Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

สรุปสถานการณ์โลกปี 2014 และแนวโน้มปี 2015 (ตอนที่ 2)

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์สรุปสถานการณ์โลกในปีที่แล้วไปแล้ว สำหรับในตอนนี้ ซึ่งเป็นตอนที่ 2 จะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะคาดการสถานการณ์การเมืองโลกและความขัดแย้งในปีนี้ ดังนี้
               การก่อการร้าย
               ปัญหาการก่อการร้ายยังคงจะยืดเยื้อต่อไปในปีนี้ ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ได้เกิดการก่อวินาศกรรมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และทำท่าจะลุกลามบานปลายไปอีกหลายประเทศในยุโรป ดังนั้นในปีนี้จึงกำลังจะเกิดแนวโน้มใหม่ของการก่อการร้าย ซึ่งจะกลับเป็นเหมือนช่วงเหตุการณ์ 11 กันยา ปี 2001 ที่เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายคือโลกตะวันตก ซึ่งหลักๆคือ สหรัฐ ยุโรป และออสเตรเลีย Think Tank ของสหรัฐเองก็ได้ประเมินสถานการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ในปีนี้ สหรัฐและโลกตะวันตก จะถูกโจมตีครั้งใหญ่เหมือนกับเหตุการณ์ 11 กันยา
               นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงเช่นเดียวกัน ที่จะมีการโจมตีในรูปแบบใหม่จากกลุ่มก่อการร้าย คือจะเป็นการโจมตีทางอินเตอร์เน็ต ทำลายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของสหรัฐ อาทิ เครือข่ายสาธารณูปโภค และสถาบันการเงิน เป็นต้น
               นอกจากนี้ สถานการณ์การก่อการร้ายในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ โดยเฉพาะในอิรัก มีแนวโน้มว่า จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการรุกคืบของกลุ่ม ISIS และปัญหาความขัดแย้งระหว่างมุสลิมชีอะห์และมุสลิมสุหนี่ แม้ว่าปีที่แล้ว สหรัฐจะโจมตีทางอากาศกับกลุ่ม ISIS แต่ก็เป็นได้แค่หยุดการรุกคืบของกลุ่ม ISIS เท่านั้น
               ปฏิบัติการของกลุ่ม ISIS ได้ลุกลามเข้าไปในซีเรีย ทำให้สงครามกลางเมืองในซีเรีย มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ที่ทางตะวันตกสนับสนุน ก็อ่อนแอลง ในขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนอัลกออิดะห์และ ISIS ก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

               ตะวันออกกลาง
               และที่เกือบจะเป็นเรื่องเดียวกับปัญหาการก่อการร้ายคือปัญหาความวุ่นวายในตะวันออกกลาง ที่กำลังจะลุกลามบานปลายออกไปเรื่อยๆ
               สถานการณ์ในลิเบียก็น่าเป็นห่วง กลุ่มหัวรุนแรงรุกคืบ และใกล้จะเป็นสงครามกลางเมือง รัฐบาลกลางก็อ่อนแอมาก
               ในอียิปต์ มีแนวโน้มปัญหาความวุ่นวายมากขึ้น กลุ่มหัวรุนแรงมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
               สงครามกลางเมืองในซีเรีย ได้ลุกลามเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ จอร์แดนกำลังมีความวุ่นวายหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเลบานอน ความขัดแย้งทางศาสนาและความวุ่นวายทางการเมือง เป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย ส่วนในตุรกี กลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆกับรัฐบาลตุรกี
               สำหรับเยเมนกลุ่มก่อการร้ายสาขาย่อยของอัลกออิดะห์ซึ่งมีชื่อว่า Al-Qaeda in the Arabian Peninsula กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศดังกล่าว
               สำหรับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานในปีนี้ คงหนักหนาสาหัสเช่นเดียวกัน โดยนักรบตาลิบันแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กองกำลังของอัฟกานิสถานก็อ่อนแอ สหรัฐซึ่งตอนแรกตั้งเป้าว่า จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน แต่ตอนนี้คงจะถอนกำลังไม่ได้ทั้งหมด ปีที่แล้ว กลุ่มตาลิบันยึดครองพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และปี 2014 ก็เป็นปีที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจากสงครามเป็นจำนวนมาก ปีนี้กลุ่มตาลิบันคงจะเดินหน้าโจมตีกองกำลังนาโต้และกองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานต่อไป  
               ส่วนประเทศเพื่อนบ้านคือปากีสถาน ก็มีทีท่าว่าจะมีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มนักรบตาลิบันในปากีสถาน
               จุดอันตรายอีกจุดคือ อิหร่าน ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ยังมีความพยายามเจรจากับอิหร่านเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์  แต่เริ่มมีแนวโน้มแล้วว่า การเจรจาคงไปไม่ถึงไหน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น อิหร่านจะกลายเป็นวิกฤตอีกครั้ง ความตึงเครียดจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หากอิสราเอลจะตัดสินใจโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
               นอกจากนี้ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งยืดเยื้อมานาน ซึ่งในปีนี้ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง
               ยูเครน
               ปีนี้วิกฤตยูเครนยังจะไม่จบ ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่วิกฤตสุด เมื่อรัสเซียบุกยึดคาบสมุทรไครเมีย และเกิดความตึงเครียดอย่างหนักทางตะวันออกของยูเครน ปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 5 พันคน และทำให้รัสเซียกับตะวันตกขัดแย้งกันอย่างหนัก ปีนี้ รัสเซียจะยังคงเดินหน้าสนับสนุน Donetsk และ Luhanskให้แยกตัวออกมาจากยูเครน สถานการณ์ในปีนี้ยังไม่แน่นอน นอกจากนี้ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนคือ เขต Kharkivและ Zaporizhia ล่อแหลมที่จะเกิดปัญหาหากรัสเซียตัดสินใจที่จะผนวกเขตดังกล่าว เพราะถ้ารัสเซียได้พื้นที่ตรงนี้ จะเป็นช่องทางทางบก ที่จะเข้าถึงคาบสมุทรไครเมียได้
เอเชียตะวันออก
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก จุดอันตรายมีอยู่ 3 จุด คือ คาบสมุทรเกาหลี ความขัดแย้งในทะเลจีนตะวันออก และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
สำหรับคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในเกาหลีเหนือกำลังเป็นคำถามใหญ่ว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้น วิกฤตเกาหลีเหนืออาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากนโยบายทหารของสหรัฐ หรือความวุ่นวายทางการเมืองในเกาหลีเหนือเอง ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือครั้งใหม่
ส่วนความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ในกรณีการแย่งชิงเกาะเซนกากุหรือเกาะเตียวหยู ยังคงเป็นจุดอันตราย ที่อาจจะนำไปสู่การปะทะกันทางทหารระหว่างประเทศทั้งสองได้

