Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บทความจาก Guru by Truelife

บทความคอลัมน์ "โลกปริทรรศน์" ของ Guru by Truelife

ใน http://guru.truelife.com/profile/66776


1. วิกฤตการเงินโลก ปี 2011?
2. วิกฤตการเงินโลกปี 2011? (ตอนที่ 2)
3. วิกฤตลิเบีย
4. ลิเบียในยุคหลัง Gaddafi
5. ลิเบียในยุคหลัง Gaddafi (ตอนที่ 2)
6. ลิเบียในยุคหลัง Gaddafi (ตอนที่ 3)
7. ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011
8. ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ปี 2011
9. วิกฤต Eurozone : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 1)
10. วิกฤต Eurozone : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 2)
11. สงครามค่าเงิน ปี 2011
12. Clinton ประกาศนโยบายต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนที่ 1)
13. Clinton ประกาศนโยบายต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนจบ)
14. ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนที่ 2)
15. วิกฤต Eurozone : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 3)
16. Obama ประกาศนโยบายทหารต่อเอเชีย ปี 2011
17. ประเมิน 3 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาล Obama (ตอนที่ 1)
18. ประเมิน 3 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาล Obama (ตอนจบ)
19. แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2012 (ตอนที่ 1)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 5)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 5)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2554

สถานการณ์ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤต Eurozone คือ ได้มีการประชุมสุดยอด EU ไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว และแนวโน้มของวิกฤตในอนาคต

การประชุมสุดยอด

วิกฤต Eurozone ยืดเยื้อมานานหลายเดือน และทำท่าจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ EU ก็ร้อนตัวมากขึ้น ได้มีการจัดประชุมสุดยอดไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะกอบกู้วิกฤตได้อย่างเป็นรูปธรรม ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์กลับทรุดหนักลงเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงได้มีการจัดประชุมสุดยอด EU ครั้งล่าสุด ที่กรุงบรัสเซลส์

ในตอนแรก เป็นการประชุมผู้นำของสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ เยอรมนีกับฝรั่งเศสพยายามผลักดันการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ของ EU ขึ้น เพื่อให้มีบูรณาการทางการเงินที่เข้มข้น อย่างไรก็ตาม การจัดทำสนธิสัญญาของ EU ทั้ง 27 ประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะอังกฤษได้ออกมาคัดค้านโดยนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ คือ David Cameron มองว่า สนธิสัญญาดังกล่าวจะกระทบต่อผลประโยชน์ของอังกฤษ และจะทำให้ลอนดอนสูญเสียบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป
ดังนั้น จึงได้มีการเปลี่ยนแผนมาเป็นการจัดทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาล 23 ประเทศ โดยมีสมาชิก Eurozone 17 ประเทศ บวกกับสมาชิก EU แต่ไม่ใช่สมาชิก Eurozone อีก 6 ประเทศ เข้าร่วมด้วย

ข้อตกลงดังกล่าว เป็นแผนร่วมกันของเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่จะมีมาตรการในการลงโทษประเทศสมาชิก หากไม่มีวินัยทางการเงินการคลัง จะมีการเพิ่มบทบาทให้กับคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ European Commission ในการเข้ามาตรวจสอบงบประมาณของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะจะมีมาตรการลงโทษสำหรับประเทศสมาชิกที่มีปัญหาเรื่องการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งก็จะทำให้นโยบายเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกมีเสถียรภาพและวินัยมากขึ้น และจะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจให้เกิดกับเงินยูโรขึ้นอีกครั้ง
ผู้นำของเยอรมนี คือ Angela Merkel เล่นบทบาทเป็นผู้นำในการผลักดันข้อตกลงดังกล่าว โดยได้กล่าวว่า ทางเดียวที่จะกอบกู้วิกฤต Eurozone และจะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีก คือ จะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเงินในสนธิสัญญาของ EU และมีการกำหนดบทลงโทษต่อประเทศสมาชิกที่ขาดวินัยทางการเงิน Merkel ต้องการให้ประเทศสมาชิก Eurozone เลียนแบบเยอรมนีในเรื่องวินัยทางการเงิน นอกจากนี้ เยอรมนีและสเปนได้บรรจุเรื่องวินัยทางด้านงบประมาณไว้ในรัฐธรรมนูญของทั้ง 2 ประเทศแล้ว และต้องการให้ประเทศอื่นทำตาม

นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะมีการเพิ่มบทบาทให้กับธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) โดย ECB จะมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปซื้อพันธบัตรของประเทศ Eurozone ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง และลดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ และการแพร่ระบาดของวิกฤตการณ์ทางการเงิน

แนวโน้ม

• ภาพรวม
ข้อตกลงดังกล่าวอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวิกฤต Eurozone หากสามารถทำให้ตลาดการเงินมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในเรื่องของงบประมาณของประเทศสมาชิก ซึ่งก็อาจจะทำให้ประเทศสมาชิกฟื้นตัวจากวิกฤตหนี้ได้ ข้อตกลงดังกล่าวอาจเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของบูรณาการทางการเงินของยุโรป

• อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่แน่นอนว่า ข้อตกลงดังกล่าว จะสามารถกอบกู้วิกฤต Eurozone ได้อย่างแท้จริงได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะข้อตกลงดังกล่าว แม้จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่ขณะนี้ ยังมีปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น ที่ยังเป็นวิกฤต แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้

• โจทย์แรก คือ ปัญหาของธนาคารในยุโรป แม้ว่าจะมีการเพิ่มทุน 1 แสนล้านยูโร แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยุโรปได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีปัญหาหนี้ เป็นเงินกว่า 4 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งหากรัฐบาลเหล่านี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารต่างๆก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และอาจนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจของยุโรปได้
• โจทย์ที่ 2 คือ ปัญหาของกรีซ และการแพร่ระบาดของวิกฤตการเงิน ซึ่งยังคงไม่หยุด กรีซยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะผิดนัดชำระหนี้ และล้มละลาย ซึ่งในที่สุด กรีซอาจจะถูกกดดันให้ถอนตัวออกจาก Eurozone นอกจากนั้น ยังไม่มีความแน่นอนว่า ธนาคารต่างๆจะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ได้หรือไม่

• โจทย์ที่ 3 คือ สถานการณ์ของอิตาลีและสเปนที่กำลังทรุดหนักลงเรื่อยๆ กองทุน EFSF ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเงินเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ขณะนี้ก็มีเพียง 5 แสนล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งคงจะไม่เพียงพอ หากวิกฤตลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน

• โจทย์ที่ 4 คือ สถานการณ์ความเชื่อมั่นของ Eurozone ยังคงทรุดหนักลงเรื่อยๆ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard and Poor หรือ S&P ได้ออกมาคาดการณ์ว่า มีโอกาสถึง 50% ที่ประเทศสมาชิก Eurozone 6 ประเทศ รวมถึงฝรั่งเศสและเยอรมนี อาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง จากระดับ AAA ซึ่งการประกาศดังกล่าว มีผลทำให้ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมของประเทศ Eurozone เพิ่มมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าว อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้ ทำให้เกิดการหวาดกลัวว่า Eurozone จะเข้าสู่ภาวะแห่งการแตกสลาย

• สุดท้าย ผลกระทบของการจัดทำข้อตกลงและผลการประชุมในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า EU กำลังแตกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็น Eurozone กับ ส่วนที่อยู่นอก Eurozone และทั้ง 2 ส่วนก็กำลังพัฒนาไปคนละทิศคนละทาง ที่ชัดเจนที่สุด คือ บทบาทของอังกฤษ ที่คัดค้านแนวคิดของเยอรมนีและฝรั่งเศสอย่างหนัก การแตกแยกครั้งใหญ่ใน EU ครั้งนี้ อาจจะมีนัยยะสำคัญยิ่งต่อวิวัฒนาการของ EU ในอนาคต โดยเฉพาะที่ต้องจับตามอง คือ แนวโน้มของอังกฤษ ที่กำลังถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคต อังกฤษอาจจะแยกตัวออกจาก EU ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบูรณาการของ EU ในอนาคต

ผลการประชุมภาวะโลกร้อนที่อัฟริกาใต้

ผลการประชุมภาวะโลกร้อนที่อัฟริกาใต้

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 – วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2554

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา การประชุมภาวะโลกร้อนครั้งล่าสุด ที่เมือง Durban ประเทศอัฟริกาใต้ ได้ปิดฉากจบลง ด้วยความสำเร็จในระดับหนึ่ง คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

ปัญหาภาวะโลกร้อน ถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของโลกปัญหาหนึ่ง แต่การประชุมที่โคเปนเฮเกน ในเดือนธันวาคม ปี 2009 ก็ประสบความล้มเหลว โดยมี 4 เรื่องใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรก คือ รูปแบบของข้อตกลง ประเทศยากจนต้องการต่ออายุพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่ เรื่องที่ 2 คือการกำหนดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ประเทศยากจนต้องการให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส แต่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา เรื่องที่ 3 คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซลง40% ภายในปี 2020 และเรื่องที่ 4 คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน ประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1% ของ GDP

Durban Platform

สำหรับการประชุมภาวะโลกร้อนครั้งล่าสุด ที่เมือง Durban หลังจากเจรจาต่อรองกันอย่างยืดเยื้อ ในวันที่ 11 ธันวาคม ก็สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ที่ประชุมตกลงที่จะให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Working Group on the Durban Platform for Enhanced Actions คณะทำงานดังกล่าวจะทำหน้าที่เจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของพิธีสาร (protocol) หรืออาจจะเป็นในรูปของข้อตกลงในลักษณะอื่นๆที่มีผลทางกฎหมาย (legal instrument or legal outcome) ที่ประชุมได้ตั้งเป้าว่า จะสามารถจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ให้เสร็จภายในปี 2015 และจะให้มีผลบังคับใช้ในปี 2020 ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศสมาชิก ซึ่งจะแตกต่างจากพิธีสารเกียวโต ที่มีผลบังคับใช้กับเพียงประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศร่ำรวยเท่านั้น

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการตกลงในการจัดตั้ง Green Climate Fund โดยจะเป็นกองทุนวงเงิน 1 แสนล้านเหรียญต่อปี ที่ประเทศร่ำรวยจะลงขันกัน เพื่อใช้เป็นเงินช่วยเหลือประเทศยากจน ภายในปี 2020 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดว่า แหล่งเงินจำนวนมหาศาลนี้จะมาจากไหน

ท่าทีของประเทศต่างๆ

สำหรับในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากอดีตที่การเจรจาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายระหว่างกลุ่มประเทศยากจนกับกลุ่มประเทศร่ำรวย แต่ในครั้งนี้ เส้นแบ่งระหว่างประเทศรวยและประเทศจนได้จางหายไป โดยได้มีการจับมือกันของสหภาพยุโรปกับกลุ่มประเทศ AOSIS (Alliance of Small Island States) และกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) ในขณะที่ท่าทีของประเทศยากจน ก็แตกต่างจากท่าทีของกลุ่ม BASIC โดยเฉพาะ บราซิล อัฟริกาใต้ อินเดีย และจีน

จะเห็นได้ว่า การงัดข้อกันระหว่าง 2 กลุ่ม รวย-จน ที่ในอดีต ทำให้การเจรจาติดขัดชะงักงัน ได้เปลี่ยนแปลงไป ประเทศร่ำรวยก็แตกคอกัน โดยเฉพาะระหว่าง EU กับ สหรัฐฯ ในขณะที่กลุ่มประเทศยากจนก็เป็นการแตกคอกันระหว่างประเทศยากจนส่วนใหญ่ กับ จีนและอินเดีย

ข้อเสนอ Durban Platform ในครั้งนี้ เป็นการผลักดันของ EU ร่วมกับ AOSIS และกลุ่ม LDCs โดยได้ผลักดันให้มีการจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้กับทุกประเทศสมาชิก ในขณะที่กลุ่ม BASIC ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอินเดีย มีท่าทีต่อต้านมากที่สุด อินเดียมองว่า ควรจะมีการแบ่งกลุ่ม เป็นกลุ่มประเทศยากจนกับกลุ่มประเทศร่ำรวยเหมือนเดิม และมองว่า ประเทศตะวันตกไม่ยอมตัดลดก๊าซเรือนกระจกตามที่สัญญา และกำลังจะผลักภาระมาให้ประเทศยากจน ส่วนจีน ก็มีท่าทีเหมือนอินเดีย โดยมองว่า ประเทศร่ำรวยไม่ยอมทำตามสัญญา

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม AOSIS และกลุ่ม LDCs มองว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อตกลงฉบับใหม่ และมองว่า ประเทศร่ำรวยจะต้องตัดลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน มหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ก็จะต้องตัดลดก๊าซเรือนกระจกของตนลงด้วย เพื่อที่จะให้บรรลุเป้า ที่จะไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

เห็นได้ชัดว่า ตัวแสดงที่เป็นพระเอกและมีบทบาทนำในครั้งนี้ คือ EU ซึ่งบทบาทของ EU ได้รับความชื่นชมจากประเทศยากจน ซึ่งสนับสนุนท่าทีของ EU จึงทำให้อินเดียและจีน ตกอยู่ในสถานะลำบาก เพราะขาดแนวร่วม ส่วนสหรัฐฯนั้น ก็เปลี่ยนบทบาทไปมาก จากในการประชุมโคเปนเฮเกนที่เล่นบทบาทนำ แต่ในคราวนี้ สหรัฐฯเล่นบทบาท low profile อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็คงจะไม่พอใจนัก ต่อการที่การเจรจาในกรอบของ UN ได้เดินหน้าต่อไปได้

แนวโน้ม

• ถึงแม้ว่า การประชุมคราวนี้จะถือว่า ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ถือเป็นการต่อชีวิตเวทีการเจรจาในกรอบของ UN และเป็นการพลิกฟื้นบทบาทของ UN และทำให้บทบาทของสหรัฐฯลดลง รวมทั้งแนวทางของสหรัฐฯ ที่เน้นหลักการตัดลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ โดยข้อตกลงฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม Durban Platform ถือเป็นเพียงข้อตกลงที่จะเริ่มการเจรจากันเท่านั้น แต่การเจรจายังไม่ได้เริ่ม และเมื่อมีการเจรจาจริง ก็จะมีอุปสรรคนานัปการ ที่อาจจะทำให้การเจรจาประสบความล้มเหลวในอนาคตได้

• รูปแบบข้อตกลง : จากผลการประชุมครั้งนี้ ชี้ให้เห็นชัยชนะของประเทศร่ำรวย ที่จะให้มีการจัดทำข้อตกลงใหม่ แทนที่พิธีสารเกียวโต อย่างไรก็ตาม ยังตกลงกันไม่ได้ว่า ข้อตกลงฉบับใหม่จะเป็นไปในรูปแบบใด คือ อาจจะเป็นในรูปพิธีสาร หรืออาจจะเป็นแค่ legal instrument หรือ legal outcome

• แต่เรื่องที่ใหญ่ที่สุดในการเจรจาในอนาคต คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคงจะมีปัญหาแน่นอน เพราะท่าทีเดิมของประเทศยากจน คือ ต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซลง 40% ภายในปี 2020 แต่ประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย โดยมองว่า หากต้องปรับลดก๊าซลง 40% ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศตน

ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯต่อเอเชีย

ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯต่อเอเชีย

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2554

Grand Strategy

ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า สำหรับยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคเอเชีย ก็เหมือนกับยุทธศาสตร์ในระดับโลก คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค แต่การผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้ในอนาคต จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ยุทธศาสตร์การปิดล้อมและสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิทธิพลของจีนในภูมิภาคได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐฯก็ลดลงไปเรื่อยๆ สหรัฐฯจึงได้ข้อสรุปว่า จะอยู่เฉยๆไม่ได้ และจะต้องดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพื่อแข่งกับจีน เพื่อปิดล้อมและสกัดกั้นอิทธิพลของจีน

ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล Obama ปี 2010

ในสมัยรัฐบาล Obama สหรัฐฯประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ต้องการใกล้ชิดกับอาเซียนมากขึ้น โดยได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯครั้งแรกขึ้น ในปี 2009 ต่อมา ในปี 2010 สหรัฐฯก็มีความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงรุกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน และการเปิดแนวรุกทางการทูตใหม่กับประเทศในอินโดจีน ในกรอบของ US- Lower Mekong Initiative ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการทหาร

อีกเรื่องที่แสดงให้เห็นยุทธศาสตร์ในเชิงรุกของสหรัฐฯในภูมิภาค คือ การจุดชนวนปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ โดยในระหว่างการประชุม ARF ในเดือนกรกฎาคม ปี 2010 สหรัฐฯได้ประกาศท่าทีว่า สหรัฐฯจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ เห็นได้ชัดว่า เป็นการฉวยโอกาสที่สหรัฐฯจ้องมองอยู่นานแล้ว ที่จะเข้าแทรกแซงในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน

ยุทธศาสตร์ ปี 2011

สำหรับในปี 2011 นี้ สหรัฐฯยังเดินหน้ายุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคอย่างเข้มข้น และอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี

• Obama ประกาศนโยบายสหรัฐฯต่อภูมิภาค
ไฮไลท์ของยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อภูมิภาค เกิดขึ้นในระหว่างการเยือนออสเตรเลียของ Obama สุนทรพจน์ที่ Obama กล่าวต่อรัฐสภาของออสเตรเลียในวันที่ 17 พฤศจิกายน ถือเป็นการประกาศนโยบายครั้งสำคัญของสหรัฐฯต่อเอเชีย Obama ได้ประกาศว่า สหรัฐฯกำลังจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางทหารครั้งใหญ่ต่อเอเชีย สหรัฐฯเป็น Pacific Nation และภูมิภาคนี้ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก Obama จึงได้ตัดสินใจที่จะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นลำดับสูงสุด และสหรัฐฯจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และได้มีการจัดทำข้อตกลงทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลีย โดยในปี 2012 สหรัฐฯจะส่งทหารเข้ามาประจำการประมาณ 2,500 นาย ที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย
ผมวิเคราะห์ว่า แนวโน้มการขยายอำนาจทางทหารของจีน และแนวโน้มความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีนในอนาคต ทำให้สหรัฐฯปรับเปลี่ยนนโยบายทางทหารครั้งใหญ่ต่อภูมิภาค เพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร และเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเผชิญหน้าทางทหารกับจีนในอนาคต
และการที่สหรัฐฯจะส่งกองกำลังทหารไปประจำที่เมือง Darwin นั้น อาจจะเป็นก้าวแรกของการจัดตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในอนาคต เมือง Darwin มีภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับทะเลจีนใต้มาก จะทำให้สหรัฐฯเคลื่อนย้ายเรือรบและเครื่องบินรบ เข้าสู่ทะเลจีนใต้ได้ง่ายขึ้น

• ยุทธศาสตร์ hub and spokes
ในปี 2011 สหรัฐฯยังเดินหน้าตอกย้ำยุทธศาสตร์ hub and spokes ต่อไป โดยมีสหรัฐฯเป็น hub หรือดุมล้อ และมีประเทศพันธมิตรเป็น spokes หรือ ซี่ล้อ ความสัมพันธ์ทวิภาคีทางทหารกับพันธมิตรกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้นทุกประเทศ ไล่มาตั้งแต่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม ไทย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และอินเดีย โดยภาพรวมแล้ว สหรัฐฯกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับเกือบทุกประเทศในภูมิภาค ที่มียกเว้น คือ เกาหลีเหนือ จีน และพม่า เท่านั้น
และที่มีนัยยะสำคัญ คือ การเยือนฟิลิปปินส์ ของ Hillary Clinton ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration ปฏิญญาดังกล่าว เป็นการตอกย้ำถึงพันธมิตรทางทหาร โดย Clinton ได้ประกาศกร้าวว่า “สหรัฐฯจะอยู่กับฟิลิปปินส์ตลอดไป และจะยืนหยัดและต่อสู้เพื่อปกป้องฟิลิปปินส์”

• อาเซียน-สหรัฐฯ
สำหรับความสัมพันธ์กับอาเซียน สหรัฐฯก็เดินหน้ายุทธศาสตร์ในเชิงรุก ตีสนิทกับอาเซียน อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 3 ไปแล้ว ท่าทีของสหรัฐฯต่ออาเซียนก็เปลี่ยนไปมาก โดยโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของอาเซียนเกือบทุกเรื่อง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯตีสนิทกับอาเซียนมากขึ้น ก็เพื่อแข่งกับจีน
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังเดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ในกรอบ US- Lower Mekong Initiative เพื่อเข้ามาแข่งกับจีนในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา และพม่า

• East Asia Summit หรือ EAS
เวทีพหุภาคีอีกเวทีหนึ่งที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก คือ การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกในการประชุม East Asia Summit หรือ EAS สหรัฐฯมองว่า การเป็นสมาชิก EAS จะทำให้สหรัฐฯเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา และเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค จะช่วยป้องกันการที่ประเทศในเอเชียตะวันออกจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนด้วย สหรัฐฯต้องการให้ EAS มีความร่วมมือทางด้านความมั่นคงที่เข้มข้น และต้องการที่จะเข้ามามีบทบาทนำใน EAS

• ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ในปี 2011 สหรัฐฯยังคงผลักดัน เดินหน้าจุดชนวนความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ต่อไป การที่สหรัฐฯเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ และยุแหย่ให้ประเทศอาเซียนกับจีนทะเลาะกัน เป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ เพื่อเปิดช่องให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และเพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร ท่าทีของสหรัฐฯ คือ สหรัฐฯเป็น Pacific Nation และเป็น Resident Power สหรัฐฯจึงมีผลประโยชน์แห่งชาติในเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ สหรัฐฯต่อต้านการใช้กำลังในการแก้ปัญหา และสนับสนุนกระบวนการทางการทูตพหุภาคีที่จะแก้ไขปัญหานี้
และในช่วงเดือนมิถุนายน ผู้บัญชาการกองทัพเรือของสหรัฐฯในภูมิภาคแปซิฟิก ได้ตอกย้ำว่า กองทัพเรือของสหรัฐฯมีเป้าหมายที่จะคงบทบาทของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ และจะเพิ่มบทบาทมากขึ้นในอนาคต

• TPP
ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯในการปิดล้อมจีน ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงทางด้านการทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจด้วย เครื่องมือสำคัญของการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ คือ การผลักดัน FTA ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP
เป้าหมายระยะยาวของสหรัฐฯต่อการพัฒนา TPP คือ การขยายจำนวนสมาชิกจาก 12 ประเทศ ให้ครอบคลุมประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก วาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯ คือ การเอา TPP มาแข่งกับ FTA ที่จีนทำกับอาเซียน และ FTA ในกรอบอาเซียน+3
ในการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ สหรัฐฯประสบความสำเร็จในการบีบให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับ TPP
แนวโน้มในอนาคต สหรัฐฯจะหันมาให้ความสำคัญกับ TPP เป็นหลัก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ TPP ซึ่งจะมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ จะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และ TPP จะเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯในการครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป

Eurozone กำลังจะล่มสลายหรือไม่?

Eurozone กำลังจะล่มสลายหรือไม่?

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 2 – วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2554

วิกฤตหนี้ Eurozone กำลังเป็นปัญหาเข้าขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ จนอาจถึงขั้นล่มสลาย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แนวโน้มว่า Eurozone กำลังจะล่มสลายหรือไม่

แนวโน้มการล่มสลายของ Eurozone

วิกฤต Eurozone ในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบปัญหาหนี้สิน ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส แต่ต่อมา สถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่สเปนและอิตาลี โดยที่ผ่านมา ได้มีความพยายามกอบกู้วิกฤต ทั้งในกรอบของ EU IMF และ G20 แต่ก็ยังๆไม่มีความแน่นอนว่า กลไกเหล่านี้จะสามารถกอบกู้วิกฤตได้หรือไม่ โอกาสที่วิกฤตจะลุกลามบานปลาย จนนำไปสู่การล่มสลายของ Eurozone ก็มีความเป็นไปได้ โดยปัจจัยสำคัญๆ ที่จะนำไปสู่การล่มสลายของ Eurozone มีดังนี้

• นักลงทุน : ขณะนี้ ความหวาดวิตกของนักลงทุนต่อการแตกสลายของ Eurozone ทำให้เกิดสภาวะการแตกตื่น หรือ panic โดยได้มีการถอนเงินออกจากประเทศที่มีปัญหาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

• ธนาคาร : สถานะของธนาคารในยุโรปกำลังย่ำแย่อย่างหนัก ทั้งนี้ จากที่ได้กล่าวข้างต้น คือ เกิดจากการแตกตื่น ถอนเงินออกจากธนาคารเป็นจำนวนมาก ตลาดระหว่างธนาคารอยู่ในภาวะตึงเครียด โดยธนาคารเป็นจำนวนมากไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้กันและกัน ซึ่งในที่สุด อาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่จะหนักกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 แม้ว่า การประชุมสุดยอด Eurozone ในเดือนตุลาคม จะได้ออกมาตรการที่จะให้ธนาคารในยุโรปเพิ่มทุนจำนวน 1 แสนล้านยูโร ภายในเดือนมิถุนายน ปี 2012 แล้วก็ตาม แต่การเพิ่มทุนดังกล่าว อาจจะไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยุโรปได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีปัญหา คือ กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี เป็นเงินรวมกว่า 4 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งหากรัฐบาลเหล่านี้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารต่างๆก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

• ประเทศสมาชิก : อาจจะมีบางประเทศถอนตัวออกจาก Eurozone โดยกรีซอาจถูกกดดันให้ถอนตัวออกจาก Eurozone แม้ว่า ในการประชุมสุดยอด Eurozone จะได้มีข้อตกลงกับธนาคารต่างๆ ที่จะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า เอาเข้าจริงๆแล้ว ธนาคารเหล่านี้จะยอมยกเลิกหนี้ให้จริงๆหรือไม่

นอกจากนี้ ประเทศที่น่าเป็นห่วง คือ อิตาลี และสเปน ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หากผิด
นัดชำระหนี้ จะส่งผลกระทบต่อ Eurozone เป็นอย่างมาก กองทุน EFSF แม้จะมีความพยายามเพิ่มเงินเข้าไปเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ หากวิกฤตลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน

โดยสถานการณ์ล่าสุดของสเปนนั้น แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน และพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง คือ People’s Party จะมีนโยบายปฏิรูปและลดการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่สถานการณ์ของสเปนกลับเลวลง โดยค่าให้จ่ายในการกู้ยืมเงินของประเทศกลับสูงขึ้น

สำหรับอิตาลี ที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ Eurozone แต่มีหนี้สูงถึง 2.6 ล้านล้านเหรียญ หากอิตาลีผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลาย จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ถึงแม้ว่า ล่าสุดจะได้มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ Mario Monti แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น และที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ ภายในเดือนมกราคม ปีหน้า อิตาลีจะต้องจ่ายเงินสำหรับพันธบัตรรัฐบาล เป็นเงินประมาณ 40,000 ล้านเหรียญ ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีเงินจ่าย ก็จะทำให้อิตาลีประสบกับภาวะผิดนัดชำระหนี้

นอกจากนี้ ขณะนี้ สถานการณ์ดูจะลุกลามบานปลายเข้าสู่เบลเยียมและฝรั่งเศสแล้ว เพราะทั้ง 2 ประเทศ มีค่าใช้จ่ายในการกู้ยืม หรือ borrowing costs สูงขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น โอกาสของการเกิด domino effect คือ การแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้ จากกรีซไปสู่
ประเทศอื่นๆ ก็ยังมีสูง โดยหากกรีซล้มละลาย โปรตุเกสและไอร์แลนด์ก็จะล้มละลายตาม และจะส่งผลกระทบต่อสเปน อิตาลี และ ฝรั่งเศส ด้วย

• ปัจจัยอีกประการที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง คือ การที่รัฐบาลประเทศต่างๆ
จะต้องมีมาตรการรัดเข็มขัด และการล่มสลายของความเชื่อมั่น ทั้งจากภาคธุรกิจ และจากผู้บริโภค จะนำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของยุโรป ในปี 2012 ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่า “วงจรอุบาทว์” คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ทำให้หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้น และประชาชนจะต่อต้านมาตรการปฏิรูปและรัดเข็มขัดมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนแตกตื่นมากขึ้น และจะถอนเงินออกจากระบบธนาคารมากขึ้นด้วย

• กลไกกอบกู้วิกฤต : ที่ผ่านมา EU IMF และ G20 ได้พยายามออกมาตรการกอบกู้วิกฤต แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ EU ไม่สามารถผลักดันมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ กองทุน EFSF แม้จะมีการเพิ่มเงินเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ก็ไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับบทบาทของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งไม่สามารถเล่นบทบาทเป็นเหมือน IMF ได้ คือ บทบาทที่เราเรียกว่า แหล่งผู้ให้กู้รายสุดท้าย (lender of last resort) ดังนั้น หากกลไกเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ Eurozone ก็อาจแตกสลายลงไปได้

ผลกระทบ

ดังนั้น หาก Eurozone ล่มสลาย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ดังนี้

• การล่มสลายของ Eurozone จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างมาก โดยน่าจะรุนแรงกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008

• EU และ Eurozone ถือเป็นภูมิภาคที่มีบูรณาการทางการเงินที่เข้มข้นที่สุดในโลก ก็อาจจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยสภาวะการผิดนัดชำระหนี้ และการล้มละลายของธนาคารต่างๆ

• การแตกสลายของ Eurozone จะทำให้ประเทศสมาชิก Eurozone เดิมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 จะเป็นสมาชิกที่อยู่ทางเหนือของยุโรป ซึ่งอาจจะยังคงมีการบูรณาการกันได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่ 2 คือประเทศสมาชิกทางตอนใต้ ซึ่งคงจะแตกออกจาก Eurozone อย่างสิ้นเชิง

• การล่มสลายของ Eurozone จะถือเป็นความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของบูรณาการทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยผลกระทบของการล่มสลายของ Eurozone จะทำให้ค่าเงินผันผวนอย่างมาก และอาจจะกระทบต่อตลาดร่วมยุโรป และในที่สุด อาจจะกระทบต่อการคงอยู่ของ EU ในระยะยาวด้วย

• สุดท้าย แน่นอนว่า การล่มสลายของ Eurozone จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ great depression คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งใหม่ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน– วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด ที่บาหลี อินโดนีเซีย ที่เพิ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 17-19 พฤศจิกายน ดังนี้

การจัดการภัยพิบัติ

เรื่องแรกที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ การหารือในเรื่องการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะในไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ในเอกสารผลการประชุมกล่าวว่า ที่ประชุมยินดีที่ได้มีการลงนามข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติของอาเซียนขึ้น ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management (AHA Centre) โดยได้มีการเปิดศูนย์ AHA Centre อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตกลงที่จะเพิ่มบทบาทให้กับเลขาธิการอาเซียน ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Coordinator)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมองว่า กลไกต่างๆเหล่านี้ของอาเซียนเข้าทำนอง “วัวหายล้อมคอก” โดยในช่วงวิกฤตน้ำท่วม โดยเฉพาะที่เกิดในไทย อาเซียนไม่มีบทบาทอะไรเลย นับเป็นความล้มเหลวของอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ที่เมื่อเกิดวิกฤต อาเซียนก็ไม่สามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้ และผมก็ไม่แน่ใจว่า AHA Centre ในอนาคต จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ในการที่จะจัดการกับภัยพิบัติในภูมิภาค แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมเดาว่า ศูนย์ดังกล่าวไม่น่าจะมีประสิทธิภาพ

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

สำหรับไฮไลท์ของการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจานั้น เรื่องสำคัญ คือ การประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับจีนโดยอาเซียนได้เน้นถึงความสำคัญของปฏิญญาแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ ปี 2002 คือ Declaration on the Conduct of the Parties in the South China Sea (DOC) อาเซียนได้เน้นการแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ และพัฒนาไปสู่การจัดทำ Regional Code of Conduct อาเซียนยินดีที่ได้มีการจัดทำ Guidelines สำหรับการแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีน ในช่วงเดือนกรกฎาคม อาเซียนและจีนควรจะเดินหน้าจัดทำโครงการและกิจกรรมความร่วมมือภายใต้ DOC และยินดีที่ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน เกี่ยวกับเรื่องนี้

ผมมองว่า จีนและอาเซียนไม่อยากให้ความขัดแย้งนี้ลุกลามบานปลาย จึงพยายามหันกลับมาเจรจา แต่ความขัดแย้งก็ยังคุกรุ่นและยังล่อแหลมอยู่ โดยเฉพาะระหว่างจีนกับเวียดนาม และจีนกับฟิลิปปินส์ แต่ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ร้อนแรงขึ้นมา คือ สหรัฐฯ โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ การจุดประเด็นความขัดแย้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างและเหตุผลในการเพิ่มบทบาททางทหารของสหรัฐฯในภูมิภาค และสหรัฐฯต้องการใช้ประเด็นความขัดแย้งนี้ ทำให้จีนและอาเซียนขัดแย้งกัน ซึ่งจะเข้าทางสหรัฐฯ ทำให้ประเทศในอาเซียนหันมาใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อดึงสหรัฐฯมาถ่วงดุลจีน

นอกจากนี้ ในระหว่างการเยือนออสเตรเลียของ Obama ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนเดินทางมาประชุมกับอาเซียน Obama ก็ได้ประกาศยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯใหม่โดยจะส่งทหารเข้ามาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งในอนาคต อาจจะพัฒนาเป็นฐานทัพใหม่ของสหรัฐฯ จุดยุทธศาสตร์ที่ Darwin นี้ จะทำให้สหรัฐฯ มีกองกำลังทหารและฐานทัพที่ใกล้กับทะเลจีนใต้มากขึ้น เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯกำลังจะเพิ่มบทบาททางทหาร และพร้อมที่จะเผชิญหน้าทางทหารกับจีนในทะเลจีนใต้ในอนาคต

East Asia Summit (EAS)

อีกเรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการหารือของอาเซียนกับมหาอำนาจ คือ การประชุม East Asia Summit หรือ EAS ปัจจัยที่ทำให้เป็นประเด็นร้อน คือ การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของสหรัฐฯ โดยมี Obama เข้าร่วมประชุม สหรัฐฯมองว่า การเข้าเป็นสมาชิก EAS จะทำให้สหรัฐฯมีบทบาทในการพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนด้วย สหรัฐฯต้องการให้ EAS มีความร่วมมือทางด้านความมั่นคงที่เข้มข้น และพยายามที่จะเข้ามามีบทบาทนำใน EAS ทำให้อาเซียนมีความวิตกกังวลว่า อาเซียนจะไม่สามารถคุมเกม EAS ได้

ดังนั้น ในการประชุมสุดยอด EAS ในครั้งนี้ อาเซียนจึงได้ตอกย้ำจุดยืนของอาเซียน ที่ต้องการให้ EAS เป็นเวทีหารือในระดับผู้นำเท่านั้น และเป็นเวทีหารือประเด็นปัญหา ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจอย่างกว้างๆ โดยจะเน้นสาขาความร่วมมือใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงิน พลังงาน การศึกษา สาธารณสุข และการจัดการภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการประนีประนอมกับสหรัฐฯ อาเซียนจึงยอมที่จะหารือในประเด็นด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในสาขาที่สหรัฐฯต้องการ คือ ความมั่นคงทางทะเล อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย ปัญหาโจรสลัด และปัญหาการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง

นอกจากนี้ ในการประชุม EAS ในครั้งนี้ ได้มีการจัดทำปฏิญญาขึ้น 2 ฉบับ ฉบับแรกเกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ และฉบับที่ 2 เป็นการกำหนดหลักการกว้างๆของกรอบความร่วมมือ EAS

ผมมองว่า การประชุม EAS ในครั้งนี้ โดดเด่นขึ้นมามาก ทั้งนี้ เพราะการเข้าร่วมของสหรัฐฯ เห็นได้ชัดว่า ขณะนี้ EAS ได้กลายเป็นกลไกที่โดดเด่นกว่าอาเซียน+3 ไปแล้ว โดยการประชุม EAS ครั้งนี้ มีปฏิญญา 2 ฉบับ ในขณะที่ การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ไม่มีอะไรโดดเด่น จึงนับเป็นพัฒนาการที่สำคัญว่า ในอนาคตกรอบอาเซียน+3 และ EAS จะพัฒนากันไปอย่างไร ในอดีต อาเซียนให้ความสำคัญกับกรอบอาเซียน+3 มากกว่า EAS โดยตั้งเป้าว่า จะให้อาเซียน+3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯมองว่า อาเซียน+3 กีดกันสหรัฐฯ พัฒนาการของอาเซียน+3 จึงช้าลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ EAS ก็โดดเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้วยการผลักดันจากสหรัฐฯ

ASEAN Community in a Global Community of Nations

และอีกเรื่องที่อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเป็น theme ของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย คือ “ASEAN Community in a Global Community of Nations” โดยอินโดนีเซียต้องการเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และเพิ่มบทบาทอาเซียนในการจัดการปัญหาของโลก

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ อินโดนีเซียได้ผลักดันเอกสาร Bali Concord III โดยเป็นเอกสารกำหนดรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก เป้าหมายสำคัญของเอกสารดังกล่าว คือ จะทำให้ท่าทีของอาเซียนในประเด็นปัญหาของโลกมีความเป็นเอกภาพ และจะมีการเพิ่มบทบาทและท่าทีร่วมของอาเซียนในเวทีพหุภาคีต่างๆ นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มสมรรถภาพของอาเซียนที่จะเข้าไปแก้ปัญหา และตอบสนองต่อปัญหาของโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากดูในรายละเอียดแล้ว Bali Concord III ก็เป็นเอกสารที่น่าผิดหวัง ผิดกับ Bali Concord I ที่เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ของอาเซียน และ Bali Concord II ก็เป็นเอกสารจัดตั้งประชาคมอาเซียน แต่ Bali Concord III แทบจะไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเลย ในแง่ของยุทธศาสตร์ของอาเซียนในเวทีโลก มีแต่การพูดถึงหลักการกว้างๆ ซึ่งไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมเลย ผมมองว่า นับเป็นความล้มเหลวของอินโดนีเซีย ที่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในฐานะประธานอาเซียน และผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่บทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และการจัดการปัญหาของโลก ก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเลย เช่นเดียวกับเอกสาร Bali Concord III ก็เป็นเอกสารที่ว่างเปล่า

ผมวิเคราะห์ว่า ยุทธศาสตร์ลึกๆของอินโดนีเซียในการผลักดันเรื่องนี้ คือ การใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการผลักดันให้อินโดนีเซียเป็นมหาอำนาจ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก กับบทบาทของอินโดนีเซียในฐานะสมาชิก G20 อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และอาจกล่าวได้ว่า ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ตามทฤษฎีแล้ว ก็น่าจะเป็นการดี ที่อาเซียนจะสามารถมีบทบาทในเวทีโลกได้ แต่ปัญหาสำคัญ คือ ในทางปฏิบัติ อาเซียนยังไม่สามารถเล่นบทบาทนี้ได้ จริงๆแล้ว อาเซียนไม่ควรทำเรื่องเกินตัว อาเซียนยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกหลายเรื่อง คือ การทำให้ประชาคมอาเซียนมีความสมบูรณ์ การทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ผลการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย

ผลการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2554

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งล่าสุด ที่โฮโนลูลู ฮาวาย โดยสหรัฐฯเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ ผลการประชุม ดังนี้

ผลการประชุมเอเปค

• WTO
การประชุมครั้งนี้ เรื่องสำคัญมี 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ การกำหนดท่าทีของเอเปค ต่อการ
เจรจา WTO รอบโดฮา เรื่องที่ 2 คือ ความร่วมมือด้านการค้าและเขตการค้าเสรี
สำหรับเรื่องการเจรจารอบโดฮานั้น ในเอกสารปฏิญญาผลการประชุม กล่าวว่า ที่ประชุมวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่คืบหน้าของการเจรจา และยอมรับว่า การที่จะบรรลุประเด็นหารือทุกเรื่องในอนาคต คงเป็นไปได้ยาก จึงไม่น่าจะสามารถจบการเจรจารอบนี้ได้ หากท่าทีการเจรจาและรูปแบบการเจรจา ยังเป็นเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม สมาชิกเอเปคจะพยายามเดินหน้าต่อไป เพื่อที่จะให้การเจรจาจบลงให้ได้ และที่ประชุมขอให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐมนตรี WTO สำรวจวิถีทางใหม่ๆและแนวคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของการเจรจา

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตอกย้ำการต่อต้านมาตรการปกป้องทางการค้า โดยสมาชิกเอเปคจะไม่เพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมจนถึงปี 2015 และที่ประชุมขอให้สมาชิก WTO ในการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 8 ในเดือนธันวาคม ปีนี้ ตอกย้ำถึงนโยบายต่อต้านการปกป้องทางการค้าด้วย

• ความร่วมมือทางการค้า
ปฏิญญาโฮโนลูลู เน้นว่า พันธกิจสำคัญของเอเปค คือ การเดินหน้าบูรณาการทางเศรษฐกิจ และการ
ขยายการค้า โดยได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาการค้าและการลงทุนใหม่ๆ และข้อตกลงการค้า โดยเฉพาะ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญของบูรณาการทางเศรษฐกิจของเอเปค
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้ตกลงกันในเรื่องความร่วมมือทางการค้าเรื่องอื่นๆ อาทิ การส่งเสริมบทบาทของ SME การปรับปรุงประสิทธิภาพของ supply-chain เพิ่มขึ้น 10% ภายในปี 2015 เรื่อง APEC Travel Facilitation Initiative เรื่องความมั่นคงทางอาหาร และการเปิดเสรีการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น

Trans-Pacific Partnership (TPP)

นอกจากการประชุมสุดยอดเอเปคแล้ว การประชุมที่ฮาวายในครั้งนี้ ได้มีการจัดประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศสมาชิก TPP เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยผู้นำของ 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยได้มีการประชุมกัน ในวันที่ 12 พฤศจิกายน หลังการประชุม ได้มีการเผยแพร่เอกสารแถลงการณ์ผลการประชุม ซึ่งกล่าวว่า ผู้นำทั้ง 9 ประเทศ ได้ตกลงกันเกี่ยวกับเค้าโครงของข้อตกลง TPP และประสบความสำเร็จในการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลง FTA ที่จะมีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จและทันสมัย ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าในทุกเรื่อง โดยที่ประชุม ตั้งเป้าหมายว่า จะเร่งรีบในการบรรลุข้อตกลง TPP ให้ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยอมรับว่า ยังมีประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนอีกหลายเรื่อง ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเจรจา โดยที่ประชุมได้ขอให้ทีมเจรจา ประชุมกันครั้งต่อไปในช่วงต้นเดือนธันวาคม และกำหนดกรอบเวลาของการประชุมในปี 2012

โดยหลังจากการประชุม ประธานาธิบดี Obama ได้ให้สัมภาษณ์ว่า คงจะสามารถบรรลุข้อตกลง TPP และลงนามกันได้ภายในปี 2012
เป้าหมายระยะยาวของ TPP คือ การจัดตั้ง FTA ให้ครอบคลุมภูมิภาคแปซิฟิก ที่ประชุมจึงต้องการที่จะขยายจำนวนสมาชิกออกไป จาก 9 ประเทศ โดยได้ขอให้ทีมเจรจา หารือกับประเทศอื่นๆ เพื่อชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิก TPP ในอนาคต

สำหรับในเรื่องสมาชิกใหม่นั้น ก่อนการประชุมเพียง 1 วัน ญี่ปุ่นก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ที่จะเข้าร่วม TPP และหลังจากนั้น แคนาดา และเม็กซิโก ก็ได้ประกาศจะเข้าร่วมกับ TPP ด้วย ดังนั้น ขณะนี้ TPP จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จาก 9 ประเทศ เป็น 12 ประเทศ


บทวิเคราะห์
• เอเปค
ผมมองว่า การประชุมเอเปคในครั้งนี้ประสบความล้มเหลว ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของ
รัฐบาล Obama ที่ก่อนหน้านี้ หมายมั่นปั้นมือว่า จะให้การประชุมครั้งนี้ เป็นการรื้อฟื้นบทบาทของเอเปค และจะทำให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่โดดเด่นในภูมิภาค แต่ดูจากผลการประชุมแล้ว ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะจากผลการประชุมที่ผมสรุปไปข้างต้น แทบจะไม่มีอะไรที่มีผลเป็นรูปธรรมเลย โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับการประชุมเอเปค ปีที่แล้ว ที่ญี่ปุ่น การประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่แต่ไม่มีอะไรคืบหน้าเท่านั้น แต่ยังถอยหลังลงคลองอีกด้วย
ผมขอย้อนไปสรุปการประชุมปีที่แล้ว เพื่อที่จะให้เห็นภาพเปรียบเทียบกับการประชุมในครั้งนี้ การประชุมเอเปคที่ญี่ปุ่น นับเป็นการพลิกฟื้นครั้งสำคัญของเอเปค โดยได้มีการตกลงกัน ที่จะจัดตั้งประชาคมเอเปคขึ้น โดยหัวใจของประชาคมเอเปค คือ การจัดตั้ง Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP โดยตั้งเป้าว่า FTAAP จะถูกจัดตั้งขึ้น ด้วยข้อตกลงการค้าที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยจะเป็นการต่อยอดจากข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว อาทิ FTA อาเซียน+3 อาเซียน+6 และ TPP
โดยสหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปคขึ้นมา เพื่อมาแข่งกับประชาคมอาเซียน เพราะกลัวว่า ประเทศในเอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ สหรัฐฯ ต้องการใช้ FTAAP เป็นตัวกันการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกรอบอาเซียน +3 ที่ไม่มีสหรัฐฯ
ดังนั้น หากการประชุมครั้งที่แล้ว ที่ญี่ปุ่น ถือเป็นการรื้อฟื้นเอเปค แต่สำหรับการประชุมที่ฮาวายในครั้งนี้ เอเปคได้ถอยหลังลงคลองอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆเลย เกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมเอเปค ไม่มีความคืบหน้าในการจัดตั้ง FTAAP และไม่ได้มีการพูดถึง TPP ในปฏิญญาโฮโนลูลูเลย เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯล้มเหลวในการที่จะใช้ TPP เป็นแกนของ FTAAP ผมเดาว่า ความล้มเหลวครั้งนี้ น่าจะเกิดมาจาก การที่ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน คงไม่เห็นด้วย และคงจะต่อต้านข้อเสนอของสหรัฐฯอย่างเต็มที่


• TPP
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สหรัฐฯจะประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการประชุมสุดยอดเอเปคที่
ฮาวายในครั้งนี้ แต่สหรัฐฯก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้างในกรอบ TPP โดยเฉพาะการบีบให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับ TPP สำเร็จ จึงเห็นได้ว่า แนวโน้มในอนาคต สหรัฐฯคงจะหันมาให้ความสำคัญกับ TPP เป็นหลัก และจะพัฒนาให้เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป แต่สหรัฐฯคงอาจจะต้องทิ้งแนวคิด ที่จะเชื่อม TPP กับเอเปค เพราะคงจะถูกต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากจีน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็ล้มเหลวที่ไม่สามารถผลักดันให้มีการลงนามในข้อตกลง TPP ระหว่าง 9 ประเทศได้ ในการประชุมที่ฮาวายในครั้งนี้
สำหรับเป้าหมายระยะยาวของสหรัฐฯนั้น คือ จะขยายจำนวนสมาชิก TPP จาก 9 ประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็เป็น 12 ประเทศแล้ว ต่อไปให้ครอบคลุมทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ TPP ซึ่งจะมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ จะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค TPP จึงจะเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯในการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 – วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2554

ในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 19 ที่บาหลี อินโดนีเซีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ว่า ในการประชุมครั้งนี้ จะมีเรื่องสำคัญๆอะไรบ้าง ดังนี้

ประชาคมอาเซียน

เรื่องแรกที่จะเป็นไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ คือ การเดินหน้าจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 ซึ่งผมมองว่า โดยภาพรวมแล้ว การเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน เป็นไปได้ด้วยดี ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ คงไม่มีปัญหาอะไรสำคัญ

อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นไปได้ ที่เรื่องเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะในไทย กัมพูชา และเวียดนาม อาจจะกลายเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนจะหยิบยกขึ้นหารือ โดยเฉพาะการพัฒนามาตรการและกลไกของอาเซียน ในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก ในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ

แต่ผมมองว่า ในช่วงวิกฤตน้ำท่วม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในไทย อาเซียนไม่มีบทบาทอะไรเลย นับเป็นความล้มเหลวของอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ที่เมื่อเกิดวิกฤต อาเซียนก็ไม่อาจช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้ นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 1997 และต่อมา วิกฤตพายุนาร์กิส ที่ถล่มพม่า เมื่อปี 2008 โดยอาเซียนแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในการช่วยเหลือพม่า กลับกลายเป็นว่า UN กลายเป็นตัวแสดงสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ และในวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นในไทย และอีกหลายประเทศ อาเซียนก็ไม่มีบทบาทอะไรเลยอีกเช่นกัน ทั้งๆที่อาเซียนมีปฏิญญาจัดการภัยพิบัติ มาตั้งแต่ปี 1976 และต่อมา มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ แต่เป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ข้อตกลงเหล่านี้ กลายเป็นเพียงแค่ “เศษกระดาษ”

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ อาจจะมีการหารือถึงการพัฒนากลไกการจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อาเซียนไม่สามารถช่วยเหลือสมาชิกในยามวิกฤตได้ ก็เพราะอาเซียนยังไม่ได้เป็นประชาคมอย่างแท้จริง เรายังไม่มีอัตลักษณ์ร่วม ประเทศสมาชิก ลึกๆแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ที่จะต้องช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง

อาเซียนกับมหาอำนาจ

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ไฮไลท์น่าจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจเป็นหลัก โดยจะมีทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียน+1 อาทิ อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-สหรัฐฯ การประชุมสุดยอดอาเซียน+ 3 และการประชุมสุดยอด East Asia Summit หรือ EAS อีกด้วย

สำหรับในกรอบของ อาเซียน+1 นั้น ที่น่าจับตามอง คือ การประชุมสุดยอด อาเซียน-จีน เพราะก่อนหน้านี้ อาเซียนกับจีน มีปัญหากันในเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีน ในช่วงเดือนกรกฎาคม ได้มีการจัดทำ Guidelines สำหรับการแปลงปฏิญญา Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea ให้ไปสู่การปฏิบัติ ผมเดาว่า ผลการประชุมน่าจะออกมา ในทำนองที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องการแก้ปัญหาด้วยการเจรจา และจะเดินหน้าในการจัดทำ Code of Conduct ต่อไป โดยอาเซียนและจีน ก็ไม่อยากให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาค คือ เรื่องการจัดทำ FTA ในกรอบต่างๆ ขณะนี้ อาเซียนมี FTA อยู่หลายกรอบ ทั้งในกรอบ อาเซียน+1 อาทิ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น และมีข้อเสนอ FTA ในกรอบอาเซียน+3 และอาเซียน+6 อีกด้วย ที่ประชุมครั้งนี้ จะได้พิจารณาข้อเสนอของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่า อาเซียนจะบูรณาการ FTA ต่างๆเหล่านี้อย่างไร ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ใช้คำว่า อาเซียน + + FTA ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่า จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และที่จะทำให้เรื่องยุ่งมากขึ้น ก็คือ การผลักดันของสหรัฐฯที่จะตั้ง FTA ในกรอบเอเปค ที่เรียกว่า TPP เพื่อมาแข่งกับ FTA ของอาเซียนอีกด้วย

