Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นโยบายต่างประเทศของไทย (ตอนสุดท้าย)

นโยบายต่างประเทศของไทย (ตอนสุดท้าย)ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 36 วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม - วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2553

ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทย โดยเน้นข้อเสนอการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และบทบาทของไทยในอาเซียนไปแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ เป็นตอนสุดท้าย โดยจะวิเคราะห์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ
มหาอำนาจ
พอออกไปจากบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เป็นบริบทโลก ไทยจะมีจุดยืนอย่างไรในระบบโลก เพราะฉะนั้น เราต้องมาวิเคราะห์ก่อนว่า ระบบโลกขณะนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง จะมีเวทีพหุภาคีใหญ่ๆ เช่น UN WTO มีมหาอำนาจใหญ่ๆ เช่น สหรัฐ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เราจะวางจุดยืนของเราอย่างไร เราจะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับประเทศเหล่านี้ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่อีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าอเมริกากับจีน ก็ไม่ได้เห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ เอาใจจีนมาก อเมริกาก็ไม่พอใจ เอาใจอเมริกามาก จีนก็ไม่พอใจ ประเทศเล็กอย่างเราจะทำอย่างไร

คำตอบคือ ประเทศไทยของเราถือว่าโชคดี ในแง่ที่ว่า เราคนไทย มีความสามารถในเรื่องของการเอาตัวรอดได้สูง เรามีไหวพริบดีในเรื่องของการเอาตัวรอด ในเรื่องภัยอันตรายต่างๆที่จะเข้ามา รู้โอกาสต่างๆ ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เราสามารถคบค้าสมาคมกับมหาอำนาจต่างๆ จักรวรรดินิยมตะวันตก เราก็เข้าได้หมด สมัยล่าอาณานิคม สมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 เราก็เอาตัวรอดมาได้ สาเหตุที่เราไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เราสามารถเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เพราะว่า เราใช้การทูต เราเล่นกับอังกฤษ ฝรั่งเศส เราสามารถเล่นนโยบาย ที่ทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจได้หมด จุดแข็งของเราคือ เรามีความสามารถที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจได้ ซึ่งต่างจากจุดอ่อนของไทย ที่เราไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีนัก กับประเทศเพื่อนบ้าน

ทีนี้ พอมาพูดถึงเรื่องมหาอำนาจ ก็พูดสบายขึ้นมาก เพราะนี่เป็นจุดแข็งของเรา เราเก่งในเรื่องของการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ยิ่งใหญ่ในโลก
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดเรื่องความสัมพันธ์ไทยกับอเมริกา ก็สบาย เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอด นับตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ที่พอมีคอมมิวนิสต์มา เราก็เข้าได้กับอเมริกา หลังจากนั้น เราก็ติดต่อคบหาสมาคมมาโดยตลอด ตอนนี้ เราเป็นพันธมิตรทางทหารกับอเมริกา มีการซ้อมรบ Cobra Gold ทุกปี การซ้อมรบนี้ เป็นการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตลาดที่สำคัญที่สุดของไทย ในเรื่องของการส่งออก ยังเป็นตลาดสหรัฐ ดังนั้น ในแง่ของอเมริกา ความสัมพันธ์ก็ไปได้ดี

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ อเมริกาก็พยายามมาสนิทกับเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย เขามีทางเลือกมากขึ้น ตีสนิทกับหลายคนมากขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว ไทยยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดต่อเขาอยู่ดี คือเวลาเขาบอกนโยบายของอเมริกา เขาบอกอย่างชัดเจนว่า เขามีพันธมิตรทางทหารในเอเชียอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย แล้วก็ ไทย กับฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นพันธมิตร 5 ประเทศ ถือว่าไทยมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิเศษกับอเมริกา ดังนั้น เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่เป็นพิเศษกับเขาต่อไป เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของเรา

ในปัจจุบัน โลกมีอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียว คือ อเมริกา แต่เรากำลังมองเห็นว่า โลกกำลังเริ่มเปลี่ยน คือ ค่อยๆ มีคนอื่นผงาดขึ้นมา เช่น จีน และอินเดีย ซึ่งตอนนี้มาแรงมาก ดังนั้น เราจะคบกับอเมริกาประเทศเดียวไม่ได้ ไทยจึงเริ่มเปลี่ยนและรู้ทิศทางลมอยู่แล้วว่า จีนกำลังมาแรง

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราเริ่มกลับมาตีสนิทจีน ความสัมพันธ์ไทยจีนตอนนี้ก็ดีมากขึ้นเรื่อยๆ และเราได้เปรียบอีก เพราะว่าไทยกับจีนมีความใกล้ชิดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา และเราก็มีข้อได้เปรียบ ในแง่ของความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม คือเรื่องของสายเลือด คนไทย คนจีน เรียกได้ว่า เป็นพี่น้องกันได้เลย ทำให้ไทยกับจีนมองตา ก็รู้ว่าเราเข้ากันได้

