Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

สงครามปี 2014


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 23 มกราคม 25547


คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แนวโน้มและสงครามความขัดแย้งสำหรับปีนี้ โดยจะแบ่งการวิเคราะห์เป็นภูมิภาคต่างๆ ดังนี้

               ตะวันออกกลาง

               ภูมิภาคที่น่าจะยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความขัดแย้งและสงครามมากที่สุดคือ ตะวันออกกลาง

·      ซีเรีย

ประเทศที่จะยังคงมีสงครามกลางเมืองรุนแรงต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วคือ ซีเรีย แม้ว่าในปีที่แล้วคณะมนตรีความมั่นคงหรือ UNSC จะสามารถกดดันให้รัฐบาลซีเรีย ยุติการใช้อาวุธเคมีกับฝ่ายต่อต้าน แต่สงครามกลางเมืองก็ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเลบานอน อิรัก และตุรกี

รัฐบาล Assad มีความมั่นใจมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากที่สามารถป้องกันไม่ให้สหรัฐแทรกแซงทางทหาร ได้เริ่มรณรงค์ครั้งใหม่ในการที่จะบดขยี้ฐานที่มั่นของฝ่ายกบฏ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาล Assad มีความเข้มแข็งขึ้นคือความแตกแยกของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล แนวร่วมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีชื่อว่า National Coalition of Syrian Revolutionary and Opposition Forces ไม่สามารถควบคุมการปฎิบัติการทางทหารของฝ่ายต่อต้านได้ นอกจากนั้น ประเทศที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ ก็สนับสนุนฝ่ายต่อต้านคนละกลุ่ม นอกจากนี้ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ยังมีกลุ่มหัวรุนแรง โดยเฉพาะ Islamic State in Iraq and al-Sham ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ al Qaeda ก็กลายเป็นกลุ่มต่อต้านที่มีความแข็งแกร่งที่สุด

สงครามกลางเมืองในซีเรียได้ลุกลามเข้าสู่เลบานอน โดยขณะนี้ มีผู้อพยพชาวซีเรียได้อพยพเข้าไปในเลบานอนเป็นจำนวนมาก โดยคิดเป็นประมาณ 25% ของจำนวนประชากรเลบานอน รวมทั้งกลุ่มก่อการร้าย Hezbollah ก็ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาล Assad อย่างเต็มที่

ขณะนี้ประชาคมโลกมุ่งความสนใจไปที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งได้ประชุมในวันที่ 22 มกราคม ที่นครเจนีวา อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลซีเรียยอมที่จะเจรจาแต่ก็ปฎิเสธข้อเสนอในการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ท่าทีของประเทศต่างๆ ที่ทั้งสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน ก็แตกต่างกัน จนดูแล้ว มีความเป็นไปได้น้อยที่การเจรจาจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น สงครามกลางเมืองในซีเรียจะยืดเยื้อต่อไปและ มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น     

·      อิรัก

อีกประเทศหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคืออิรัก ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว รัฐบาล Maliki ได้ยกระดับความรุนแรงในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ในขณะที่รัฐบาลเป็นมุสลิมนิกายชีอะ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง คือ al Qaeda in Iraq ได้มีโอกาสเพิ่มบทบาทมากขึ้น

ปี 2014 นี้ มีแนวโน้มว่า ความขัดแย้งทั้งในอิรักและในซีเรียจะเกี่ยวโยงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลอิรักได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาล Assad ซึ่งเป็นรัฐบาลชีอะด้วยกัน เพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้านนิกายสุหนี่ ทั้งในซีเรียและในอิรัก

นอกจากนี้ แม้ว่าในปีนี้จะมีการเลือกตั้งในอิรัก แต่ก็คงไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ และอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น และนำไปสู่การแทรกแซงจากประเทศภายนอก