ไฮไลท์อีกเรื่องของการหารือระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจ คือ การหารือในกรอบ East Asia Summit หรือ EAS โดยปัจจัยที่จะทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา คือ การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯมองว่า การเข้าร่วม EAS จะทำให้สหรัฐฯมีบทบาทในการพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และการเป็นสมาชิก EAS จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียโดยไม่มีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯมองว่า ความร่วมมือ อาเซียน+3 เข้มข้นกว่า EAS ดังนั้น ท่าทีของสหรัฐฯ คือ การเข้ามาปรับเปลี่ยน EAS ให้มีความร่วมมือที่เข้มข้น และพยายามเข้ามามีบทบาทนำใน EAS

จากท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้อาเซียนวิตกกังวลว่า อาเซียนจะไม่สามารถคุมเกม EAS ได้ และสหรัฐฯจะเข้าครอบงำ ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนคงจะตอกย้ำท่าทีของอาเซียน ซึ่งคงจะขัดแย้งกับท่าทีของสหรัฐฯหลายเรื่อง อาทิ อาเซียนต้องการให้ EAS เป็นเวทีหารือในระดับผู้นำเท่านั้น และไม่ต้องการให้ EAS เป็นสถาบันที่เป็นทางการ ในขณะที่สหรัฐฯต้องการตรงกันข้าม สหรัฐฯต้องการให้ EAS เป็นองค์กรความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค แต่อาเซียนก็ไม่เห็นด้วย เราคงจะต้องจับตามองว่า ผลการประชุม EAS ในครั้งนี้จะออกมาอย่างไร แต่ผมเดาว่า ทั้ง 2 ฝ่ายคงจะประนีประนอมกัน และอาจจะออกมาในลักษณะ “พบกันครึ่งทาง”

อาเซียนในเวทีโลก

และเรื่องที่น่าจะมีความสำคัญในการประชุมครั้งนี้อีกเรื่อง คือ เรื่องที่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเป็น theme ของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย คือ “ASEAN Community in a Global Community of Nations” โดยอินโดนีเซียต้องการพัฒนาท่าทีร่วมของอาเซียนในเวทีโลก และเพิ่มบทบาทอาเซียนในการจัดการกับปัญหาของโลก โดยในการประชุมครั้งนี้ น่าจะมีการลงนามในปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนกับ UN

แต่โดยรวมแล้ว ผมประเมินว่า เป้าหมายของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ ประสบความล้มเหลว เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนและผลักดันเรื่องนี้ แต่บทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และการจัดการปัญหาของโลก ก็ไม่มีให้เห็นเลย จริงๆแล้ว วาระซ่อนเร้นของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ คือ การใช้ประโยชน์จากอาเซียน ในการผลักดันให้อินโดนีเซียผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคและในระดับโลกนั่นเอง

ผลการประชุม G20 ที่ฝรั่งเศส

ผลการประชุม G20 ที่ฝรั่งเศส

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 – วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2554

เมื่อช่วงวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด G20 ครั้งล่าสุด ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ผลการประชุม

• การปฏิรูประบบเงินตราระหว่างประเทศ
เรื่องแรกที่ประชุมกัน คือ เรื่องการปฏิรูประบบเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมมองว่า มี
ความคืบหน้าในการปฏิรูประบบ เพื่อให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะต่อการไหลเวียนของเงินทุน
เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน คือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สหรัฐฯให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะการผลักดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ในเอกสารผลการประชุม ระบุว่า ที่ประชุมต้องการให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยน และค่าเงินสกุลต่างๆ เป็นไปตามกลไกตลาด ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการบิดเบือนค่าเงิน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Barack Obama ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ยินดีต่อผลการประชุม ที่จะให้มีการผลักดันค่าเงินให้เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างรวดเร็วมากขึ้น และยินดีที่จะให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องของค่าเงิน นอกจากนี้ Obama ยังยินดี ที่จีนได้แสดงจุดยืนที่จะเพิ่มค่าเงินหยวน

• วิกฤต Eurozone
แต่เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ในการประชุม G20 ในครั้งนี้ คือ เรื่องวิกฤต Eurozone โดย
ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อผลการประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่มีมาตรการในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ มาตรการเพิ่มทุนของธนาคารในยุโรป และมาตรการเพิ่มเงินทุนให้กับกองทุนกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone คือ กองทุน European Financial Stability Facility (EFSF) และที่ประชุมได้แสดงความยินดี ที่การประชุมสุดยอด Eurozone มีมาตรการเหล่านี้ออกมา และแสดงความยินดีต่ออิตาลี ที่กำลังจะประสบปัญหาวิกฤตหนี้ ที่ได้เชิญให้ IMF เข้าไปช่วยดูแลให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาของอิตาลี

• บทบาทของ IMF
หัวใจสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือ การที่จะให้ IMF มีบทบาทมากขึ้น ในการกอบกู้
วิกฤต Eurozone โดยที่ประชุมได้ตกลงกันว่า จะให้ IMF มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF ซึ่งมาตรการเพิ่มเงินทุนให้ IMF นั้น เริ่มมาตั้งแต่การประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงลอนดอน เมื่อปี 2009 โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลัง G20 ไปศึกษาทางเลือกต่างๆในการเพิ่มเงินทุนให้กับ IMF

• บทบาทของ G20
อีกเรื่องที่ประชุมกันในครั้งนี้ คือ การกำหนดบทบาทของ G20 ในอนาคต ซึ่งที่ประชุมตกลงที่จะให้ G20 เป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการต่อไป โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการสิ้นสุดบทบาทของฝรั่งเศสในการเป็นประธาน G20 โดยได้กำหนดว่า เม็กซิโก จะเป็นประธาน G20 ในปี 2012 และในปี 2013-2015 จะมีรัสเซีย ออสเตรเลีย และตุรกี เป็นประธาน G20 ตามลำดับ และหลังจากปี 2015 เป็นต้นไป จะมีการใช้หลักเกณฑ์การเป็นประธาน G20 โดยหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยจะเริ่มจากภูมิภาคเอเชียก่อน ซึ่งภูมิภาคเอเชียมีสมาชิก G20 อยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ภายหลังการประชุม G20 ในครั้งนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy ในฐานะประธานการประชุม ได้ออกมาแถลงข่าวถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุม G20 ได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือในการกอบกู้วิกฤต Eurozone และเน้นว่า G20 ตกลงที่จะเพิ่มเงินใน IMF โดยจะกำหนดมาตรการต่างๆ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ส่วนผู้อำนวยการ IMF คือ Christine Lagarde ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้นำ G20 ตกลงที่จะเพิ่มเงินใน IMF ซึ่งในขณะนี้ IMF มีเงินทุนเพียงพอที่จะช่วยเหลือประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม หากเกิดวิกฤตการเงินบานปลาย G20 ก็ตกลงว่า จะเพิ่มเงินให้ความช่วยเหลือใน IMF

บทวิเคราะห์

• ภาพรวม
ในภาพรวมแล้ว ผมประเมินว่า การประชุม G20 ในครั้งนี้ ประสบความล้มเหลว เพราะ
โดยรวมแล้ว ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีผลการประชุมอะไรที่ถือได้ว่า เป็นรูปธรรมเลย มีแต่การประกาศอย่างกว้างๆ ที่แทบจะจับต้องไม่ได้ เรื่องสำคัญที่สุดที่ชาวโลกจับตามองผลการประชุมในครั้งนี้ คือ บทบาทของ G20 ในการกอบกู้วิกฤต Eurozone ก็น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ผลการประชุมออกมาอย่างชัดเจนว่า G20 แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย มีแต่การพูดถึงผลการประชุมสุดยอด Eurozone อย่างกว้างๆ แต่ G20 ก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ยกเว้นการบอกว่า จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF ซึ่งเป็นการพูดอย่างกว้างๆ และไม่ได้ตกลงว่า จะเพิ่มเงินเข้าไปเท่าใด

สำหรับผมแล้ว ไม่แปลกใจที่การประชุม G20 ครั้งนี้ จะประสบความล้มเหลว และไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เพราะนี่ คือ แนวโน้มของ G20 ที่กำลังถูกลดบทบาทลง G20 มีบทบาทที่โดดเด่นที่สุดในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008-2009 แต่หลังจากนั้น บทบาทก็ลดลง โดยการต่อสู้และวาระซ่อนเร้นที่สำคัญใน G20 คือ การต่อสู้ระหว่างมหาอำนาจเก่ากับมหาอำนาจใหม่ คือ การต่อสู้ระหว่างตะวันตกกับกลุ่ม BRIC คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน มหาอำนาจใหม่ ต้องการมีบทบาทมากขึ้น แต่ตะวันตกพยายามจะลดบทบาทและจำกัดบทบาทของมหาอำนาจใหม่ลง ดังนั้น G20 จึงตกลงอะไรกันไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันเลย และเรื่องที่เห็นชัดเจนถึงความขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่มนี้ คือ ประเด็นเรื่องการกอบกู้วิกฤต Eurozone นั่นเอง

• EFSF
สิ่งที่กลุ่ม Eurozone ต้องการ คือ การที่จะให้ประเทศสมาชิก G20 ลงขัน ใส่เงินเพิ่มเข้าไป
ในกองทุน EFSF แต่สมาชิก G20 ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก Eurozone ก็ไม่สนใจเลย และไม่มีใครประกาศจะลงขันในกองทุนนี้ ในการประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ประชุมตกลงที่จะเพิ่มเงินใน EFSF ขึ้นเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ว่าในความเป็นจริง ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหากวิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน

• IMF
เช่นเดียวกัน กลุ่ม Eurozone ต้องการให้กลุ่มสมาชิก G20 ลงขันเพิ่มเงินใน IMF เพื่อจะมา
ช่วยกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone มีการคาดหวังกันอย่างมากว่า กลุ่มประเทศมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะ จีน จะลงขันเพิ่มเงินใน IMF
ที่ผ่านมา IMF ก็มีบทบาทอยู่บ้าง ในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เรียกว่า troika ซึ่งประกอบด้วย EU ธนาคารกลางยุโรป และ IMF โดย troika มีบทบาทในการประเมินและปล่อยกู้ให้กับกรีซ อย่างไรก็ตาม เป็นที่วิตกว่า วิกฤตอาจลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน แม้ว่า อิตาลีจะได้เชื้อเชิญให้ IMF เข้ามาช่วย แต่ IMF ก็มีเงินไม่พอ หากอิตาลีประสบกับวิกฤตหนี้เหมือนในกรณีของกรีซ

แต่ในที่สุด สมาชิก G20 ที่ไม่ใช่สมาชิก Eurozone ก็ไม่มีประเทศไหนเลยที่ประกาศจะเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุน IMF อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ BRIC ก็ไม่สนใจที่จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF เพราะลึกๆแล้วประเทศเหล่านี้ก็ไม่ต้องการเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤต Eurozone เพราะคิดว่า “ธุระไม่ใช่” และคิดว่า ผลกระทบยังไกลตัว แม้ว่า ก่อนการประชุม หลายฝ่ายคิดว่า จีนจะเข้ามามีบทบาท แต่ในที่สุด จีนก็ปฏิเสธที่จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF และ EFSF

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 4)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 4)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่ผ่านมา ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤต Eurozone ไปแล้ว 3 ตอน ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ซึ่งจะเป็นตอนที่ 4 โดยในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว คือ วันพุธที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด Eurozone ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม และผลการประชุม ได้มีมาตรการต่างๆออกมา ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ของการกอบกู้วิกฤต Eurozone ผมจึงอยากจะสรุป และวิเคราะห์ผลการประชุมสุดยอด Eurozone ในครั้งนี้ ดังนี้

ผลการประชุมสุดยอด Eurozone

การประชุมสุดยอดของสมาชิก 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโร หรือที่เราเรียกว่า Eurozone นั้น ครั้งล่าสุดประชุมกันเมื่อวันพุธที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในภาพรวม หลังจากการประชุมที่ยืดเยื้อ ผู้นำ Eurozone ก็ตกลงกันได้ และประกาศออกมาว่า จะมีมาตรการที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ หรือ comprehensive package เพื่อที่จะกอบกู้วิกฤต Eurozone ให้ได้ โดยมีมาตรการที่ตกลงกันได้ 3 เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก เป็นเรื่องของการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ โดยได้มีการเจรจาระหว่างผู้นำ Eurozone กับธนาคารต่างๆที่เป็นเจ้าหนี้ของกรีซ เพื่อยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ ซึ่งเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ได้มีข้อตกลงว่า จะยกเลิกหนี้ หรือที่เรียกว่ามาตรการ hair-cut 20% แต่ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างการเจรจา ในตอนแรก ธนาคารต่างๆจะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซเพียง 40% แต่ผู้นำฝรั่งเศสกับเยอรมนี คือ Sarkozy และ Merkel ได้เจรจาต่อรองเรื่องนี้กับธนาคารต่างๆ จนถึงกลางดึกของวันพุธที่ 26 ตุลาคม จึงสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ได้ ซึ่งมาตรการ hair-cut ดังกล่าว จะปรับลดหนี้ของกรีซให้เหลือประมาณ 120% ของ GDP ภายในปี 2012

ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของการเพิ่มเงินในกองทุนกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone ซึ่งมีชื่อว่า European Financial Stability Facility (EFSF) ปัจจุบัน กองทุนนี้มีเงินอยู่ 140,000 ล้านยูโร ก่อนหน้าการประชุม มีข้อเสนอจะเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนนี้ ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านยูโร แต่ผลการประชุมก็ออกมาว่า จะมีการเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนเพียง 1 ล้านล้านยูโร

วิธีการในการเพิ่มเงินใน EFSF มีอยู่ 2 วิธี วิธีแรก คือ การให้หลักประกันสำหรับพันธบัตรของประเทศที่มีหนี้ ซึ่งจะทำให้พันธบัตรเหล่านี้ มีแรงดึงดูดมากขึ้นสำหรับนักลงทุน และจะทำให้รัฐบาลของประเทศที่มีหนี้สิน มีค่าใช้จ่ายน้อยลงในการกู้ยืมเงิน

ส่วนวิธีที่ 2 คือ การจัดตั้งกองทุนลงทุนพิเศษขึ้น โดยจะมีการระดมทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงจาก IMF และประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะจีน โดยมีความคาดหวังว่า การเพิ่มเงินให้กับ EFSF จะเป็นรูปเป็นร่างได้ ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ส่วนเรื่องที่ 3 ที่ที่ประชุมสุดยอด Eurozone ตกลงกันได้ จากการประชุมครั้งนี้ คือ มาตรการที่จะให้ธนาคารในยุโรปเพิ่มทุนประมาณ 1 แสนล้านยูโร ภายในเดือนมิถุนายน 2012 ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น จากการผิดนัดชำระหนี้ และป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน

บทวิเคราะห์

• ภาพรวม : ผมมองว่า การประชุมสุดยอด Eurozone ในครั้งนี้ ในภาพรวม ถือว่า
ประสบความสำเร็จ และถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญในการกอบกู้วิกฤต อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ดูอย่างละเอียดแล้ว จะเห็นว่า ผลการประชุมยังไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่า จะสามารถกอบกู้วิกฤตได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ที่ขาดหายไป คือ รายละเอียดต่างๆ โดยผลการประชุมจะเน้นในเรื่องของหลักการ แต่ยังขาดรายละเอียดและมาตรการต่างๆอยู่อีกมาก

• เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียด จะเห็นได้ว่า ยังไม่มีความแน่นอนว่า แต่ละมาตรการ จะ
สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เริ่มตั้งแต่เรื่องของการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่า ในที่สุดแล้ว ธนาคารต่างๆ จะยอมรับที่จะยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ได้จริงหรือไม่ นอกจากนั้น ข้อตกลงการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ ก็มีการใช้หลักการความ “สมัครใจ” เป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่มีความแน่นอนว่า ธนาคารต่างๆจะ “สมัครใจ” หรือไม่ ในการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ

• สำหรับเรื่องกองทุน EFSF นั้น ยังมีปัญหาน่าคิดว่า เงินที่เพิ่มเข้าไป 1 ล้านล้านยูโรนั้น จะ
เพียงพอหรือไม่ หากวิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน ซึ่งเยอรมนีและธนาคารกลางยุโรปไม่ยอมเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนนี้ คือ การเพิ่มเข้าไปเป็น 2 ล้านล้านยูโร ซึ่งที่ตกลงกันได้จากการประชุมสุดยอด Eurozone ครั้งนี้ จะเพิ่มเพียง 1 ล้านล้านยูโรเท่านั้น จึงไม่น่าจะเพียงพอ

