่งความรู้ ซึ่งต้องพึ่งพาอเมริกาอยู่ นั่นเป็นโอกาส แต่ภัยก็มี ถ้าใกล้ชิดกับอเมริกามากเกินไป ศัตรูของอเมริกาก็มีอยู่ จะกลายเป็นว่าไทยกลายเป็น “ลูกไล่” “หางเครื่อง” หรือ “ตามก้น” อเมริกา ซึ่งรัฐบาลบางสมัยก็โดนโจมตีมาแล้ว นอกจากนี้ ภัยของไทยที่ใกล้ชิดกับสหรัฐในยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ คือ อาจจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ทำให้ไทยเป็นเป้าของภัยก่อการร้าย และเป็นศัตรูกับโลกมุสลิม เพราะฉะนั้น จุดสมดุลอยู่ตรงไหน ไทยจะวางตัวอย่างไร มีความใกล้ชิด มีนโยบายต่ออเมริกาอย่างไร เพื่อที่จะก่อให้เกิดความสมดุล จะได้โอกาส และป้องกันไม่ให้เกิดภัยที่จะเข้ามาใกล้

กล่าวโดยสรุป ระบบหนึ่งขั้วอำนาจซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก แนวโน้มสำคัญคือ สหรัฐฯภายใต้การนำของรัฐบาล Bush แนวคิดอนุรักษ์นิยมใหม่ ลัทธิการครองความเป็นเจ้า การดำเนินนโยบายฝ่ายเดียว และการแสวงหาพันธมิตรที่จะสนับสนุนสหรัฐฯ จะดำเนินต่อไป ท่ามกลางสภาวะที่สหรัฐฯ ครองความเป็นเจ้าในโลกเช่นนี้ จะเป็นทั้งภัยและโอกาสต่อไทย ภัยในแง่ที่สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายในลักษณะก้าวร้าวกดดันไทยต่อไป ซึ่งจะทำให้ไทยไม่มีทางเลือก ที่จะต้องสนับสนุนสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกัน การใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ก็จะเป็นโอกาสสำหรับไทยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางด้านการทหาร การเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ดังนั้นไทยจะต้องพยายามถ่วงน้ำหนัก สร้างดุลยภาพของความสัมพันธ์ให้ดี โดยพยายามลดภัยและเพิ่มโอกาสให้กับไทย

ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคตระยะยาว: ระบบดุลแห่งอำนาจ และ การเปลี่ยนผ่านแห่งอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวมีแนวโน้มว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้วไปสู่หลายขั้วอำนาจ สหรัฐฯจะเสื่อมคลายลง ตามวัฏจักรของมหาอำนาจที่เป็นมาในอดีต นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่า ขั้วอำนาจอื่นๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป รัสเซีย ประเทศในเอเชีย ประเทศกลุ่มอิสลาม แอฟริกา และละตินอเมริกา มีแนวโน้มว่า จะต่อต้านสหรัฐฯ และเป็นพันธมิตรกันในการคานอำนาจสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้โลกเป็นหลายขั้วอำนาจในระยะยาว
สำหรับประเทศจะขึ้นมาท้าทายระเบียบโลกของอเมริกานั้น ขณะนี้ มีกลุ่มประเทศอิสลามกับจีนเป็นตัวแสดงที่สำคัญ

สำหรับจีน ปัจจัยสำคัญที่จะสร้างอำนาจให้กับชาติคือ ฐานประชากร ในปี 2025 ประชากรของจีนจะใหญ่มาก อินเดียจะมาก อเมริกาจะเล็กลง ยุโรปจะเล็กลง เพราะฉะนั้น ถ้าดูจากฐานประชากร จะตอบได้ง่ายๆเลยว่า ในอนาคตนั้น ใครจะใหญ่ในโลกนี้ ใครจะขึ้นมาท้าทายระเบียบโลกของอเมริกา ซึ่งก็คือ จีนกับอินเดีย