·      ลิเบีย

อีกประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางที่กำลังจะลุกเป็นไฟในปี 2014 คือ ลิเบีย สถานการณ์ในยุคหลัง Qaddafi มีแต่ความสับสนวุ่นวาย ผู้นำลิเบียคนปัจจุบันคือ Ali Zeidan ได้เป็นเป้าของการถูกโจมตีหลายครั้ง และเสียงเรียกร้องให้ลาออกก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันรัฐก็ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่าน ที่จะทำให้ประเทศลิเบียเป็นประเทศประชาธิปไตยก็กำลังสั่นคลอน

สถานการณ์ในลิเบียก็เหมือนหลายๆประเทศในอาหรับที่กำลังเปลี่ยนผ่าน โดยได้มีความแตกแยกกันอย่างรุนแรงระหว่างหลายฝ่าย โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายมุสลิมหัวรุนแรงกับฝ่ายเสรีนิยม ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายปฏิรูป นอกจากนี้ แนวร่วมของฝ่ายต่างๆที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาล Qaddafi ซึ่งในอดีตเป็นการร่วมกันของฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายหัวรุนแรง แต่แนวร่วมดังกล่าวได้แตกสลายลงแล้ว ซึ่งนำไปสู่ระบบการเมืองที่จะแตกสลายลงเช่นเดียวกัน

 แอฟริกา

อีกภูมิภาคที่ในปีนี้ยังคงมีสงครามลุกลามอยู่หลายจุดคือ ทวีปแอฟริกา

·      สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic)

ปีที่แล้ว สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ได้ทำให้ประชาคมโลกตกตะลึง เมื่อเกิดสถานการณ์รัฐบาลล่มสลายและเกิดสงครามกลางเมือง ฝ่ายกบฏที่มีชื่อว่า Seleka ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่ม ได้โค่นล้มรัฐบาล Bozize และได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมี Michel Djotodia เป็นผู้นำ อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา Djotodia ได้ยุบกลุ่ม Seleka จึงนำไปสู่ความรุนแรงและสงครามกลางเมือง สหประชาชาติและมหาอำนาจตะวันตกก็ตอบสนองอย่างไม่ทันการณ์ โดยคิกว่ารัฐบาล Djotodia จะคุมสถานการณ์ได้ และกองกำลังของสหภาพแอฟริกาจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ก็เป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาด ขณะนี้ กลุ่ม Seleka ได้แตกออกเป็นหลายกลุ่มย่อย และได้มีการปะทะกัน นำไปสู่สถานการณ์สงครามกลางเมือง ความขัดแย้งยังมีลักษณะเป็นความขัดแย้งทางศาสนาด้วย เพราะกลุ่ม Seleka ขัดแย้งอย่างหนักกับกลุ่มชาวคริสต์ ซึ่งความขัดแย้งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในปีนี้

·      ซูดาน

นับเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ซูดานมีแต่สงครามและความรุนแรง ปีนี้สถานการณ์ไม่ดีขึ้นและมีแนวโน้มทรุดหนักลง เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลซูดานได้ประกาศแผนการบดขยี้ฝ่ายกบฎที่มีชื่อว่า Sudan Revolutionary Front ศูนย์กลางของความขัดแย้งอยู่ที่แคว้น Darfur ซึ่งที่ Darfur สงครามและความขัดแย้งยืดเยื้อมากว่า 10 ปีแล้ว ในอดีตเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับกับชนเผ่าที่ไม่ใช่อาหรับ แต่ในปัจจุบันกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าอาหรับด้วยกันเอง ซึ่งปีที่แล้ว ความรุนแรงทำให้มีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานกว่าสี่แสนห้าหมื่นคน

