Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ตอนจบ)

2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงภูมิหลังของนโยบายต่างประเทศไทย และได้ประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้พูดถึงความสำเร็จไปแล้ว คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะประเมินถึงความล้มเหลว และในตอนสุดท้ายของบทความ ผมจะนำเสนอข้อเสนอแนะด้วยว่า นโยบายต่างประเทศของไทย ในอนาคต ควรจะเป็นอย่างไร

ความล้มเหลว

ตอนที่แล้ว ผมพูดถึงความสำเร็จไปแล้ว ตอนนี้ จะมาดูความล้มเหลวบ้าง

ความล้มเหลวที่ผมมอง ประการแรก คือ โจทย์สำคัญ คือ ไทยจะต้องมีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก แต่ 2 ปีที่ผ่านมา ผมแทบจะไม่เห็นนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกของรัฐบาลอภิสิทธิ์เลย คือเดินหน้าไป ทำกันไปประชุมกันไป แต่ก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงเลย ไม่มี masterpiece ไม่มีนโยบายในเชิงรุก ไม่มี grand strategy และความล้มเหลวครั้งใหญ่ของนโยบายรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คือ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับกัมพูชา

สำหรับในการเป็นประธานอาเซียน ความสำเร็จคือ การจัดประชุมสุดยอด ครั้งที่ 14 ได้ แต่เราจำได้ไหมครับว่า การประชุมสุดยอดอีกครั้งที่พัทยา เกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การประชุมล่มกลางคัน บางคนอาจจะโทษว่า การประชุมล่มเพราะเสื้อแดง แต่เราก็ต้องโทษรัฐบาลด้วย รัฐบาลประเมินสถานการณ์อย่างไร รัฐบาลปล่อยให้เสื้อแดงบุกเข้าไปในที่ประชุมได้อย่างไร รัฐบาลต้องรับผิดชอบ สิ่งที่เกิดขึ้นที่พัทยาทำให้ประเทศไทยเสียชื่อมาก ผมคิดว่า ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในการประชุมใหญ่ๆ ในระดับระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่การประชุมใหญ่ๆ อย่างนี้ล่มกลางคัน และผู้นำประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ต้องหนีลงเรือ หนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ หนีกันกุลีกุจอกันไปหมด มันไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การประชุมระดับโลกเลยครับ เรื่องนี้ทำให้ประเทศไทยเสียชื่อมาก ประเทศเพื่อนบ้านเรา ตัวอย่างสมเด็จฮุนเซน ก็ออกมาเหน็บแนมว่า “ถ้าไทยเราจัดประชุมไม่ได้ ก็ไม่ต้องจัด เป็นประธานอาเซียนไม่ได้ ก็ไม่ต้องเป็น ให้คนอื่นเขาเป็นดีกว่า” เรื่องนี้ไทยเสียหายมาก เราเล่นบทประธานอาเซียนได้ไม่เต็มที่ เราเก่งมากที่เปลี่ยน “โอกาส” ให้กลายเป็น “วิกฤต” จริงๆ แล้ว เราควรใช้โอกาสจากการที่เราเป็นประธานอาเซียนให้เป็นประโยชน์ แต่ในที่สุด เราก็เปลี่ยนโอกาสให้กลายเป็นวิกฤตครับ

สำหรับบทบาทของไทยในเวทีภูมิภาคในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทอย่างไรในอาเซียน มีบทบาทอย่างไรในอาเซียน + 1 อาเซียน + 3 และอาเซียน + 6 หรือที่เราเรียกว่า EAS คำตอบของผมก็คือ เราไม่มีบทบาทที่โดดเด่น เราไม่มีบทบาทในเชิงรุก

สำหรับบทบาทของไทยในเวทีโลก 2 ปีที่ผ่านมา นายกอภิสิทธิ์ได้เข้าร่วมประชุมเวทีการประชุมในระดับโลกหลายเวที แต่ไทยก็ไม่มีบทบาทในเชิงรุก เราได้แต่เข้าไปร่วมประชุม แต่ไม่ได้ผลักดันอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าจะเป็นเวที G20 เวที UN และเวที World Economic Forum เราเป็นเพียงตัวประกอบ เล่นตามเกมมหาอำนาจเท่านั้น

สำหรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่มีนโยบายในเชิงรุกเช่นกัน ไม่มีผลงานชิ้นโบว์แดงอีกเช่นกัน

สุดท้าย ความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นๆ ถามว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีผลงานอะไรที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงบ้างกับตะวันออกกลาง อัฟริกา ยุโรป และละตินอเมริกา คำตอบก็คือ ไม่มี เราไม่มีนโยบายในเชิงรุก

เพราะฉะนั้น จากการประเมินข้างต้น ก็พอจะสรุปได้ว่า ผลงานด้านการต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ประสบความสำเร็จในบางเรื่อง แต่ก็ล้มเหลวในหลายเรื่อง ผมจึงให้เกรดรวมเป็นเกรดประมาณ C+ หรือ B- ครับ

ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทยในอนาคต

ผมได้บอกไปแล้วว่า ผมจะไม่ประเมินเพียงอย่างเดียว แต่จะเสนอแนะด้วย ผมจะเสนอว่า นโยบายต่างประเทศไทยในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร

• grand strategy

ข้อเสนอประการแรกของผม คือ ไทยควรมี grand strategy และนโยบายในเชิงรุก สิ่งที่รัฐบาล
อภิสิทธิ์ขาดมาก คือ ขาดนโยบายในเชิงรุก ขาด grand strategy ขาดยุทธศาสตร์ใหญ่ ในการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ผลักดันให้ไทยโดดเด่นในเวทีภูมิภาค และในเวทีโลกได้อีกครั้งหนึ่ง เราขาดยุทธศาสตร์ใหญ่ ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับมาดีเหมือนเดิม และเราก็ขาด grand strategy ในการกำหนดความสัมพันธ์กับมหาอำนาจด้วย

• ประเทศเพื่อนบ้าน

โจทย์ใหญ่ที่สุดของไทยในอนาคต คือ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร คำตอบคือ ความสัมพันธ์ไม่ค่อยดี พม่าก็ไม่ชอบเรา เราก็ไม่ชอบพม่า เขมรไม่ชอบเรา เราก็ไม่ชอบเขมร ลาวก็เบื่อเรา เพราะไทยก็ชอบบอกว่า ไทยเป็นพี่ ลาวเป็นน้อง เขาก็เบื่อเรา ถึงแม้จะพูดภาษาเดียวกัน แต่หลังๆ ลาวก็ไปสนิทกับเวียดนามและจีนมากกว่าไทย

เพราะฉะนั้น โจทย์ที่สำคัญต่อนโยบายประเทศไทยมากที่สุด คือ เราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างไรกับเพื่อนบ้าน เรายกประเทศหนีไปไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องอยู่กับเขาตรงนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปมีเรื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน เราควรจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราควรที่จะมีมิตรไมตรีต่อกัน อยู่กันแบบฉันท์มิตร

แล้วอะไรที่เป็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา ผมมองว่า มีหลายสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ตั้งแต่ปัจจัยทางประวัติศาสตร์ การมองเพื่อนบ้านเป็นศัตรูซึ่งฝังรากลึก เราไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อนบ้านก็ไม่ไว้ใจไทย ไทยก็ไม่ไว้วางใจเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านมองว่า ไทยครอบงำเศรษฐกิจเขา นักธุรกิจไทยเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ ฉวยโอกาสจากประเทศเขา แล้วไทยยังครอบงำทางวัฒนธรรมอีกด้วย ขณะนี้ ประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็หันมาส่งเสริมลัทธิชาตินิยมแบบสุดโต่ง ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความเกลียดชังกันเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา คือ ประวัติศาสตร์ เราต้องแก้ในเรื่องของตำราเรียนประวัติศาสตร์ ต้องมีการชำระประวัติศาสตร์ ต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่มองเพื่อนบ้านว่าไม่ได้เป็นศัตรู แต่เป็นมิตรกับเรา ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ต้องทำให้เพื่อนบ้านมีความรู้สึกว่า เราไม่ได้ไปครอบงำเศรษฐกิจเขา เราไม่ได้ครอบงำวัฒนธรรมเขา เราจะอยู่กันอย่างมีมิตรไมตรีจิตต่อกัน และลัทธิชาตินิยมก็ควรที่จะลดลง

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านก็สำคัญ โดยไทยจะต้องให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เรามีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ในแง่ของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อมีช่องว่างห่างกันมาก ก็จะเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันง่าย เพราะฉะนั้น เราจะต้องลดช่องว่างแห่งการพัฒนา ส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ชำระประวัติศาสตร์ แก้ไขตำราเรียน แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอย่างบูรณาการ

ปัญหาความขัดแย้งกับกัมพูชานั้น เป็นเรื่องที่ต้องรีบแก้ เราต้องหยุดการเผชิญหน้า หันกลับมาเจรจา เรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อน และเจรจาปักปันเขตแดน โดยต้องหาสูตรที่เป็น win – win คือ เราได้ เขาก็ได้

• มหาอำนาจ

สำหรับยุทธศาสตร์ต่อมหาอำนาจเก่านั้น ผมไม่ค่อยห่วง เพราะว่า ไทยเข้ากับมหาอำนาจได้ดี
อยู่แล้ว ผิดกับเรื่องของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรามีปัญหามาโดยตลอด กับมหาอำนาจ ผมไม่ห่วง อย่างไทยกับสหรัฐฯ คงจะไม่มีปัญหา เราจะมีความสัมพันธ์ และเป็นมิตรกับสหรัฐฯต่อไป เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ ไทย – จีน ไทย – อินเดีย ไทย – ญี่ปุ่น ผมว่าไม่น่ามีปัญหา ไม่ได้เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับเรา

แต่โจทย์ใหญ่ของไทยในอนาคต คือ ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ในปี 2050
-บราซิลจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
-เม็กซิโก อันดับ 8
-ตุรกี อันดับ 12
-เกาหลีใต้ อันดับ 13
-ออสเตรเลีย อันดับ 17
-อาร์เจนติน่า อันดับ 18
-อียิปต์ อันดับ 19
-ซาอุดิอาระเบีย อันดับ 21
-และไทย จะอยู่อันดับ 22

เพราะฉะนั้น ประเทศเหล่านี้ น่าจะเป็นประเทศเป้าหมายที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้ ที่ถือว่ากำลังจะเป็นคลื่นลูกใหม่ ที่จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต

• เวทีภูมิภาค

ส่วนบทบาทไทยในเวทีภูมิภาคนั้น อาเซียนจะต้องเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์พหุภาคีของไทย โดยจะต้องมีการพลิกฟื้นบทบาทนำของไทยในอาเซียน บทบาทนำใน อาเซียน + 1 อาเซียน + 3 และบทบาทนำในการสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ในเรื่องของเวทีพหุภาคีต่างๆ ผมว่า เราอย่าสับสน อาเซียนนั้นเป็นเวทีที่สำคัญที่สุด ในภูมิภาค มีเวทีพหุภาคีอื่นๆ อาทิ เอเปค แต่เราต้องเห็นชัดเจน เราต้องมีธงชัดเจนว่า อาเซียนสำคัญที่สุด

• เวทีโลก

สำหรับบทบาทไทยในเวทีโลก เป้าหมายในระยะยาว คือ ไทยต้องมีบทบาทมากขึ้นในเวที
โลก ใน UN , WTO ธนาคารโลก ฯลฯ ปัจจุบัน ไทยแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในเวทีโลกเหล่านี้ ขนาดเศรษฐกิจของไทยก็ไม่ได้เล็ก ในปี 2050 เราจะอยู่อันดับ 22 ของโลก เพราะฉะนั้น เราน่าจะมีบทบาทในระดับโลกเพิ่มมากขึ้น โดยในอนาคต ไทยควรจะพยายามผลักดันเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งก็จะสอดรับกับเป้าหมายในระยะยาวของไทยในอนาคตที่ผมอยากจะเสนอ คือ การผลักดันให้ไทยกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่

2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ตอนที่ 1)

2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ และตอนหน้า จะเป็นการประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดย outline คือ ในตอนแรก ผมจะพูดถึงภูมิหลังของนโยบายต่างประเทศ เสร็จแล้วก็จะประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผมจะชี้ให้เห็นว่า มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ส่วนตอนสุดท้าย ผมจะไม่ประเมินเพียงอย่างเดียว แต่จะมีข้อเสนอแนะด้วยว่า นโยบายต่างประเทศของไทย ในอนาคต ควรจะเป็นอย่างไร

ภูมิหลัง

ตอนนี้มาดูในแง่ของภูมิหลังก่อน โดยผมจะเล่าให้ฟังเรื่องนโยบายต่างประเทศของไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยสงครามเย็น นโยบายไทยเน้นอยู่เรื่องเดียว คือ เรามีภัยคอมมิวนิสต์ และเราก็ดำเนินนโยบายในการที่จะ ไปเอาอเมริกามาช่วยป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ เราดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ทีนี้พอสงครามเย็นสิ้นสุดลง ประมาณปี 1990 ไทยก็เข้าสู่ยุคทอง มันเป็นจังหวะพอดีที่เศรษฐกิจไทยในยุคหลังสงครามเย็น เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เศรษฐกิจไทยก็เติบโตสูงที่สุดในโลก คือมีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึง 13 % เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ ถือเป็นยุคทองของประเทศไทย เราเจริญสุดขีดในแง่ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เราถูกมองว่า กำลังจะเป็นเสือตัวที่ 5 มังกรตัวที่ 5 ของเอเชีย และของโลก

เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ นโยบายต่างประเทศไทย ก็มียุทธศาสตร์หลักที่จะทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำ กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะว่า ตอนนั้น เรามีศักยภาพพอที่เราจะฝันเช่นนั้น ที่จะมียุทธศาสตร์เช่นนั้น ในตอนนั้นเราจึงมียุทธศาสตร์เชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มีกรอบสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ

ทุกอย่างก็กำลังเดินไปด้วยดี แต่พอมาถึงปี 1997 ทุกอย่างก็พังหมด หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ความฝันของไทยที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคก็ล่มสลายลง พร้อมกับการล่มสลายของเศรษฐกิจไทย เราย่ำแย่อยู่หลายปี โดยเฉพาะในช่วงปี 1997 จนถึงปี 2000

พอมาถึงปี 2001 พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็โดดเข้าสู่เวทีการเมืองพร้อมกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งชูนโยบายประชานิยม ชูนโยบายชาตินิยมในด้านการต่างประเทศ พร้อมกับชูนโยบายในเชิงรุก ในสมัยรัฐบาลทักษิณ คือในช่วงปี 2001 – 2006 เราจึงเห็นความคิดริเริ่มต่างๆ มากมายในเรื่องนโยบายต่างประเทศ มีการเจรจา FTA เยอะมาก มีการสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ขึ้นมา คือ ACMECS , BIMST – EC และ ACD ถือว่าเป็นยุคที่ไทยกลับมามีบทบาททางการทูตที่โดดเด่นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการทูตในเชิงรุก แต่ว่าความคิดริเริ่มต่างๆ ของรัฐบาลทักษิณ ในที่สุด ก็พังหมด เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

เพราะฉะนั้น หลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ 19 กันยายน ปี 2006 ทหารก็ปฏิวัติ และหลังปฏิวัติเกิดอะไรขึ้นกับการทูตไทย การทูตไทยก็หยุดนิ่ง เข้าสู่ยุครัฐบาล “ใส่เกียร์ว่าง” ในยุคนั้น ที่เรามักเรียกว่า รัฐบาลขิงแก่ ก็ใส่เกียร์ว่าง เพราะฉะนั้น การทูตของไทยจึงหยุดหมด สิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำ รัฐบาลสุรยุทธ์ก็ไม่ทำ หยุดหมด

หลังจากนั้น พอมีการเลือกตั้ง รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเกิดวิกฤติการเมืองขึ้น เสื้อเหลืองก็ชุมนุมประท้วงทุกวัน รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะมัวแต่ต้องคิดว่า จะเอาตัวรอดอย่างไร

รัฐบาลอภิสิทธิ์

หลังจากนั้น เราก็เข้าสู่ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2009 ถึงปัจจุบัน โจทย์ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ คืออะไรในเรื่องนโยบายต่างประเทศ โจทย์ก็คือ ตอนนี้มีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือ วิกฤติการเมือง ที่ทำให้รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ทำอะไรไม่ได้ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ ไม่มีผลงาน หยุดหมด และวิกฤติการเมืองก็ลามมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่วนข้อจำกัดประการที่สอง คือ วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่เราบางทีเรียกว่า วิกฤติ subprime เพราะฉะนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงเจอ 2 เด้ง ในเรื่องของข้อจำกัด ทั้งวิกฤตการเมืองภายในประเทศ และวิกฤตเศรษฐกิจโลก

จากข้อจำกัดดังกล่าว โจทย์สำคัญในการประเมินรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศไทยจากการทูตเชิงธุรกิจ ซึ่งกลายเป็นฉายาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่ใช้การทูตในการทำธุรกิจ ให้กลับมาเป็นการทูตในเชิงสุจริตได้อย่างไร นี่เป็นโจทย์ที่หนึ่ง ที่จะต้องทำให้การทูตไทยไม่ใช่กลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่การทูตไทย นโยบายต่างประเทศไทย จะต้องสนับสนุนผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ นโยบายต่างประเทศต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ

สำหรับโจทย์ข้อที่สอง คือ ไทยจะกลับมามีบทบาท มีนโยบายในเชิงรุกทางการทูตได้อย่างไร รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องมีความคิดริเริ่ม นโยบายในเชิงรุก ที่จะทำให้ไทยกลับมาโดดเด่นในเวทีภูมิภาค และในเวทีโลกได้อีกครั้งได้หรือไม่ และจะทำให้ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจได้หรือไม่ นี่คือโจทย์ที่ผมจะเอามาประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา
ความสำเร็จ

เรามาประเมิน 2 ปี นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยมาดูที่ความสำเร็จก่อน

ความสำเร็จประการแรก คือ การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้นำการทูตไทยให้กลับมาอยู่บนพื้นฐานของการทูตเชิงสุจริต ไม่ใช่การทูตเชิงธุรกิจ

ความสำเร็จอีกประการ คือ ในปี 2009 ไทยเป็นประธานอาเซียน โจทย์สำคัญ คือ ไทยจะต้องใช้โอกาสทองในการเป็นประธานอาเซียนพลิกฟื้นบทบาทของไทยที่ตกต่ำอย่างมากในอาเซียน ให้กลับมามีบทบาทนำในอาเซียนอีกครั้งหนึ่งให้ได้ เพราะฉะนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2009 รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้จัดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ขึ้นที่ชะอำ – หัวหิน และก็ประสบความสำเร็จ ไทยก็มีบทบาทที่โดดเด่นขึ้น

ต่อมา ในปลายปี 2009 ไทยได้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 แต่หลังจากนั้น บทบาทไทยในการเป็นประธานอาเซียนก็หมดวาระลง (ไทยเป็นประธานอาเซียน ตั้งแต่กลางปี 2008 ถึงปลายปี 2009) พอปี 2010 เวียดนามก็เป็นประธานอาเซียน บทบาทไทยก็ลดลง อย่างไรก็ตาม ไทยได้ผลักดันเรื่องหนึ่งที่ผมถือว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือ แนวคิดเรื่อง ASEAN Connectivity Master Plan ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของไทย เป็นการผลักดันของไทยในอาเซียนที่จะให้อาเซียนนอกจากจะเป็นประชาคมแล้ว ก็ควรจะมีการเชื่อมต่อเข้าหากัน เพื่อที่จะทำให้ประชาคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความสำเร็จอีกประการ คือ บทบาทของนายกฯ อภิสิทธิ์ในเวทีโลก สองปีที่ผ่านมา นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้พยายามเดินทางไปเข้าร่วมประชุมในเวทีโลกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น UN ที่นิวยอร์ก การประชุม G20 ก็ไปประชุมที่ลอนดอน ในเดือนเมษายน ปี 2009 และที่ Pittsburgh ในเดือนกันยายน ปี 2009 ในฐานะประธานอาเซียน และในฐานะประธานอาเซียนก็ไปเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ด้วย นายกฯ อภิสิทธิ์ ก็เล่นบทบาทในฐานะประธานอาเซียนได้ดีพอสมควร โดยในปลายปี 2009 ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งแรกซึ่งในตอนนั้น ไทยยังเป็นประธานอาเซียนอยู่ ดังนั้น นายกอภิสิทธิ์ก็รับหน้าที่เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯร่วมกับประธานาธิบดีโอบามา

อย่างไรก็ตาม จากที่กล่าวมาข้างต้น การที่นายกอภิสิทธิ์เดินทางไปร่วมประชุมในเวทีโลกหลายเวที แต่คำถามสำคัญ คือ เราได้อะไร เราไปแล้ว เราไปผลักดันอะไร และทำให้ไทยโดดเด่นขึ้นหรือไม่ ซึ่งผมก็อยากจะประเมินว่า เราก็ได้แค่ไปปรากฎตัว แต่ว่าบทบาทของไทย คือ บทบาทของนายกอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร ซึ่งประเด็นนี้ผมจะกลับมาประเมินอีกที

ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้เราอยู่ในหัวข้อของความสำเร็จ ผมจึงจะยังไม่พูดเรื่องปัญหากับกัมพูชา ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่ตอนนี้หากพูดถึงความสำเร็จในแง่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับมาเลเซีย ลาว พม่า และเวียดนาม ผมดูแล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเหล่านี้ในช่วง 2 ปี ก็โอเค ไม่ได้เลวร้ายอะไร อยู่ในระดับที่พอรับได้ แต่ประเด็นก็คือ ไม่มีอะไรที่เป็น masterpiece หรือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ผมจะประเมินต่อในหัวข้อความล้มเหลว

สำหรับความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งก็เป็นปกติอยู่แล้วระหว่างไทยกับมหาอำนาจ เพราะว่า เราจะเข้ากับมหาอำนาจได้ดี เรามักจะมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า ซึ่งกับสหรัฐฯ 2 ปีที่ผ่านมา ก็โอเค Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เดินทางมาเยือนไทย ในเดือนกรกฎาคม ปี 2009 และได้พบปะหารือกับนายกฯ อภิสิทธิ์ สำหรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะกับจีน และญี่ปุ่น ก็โอเค ความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นๆ ก็พอจะไปได้ อันนี้ คือ ความสำเร็จครับ

(โปรดอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนหน้า ซึ่งผมจะประเมินต่อในส่วนของความล้มเหลว และข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทยในอนาคต)

วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 - วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ได้ลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นปัญหาระดับโลก เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว ดังนี้

สถานการณ์ความขัดแย้ง

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน นับตั้งแต่กรณีเขาพระวิหาร มาจนถึงการปะทะกันครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา การปะทะกันทางทหารครั้งล่าสุดนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา Hun Sen ได้รีบมีหนังสือถึง UNSC กล่าวหาไทยอย่างรุนแรงว่า ได้กระทำการในลักษณะอาชญากรรมสงคราม โดยกล่าวหาว่า ไทยเป็นคนเริ่มสงคราม และว่าความขัดแย้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การปะทะกัน แต่เป็นสงครามอย่างเต็มรูปแบบ และกล่าวหาว่า ไทยได้ยิงปืนใหญ่ ทำให้ปราสาทเขาพระวิหารได้รับความเสียหายด้วย

ส่วนทางฝ่ายไทย ได้มีหนังสือไปถึง UNSC เหมือนกัน แต่ดูเหมือนกับจะช้ากว่าทางกัมพูชา เหมือนกับเราเล่นตามเกมส์กัมพูชาโดยตลอด โดยไทยได้ย้ำว่า ทางฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ต่อมาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทางฝ่ายทหารได้มีการเจรจาหยุดยิง แต่พอมาถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ทางฝ่ายกัมพูชาได้เปิดฉากโจมตีไทยอีก การตอบโต้ของฝ่ายไทย เป็นการทำไปเพื่อการป้องกันตัวเอง ไทยได้กล่าวหาว่า ทหารกัมพูชาได้ใช้ปราสาทพระวิหารเป็นที่มั่นทางทหาร ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ไทยได้กล่าวว่า เป้าหมายของกัมพูชาคือ การทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย เพื่อจะทำให้เห็นว่า การเจรจา 2 ฝ่ายล้มเหลว และในที่สุดจะนำเอา UN เข้ามา เพื่อผลักดันการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขาพระวิหาร และแผนการจัดการพื้นที่ทับซ้อน

UNSC

ในอดีต เมื่อเกิดการปะทะกันครั้งที่แล้วเมื่อปี 2008 ทางฝ่ายกัมพูชาเคยเสนอให้ UNSC พิจารณาเรื่องนี้ แต่ในตอนนั้น สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน เห็นว่าน่าจะเป็นการเจรจา 2 ฝ่าย แม้ว่าฝรั่งเศสจะสนับสนุน แต่เรื่องนี้ก็ตกไป