ที่ชัดเจนไปกว่านั้นคือ เรื่องของขนาดเศรษฐกิจ ในปี 1950 ขนาดเศรษฐกิจของอเมริกาใหญ่ 50 % ของเศรษฐกิจโลก แต่ในปี 2025 หากเศรษฐกิจของจีนยังเจริญเติบโต 8% ไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เท่ากับของอเมริกา และในปี 2050 เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เท่ากับของอเมริกาและยุโรปรวมกัน เพราะฉะนั้น จะเป็นแนวโน้มที่สำคัญอย่างยิ่ง ในแง่ของผลที่จะมากระทบต่อนโยบายของไทยในระยะยาว คือการผงาดขึ้นมาของจีน และในระยะยาว จะมีอินเดียด้วย

แต่ว่าสิ่งที่สำคัญ ที่จะมีผลกระทบต่อไทยมาก ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในอนาคต จีนจะขยายอิทธิพลครอบงำภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม อเมริกาคงไม่ยอมให้จีนมีบทบาทมากขึ้น นโยบายปิดล้อมจีน ซึ่งสหรัฐฯดำเนินการมาตลอด จะนำมาใช้ต่อไป ขณะนี้จีนกำลังถูกปิดล้อม ทางด้านตะวันออกคือ ญี่ปุ่นและประเทศอาเซียนบางประเทศ ทางใต้คืออินเดีย ทางตะวันตก อเมริกากำลังเพิ่มบทบาทมากขึ้นในเอเชียตะวันตก สิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นวิวัฒนาการในอนาคต ที่กำลังจะเกิดขึ้น

การที่จีนใหญ่ขึ้นมา ไทยจะได้อะไร ขณะนี้ไทยก็รู้ว่า จีนกำลังใหญ่ขึ้นมา ไทยพยายามใกล้ชิดกับจีน พยายามทำเขตการค้าเสรีกับจีน อย่างไรก็ตาม นั้นคือโอกาสของไทยสำหรับการที่จะใกล้ชิดจีนในอนาคต

เมื่อมีโอกาส ก็มีภัย สำหรับ “ภัย” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อไทยไม่ได้ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ คือการที่ไทยจะถูกจีนครอบงำ การเป็น “ลูกไล่” จีน ซึ่งคงจะไม่เป็นประโยชน์ต่อไทยในระยะยาว จุดสมดุลจะอยู่ตรงไหน การที่จะถ่วงดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีน น่าจะเป็นนโยบายของไทย คือ การสร้างดุลอำนาจให้เกิดขึ้น ไม่ให้อำนาจใดอำนาจหนึ่ง มีมากจนครอบงำภูมิภาคนี้

ดังนั้น ระบบหลายขั้วอำนาจ จะเป็นแนวโน้มสำหรับอนาคตในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีนและอินเดีย ซึ่งจะมีทั้งภัยและโอกาสต่อไทย ดังนั้น นโยบายในระยะยาวของไทย คือ การเน้นการทูตรอบทิศทาง นโยบายรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน (equi-distant policy)

ในอนาคตระยะยาว โลกจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้วไปสู่ระบบหลายขั้ว ดังนั้น แนวนโยบายต่างประเทศไทยในระยะยาว จะต้องเตรียมปูพื้นฐานไว้ สำหรับโลกหลายขั้วอำนาจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนโยบายไทยต้องค่อยๆปรับจากสภาวะแวดล้อมที่เป็นระบบ 1 ขั้วเป็นหลายขั้วอำนาจ จากการพึ่งพิงสหรัฐฯไปสู่นโยบายการทูตรอบทิศทาง (omni-directional diplomacy) โดยจะต้องพยายามฟื้นฟู สร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจอื่นๆที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในระยะยาว จะเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ เพราะฉะนั้น ไทยจะต้องเข้าหาทุกขั้วอำนาจ คือ ดำเนินนโยบายในลักษณะที่รักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน (equi - distant policy) ซึ่งจะเหมาะสำหรับดุลยภาพแห่งอำนาจ ที่แต่ละขั้วอำนาจมีอำนาจในระดับเดียวกัน คือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯมีอำนาจพอ ๆ กัน