ที่น่าเป็นห่วง คือ หากวิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลี ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า EFSF จะมีเงิน
พอที่จะช่วยกอบกู้วิกฤตหนี้อิตาลีได้หรือไม่ อิตาลีนั้น เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ Eurozone ขณะนี้ อิตาลีมีหนี้อยู่สูงถึง 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น หากอิตาลี ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ หรือล้มละลาย ก็จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล และอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์การเงินโลกครั้งใหม่

• นอกจากนี้ วิกฤต Eurozone ครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสหภาพยุโรป ที่
ยังไม่มีการบูรณาการอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะบูรณาการทางการเงินและการบูรณาการทางการเมือง การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ในเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้าง และในเรื่องของการบูรณาการทางการเงิน ดังนั้น รากเหง้าของปัญหาก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข มาตรการต่างๆที่ตกลงกันได้ในการประชุมสุดยอด Eurozone ในครั้งนี้ ก็เป็นเพียงมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น แต่มาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว ก็ยังไม่มี

กล่าวโดยสรุป แม้ว่า การประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา จะถือได้ว่า
ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่า มาตรการเหล่านี้ จะสามารถกอบกู้วิกฤต Eurozone ได้อย่างยั่งยืนได้หรือไม่ และ worst-case scenario ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้น โดยวิกฤตอาจลุกลามบานปลาย เข้าสู่สเปน อิตาลี และฝรั่งเศส และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ได้ด้วย

การประชุมสุดยอด Eurozone

การประชุมสุดยอด Eurozone

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม – วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2554

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด Eurozone เพื่อกำหนดมาตรการกอบกู้วิกฤตหนี้ของยุโรป คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์การประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

วิกฤตหนี้ของยุโรป หรือที่เรียกว่า วิกฤต Eurozone นั้น หัวใจอยู่ที่กรีซ ซึ่งประสบปัญหาหนี้ครั้งใหญ่ โดยสถานการณ์ของกรีซทรุดหนักลงเรื่อยๆ จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ และล้มละลายในที่สุด

ในตอนแรก ก็มีกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ที่ประสบปัญหา แต่ต่อมาสถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน และอาจลามไปถึงฝรั่งเศสด้วย โดยโอกาสของการแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้กรีซไปสู่ประเทศอื่นๆ มีอยู่สูง โดยหากกรีซล้มละลาย ตลาดการเงินจะเกิดการตื่นตระหนก และอาจจะทำให้โปรตุเกส และไอร์แลนด์ ล้มละลายตามกรีซไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การล้มละลายของกรีซอาจจะส่งผลกระทบเป็น domino effect ต่ออิตาลี สเปน และฝรั่งเศสด้วย และอาจนำไปสู่วิกฤตธนาคารครั้งใหญ่ของยุโรป และในที่สุด อาจจะเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 70 ปีได้

การประชุมสุดยอด Eurozone

ที่ผ่านมา กลไกที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการกอบกู้วิกฤต Eurozone คือ EU IMF และ G20 โดย EU มีบทบาทสำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องในบ้านของตัวเอง แต่ EU นั้น มีสมาชิก 27 ประเทศ แต่มีเพียง 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโร เราจึงเรียกกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรนี้ว่า Eurozone ในอดีต ไม่เคยมีการประชุมสุดยอด Eurozone โดยจะเป็นการประชุมสุดยอดของ EU แต่หลังจากเกิดวิกฤตหนี้ของยุโรปในครั้งนี้ จึงมีการจัดประชุมสุดยอดของสมาชิก Eurozone 17 ประเทศขึ้น โดยการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง

ก่อนหน้าการประชุมสุดยอด Eurozone มีการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกลุ่ม Eurozone 17 ประเทศ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยประเด็นสำคัญของการประชุม มีอยู่ 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ มาตรการในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก คือ มาตรการที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า hair cut ประเด็น คือ การจะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซจะมีสัดส่วนเท่าใด

สำหรับเรื่องที่ 2 คือ การถกเถียงกันในเรื่องของจำนวนเงิน ที่จะใส่เข้าไปในกองทุนสำหรับการกอบกู้วิกฤต Eurozone ซึ่งมีชื่อว่า European Financial Stability Facility หรือ EFSF

ส่วนเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของการถกเถียงกันในการเพิ่มเงินช่วยเหลือธนาคารใหญ่ๆของยุโรป ในการเพิ่มทุน เพื่อรองรับต่อผลกระทบจากการล้มละลายของกรีซ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง Eurozone ก็ตกลงกันได้ที่จะจ่ายเงินกู้งวด 2 ให้แก่กรีซ แต่สำหรับเรื่องอื่นๆก็ยังตกลงกันไม่ได้
ต่อมาในการประชุมสุดยอด Eurozone ในวันที่ 23 ตุลาคม ผลการประชุมก็ออกมาในทำนองเดียวกับผลการประชุมระดับรัฐมนตรี โดยในตอนเช้าของวันที่ 23 มีการประชุมสุดยอด EU 27 ประเทศก่อน และหลังจากนั้นในตอนบ่าย เป็นการประชุมของ 17 ประเทศสมาชิก Eurozone อย่างไรก็ตาม ผลการประชุม ก็ยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องหลักๆ ดังนั้น จึงได้มีแผนที่จะประชุมสุดยอด Eurozone อีกครั้งหนึ่ง ในวันพุธที่ 26 ตุลาคม เพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงให้ได้ โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy และผู้นำเยอรมนี Angela Merkel ได้กล่าวว่า ในวันที่ 23 ตุลาคม ได้มีการหารือถึงยุทธศาสตร์ต่างๆ และในวันที่ 26 ตุลาคม ก็จะบรรลุข้อตกลงสำหรับมาตรการกอบกู้วิกฤต เหตุผลประการหนึ่งที่ต้องมีการประชุมสุดยอด 2 วัน ก็เพราะทางเยอรมนี หลังจากการหารือกันในวันที่ 23 ตุลาคม จะต้องนำเรื่องมาตรการต่างๆไปขออนุมัติจากรัฐสภาเยอรมนี และหลังจากนั้น รัฐบาลเยอรมันจึงจะสามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงในที่ประชุมสุดยอด Eurozone ในวันที่ 26 ตุลาคมได้

อย่างไรก็ตาม การประชุมสุดยอด Eurozone ในวันที่ 23 ตุลาคม ยังตกลงกันไม่ได้หลายเรื่อง

เรื่องแรก คือ มาตรการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ซึ่งถึงแม้จะมีการปล่อยเงินกู้งวด 2 ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และเรื่องที่ขัดแย้งกัน คือ มาตรการ hair cut ซึ่งในเดือนกรกฎาคม ธนาคารต่างๆได้ตกลงกันอย่างไม่เป็นทางการว่า จะยกเลิกหนี้ให้กับกรีซประมาณ 20% อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงทำให้มีข้อเสนอที่จะต้องเพิ่มสัดส่วนการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซถึง 60% ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน และยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี ซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันหลายเรื่อง

ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ตกลงกันไม่ได้ คือ จำนวนเงินที่จะนำไปใส่ในกองทุน EFSF ซึ่งปัจจุบันมีเงินอยู่ 440,000 ล้านยูโร โดยได้มีข้อเสนอที่จะให้เพิ่มกองทุนนี้เป็น 2 ล้านล้านยูโร ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน

ส่วนเรื่องที่ 3 ที่ตกลงกันไม่ได้ คือ วงเงินที่จะปล่อยกู้ให้กับธนาคารใหญ่ๆของยุโรป เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มจากการประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมว่า อาจจะตกลงกันได้ว่า วงเงินจะอยู่ประมาณ 100,000 ล้านยูโร แต่ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามว่า เงินจำนวน 100,000 ล้านยูโรจะเพียงพอหรือไม่ ที่จะรองรับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ของกรีซต่อธนาคารต่างๆในยุโรป ซึ่งมีบางคนมองว่า อาจจะต้องใช้เงินถึง 400,000 ล้านยูโร ถึงจะเพียงพอ

ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี

อุปสรรคสำคัญที่สุดของแผนการกอบกู้วิกฤต Eurozone คือ ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี ซึ่งขัดแย้งกันหลายเรื่อง โดยฝรั่งเศสต้องการแผนการกอบกู้วิกฤตที่มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ แต่เยอรมนีไม่เห็นด้วย

สำหรับเรื่องสำคัญที่ขัดแย้งกัน คือ ความขัดแย้งกันในการเพิ่มบทบาทให้กับ EFSF และการเพิ่มเงินทุนให้กับกองทุนนี้ ฝรั่งเศสต้องการให้เพิ่มเงินเข้าไปเป็น 2 ล้านล้านยูโร แต่เยอรมนีไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ฝรั่งเศสต้องการให้ธนาคารกลางยุโรป หรือ European Central Bank เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นใน EFSF แต่เยอรมนีก็ไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศยังมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับมาตรการ hair cut ที่จะช่วยเหลือกรีซ โดยฝรั่งเศสต้องการให้ยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 60% แต่ทางเยอรมนีก็ไม่เห็นด้วย

ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ผมยังไม่ทราบผลการประชุมสุดยอด Eurozone ครั้งที่ 2 ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม แต่ดูแนวโน้มแล้ว ค่อนข้างมีความเป็นไปได้ว่า ในที่สุด ฝรั่งเศสและเยอรมนี น่าจะตกลงกันได้ในเรื่องที่ขัดแย้งกัน โดยผลการประชุมในวันที่ 26 ตุลาคม น่าจะออกมาในลักษณะประนีประนอม ที่ตกลงกันที่จะมีมาตรการ hair cut ให้กับหนี้ของกรีซ ประมาณ 50% สำหรับการเพิ่มเงินในกองทุน EFSF นั้น ก็น่าจะตกลงกันได้ ที่จะให้เพิ่มขึ้นจาก 440,000 ล้านยูโร เป็นประมาณ 1-2 ล้านล้านยูโร และมาตรการสุดท้าย ที่น่าจะตกลงกันได้ คือ การกำหนดวงเงินปล่อยกู้ให้กับธนาคารในยุโรป ประมาณ 100,000 ล้านยูโร

ดังนั้น หากผลการประชุมออกมาในลักษณะนี้ วิกฤต Eurozone ก็น่าจะไม่ลุกลามบานปลาย และจะไม่กระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกมากนัก แต่หากผลการประชุมในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ประสบความล้มเหลว ก็อาจจะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี ก็เป็นไปได้

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 3)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 3)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ 2 ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์วิกฤต Eurozone ไปบ้างแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงพัฒนาการของวิกฤต และแผนการกอบกู้วิกฤตล่าสุด รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ดังนี้

วิกฤต Eurozone

วิกฤตหนี้ของยุโรป โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้เงินยูโร ที่เรียกว่า Eurozone นั้น เป็นปัญหาเข้าขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ โดยในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบปัญหาหนี้สิน ได้แก่ กรีซไอร์แลนด์ และโปรตุเกส แต่ที่หนักที่สุด คือ กรีซ ซึ่งประสบปัญหาหนี้ครั้งใหญ่ จนอาจถึงขั้นล้มละลาย แม้ว่า EU และ IMF จะปล่อยเงินกู้เป็นเงินกว่า 150,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นเงินกู้งวดแรกให้กรีซไปแล้ว แต่สถานการณ์กลับทรุดหนักลง ทำให้หลายฝ่ายกลัวว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ และล้มละลายในที่สุด ต่อมา สถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน และอาจรวมถึงฝรั่งเศสด้วย โดยทั้ง 3 ประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤตหนี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะได้ประกาศซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีและสเปนแล้ว แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น

ต่อมา เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ความวิตกกังวลว่า กรีซจะล้มละลายก็ผ่อนคลายไปได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะหลังจากตัวแทนของ IMF EU และธนาคารกลางยุโรป ที่เรียกว่า Troika ได้ออกมาประกาศว่า จะมีการปล่อยเงินกู้งวดที่ 2 ให้กรีซ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

แถลงการณ์ดังกล่าว ทำให้ตลาดการเงินผ่อนคลายความกังวลไปได้ระดับหนึ่งว่า กรีซจะล้มละลาย หลังจากที่สถานการณ์อึมครึมมาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะที่มีข่าวออกมาว่า รัฐมนตรีคลังของ EU จะเลื่อนการตัดสินใจในการอนุมัติเงินกู้งวด 2 ให้กับกรีซ สำหรับเงินกู้งวด 2 นี้สำคัญมากสำหรับกรีซ เพราะหากไม่ได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว ก็จะผิดนัดชำระหนี้อย่างแน่นอน

บทบาทของ G20

และเมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้าล่าสุดในการกอบกู้วิกฤต Eurozone โดยมีการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G20 ที่กรุงปารีส ในแถลงการณ์ผลการประชุม มีสาระสำคัญของมาตรการกอบกู้วิกฤต Eurozone ดังนี้

• ที่ประชุมได้ประกาศว่า มีความคืบหน้าในเรื่องมาตรการกอบกู้วิกฤต หลังจากได้มีการหารือกันเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในระหว่างการประชุมประจำปีของ IMF

• ที่ประชุมแสดงความยินดีที่ประเทศสมาชิก Eurozone ได้มีฉันทามติร่วมกันที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุน European Financial Stability Facility (EFSF) ซึ่งในปัจจุบันมีเงินอยู่ในกองทุนประมาณ 440,000 ล้านยูโร โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านยูโร ที่ประชุมคาดหวังว่า EFSF จะสามารถป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามบานปลายออกไป

• ที่ประชุมคาดว่า European Council ซึ่งจะประชุมกันในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ จะสามารถตกลงกันถึงแผนการกอบกู้วิกฤตที่มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ

• ที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ในครั้งนี้ เป็นการประชุมเตรียมการและจัดทำแผนกอบกู้วิกฤต Eurozone เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอด G20 ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

• ที่ประชุมจะทำทุกวิถีทาง ที่จะรักษาเสถียรภาพของระบบธนาคารและตลาดการเงิน และจะทำให้ธนาคารต่างๆมีเงินทุนพอที่จะทำธุรกรรมต่อไปได้

• G20 จะดำเนินมาตรการที่จะทำให้ระบบการเงินโลกมีเสถียรภาพ จัดการกับการไหลเวียนของเงินทุน พัฒนาตลาดพันธบัตร และปรับปรุงบทบาทของ IMF โดยเพิ่มความร่วมมือระหว่าง IMF กับกลไกการเงินในระดับภูมิภาค และให้ IMF หาวิถีทางใหม่ๆเพื่อช่วยเหลือประเทศที่เผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง และจะทำให้ IMF มีทรัพยากรหรือเงินทุนเพียงพอ รวมทั้งจะมีการปฏิรูปการบริหารจัดการของ IMF ด้วย

กล่าวโดยสรุป แผนการกอบกู้วิกฤต Eurozone ของ G20 ที่กรุงปารีสนั้น มี 3 มาตรการ
หลัก มาตรการแรก ได้แก่ การยกเลิกหนี้ของกรีซ ซึ่งประมาณการว่า จะยกเลิกหนี้ประมาณ 50% หรือมากกว่านั้น มาตรการที่ 2 คือ การเพิ่มเงินให้กับ EFSF และมาตรการที่ 3 คือ การระดมเงินทุนให้แก่ธนาคารที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง
ภายหลังการประชุม G20 รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส Francois Baroin ได้ออกมากล่าวว่า การ
ประชุมสุดยอดของ EU ในช่วยปลายเดือนตุลาคมนี้ ที่กรุงบรัสเซลส์ จะตกลงกันถึงมาตรการที่จะกอบกู้วิกฤต Eurozone
และผู้อำนวยการ IMF Christine Lagarde ได้กล่าวว่า ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ได้ทรุดหนักลง แทนที่จะดีขึ้น

ส่วนรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ Timothy Geithner กล่าวว่า สหรัฐฯต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการกอบกู้วิกฤต Eurozone ของเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่ถือว่าเป็นผู้นำของ EU
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องจับตาดูกันต่อ ก็คือ การประชุมสุดยอด EU ในช่วงปลายเดือนนี้ และการประชุมสุดยอด G20 ที่ฝรั่งเศส ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนว่า จะมีมาตรการอะไรออกมาบ้าง

ผลกระทบต่อไทย

แต่ปัญหาที่สำคัญสำหรับคนไทย ก็คือ วิกฤต Eurozone ในครั้งนี้ จะกระทบต่อไทยมากน้อยเพียงใด ผมมองว่า มีความเป็นไปได้ หรือ scenario อยู่ 2 ทางด้วยกัน scenario แรก คือ วิกฤต Eurozone จะไม่ลุกลามบานปลาย และไม่กระทบต่อไทยมากนัก ส่วน scenario ที่ 2 วิกฤตอาจลุกลามบานปลาย จนทำให้ยุโรปประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ ซึ่งจะกระทบต่อไทยอย่างรุนแรง

• scenario ที่ 1
scenario นี้ มองว่า แม้ว่ากรีซจะผิดนัดชำระหนี้ แต่จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก โดยจะมีการ
ยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ซึ่งเรียกว่า มาตรการ hair cut ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก และหาก EU IMF และ G20 สามารถผลักดันมาตรการต่างๆออกมาได้สำเร็จ ก็จะช่วยไม่ให้วิกฤตลุกลามบานปลาย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของวิกฤตที่จะมีต่อไทย

• scenario ที่ 2
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้อีกทาง โดยวิกฤต Eurozone อาจลุกลามบานปลาย จนอาจ
นำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ การล้มละลายของกรีซอาจแพร่ระบาดไปสู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะโปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส ดังนั้น หากเกิดภาวะ domino effect อาจนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

Eurozone เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ดังนั้น หากวิกฤตลุกลามบานปลาย จะกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในปีหน้า เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางมาก เพราะต้องพึ่งพาการส่งออกซึ่งคิดเป็น 70% ของ GDP ไทย

สำหรับผลกระทบในด้านการลงทุนนั้น ยุโรปเป็นประเทศที่มาลงทุนเป็นอันดับต้นๆของไทย แต่หากวิกฤต Eurozone ลุกลามบานปลาย ยุโรปก็คงจะลดการลงทุนไนไทยลง รวมทั้งในตลาดหุ้น และตลาดการเงินด้วย

ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน ปี 2011

ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 7 – วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2554

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน โดยรัฐบาลสหรัฐฯได้เปิดเผยแผนของอิหร่านในการสังหารทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว ดังนี้

แผนลอบสังหาร

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ Eric Holder และผู้อำนวยการ FBI Robert Mueller ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงแผนการลอบสังหารทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐฯ รวมทั้งแผนการก่อวินาศกรรมระเบิดสถานทูตซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลในกรุงวอชิงตัน ดี ซี โดยแผนดังกล่าวมีชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯร่วมกับแก๊งยาเสพติดจากเม็กซิโก เป็นผู้ลงมือ

ซึ่งจากข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯระบุว่า แผนดังกล่าว ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ องค์กร Quds Force ของรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งเป็นองค์กรที่สหรัฐฯกล่าวหาว่า ให้ความช่วยเหลือ Taliban ในอัฟกานิสถาน และโจมตีทหารสหรัฐฯในอิรัก Holder ได้กล่าวว่า แผนดังกล่าวได้รับการวางแผน สนับสนุน และบงการมาจากอิหร่าน แต่ก็ยังไม่ได้กล่าวหาว่า ผู้นำอิหร่านเกี่ยวข้องด้วย

แต่ต่อมา ประธานาธิบดี Obama ได้กล่าวเสริมว่า ยังไม่แน่ใจว่าผู้นำอิหร่านเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน แต่ Obama ย้ำว่า ผู้นำอิหร่านจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้

ชาวอิหร่านที่ถูกจับและกล่าวหาในแผนลอบสังหารนี้ ชื่อ Manssor Arbabsiar โดย Arbabsiar ได้ติดต่อแก๊งค้ายาเสพติดของเม็กซิโก และได้โอนเงินให้ 1.5 ล้านเหรียญ เพื่อให้สังหารทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงวอชิงตัน ดี ซี

เรื่องจริง หรือ นิยาย?

แผนการลอบสังหารในครั้งนี้ ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า รัฐบาลอิหร่านเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด แต่ก็มีหลายประเด็นที่ทำให้เกิดความข้องใจว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นนิยายกันแน่ นี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่อิหร่านถูกกล่าวหาในสิ่งที่อิหร่านไม่ได้ทำ และนี่ก็ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯกล่าวหาประเทศอื่น แต่ในที่สุดก็ไม่จริง ตัวอย่างคือ กรณีของ Saddam Hussein ที่รัฐบาล Bush กล่าวหาว่า พัฒนาอาวุธร้ายแรง และเป็นเหตุผลที่สหรัฐฯบุกยึดอิรักในปี 2003 แต่หลังจากยึดอิรักได้แล้ว ก็ไม่พบอาวุธร้ายแรงแต่ประการใด

ปัจจัยสำคัญที่น่าจะนำมาวิเคราะห์ มีดังนี้

• อิหร่านไม่ได้อะไรจากการลอบสังหารในครั้งนี้
ตั้งแต่การปฏิวัติอิสลาม ปี 1979 สิ่งที่สำคัญที่สุดต่อรัฐบาลอิหร่าน คือ ความอยู่รอด และ
ยุทธศาสตร์ความอยู่รอดของอิหร่าน ก็คือ การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับสหรัฐฯ สิ่งที่อิหร่านกลัวมากที่สุด คือ การโจมตีจากสหรัฐฯ ดังนั้น หากการก่อวินาศกรรมสำเร็จ คือ การสังหารทูตซาอุดีอาระเบียด้วยการระเบิด ซึ่งอาจจะทำให้มีคนตายนับร้อย และหากการก่อวินาศกรรมดังกล่าวมีหลักฐานว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลอิหร่าน ก็แน่นอนว่า สหรัฐฯจะตอบโต้อย่างรุนแรง ด้วยการโจมตีทางทหารต่ออิหร่าน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่รัฐบาลอิหร่านจะยอมทำเรื่องที่เสี่ยงเช่นนี้ โดยที่ผลที่จะได้รับก็แทบไม่มีอะไรเลย การสังหารทูตซาอุดีอาระเบียกับความเสี่ยงที่จะเปิดฉากสงครามกับสหรัฐฯ ดูไม่น่าจะคุ้มค่ากันเลย

• Arbabsiar และแก๊งค้ายาเสพติดเม็กซิกัน
อีกเรื่องที่แปลกมาก คือ การที่องค์กร Quds Force ซึ่งในอดีต จะใช้สมาชิกมืออาชีพ หรือ
ไม่ก็ใช้สมาชิกจากองค์กรแนวร่วม อาทิ Hizballah หรือกลุ่มก่อการร้ายซีเรีย หรือกลุ่มก่อการร้ายนิกายชีอะห์ชาวอิรัก ในการก่อวินาศกรรม แต่ในครั้งนี้ แผนใหญ่เช่นนี้ แต่ Quds Force กลับมาใช้ นาย Arbabsiar ซึ่งเป็นมือสมัครเล่น เป็นเซลล์แมนขายรถมือสอง และที่หนักไปกว่านั้น ก็คือ การใช้บริการของแก๊งยาเสพติดชาวเม็กซิกัน

• ความขัดแย้งอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย
อีกประเด็นที่น่าสงสัย และอธิบายไม่ได้ คือ ถึงแม้ว่าอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียจะมีความ
ขัดแย้งกัน แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมอิหร่านจึงเลือกที่จะมาก่อวินาศกรรมในกรุงวอชิงตัน ดี ซี ทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และที่สำคัญไปกว่านั้น หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 สหรัฐฯก็เข้มงวดมาก ในการป้องกันการก่อการร้ายในเมืองหลวงของตน

ดังนั้น จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เกิดความกังขาและข้องใจเป็นอย่างมากว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นนิยายกันแน่ หากรัฐบาล Obama ไม่สามารถมีหลักฐานชัดเจนได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องตลกทางการทูตอีกครั้ง เหมือนที่ได้เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์ Saddam Hussein กับอาวุธร้ายแรง

ผมดูแล้ว ความเป็นไปได้ คือ รัฐบาลอิหร่านไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยอาจจะเป็นการกระทำโดยพลการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง อย่างเช่น อิสราเอล ที่ต้องการที่จะให้สหรัฐฯกับอิหร่านขัดแย้งกัน หรือไม่ก็อาจจะเป็นแผนของรัฐบาล Obama ที่สร้างเรื่องขึ้น เพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะใช้ไม้แข็งกับอิหร่าน หรืออาจถึงขั้นการใช้กำลังโจมตีอิหร่าน

ผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม แผนการสังหารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือนิยายก็ตาม แต่ก็จะส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน โดยทั้ง Obama และรองประธานาธิบดี Joe Biden ได้ออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า จะต้องตอบโต้อิหร่าน และมาตรการตอบโต้ทุกรูปแบบก็กำลังได้รับการพิจารณา รวมถึงมาตรการทางทหารด้วย และสหรัฐฯกำลังจะล๊อบบี้พันธมิตรและประเทศต่างๆให้สนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน รวมถึงสหรัฐฯกำลังจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ UNSC ด้วย นอกจากนี้ Obama กำลังถูกกดดันอย่างหนักที่จะต้องตอบโต้อิหร่าน โดยเฉพาะกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า หาก Obama ไม่ทำอะไรเลย ก็จะถูกฝ่ายรีพับลิกันใช้เป็นประเด็นในการโจมตีในช่วงการหาเสียงอย่างแน่นอน
ผลกระทบที่เป็นรูปธรรมประการแรก คือ จะทำให้การเจรจาเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านสะดุด
หยุดลง

นอกจากนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาล Obama ได้ประกาศว่า กำลังพิจารณาคว่ำบาตรธนาคารกลางอิหร่าน เพื่อเป็นการตอบโต้แผนลอบสังหารดังกล่าว ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรธนาคารกลางอิหร่าน จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจอิหร่าน มาตรการดังกล่าว จะโดดเดี่ยว Bank Markazi ซึ่งเป็นธนาคารกลางของอิหร่าน โดยจะมีการตั้งเงื่อนไขว่า บริษัทใดติดต่อกับธนาคารกลางอิหร่าน ก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินของสหรัฐฯได้ ซึ่งจะทำให้อิหร่านมีความยากลำบากเป็นอย่างมากในการส่งออกน้ำมัน ฝ่ายรัฐบาลอิหร่านได้ออกมาเตือนว่า มาตรการเช่นนี้ ถือเป็นการประกาศสงครามกับอิหร่าน

ผลกระทบของเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้มีการตั้งคำถามว่า จะนำไปสู่สงครามระหว่าง
สหรัฐฯกับอิหร่านหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า สหรัฐฯยังไม่พร้อมจะทำสงครามกับอิหร่านในขณะนี้ เพราะประชาคมโลกคงไม่เห็นด้วยและจะต่อต้านสหรัฐฯ และขณะนี้ กองทัพสหรัฐฯก็กำลังวุ่นอยู่กับการถอนทหารออกจากอิรัก และกำลังทำสงครามอยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน นอกจากนี้ หากอิหร่านถูกโจมตี ก็จะตอบโต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนจบ)

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 – วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2554

ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์บทความของ Walter Lohman ชื่อ “Reinvigorating the US-Thailand Alliance” ใน website ของ Heritage Foundation ซึ่งเป็น think tank ที่มีอิทธิพลของสหรัฐฯ ไปบ้างแล้ว โดยได้วิเคราะห์พันธมิตรไทยกับสหรัฐฯ ในอดีตและปัจจุบัน และสิ่งท้าทาย ไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ ซึ่งจะเป็นตอนจบ ผมจะมาสรุปต่อในส่วนของข้อเสนอพันธมิตรไทยกับสหรัฐฯในอนาคต ของ Heritage Foundation และในตอนท้าย ผมจะนำเสนอบทวิเคราะห์ของผม ดังนี้

พันธมิตร ไทย – สหรัฐฯ : อนาคต

Heritage Foundation ได้เสนอรัฐบาลสหรัฐฯว่า ควรกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และรื้อฟื้นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยมีข้อเสนอหลักๆ ดังนี้

• ยกระดับความสัมพันธ์
ทั้ง 2 ประเทศ ควรเพิ่มการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงในกรอบทวิภาคี ที่ผ่านมา
ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศจะเจอกันในเวทีพหุภาคี คือ ในอาเซียน หรือในเอเปค ดังนั้น การยกระดับพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ จะเกิดขึ้นได้ ก็คือ จะต้องมีการเยือนไทยของผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดี Obama ยังไม่เคยเดินทางมาเยือนไทยเลย ทั้งๆที่ไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯในภูมิภาค และเป็น 1 ใน 5 พันธมิตรหลักของสหรัฐฯในเอเชีย

• เน้นผลประโยชน์ร่วมกัน
การรื้อฟื้นพันธมิตร ควรมุ่งไปที่ความร่วมมือที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การปกป้อง
การค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมประชาธิปไตย เสถียรภาพในภูมิภาค ความร่วมมือทางทหาร ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้น เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้อย่างมีความหมาย จึงควรยกระดับเวทีหารือทวิภาคีไทย-สหรัฐฯ คือ เวที US-Thailand Strategic Dialogue ซึ่งในปัจจุบัน เป็นเวทีหารือในระดับปลัดกระทรวง และระดับอธิบดี จึงควรยกระดับขึ้นเป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และในปัจจุบัน มีการประชุม 2 ปี ครั้ง ก็ควรให้มีการประชุมปีละครั้ง

• ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง
หุ้นส่วนด้านความมั่นคงไทย-สหรัฐฯยังคงมีเสถียรภาพ ความร่วมมือในกรอบ Cobra Gold
การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นมาตรการที่ควรดำเนินการต่อ และควรขยายความร่วมมือให้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯควรเพิ่มการขายอาวุธให้กับไทย ทั้งนี้ เพื่อที่จะแข่งกับอิทธิพลของจีนที่กำลังขายอาวุธให้กับไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

• บทบาทของสถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯ
สถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯ เป็นสถานทูตสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
รัฐบาลสหรัฐฯควรเพิ่มบทบาทให้กับสถานทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ โดยส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางการทูตของสหรัฐฯในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯ ควรมีบทบาทดูแลกรอบความร่วมมือต่างๆระหว่างสหรัฐฯกับภูมิภาค อาทิ Lower Mekong Initiative

• เพิ่มบทบาทการทูตภาคประชาชน
การที่จีนดำเนินการทูตภาคประชาชนในเชิงรุกต่อไทย ทำให้ไทยมองจีนในแง่บวกมากขึ้น
เรื่อยๆ ขณะเดียวกัน คนไทยก็มองสหรัฐฯในแง่ลบมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สหรัฐฯจะต้องรีบดำเนินยุทธศาสตร์การทูตภาคประชาชน โดยเพิ่มการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และกิจกรรมทางด้านมนุษยธรรม

• จับตามองความเคลื่อนไหวของจีน
Heritage Foundation เสนอต่อรัฐบาลสหรัฐฯว่า สหรัฐฯควรจะต้องติดตามเฝ้ามองบทบาท
และความเคลื่อนไหวของจีนในไทยอย่างใกล้ชิด ในทุกๆด้าน ทั้งทางด้านการทหาร ด้านเศรษฐกิจ และด้านการทูตภาคประชาชน

• ใช้ไทยเป็นช่องทางกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน
ไทยมีบทบาทนำในอาเซียนมาโดยตลอด สหรัฐฯจึงควรใช้ไทยเป็นช่องทางในการกระชับ
ความสัมพันธ์กับอาเซียน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และในเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย

• รื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งหยุดชะงักไปหลังรัฐประหาร ปี 2006 ก็ควรกลับมาเจรจา
กันต่อ โดยเฉพาะเมื่อทางฝ่ายรัฐบาลไทยพร้อม นอกจากนี้ สหรัฐฯควรชักชวนให้ไทยเข้าร่วมใน FTA ที่สหรัฐฯกำลังผลักดันในภูมิภาคอยู่ คือ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯจะต้องไม่ลืมว่า การค้าไทย-จีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศได้ทำ FTA กัน ดังนั้น สหรัฐฯจะต้องรีบเจรจา FTA กับไทย มิเช่นนั้น สหรัฐฯก็จะตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบจีน

บทวิเคราะห์

• บทความชิ้นนี้ ถือได้ว่า มีรายละเอียดและข้อมูลที่น่าสนใจมาก ทำให้เราเข้าใจนโยบาย
สหรัฐฯต่อไทยได้มากขึ้น Heritage Foundation เป็น think tank ที่มีอิทธิพลอย่างมากในสหรัฐฯ โดยจะมีความใกล้ชิดกับพรรครีพับริกันเป็นพิเศษ แม้ว่าจะไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล Obama ที่เป็นพรรคเดโมแครต แต่ข้อเสนอของ Heritage Foundation ก็จะมีอิทธิพลต่อสภาคองเกรส ซึ่งพรรครีพับริกันครองเสียงข้างมากอยู่ในขณะนี้

• ข้อสังเกตประการที่ 2 ของผม คือ เรื่อง China Factor เห็นได้ชัดจากงานเขียนชิ้นนี้ว่า
สหรัฐฯกำลังวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อการผงาดขึ้นมาของจีน และการขยายอิทธิพลของจีนเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสู่ประเทศไทย ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯต่อเอเชีย คือ การปิดล้อมจีนหรือการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน China Factor จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนการทูตของสหรัฐฯในภูมิภาค เห็นได้ชัดว่า งานเขียนชิ้นนี้ เปรียบเทียบความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ กับความสัมพันธ์ไทย-จีนอยู่บ่อยครั้ง และข้อเสนอหลักๆเกือบทั้งหมดก็มุ่งเป้าไปที่การแข่งกับอิทธิพลของจีนในไทย

• ในส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะนั้น มีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายเรื่อง ซึ่งโดยรวมแล้ว ผมมอง
ว่า ถ้าหากรัฐบาล Obama คล้อยตามข้อเสนอเหล่านี้ และปรับนโยบายต่อไทย และรื้อฟื้นพันธมิตรกับไทยตามข้อเสนอเหล่านั้น ไทยก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ซึ่งประเด็นข้อเสนอหลักๆ ผมก็เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ การเสนอให้ Obama มาเยือนไทย การยกระดับ US-Thailand Strategic Dialogue การใช้ไทยเป็นช่องทางเข้าสู่อาเซียน และการรื้อฟื้น FTA ไทย-สหรัฐฯ เป็นต้น

• อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ ก็คือ ความขัดแย้ง
และความวุ่นวายทางการเมืองของไทย ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงในอนาคต
และอีกปัจจัยที่เป็นอุปสรรคที่ผมมอง คือ การที่สหรัฐฯมียุทธศาสตร์ต่อ
ภูมิภาคที่ต่างไปจากอดีต ที่เคยเน้นระบบ hub and spokes เน้นพันธมิตรหลัก 5 ประเทศ แต่ในขณะนี้ สหรัฐฯได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการขยายกรอบพหุภาคีมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีการขยายพันธมิตรออกไป จากเดิมที่มีแค่ 5 ประเทศ แต่ในขณะนี้ สหรัฐฯต้องการใกล้ชิดกับอีกหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะ อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯมีตัวเลือกมากขึ้น ไทยจะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯน้อยลง ในขณะที่ อินโดนีเซียและเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น สถานะของไทย ก็ตกต่ำลงอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศและเวทีอาเซียน
ทำให้การเป็นพันธมิตรของไทยในสายตาสหรัฐฯ ลดความสำคัญลง ไทยกลายเป็นพันธมิตรที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่สามารถเป็นผู้นำอาเซียนได้ และไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นได้ สหรัฐฯจึงมีแนวโน้มที่จะไปหาประเทศอื่นที่มีสถานะดีกว่าไทย

นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ ปี 2011

นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 กันยายน – วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2554

เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา Robert Hormats รองปลัดกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งดูแลกิจการด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ ในหัวข้อ “U.S. Economic Policy and the Asia-Pacific” ที่นคร Los Angeles คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

สภาวะแวดล้อม

ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Hormats ได้วิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า กำลังมีการเปลี่ยนแปลงของอำนาจในระบบโลก โดยกำลังมีการเคลื่อนย้ายของอำนาจจากตะวันตกมาตะวันออก จากการใช้เครื่องมือทางทหารมาเป็นการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ และจากประเทศที่มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว ไปสู่ประเทศที่มีเงินทุนมหาศาล

ในสมัยสงครามเย็น ประเทศต่างๆเน้นการสร้างเสริมกำลังทางทหาร แต่ในต้นศตวรรษที่ 21 ประเทศต่างๆได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจแทน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการสะท้อนถึงระบบโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจ จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯจึงกำลังประสบกับคู่แข่งในหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้น หลายประเทศก็จะเป็นทั้งหุ้นส่วนและคู่แข่งของสหรัฐฯในขณะเดียวกันด้วย

การเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกใหม่ คือ การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันและในอนาคต ประเทศเหล่านี้กำลังมีอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และอิทธิพลในสถาบันโลกก็เพิ่มขึ้น

นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ

จากการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว Hormats จึงพยายามจะตอบคำถาม 3 คำถามด้วยกัน คำถามแรก คือ สหรัฐฯควรจะมีนโยบายเศรษฐกิจโลกอย่างไร คำถามที่ 2 คือ ระบบเศรษฐกิจโลกควรจะมีกฎระเบียบและบรรทัดฐานอย่างไร และคำถามที่ 3 คือ จะพัฒนาโครงสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียได้อย่างไร

Hormats ได้ตอบคำถามแรก คือ นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯจะเป็นอย่างไรนั้นว่า นโยบายควรจะเน้น 4 เรื่องใหญ่ด้วยกัน คือ การส่งเสริมการส่งออก การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมการลงทุน และการส่งเสริมสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ

ความสำเร็จของนโยบายดังกล่าว จะต้องอาศัยการที่สหรัฐฯจะต้องพัฒนากฎและสถาบันของเศรษฐกิจโลกให้สอดคล้องกับผลปะโยชน์ในระยะยาวของสหรัฐฯ

สำหรับในด้านการส่งเสริมการส่งออกนั้น ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศยุทธศาสตร์หลัก คือ National Export Initiative โดยได้ตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มการส่งออกของสหรัฐฯ ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 5 ปี

สำหรับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญานั้น Hormats ได้เน้นว่า ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ว่า จะดำเนินนโยบายเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ในลักษณะเชิงรุกและแข็งกร้าว ดังนั้น การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจากการละเมิดในรูปแบบต่างๆ จึงเป็นแกนกลางของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ระบบเศรษฐกิจโลก

องค์ประกอบที่สำคัญของนโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ คือ การจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก หรือระบบเศรษฐกิจโลก เพื่อพร้อมรับกับสิ่งที่ท้าทายในศตวรรษที่ 21 โดยสหรัฐฯเน้นสถาบันและบรรทัดฐานที่โปร่งใส และมีความเป็นธรรม ซึ่ง Hormats ได้กล่าวว่า ระบบดังกล่าว ไม่ต้องสร้างจากศูนย์ ทั้งนี้เพราะ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สหรัฐฯได้จัดระเบียบเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่ ที่เรียกว่า Bretton Woods System ซึ่งมีสถาบันหลัก คือ IMF ธนาคารโลก GATT OECD และธนาคารเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่กลายเป็นตัวแสดงที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้น นโยบายของสหรัฐฯ จะต้องส่งเสริมให้มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ มีความรับผิดชอบต่อระบบเศรษฐกิจโลก และสหรัฐจะต้องมีคามสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ โดยขณะนี้ มีหลายเวทีสำหรับการปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่ ในระดับพหุภาคี มี G20 เป็นกลไกหลัก สำหรับในระดับทวิภาคี สหรัฐฯก็มีเวทีหารือทวิภาคีกับมหาอำนาจใหม่ อาทิ Strategic and Economic Dialogue กับจีน U.S.-India Strategic Dialogue และ U.S.-Russian Bilateral Presidential Commission

นอกจากนี้ ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังเน้นการที่จะทำให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ สามารถต่อสู้แข่งขันกับคู่แข่งประเทศอื่นได้ บทพื้นฐานของกฎระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นธรรม ปัญหาสำคัญของสหรัฐฯ คือ มีหลายประเทศที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนภาคเอกชน ทำให้ภาคเอกชนของประเทศเหล่านี้ได้เปรียบภาคเอกชนของสหรัฐฯ ดังนั้น นโยบายของสหรัฐฯ คือ จะต้องทำให้การแข่งขันของภาคเอกชนเป็นธรรม
นโยบายต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค

ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ Hormats ได้เน้นความสำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคโดยได้อ้างถึงคำพูดของ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯว่า “อนาคตของสหรัฐฯได้ถูกผูกติดอยู่กับอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค” นโยบายของสหรัฐฯต่อภูมิภาคจะเน้น 2 เรื่องด้วยกัน คือ นโยบายต่อเอเปค และการผลักดัน FTA ตัวใหม่ ที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP
สำหรับเอเปคนั้น สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเอเปคมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประเทศคู่ค้า 15 อันดับแรกของสหรัฐฯ มีถึง 7 ประเทศที่เป็นสมาชิกเอเปค 60% ของการส่งออกของสหรัฐฯ ก็ส่งมาที่สมาชิกเอเปค สมาชิกเอเปคมีทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งรวมกันแล้ว มีขนาดเศรษฐกิจเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก และมีปริมาณการค้าคิดเป็น 44% ของปริมาณการค้าโลก

ปีนี้จะเป็นปีพิเศษ เพราะสหรัฐฯจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย ในเดือนพฤศจิกายน Hormats ได้เน้นว่า การประชุมสุดยอดเอเปคในปีนี้ สหรัฐฯต้องการส่งเสริมการบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค และขยายการค้าและการลงทุน
เรื่องสุดท้ายที่ Hormats พูดถึง คือ การผลักดัน FTA ในภูมิภาคตัวใหม่ คือ TPP สหรัฐฯเป็นแกนนำในการจัดตั้ง TPP ซึ่งขณะนี้ มี 9 ประเทศที่เป็นสมาชิก โดย TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง สหรัฐฯได้ตั้งเป้าว่า ในการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวายนั้น จะได้มีการบรรลุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับ TPP

บทวิเคราะห์

จากนโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯที่ได้สรุปไปข้างต้น ผมมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ดังนี้

• สุนทรพจน์ที่กล่าวโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นไปตามที่คาดไว้ คือ จะมีลักษณะที่เป็นภาษาดอกไม้ แต่หัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศ คือ นโยบายที่ไม่ได้ประกาศ สำคัญกว่านโยบายที่ประกาศ นโยบายที่ Hormats ไม่ได้ประกาศ คือ วาระซ่อนเร้น หรือยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐฯ ซึ่งผมมองว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั่นเอง

• อีกเรื่องที่อยากวิเคราะห์ คือ เรื่องหลักๆที่เป็นนโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯนั้น อาทิ การส่งเสริมการส่งออก ทรัพย์สินทางปัญญา และระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็นธรรมนั้น ก็เป็นเรื่องที่สหรัฐฯจะได้ประโยชน์ทั้งสิ้น มีคำที่สหรัฐฯชอบใช้อยู่เรื่อย คือคำว่า “ต้อง fair” หรือต้องเป็นธรรม ผมมองว่า ระบบที่เป็นธรรม ก็คือ ระบบที่สหรัฐฯจะได้เปรียบ ส่วนระบบที่ไม่เป็นธรรม ก็คือ ระบบที่สหรัฐฯจะเสียเปรียบนั่นเอง

• กล่าวโดยสรุป นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯที่แท้จริงนั้น คือ สหรัฐฯจะดำเนินยุทธศาสตร์แบบหลายช่องทาง
ในระดับโลก สหรัฐฯจะเน้นการสร้างสถาบันและกฎระเบียบในระดับโลก เพื่อเอื้อประโยชน์
แก่สหรัฐฯ โดยเฉพาะการผลักดันการเจรจา WTO รอบโดฮา และการครอบงำสถาบันเศรษฐกิจโลก คือ IMF และธนาคารโลก สำหรับ G7 G8 และ G20 ก็เป็นกลไกสำคัญของสหรัฐฯ ในการครอบงำการจัดการระเบียบเศรษฐกิจโลก

สำหรับในระดับภูมิภาคเอเชีย สหรัฐฯจะเน้นเอเปค เพราะสหรัฐฯได้ครอบงำเอเปคมาโดยตลอด และในขณะนี้ ก็ได้ผลักดัน TPP เพื่อมาแข่งกับ FTA ของอาเซียน

นอกจากนี้ สหรัฐฯยังดำเนินนโยบายผ่านช่องทางทวิภาคี ซึ่งในสมัยรัฐบาล Bush ได้ให้ความสำคัญกับการเจรจา FTA ทวิภาคี อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาล Obama การเจรจา FTA ทวิภาคีได้ลดความสำคัญลง

10 ปี สงครามอัฟกานิสถาน

10 ปี สงครามอัฟกานิสถาน

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 – วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2554

ในเดือนตุลาคม ปีนี้ จะครบ 10 ปี ของสงครามอัฟกานิสถาน ที่เริ่มด้วยการที่สหรัฐฯ ทำสงครามบุกยึดอัฟกานิสถาน ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2001 คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์สงครามอัฟกานิสถาน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน และวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต ดังนี้

สงคราม 10 ปี

หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 รัฐบาล Bush ได้ระบุว่า การโจมตีสหรัฐฯในเหตุการณ์ 11 กันยาฯ นั้น เป็นฝีมือของ al-Qaeda มีผู้นำ คือ Bin Laden ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในอัฟกานิสถาน รัฐบาลอัฟกานิสถาน ในขณะนั้น คือ รัฐบาล Taliban ซึ่งมีอุดมการณ์มุสลิมหัวรุนแรง จึงสนับสนุน al-Qaeda อย่างเต็มที่ ดังนั้น หลังจากรัฐบาล Bush ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สิ่งแรกที่ทำ คือ การบุกยึดอัฟกานิสถาน เพื่อโค่นรัฐบาล Taliban และกำจัด al-Qaeda และ Bin Laden

ในเดือนตุลาคม ปี 2001 สหรัฐฯได้เปิดฉากทำสงครามบุกอัฟกานิสถาน ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถบุกยึดกรุง Kabul และโค่นรัฐบาล Taliban ลงได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สหรัฐฯยึดได้ คือ เมืองเปล่า ผู้นำและนักรบ Taliban ได้หนีกระจัดกระจายไปหมด รวมทั้งกลุ่ม al-Qaeda และ Bin Laden ก็อันตรธานหายไปด้วย

หลังจากนั้น อัฟกานิสถานสงบอยู่ได้ไม่นาน นักรบ Taliban และ Bin Laden ก็ฟื้นคืนชีพ โดยมีแหล่งซ่องสุมใหม่อยู่บริเวณพรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถาน และได้ทำสงครามกองโจร ต่อสู้กับกองกำลังนาโต้ สถานการณ์สงครามก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ Taliban ได้ยึดครองพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในสมัยรัฐบาล Obama สหรัฐฯตัดสินใจเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไป เพื่อที่จะเอาชนะ Taliban ให้ได้ แต่ก็ล้มเหลว ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ จะทำให้ Taliban อ่อนแอลง และทำให้กองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถาน นำโดย Karzai เข้มแข็งขึ้น ซึ่งในที่สุด จะช่วยเหลือตัวเองได้ และสหรัฐฯจะได้ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานได้ แต่ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ Taliban กลับเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กองกำลังของ Karzai ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ ก็เกิดความแตกแยกในพันธมิตรนาโต้ หลายประเทศต้องการถอนทหารออกไป

ในปัจจุบัน สถานการณ์ด้านการทหารและการเมืองของอัฟกานิสถาน ได้ทรุดหนักลงเป็นอย่างมาก ชาวอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนรัฐบาล Karzai และไม่พอใจเป็นอย่างมากที่รัฐบาล Karzai ไม่สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้นได้ แต่กลับมีชาวอัฟกานิสถานจำนวนไม่น้อย ที่สนับสนุน Taliban ซึ่งพยายามโน้มน้าวให้ชาวอัฟกานิสถานเชื่อว่า สงครามครั้งนี้เป็นสงครามชาติ ที่ Taliban กำลังต่อสู้กับฝ่ายรุกราน คือ สหรัฐฯและนาโต้

นอกจากนี้ กองกำลังทหารของ Karzai ซึ่งเรียกว่า Afghan National Army หรือ ANA ก็อ่อนแอ มีความเปราะบางและความขัดแย้งในกองทัพ โดยความขัดแย้งที่ร้าวลึก คือ ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ หรือเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่อดีต นักรบ Taliban เป็นชนเผ่า Pashtuns ส่วนฝ่ายต่อต้าน Taliban เป็นชนเผ่าหลายเผ่าพันธุ์ทางเหนือของประเทศ คือ ชนเผ่า Tajiks และ Uzbeks ก่อนสงครามปี 2001 ก่อนที่สหรัฐฯจะไปบุกยึดอัฟกานิสถานนั้น ก็มีสงครามชาติพันธุ์อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว คือเป็นสงครามระหว่างรัฐบาล Taliban ชนเผ่า Pashtuns กับพันธมิตรฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นชนเผ่า Tajiks และ Uzbeks เมื่อรัฐบาล Taliban ถูกโค่นอำนาจลง ชนเผ่า Pashtuns ก็ไม่มีบทบาทในรัฐบาลและในกองทัพ ซึ่งถูกครอบงำโดยชนเผ่าอื่น โดยผู้นำทางทหารของกองทัพอัฟกานิสถานในขณะนี้ เป็นชนเผ่า Tajiks และ Uzbeks เกือบทั้งหมด ความแตกแยกในกองทัพจึงพร้อมจะเกิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐฯถอนทหารออกไป

ส่วนยุทธศาสตร์ของ Taliban ในขณะนี้ คือ เวลาเป็นของฝ่ายตน ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเปิดฉากปฏิบัติการทางทหาร ยุทธศาสตร์หลัก คือ การรอ ปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯประกาศจะถอนทหารออกไป ขณะนี้ ก็เพียงแต่บั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาล Karzai ไปเรื่อยๆ
สำหรับสถานการณ์การสู้รบในต่างๆของอัฟกานิสถานนั้น ทางภาคใต้ สหรัฐฯได้เพิ่มกองกำลังทหารเข้าไป ทำให้ Taliban ต้องหยุดการรุกคืบ แต่สหรัฐฯก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะ Taliban ได้ สำหรับทางภาคตะวันออก ความรุนแรงได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ Taliban สามารถยึดพื้นที่คืนจากกองกำลังนาโต้ได้ และสำหรับทางภาคเหนือ Taliban ได้ปลุกระดมชนเผ่า Pashtuns ทางเหนือ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับฝ่าย Tajiks ให้มาร่วมรบกับฝ่ายตนได้มากขึ้นเรื่อยๆ

แนวโน้มสงครามในอนาคต

ปี 2014 จะเป็นปีชี้ชะตาของสงครามอัฟกานิสถาน เพราะเป็นปีที่สหรัฐฯประกาศจะถอนทหารออกไป และมีแนวโน้มว่า เงินให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาล Karzai ก็จะลดลงไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ดังนั้น แนวโน้มในอนาคต สำหรับสงครามในอัฟกานิสถาน จึงค่อนข้างจะมืดมน โดยมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเกิดสงครามกลางเมือง อย่างที่เคยเกิด ในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ Taliban จะยึดกุมอำนาจรัฐไว้ได้

ความเป็นไปได้อีกทาง หลังปี 2014 คือ อาจจะมีการทำรัฐประหารโดยกองทัพ นำโดยชนเผ่า Tajiks ซึ่งอาจเข้ายึดอำนาจรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง

สำหรับความเป็นไปได้อีกทาง คือ การเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับ Taliban อย่างไรก็ตาม หากมีการเจรจาจริง ท่าทีของ Taliban ก็คงจะไม่มีการอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯ โดยสิ่งที่ Taliban ต้องการ คือ อำนาจรัฐ โดยหาก Taliban ยอมประนีประนอมกับรัฐบาล Karzai และยอม share อำนาจกับรัฐบาล Karzai ก็จะทำให้ Taliban เสีย credit ในสายตาของนักรบ Taliban และประชาชน ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของ Taliban คือ อาจจะยอมเจรจา แต่จะไม่ยอมอ่อนข้อใดๆทั้งสิ้น โดยจะใช้วิธีเตะถ่วง รอเวลาให้ถึงปี 2014 เท่านั้นเอง

จากการวิเคราะห์แนวโน้มข้างต้น ทำให้เห็นว่า อนาคตของสงครามอัฟกานิสถาน ดูจะยืดเยื้อและดูไม่มีทางออก นอกจากชัยชนะของ Taliban ซึ่งในที่สุด หาก Taliban สามารถยึดกุมอำนาจรัฐ และกลับมาเป็นรัฐบาลได้ ก็จะเป็นการประกาศชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของฝ่ายมุสลิมหัวรุนแรง ที่มีชัยชนะต่ออภิมหาอำนาจสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก

ระเบียบเศรษฐกิจโลก ปี 2011

ระเบียบเศรษฐกิจโลก ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 2 - วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2554

ปัจจุบัน กำลังมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ของระเบียบหรือระบบเศรษฐกิจโลก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ของปี 2011 ดังนี้

มหาอำนาจเก่า

ระเบียบเศรษฐกิจโลกในอดีต ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ได้ถูกสร้างขึ้นโดยสหรัฐฯ โดยมีชื่อว่า Breton Woods System

แต่นับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี และล่าสุด หลังจากเกิดวิกฤตหนี้สหรัฐฯ และยุโรป ก็เลยส่งผลกระทบอย่างมากต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

สำหรับสหรัฐฯ กำลังประสบภาวะวิกฤตหนี้อย่างหนัก สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามาเป็นเวลายาวนานถึง 30 ปี และขณะนี้กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก มีมูลค่าสูงถึง 23 ล้านล้านเหรียญ สหรัฐฯ กู้เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านเหรียญต่อปี สหรัฐฯ กำลังประสบกับความล้มเหลวของนโยบายทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อิทธิพลของสหรัฐฯ ในเวทีเจรจาเศรษฐกิจโลก ก็ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในเวที WTO สาเหตุสำคัญมาจากการเสื่อมลงเรื่อย ๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใหม่ ๆ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เคยใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจุบันก็ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการส่งออก สหรัฐฯ ก็ตกมาเป็นอันดับ 3 โดยมีจีน และเยอรมนีเป็นผู้นำการส่งออกของโลก การผงาดขึ้นมาของจีนทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ แม้ว่าเงินดอลลาห์สหรัฐฯ จะยังเป็นเงินสกุลหลักของโลก แต่เงินยูโรก็กำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญ และในอนาคต เงินหยวนของจีนก็จะกลายเป็นคู่แข่งอีกด้วย

ระเบียบโลกในศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากระเบียบโลกในศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก พลวัตทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงและพลิกผันไปอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ประเทศอุตสาหกรรม ประเทศร่ำรวย ซึ่งเคยเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ก็กำลังประสบกับวิกฤต ทั้งสหรัฐฯ ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น

สำหรับสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่ง GDP รวมกันแล้ว ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก GDP ใหญ่กว่าสหรัฐฯ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ EU ตอนนี้ก็กำลังประสบกับวิกฤตการเงินและหนี้สินครั้งใหญ่ สหภาพการเงินของ EU ก็ยังไม่สมบูรณ์ ถึงแม้ในด้านเงินตรา จะมีเงินสกุลร่วมคือ เงินยูโร และมีธนาคารกลางยุโรปแล้ว แต่ EU ก็ยังไม่ใช่สหภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยยังไม่มีกลไกในการกำหนดนโยบายทางการเงิน วิกฤตการเงินที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2008 มาจนถึงปัจจุบัน กำลังเป็นภัยคุกคามต่อบูรณาการทางเศรษฐกิจของ EU วิกฤตหนี้ของ Euro zone ได้โจมตีสมาชิกที่อ่อนแอที่สุด คือ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส และขณะนี้กำลังลุกลามบานปลายเข้าสู่สเปนและอิตาลี

สำหรับญี่ปุ่นก็ยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าสหรัฐฯ และ EU เสียอีก แทบไม่น่าเชื่อว่า ญี่ปุ่นมีหนี้รัฐบาลสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจมานานตั้งแต่ฟองสบู่แตกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นโยบายของรัฐบาลก็ประสบความล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นจึงประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ

นอกจากนี้ กลไกประสานนโยบายของกลุ่มมหาอำนาจเศรษฐกิจเก่า คือ G7 และ G8 ก็ไม่สามารถเล่นบทบาทเป็นผู้นำในการจัดการระเบียบเศรษฐกิจโลกได้อีกต่อไป ทั้งนี้เพราะขาดความชอบธรรมในการเป็นเวทีแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก โดย G7 และ G8 ไม่ได้สะท้อนโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 และวิกฤตหนี้ตะวันตกในปัจจุบัน ทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจของตะวันตก ตกต่ำลงอย่างมาก ได้ทำลายชื่อเสียงของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจโลก ถือเป็นความล้มเหลวทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ของตะวันตก ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของตะวันตกในขณะนี้ได้ชี้ชัดว่า ระเบียบเศรษฐกิจโลกกำลังจะแปรเปลี่ยนจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ที่สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง ไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ ที่มีมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตกมีบทบาทมากขึ้น

มหาอำนาจใหม่

ดังนั้น ระเบียบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน กำลังจะถูกกำหนดขึ้นโดยการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งขณะนี้ขนาดเศรษฐกิจของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่มีสัดส่วนคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก และในขณะที่มหาอำนาจเก่ากำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะจีน อินเดีย ประเทศในเอเชีย ลาตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง เศรษฐกิจกลับเจริญเติบโตอย่างร้อนแรง มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่ามหาอำนาจเก่าถึง 3 เท่า ดังนั้น สัดส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มนี้ต่อเศรษฐกิจโลกก็เพิ่มขึ้นทุกปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก การค้าขาย และการลงทุน ระหว่างกลุ่มประเทศเหล่านี้ด้วยกันเองก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มประเทศมหาอำนาจใหม่พึ่งพาเศรษฐกิจของตะวันตกลดลงเรื่อย ๆ และก็จะสามารถ หลีกเลี่ยงผลกระทบในทางลบจากวิกฤตเศรษฐกิจของมหาอำนาจเก่าได้ มหาอำนาจใหม่ขณะนี้มีถึง 8 ประเทศที่มี GDP เกินกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ ประเทศเหล่านี้ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล เกาหลี เม็กซิโก และในอนาคตก็จะมี ตุรกี และอินโดนีเซียด้วย

และที่เป็นการพลิกผันกลับตาลปัตรครั้งใหญ่ก็คือ การที่ประเทศยากจนกลายเป็นเจ้าหนี้ของประเทศร่ำรวย จีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ ก็มีเงินทุนสำรองมหาศาลโดยเฉพาะที่เป็นเงินดอลลาร์ เกินกว่า 1 แสนล้านเหรียญ ประเทศเหล่านี้ คือ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย บราซิล เกาหลี อินเดีย สิงคโปร์ ไทย อัลจีเรีย เม็กซิโก และมาเลเซีย
The rise of Asia หรือการผงาดขึ้นมาของเอเชีย จะทำให้เอเชียกลายเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลก โดยมีจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศที่ตามจีนมาติด ๆ เป็นแกนนำ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระเบียบเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คือ การที่ G20 ได้กลายเป็นกลไกหลัก ในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะมาแทน G8 ในอนาคต

จะเห็นได้ว่า ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2011 นี้ ได้พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก จากในอดีตไปเป็นอย่างมาก ซึ่งเราคงจะต้องจับตาวิเคราะห์ดูกันต่อว่า ในอนาคต เศรษฐกิจโลกจะวิวัฒนาการไปอย่างไรต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 2)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2554

ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์วิกฤตหนี้ของยุโรป หรือ วิกฤต Eurozone ไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพัฒนาการของวิกฤตและแผนการกอบกู้วิกฤตล่าสุด ซึ่งคอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ดังนี้

วิกฤต

หัวใจของวิกฤต Eurozone ในขณะนี้ อยู่ที่กรีซ ซึ่งประสบกับปัญหาวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ แม้ว่า EU และ IMF จะปล่อยเงินกู้ให้กรีซงวดแรกไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2010 เป็นเงินกว่า 150,000 ล้านเหรียญ สาเหตุที่ต้องปล่อยกู้ให้กับกรีซ เพราะความน่าเชื่อถือของประเทศตกต่ำลงอย่างมากที่สุด กรีซจึงไม่สามารถกู้ยืมเงินในตลาดการเงิน จึงทำให้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ การที่ EU และ IMF ให้ความช่วยเหลือกรีซ ก็เพื่อที่จะเป็นการให้เวลากรีซในการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อที่จะกลับมาฟื้นฟูประเทศได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของกรีซกลับแย่ลง S&P ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซต่ำที่สุด จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด

และล่าสุด สถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน และอาจรวมถึงฝรั่งเศสด้วย โดยทั้ง 3 ประเทศกำลังประสบกับภาวะวิกฤตหนี้เช่นเดียวกัน และได้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไป

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มในขณะนี้ ก็คือ ตลาดการเงินกำลังมองว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า default ดูเหมือนจะมีฉันทามติแล้วว่า กรีซคงจะผิดนัดชำระหนี้แน่ แต่ที่ยังไม่แน่ก็คือ การล้มละลายของกรีซจะส่งผลกระทบต่อ Eurozone และต่อระบบการเงินโลกมากน้อยเพียงใด และจะส่งผลกระทบเป็น domino effect มากน้อยแค่ไหน

กรีซ ขณะนี้มีหนี้อยู่ประมาณ 350,000 ล้านยูโร คิดเป็น 150% ของ GDP วิกฤตหนี้ของกรีซจะส่งผลกระทบต่อธนาคารในยุโรปที่เป็นเจ้าหนี้กรีซอยู่กว่า 3 แสนล้านยูโร โดยเฉพาะธนาคารของฝรั่งเศสและเยอรมนี อย่างไรก็ตาม หากการผิดนัดชำระหนี้ จะมีลักษณะในการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% หรือที่เรียกว่ามาตรการ “hair cut” ซึ่งถ้าออกมาเป็นแบบนี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม โอกาสของการแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้กรีซ ไปสู่ประเทศอื่นๆ ก็ยังมีอยู่สูง โดยก่อนหน้านี้ ทาง EU และ IMF ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับโปรตุเกสและไอร์แลนด์ เช่นเดียวกับในกรณีของกรีซ ดังนั้น หากกรีซล้มละลาย ตลาดการเงินก็อาจจะเกิดการตื่นตระหนกว่า ต่อไป โปรตุเกสและไอร์แลนด์ก็อาจล้มละลายตามกรีซไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น หากกรีซล้มละลาย ก็อาจจะส่งผลกระทบเป็น domino effect ต่ออิตาลี สเปน และฝรั่งเศสด้วย เศรษฐกิจของสเปนและอิตาลีใหญ่กว่าของกรีซมาก ดังนั้น หากเกิดวิกฤตหนี้ใน 2 ประเทศนี้ EU และ IMF ก็จะไม่มีเงินพอที่จะปล่อยกู้ให้กับประเทศทั้งสองได้ ซึ่งจะมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญ
ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ อิตาลี ซึ่งมีมูลค่าหนี้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯและญี่ปุ่น อิตาลีเพิ่งถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก S&P ซึ่งจะทำให้ในอนาคต อิตาลีจะกู้เงินได้ยากขึ้น ในที่สุด อาจจะเป็นวัฏจักร เหมือนกับที่กรีซประสบ คือ อาจจะไม่มีเงินชำระหนี้ได้ มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีก็ลดค่าลงไปเป็นอย่างมาก
ดังนั้น หากเกิดภาวะ domino effect ก็อาจนำไปสู่วิกฤตธนาคารครั้งใหญ่ของยุโรป จะกระทบต่อ Eurozone ทั้งระบบ และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่

มีบางคนถึงกับคาดการณ์ว่า หากปัญหาลุกลามบานปลาย ในที่สุด Eurozone ทั้งระบบอาจล่มสลาย หรืออาจมีบางประเทศอาจจะต้องถอนตัวออกจาก Eurozone ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ ในที่สุด อาจนำไปสู่ Great Depression หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งใหม่ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี

แผนการกอบกู้วิกฤต

สำหรับเค้าโครงของแผนการกอบกู้วิกฤต Eurozone ล่าสุด เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมประจำปีของ IMF ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยแผนดังกล่าว จะมีมาตรการหลักๆ อยู่ 3 มาตรการ

มาตรการแรก เป็นมาตรการในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหา โดยอาจจะมีข้อตกลงที่จะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ซึ่งมาตรการนี้ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า มาตรการ “hair cut”

สำหรับมาตรการที่ 2 จะมีการเพิ่มเงินทุนเข้าไปในกองทุนสำหรับการกอบกู้วิกฤต Eurozone ที่เรียกว่า European Financial Stability Facility (EFSF) ซึ่งในปัจจุบัน มีเงินอยู่ในกองทุนนี้ประมาณ 440,000 ล้านยูโร โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านยูโร รัฐบาลยุโรปหวังว่า มาตรการนี้จะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก EU ที่อยู่ใน Eurozone ในช่วง 5-6 สัปดาห์ข้างหน้า รัฐสภาของเยอรมนี ก็ได้ลงมติเห็นชอบกับแผนการดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา หาก EFSF สามารถเพิ่มเงินในกองทุนได้ ก็จะสามารถทำให้ EFSF มีเงินพอที่จะไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่กำลังประสบวิกฤตหนี้ได้

ส่วนมาตรการที่ 3 เป็นมาตรการในการให้ความช่วยเหลือธนาคารใหญ่ๆของยุโรป ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล้มละลายของกรีซ

ขณะนี้ ทุกฝ่ายกำลังจับตามองไปที่การประชุมสุดยอด G20 ที่จะมีขึ้นที่เมือง Cannes ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยหวังว่า G20 จะสามารถตกลงกันและผลักดันมาตรการต่างๆเหล่านี้ออกมาได้

ก่อนหน้านี้ G20 มีบทบาทน้อยมาก โดยมีเพียงการออกแถลงการณ์ว่า จะมีความร่วมมือกันในการจัดการกับวิกฤต แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดเงินเกิดความมั่นใจได้ ทั้งนี้ เพราะยังไม่มีรายละเอียดมาตรการ มีเพียงแต่คำพูด แต่ไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม
บทบาทของ G20 นั้น มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะหากเกิดสถานการณ์วิกฤตหนี้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน EU ก็คงจะไม่มีเงินพอที่จะช่วยประเทศทั้งสองได้ ดังนั้น ก็เหลือแต่ G20 เท่านั้น ที่จะเป็นกลไกเข้ามาช่วยเหลือประเทศทั้งสอง โดยหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น G20 อาจจะต้องขยายเงินทุนเข้าไปใน IMF ซึ่ง IMF ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วย EU ปล่อยเงินกู้ให้กับไอร์แลนด์ โปรตุเกส และกรีซ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเงินช่วยเหลือทั้งหมด แต่หากเกิดปัญหาขึ้นกับสเปนและอิตาลี IMF อาจจะต้องเข้ามาช่วยปล่อยกู้ให้กับทั้ง 2 ประเทศ อย่างน้อย 50% ของเงินช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งเงินดังกล่าว ก็คงจะต้องมาจากประเทศสมาชิก G20

ดังนั้น เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า EU IMF และ G20 จะสามารถผนึกกำลังในการกอบกู้วิกฤต Eurozone ครั้งนี้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ หากกลไกเหล่านี้ประสบความล้มเหลว ระบบเศรษฐกิจโลกก็คงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี อย่างแน่นอน