สำหรับในครั้งนี้ ในตอนแรก ผมได้วิเคราะห์ว่า ผลคงจะออกมาเหมือนคราวที่แล้ว คือ UNSC คงจะไม่พิจารณา แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตรหมด โดยมีข่าวว่า มหาอำนาจบางประเทศ คือ รัสเซีย อินเดีย และจีน กลับไปเข้าข้างกัมพูชา โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ UNSC ตัดสินใจเอาเรื่องนี้มาเป็นวาระการประชุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยได้ขอให้ทางฝ่ายไทย และ กัมพูชา ไปชี้แจง ซึ่งเหตุการณ์การพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่นี้ ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตของไทย ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ต้องการให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ เพราะไทยน่าจะคิดว่า เจรจา 2 ฝ่ายกับกัมพูชา เราน่าจะได้เปรียบกว่า แต่ถ้ากลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ มีประเทศสมาชิก UNSC เข้ามายุ่ง หรือมีอาเซียนเข้ามายุ่ง จะทำให้ปัญหายุ่งยาก สลับซับซ้อน คุมเกมได้ยาก เพราะอาจจะมีบางประเทศถือหางกัมพูชา ในทางกลับกัน ทางฝ่ายกัมพูชาพยายามยกระดับปัญหานี้ โดยดึงเอา UN และอาเซียนเข้ามา ซึ่งกัมพูชาก็ประสบความสำเร็จ
เพราะในขณะนี้ ทั้ง UN และอาเซียนก็เข้ามายุ่งวุ่นวายเต็มไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมของ UNSC ออกมาในทำนองที่ไทยไม่เสียเปรียบ โดย UNSC ไม่ได้มีข้อมติอะไรออกมา เป็นเพียงแต่การแถลงข่าวโดยประธาน UNSC เนื้อหาสำคัญ คือ สมาชิก UNSC ได้แสดงความห่วงใยอย่างมากต่อการปะทะกัน และเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย หยุดยิงอย่างถาวร และแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ด้วยการเจรจา โดย UNSC สนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ และยินดีที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์

จะเห็นได้ว่า ผลการประชุมของ UNSC ออกมาในทำนองว่า UNSC จะยังไม่ดำเนินการใดๆในเรื่องนี้ และเน้นให้อาเซียนเล่นบทบาทในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น เราคงจะต้องไปวิเคราะห์ต่อถึงบทบาทของอาเซียน ในเรื่องนี้

อาเซียน

สำหรับในอดีต คือในการปะทะกันครั้งก่อนเมื่อปี 2008 ทางฝ่ายกัมพูชาเคยผลักดันที่จะให้เรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน แต่ทางฝ่ายไทยคัดค้านเต็มที่ ทางอาเซียนจึงยังไม่ได้หารืออย่างเป็นทางการในเรื่องนี้

แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งล่าสุด ได้ชี้ให้เห็นบทบาทของอาเซียนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย Marty Natalegawa ในฐานะประธานอาเซียน ได้เดินทางมาพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา Hor Namhong เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้น ได้มาพบกับรัฐมนตรีกษิต ภิรมย์ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และได้ออกมาแถลงว่าอาเซียนสนับสนุนที่จะให้มีการเจรจา 2 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา

ต่อมา ในการประชุม UNSC เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้รับเชิญในฐานะประธานอาเซียน ให้เข้าร่วมชี้แจงต่อ UNSC ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประธาน อาเซียนเข้ามามีบทบาทแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการ อาเซียน ถึงกับกล่าวว่า การที่ประธานอาเซียน เข้าร่วมประชุม UNSC นั้น ถือเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญของ อาเซียน และจะเป็นการสร้างบทบาทใหม่สำหรับกลไกแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียน

ต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เรียกประชุมสมัยพิเศษเป็นการด่วน ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหารือ เรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชา การที่อาเซียนเข้ามามีบทบาทเช่นนี้ ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตของไทยอีกเช่นกัน เพราะตั้งแต่แรก ไทยก็ไม่ต้องการให้อาเซียนเข้ามายุ่ง

โดยที่น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่จะมีการหารือในลักษณะนี้ จึงเป็นการยากที่จะคาดเดาว่า ผลการประชุมจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าจะให้ผมเดา น่าจะมีความเป็นไปได้ 3 ทาง

ทางที่ 1 คือ อาเซียนขอให้ทั้ง 2 ประเทศกลับไปเจรจา 2 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหา โดยอาเซียนพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ กัมพูชายอมที่จะกลับมาเจรจา JBC กับไทย ซึ่งในตอนแรกมีข่าวว่า จะประชุมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ทางฝ่ายกัมพูชาก็ขอยกเลิกการประชุม JBC และบอกว่ากลไกทวิภาคีไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

ดังนั้น จึงมีแนวทางที่ 2 เกิดขึ้น หากกัมพูชายังยืนกรานไม่ยอมเจรจา 2 ฝ่ายกับไทย อาเซียนก็อาจจะหาทางออก โดยให้อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย โดยอาจจะมีการจัดประชุมที่จาการ์ตา โดยจะเป็นการประชุม 3 ฝ่าย

ส่วนแนวทางที่ 3 ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็น worst-case scenario คือ การเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย และ 3 ฝ่าย ล้มเหลวหมด และเกิดการปะทะกันขึ้นมาอีก ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ทาง UNSC ก็อาจจะกลับมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง และคราวนี้ก็จะยิ่งยุ่งกันใหญ่ เพราะทาง UNSC คงจะเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะทางฝ่ายกัมพูชาก็ต้องการให้ UN เข้ามาแทรกแซงอยู่แล้ว

UNESCO

อีกเวทีหนึ่งที่น่าจะต้องจับตามอง คือ UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลก โดยฝ่ายไทยได้เรียกร้องให้ชะลอการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก และเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ไทยได้ส่งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตทูต อัษฎา ชัยนาม ไปเข้าพบผู้อำนวยการใหญ่ของ UNESCO ที่กรุงปารีส เพื่อชี้แจงถึงผลกระทบของการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งมีปัญหาเป็นพื้นที่ทับซ้อน และน่าจะรอจนกว่า การดำเนินงานด้านเขตแดนโดย JBC จะแล้วเสร็จ ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ก็ยังไม่ทราบผลการหารือว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

ทางออก

ผมมองว่า ทางออกของความขัดแย้งไทย-กัมพูชา หัวใจ คือ การเจรจา และการประนีประนอม โดยในขั้นต้น ต้องมีการถอนทหารออกจากเขตพิพาท หลังจากนั้น ต้องมีการเจรจากันในรายละเอียด ซึ่งมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการปักปันเขตแดน ปัญหาเขตทับซ้อน เรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลก อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือ ต้องมีการสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจกันของทั้งสองชาติ ลดกระแสความเกลียดชัง กระแสชาตินิยม กระชับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน การมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และถ้าทั้งสองชาติ เป็นมิตร และมีไมตรีจิตต่อกัน จะเป็นยาแก้ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชาได้ดีที่สุด

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วิกฤติอียิปต์ : ผลกระทบต่อโลก

วิกฤติอียิปต์ : ผลกระทบต่อโลก

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11-วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554

เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล Mubarak กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์วิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยจะเน้นวิเคราะห์ถึงแนวโน้มและผลกระทบต่อการเมืองโลก โดยเฉพาะต่อตะวันออกกลาง ดังนี้

แนวโน้ม

สำหรับเหตุการณ์การเดินขบวนประท้วงนั้น เป็นข่าวไปทั่วโลก ซึ่งผมคงจะไม่กล่าวซ้ำ แต่อยากจะวิเคราะห์ข้ามไปถึงแนวโน้มในอนาคต สถานการณ์ในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยอาจจะมีความเป็นไปได้หลายทางด้วยกัน

ความเป็นไปได้ที่ 1 คือ การที่รัฐบาล Mubarak คงจะอยู่ต่อไป แต่มีแนวโน้มว่า Mubarak คงจะอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน ทางฝ่ายทหารคงจะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำคนใหม่

ความเป็นไปได้ที่ 2 คือ การที่ฝ่ายผู้ชุมนุมบีบให้มีการเลือกตั้ง โดยในการเลือกตั้งครั้งใหม่ คนจากทางฝ่ายค้านอาจจะได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจจะเป็น ElBaradei

ส่วนความเป็นไปได้ที่ 3 คือ การเลือกตั้งจะนำไปสู่การที่อียิปต์จะมีรัฐบาลที่มีอุดมการณ์มุสลิมหัวรุนแรง โดยเฉพาะการขึ้นสู่อำนาจของกลุ่ม Muslim Brotherhood

ซึ่งแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การที่ฝ่ายทหารจะครองอำนาจต่อไป แต่จะมีการเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้อง ยังคงหวั่นวิตกถึงความเป็นไปได้ที่ 3 ที่อียิปต์จะกลายเป็นประเทศมุสลิมหัวรุนแรง

ผลกระทบ

ดังนั้น ผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศ จึงขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเมืองอียิปต์ในอนาคต คือหากฝ่ายทหารยังคงกุมอำนาจได้ต่อไป นโยบายต่างประเทศของอียิปต์ก็จะไม่เปลี่ยน และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเมืองโลก แต่หากฝ่ายมุสลิมหัวรุนแรงได้เป็นรัฐบาล ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยผู้เล่นที่สำคัญ เช่น อิหร่าน จะได้แนวร่วมในการเป็นรัฐบาลต่อต้านตะวันตกและสหรัฐฯ แต่สำหรับสหรัฐฯ อียิปต์ที่กลายเป็นประเทศมุสลิมหัวรุนแรง จะกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ของยุทธศาสตร์สหรัฐฯในภูมิภาค อียิปต์นั้น ถือเป็นศูนย์กลางของโลกอาหรับ ในอดีต ในสมัยประธานาธิบดี Sadat การที่เขาได้ตัดสินใจเปลี่ยนพันธมิตรจากสหภาพโซเวียต มาเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ได้ช่วยเสริมบทบาทของสหรัฐฯในภูมิภาคเป็นอย่างมาก อียิปต์ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาได้เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับสหรัฐฯมาโดยตลอด ดังนั้น ในอนาคต หากอียิปต์จะเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาคจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

เช่นเดียวกับอิสราเอล ซึ่งได้มีสนธิสัญญาสันติภาพกับอียิปต์ การที่คาบสมุทรซีนาย เป็นคาบสมุทรปลอดทหาร ทำให้อิสราเอลมีความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมาก หากในอนาคต อียิปต์จะกลายเป็นรัฐบาลหัวรุนแรง และฉีกข้อตกลง Camp David ก็จะถือเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่ออิสราเอล

สหรัฐฯ

ด้วยบริบทดังกล่าวข้างต้น นโยบายของรัฐบาล Obama ในช่วงเกิดวิกฤติ คือ การสนับสนุนรัฐบาล Mubarak
นโยบายของสหรัฐฯต่ออียิปต์และในตะวันออกกลาง คือ ความพยายามจะทำ 2 สิ่ง คือ การส่งเสริมประชาธิปไตย และสร้างเสถียรภาพ แต่ตราบใดก็ตาม ถ้าเป้าหมายทั้งสองขัดแย้งกัน สหรัฐฯก็จะเลือกเสถียรภาพมาก่อนประชาธิปไตย

ดังนั้น ในช่วงวิกฤติอียิปต์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาล Obama พยายามรักษาเสถียรภาพมากกว่าประชาธิปไตย โดยรัฐบาล Obama หวั่นวิตกถึงแนวโน้มที่อียิปต์จะถูกปกครองด้วยกลุ่มหัวรุนแรง นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงสัญญาณที่สหรัฐฯจะส่งออกไปในภูมิภาค หากสหรัฐฯสนับสนุนผู้เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯส่วนใหญ่ก็เป็นเผด็จการ อาทิ ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน เยเมน และ อัลจีเรีย ประเทศเหล่านี้อาจจะทบทวนการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯได้ ถึงขนาดผู้นำอาหรับบางคนได้กล่าวว่า Obama นั้นได้แทง Mubarak ข้างหลัง คือมองว่า สหรัฐฯหักหลังพันธมิตรของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นรัฐบาล Obama ค่อยๆเปลี่ยนท่าที จากในตอนต้น ยกย่องรัฐบาล Mubarak ว่ามีเสถียรภาพ ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นการเสนอให้มีการปฏิรูป และในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Obama ก็ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างมีระเบียบ (orderly transition) และล่าสุดได้บอกว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะต้องเริ่มในทันที

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Obama ยังวิตกกังวลว่าในอนาคต หากอียิปต์กลายเป็นรัฐบาลหัวรุนแรง จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง ต่อปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะทำให้ดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะจะเป็นหายนะต่อสหรัฐฯ หากอียิปต์จะไปเป็นแนวร่วมในการต่อต้านสหรัฐฯ ร่วมกับอิหร่าน และซีเรีย นอกจากนี้ สหรัฐฯยังกลัวว่า พันธมิตรอื่นๆ อย่างเช่น จอร์แดน โมร็อกโก ซาอุดิอาระเบีย อาจจะกลายเป็นเหมือนเช่นอียิปต์

อิสราเอล

ซึ่งประเทศที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวข้างต้นหนักที่สุด น่าจะเป็นอิสราเอล อิสราเอลขณะนี้มีศึกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น Hezbollah ในเลบานอน Hamas ในกาซา ดังนั้น หากอียิปต์จะมาเป็นศัตรูกับอิสราเอล ก็จะเป็นฝันร้ายของประเทศ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล Benjamin Netanyahu ถึงกับกล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลในอียิปต์ว่า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอียิปต์ อาจจะเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอิหร่าน คือการผงาดขึ้นมาของรัฐบาลมุสลิมหัวรุนแรง

สิ่งที่อิสราเอลต้องการ คือ เสถียรภาพในภูมิภาค ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อียิปต์ภายใต้รัฐบาล Mubarak ถือได้ว่าเป็นประเทศอาหรับที่ใกล้ชิดกับอิสราเอลมากที่สุด อียิปต์เป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลในปี 1979 ดังนั้น ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อิสราเอลก็ไม่ต้องเป็นห่วงกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ทางใต้ แต่วิกฤติการณ์ในอียิปต์ในครั้งนี้ ทำให้อิสราเอลกลัวว่า อียิปต์จะกลายเป็นประเทศมุสลิมหัวรุนแรง ภายใต้การนำของ Muslim Brotherhood ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Hamas อิสราเอลยังกลัวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ จะทำให้ภูมิภาคเกิดความวุ่นวาย โดยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจลุกลามสู่ประเทศอาหรับอื่นๆ อาทิ จอร์แดน และเยเมน

อิหร่าน

สำหรับอิหร่านก็กำลังจ้องมอง และฉวยโอกาสจากวิกฤติอียิปต์ในครั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอียิปต์ แต่อิหร่านก็พยายามฉวยโอกาสในความวุ่นวายทางการเมืองในอียิปต์ในครั้งนี้ โดยผู้นำศาสนาของอิหร่าน Ayatollah Khatami ประกาศยินดีกับการลุกฮือขึ้นของประชาชนในอียิปต์ โดยมองว่า การลุกฮือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การจัดตั้งรัฐอิสลาม ซึ่งก็เหมือนกับการลุกฮือขึ้นของชาวอิหร่าน ในการโค่นล้มรัฐบาล Shah ในปี 1979 โดย website ของอิหร่าน ได้โจมตี Mubarak ว่าเป็นรัฐบาล Zionist และยินดีที่การเปลี่ยนแปลงในอียิปต์ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบในทางลบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯในภูมิภาค อิหร่านมองว่า ตนคือผู้นำของตะวันออกกลาง และมองว่า รัฐบาล Mubarak ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดุลแห่งอำนาจในภูมิภาค และอิหร่านก็หวังจะได้ผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้ อิหร่านก็พยายามกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่ม Muslim Brotherhood โดยผ่านทาง Hamas ซึ่งใกล้ชิดกับอิหร่าน

กล่าวโดยสรุป วิกฤติอียิปต์ในครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง ซึ่งเราคงจะต้องจับตาดูกันต่อ ถึงแนวโน้ม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเมืองโลกในอนาคต

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การประชุม World Economic Forum ปี 2011

การประชุม World Economic Forum ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554


ในช่วงวันที่ 26-30 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุม World Economic Forum ครั้งล่าสุด ที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

การประชุม World Economic Forum

World Economic Forum หรือเรียกย่อว่า WEF ถือเป็นเวทีการประชุมของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในอดีต ผู้เข้าร่วมประชุมเป็น CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ แต่ในปัจจุบัน ได้ขยายวงออกไป โดยมีผู้นำรัฐบาล ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ NGO และนักวิชาการ เข้าร่วมประชุมด้วย เวที WEF ถึงแม้จะไม่ใช่เวทีที่เป็นทางการที่จะตกลงแก้ไขปัญหาของโลกได้ แต่ก็เป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของโลก แนวโน้ม และแนวทางการแก้ไข

สำหรับในปีนี้ WEF จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม โดยเป็นการประชุมประจำปีครั้งที่ 41 มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,500 คน จากประเทศต่างๆกว่า 100 ประเทศ ซึ่งมีทั้งจากภาคธุรกิจ รัฐบาล ประชาสังคม และนักวิชาการ โดยมีผู้นำทางภาคธุรกิจเข้าร่วมกว่า 1,400 คน และมีผู้นำประเทศเข้าร่วมกว่า 35 คน ประเทศกลุ่ม G20 ให้ความสำคัญต่อการประชุมในครั้งนี้ โดยรัฐบาล G20 ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ซึ่งมีทั้งผู้นำประเทศ และรัฐมนตรี

สำหรับ theme ของการประชุมในปีนี้ คือ “Shared Norms and the New Reality” โดย Klaus Schwab ประธานการจัดงาน ได้กล่าวถึง theme ของการประชุมว่า ระเบียบโลกใหม่กำลังเกิดขึ้น จากการย้ายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจจากตะวันตกมาตะวันออก และจากประเทศฝ่ายเหนือสู่ประเทศฝ่ายใต้ (จากประเทศรวยสู่ประเทศจน) องค์กรและกลไกในระดับโลก ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกอย่างรวดเร็ว ดังนั้น theme ของการประชุมในครั้งนี้ จะมีการให้คำนิยามกับระเบียบโลกใหม่ และหารือถึงบรรทัดฐานร่วมกันที่จำเป็นสำหรับความร่วมมือในระดับโลก นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการระบุถึงประเด็นปัญหาใหม่ๆของโลกในอนาคต และวิธีการแก้ไข

การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่

สำหรับระเบียบโลกใหม่ ที่เป็นเรื่องสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ ได้เน้นไปที่การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีน และอินเดีย

สำหรับการผงาดขึ้นมาของจีนนั้น ได้รับความสนใจมากที่สุด เห็นได้จากการประชุมกลุ่มย่อย มีเรื่องเกี่ยวกับจีนมากที่สุด ตัวอย่างหัวข้อการประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับจีน คือ “Insights on China” “อนาคตของวิสาหกิจจีน” “ผลกระทบของจีนต่อการค้าโลก” และ “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจีนยุคใหม่” ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจที่จีนจะให้ความสำคัญอย่างมากต่อการประชุมในครั้งนี้ โดยได้ส่งคณะเข้าร่วมประชุมมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยจำนวนผู้แทนจีนที่เข้าร่วมมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับอินเดีย ซึ่งเป็นอีกประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมา ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมมากเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน โดยผู้แทนเพิ่มขึ้น 4 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่กลุ่มประเทศ G20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจใหม่ และ G20 ก็กำลังจะมาแทนที่ G8 ซึ่งเป็นกลุ่มของมหาอำนาจเก่า รัฐบาล G20 ก็ให้ความสำคัญโดยส่งผู้นำประเทศหรือรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม
ในทางกลับกัน สหรัฐฯกลับลดบทบาทลงใน WEF ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมก็ลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ บทบาทของสหรัฐฯก็ลดลงไปมากในเวทีนี้
การประชุมในปีนี้ จึงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ และการผงาดขึ้นมาของเอเชีย และการเปลี่ยนผ่านของอำนาจ จากตะวันตกมาสู่กลุ่มมหาอำนาจใหม่ โดยข้อสรุปที่ชัดเจนจากการประชุม คือ เอเชียกำลังผงาดขึ้นมา ในขณะที่อำนาจของสหรัฐฯกำลังเสื่อมลง

Global Risks 2011

อีกเรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุม คือ การหารือถึงปัญหาสำคัญของโลกในอนาคต โดยได้มีการเผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า Global Risks 2011 จัดทำโดย WEF ซึ่งสรุปได้ว่า ปัญหาสำคัญของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีเรื่องเหล่านี้ คือ

• ช่องว่างทางเศรษฐกิจ
ปัญหาสำคัญเรื่องแรกที่สำคัญ คือ ช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน และช่องว่าง
ระหว่างคนรวยและคนจนในประเทศ ผลพวงของโลกาภิวัฒน์ตกอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย คือ คนรวยเท่านั้น แม้ว่า การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ จะทำให้ช่องว่างดังกล่าวลดลง แต่ในภาพรวมแล้ว ยังเป็นปัญหาใหญ่ ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนในประเทศ กำลังห่างออกไปเรื่อยๆ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก

• วิกฤติเศรษฐกิจโลก
ในอนาคต เศรษฐกิจโลกจะยังประสบกับปัญหาหลายเรื่อง ได้แก่ การไม่สมดุลในเศรษฐกิจ
มหภาค ความผันผวนของอัตราค่าเงิน วิกฤติทางการเงิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เป็นผลมาจากความตึงเครียด ระหว่างการผงาดขึ้นมา และความร่ำรวยของมหาอำนาจใหม่ ในขณะที่มหาอำนาจเก่า กำลังประสบกับภาวะหนี้สินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก คือ การประสานความร่วมมือกันในระดับโลก แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างประเทศต่างๆ

• ทรัพยากร
ปัญหาใหญ่ของโลกอีกเรื่อง คือ ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะ น้ำ อาหาร และ
พลังงาน การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากร และการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ ก่อให้เกิดความต้องการทรัพยากรอย่างมหาศาล นำไปสู่การขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต WEF ได้คาดการณ์ว่า ภายในช่วง 20 ปีข้างหน้า ความต้องการ น้ำ อาหาร และพลังงาน จะเพิ่มขึ้น ถึง 30-50 %

• ความมั่นคง
สำหรับปัญหาความมั่นคงในอนาคต จะมีหลายเรื่อง WEF ได้เน้นปัญหาการแพร่ขยาย
ของอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ไปสู่ประเทศต่างๆมากขึ้น อีกเรื่องที่ที่ประชุมให้ความสำคัญ คือ ปัญหาความมั่นคงในเครือข่าย internet ซึ่งจะมีหลายเรื่องที่จะเป็นปัญหาความมั่นคงในอนาคต อาทิ เรื่อง อาชญากรรมใน internet รวมไปถึง cyber warfare หรือ สงครามที่จะต่อสู้กันใน internet นอกจากนี้ เรื่องการก่อการร้าย ก็ได้เป็นเรื่องสำคัญของการประชุม โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดสนามบินที่กรุงมอสโก รวมถึงการเกิดเหตุการณ์จลาจลในตูนิเซีย และอียิปต์

• ความล้มเหลวของโลกาภิบาล
รายงานของ WEF ได้วิเคราะห์ว่า ในอนาคต จะมีปัญหาใหญ่ๆที่จะเกิดขึ้นหลายเรื่อง ซึ่งจะต้อง
มีกลไกในระดับโลกที่เรียกว่า โลกาภิบาล (global governance หรือ องค์กรโลก และกลไกในระดับโลก) มาจัดการกับปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของโลกในอนาคต คือ องค์กรโลก ที่ปรับตัวไม่ทันกับการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก ประเทศสมาชิกในองค์กรโลกขัดแย้งกันอย่างหนัก จนทำให้กลไก และองค์กรโลกเป็นอัมพาต ผลที่ตามมาคือ ความล้มเหลวของการเจรจา WTO รอบ Doha และความล้มเหลวของการเจรจาภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน และ แคนคูน สำหรับ G20 ซึ่งได้กลายเป็นกลไกใหม่ ในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจโลก ในการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุดที่เกาหลีใต้ ก็ประสบความล้มเหลวเช่นเดียวกัน

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Hu Jintao เยือนสหรัฐฯ

Hu Jintao เยือนสหรัฐฯ

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่28-วันพฤหัสบดีที่ 3 ก.พ. 2554

เมื่อช่วงวันที่ 18-21 มกราคมนี้ ประธานาธิบดี Hu Jintao ของจีน ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการเยือนดังกล่าว ดังนี้

แถลงการณ์ร่วม

เอกสารสำคัญระบุผลการหารือระหว่าง Hu Jintao กับประธานาธิบดี Barack Obama คือ เอกสารที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า US.-China Joint Statement หรือ แถลงการณ์ร่วมสหรัฐฯ-จีน ลงวันที่ 19 มกราคม 2011 ซึ่งในเอกสารดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

• ด้านการเมือง ความมั่นคง

ในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ทั้งสองฝ่าย ได้ตอกย้ำถึงบทบาทในเชิงบวกของอีกประเทศหนึ่ง
โดยสหรัฐฯยินดีที่จะเห็นจีนประสบความสำเร็จ มั่งคั่ง และเข้มแข็ง และมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ส่วนจีนก็ยินดีที่จะเห็นสหรัฐฯในฐานะประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่จะช่วยสร้างสันติภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาค

ส่วนประเด็นปัญหาไต้หวันนั้น จีนย้ำว่าปัญหาไต้หวันเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของจีน และ
หวังว่าสหรัฐฯจะเคารพในพันธกรณีในเรื่องนี้ ส่วนสหรัฐฯก็ย้ำว่า สหรัฐฯยังคงยึดนโยบายจีนเดียว และจะปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ

ทั้งสองฝ่ายต้องการเห็นความสัมพันธ์ทางการทหารกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยจะให้มีการติดต่อและหารือกันในทุกระดับ โดยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ Robert Gates เพิ่งเดินทางไปเยือนจีน เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ส่วนผู้นำทางทหารของจีน ก็กำลังจะเดินทางเยือนสหรัฐฯในช่วงกลางปีนี้

• ด้านเศรษฐกิจ

ในเอกสารของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้ข้อมูลภูมิหลังว่า จีนเป็นตลาดสำคัญของสหรัฐฯ โดย
ปริมาณการส่งออกของสหรัฐฯไปจีน มีมูลค่า ถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของสหรัฐฯในโลก รองจาก แคนาดา และเม็กซิโก

