Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาคมเอเปก

ประชาคมเอเปค
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 10 วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน - วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2553

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งล่าสุด ที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ผลการประชุม

• ประชาคมเอเปค
ในการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งนี้ ได้มีการผลักดัน รื้อฟื้นเอเปคครั้งสำคัญ โดยที่ประชุมได้มีการตั้งเป้าการจัดตั้งประชาคมเอเปคขึ้น โดยประชาคมเอเปคจะเน้นการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ โดยจะเน้นในเรื่องของบูรณาการทางเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดเสรีทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งจะมีมาตรการต่างๆ ดังนี้
- จะมีการลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุน และแรงงาน
- จะมีมาตรการที่จะทำให้การทำธุรกิจในภูมิภาคมีความง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และถูกลง
- จะมีการปรับปรุงกระบวนการศุลกากรให้มีความโปร่งใส
- จะมีการลดค่าใช้จ่ายในการทำการค้า รวมทั้งกำจัดความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ

ที่ประชุมตั้งเป้าว่า บูรณาการทางเศรษฐกิจดังกล่าว จะบรรลุให้ได้ภายในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ ที่เราเรียกว่า Bogor Goal โดยจะให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน
หัวใจสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจเอเปค คือ การที่ที่ประชุมตกลงที่จะมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือ Free Trade Area of Asia Pacific (FTAAP)

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะแก้ไขอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้าและการบริการ ด้วยการดำเนินมาตรการภายใต้ แผนปฏิบัติการ APEC Supply-Chain Connectivity Framework Action Plan โดยตั้งเป้าว่า จะปรับปรุง supply-chain ให้ดีขึ้น 10% ภายในปี 2015 และลดค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายสินค้าและการบริการ โดยตั้งเป้าว่า จะลดลง 25% ภายในปี 2015
• FTAAP
ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า FTAAP จะเป็นหัวใจของประชาคมเอเปค ในการประชุมสุดยอดที่โยโกฮามา ในครั้งนี้ จึงได้มีการจัดทำเอกสารแถลงการณ์เกี่ยวกับแผนการจัดตั้ง FTAAP ขึ้นมาต่างหาก โดยในเอกสารดังกล่าวได้บอกว่า การประชุมเอเปคปีที่แล้ว ที่สิงคโปร์ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะให้มีการสำรวจแนวทางในการจัดตั้ง FTAAP โดย FTAAP ได้รับการพิจารณามาตั้งแต่ปี 2006 และได้มีการศึกษาตั้งแต่นั้นมา ที่ประชุมในครั้งนี้จึงได้เห็นตกลงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เอเปคจะต้องแปลแนวคิด FTAAP ให้เป็นจริง ให้เป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้ตกลงที่จะจัดทำแผนการที่จะจัดตั้ง FTAAP โดยได้ตั้งเป้าว่า FTAAP จะถูกจัดตั้งขึ้นด้วยข้อตกลงการค้าเสรีที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยจะเป็นการต่อยอดจากข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว อาทิ อาเซียน+3 อาเซียน+6 และ TPP และเอเปคจะมีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะ FTAAP ด้วยการเล่นบทบาทเป็นผู้นำในกระบวนการดังกล่าว เอเปคจะผลักดัน FTAAP โดยจะพิจารณาสาขาที่สำคัญ อาทิ การลงทุน บริการ e-commerce แหล่งกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า และสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม

• TPP
หัวใจของ FTAAP คือ การจัดตั้ง FTA ในกรอบของ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ในระหว่างการประชุมเอเปคครั้งนี้ ได้มีการจัดประชุมนอกรอบ ผู้นำของ 9 ประเทศ ที่ตกลงจะเข้าร่วมในการจัดตั้ง TPP ซึ่ง 9 ประเทศนั้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยการประชุมสุดยอด TPP ครั้งแรกนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าในการเจรจา เพื่อบรรลุถึงการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี TPP ที่ประชุมได้เน้นถึงเป้าหมายที่ TPP จะเป็นข้อตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูง และจะครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าใหม่ๆ โดยมองว่า TPP เป็น FTA ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาค และที่ประชุมได้ตั้งเป้าหมายว่า จะขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ซึ่งจะมีปริมาณการค้าคิดเป็น 40% ของการค้าโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดี ที่ประเทศในภูมิภาคหลายประเทศได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม TPP