·      ไนจีเรีย

อีกประเทศในแอฟริกาที่มีแนวโน้มของสงครามคือไนจีเรีย ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาหลายเรื่อง ทั้งกลุ่มแบ่งแยกดินแดน กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่ม Boko Haram ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงสำคัญได้ทำการก่อการร้ายโดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศไนจีเรีย และแม้รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการปราบปรามแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศในแอฟริกา ที่จะยังคงมีความขัดแย้งและสงคราม โดยเฉพาะโซมาเลีย ซึ่งกลุ่มก่อการร้าย al Shabab ยังคงมีความสามารถในการก่อวินาศกรรม อีกประเทศหนึ่งคือมาลี ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว ฝรั่งเศสได้ส่งกองกำลังทางทหารเข้าไปในประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มหัวรุนแรงยึดกุมอำนาจรัฐได้ แต่ขณะนี้ มาลีก็ยังไม่มีเสถียรภาพ การก่อวินาศกรรม การปะทะกันระหว่างชนเผ่าต่างๆ และกลุ่มต่างๆ ยังคงมีอยู่  

เอเชียกลาง

อีกภูมิภาคหนึ่งที่มีแนวโน้มสงครามและความขัดแย้งคือ เอเชียกลาง ประเทศแรกที่ต้องจับตามองคือ อัฟกานิสถาน ปีนี้เป็นปีที่รัฐบาล Obama ประกาศจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน จึงมีความไม่แน่นอนว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น และนักรบตาลีบันจะสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้หรือไม่

สำหรับอุซเบกิสถาน ก็ประสบปัญหากลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารจากฝ่ายตาลีบันในอัฟกานีสถาน

ทาจิกิสถานก็อยู่สภาวะเปราะบางเช่นเดียวกัน โดยประสบกับภาวะรัฐบาลอ่อนแอ และปัญหาคอรัปชั่น

ส่วนประเทศคีร์กีซสถาน ก็มีปัญหาในทำนองเดียวกัน คือปัญหาเสถีรภาพของรัฐบาลและปัญหาคอรัปชั่น

สำหรับประเทศคาซัคสถาน ก็ประสบปัญหากลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

และประเทศสุดท้ายในเอเชียกลางที่จะกล่าวถึงคือ เติร์กเมนิสถาน ซึ่งมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล แต่รัฐบาลก็อ่อนแอมาก และมีแนวโน้มว่า สงครามในอัฟกานีสถานจะลุกลามเข้าสู่ประเทศนี้ด้วย

ภูมิภาคคอเคซัส

และอีกภูมิภาคหนึ่ง ที่มีแนวโน้มสงครามและความขัดแย้งคือ ภูมิภาคคอเคซัส ซึ่งถือเป็นจุดอันตรายที่สุดในทวีปยุโรป โดยเฉพาะภาคใต้ของรัสเซีย มีกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่ม North Caucasus Islamist ได้ขู่ว่า จะก่อวินาศกรรมากีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จะจัดขึ้นที่เมืองโซชี ภาคใต้ของรัสเซีย และกลุ่มนี้ได้เรียกร้องให้กลุ่มหัวรุนแรงปฏิบัติการก่อการร้ายทั่วรัสเซีย ในปี 2013 ได้มีการก่อวินาศกรรมอย่างน้อย 30 ครั้งในภูมิภาคนี้ รัฐบาลรัสเซียได้ออกมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่สำหรับเมืองโซชี และเพิ่มการควบคุมชายแดน เพื่อสกัดกลุ่มก่อการร้ายนอกประเทศ รัสเซียมีปัญหาแบ่งแยกดินแดนในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่ดาเกสถานและเชชเนีย อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐบาลรัสเซียกลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยภาพรวม จึงมีแนวโน้มว่า คอเคซัสจะเป็นจุดอันตรายและมีแนวโน้มของความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในปีนี้

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

อาเซียน ปี 2014

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2557

แนวโน้มอาเซียนปี 2014

               ทิศทางปี 2014 ของประชาคมอาเซียนในภาพรวม จะเป็นอย่างไร

               ปี 2014 นี้ พม่าจะเป็นประธานอาเซียน พม่าจะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน เราเคยมีปัญหามาแล้ว เมื่อกัมพูชาเป็นประธานอาเซียนปี 2012 เกิดปัญหาความแตกแยกครั้งใหญ่ คือเรื่องของปัญหาทะเลจีนใต้ กัมพูชาไปเข้าข้างจีน ในขณะที่ฟิลิปปินส์กับเวียดนามทะเลาะกับจีนในเรื่องนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในเดือนกรกฎาคมปี 2012 ทะเลาะกันถึงขั้นไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่ไม่มีแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ นี่คือจุดอ่อนอันยิ่งใหญ่ของอาเซียน ตราบใดที่เราแตกแยกกันอย่างนี้ การเป็นประชาคมคงไม่สมบูรณ์

               ปีที่แล้วคือปี 2013 เป็นปีของการประสานรอยร้าว ปี 2013 เอกภาพของอาเซียนก็ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศดีขึ้น มีการเดินหน้าต่อสู่การเป็นประชาคมอาเซียน เรื่องทะเลจีนใต้ก็เลิกทะเลาะกัน

               ปัญหาใหญ่ของอาเซียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทอดยาวมาถึงปีนี้ด้วย จริงๆแล้ว เรื่องประชาคมอาเซียนไม่เป็นประเด็นเท่าไรนัก คือมีความคืบหน้าไปได้เรื่อยๆ แต่เรื่องสำคัญของอาเซียนคือ ความแตกแยกและการที่มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงในอาเซียน ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ และจีนกับญี่ปุ่น ทำให้อาเซียนวางตัวลำบาก ปีนี้มีแนวโน้มว่า ความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับอาเซียนว่า จะวางตัวอย่างไร จะมีบทบาทอย่างไร ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเหล่านี้

               อีกเรื่องที่ต้องจับตาคือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งยังไม่จบง่ายๆ ปีที่แล้ว จีนมีความก้าวร้าวขึ้นเรื่อยๆ จีนประกาศแสนยานุภาพของตน สร้างความปั่นป่วนให้กับอาเซียนมากขึ้น เป็นโจทย์สำคัญในปีนี้

               อีกเรื่องคือ ประเทศที่แต่ก่อนไม่มีบทบาทในอาเซียนมากนัก โดยเฉพาะประเทศน้องใหม่ ปีนี้มีแนวโน้มจะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะพม่า  ซึ่งเป็นประธานอาเซียน  รวมทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนามด้วย ประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาเศรษฐกิจดีขึ้นจากแต่ก่อนที่เป็นประเทศยากจน  เริ่มกลายเป็นดาวเด่น เป็นประเทศที่น่าสนใจ น่าลงทุน จึงต้องการเพิ่มบทบาทในอาเซียนมากขึ้น เห็นได้ชัดในกรณีของพม่า การจัดซีเกมส์ ก็เป็นความพยายามอย่างเต็มที่ว่า พม่าจะผงาดขึ้นมาแล้ว

               กล่าวโดยสรุป ปีนี้ภาพรวมของอาเซียนที่จะมุ่งหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน ก็คงจะเดินหน้าต่อไป คงไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกคือ มหาอำนาจทะเลาะกัน แล้วพาลทำให้อาเซียนเราทะเลาะกันเองด้วย แล้วถ้าอาเซียนทะเลาะกัน ก็จะทำให้อาเซียนสะดุด ในเรื่องของการที่จะเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน

               ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่อาเซียนจะต้องรีบทำในปีนี้คือ สร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้น ถ้าอาเซียนแตกแยกกัน แตกร้าวกัน ขัดแย้งกันเอง ตีกันเอง จะเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อการจัดตั้งประชาคมอาเซียน อาเซียนเคยเกิดความแตกแยกครั้งใหญ่มาแล้วในปี 2012 และยังไม่มีหลักประกันว่า ความแตกแยกจะไม่เกิดขึ้นอีก

               ความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

               สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนนั้น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ดูจะมีความคืบหน้ามากที่สุด ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ในเรื่องเศรษฐกิจ ค่อนข้างชัดเจนในแง่ของโจทย์ ถ้าจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจ ก็ต้องลดภาษีเหลือศูนย์ เปิดเสรีการค้าสินค้า เปิดเสรีการค้าภาคบริการ เปิดเสรีด้านการลงทุน เคลื่อนย้ายเงินทุน เคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งต่างๆเหล่านี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ความร่วมมือเหล่านี้จึงมีความเป็นรูปธรรมมากที่สุด เห็นชัดเจนมากที่สุด

               แต่เมื่อเทียบกับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ก็ยังไม่ชัดเจนนัก ในเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้ และในแง่ของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น ประชาคมการเมืองความมั่นคง เรื่องหลักเรื่องหนึ่งคือ การส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ ยังไม่เป็นประชาธิปไตย การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ก็ยังไม่คืบหน้าในอาเซียน ความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ เช่น จัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์  จัดการกับปัญหายาเสพติด ภัยพิบัติ เหล่านี้มีความร่วมมือในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เหมือนความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ

               สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น เรื่องสำคัญคือการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ผมมองว่า ประชาคมอาเซียนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ถ้าอาเซียนไม่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน ถ้าสมาชิกอาเซียนยังรู้สึกว่า ไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน ยังมองเป็นศัตรูกัน คู่แข่งกัน ไม่ไว้วางใจกัน ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นการหลอกตัวเองมากกว่าว่า มันคือประชาคม แต่จริงๆแล้ว คงไม่ใช่ประชาคม สิ่งที่ทำให้เป็นประชาคมที่แท้จริงคือ การมีอัตลักษณ์ร่วมกัน รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน การสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเป็นหัวใจของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

               ดังนั้น ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจึงเป็นรากฐานสำคัญ สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคง และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับเสาสังคมน้อยเกินไป โดยไปมุ่งเน้นเสาเศรษฐกิจหรือ AEC เสียมากกว่า ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องที่ร่วมมือกันไป แต่ก็ไม่มีอะไรที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการศึกษา ด้านสวัสดิการสังคม สิ่งแวดล้อม ถ้าจะให้ความร่วมมือเหล่านี้ไปได้อย่างจริงจัง จะต้องมีการลงทุนลงขันกัน แต่อาเซียนก็ไม่ค่อยอยากจะลงขันกัน

               การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย

               ความตื่นตัวในเรื่องของประชาคมอาเซียน ไทยเริ่มตื่นตัวมาได้สัก 2 – 3 ปี ปี 2012  เริ่มมีความตื่นตัวในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รัฐบาลก็มีความตื่นตัวสูง ตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติขึ้นมา ให้สภาพัฒน์ฯ ทำแผนแม่บทในเรื่องของยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย

               พอมาถึงปี 2013 รัฐบาลเริ่มแผ่วลงในเรื่องของความตื่นตัว ในการที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แผนแม่บทการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่สภาพัฒน์ฯ ทำออกมาเสร็จประมาณต้นปี 2013 ก็ค่อนข้างจะน่าผิดหวัง เพราะเราคาดหวังกันว่า สิ่งที่สภาพัฒน์ฯ จะทำออกมา ควรเป็นแผนแม่บท เป็นยุทธศาสตร์ชาติในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่สิ่งที่สภาพัฒน์ฯทำออกมา ยังไม่สมบูรณ์ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับอาเซียนลดลง เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่า เรากลับมาเริ่มที่ศูนย์กันใหม่ คือประเทศไทยยังไม่มีแผนแม่บทที่ชัดเจน หน่วยงานต่างๆ ยังคงสับสนว่า จะต้องเตรียมความพร้อม จะมีแผนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างไร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จังหวัดต่างๆ ยังสับสนอยู่ว่า จะต้องมีแผนอย่างไรในเรื่องของประชาคมอาเซียน

               สำหรับภาคเอกชน สถานการณ์ก็ไม่ดีเหมือนกันในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยบริษัทใหญ่พร้อม แต่บริษัทระดับ SME ไม่พร้อม

               และสำหรับภาคประชาชน แม้จะมีความพยายามจากภาครัฐที่จะให้ความรู้เรื่องอาเซียนแก่ประชาชน แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องอาเซียน และยังไม่รู้ว่า จะต้องเตรียมตัวกันอย่างไร และประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก ยังมีความเข้าใจผิดกันอย่างกว้างขวาง ในหลายเรื่องเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน

 
               สำหรับแผนที่สภาพัฒน์ฯ ทำออกมา มี 8 ยุทธศาสตร์ เรียกว่า  ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ถ้าไปดูใน 8 ยุทธศาสตร์นี้ จะเห็นได้ว่า เป็นยุทธศาสตร์การเตรียมประเทศไทยให้พร้อม เช่น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนากฎหมาย เป็นต้น ซึ่งดูแล้ว น่าจะเป็นแผนพัฒนาประเทศมากกว่าจะเป็นแผนอาเซียน ผมคิดว่า แผนที่สภาพัฒน์ฯทำขึ้นมาไม่ผิด แต่ว่าถูกเพียงครึ่งเดียว คือเราเตรียมประเทศไทยให้พร้อม เราก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ดีขึ้น แต่จะต้องมีแผนอีกชุดหนึ่ง ที่จะบอกเราว่า เราพร้อมแล้วและเราจะเข้าไปในประชาคมอาเซียนอย่างไร เราจะเข้าไปทำอะไรในประชาคมอาเซียน

               ผมขอเปรียบแผนของสภาพัฒน์ฯกับแผนเล่นฟุตบอล แผนของสภาพัฒน์ฯเหมือนแผนเตรียมนักฟุตบอลให้เข้มแข็ง นักฟุตบอลคือประเทศไทยซึ่งต้องลงสนามฟุตบอลเพื่อแข่งกับประเทศอื่น แผนของสภาพัฒน์ฯก็จะบอกว่า นักฟุตบอลจะต้องนอนวันละกี่ชั่วโมง ต้องกินอาหารอะไร ต้องวิ่งวันละกี่ชั่วโมง แต่แผนของสภาพัฒน์ฯไม่ได้บอกว่า พอลงสนามแล้ว นักฟุตบอลจะต้องเล่นอย่างไร

               ยังมีการบ้านที่จะต้องทำอีกเยอะในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย เราจะเข้าไปทำอะไรในประชาคมอาเซียน การบ้านของไทยคือ เราจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุก และต้องมีการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ แต่ขณะนี้เราก็ยังไม่มียุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพราะฉะนั้น ปีนี้ผมอยากจะเห็นรัฐบาลเร่งผลักดัน ให้ไทยมียุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะต้องปรับยุทธศาสตร์ของสภาพัฒน์ฯใหม่ ให้มีความสมบูรณ์ หน่วยงานต่างๆ กระทรวงต่างๆ มีแผนอาเซียนที่ยังไม่สมบูรณ์ ถ้าเราอยากให้ไทยพร้อม อยากให้ไทยมีบทบาทที่โดดเด่นในอาเซียน เราต้องมีการปรับแผนกันใหม่

                เรายังไม่มีวิสัยทัศน์เลยว่า ไทยจะเป็นอะไรในอาเซียน คือเราต้องวาง position ของเราในอาเซียน และ position หรือวิสัยทัศน์ ที่ผมขอเสนอคือไทยควรจะเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ถ้าเรามี position ชัด วิสัยทัศน์ชัด ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ก็จะเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริง นั่นก็คือ ยุทธศาสตร์การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางประชาคมอาเซียน ไทยมีจุดแข็งหลายด้าน อาทิ เรามีจุดแข็งด้านภาคบริการ medical hub ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว ศูนย์กลางด้าน infrastructure ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น นี่คือจุดแข็งของเรา เราก็จะต้องมียุทธศาสตร์ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในด้านเหล่านี้

               อย่างไรก็ตาม ผมก็เป็นห่วงว่า ถ้าวิกฤติการเมืองของไทยยังไม่คลี่คลาย ก็จะทำให้ประเทศไทยถดถอยลงไปเรื่อยๆ จะทำให้ไทยไม่สามารถมีบทบาทนำในอาเซียนได้ เราก็จะไม่สามารถมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกในประชาคมอาเซียนอย่างที่เราฝันไว้ได้