ในการเดินทางมาเยือนสหรัฐฯในครั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศรายการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง เครื่องบิน Boeing ชิ้นส่วนรถยนต์ สินค้าเกษตรและเคมี ซึ่งมีมูลค่ารวมกันถึง 45,000 ล้านเหรียญ

สำหรับในประเด็นเรื่องค่าเงินหยวนนั้น ในแถลงการณ์ร่วม จีนประกาศว่าจะให้มีการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน และจะให้ค่าเงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สำหรับเรื่องนี้ ต่อมาในการแถลงข่าว Obama ได้บอกว่า ได้พูดกับ Hu Jintao ว่า สหรัฐฯยินดีต่อการที่จีนจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในค่าเงินหยวน Obama บอกกับ Hu Jintao ว่า ค่าเงินหยวนยังมีค่าต่ำเกินไป และมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนใหม่

สำหรับความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนนั้น ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับ
ความสัมพันธ์ทางการค้าที่จะต้องมีความสมดุลมากขึ้น และจีนประกาศจะเพิ่มมาตรการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายประกาศเดินหน้าในการเจรจาสนธิสัญญาด้านการลงทุนระหว่างกัน

• ความร่วมมือในด้านอื่นๆ

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ร่วม ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในด้าน
พลังงาน ซึ่งได้มีการสานต่อจากแถลงการณ์ร่วมความร่วมมือทางด้านพลังงานที่ตกลงกันในช่วงที่ Obama เดินทางไปเยือนจีนในปี 2009 โดยได้มีกรอบความร่วมมือด้านพลังงานเกิดขึ้นหลายกรอบ อาทิ US.-China Clean Energy Research Center , Renewable Energy Partnership , Joint statement on Security Cooperation และ Energy Cooperation Program

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเพิ่มการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยสหรัฐฯประกาศแผน ที่จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาสหรัฐฯที่ศึกษาอยู่ในจีน ให้เพิ่มขึ้นถึง 1 แสนคน

สำหรับในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ทั้งสองฝ่ายตอกย้ำที่จะส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่าจีนกับสหรัฐฯจะมีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องนี้ก็ตาม ทั้งสองประเทศย้ำว่า แต่ละประเทศมีสิทธิที่จะเลือกวิถีทางของตนในการพัฒนาประเทศ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้มีการจัดเวทีหารือด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีชื่อว่า US.-China Human Rights Dialogue อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีรายงานข่าวว่า ในช่วงของการตอบคำถามผู้สื่อข่าวนั้น Hu Jintao ได้ยอมรับว่า ยังมีเรื่องที่จะต้องพัฒนาอีกมาก ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เราไม่ค่อยจะได้ยินจากผู้นำจีน ในเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ ซึ่งน่าจะเป็นความพยายามของจีนที่จะลดกระแสการต่อต้านจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่จีนเสียชื่ออย่างมาก ในเหตุการณ์การให้รางวัลโนเบลสันติภาพ แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในจีน

บทวิเคราะห์

ผมมองว่า การเยือนสหรัฐฯของ Hu Jintao ในครั้งนี้ เป็นไปตาม pattern ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่จะกลับไปกลับมา ระหว่างความขัดแย้งกับความร่วมมือ โดยลักษณะสำคัญของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ คือ จะมีทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือ ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง คือ การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว และทำให้สหรัฐฯมองว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งและท้าทายการเป็นเจ้าครองโลกของสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือ คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ จีน เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯในเอเชีย และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของสหรัฐฯในโลก

จากปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้ความสัมพันธ์มีทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือ และทำให้ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯต่อจีน มีลักษณะ กึ่งปิดล้อม กึ่งปฏิสัมพันธ์ โดยเน้นการปิดล้อมทางทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สัดส่วนของการปิดล้อมและการปฏิสัมพันธ์จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามสถานการณ์ ในสมัยของรัฐบาล Bush เน้นยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน แต่พอมาถึงสมัย Obama ในปีแรก คือ ปี 2009 Obama เน้นยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ เราจึงเห็นความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯดีขึ้นมาก แต่พอมาถึงปี 2010 ความสัมพันธ์กลับตาลปัตร โดยเกิดความขัดแย้งกันหลายเรื่องตลอดทั้งปี ตั้งแต่เรื่องไต้หวัน ดาไลลามะ สงครามค่าเงินหยวน สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะรางวัลโนเบลสันติภาพ รวมถึงความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ และในทะเลเหลืองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ Hu Jintao เดินทางไปเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ เป็นช่วงจังหวะที่จะกลับมาปรับความสัมพันธ์ และเน้นความสัมพันธ์ในแง่บวก ปฏิสัมพันธ์กันอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ จะเวียนกลับไปสู่ความขัดแย้งอีกครั้ง โดยมีหลายเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไต้หวัน ทิเบต สิทธิมนุษยชน ค่าเงินหยวน รวมทั้งความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก็ยังคุกรุ่นหลายเรื่อง พร้อมที่จะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้

ในปี 2011 และปี 2012 ความขัดแย้งน่าจะกลับมาตึงเครียด ยืดเยื้ออีกครั้ง ทั้งนี้ เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งในปีนี้ และปีหน้า จีนจะยังคงผงาดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้จีนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯมากขึ้น และสหรัฐฯก็จะตอบโต้จีนรุนแรงมากขึ้น สำหรับเรื่องค่าเงินหยวนน่าจะเป็นประเด็นความขัดแย้งต่อไป สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออก สหรัฐฯน่าจะดำเนินนโยบายในเชิงรุกต่อไป ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับจีนในอนาคต และยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนของสหรัฐฯก็จะเข้มข้นมากขึ้น

ปัจจัยที่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกปัจจัย คือ ตัวแสดงที่อยู่ในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะฝ่ายทหารของจีน ซึ่งมีท่าทีต่อต้านสหรัฐฯมาโดยตลอด มีแนวโน้มชาตินิยมมากขึ้น และมีแนวโน้มจะผลักดันยุทธศาสตร์ทางการทหารที่ก้าวร้าวมากขึ้น ส่วนการเมืองในสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มของกระแสการต่อต้านจีนหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาคองเกรส

ปัจจัยภายในอีกประการ โดยเฉพาะที่จะเกิดขึ้นในปี 2012 คือ การเปลี่ยนแปลงการเมืองภายใน โดยในปี 2012 จะมีการเปลี่ยนผู้นำจีนคนใหม่ แทน Hu Jintao ซึ่งแนวโน้มก็คือ ระหว่างการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ผู้นำคนใหม่ของจีน น่าจะชูกระแสชาตินิยมและแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯมากขึ้น สำหรับในสหรัฐฯปี 2012 ก็จะเป็นปีรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า จีนจะกลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการโจมตีหาเสียงเลือกตั้ง ในช่วงการเลือกตั้ง mid-term ที่ผ่านมา ก็ได้เห็นแล้วว่า จีนกลายเป็นเป้าสำคัญของการโจมตีหาเสียง และในปี 2012 ก็คาดได้ว่า การหาเสียงเลือกตั้งโดยการโจมตีจีน จะเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะนำไปสู่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯที่เข้าสู่จุดวิกฤติอีกครั้ง

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่อินโดนีเซีย

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่อินโดนีเซีย

ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 28 มกราคม 2554

เมื่อช่วงวันที่ 16-17 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่ Lombok อินโดนีเซีย คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้
การเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย

ปี 2011 อินโดนีเซียรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนต่อจากเวียดนาม โดยตามกฎบัตรอาเซียน อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 16-17 มกราคม ถือเป็นการจัดประชุมครั้งแรกที่อินโดนีเซียเป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย คือ Dr. R. M. Marty M. Natalegawa เป็นประธานการประชุม อินโดนีเซียได้ประกาศเป้าหมายหลัก 3 เรื่อง ที่อินโดนีเซียจะผลักดัน ในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เรื่องที่ 1 คือ การผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 เรื่องที่ 2 อินโดนีเซียจะทำให้สถาปัตยกรรมในภูมิภาคและสภาวะแวดล้อมในภูมิภาคเอื้อต่อการพัฒนา และเรื่องที่ 3 ซึ่งจะเป็น theme ของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย คือ “ASEAN Community in a Global Community of Nations” คือ การผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทในเวทีโลก ซึ่งจะเป็นเรื่องหลักที่จะมีการทำวิสัยทัศน์ในยุคหลังปี 2015

