Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 2)

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 43 วันศุกร์ที่ 16 - วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ตอนที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งได้พูดถึงความสัมพันธ์ตั้งแต่อดีต จนมาถึงทศวรรษ 1980 คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐต่อ โดยจะพูดถึงความสัมพันธ์ในทศวรรษ 1990 รวมถึงความสัมพันธ์ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ ดังนี้

1.5 ทศวรรษ 1990
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐเป็นความสัมพันธ์ที่มีปัญหาในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องความมั่นคงเริ่มมีความขัดแย้ง หลังจากที่สหรัฐได้ทิ้งไทยไปนาน ไทยก็หันไปหาจีน และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐในด้านความมั่นคง เพราะไทยสามารถซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนได้ ความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างไทย-สหรัฐจึงเริ่มมีปัญหา คือ ในเรื่องที่สหรัฐขอใช้อ่าวไทยตั้งคลังแสงลอยน้ำ เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การทหารของสหรัฐ แต่ไทยปฏิเสธ

นอกจากความขัดแย้งด้านความมั่นคง ไทย-สหรัฐก็มีความขัดแย้งด้านการค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องมาจากทศวรรษ 1980 สหรัฐเริ่มรุกหนักขึ้นด้านการเปิดเสรีด้านภาคบริการ ในเรื่องของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ เมื่อสหรัฐฯมองมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็รู้สึกว่าได้สูญเสียบทบาท อำนาจด้านเศรษฐกิจไป เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งบทบาทได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทนำสหรัฐฯในเรื่องของการค้า การลงทุน และการให้ความช่วยเหลือ ญี่ปุ่นเหนือกว่าสหรัฐฯในทุกด้าน ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องการที่จะกลับมามีบทบาทด้านเศรษฐกิจอีกครั้ง เพื่อแข่งขันกับญี่ปุ่น

อีกประเด็นคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน ในสมัยที่ไทยมีระบอบการปกครองอำนาจนิยมเผด็จการ ในช่วงนั้น สหรัฐไม่สนใจว่าประเทศใดจะปกครองระบอบใด ขอให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นพอ นั่นคือในสมัยสงครามเย็น เพราะฉะนั้น ช่วงทศวรรษ 1960 และ1970 แม้ว่าไทยจะมีระบอบการปกครองแบบเผด็จการ สหรัฐก็ไม่สนใจ ขอให้ไทยต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเดียว เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ความต้องการในแง่นี้ก็สิ้นสุดลง กระแสที่ต้องการจะเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ประเด็นที่จะมาขัดแย้งคือ ขณะที่ไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่บางประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น สหรัฐและประเทศตะวันตกต่างได้ดำเนินนโยบายกดดันพม่า แต่ว่าในช่วงนี้ ไทยยึดนโยบายที่ถือว่าเพื่อนบ้านสำคัญกว่า ต้องเอาอาเซียนไว้ก่อน สหรัฐและยุโรปมาทีหลัง เพราะฉะนั้น ไทยมีประชาธิปไตย แต่นโยบายต่างประเทศของไทยที่จะชูธงประชาธิปไตยไม่มี เพราะถือว่าต้องเดินตามอาเซียน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ประเทศต่างๆเหล่านี้ ไม่ต้องการให้มีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น ไทยก็เดินตามอาเซียน เสียงข้างมากในอาเซียนต้องการให้ “ชน” กับสหรัฐและตะวันตกทางด้านสิทธิมนุษยชน ไทยเห็นว่า ต้องทำตามอาเซียน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เมื่อไทยเลือกที่จะทำตามอาเซียนก็แสดงว่า ไทยเลือกที่จะอยู่คนละฝ่ายกับสหรัฐและตะวันตก ในเรื่องท่าทีที่มีต่อประเทศต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน

จึงเห็นได้ว่าในทศวรรษ 1990 ไทยอยู่คนละฝ่ายกับสหรัฐในเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ความมั่นคง เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน ด้านความมั่นคงไทยก็อิงจีน ตีตัวออกห่างจากสหรัฐ ในช่วงที่จีนยังไม่เป็นภัยต่อสหรัฐ ก็ยังไม่เป็นอะไร แต่ในช่วงที่ผ่านมา จีนเริ่มเติบใหญ่และกำลังจะเป็นภัยต่อสหรัฐ การที่ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนเกินไปจึงเป็นปัญหาด้านความมั่นคง ทศวรรษ 1990 จึงเป็นทศวรรษที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ตกต่ำในหลายๆด้าน