บทวิเคราะห์
• ผมมองว่า การประชุมเอเปคครั้งนี้ นับเป็นการพลิกฟื้นครั้งสำคัญของเอเปค หลังจากที่ซบเซามานาน นับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 ผมวิเคราะห์ว่า ประเทศที่อยู่เบื้องหลังการรื้อฟื้นเอเปค และการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค น่าจะเป็นสหรัฐฯ ซึ่งได้ครอบงำเอเปคมาตลอด การผลักดันเรื่องประชาคมเอเปค น่าจะเป็นการผลักดันขึ้นมาเพื่อแข่งกับประชาคมอาเซียน โดยท่าทีของสหรัฐฯ ในขณะนี้คือ ความหวาดวิตกว่า ประเทศในเอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และอิทธิพลของสหรัฐฯ จะลดลง ยุทธศาสตร์อันหนึ่งของสหรัฐฯ คือ การรื้อฟื้นเอเปค ด้วยการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค ซึ่งมีหัวใจคือ FTAAP และ TPP

• สำหรับภูมิหลังของ FTAAP นั้น ได้รับการผลักดันครั้งแรกในปี 2006 ในสมัยรัฐบาลบุช ในตอนนั้น ที่ประชุมไม่ได้ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯ ด้วยการเตะถ่วงให้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ของ FTAAP ในตอนนั้น ประเทศที่สนับสนุน FTAAP ก็เป็นพวกสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และเม็กซิโก ส่วนประเทศที่แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจนคือ จีน โดยจีนต้องการจัดตั้ง FTA อาเซียน-จีน และเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกในกรอบอาเซียน+3

สหรัฐฯ หวังว่า การจัดตั้ง FTAAP จะช่วยฟื้นฟูบทบาทของเอเปค ซึ่งตกต่ำลงไปอย่างมาก และจะไม่เป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในขณะที่ กำลังมีกระแสการรวมตัวของประเทศเอเชีย ซึ่งจะกีดกันสหรัฐฯ ออกไป ดังนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ จะต้องเพิ่มบทบาทของเอเปค ดังนั้น เหตุผลสำคัญที่สหรัฐฯ ผลักดัน FTAAP คือ การที่สหรัฐฯ จะใช้ FTAAP เป็นตัวกันการรวมกลุ่มกันของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกรอบอาเซียน+3 ซึ่งจะไม่มีสหรัฐฯ สหรัฐฯ หวาดวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงสถานการณ์การร่วมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกที่จะกีดกันสหรัฐฯ ออกไป และหากอาเซียน+3 พัฒนากลายไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก จะทำให้เกิดขั้วทางด้านเศรษฐกิจการเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งจะท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ อย่างมาก สหรัฐฯ จึงต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มและพยายามทำให้การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือที่ใหญ่กว่า คือ ให้เป็นส่วนหนึ่งของเอเปค

• TPP
และขณะนี้ สหรัฐฯ ก็มียุทธศาสตร์ใหม่ ในการผลักดัน TPP ที่จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะจัดตั้ง FTAAP ในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวว่า จะขยายจำนวนสมาชิกของ TPP จากตอนนี้ที่มีสมาชิก 9ประเทศ ออกไปให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯ กำลังมีแผนอย่างชัดเจน โดยในการประชุมเอเปคครั้งนี้ มีการประชุมสุดยอด TPP ครั้งแรก และพอถึงปีหน้าที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย TPP ก็คงจะเป็นไฮไลท์ของการประชุม โดยคงจะมีการลงนามในข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการ

สหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะ lobby ให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเข้าร่วม TPP มากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศที่เข้าร่วมล่าสุดประเทศที่ 9 คือ มาเลเซีย ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น Naoto Kan เข้าร่วมในการประชุมสุดยอด TPP ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมในที่สุด เกาหลีใต้ก็แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม TPP เช่นกัน นอกจากนี้ได้มีข่าวว่า สหรัฐฯ กำลังเจรจากับ จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อให้เข้าร่วม TPP ด้วย

ส่วนประเทศไทยยังสงวนท่าทีในเรื่องนี้อยู่ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ได้ให้ข่าวว่า ท่าทีของไทยควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า เรามีความพร้อมในทุกสาขาหรือไม่ และต้องพิจารณาถึงผลกระทบ โดย TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งอาจกระทบต่อสาขาเกษตรและภาคบริการของไทย ส่วนใน Facebook ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ขณะนี้ ไทยยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่หากประเทศสมาชิกเอเปคเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยคงต้องกำหนดท่าทีให้ชัดเจน แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ก็กังวลเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานสูงของ TPP อาทิ เรื่อง สิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน และด้านการเงิน และบอกว่า ไทยควรติดตาม TPP อย่างใกล้ชิด ก่อนจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่

ผมมองว่า พัฒนาการในเรื่อง TPP กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยควรต้องรีบศึกษาผลดี ผลเสีย ผลกระทบ และรีบกำหนดจุดยืนว่า เราจะเอาอย่างไร

กล่าวโดยสรุป พัฒนาการของเอเปค กำลังมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ดังนั้น ควรจะต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องการจัดตั้งประชาคมเอเปค เรื่อง FTAAP และ TPP