Medvedev Doctrine

Medvedev Doctrine
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 55 ฉบับที่ 51 วันศุกร์ที่12 - พฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551

หลังสงครามรัสเซีย - จอร์เจีย ซึ่งรัสเซียคือผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ ทำให้รัสเซียมีพลังอำนาจมากขึ้น และเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า รัสเซียกำลังกลับขึ้นมาผงาดเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารอีกครั้งหนึ่ง คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์การประกาศนโยบายของรัสเซียล่าสุด ที่ผมอยากจะเรียกว่า Medvedev Doctrine หรือหลักการ Medvedev และวิเคราะห์แนวโน้มยุทธศาสตร์การตอบโต้จากสหรัฐ

Medvedev Doctrine

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ประธานาธิบดีคนใหม่ของรัสเซีย คือ Dmitri Medvedev ได้ประกาศนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็นด้วยกัน

· รัสเซียจะเคารพและยึดมั่นในหลักการขั้นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ
· รัสเซียมองว่าโลกจะต้องเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ ระบบหนึ่งขั้วอำนาจเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ รัสเซียจะไม่ยอมรับระเบียบโลกที่มีเพียงหนึ่งประเทศที่จะครอบงำโลก และจะตัดสินใจในทุกๆเรื่อง
· รัสเซียไม่ต้องการที่จะเผชิญหน้ากับประเทศใดๆ ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็จะไม่โดดเดี่ยวตัวเอง
· ลำดับความสำคัญอย่างยิ่งของนโยบายต่างประเทศรัสเซียคือ การปกป้องคุ้มครองชีวิตของชาวรัสเซีย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม
· มีภูมิภาคที่รัสเซียให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ภูมิภาคเหล่านี้ ครอบคลุมประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับรัสเซีย และเป็นมิตรเพื่อนบ้านของรัสเซีย

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักการ Medvedev ซึ่งเป็นการกล่าวอย่างกว้างๆ
แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์ต่อ ก็อาจจะมองได้ว่า ในประเด็นที่ 2 ที่รัสเซียบอกว่าจะไม่ยอมรับโลกระบบหนึ่งขั้วนั้น หมายความว่า รัสเซียจะไม่ยอมรับการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐในโลก

สำหรับในประเด็นที่ 4 ที่บอกว่ารัสเซียจะปกป้องผลประโยชน์ของชาวรัสเซียนั้น หมายความว่า รัสเซียจะปกป้องชาวรัสเซียที่กระจายอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านรัสเซีย อย่างเช่น ประเทศเล็กๆ ในทะเลบอลติก และในจอร์เจีย ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่า รัสเซียมีสิทธิที่จะแทรกแซงโดยกำลังทางทหารได้ถ้าจำเป็น เหมือนกับที่รัสเซียทำกับจอร์เจีย

สำหรับประเด็นที่ 5 นั้น ซึ่ง Medvedev บอกว่า รัสเซียมีภูมิภาคที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ตรงนี้ก็ตีความว่า หมายถึง เขตอิทธิพลเก่าของรัสเซีย บริเวณที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตมาก่อน และการที่ประเทศอื่นเข้ามาวุ่นวายในประเทศเหล่านี้ และมาบ่อนทำลายรัฐบาลที่สนับสนุนรัสเซีย ก็จะถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย

ผมวิเคราะห์ว่า รัสเซียมองตะวันตกโดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ กำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย และลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยการดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิก NATO และ EU และขยายอิทธิพลของตะวันตก เข้าไปยังเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือ ยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน เทือกเขา Caucacus และเอเชียกลาง

สาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย นั้นคือ ความพยายามของรัสเซียที่จะต่อต้านการปิดล้อมรัสเซียของตะวันตก และความพยายามของรัสเซียที่จะกลับมาเป็นอภิมหาอำนาจของโลกอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง Medvedev และ Putin ต่างก็มีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะสถาปนาเขตอิทธิพลของรัสเซียขึ้นมาใหม่