1.6 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
ยุคต่อมาคือ ยุควิกฤติเศรษฐกิจ ไม่มีใครคิดว่าจะมีวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นในปี 1997 ไม่มีใครคิดว่าไทยต้องมาปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐใหม่อีกครั้ง เป็นช่วงที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ต่อสหรัฐ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น ทำให้สหรัฐฯกลับมามีความสำคัญต่อไทยอีกครั้ง เพราะว่าไทยพึ่งใครไม่ได้อีกแล้ว ไทยหวังที่จะพึ่งญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นก็ย่ำแย่ ไทยเคยพึ่งพาจีนด้านความมั่นคง แต่ทางด้านเศรษฐกิจจีนช่วยอะไรไทยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไทยจึงไม่มีทางเลือก ต้องหันกลับไปหาสหรัฐ

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐเริ่มเปลี่ยนใหม่ จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การที่นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เดินทางไปเยือนสหรัฐในเดือนมีนาคม ปี 1998 การเดินทางครั้งนี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด ที่ชัดเจนคือ ไทยต้องกลับไปหาสหรัฐ ไทยได้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจประมาณ 2 พันล้านเหรียญจากสหรัฐ สหรัฐเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ใน IMF ไทยรู้ดีว่า สหรัฐเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยกลับไปหาสหรัฐ ได้ความช่วยเหลือจากสหรัฐ ไทยต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง สิ่งที่สหรัฐได้จากไทยมีหลายด้าน

ประเด็นแรกคือ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐกลับไปสู่ความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่เรียกว่า “traditional patronage” คือ ความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมที่สหรัฐเป็นผู้ให้ ไทยเป็นผู้ขอ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยกล้าชนสหรัฐและเรียกร้องความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกับสหรัฐ กับยุโรปและญี่ปุ่นด้วย เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (economic partnership) มีความเท่าเทียมกัน ไทยไม่ต้องการความช่วยเหลือแล้ว ไทยขอเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หุ้นส่วนทางด้านการค้า การลงทุน แต่คำนี้หายไปจากคำศัพท์ (vocabulary) ของนโยบายต่างประเทศไทยไปแล้ว เพราะฉะนั้น ในความสัมพันธ์ลักษณะนี้ ทำให้สหรัฐกลับมามีบทบาทในภูมิภาคอีกครั้ง สหรัฐรู้สึกว่าบทบาทของตนลดลง ในขณะที่ญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้ นี่จึงเป็นโอกาสที่จะให้สหรัฐกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง

อีกประการ ผลจากที่ไทยต้องไป “ง้อ” สหรัฐคือ ในอดีตที่บริษัทธุรกิจของสหรัฐอยากจะเข้ามาทำธุรกิจในไทย แต่มีการกีดกัน โดยเฉพาะการเข้ามาทำธุรกิจในภาคบริการ เช่น การธนาคาร การเงิน การโทรคมนาคม มีการปิดตลาด ไม่เปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาธนาคารโดยเสรีได้ เพราะฉะนั้น สหรัฐจึงมีปัญหา แต่หลังวิกฤติ ทุกอย่างก็ราบรื่นสำหรับสหรัฐ

ผลอีกประการหนึ่ง ในการที่กลับไปปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐ คือ บทบาทของไทยในเวทีต่างๆ เช่น สหประชาชาติ เอเปค WTO ไทยต้องสนับสนุนท่าทีของสหรัฐมากขึ้น จากในอดีตที่ผ่านมา ท่าทีของไทยไปชนกับสหรัฐในหลายๆ เรื่อง ท่าทีของไทยก็อ่อนลงไป

ในด้านความมั่นคง ไทยพูดง่ายขึ้น ในการที่สหรัฐมาขอไทยเรื่องความมั่นคง การทหาร สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องสูญเสียไป เพื่อแลกกับบางสิ่งที่ได้มา

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณ (ตอนที่ 2)

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณ (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2553

ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณไปบ้างแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การทูตของทักษิณในปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์หลักของทักษิณ
หลังจากทักษิณถูกโค่นอำนาจลงนับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยา ปี 2006 ยุทธศาสตร์หลักของทักษิณตั้งแต่นั้นมา คือ จะทำอย่างไรให้ตนเองกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยยุทธศาสตร์ในการกลับคืนสู่อำนาจ แบ่งออกเป็นยุทธศาสตร์ในประเทศ และยุทธศาสตร์ต่างประเทศ

สำหรับยุทธศาสตร์ในประเทศนั้น คือ ยุทธศาสตร์การปลุกระดมคนเสื้อแดงให้ล้มล้างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพื่อที่ตนเองจะได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง

สำหรับยุทธศาสตร์ต่างประเทศนั้น ดำเนินควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ในประเทศ โดยเป็นยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “โลกล้อมไทย” โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ สื่อต่างประเทศ และรัฐบาลต่างประเทศ
เป้าหมายหลักต่อสื่อต่างประเทศ เพื่อจะให้สื่อต่างประเทศลงข่าวโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์ และสร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางทางการเมืองของทักษิณ

สำหรับยุทธศาสตร์ต่อรัฐบาลต่างประเทศนั้น เน้น lobby รัฐบาลต่างประเทศ ให้เห็นใจคุณทักษิณ สร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางของทักษิณ และพยายามที่จะ lobby ให้รัฐบาลต่างประเทศเชื่อว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรม เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีสถาบันทหารสนับสนุนอยู่หลังฉาก
ทักษิณหวังว่ายุทธศาสตร์เหล่านี้หากประสบความสำเร็จ จะนำไปสู่การที่ประชาคมโลก ซึ่งหมายถึงองค์การระหว่างประเทศ อย่างเช่น UN และประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่น สหรัฐ จะเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย และจะเป็นการกรุยทางไปสู่การที่ทักษิณจะกลับมาสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังความล้มเหลวของกลุ่มเสื้อแดง ในการโค่นล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ทักษิณดูเหมือนจะไม่มีทางเลือก ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ต่างประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพราะยุทธศาสตร์ในประเทศประสบความล้มเหลว

มาตรการหลักในยุทธศาสตร์ต่างประเทศนั้น คือ การว่าจ้างทีมกฎหมายระดับโลกและทีม lobby ระดับโลก ทักษิณมีเงินมหาศาลที่สามารถทุ่มได้อย่างเต็มที่ ในการที่จะว่าจ้างทีมกฎหมายและทีม lobby ที่มีชื่อเสียงระดับโลกดังกล่าว
สำหรับทีมกฎหมายนั้น หัวหน้าทีม คือ นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงระดับโลก ชื่อ Alexander Knoops โดย Knoops มีประสบการณ์ในการทำคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมระหว่างประเทศในยูโกสลาเวีย เซียร์ราลีโอน และรวันดา โดยเป้าหมายของทีมกฎหมายขณะนี้คือ การเข้ามาตรวจสอบความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม โดยทักษิณจะพยายามสร้างหลักฐานให้ชาวโลกเห็นว่า เหตุการณ์ 19 พฤษภา รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้เข่นฆ่าประชาชน และถือเป็นความผิดเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ ทักษิณได้ว่าจ้างนักกฎหมายมีชื่ออีกคนหนึ่ง ชื่อ Robert Amsterdam ซึ่งหน้าที่หลักคือ การสร้างความชอบธรรมทางกฎหมายให้กับทักษิณ และสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดย Amsterdam ในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภา ได้ให้ข่าวเรียกร้องให้สหประชาชาติเป็นตัวกลางเข้ามาไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มเสื้อแดง และต่อมาในเดือนมิถุนายน Amsterdam ได้ไปแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ญี่ปุ่น โดยได้ให้ข่าวโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย

สำหรับยุทธศาสตร์ต่อสื่อต่างชาตินั้น ทักษิณพยายามเป็นอย่างมากที่จะให้ข้อมูลกับสื่อต่างประเทศเพื่อที่จะโน้มน้าวให้สื่อต่างประเทศสนับสนุนแนวคิดของทักษิณและการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดง เราจึงเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า สื่อต่างประเทศลงข่าวที่ไม่เป็นกลางและมีข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ข่าวที่บิดเบือนและไม่เป็นกลางเป็นผลบวกต่อคุณทักษิณ และถือเป็นชัยชนะอย่างชัดเจนของทักษิณ ในการครอบงำสื่อต่างประเทศ ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในสายตาสื่อต่างประเทศและประชาคมโลกกลายเป็นมีภาพลักษณ์ในเชิงลบ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทักษิณจะประสบความสำเร็จในยุทธศาสตร์กับสื่อต่างประเทศ แต่ยุทธศาสตร์ที่จะ lobby รัฐบาลต่างประเทศนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยภาพรวมแล้ว รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามที่จะหาข้อเท็จจริง และพยายามเป็นกลาง และยังต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อไป แต่ผลจากการลงข่าวที่บิดเบือนของสื่อต่างประเทศ ก็น่าจะทำให้รัฐบาลต่างประเทศคงจะไขว้เขวอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย

ที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ช้าเกินไปในการตอบโต้กับข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะการลงข่าวต่างๆ ที่บิดเบือน เกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย ผมคิดว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ทำน้อยเกินไปและช้าเกินไป ในการที่จะตอบโต้ยุทธศาสตร์การทูตของทักษิณ ซึ่งมีลักษณะในเชิงรุกมาโดยตลอด ทั้งกับสื่อต่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศ ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เหมือนจะตั้งรับมาโดยตลอด ที่เสียหายหนักที่สุด คือ ในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภา ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางเนื้อหาการลงข่าวของสื่อต่างประเทศได้ จนทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ดูเหมือนจะเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาคมโลก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีความพยายามอยู่เหมือนกันในการที่จะสู้กับทักษิณ ในเกม “โลกล้อมไทย” ของทักษิณ ตัวอย่างเช่น หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภา นายกอภิสิทธิ์ได้เชิญทูตานุทูตในกรุงเทพ มารับฟังการบรรยายสถานการณ์ และตรวจสอบอาวุธที่ยึดได้จากกลุ่มเสื้อแดง และนายกอภิสิทธิ์ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ที่ฮานอย และได้ใช้โอกาสนั้นในการชี้แจงสถานการณ์ให้นานาประเทศทราบ หลังจากนั้น รัฐบาลได้เดินหน้าให้ศาลออกหมายจับทักษิณในฐานะเป็นผู้ก่อการร้าย และทางกระทรวงต่างประเทศได้สั่งให้ทูตไทยทั่วโลก lobby รัฐบาลต่างประเทศ เพื่อที่จะจำกัดความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทักษิณ นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังจะตั้งกรรมการตรวจสอบการฆ่าตัดตอน ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่มีคนตายเกือบ 3,000 คน จากมาตรการปราบปรามการค้ายาเสพติดของทักษิณ ซึ่งรัฐบาลกำลังจะเดินหน้าเอา Interpol เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ด้วย

นอกจากนี้ มีข้อมูลจากเวปไซต์ thehill.com ว่ารัฐบาลไทยได้ว่าจ้าง Podesta Group บริษัท lobbyist โดย John Anderson ผู้แทน ได้บอกว่าบริษัทมีสัญญากับกระทรวงการคลังของไทย เพื่อที่จะช่วยในเรื่องของการให้ข่าวต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเรียกคืนความเชื่อมั่น ทางการลงทุนและการท่องเที่ยวกลับคืนมา

การ lobby สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของทักษิณ ในยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” คือ ความพยายามที่จะ lobby รัฐบาลและสภาคองเกรสของสหรัฐ โดยทักษิณได้ว่าจ้างบริษัท lobby ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ ชื่อ Barbour, Griffith and Roger (BGR) โดยบุคคลที่อยู่ในบริษัทดังกล่าว หลายคนเป็นอดีตข้าราชการและมีอิทธิพลในรัฐบาลสหรัฐและสภาคองเกรส ตัวอย่างเช่น ทูต Robert Blackwill ซึ่งเคยเป็นรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี Bush และยังเคยเป็นทูตที่อินเดีย และที่อิรัก มีข่าวว่า Blackwill มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับอดีตประธานาธิบดี Bush เป็นอย่างมาก ทีม lobbyist ของทักษิณยังมี Stephen Rademaker ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้อำนวยการนโยบายความมั่นคงของ Bill first ผู้นำเสียงข้างมากในสภา senate และ Jonathan Mantz อดีตผู้อำนวยการด้านนโยบายการเงินของ Hillary Clinton ในสมัยที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา และ Walker Roberts อดีตรองผู้อำนวยการของคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาคองเกรส

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของทักษิณในการ lobby สหรัฐ คือ การส่งนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของทักษิณ เดินทางไปสหรัฐเพื่อพบปะกับบุคคลในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหรัฐ เพื่อ lobby ร่างข้อมติของสภาคองเกรสเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย

อย่างไรก็ตาม คุณเกียรติ สิทธีอมร หัวหน้าผู้แทนการค้าไทย ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้ออกมาให้ข่าวว่า นายนพดลไม่ได้พบกับสส.ของสหรัฐแต่อย่างใด เพียงแต่ได้พบกับผู้ช่วยของ สส. และ สว. และเจ้าหน้าที่ในระดับล่างของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเท่านั้น และการ lobby ของนายนพดลก็ไม่น่าจะมีผลใดใดต่อการลงมติเกี่ยวกับร่างข้อมติดังกล่าว

ก่อนหน้านั้น มีข่าวออกมาว่า รัฐบาลสหรัฐพยายามจะเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง โดย Scot Marciel รองอธิบดีกรมกิจการเอเชีย กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้รายงานต่อสภาคองเกรสว่า สหรัฐพยายามที่จะปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่ายในไทย และสนับสนุนแผนการสร้างความปรองดองแห่งชาติของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์กังวลใจ จึงได้ส่งนายเกียรติ สิทธีอมร ไปสหรัฐในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับฝ่ายสหรัฐ ซึ่งก็เป็นการเดินทางตัดหน้านายนพดล

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สภาคองเกรสสหรัฐได้ลงมติรับร่างข้อมติเกี่ยวกับไทย ด้วยเสียง 411 ต่อ 4 โดยสาระสำคัญของข้อมติดังกล่าว สนับสนุนให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และเห็นด้วยกับแผนปรองดอง 5 ข้อ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์

ข้อมติของสภาคองเกรสดังกล่าว ถือเป็นชัยชนะของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อทักษิณ ในการต่อสู้กันทางการทูต ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ความขัดแย้งทางการเมืองไทยได้ขยายวงจากการต่อสู้ภายในประเทศ ออกไปนอกประเทศอย่างชัดเจน แต่ชัยชนะของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อทักษิณในครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะในยกแรกเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ ทักษิณกับนายนพดลก็รีบเดินหน้าต่อ ในยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” คราวนี้ยกที่ 2 เป็นการต่อสู้กันในเวทียุโรป โดยนายนพดลได้เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อพบปะกับสมาชิกของ EU ด้านสิทธิมนุษยชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ EU เพื่อ lobby เกี่ยวกับท่าทีของ EU ต่อสถานการณ์การเมืองไทย

กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณในปัจจุบัน คือ ยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” และทักษิณกำลังเดินเครื่องเต็มที่ ในการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยหวังว่า หากยุทธศาสตร์สำเร็จ จะเป็นการกรุยทางในการกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งของทักษิณ การต่อสู้กันในเวทีระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับทักษิณคงยังไม่จบง่ายๆ เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า การต่อสู้ดังกล่าวจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 1)

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 1)ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 42 วันศุกร์ที่ 9 - วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้และอีกหลายตอน ผมอยากจะเอางานวิจัยของผมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ มาสรุปเป็นตอนๆ โดยจะแบ่งเป็น ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในอดีต เรื่อยมาจนถึงในปัจจุบัน และมองถึงแนวโน้มในอนาคต

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐ ได้มีความพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปหลายครั้งด้วยกัน ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นจนมาถึงสมัยหลังสงครามเย็น ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นโยบายต่างประเทศไทยในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ได้เหินห่างจากสหรัฐ โดยไทยได้ให้ความสำคัญกับการทูตรอบทิศทาง และอนุภูมิภาคนิยม เพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายของไทยในตอนนั้น ที่จะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการเมืองในอนุภูมิภาค แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาในช่วงกลางปี 1997 ก็ได้มีการปรับนโยบายต่างประเทศไทย โดยไทยได้ลดความสำคัญของอนุภูมิภาคนิยมและหันไปปรับและกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐใหม่ เข้าไปใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้น เพื่อหวังผลที่จะให้สหรัฐช่วยเหลือในการกอบกู้เศรษฐกิจไทย และร่วมมือกับสหรัฐในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งเปิดการเจรจา FTA ในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่ต่อมา หลังจากรัฐประหาร 19 กันยา ปี 2006 ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง เข้าสู่ยุคความวุ่นวายทางการเมืองของไทย ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐมาจนถึงปัจจุบัน

1. ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในอดีต
1.1 ช่วงก่อนสงครามเย็น

ในระยะแรก ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐเริ่มจากทางด้านการค้าก่อน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยในปี 1833 มีการจัดทำสนธิสัญญาด้านการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ ต่อมาในปี 1856 ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทย-สหรัฐ การค้าระหว่างไทย-สหรัฐ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 1884 เป็นปีที่สหรัฐได้มาจัดตั้งสถานทูตในไทยครั้งแรก แต่ความสัมพันธ์ในช่วงนี้ไม่ได้มีอะไรมากนัก ถ้าจะมีปัญหาคือ เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สหรัฐถือว่าเป็นมหาอำนาจใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่เป็นมหาอำนาจเก่า สหรัฐต้องการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย ต้องการเข้ามาคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ สหรัฐเป็นชาติแรกที่ไทยได้มีการจัดทำสนธิสัญญายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในปี 1920

จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดี และเป็นแม่แบบความสัมพันธ์ของไทยที่มีต่อชาติตะวันตกอื่นๆด้วย คือ สนธิสัญญาที่ทำขึ้นในปี 1920 ที่เรียกว่า “Treaty of Friendship, Commerce and Navigation” สนธิสัญญาฉบับนี้ได้กลายเป็นแม่แบบที่ไทยได้ใช้ในการเจรจากับประเทศยุโรปอื่นๆ ในการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

หลังจากนั้น ประวัติศาสตร์ไทย-สหรัฐก็มาถึงจุดสำคัญ คือ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่ไทยมีขบวนการเสรีไทย และทูตไทยที่กรุงวอชิงตันปฏิเสธไม่ยอมยื่นหนังสือประกาศสงครามต่อรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐ ก็ถือว่าไทยไม่ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ เพราะฉะนั้น สหรัฐถือว่าไทยไม่ได้เป็นฝ่ายอักษะ หรือฝ่ายญี่ปุ่น แต่เป็น “รัฐที่ถูกยึดครอง” จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาในอดีตจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐดีมาตลอด ในแง่ที่สหรัฐฯช่วยเหลือไทยหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้ามาคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส การเป็นแม่แบบยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการช่วยไทยผ่อนหนักเป็นเบาในช่วงแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

1.2 ช่วงทศวรรษ 1950-1960
ในช่วงสงครามเย็น ไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐมากที่สุด คือ ทศวรรษ 1950 และ 1960 สงครามเย็นเป็นช่วงที่โลกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นยุคที่ไทยพึ่งมหาอำนาจสหรัฐมากที่สุด ไทยได้ส่งทหารไปร่วมรบกับสหรัฐหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี หรือสงครามเวียดนาม และได้ร่วมลงนามก่อตั้งองค์การ SEATO ขึ้นในปี 1954 ในทศวรรษ 1960 เป็นทศวรรษที่ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐมากที่สุด ในปี 1962 ไทยได้ทำสนธิสัญญาความมั่นคงกับสหรัฐที่เรียกว่า “Rusk-Thanat Communique” ซึ่งเป็นหลักประกันที่ไทยพยายามให้สหรัฐมาประกันให้ ในกรณีที่มีการรุกรานไทย สหรัฐจะเข้าช่วย ในทศวรรษนี้ มีการทำความตกลงกันอีกหลายฉบับ ระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยเป็นการยินยอมให้สหรัฐฯเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย

อย่างไรก็ตาม ปลายทศวรรษ 1960 สหรัฐเริ่มเห็นว่า สงครามยืดเยื้อ ยิ่งรบยิ่งไม่เห็นทางชนะ ประชาชนชาวสหรัฐ รู้สึกเบื่อหน่ายสงคราม ในปี 1969 จึงมีการประกาศลัทธินิกสัน (Nixon Doctrine หรือ Guam Doctrine)

1.3 ทศวรรษ 1970
หลังจากนั้นเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐเริ่มเปลี่ยน คือ ในทศวรรษ 1970 เป็นทศวรรษแห่งความสับสนวุ่นวายที่สุดยุคหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย เป็นยุคที่ไทยต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะสหรัฐถอนตัวออกไปจากภูมิภาคนี้ และปล่อยให้ไทยอยู่อย่างเปราะบาง ในแง่ของความมั่นคง ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยชนะมากขึ้น ปี 1975 เวียดนาม ลาว และกัมพูชา กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่สหรัฐถอนตัวออกไป ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐก็ห่างเหิน ไทยไม่มีทางเลือกในการหาหลักประกันอันใหม่ ไทยจึงไปพึ่งสมาคมอาเซียน และจีนแทน

1.4 ทศวรรษ 1980
ในช่วงทศวรรษ 1980 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐมีแนวโน้มเหินห่างออกไป สหรัฐยังคงยึดนโยบายในการลดบทบาท และถอนตัวออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่พ่ายแพ้สงครามเวียดนาม สหรัฐ “เข็ดขยาด” ต่อการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ แม้ว่าเวียดนามจะใช้กำลังทหารเข้าไปยึดครองเขมรในปี 1978 สหรัฐก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร สหรัฐได้แต่อยู่ห่าง ๆ และช่วยในกรอบของสหประชาชาติ

สรุปได้ว่า ทศวรรษ 1980 ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น ขณะที่ไทยอยู่ในช่วงปรับบทบาทใหม่ต่อเนื่องมาจากทศวรรษ 1970 คือ พยายามดำเนินการทูตรอบทิศทาง ในขณะที่สหรัฐลดบทบาทลง ไทยต้องไปหาพันธมิตรอื่นๆ ช่วงนี้ไทยจึงไปใกล้ชิดกับญี่ปุ่นและจีนมากขึ้น รวมทั้งอาเซียนด้วย และไทยก็ไปใกล้ชิดกับโซเวียตมากขึ้น และเริ่มคืนดีกับอินโดจีน

จะเห็นได้ว่า ในช่วงทศวรรษ 1980 ในเรื่องการเมืองและความมั่นคง ไม่มีสหรัฐมาเกี่ยวข้องเท่าไร ไทยวุ่นอยู่กับเรื่องเขมรและใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย ใช้จีนมาช่วยไทย ช่วยเขมรแดง และไปคืนดีกับโซเวียต สหรัฐไม่ได้มีบทบาทต่อไทยในช่วงทศวรรษที่ 1980 นี้

แต่ว่าในทศวรรษ 1980 นี้เอง ที่ได้เริ่มมีมิติใหม่เกิดขึ้นระหว่างไทย-สหรัฐ นั่นคือ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-สหรัฐไม่มีอะไร เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ส่งออกมาก ตลาดก็เล็ก เเละไม่ได้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากนัก ไทยจึงไม่มีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐ แต่ในช่วงทศวรรษ 1980 ไทยเริ่มมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น สหรัฐเองได้เริ่มปฏิรูปบทบาททางด้านเศรษฐกิจ คือเริ่มนโยบายทางด้านการค้าในเชิงรุก ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 สหรัฐบัญญัติกฎหมายการค้าใหม่คือ Omnibus Trade Bill มีการใช้มาตรการ 301 และสหรัฐ ได้รุกหนักขึ้นด้วยมาตรการ Super 301 มาตรการเหล่านี้ สหรัฐได้นำมาใช้ ในการที่จะมีนโยบายในเชิงรุกกับประเทศต่างๆ ที่เริ่มจะมีปัญหากับสหรัฐ คือ การได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ประมาณกลางทศวรรษ 1980 ไทยเผชิญกับสหรัฐในความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นเชิงลบ คือ เริ่มมีความขัดแย้งกับสหรัฐด้านการค้า