Follow prapat1909 on Twitter

วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 - วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ได้ลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นปัญหาระดับโลก เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว ดังนี้

สถานการณ์ความขัดแย้ง

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน นับตั้งแต่กรณีเขาพระวิหาร มาจนถึงการปะทะกันครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา การปะทะกันทางทหารครั้งล่าสุดนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา Hun Sen ได้รีบมีหนังสือถึง UNSC กล่าวหาไทยอย่างรุนแรงว่า ได้กระทำการในลักษณะอาชญากรรมสงคราม โดยกล่าวหาว่า ไทยเป็นคนเริ่มสงคราม และว่าความขัดแย้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การปะทะกัน แต่เป็นสงครามอย่างเต็มรูปแบบ และกล่าวหาว่า ไทยได้ยิงปืนใหญ่ ทำให้ปราสาทเขาพระวิหารได้รับความเสียหายด้วย

ส่วนทางฝ่ายไทย ได้มีหนังสือไปถึง UNSC เหมือนกัน แต่ดูเหมือนกับจะช้ากว่าทางกัมพูชา เหมือนกับเราเล่นตามเกมส์กัมพูชาโดยตลอด โดยไทยได้ย้ำว่า ทางฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ต่อมาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทางฝ่ายทหารได้มีการเจรจาหยุดยิง แต่พอมาถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ทางฝ่ายกัมพูชาได้เปิดฉากโจมตีไทยอีก การตอบโต้ของฝ่ายไทย เป็นการทำไปเพื่อการป้องกันตัวเอง ไทยได้กล่าวหาว่า ทหารกัมพูชาได้ใช้ปราสาทพระวิหารเป็นที่มั่นทางทหาร ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ไทยได้กล่าวว่า เป้าหมายของกัมพูชาคือ การทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย เพื่อจะทำให้เห็นว่า การเจรจา 2 ฝ่ายล้มเหลว และในที่สุดจะนำเอา UN เข้ามา เพื่อผลักดันการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขาพระวิหาร และแผนการจัดการพื้นที่ทับซ้อน

UNSC

ในอดีต เมื่อเกิดการปะทะกันครั้งที่แล้วเมื่อปี 2008 ทางฝ่ายกัมพูชาเคยเสนอให้ UNSC พิจารณาเรื่องนี้ แต่ในตอนนั้น สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน เห็นว่าน่าจะเป็นการเจรจา 2 ฝ่าย แม้ว่าฝรั่งเศสจะสนับสนุน แต่เรื่องนี้ก็ตกไป

สำหรับในครั้งนี้ ในตอนแรก ผมได้วิเคราะห์ว่า ผลคงจะออกมาเหมือนคราวที่แล้ว คือ UNSC คงจะไม่พิจารณา แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตรหมด โดยมีข่าวว่า มหาอำนาจบางประเทศ คือ รัสเซีย อินเดีย และจีน กลับไปเข้าข้างกัมพูชา โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ UNSC ตัดสินใจเอาเรื่องนี้มาเป็นวาระการประชุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยได้ขอให้ทางฝ่ายไทย และ กัมพูชา ไปชี้แจง ซึ่งเหตุการณ์การพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่นี้ ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตของไทย ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ต้องการให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ เพราะไทยน่าจะคิดว่า เจรจา 2 ฝ่ายกับกัมพูชา เราน่าจะได้เปรียบกว่า แต่ถ้ากลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ มีประเทศสมาชิก UNSC เข้ามายุ่ง หรือมีอาเซียนเข้ามายุ่ง จะทำให้ปัญหายุ่งยาก สลับซับซ้อน คุมเกมได้ยาก เพราะอาจจะมีบางประเทศถือหางกัมพูชา ในทางกลับกัน ทางฝ่ายกัมพูชาพยายามยกระดับปัญหานี้ โดยดึงเอา UN และอาเซียนเข้ามา ซึ่งกัมพูชาก็ประสบความสำเร็จ
เพราะในขณะนี้ ทั้ง UN และอาเซียนก็เข้ามายุ่งวุ่นวายเต็มไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมของ UNSC ออกมาในทำนองที่ไทยไม่เสียเปรียบ โดย UNSC ไม่ได้มีข้อมติอะไรออกมา เป็นเพียงแต่การแถลงข่าวโดยประธาน UNSC เนื้อหาสำคัญ คือ สมาชิก UNSC ได้แสดงความห่วงใยอย่างมากต่อการปะทะกัน และเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย หยุดยิงอย่างถาวร และแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ด้วยการเจรจา โดย UNSC สนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ และยินดีที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์

จะเห็นได้ว่า ผลการประชุมของ UNSC ออกมาในทำนองว่า UNSC จะยังไม่ดำเนินการใดๆในเรื่องนี้ และเน้นให้อาเซียนเล่นบทบาทในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น เราคงจะต้องไปวิเคราะห์ต่อถึงบทบาทของอาเซียน ในเรื่องนี้

อาเซียน

สำหรับในอดีต คือในการปะทะกันครั้งก่อนเมื่อปี 2008 ทางฝ่ายกัมพูชาเคยผลักดันที่จะให้เรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน แต่ทางฝ่ายไทยคัดค้านเต็มที่ ทางอาเซียนจึงยังไม่ได้หารืออย่างเป็นทางการในเรื่องนี้

แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งล่าสุด ได้ชี้ให้เห็นบทบาทของอาเซียนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย Marty Natalegawa ในฐานะประธานอาเซียน ได้เดินทางมาพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา Hor Namhong เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้น ได้มาพบกับรัฐมนตรีกษิต ภิรมย์ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และได้ออกมาแถลงว่าอาเซียนสนับสนุนที่จะให้มีการเจรจา 2 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา

ต่อมา ในการประชุม UNSC เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้รับเชิญในฐานะประธานอาเซียน ให้เข้าร่วมชี้แจงต่อ UNSC ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประธาน อาเซียนเข้ามามีบทบาทแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการ อาเซียน ถึงกับกล่าวว่า การที่ประธานอาเซียน เข้าร่วมประชุม UNSC นั้น ถือเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญของ อาเซียน และจะเป็นการสร้างบทบาทใหม่สำหรับกลไกแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียน

ต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เรียกประชุมสมัยพิเศษเป็นการด่วน ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหารือ เรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชา การที่อาเซียนเข้ามามีบทบาทเช่นนี้ ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตของไทยอีกเช่นกัน เพราะตั้งแต่แรก ไทยก็ไม่ต้องการให้อาเซียนเข้ามายุ่ง

โดยที่น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่จะมีการหารือในลักษณะนี้ จึงเป็นการยากที่จะคาดเดาว่า ผลการประชุมจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าจะให้ผมเดา น่าจะมีความเป็นไปได้ 3 ทาง

ทางที่ 1 คือ อาเซียนขอให้ทั้ง 2 ประเทศกลับไปเจรจา 2 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหา โดยอาเซียนพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ กัมพูชายอมที่จะกลับมาเจรจา JBC กับไทย ซึ่งในตอนแรกมีข่าวว่า จะประชุมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ทางฝ่ายกัมพูชาก็ขอยกเลิกการประชุม JBC และบอกว่ากลไกทวิภาคีไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

ดังนั้น จึงมีแนวทางที่ 2 เกิดขึ้น หากกัมพูชายังยืนกรานไม่ยอมเจรจา 2 ฝ่ายกับไทย อาเซียนก็อาจจะหาทางออก โดยให้อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย โดยอาจจะมีการจัดประชุมที่จาการ์ตา โดยจะเป็นการประชุม 3 ฝ่าย

ส่วนแนวทางที่ 3 ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็น worst-case scenario คือ การเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย และ 3 ฝ่าย ล้มเหลวหมด และเกิดการปะทะกันขึ้นมาอีก ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ทาง UNSC ก็อาจจะกลับมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง และคราวนี้ก็จะยิ่งยุ่งกันใหญ่ เพราะทาง UNSC คงจะเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะทางฝ่ายกัมพูชาก็ต้องการให้ UN เข้ามาแทรกแซงอยู่แล้ว

UNESCO

อีกเวทีหนึ่งที่น่าจะต้องจับตามอง คือ UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลก โดยฝ่ายไทยได้เรียกร้องให้ชะลอการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก และเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ไทยได้ส่งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตทูต อัษฎา ชัยนาม ไปเข้าพบผู้อำนวยการใหญ่ของ UNESCO ที่กรุงปารีส เพื่อชี้แจงถึงผลกระทบของการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งมีปัญหาเป็นพื้นที่ทับซ้อน และน่าจะรอจนกว่า การดำเนินงานด้านเขตแดนโดย JBC จะแล้วเสร็จ ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ก็ยังไม่ทราบผลการหารือว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

ทางออก

ผมมองว่า ทางออกของความขัดแย้งไทย-กัมพูชา หัวใจ คือ การเจรจา และการประนีประนอม โดยในขั้นต้น ต้องมีการถอนทหารออกจากเขตพิพาท หลังจากนั้น ต้องมีการเจรจากันในรายละเอียด ซึ่งมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการปักปันเขตแดน ปัญหาเขตทับซ้อน เรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลก อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือ ต้องมีการสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจกันของทั้งสองชาติ ลดกระแสความเกลียดชัง กระแสชาตินิยม กระชับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน การมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และถ้าทั้งสองชาติ เป็นมิตร และมีไมตรีจิตต่อกัน จะเป็นยาแก้ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชาได้ดีที่สุด