สุดท้าย ปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวของประเทศไทยของเรามาก ขณะนี้ยืดเยื้อมานานไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย โดยจีนยังคงตอกย้ำอ้างความเป็นเจ้าของ ขณะที่สหรัฐก็ยุให้ประเทศอาเซียนทะเลาะกับจีน สถานการณ์เช่นนี้ ล่อแหล่มต่อการที่ความขัดแย้งจะลุกลามบานปลายได้ในปีนี้ 

วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558

สรุปสถานการณ์โลกปี 2014 และแนวโน้มปี 2015 (ตอนที่ 1)

                คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ โดยเฉพาะในตอนที่ 1 นี้ จะสรุปสถานการณ์การเมืองโลกในปี 2014 ที่ผ่านมา และในตอนหน้า ผมจะวิเคราะห์แนวโน้มการเมืองโลกในปี 2015 นี้
               สำหรับปีที่แล้ว สถานการณ์การเมืองโลก มีเรื่องใหญ่อยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ สถานการณ์การก่อการร้ายสากล โดยเฉพาะความวุ่นวายในตะวันออกกลาง และเรื่องที่ 2 คือ ปัญหาวิกฤตยูเครน
               สำหรับเรื่องแรกคือ ปัญหาการก่อการร้าย ปีที่แล้ว สถานการณ์ทรุดหนักมาก โดยเฉพาะการรุกคืบของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มใหม่คือ Islamic State หรือ กลุ่ม IS ซึ่งได้ยึดพื้นที่ในซีเรียและอิรักมากขึ้นเรื่อยๆ และประกาศจะจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นในประเทศทั้งสอง บทบาทของ IS ถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงการแพร่ขยายของ สถานการณ์การก่อการร้าย โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง
               ปัญหาการก่อการร้ายและความขัดแย้งทางศาสนา ได้ลุกลามบานปลายไปหลายจุด เกือบทั่วตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ
               - เหตุการณ์สงครามกลางเมืองในซีเรีย
               - ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่า
               - การก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้าย Boko Haram ในไนจีเรีย
               - สงครามกลางเมืองในโซมาเลีย
               - การก่อการร้ายในเยเมน
               - เหตุการณ์ความวุ่นวายในอียิปต์และลิเบีย
               - และสถานการณ์ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซึ่งนักรบตาลีบันยังคงรุกคืบยึดพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ    สถานการณ์การก่อการร้ายข้างต้น ที่ได้ลุกลามบานปลายไปหลายภูมิภาค ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปี 2014 เป็นปีแห่งความล้มเหลว ของสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย ที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ
               อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ได้กระทบต่อระบบโลกมากที่สุดคือ สถานการณ์วิกฤตการณ์ในยูเครน
               ในช่วงต้นปี 2014 ชาวยูเครนกลุ่มนิยมตะวันตกกับกลุ่มที่นิยมรัสเซีย ขัดแย้งกันอย่างหนัก โดยเฉพาะที่คาบสมุทรไครเมีย ที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซียถึง 60 % และมี ชาวยูเครนเพียง 24 % ได้เกิดเหตุการณ์จาจต่อมา ปูตินผู้นำรัสเซียได้ตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปในไครเมียและผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยปูตินมองว่า รัสเซียมีความชอบธรรมที่จะส่งทหารเข้าไป เพื่อปกป้องชาวรัสเซียในไครเมียและยูเครน
               สำหรับสาเหตุของวิกฤตการณ์ยูเครนนั้น เป็นปัจจัยการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตก โดยรัสเซียมองว่า ตะวันตกกำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย และลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยการดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิกนาโต้และ EU และต้องการขยายอิทธิพลของตะวันตก เข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย การแทรกแซงยูเครนและไครเมียของรัสเซีย รัสเซียรู้ดีว่า ตะวันตกคงจะไม่กล้า ตอบโต้อะไร นอกจากการออกนโยบายคว่ำบาตรซึ่งจะไม่มีผลอะไร