แนวโน้มการตอบโต้จากสหรัฐ

หลังการประกาศนโยบายของ Medvedev ก็ได้มีหลายฝ่ายในสหรัฐ โดยเฉพาะนักวิเคราะห์แนวอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยวมองว่า รัสเซียกำลังฉวยโอกาสจากการที่สหรัฐกำลังเสียสมดุลทางการทหาร ในการให้น้ำหนักกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมากเกินไป รัสเซียจึงรีบดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก เข้าบุกจอร์เจีย ในขณะที่สหรัฐก็ไม่สามารถทำอะไรรัสเซียได้ และยุโรปก็ไม่มีพลังอำนาจทางทหารที่จะต่อกรกับรัสเซีย และยังถูกรัสเซีย blackmail โดยการต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเป็นจำนวนมหาศาล

นักวิเคราะห์สายเหยี่ยวของสหรัฐมองว่า สหรัฐได้ทุ่มเทกำลังทหารในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในโลกมุสลิมมากเกินไป ทำให้ไม่มีกำลังทหารเพียงพอ ที่จะต่อกรกับรัสเซีย สหรัฐอาจจะพยายามเพิ่มกำลังทางทหารในยุโรปตะวันออก เทือกเขา Caucacus และเอเชียกลาง เพื่อตอบโต้รัสเซีย แต่คงจะต้องใช้เวลาหลายปีทีเดียว และจะต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศในยุโรปตะวันตก แต่ดูเหมือนกับว่า ยุโรปก็คงจะไม่เอาด้วยกับสหรัฐ สหรัฐจึงกำลังมาถึงทางแพร่งทางยุทธศาสตร์ที่จะต้องตัดสินใจ ถ้าสหรัฐยังดำเนินนโยบายแบบเดิม ก็คงไม่สามารถตอบโต้รัสเซียได้ และถ้าสหรัฐไม่ตอบโต้รัสเซียภายใน 5-10 ปี โลกก็คงจะกลับไปเหมือนสมัยสงครามเย็น โดยรัสเซียอาจจะขยายอิทธิพลเข้าครอบงำอาณาบริเวณที่เป็นสหภาพโซเวียตเดิมได้สำเร็จ

แนววิเคราะห์สายเหยี่ยวมองว่าสหรัฐมีทางเลือกอยู่ 4 ทาง

· ทางเลือกที่ 1 คือ ความพยายามลดกำลังทหารในโลกมุสลิมและหันกลับมาให้ความสำคัญกับการปิดล้อมรัสเซีย ซึ่งหากดำเนินตามแนวทางนี้ สหรัฐจะต้องยุติปัญหากับอิหร่าน ซึ่งจะนำไปสู่เสถียรภาพในอิรัก ซึ่งจะทำให้สหรัฐถอนทหารออกจากตะวันออกกลางได้ แต่ทางเลือกนี้ ดูแล้วก็คงจะเป็นไปได้ยาก

· ทางเลือกที่ 2 คือ การเจรจากับรัสเซีย และยอมรับเขตอิทธิพลของรัสเซียในสหภาพโซเวียตเดิม ซึ่งทางเลือกนี้ก็จะนำไปสู่การเกิดขึ้นใหม่ของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งก็จะทำให้ยากยิ่งขึ้นในการปิดล้อมรัสเซีย

· ทางเลือกที่ 3 คือ การปล่อยให้ยุโรปตะวันตกต่อกรกับรัสเซีย ซึ่งทางเลือกนี้ ก็ดูมีปัญหา ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ยุโรปก็แตกแยกกันเอง และไม่มีอำนาจทางทหารเพียงพอ และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

· ทางเลือกที่ 4 คือ การถอนกำลังจากอิรักและตะวันออกกลาง ซึ่งข้อเสียก็คือ หากรีบถอนกำลังออกมา อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในตะวันออกกลาง และขบวนการก่อการร้ายอาจเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ดูแล้วทางเลือกต่างๆที่สหรัฐมีอยู่ในขณะนี้ ก็ดูจะมีปัญหาทั้งสิ้น สหรัฐดูเหมือนกับกำลังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งเป็นการยากในการชั่งน้ำหนักระหว่างยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซียกับยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้าย ดูเหมือนกับว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐกำลังอยู่ในจุดวิกฤติ เพราะสหรัฐคงไม่มีกำลังทหารพอที่จะรบ 2 แนวรบ ทั้งกับรัสเซียและขบวนการก่อการร้าย ถ้าหากว่าสหรัฐยังคงดำเนินยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน ก็เท่ากับสหรัฐให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายมากกว่าการปิดล้อมรัสเซีย ดังนั้น ในอนาคต สหรัฐคงจะต้องคิดหนักว่าจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์อย่างไร เพื่อจะมาต่อกรกับหลักการ Medvedev

กล่าวโดยสรุป Medvedev Doctrine และแนวโน้มยุทธศาสตร์การตอบโต้ของสหรัฐ อาจจะกำลังทำให้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นภาค 2 แต่ผมดูแล้ว ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่สงครามเย็นแบบเต็มรูปแบบเหมือนเมื่อ 60 ปีก่อน แต่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย สหรัฐ และตะวันตก คงจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน

ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551 ปีที่ 12 ฉบับที่ 4342

ขณะนี้ ไทยกำลังรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียน โดยในช่วงดังกล่าวไทยจะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ 3 ครั้ง คือ การประชุมสุดยอดในเดือนธันวาคมปีนี้ และสำหรับปีหน้า ช่วงกลางปี จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และจะจัดประชุมสุดยอดในปลายปีหน้าอีก 1 ครั้ง จึงนับเป็นโอกาสทองของไทย ที่จะพลิกฟื้นบทบาทนำของไทยในอาเซียน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะเสนอแนวทางในการเล่นบทบาทนำของไทยในการผลักดันในเรื่องต่างๆ

ยุทธศาสตร์หลัก

เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ บทบาทนำของไทยในอาเซียนได้ลดลง นโยบายของรัฐบาลทักษิณในขณะนั้น เน้นทวิภาคี เจรจาสองฝ่าย และจากสองฝ่ายก็มาเป็นอนุภูมิภาค ตั้งวงเล็กกว่าอาเซียนคือ ACMECS ซึ่งไทยสามารถเป็นหัวหน้าวงได้ แต่พอมาถึงวงอาเซียนเราก็ทิ้งไป แล้วรัฐบาลทักษิณก็มาสร้างวงที่ใหญ่กว่าอาเซียน คือ วง ACD ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ฝ่ายไทยจะต้องรีบพลิกฟื้นสถานการณ์ นำไทยกลับมามีบทบาทนำในอาเซียนโดยไทยจะต้องรีบผลักดันความคิดริเริ่มข้อเสนอใหม่ๆให้เกิดขึ้น ซึ่งประเด็นที่ไทยน่าจะมีบทบาทนำได้มีดังนี้

กฎบัตรอาเซียน

เป็นที่คาดว่า ในการประชุมสุดยอดในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องในกฎบัตร ที่ไทยควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

· วัตถุประสงค์
ในกฎบัตรอาเซียนมีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ต่างๆของอาเซียน เรื่องสำคัญที่ไทยควรผลักดัน คือเรื่องการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
อย่างไรก็ตาม ในกฎบัตรอาเซียน ไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายว่า ภายหลังปี 2015 หลังจากการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นแล้ว อาเซียนจะพัฒนาไปเป็นอะไรต่อไป ผมขอเสนอว่า เป้าหมายระยะยาวของอาเซียน หลังปี 2015 คือการพัฒนาไปเป็นสหภาพอาเซียน (ASEAN Union) โดยคงจะมีลักษณะคล้ายๆกับสหภาพยุโรปในปัจจุบัน

· หลักการ
มาตรา 2 ของกฎบัตรอาเซียน พูดถึงหลักการต่างๆ แต่มีหลักการหนึ่ง คือ หลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศสมาชิก ซึ่งผมมองว่า ในโลกยุคปัจจุบัน หลักการดังกล่าวควรมีความยืดหยุ่น และอาเซียนควรมีสิทธิในการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในได้ หากมีความจำเป็น

· กลไก
ในบทที่ 4 ของกฎบัตรอาเซียนได้กล่าวถึงกลไกต่างๆของอาเซียน แต่ก็มีหลายประเด็นที่ผมดูแล้วน่าจะเป็นปัญหา
- ในกฎบัตรกำหนดจะให้มีการจัดตั้งกลไกใหม่ขึ้นมา อาทิ ASEAN Coordinating Council และ ASEAN Community Council ซึ่งผมดูแล้ว อาจจะมีปัญหาความซ้ำซ้อนกับกลไกเดิมของอาเซียน โดยเฉพาะจะไปซ้ำซ้อนกับASEAN Ministerial Meeting (AMM) และ ASEAN Economic Ministers (AEM)

- สำหรับประเด็นเรื่องบทบาทของเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนนั้น ถึงแม้ในกฎบัตรจะได้พยายามเพิ่มบทบาท แต่ผมดูแล้ว ยังมีบทบาทจำกัด โดยหากเมื่อเอาไปเทียบกับ บทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติ

- สำหรับกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ถึงแม้กฎบัตรจะบอกว่าจะมีการจัดตั้งกลไกดังกล่าวขึ้นมา แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ผมเกรงว่า ในขั้นตอนของการจัดทำบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ประเทศที่มีระบอบเผด็จการโดยเฉพาะพม่า อาจจะพยายามตัดแขนตัดขา และตัดทอนอำนาจของกลไกดังกล่าว จนในที่สุดอาจจะเป็นเพียงได้แค่เสือกระดาษ

- นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกลไกที่ไม่ได้อยู่ในกฎบัตร ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกสำหรับภาคประชาชน โดยน่าจะมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษา (Consultative Council) ซึ่งจะเป็นช่องทางหลักเพื่อให้ประชาชนและภาคประชาสังคม เข้ามามีบทบาทในกิจกรรมความร่วมมือของอาเซียน นอกจากนี้ ฝ่ายไทยน่าจะผลักดันให้มีการศึกษารูปแบบการพัฒนาให้อาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการพัฒนากลไกภาคประชาชน (track III) ของอาเซียน
ในระยะยาว ฝ่ายไทยอาจจะต้องผลักดันให้มีการแก้ไขกฎบัตร เพื่อเพิ่มกลไกดังกล่าวเข้าไป รวมทั้งในระยะยาว อาจจะให้มีการจัดตั้งสภาอาเซียน (ASEAN Parliament) และ ศาลสถิตยุติธรรมอาเซียน (ASEAN Court of Justice)

- สำหรับในประเด็นหลักการตัดสินใจนั้น กฎบัตรอาเซียนยังคงติดยึดอยู่กับหลักฉันทามติอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นปัญหามากสำหรับความก้าวหน้าของอาเซียน ผมเห็นว่า ฝ่ายไทยควรผลักดันให้มีการรื้อฟื้นแนวคิดเรื่องการลงคะแนนเสียงในบางกรณี รวมทั้งผลักดันกลไกบังคับให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎบัตร และมาตรการลงโทษ หากมีการละเมิดกฎบัตร ประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในกฎบัตร

ประชาคมการเมืองความมั่นคง

อีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายไทยควรผลักดันในการประชุมสุดยอดเดือนธันวาคมนี้ คือ เรื่องการจัดตั้งประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน ประเด็นสำคัญที่ไทยน่าจะผลักดันในเรื่องนี้ คือ กลไกป้องกันความขัดแย้ง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าของอาเซียน และไทยน่าจะผลักดันการเสริมสร้างกลไกแก้ไขความขัดแย้ง และจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพของอาเซียน
อีกเรื่องหนึ่งคือ ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย ที่ผ่านมา ความร่วมมือของอาเซียนในการต่อต้านการก่อการร้ายนั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่เราเลียนแบบอเมริกา คือเน้นการใช้กำลังเข้าปราบปราม แต่ผมคิดว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลอย่างยั่งยืน อาเซียนควรปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหา คือ ยุทธศาสตร์ชนะใจและจิตวิญญาณ ยุทธศาสตร์ชนะสงครามอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์การใช้พระคุณแทนพระเดช และยุทธศาสตร์การแก้ที่รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง

ประชาคมเศรษฐกิจ

ไทยควรเล่นบทบาทนำในการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี 2015 ให้ได้ แต่ถ้าดูตามทฤษฎีแล้ว ตลาดร่วมอาเซียนในปี 2015 จะเป็นตลาดร่วมที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ เพราะตลาดร่วมจะต้องมี 4 เสรี คือ เสรีการค้าสินค้า เสรีการค้าภาคบริการ เสรีการเคลื่อนย้ายทุน และเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในอนาคต อาเซียนคงจะต้องหารือกันว่า เราจะเป็นตลาดร่วมแบบไหน
ปัญหาใหญ่ของอาเซียนอีกเรื่องหนึ่งคือ ช่วงว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก ฝ่ายไทยจึงน่าจะผลักดันให้อาเซียนมีมาตรการลดช่องว่างดังกล่าวอย่างจริงจัง มาตรการอันหนึ่งที่น่าจะทำได้คือ การจัดทำ ASEAN Development Goals ซึ่งเป็นแนวคิดที่กระทรวงต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ โดยควรจะเป็นการต่อยอดออกไปจาก Millennium Development Goals ของสหประชาชาติ

ความสัมพันธ์กับภายนอก

อีกมิติหนึ่งที่ฝ่ายไทยควรเล่นบทบาทนำ คือ การผลักดันกระบวนการความสัมพันธ์อาเซียนกับประเทศต่างๆ
มิติแรกคือความสัมพันธ์ในกรอบอาเซียน + 1 ซึ่งโดยภาพรวม ในขณะนี้ ความสัมพันธ์ก็ราบรื่นดี โดยเฉพาะกับ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และ EU ในขณะนี้ อาเซียนเน้นการเจรจา FTA กับประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐยังไม่ดีเท่าที่ควร ฝ่ายไทยจึงควรเล่นบทบาทนำในการผลักดันให้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐขึ้นเป็นครั้งแรก และผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหรัฐ

มิติที่สอง คือ ความร่วมมือในกรอบอาเซียน +3 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป้าหมายหลักที่ฝ่ายไทยควรผลักดันในการประชุมสุดยอดอาเซียน +3 คือ การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกขึ้น โดยน่าจะให้ทำการศึกษาถึงรูปแบบ และรายละเอียดของประชาคมดังกล่าว

มิติสุดท้ายคือ อาเซียนในเวทีโลก อาเซียนยังมีปัญหาอย่างมาก ในการกำหนดท่าทีร่วมกันในเวทีโลก จะเห็นได้ว่าท่าทีของประเทศอาเซียนใน WTO ก็ไปกันคนละทิศคนละทาง ไทยจึงน่าจะผลักดันให้มีความร่วมมือ กำหนดท่าทีร่วมกันของอาเซียน อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเวที WTO และ UN

ที่ผมกล่าวมาข้างต้น เป็นข้อเสนอต่างๆ ที่ผมคิดว่า ฝ่ายไทยควรผลักดัน และเล่นบทบาทนำในช่วงที่ไทยรับบทเป็นประธานอาเซียนเป็นเวลาปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ที่ยังมีปัญหาความไม่แน่นอนทั้ง ตัวผู้นำประเทศและตัวรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็ทำให้ผมอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ไทยจะสามารถเล่นบทประธานอาเซียนได้อย่างสมศักดิ์ศรีหรือไม่