ผมว่า ในอาเซียน จีนเขามองว่า เขาสนิทกับไทยมากที่สุด ทำให้เราได้เปรียบประเทศอาเซียนอื่น เช่นเปรียบเทียบกับเวียดนาม จีนเคยไปยึดเขา ลึกๆ เวียดนามก็ไม่ชอบจีน ส่วนมาเลเซีย มีปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ดังนั้น มาเลเซียจึงยังมีความหวาดระแวงจีนอยู่ ส่วนสิงคโปร์ ซึ่งแม้ว่าจะมีเชื้อสายเป็นจีน แต่ก็เป็นประเทศเล็ก ดังนั้น เขาก็มองว่า จีนอาจเข้ามาครอบงำภูมิภาคนี้ เขาก็จะลำบาก จึงพยายามดึงอเมริกามาถ่วงจีน ก็เล่นเกมนี้อยู่ ส่วนอินโดนีเซีย คิดว่า เขาใหญ่ มีประชาชน 240 ล้านคน จะเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ก็ไม่อยากให้จีนมาวุ่นวาย สรุปแล้วไทยได้เปรียบกว่าเพื่อนในแง่ของจีน ผมจึงไม่ค่อยห่วง เพราะไทยรู้ทิศทางลม และใกล้ชิดสนิทสนมกันอยู่แล้ว

แต่จะมีปัญหาในเรื่องของอนาคต ที่จีนกับอมริกาเริ่มจะแข่งขันกัน เราจึงอาจไม่รู้ว่าจะวางตัวอย่างไร แต่ผมว่า ไทยสามารถที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีได้ ในแง่ที่ว่า เราใกล้ชิดกับจีนและอเมริกา ในที่สุดแล้ว เราก็ตีสนิทกับทั้งสองประเทศนี้ได้

อาจจะมีหลายคนสงสัยว่า จีนจะกลัวหรือไม่ ที่เราซ้อมรบกับอเมริกา Cobra Gold เป็นหนึ่งใน 5 ชาติที่อเมริกาถือว่าเป็นพันธมิตรทางทหาร จีนจะรู้สึกน้อยใจไหมว่า ถ้าหากต้องเลือกข้าง ไทยจะเลือกอเมริกา ไม่เลือกข้างจีน
คำตอบคือ ผมมองว่า จีนรู้ดีว่า เรามีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางทหารกับอเมริกา และขณะนี้ อเมริกายังครอบงำบทบาททางทหารในภูมิภาคอยู่ จีนยังไม่มีบทบาททางทหารมากนัก แต่จะมีบทบาทด้านเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า เขารู้ข้อจำกัดของเขา ดังนั้น จุดยืนของเราคือต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งจีนและอเมริกา

แต่ตอนนี้มหาอำนาจมีมากกว่าสองประเทศนี้ เพราะมีอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
อินเดียเป็นประเทศใหญ่ ในอนาคต อาจมีขนาดเศรษฐกิจที่ไล่เลี่ยกับจีน ขณะนี้ เราเริ่มจะปูทาง โดยหันไปตีสนิทกับอินเดียแล้ว และความสัมพันธ์มีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ผมจึงไม่ห่วง เรื่องความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ เพราะเราเล่นได้หมด

ส่วนญี่ปุ่น เราก็สนิทกันมาก เราได้หมด ตรงนี้ คือจุดแข็งของเราที่ผมคิดว่า เราสามารถที่จะเดินหน้าตรงนี้ต่อไปได้

ส่วนรัสเซีย ถือว่าเป็นมหาอำนาจที่อยู่ไกลออกไป มีบทบาทต่อภูมิภาคนี้ไม่มากนัก แต่ไทยก็สนิทกับรัสเซียมากขึ้น แต่เขามีข้อจำกัดในเรื่องของประชากร ที่มีแค่ร้อยกว่าล้านคน ประชากรมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น aging society และเศรษฐกิจก็พึ่งพาด้านส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ศักยภาพจึงไม่เท่าไหร่ ส่วนบราซิลก็อยู่ไกลออกไป ความสัมพันธ์จึงยังไม่มีอะไรมากนัก

ส่วนภูมิภาคอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง ผมคิดว่า เราคงจะเน้นในเรื่องของน้ำมัน เป็นอีกตลาดหนึ่ง ที่จะเป็นตลาดทางเลือกของเรา ผมคิดว่า ไทยมองอยู่แล้วว่า เราจะต้องกระจายความเสี่ยงมากขึ้น กระจายตลาดมากขึ้น หมายถึงว่า เราต้องลดการพึ่งพิงตลาดอเมริกาลง และไปหาตลาดตะวันออกกลางและอเมริกาใต้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

Grand Strategy
รัฐบาลขณะนี้ ที่ผ่านมาหนึ่งปี ผมจับตาดูอยู่ ผมว่า นโยบายในเชิงรุกน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะวิกฤตการเมืองภายใน ทำให้การทูตเราไม่ไหลลื่น ข้อเสนอของผมคือ จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ คือต้องมี ยุทธศาสตร์ใหญ่ grand strategy เราไม่มียุทธศาสตร์ใหญ่ คือ ต้องมียุทธศาสตร์ต่อเพื่อนบ้าน ต้องมีการปรับความสัมพันธ์ ฟื้นฟูความสัมพันธ์โดยเร็ว ต้องแก้เรื่องความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน การแก้รากเหง้าของปัญหา ต้องมียุทธศาสตร์ว่า เราจะเอายังไงกับอาเซียน APEC เวทีพหุภาคีต่างๆ ไม่ใช่ว่า สักแต่ว่าไปประชุม แต่เราต้องมีการทำการบ้านอย่างดี ต้องมีความคิดริเริ่ม ต้องผลักดัน ที่เป็นลักษณะของการนำความคิดริเริ่มใหม่ๆ เข้าไปเสนอในที่ประชุม เพราะตราบใดที่เราเดินตามเขา เราก็จะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ และกับประเทศมหาอำนาจก็เช่นกัน เราต้องมี grand strategy ที่จะใช้กับเขาเช่นกัน