               การยึดคาบสมุทรไครเมียของรัสเซีย ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเมืองโลก ซึ่งกำลังจะกลับไปเหมือนศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่มีลักษณะของการต่อสู้แข่งขันระหว่างมหาอำนาจ การถ่วงดุลอำนาจ และการกำหนดเขตอิทธิพลของมหาอำนาจ
               กติการะหว่างประเทศในยุคหลังสงครามเย็นคือ จะไม่มีการทำสงครามเพื่อผนวกดินแดน แต่สิ่งที่รัสเซียได้ทำ ในการผนวกไครเมียคือ การหมุนโลกให้กลับไปสู่ศตวรรษที่ 19 และ 20 และปูตินได้ประกาศเขตอิทธิพลของรัสเซีย ซึ่งเท่ากับการกลับไปสู่เกมการเมืองโลกของมหาอำนาจในศตวรรษที่แล้ว
               การผนวกไครเมียของรัสเซียในครั้งนี้ ได้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกัตะวันตกเป็นอย่างมาก โดยตะวันตกได้มีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วการกำหนดยุทธาสตร์การปิดล้อมรัสเซียใหม่ ทั้งทางด้านการทหาร การทูต และเศรษฐกิจ EU ได้ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และได้ลดปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนกับรัสเซียลง
               แต่รัสเซียก็ไม่ได้กลัวเกรงอะไรต่อยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซียของตะวันตก ปูตินได้มีท่าทีชัดเจนในลักษณะที่เคียดแค้นและต้องการล้างแค้นตะวันตก หลังจากที่ตะวันตกได้ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย และตะวันตกได้กดหัวรัสเซียมาตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปูตินได้ประกาศชัดว่า รัสเซียได้กลับมาแล้ว และจะเอาเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซียกลับคืนมา ปูตินได้กล่าวโจมตีนาโต้อย่างรุนแรง โดยได้บอกว่า นาโต้ได้โกหกรัสเซียมาตลอด หลายเรื่องที่นาโต้ทำเหมือนกับเป็นการแทงรัสเซียข้างหลัง นาโต้ได้ผิดคำมั่นสัญญาที่ได้บอกว่า จะไม่ขยายสมาชิกมาทางตะวันออก  ปูตินเชื่อว่าขณะนี้ ตะวันตกกำลังดำเนินนโยบายปิดล้อมรัสเซียอยู่
               ในขณะเดียวกัน การผนวกไครเมียของรัสเซียและวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญ อย่างยิ่งในการฟื้นคืนชืพของพันธมิตรนาโต้ หลังจากที่ซบเซามานาน หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นาโต้สับสนและไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่จากวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ ทำให้นาโต้กลับมามีศัตรูที่ชัดเจน คือรัสเซีย และมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ ปิดล้อมรัสเซียทางทหาร แนวโน้มในอนาคต ก็คงจะเห็นนาโต้มีบทบาทมากขึ้นในการปิดล้อมรัสเซีย โดยเฉพาะการเสริมกองกำลังเข้าไปในยุโรปตะวันออก รวมทั้งการสนับสนุนทางทหารต่อยูเครน
               ในสหรัฐ กลุ่มอนุรักษ์นิยมและพวกสายเหยี่ยวในสหรัฐในพรรค Republican ซึ่งขณะนี้ครองเสียงข้างมากในสภา Congress ได้มองรัสเซียในเชิงลบมากขึ้น  โดยมองว่า ขณะนี้ รัสเซียกำลังจะเป็นศัตรูกับสหรัฐ ดังนั้น สหรัฐจะต้องมียุทธศาสตร์เพื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากรัสเซีย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซีย
               กล่าวโดยสรุป สถานการณ์การเมืองโลกในปีที่แล้ว น่าเป็นห่วง โดยสถานการณ์การก่อการร้ายสากลได้ลุกลามบานปลายไปทั่วโลก ส่วนวิกฤตยูเครนก็ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการเมืองโลก ทำให้โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคที่ตะวันตกจะขัดแย้งกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ และโลกจะถอยหลังลงคลอง กลับไปสู่ศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่เป็นศตวรรษแห่งสงครามและความขัดแย้ง


(โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 ซึ่งจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2015 นี้)