อาเซียนในเวทีโลก

อินโดนีเซียได้พยายามผลักดันอย่างมาก ในสิ่งที่เรียกว่า ASEAN Beyond 2015 Initiative โดยเน้นการเพิ่มบทบาทอาเซียนในเวทีโลก อินโดนีเซียให้เหตุผลว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 จะทำให้อาเซียนมีบทบาทความรับผิดชอบในเวทีโลกมากขึ้น อาเซียนจึงจะต้องเพิ่มบทบาท และเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการปัญหาสำคัญๆของโลก

สำหรับเอกสารผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศที่ Lombok ซึ่งได้เผยแพร่โดยกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียนั้น ได้กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการต่างๆ ในการที่จะเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในแง่ของการเสนอแนวคิด และการปฏิบัติ ในการจัดการกับปัญหาของโลกและของภูมิภาค ซึ่งบทบาทดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์อาเซียนในยุคหลังปี 2015 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน มีความเห็นว่า ประชาคมโลกได้เริ่มที่จะยอมรับบทบาทของอาเซียนในการจัดการกับปัญหาของโลก ดังนั้น ในอนาคต อาเซียนจะต้องมีบทบาทร่วมกัน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เน้นย้ำว่า บทบาทดังกล่าว จะอยู่ในแผนงานใหม่ของอาเซียนที่จะมีชื่อว่า “Blueprint of ASEAN Community 2022”

อาเซียนกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2030

และแนวคิดหนึ่งที่จะผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทในเวทีโลก คือการที่อาเซียนจะเสนอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030 โดยในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ Lombok ได้มีการหารือในเรื่องนี้ ซึ่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ อาเซียนอยู่ในขั้นเริ่มต้นในการหารือถึงผลกระทบ รวมทั้งกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ โดยมาเลเซียได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมเอกสารข้อเสนอการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030 เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤษภาคม ดร.สุรินทร์ได้กล่าวให้ความเห็นว่า หากอาเซียนสามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพได้สำเร็จ จะทำให้ภาพลักษณ์และสถานะของอาเซียนในประชาคมโลกได้รับการยกระดับขึ้นอย่างมาก รวมทั้งความเชื่อมั่นในอาเซียนก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีต่อการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย เพราะจะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของอาเซียนเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตลักษณ์อาเซียนด้วย ประชาชนอาเซียนจะมีความปรารถนาที่จะร่วมกันสร้างประชาคมในอนาคต

พม่า

อีกเรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ การหารือในเรื่องมาตรการคว่ำบาตรพม่า ซึ่งอาเซียนมีความเห็นว่า ควรจะมีการยกเลิก โดยที่ประชุมได้รับการชี้แจงจากรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าถึงความคืบหน้าในการเดินหน้าสู่การเป็นประชาธิปไตย ที่ประชุมเห็นว่า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของตะวันตกควรจะยุติ ทั้งนี้เพราะ พม่าได้เดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว โดยได้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว และต่อมาได้มีการปล่อยตัว นาง อองซาน ซูจี แล้ว อาเซียนเห็นว่า การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจะช่วยทำให้พม่าพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้

บทวิเคราะห์

• การเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย

ผมมองว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า อินโดนีเซียต้องการ
ที่จะกลับมามีบทบาทนำในอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่บทบาทได้ตกต่ำไปนาน โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว ขณะนี้ การเมืองและเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้กลับมามีเสถียรภาพแล้ว ทำให้ผู้นำอินโดนีเซียมีความฝันและทะเยอทะยานที่ต้องการเป็นผู้นำอาเซียน และต้องการที่จะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค จากการที่อินโดนีเซียได้เข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่ม G20 ทำให้ผู้นำอินโดนีเซียมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า อินโดนีเซียจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในปีนี้ ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียน ก็คือ การจะใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการผลักดันความฝันของ
อินโดนีเซียให้กลายเป็นจริง ดังนั้นในปีนี้ เราน่าจะเห็นอินโดนีเซียเล่นบทบาทนำ และเสนอความคิดริเริ่มใหม่ๆในอาเซียนหลายเรื่อง

• อาเซียนในเวทีโลก

theme ของอินโดนีเซีย ตามที่กล่าวแล้ว คือ “ASEAN Community in a Global Community of
Nations” คือ การที่จะทำให้อาเซียนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเวทีโลก ซึ่งผมมีความเห็นว่า ตามทฤษฎีแล้ว น่าจะดีสำหรับอาเซียน หากอาเซียนสามารถจะมีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีโลกได้ และมีบทบาทในการจัดการกับปัญหาของโลกได้ แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ในทางปฏิบัติ อาเซียนจะมีความสามารถในการเล่นบทบาทนี้ได้หรือ

ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในการเล่นบทบาทนี้ คือ การใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการ
ผลักดันให้อินโดนีเซียกลายเป็นมหาอำนาจ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกกับบทบาทของอินโดนีเซีย ในฐานะสมาชิก G20

ที่เป็นห่วงก็คือ อาเซียน คงจะเล่นบทบาทนี้ได้ยาก ขอให้ดูตัวอย่างปัญหาสำคัญของโลกในขณะนี้ และดูว่าอาเซียนได้มีบทบาทอย่างไร

- ทางด้านความมั่นคง มีปัญหาเรื่อง อาวุธร้ายแรง อิหร่าน การก่อการร้ายสากล และ
สงครามในภูมิภาคต่างๆ แต่อาเซียนก็แทบจะไม่มีบทบาทในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้เลย


- ทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องใหญ่คือ การเจรจา WTO รอบ Doha ซึ่งอาเซียนก็ไม่มีบทบาทที่
โดดเด่น มิหนำซ้ำ อาเซียนยังไม่มีบทบาทร่วมใน WTO ที่ผ่านมา ก็ต่างคนต่างเดิน มีลักษณะแพแตกกันหมด ส่วนวิกฤติการเงินโลก อาเซียนก็ไม่ได้มีบทบาทใดๆ กลไกสำคัญ คือ G20 ซึ่งตอนที่ไทยเป็นประธานอาเซียน นายกฯอภิสิทธิ์ได้รับเชิญไปประชุม แต่ก็ไม่มีบทบาทอะไร

- ตัวอย่างสุดท้ายคือ การเจรจาปัญหาภาวะโลกร้อน ก็เหมือนปัญหาโลกในเรื่องอื่นๆ
อาเซียนแทบจะไม่มีบทบาทใดๆเลย

จริงๆแล้ว ผมมองว่า อาเซียนไม่ควรทำเรื่องเกินตัว ผมมองว่า หลังปี 2015 อาเซียนยังคงมีปัญหาในการที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนมีความสมบูรณ์อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ปัญหาการบูรณาการในเชิงลึกและเชิงกว้าง ปัญหาการทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ปัญหาการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ปัญหาการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปัญหาการแก้กฎบัตรอาเซียน และปัญหาการขาดนโยบายร่วมกันของอาเซียน จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่ผมกล่าวมาข้างต้นก็เป็นโจทย์และการบ้านหนักสำหรับอาเซียนในยุคหลังปี 2015 อยู่แล้ว

•เจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030

ผมคิดว่าเป็นความคิดที่ดี ในการที่จะเสนอให้อาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกปี 2030 ผม
เห็นด้วยกับ ดร.สุรินทร์ที่มองว่า ถ้าหากอาเซียนสามารถเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกได้ จะทำให้สถานภาพของอาเซียนในเวทีโลกเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และจะมีส่วนช่วยในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย เพราะจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของอัตลักษณ์ร่วม ประชาชนในประเทศสมาชิก 10 ประเทศ จะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของอาเซียนร่วมกัน และจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

•พม่า

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะแสดงความเห็น คือท่าทีล่าสุดของอาเซียนในความต้องการให้
ตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรพม่า จริงๆแล้ว ท่าทีดังกล่าวของอาเซียน ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อาเซียนก็ยืนหยัดกับหลักการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับพม่ามาโดยตลอด และอาเซียนก็มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรของตะวันตกมาโดยตลอด เพียงแต่ว่า ที่ผ่านมา อาเซียนยังไม่สามารถหาเหตุผลมาสนับสนุนท่าทีของตนได้ แต่หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้เดินเกมส์อย่างแยบยล ให้มีการเลือกตั้ง และปล่อยตัว นาง อองซาน ซูจี จึงทำให้ขณะนี้อาเซียนมีความชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้ตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตร อย่างไรก็ตาม คงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า ทางตะวันตกจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่ผมเดาว่า ทั้งสหรัฐฯและยุโรป คงจะยึดนโยบายที่สหรัฐฯเรียกว่า practical engagement ต่อไป คือ นโยบายการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับพม่า แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมาตรการคว่ำบาตรไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรอง