Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วิกฤตเศรษฐกิจโลก : ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก

วิกฤตเศรษฐกิจโลก : ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก

วิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปีแล้ว ยังกำลังจะส่งผลกระทบต่อระบบโลกโดยรวม ต่อระบบการเมืองโลก ต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะต่อบทบาทของมหาอำนาจในโลก

ผลกระทบต่อสหรัฐฯ และตะวันตก

วิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 ผลกระทบที่สำคัญที่สุดต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกคือ ทำให้อำนาจของสหรัฐฯ และตะวันตกตกต่ำลง วิกฤตคราวนี้ได้ทำให้บางประเทศอ่อนแอลง และบางประเทศเข้มแข็งขึ้น ประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด คือ การที่วิกฤตได้ทำให้อำนาจของสหรัฐฯ ตกต่ำลง ได้ทำลายชื่อเสียงของอเมริกาในฐานะผู้นำโลกลง ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของตะวันตก โดยในอนาคตตะวันตกคงจะไม่มีทรัพยากรที่จะทำให้สามารถเล่นบทบาทเป็นผู้นำโลกได้ ความอ่อนแอของตะวันตกในครั้งนี้ ได้ชี้ชัดว่า ระบบโลกกำลังจะแปรเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้วอำนาจที่มีสหรัฐฯเป็นศูนย์กลาง ไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจที่มีมหาอำนาจอื่น ๆ มีบทบาทมากขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานประจำปี วิเคราะห์ภัยคุกคามต่อสหรัฐในปี 2009 และนับเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ได้ยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกกำลังจะเป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ต่อสหรัฐฯ วิกฤตจะส่งผลต่อสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ และถ้าวิกฤตยืดเยื้อยาวนาน จะส่งผลต่อผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มากขึ้น

สหรัฐฯ กำลังจะสูญเสียสถานะความเป็นอภิมหาอำนาจในระบบการเงินโลกหรือไม่ นิวยอร์กจะสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินโลกหรือไม่ และสถานะของเงิน
ดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือไม่

นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างต่อ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington consensus) ซึ่งเป็นหลักการเศรษฐกิจ ที่ครอบงำโลกอยู่ โดยเน้นหลักกลไกตลาดและการเปิดเสรี แต่หลังจากเกิดวิกฤตการเงินครั้งนี้ ได้ทำให้ฉันทามติวอชิงตันสั่นคลอนลงไปมาก และยังได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างต่อหลักการเปิดตลาดเสรี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายการเปิดตลาดเสรีกับประเทศต่าง ๆ ขณะนี้ มีแนวโน้มของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทมากขึ้นของภาครัฐ และบทบาทที่ลดลงของเอกชน แนวโน้มดังกล่าวย่อมจะทำให้ฉันทามติวอชิงตันเสื่อมความนิยมลง นอกจากนี้ การที่รัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรปได้เข้าแทรกแซงระบบ เศรษฐกิจครั้งใหญ่ ก็เท่ากับเป็นการทำลายหลักการฉันทามติวอชิงตันของตนเอง

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ยังได้ส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ เห็นได้จากการประชุมสุดยอด G20 ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่ลดลงของสหรัฐฯ และอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่

มีแนวโน้มว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้สหรัฐฯ และยุโรป จะต้องให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้บทบาทในเวทีโลกลดลง และความยุ่งยากของวิกฤตการเงินจะทำให้ตะวันตกไม่สามารถผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในเวทีโลกได้
การผงาดขึ้นมาของจีน

วิกฤตเศรษฐกิจโลกคราวนี้ ไม่ได้เป็นวิกฤตสำหรับทุกประเทศ บางประเทศก็เป็นโอกาสทอง และเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส และประเทศที่กำลังอยู่ในสถานะนั้น ก็คือจีนนั่นเอง
ถึงแม้จีนอาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากวิกฤต โดยการส่งออกลดลง และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง แต่โดยภาพรวมแล้ว จีนถือว่าอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเพื่อน จีนมีระบบการเงินที่เป็นระบบปิดจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤตการเงินโลก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมีมากมายมหาศาลถึงสองล้านล้านเหรียญ จึงทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และในขณะที่สภาพเศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศจะติดลบเกือบหมด แต่เศรษฐกิจในปีนี้ของจีนจะโตถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์

แนวโน้มโลกในขณะนี้ก็คือการผงาดขึ้นมาของจีน ในขณะที่สัดส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อเศรษฐกิจโลกลดลงเรื่อย ๆ คือลดลงจาก 50 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียงไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน แต่สัดส่วนเศรษฐกิจของจีนต่อเศรษฐกิจโลกกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอีกไม่นาน เศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนก็จะแกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้บทบาทและอิทธิพลของจีนในระบบโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
การผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของจีน จะทำให้จีนสามารถดำเนินนโยบายการทูตในเชิงรุก โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เพื่อส่งออกตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน จีนจะอยู่ในสถานะที่จะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศยากจน และจะเข้าไปลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติซึ่งจีนมีความต้องการอย่างมาก จีนกำลังมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีนก็กำลังจะขยายอิทธิพลสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ในอนาคต
เราได้เริ่มเห็นแล้วว่า สหรัฐฯ ก็เริ่มมีท่าทีที่อ่อนลงต่อจีน โดยรัฐบาลโอบามากำลังพยายามกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น สหรัฐฯให้ความสำคัญกับจีนใน G20 มากขึ้น และบทบาทของจีนใน IMF ก็เพิ่มขึ้นจากการที่จีนประกาศเพิ่มเงินลงขันมากขึ้นใน IMF นอกจากนี้โอบามายังได้ให้ความมั่นใจต่อจีนว่า การลงทุนของจีนในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเงินถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญนั้น จะมีความมั่นคงปลอดภัย
นอกจากนี้ จีนยังได้พยายามใช้โอกาสจากวิกฤต ในการแสดงให้โลกเห็นว่า ตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่เน้นการมีบทบาทของภาครัฐนั้น ดีกว่าตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั่นก็หมายความว่า “ฉันทามติวอชิงตัน” กำลังถูกท้าทายจาก “ฉันทามติปักกิ่ง”

ผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ

ดังนั้น ในขณะที่จีนคือผู้ชนะจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ แต่ประเทศตะวันตกและประเทศอื่น ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นผู้แพ้

ประเทศ ต่างๆ ในโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤต ในอดีต สถาบันการเงินในตะวันตกเป็นกลไกในการปล่อยสินเชื่อให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่หลังจากเกิดวิกฤต เงินทุนไหลเข้าก็สะดุดหยุดลง และได้มีการถอนเงินทุนครั้งใหญ่ ทำให้ระบบการเงิน ตลาดหุ้น ในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงจากวิกฤตเศรษฐกิจก็คือ วิกฤตอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและถึงขั้นอาจนำไปสู่สงคราม เราคงจำกันได้ดีว่า วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกในช่วงทศวรรษ 1930 ได้นำไปสู่การผงาดขึ้นมาของเยอรมนีที่มีผู้นำคือ อิตเลอร์ ซึ่งในที่สุดนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

นอกจากนี้ วิกฤตกำลังนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของนโยบายการกีดกันทางการค้า สงครามการค้า และลัทธิชาตินิยม วิกฤตคราวนี้อาจทำให้มีการตกงานมากถึง 50 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งก็จะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ นำไปสู่การกีดกันทางการค้าและกระแสลัทธิชาตินิยมที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต