Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) : การผงาดขึ้นมาของจีน และการเสื่อมถอยของสหรัฐ

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ธนาคารที่มีชื่อย่อว่า AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank)  ซึ่งจีนได้ริเริ่มขึ้น และท่าทีของสหรัฐ รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบของ AIIB ต่อระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกในอนาคต
               AIIB
               AIIB เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลจีนได้เสนอในปี 2013 และได้เริ่มจัดตั้งในเดือนตุลาคมปี 2014 วัตถุประสงค์ของ AIIB ก็เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ
               ธนาคารจะมีเงินทุนในตอนแรกประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนจะเป็นผู้ลงขันรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม เงินทุน 5 หมื่นล้านเหรียญของ AIIB ยังถือว่าไม่มาก เพราะคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของเงินทุนของ ADB  (Asian Development Bank) อย่างไรก็ตาม เงินทุนของ AIIB คงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านเหรียญ เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ มีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 30 ประเทศแล้ว
               ปัจจัยสำคัญที่จีนผลักดัน AIIB ส่วนหนึ่ง ก็น่าจะมาจากการที่จีนไม่พอใจในสถาบันการเงินของโลกคือ IMF และธนาคารโลก และสถาบันการเงินในภูมิภาคคือ ADB ที่ถูกครอบงำโดยสหรัฐทั้งหมด แม้ว่าจีนและประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จะได้เรียกร้องมานาน ให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินเหล่านี้ ให้เปิดโอกาสให้จีนมีบทบาทมากขึ้น แต่สหรัฐก็มีท่าทีเฉยเมยมาโดยตลอด ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนจึงได้ตัดสินใจผลักดันการจัดตั้งสถาบันการเงินขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องพึ่งสหรัฐอีกต่อไป ก่อนหน้านี้ จีนได้ผลักดันการจัดตั้งธนาคาร BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และตอนนี้ก็มาผลักดัน AIIB ขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นการท้าทายระเบียบเศรษฐกิจโลกของสหรัฐเป็นอย่างมาก
               ท่าทีของสหรัฐ
               ในช่วงปลายปีที่แล้ว สหรัฐได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนในการคัดค้านข้อเสนอของจีน และได้กดดันประเทศต่างๆ โดยเฉพาะพันธมิตร ไม่ให้ไปเข้าร่วม AIIB สหรัฐคงจะเห็นชัดว่า AIIB จะส่งผลกระทบทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจต่อสหรัฐเป็นอย่างมาก โดยสหรัฐหวังว่า ประเทศพันธมิตรของสหรัฐจะไม่เข้าร่วม และข้อเสนอของจีนจะไปไม่รอด หรือไม่ AIIB ก็จะมีประเทศเข้าร่วมไม่กี่ประเทศ
               สหรัฐอ้างเหตุผลว่า AIIB ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องความโปร่งใส และในเรื่องของธรรมาภิบาล แต่ในความเป็นจริง ก็เห็นชัดว่า สหรัฐต่อต้านการจัดตั้ง AIIB ก็เพราะเป็นความคิดริเริ่มของจีน การต่อต้านอย่างชัดเจนของสหรัฐในครั้งนี้ ทำให้เห็นชัดขึ้นถึงยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาของจีน และการปิดล้อมจีนทางด้านเศรษฐกิจ
                 อย่างไรก็ตาม ความพยายามของสหรัฐในการสกัดการเกิดขึ้นของ AIIB ก็ไม่เป็นผล เพราะประเทศพันธมิตรในเอเชียของสหรัฐเกือบทั้งหมด ตัดสินใจเข้าร่วม AIIB โดยประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วม มีเพียงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียเท่านั้น ที่ยังลังเลอยู่ และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง ประเทศอังกฤษที่เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดของสหรัฐ ก็ได้ประกาศเข้าร่วม AIIB และต่อมาเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีก็ได้ตัดสินใจเข้าร่วม AIIB ตามอังกฤษไปด้วย
               บทวิเคราะห์
               การจัดตั้ง AIIB ท่าทีของสหรัฐ และการเข้าร่วม AIIB ของประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกโดยมีนัยยะสำคัญ ดังนี้
สถานการณ์การจัดตั้ง AIIB ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงการผงาดขึ้นของจีน และการเสื่อมถอยของอิทธิพลของสหรัฐอย่างชัดเจน ในอดีต ในยุคสมัยที่สหรัฐครองความเป็นเจ้าและมีอำนาจล้นฟ้า ถ้าสหรัฐออกมาคัดค้าน พันธมิตรของสหรัฐก็จะต้องถอยกันหมด แต่ในครั้งนี้ กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ว่าสหรัฐจะคัดค้านอย่างเต็มที่และพยายามกดดันประเทศพันธมิตรและประเทศต่างๆไม่ให้เข้าร่วม แต่ในที่สุด ก็แทบจะไม่มีประเทศใดสนใจการคัดแค้นและแรงกดดันจากสหรัฐเลย ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงอิทธิพลของสหรัฐที่เสื่อมถอยลงไปเป็นอย่างมาก
ที่มีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือการตัดสินใจของอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐ ในการเข้าร่วม AIIB การตัดสินใจของอังกฤษอาจจะเป็นสิ่งบ่งชี้ที่สำคัญ ถึงการสิ้นสุดของศตวรรษของอเมริกา และการเกิดขึ้นของศตวรรษแห่งเอเชีย การตัดสินใจของอังกฤษอาจเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ที่ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐไม่สามารถครอบงำประวัติศาสตร์โลกได้อีกต่อไป และชี้ให้เห็นถึงการอุบัติขึ้นของจีนในฐานะมหาอำนาจโลกใหม่
การที่สหรัฐคัดค้านไม่เข้าร่วม AIIB มีผล แทนที่จะโดดเดี่ยวจีน แต่กลับกลายเป็นสหรัฐกำลังถูกโดดเดี่ยว เพราะประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเกือบทั้งหมดได้กระโดดเข้าร่วม AIIB สหรัฐกำลังตกที่นั่งลำบากเพราะถ้าจะคัดค้าน AIIB ต่อไป ก็จะยิ่งถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น แต่ถ้าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก AIIB ก็ดูจะสายไปเสียแล้ว และที่สำคัญ คือสหรัฐจะเสียหน้ามาก
นับเป็นการเดินเกมทางการทูตที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนกับว่า สหรัฐกำลังสับสนและไม่รู้ว่าจะปรับนโยบายอย่างไรดี เพื่อรองรับต่อการเสื่อมถอยอำนาจของตน และรองรับการผงาดขึ้นมาของจีน จึงเห็นได้ชัดว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐในปัจจุบัน ดูสับสนวุ่นวายและผิดพลาดไปหมด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายในตะวันออกกลาง สงครามต่อต้านการก่อการร้าย นโยบายต่อรัสเซีย และยุทธศาสตร์ rebalancing  ของสหรัฐในเอเชีย ซึ่งดูล้มเหลวหมด
สหรัฐกำลังตกที่นั่งลำบากและสับสนว่า จะต้องปรับตัวอย่างไร สหรัฐยังคงยึดนโยบายเก่าๆ ที่ทำตัวเป็นลูกพี่ใหญ่ และบีบทุกประเทศให้เดินตามสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐลืมไปว่า อำนาจและอิทธิพลของตน ลดลงไปมากแล้ว และสหรัฐไม่อยู่ในสถานะที่จะบีบประเทศต่างๆให้ทำตามสหรัฐได้อีกต่อไป
AIIB กลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน โดยสหรัฐได้วิตกกังวลอย่างมากว่า AIIB จะมาลดทอนบทบาทของสถาบันการเงินที่สหรัฐครอบงำคือ IMF ธนาคารโลก และ ADB การเดินเกมกดดันให้พันธมิตรไม่เข้าร่วม AIIB สหรัฐจึงทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเดิมพันในเรื่องอิทธิพลของสหรัฐกับจีน ซึ่งในที่สุด จีนก็เป็นฝ่ายชนะ และสหรัฐเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ผลลัพธ์ของการตั้ง AIIB สำเร็จ ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าในอดีต สหรัฐสามารถเล่นเกมแบ่งแยกและปกครองได้ แต่ขณะนี้ จีนก็สามารถเล่นเกมแบ่งแยกได้เหมือนกัน นั่นก็คือทำให้สหรัฐและพันธมิตรแตกแยกกัน และทำให้สถานะการเป็นผู้นำในเอเชียของสหรัฐสั่นคลอนลงไปเป็นอย่างมาก
ท่าทีของสหรัฐต่อ AIIB ในครั้งนี้ ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดถึงยุทธศาสตร์การต่อต้านจีนของสหรัฐ สหรัฐได้ทำต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมจีนทางทหาร การจุดประเด็นและการเข้าแทรกแซงในปัญหาทะเลจีนใต้ การผลักดัน TPP ให้เป็น FTA ของภูมิภาค โดยไม่ได้เชิญจีนให้เข้าร่วม TPP จึงเท่ากับเป็นการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จากเหตุการณ์ AIIB ยิ่งทำให้เห็นชัดขึ้นว่ายุทธศาสตร์ rebalancing ของสหรัฐ ก็น่าจะเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนนั่นเอง
การจัดตั้ง AIIB ในครั้งนี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างไร
การจัดตั้ง AIIB ของจีน ยังไม่ถือว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก เพราะในภาพรวมแล้ว อำนาจทางทหารและเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงเหนือกว่าจีนมาก และ AIIB ก็เป็นเพียงสถาบันการเงินในระดับภูมิภาค จีนก็คงจะเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาค สหรัฐยังคงจะครอบงำสถาบันการเงินในระดับโลกอยู่เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่า จากความสำเร็จของการจัดตั้ง AIIB ของจีนในครั้งนี้ น่าจะทำให้ ในอนาคต ในระยะยาว ก้าวต่อไปของจีนก็คือการเดินหน้าผลักดันการจัดตั้งสถาบันการเงินในระดับโลกของจีนขึ้นมา ซึ่งก็จะเป็นการท้าทายการครอบงำระเบียบการเงินโลกของสหรัฐอย่างชัดเจน


รบกวนติดตามความเคลื่อนไหวของผมได้ที่ www.drprapat.com

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

การต่างประเทศของไทยปี 2015 (ตอนที่2)

          คอลัมน์กระบวนทรรศน์ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558  ผมได้วิเคราะห์การต่างประเทศของไทยในอนาคต โดยเน้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ โดยเฉพาะไทยกับสหรัฐไปแล้ว สำหรับคอลัมน์ในวันนี้ จะเป็นตอนที่ 2 โดยจะวิเคราะห์บทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุทธศาสตร์ของไทยต่ออาเซียน และความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้
               บทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
               โจทย์ใหญ่ของไทย จะมีเรื่องว่า เราจะเอาอย่างไรกับมหาอำนาจ นั่นคือโจทย์ที่หนึ่ง โจทย์ที่สองคือ ไทยจะบทบาทอย่างไรในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุทธศาสตร์ของไทยควรจะเน้นให้อาเซียนเป็นสถาบันหลักของภูมิภาค ไทยจะต้องจับอาเซียนให้มั่น
               เพราะฉะนั้น regional architecture หรือระบบความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาค ตอนนี้มีการแข่งขันกันอยู่หลายตัวแบบ หลายระบบ อาเซียนบอกว่า จะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
               ส่วนอเมริกา ถึงแม้จะไม่ประกาศ แต่  hidden agenda ของอเมริกา ก็ต้องการจะเป็นศูนย์กลางของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ โดดเด่นในด้านการทหาร อำนาจทางทหารไม่มีใครสู้สหรัฐได้ แต่ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก อิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังลดลงเรื่อยๆ เพราะว่าในภูมิภาค มีการรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็น AEC  ASEAN+3 ASEAN+6 ASEAN+8  มี FTA อาเซียนกับจีน อาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งการรวมกลุ่มเหล่านี้ไม่มีสหรัฐอยู่ด้วยเลย สหรัฐกำลังรู้สึกว่า ถูกกีดกันออกไปจากภูมิภาค และบทบาททางด้านเศรษฐกิจของตนกำลังลดลง
               นี่คือสาเหตุหลักที่สหรัฐผลักดัน TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งจะเป็น FTA ที่มีอเมริกาเป็นหัวหน้า สหรัฐพยายามที่จะเอา TPP มาสู้ มาเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้อเมริกากลับมามีบทบาท มีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง เพราะอิทธิพลของสหรัฐตกไปเยอะ ทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน
               ถามว่า แล้วไทยจะเอาอย่างไรต่อไป คำตอบคือ ไทยต้องยึดอาเซียนเป็นหลัก เพราะว่าอาเซียนกำลังมีการเจรจา FTA  ASEAN+6  คือ RCEP  ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า TPP
               TPP จะมีผลเสียต่อไทย แต่กรอบการเจรจา RCEP มีการประนีประนอมกัน  ยืดหยุ่นกันได้ ตรงไหนไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องเปิดเสรี แต่ TPP อเมริกาทุบโต๊ะเลย ว่าต้องเปิดหมด ฉะนั้นถ้าไทยเข้าร่วม TPP ไทยจะกลับไปอยู่ในสถานะที่เคยตกอยู่ คือตอนที่เจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งตอนนั้น เราถูกอเมริกากดดันอย่างหนักให้เปิดหมดทุกสาขา ซึ่งในที่สุด ไทยบอกว่าไม่ไหว เลยเลิกเจรจาไป ถ้าไทยไปร่วม TPP จะเจอแบบนั้นอีก นั่นคือสิ่งที่เป็นอันตราย TPP น่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดีทางเศรษฐกิจ
               แต่ TPP ไม่ได้มีแต่เรื่องการค้า เรารู้ว่า TPP ที่สหรัฐฯผลักดันขึ้นมา เพื่อให้สหรัฐฯเป็นหัวหน้าใหญ่และมาสู้กับ FTA ของอาเซียน และมีเป้าหมายโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจด้วย เพราะสหรัฐไม่เคยเชิญจีนให้เข้าร่วม TPP เพราะฉะนั้น ถ้าไทยเข้าร่วม TPP ก็อาจจะมีปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับจีนได้ นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ไทยรีรอมาโดยตลอด ไม่กล้ากระโดดเข้าร่วม TPP เพราะเราคิดหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่คิด คงจะเป็นเรื่องไทยกับจีน
               ยุทธศาสตร์ของไทยต่ออาเซียน
               ยุทธศาสตร์ของไทย จะมองไกลตัวแล้วเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายต่างประเทศไทย ไกลตัวคือเรื่องของมหาอำนาจตะวันตก ถ้าไกลกว่านั้น จะเป็นเรื่อง UN ยุโรป ซึ่งเราจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียมากเท่าไรนัก ไม่ค่อยสำคัญ ในที่สุด นโยบายต่างประเทศของไทย  ต้องกลับมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และที่สำคัญที่สุดคือ อาเซียน ปลายปีนี้ก็จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นแล้ว
               จะเห็นได้ว่า ไทยพยายามเตรียมความพร้อม พยายามที่จะมียุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ว่าที่ผ่านมา ถือเป็นโชคร้ายของประเทศไทย ที่มีวิกฤตการเมืองขึ้นมาพอดี เราตีกันเองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงนี้เป็นช่วงที่ไทยจะต้องเดินหน้า จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในเชิงรุกในด้านต่างๆ แต่ปรากฏว่า ไทยมัวแต่วุ่นกับการเมืองภายใน บางช่วงเราเป็นอัมพาต ไม่ได้ทำอะไรเลย โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐประหารปี 2006 แล้วมีเสื้อเหลือง เสื้อแดง รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย เจอเสื้อเหลือง ไม่ได้ทำอะไรเลย มัวแต่วุ่นกับเรื่องเสื้อเหลือง พอมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะมาเจอเสื้อแดงอีก ต่อมาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ทำอะไรไม่ได้เช่นเดียวกัน ทำให้เราเสียโอกาส เราไม่สามารถที่จะมีสมาธิ ไม่สามารถ focus หรือมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องของอาเซียนได้  สรุปคือ ไทยยังไม่พร้อม ที่เสียดายที่สุดคือเราไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งๆ ที่ไทยคือศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไทยคือศูนย์กลางของอาเซียน ฉะนั้น การเป็นประชาคมอาเซียน ไทยจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะเราจะเป็น hub ของทุกอย่าง hub ทางด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือในด้านต่างๆ การคมนาคมขนส่ง การศึกษา โลจิสติกส์ การแพทย์ คือเรามีศักยภาพอยู่แล้ว แต่ว่าไม่สามารถที่จะมียุทธศาสตร์และนโยบายที่ชัดเจนในเชิงรุกได้ ดังนั้น เราจะต้องทำการบ้านกันอีกเยอะ
               เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 ปี เราต้องรีบ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่า เมื่อถึง 1 มกราคม 2559 แล้ว เราจะทำอะไรไม่ได้เลย จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องมากกว่า วันที่ 31 ธันวาคม 2558 กับวันที่ 1 มกราคม 2559 ก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมาก เหมือนเป็นหลักกิโลเมตร เหมือนเป็นสัญลักษณ์มากกว่า โดยจะมีการประกาศว่า เราเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า 1 มกราคม 2559 เราจะต้องหยุดหมด เราทำต่อได้ในสิ่งที่เรายังทำไม่เสร็จ
               ผมคิดว่า เราจะต้องรีบมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า วิสัยทัศน์ของเราคืออะไร เรายังไม่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งจะเป็นเป้าหมายใหญ่ของไทยในประชาคมอาเซียน
               ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้สภาพัฒน์ไปทำแผนแม่บทการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่สภาพัฒน์ตีโจทย์ไม่แตก สภาพัฒน์ไม่ถนัดเรื่องอาเซียน แต่ถนัดการทำแผนพัฒนาประเทศ คือยุทธศาสตร์ที่สภาพัฒน์ทำออกมามี 8 ยุทธศาสตร์ เรียกว่า “ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย” แต่จริงๆแล้ว ผมมองว่า เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศมากกว่า คือ มียุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาเมือง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อม แต่เตรียมพร้อมอย่างเดียวไม่พอ เปรียบเทียบกับแผนเล่นฟุตบอล ยุทธศาสตร์สภาพัฒน์เหมือนกับเตรียมนักฟุตบอลให้พร้อมว่า ต้องนอนกี่ชั่วโมง วิ่งกี่ชั่วโมง ต้องเตรียมอะไรบ้าง แต่ว่าจะต้องมียุทธศาสตร์อีกชุดหนึ่ง ที่จะบอกเราว่า พอลงสนามแล้ว เราจะเล่นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่มี
               ผมมองว่า หน่วยงานที่รู้เรื่องอาเซียนดีที่สุดคือ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ แต่ ปัญหาในระบบราชการก็มีเยอะ มีเรื่องของการประสาน “งา” มากกว่าการประสานงาน หน่วยงานไทยขาดการประสานงานกัน ต่างคนต่างทำ ดังนั้น จะมีปัญหาในเรื่องที่เราจะทำอย่างไร ให้หน่วยงานมีการบูรณาการให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ให้มียุทธศาสตร์มีเป้าหมายร่วมกัน
               กระทรวงการต่างประเทศพยายามทำ โดยมีการตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติขึ้นมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการบูรณาการ
               ผมขอเสนอว่า คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติควรจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ใช่รัฐมนตรีต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญ และเรียกรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงทุกกระทรวงและสั่งการ แต่ก่อนอื่น เราจะต้องมีแผนแม่บท แผนใหญ่ก่อนว่า ไทยจะเอาอย่างไร ตรงนี้อาจให้มีคณะกรรมการพิเศษมาทำแผนนี้ คือจะต้องมีกลไกพิเศษทำตรงนี้ขึ้นมา ในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติต่ออาเซียน เสร็จแล้วพอมียุทธศาสตร์ก็จะต้องมีการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ
               ในยุคนี้เป็นยุคแห่งการปฏิรูปประเทศ เราต้องปฏิรูปยุทธศาสตร์ไทยต่ออาเซียนด้วย ต้องชัดเจนว่า เราจะรุกตรงไหน รับตรงไหน ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ต้องชัดเจนว่า ไทยอยากจะเป็นอะไรในประชาคมอาเซียน  ซึ่งผมขอเสนอว่า วิสัยทัศน์ดังกล่าวคือ ไทยจะเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน เป็นวิสัยทัศน์ที่เห็นชัดเจน แต่รัฐบาลกลับฟันธงไม่ได้ เราบอกว่า จะเป็น hub ของประชาคมอาเซียน แค่นี้ก็ชัดเจนแล้ว วิสัยทัศน์นี้ก็จะเป็นเป้าหมายของเรา และยุทธศาสตร์ต่างๆ ก็จะต้องถูกกำหนดขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือทำให้ไทยเป็น hub หรือเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนในอนาคตต่อไป


วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ปี 2015 (ตอนที่ 2)

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์หลังรัฐประหารปีที่แล้ว ซึ่งสหรัฐกดดันไทยอย่างหนัก ทำให้ไทยได้หันเข้าหาจีนและประเทศในเอเชียอย่างชัดเจน
สำหรับคอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงความสัมพันธืไทย-สหรัฐในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงหลังจากการเยือนไทยของนายแดเนียล รัสเซล และแนวโน้มความสัมพันธ์ในอนาคต ดังนี้
ในบริบทดังกล่าวข้างต้น ผมเดาว่า สหรัฐฯคงจะมองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร และก่อนที่นายรัสเซลจะเดินทางมาเยือนไทย ผมก็เดาว่า การมาเยือนของนายรัสเซลในครั้งนี้ ถึงแม้จะเป็นแค่ระดับอธิบดี แต่ก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ ที่จะได้มาพบปะกับรัฐบาลไทยในปัจจุบัน ผมคิดว่า สหรัฐฯคงอ่านเกมออกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น อเมริกาคงจะต้องพยายามกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย อเมริกาคงจะปรับเปลี่ยนท่าทีให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ในการสนับสนุนการปฏิรูปของไทย และอเมริกาคงจะกลับมาแข่งกับอิทธิพลของจีนในไทย ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของอเมริกาเอง เพราะโจทย์ใหญ่ของสหรัฐมี 4 โจทย์ คือ หนึ่ง ครองความเป็นเจ้า สอง สกัดจีน สาม กันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกัน และสี่ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ถ้าสหรัฐต้องการที่จะรักษา 4 ตัวนี้ไว้ สหรัฐต้องปรับนโยบาย ด้วยการเข้าหาอาเซียนและไทยมากขึ้น
แต่ก็กลับกลายเป็นเรื่องคาดเดาผิด เพราะกลายเป็นว่า ตอนนายรัสเซลมาเยือนไทย เขาไปกล่าวสุนทรพจน์ที่จุฬาฯ ประเด็นหลักที่นายรัสเซลมาพูดที่จุฬาฯ คือ เรื่องการไม่เห็นด้วยกับกฎอัยการศึก การเร่งรัดให้ไทยเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งตรงนี้ก็เข้าใจได้ว่า เป็นท่าทีจุดยืนมาตรฐานของรัฐบาลสหรัฐต่อสถานการณ์แบบนี้ เขาก็ต้องพูดแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่ผมรู้สึกว่า อเมริกาน่าจะ offside เกินไป คือเรื่องของการพาดพิงกระบวนการถอดถอน และสรุปเอาเลยว่า น่าจะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง รวมทั้งมีข่าวออกมาว่าสถานทูตสหรัฐจะออกไปพบปะกับเสื้อแดง หลังจากนั้น รัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจ และได้เชิญอุปทูตสหรัฐไปพบที่กระทรวงต่างประเทศ และมีกระแสต่อต้านต่างๆตามมา
ถ้าอเมริกามาครั้งนี้ เพื่อต้องการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย ผมคิดว่าล้มเหลว เพราะการเยือนไทยของนายรัสเซลในครั้งนี้ กลับทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐแย่ลง และอาจมีผลกระทบข้างเคียงต่อความสัมพันธ์สหรัฐ-อาเซียนด้วย เพราะอย่าลืมว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ ก็มีสถานะไม่ต่างจากไทย ประเทศอาเซียนบางประเทศ คงจะจับตาดูว่า อเมริกาเริ่มจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอาเซียนมากขึ้น เพราะฉะนั้น คงจะไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ นี่เป็นผลกระทบประการที่หนึ่ง
ผลกระทบประการที่สอง คือปัญหาในลักษณะแบบนี้ น่าจะทำให้ไทยกับจีน สนิทกันมากขึ้น เพราะการผงาดขึ้นมาของจีน ตอนนี้ จีนเป็นอันดับหนึ่งในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน ในขณะที่สหรัฐ ในระยะยาว จะเสื่อมอำนาจลง
แนวโน้มในระยะยาว ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ ไทยจะให้ความสำคัญกับมหาอำนาจในภูมิภาคมากขึ้น คือ ความสัมพันธ์ไทย-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-อินเดีย จะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ จะลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ นี่เป็นแนวโน้มในระยะยาว เพราะอเมริกาจะเสื่อมลงแน่ และเอเชียจะผงาดขึ้นมาแน่ จีนผงาดแน่ อาเซียนผงาดแน่ แนวโน้มนี้ จะผลักดันไทยให้ไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น การเดินเกมของอเมริกาที่ผิดพลาดในครั้งนี้ จะเป็นตัวเร่ง ทำให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น เร็วขึ้น และเข้มข้นมากขึ้น
ผลกระทบดังกล่าวข้างต้น ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของอเมริกาเลย เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐทรุดหนักลง การครองความเป็นเจ้า อเมริกายังคงต้องการไทยในฐานะที่จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ในการปิดล้อมและสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน แต่ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนของอเมริกา น่าจะกระเทือน จากการที่ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐทรุดหนักลง และอาจจะลามไปถึงความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐด้วย
เช่นเดียวกับการที่สหรัฐมีจุดมุ่งหมาย ที่จะป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกัน โดยไม่มีสหรัฐ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา อเมริกาพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ให้อาเซียน +3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก เพราะสหรัฐกลัวว่า ถ้า 13 ประเทศมารวมกลุ่มกันแล้ว จะกีดกันอเมริกาออกไป สหรัฐเลยไปผลักดันสนับสนุน TPP และ APEC แต่ผมเกรงว่า จากสถานการณ์นี้ ยิ่งจะทำให้ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย จะให้น้ำหนักกับการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียมากขึ้น
ตอนนี้ ไทยต้องตัดสินใจในการเข้าร่วม FTA 2 ตัว คือ RCEP กับ TPP สำหรับ RCEP คือ FTA ที่มีอาเซียนเป็นแกน จะเป็น FTA อาเซียน + 6 ส่วน TPP คือ FTA ที่สหรัฐเป็นหัวเรือใหญ่ ตอนนี้มี 12 ประเทศ ไทยยังไม่เข้าร่วม TPP แต่เข้าร่วม RCEP ที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอนที่โอบามามาเยือนไทย รัฐบาลก็ประกาศว่า สนใจอยากจะเข้า TPP แต่ตอนหลังก็ถอยออกมา ผมมองว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ยิ่งจะทำให้ไทยตัดสินใจง่ายขึ้น ในการที่จะเลือก RCEP แทนที่จะเลือก TPP ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐ เพราะสหรัฐต้องการให้ประเทศในภูมิภาคเข้าไปเป็นสมาชิก TPP เยอะๆ โดยสหรัฐมาล็อบบี้ไทยอยู่หลายปี ให้ไทยไปร่วม แต่เราก็ไม่กล้าไปร่วม เพราะว่าเราดูแล้วว่า น่าจะมีความสุ่มเสี่ยง เพราะ TPP จะกลับไปเหมือน FTA ไทย-สหรัฐ ที่อเมริกาบีบเราให้เปิดทุกสาขา นอกจากนี้ TPP อาจจะมี hidden agenda แอบแฝงเรื่องการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ โดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ เพราะ TPP ไม่ได้เชิญจีนเข้าร่วม ไทยเลยคิดหนักว่า ถ้าเราไปร่วม TPP แล้ว จีนจะคิดอย่างไร
สถานการณ์ขณะนี้ อาจจะทำให้ไทย ซึ่งพูดมาตลอดว่า จะไม่เลือกข้าง การเลือกข้างคือ การเป็นพวกจีนหรือพวกสหรัฐ เราบอกว่าจะไม่เลือกข้าง option สุดท้ายคือการเลือกข้าง แต่ผมเกรงว่า ในระยะยาว ในที่สุดแล้วเราอาจจะต้องเลือกข้าง เราอาจจะเอียงไปข้างจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นดาบสองคม อันนี้ก็ต้องระวัง เพราะถ้าเราเอียงไปข้างจีนมากเกินไป ก็จะไม่ดี
ผมคิดว่า ทางที่ดีที่สุดของเราคือ เราควรจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ รวมทั้งสหรัฐด้วย ทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างเราคือ อย่าไปมีเรื่องกับอเมริกา และควรทำอย่างที่ไทยเราทำมาตลอดคือ เราต้องเดินสายกลาง เราต้องสนลู่ลม เราอย่าไปชนกับใคร ต้องเข้าได้กับทุกฝ่าย
               ไทยต้องประคอง ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปทะเลาะกับอเมริกา ซึ่งยังเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอยู่ ดีที่สุดของไทยคือ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ ไม่เลือกข้าง อันนี้เป็น ideal situation ที่ดีที่สุดของเรา
               ที่นี้เราจะทำอย่างไรกับตะวันตก ที่ยังไม่เข้าใจเรา ตรงนี้รัฐบาลทำน้อยไป รัฐบาลจะต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจน เพราะเหลือตะวันตกเท่านั้น ที่ยังไม่เข้าใจเรา ประเทศอื่นๆ เข้าใจเราหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องมียุทธศาสตร์ไปชี้แจงให้ตะวันตกเข้าใจว่า ตอนนี้เราอยู่ในสถานะอะไร เรากำลังเดินหน้าปฏิรูปอย่างไร เราจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องรีบทำ ผมคิดว่าตะวันตกเข้าใจเราผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อตะวันตกที่เสนอข่าวเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยที่บิดเบือนมาก อันนี้เป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่เราจะต้องคิดว่าจะทำ PR กับตะวันตกอย่างไร


วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐปี 2015 (ตอนที่ 1)

ก่อนอื่น ถ้าเราอยากจะเข้าใจสหรัฐ เราต้องเข้าใจว่า สหรัฐต้องการอะไร ซึ่งสหรัฐมี 4 เป้าหมายต่อภูมิภาค               
               หนึ่ง คือ ความต้องการครองความเป็นเจ้า
               สอง คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งอเมริกากลัวว่า จะมาแข่งกับอเมริกา
               สาม คือ การป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชีย รวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ
               สี่ คือ เรื่องผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจต่อภูมิภาค
               ในสมัยสงครามเย็น สหรัฐดำเนินยุทธศาสตร์การต่อต้านคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในช่วงสงครามเย็น เป็นไปในลักษณที่ ไทยเป็นพันธมิตรกับอเมริกาอย่างเต็มที่
               แต่พอสงครามเย็นสิ้นสุดลง เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในภูมิภาคได้เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยมีการผงาดขึ้นมาของ 3 ผงาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่ง ต่อภูมิภาคและต่อสหรัฐ
               ผงาดที่หนึ่ง คือ การผงาดขึ้นมาของจีน (the rise of China)
               ผงาดที่สอง คือ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย (the rise of Asia) เอเชียกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก ขณะนี้ เราก็เห็นชัดว่า จีนกำลังผงาด เกาหลี อินเดีย อาเซียน ญี่ปุ่น ก็อยู่ในเอเชียหมด
               ผงาดที่สาม คือ การผงาดขึ้นมาของอาเซียน (the rise of ASEAN)
               เพราะฉะนั้น ในเอเชียมีแต่ the rise มีแต่การผงาดขึ้นมา ตรงข้ามกับตะวันตก เราจะไม่ได้ยิน the rise of America เพราะว่าไม่มีแล้ว มีแต่ the decline of America การเสื่อมลงหรือการตกต่ำลงของสหรัฐ และเราก็ไม่ได้ยิน the rise of Europe เพราะไม่มีแล้ว มีแต่ the decline of Europe
นี่คือบริบทที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ซึ่งกระทบต่อทุกประเทศ ทั้งต่อสหรัฐฯ ต่อไทย ต่ออาเซียน แนวโน้มใหญ่นี้คือ เอเชียกำลังเป็นช่วงขาขึ้น ในขณะที่ตะวันตกกำลังเป็นช่วงขาลง
เพราะฉะนั้น ด้วยบริบทดังกล่าว ทำให้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนจึงกระชับแน่นแฟ้น อย่างรวดเร็ว ตอนนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย เรื่องการท่องเที่ยว การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนน รถไฟ จีนมาแรงมาก ความสัมพันธ์ไทย-จีน ก็ใกล้ชิดแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ
จากพัฒนาการเหล่านี้ ทำให้สหรัฐฯกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆว่า อิทธิพลของตนในภูมิภาค กำลังจะเสื่อมลง และอเมริกาจะไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งอีกต่อไป สหรัฐไม่ได้เป็นคู่ค้า นักลงทุน นักท่องเที่ยว และไม่มีบทบาทในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในภูมิภาค ตัวแสดงหลักกลายเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี
เพราะฉะนั้น ในสมัยรัฐบาลโอบามา ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา อเมริกาได้วิเคราะห์สถานการณ์ และได้ข้อสรุปที่ว่า จะต้องรีบปรับนโยบายและปรับยุทธศาสตร์ใหม่ต่อเอเชีย นั่นคือที่มาของยุทธศาสตร์ pivot to Asia หรือ rebalancing และเป็นที่มาของการที่อเมริกากำลังจะกลับเข้ามาในภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะคงสถานะการเป็นเจ้าของตนไว้ และเพื่อที่จะมาแข่งกับจีน เพราะต่อไป เอเชียจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก อเมริกามองข้ามไม่ได้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอเมริกาอยู่ที่เอเชีย
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2009 เริ่มเห็นชัดว่า อเมริกาพยายามจะกลับมา ด้วยการมีการประชุมสุดยอดกับอาเซียนครั้งแรก ในช่วงปลายปี 2009 อเมริกาได้พยายามเต็มที่ ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน อเมริกามองข้ามอาเซียนไม่ได้แล้ว เพราะอาเซียนกำลังผงาดเช่นเดียวกัน อาเซียนกลายเป็นกลุ่มประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค GDP ของ 10 ประเทศรวมกัน มีมูลค่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 9 ของโลก และในอนาคต ประชาคมอาเซียนจะมี GDP เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะฉะนั้น อาเซียนกำลังผงาด อเมริกามองข้ามไม่ได้ จึงต้องเดินสายมาอาเซียนอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้นำประเทศ โอบามาก็มาประชุมสุดยอดกับอาเซียนทุกปี รัฐมนตรีต่างประเทศก็ต้องมา ลงมาถึงระดับล่าง อย่างนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศก็ต้องมา  
สำหรับไทย ในขณะที่สหรัฐกำลังกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้น ในสมัยรัฐบาลโอบามา ตั้งแต่ปี 2009 แต่ก็พอดีเป็นช่วงที่ไทยกำลังตกต่ำ กำลังวุ่นวาย เสื้อเหลืองเสื้อแดงเต็มไปหมด ปี 2009 เป็นช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เจอเสื้อแดง ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ มาเป็นรัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ก็วุ่นมาตลอด พอเกิดรัฐประหาร ปี 2006 สหรัฐได้หยุดความสัมพันธ์กับไทย เพราะเป็นกติกาที่สหรัฐจะไม่เจรจากับรัฐบาลทหาร พอปี 2007 มีการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย แต่ก็มีปัญหาอีก คือมีการชุมนุมของเสื้อเหลือง แล้วเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็มาเจอเสื้อแดง ในช่วงนี้ อเมริกาก็ไม่รู้ว่าจะติดต่อกับใคร เพราะวุ่นวายตลอด ไทยได้เสียสถานะในการเป็นประตูสู่อาเซียน เป็นประตูสู่อินโดจีน เป็นประตูสู่ภูมิภาค ที่อเมริกาได้มาปักหมุดตรงนี้ไว้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเสียสถานะนี้ไป สหรัฐใช้วิธีย้ายไปที่อื่น เมื่อไทยหมดสภาพ สหรัฐก็ไปหาอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯจึงจืดจางลงเรื่อยๆ เพราะปัญหาการเมืองของเรา ซึ่งวุ่นวายไม่จบ หลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ มาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็กลับมาวุ่นวายหนักขึ้นอีก จนนำไปสู่การทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว
เมื่อเกิดรัฐประหารปีที่แล้ว แน่นอนว่า อเมริกาต้องเล่นตามเกม คือต้องประณามการทำรัฐประหารและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร ต้องลดระดับความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกติกาของสหรัฐอยู่แล้ว และทำมาโดยตลอด และส่งสัญญาณให้ไทย เดินหน้ากลับคืนสู่ประชาธิปไตย และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
แต่รัฐบาลทหารในครั้งนี้ ต่างจากในอดีต เพราะคราวนี้ดูจะไม่รีบร้อน ไม่รีบเลือกตั้ง รัฐบาลทหารคงได้บทเรียนจากรัฐประหารปี 2006 ครั้งนี้เลยจะใช้เวลานานในการร่างรัฐธรรมนูญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูป
รัฐบาลปัจจุบันได้ตัดสินใจหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เป็นการตัดสินใจแบบเด็ดขาด โดยเฉพาะยิ่ง ในเรื่องการทูต ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา การทูตไทยในอดีต จะเน้นการเดินสายกลาง “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น” โดยพยายามมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ในครั้งนี้ ดูเหมือนกับว่า อเมริกาจะกดดันไทยอย่างหนัก นอกจากนี้ ไทยก็คงจะเห็นว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว จากระบบขั้วอำนาจเดียว กำลังจะเปลี่ยนเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ที่ได้มีอำนาจและบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ดังนั้น จะเห็นว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามเข้าหาจีน และมีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว มีข้อสรุปอย่างรวดเร็ว ในเรื่องของการที่จีนจะเข้ามาช่วยสร้างทางรถไฟ เชื่อมจากกรุงเทพฯไปถึงเวียงจันทน์ และทะลุไปถึงคุนหมิง
หลังจากนั้น ญี่ปุ่น ซึ่งคงเห็นแล้วว่า จีนกำลังทำอะไรอยู่ ญี่ปุ่นจึงน่าจะคิดว่า จะต้องรีบเข้ามาหาไทยเพื่อที่จะไม่เพลี่ยงพล้ำต่อการรุกคืบของจีน ญี่ปุ่นจึงเสนอว่า อยากจะมาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เรา  ไทยจึงเสนอให้ญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ลังเลอยู่พักใหญ่ ให้เข้ามาช่วยสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย และสร้างถนน และทางรถไฟ เชื่อมจากทวายมากาญจนบุรี ผ่านกรุงเทพไปถึงกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งเรียกว่าระเบียงเศรษฐกิจใต้ หรือ southern economic corridor รวมทั้งเส้นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ east-west economic corridor จากเมียวดีมาแม่สอด พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร สะหวันนะเขต ไปถึงดานัง
หลังจากนั้นเกาหลีก็สนใจ และพยายามติดต่ออยากจะเข้ามามีบทบาทในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ไทย
รัสเซียก็เริ่มขยับเข้ามา ในการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทยมากขึ้น รัสเซียขณะนี้มีปัญหากับสหรัฐฯและตะวันตก ในเรื่องยูเครน รัสเซียต้องการหาพันธมิตร เพราะถูกตะวันตกปิดล้อม ไทยก็ต้องการหาพันธมิตร เพราะกำลังถูกสหรัฐฯกดดัน ก็เลยมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ขณะนี้ ไทยจึงเน้นเข้าหาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย และอาเซียนด้วย
จะเห็นได้ว่า ประเทศในเอเชียไม่ได้มีปัญหากับเรา และแยกออกระหว่างเรื่องการเมืองภายในและเรื่องการต่างประเทศ
พลเอก ประยุทธ์ฯ ในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ประชุมสุดยอด APEC ประชุมสุดยอด ASEM ได้พบปะกับผู้นำยุโรป ผู้นำอาเซียน ผู้นำของประเทศมหาอำนาจต่างๆ
เพราะฉะนั้น การยอมรับในรัฐบาลชุดนี้ ก็มีในระดับหนึ่ง จากการที่ประเทศต่างๆ ในเอเชีย พยายามที่จะเข้ามาติดต่อกับเรา และเราก็พยายามที่จะติดต่อกับประเทศเหล่านี้

(โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 ซึ่งจะวิเคราะห์การต่างประเทศของไทยปี 2015 (ตอนที่ 2) : ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐปี 2015 นี้)


วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การต่างประเทศของไทยปี 2015 (ตอนที่1)

              คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์การต่างประเทศของไทยในอนาคต ซึ่งสำหรับตอนที่ 1 นี้ จะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ โดยเฉพาะไทยกับสหรัฐ ส่วนตอนต่อๆไป จะวิเคราะห์บทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุทธศาสตร์ของไทยต่ออาเซียน และความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
               ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
               ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ เรื่องสำคัญในปีนี้คือ ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐ
               เราไม่ควรมองเฉพาะช่วงสั้นๆ เราควรจะมองในภาพใหญ่ เพราะฉะนั้น จะแบ่งได้ 2 ช่วง
               ช่วงแรกคือ การแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยเน้นการกลับไปมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจตะวันตก ตอนนี้เรามีปัญหากับมหาอำนาจตะวันตก  ส่วนมหาอำนาจในเอเชีย ไม่มีปัญหากับเรา คือ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย จะมีปัญหาแต่เฉพาะกับอเมริกาและยุโรป ที่พยายามที่จะชูธงประชาธิปไตย ซึ่งไทยต้องพยายามอธิบายให้ประเทศตะวันตกเข้าใจ
               สำหรับสหรัฐ ตอนนี้เฉยๆ กับเรา ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์อะไรมากมายกับเรา โดยนโยบายของสหรัฐอเมริกาคือ ไทยจะต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อน เขาถึงจะมาคุยกับเรา เราก็จะต้องเดินหน้าต่อพยายามประคับประคอง อย่างที่รัฐบาลทำตอนนี้มาถูกทางแล้ว คือ เราพยายามไปมีปฏิสัมพันธ์ ไปร่วมประชุม อย่างการประชุม ASEAN หรือ APEC นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปเจอประธานาธิบดีโอบามา หรือไปประชุม ASEM ที่ยุโรป ก็ได้ไปเจอผู้นำยุโรป
               นี่น่าจะเป็นมาตรการในระยะสั้นในช่วงนี้ แต่ว่าไทยจะไม่อยู่อย่างนี้ไปตลอดกาล โจทย์ใหญ่สำคัญของไทย น่าจะเป็นโจทย์ในระยะยาวมากกว่าว่า เราจะมีนโยบายอย่างไรต่อมหาอำนาจต่างๆ ที่พยายามแข่งขันกัน ในการมีอิทธิพลในภูมิภาค
               อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหารปีที่แล้ว สหรัฐได้ลดระดับความสัมพันธ์กับไทย และตัดความช่วยเหลือบางเรื่อง อาทิ ความช่วยเหลือทางทหาร การดำเนินมาตรการกดดันไทยดังกล่าวของสหรัฐ เป็นการผลักให้ไทยไปสนิทกับจีนมากขึ้น
               ความสัมพันธ์ไทยกับจีน มีความใกล้ชิดกันมานาน และมีแนวโน้มว่า ไทยจะใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น เพราะว่าจีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในระดับโลกและระดับภูมิภาค คือมีแนวโน้มว่า เราจะไปใกล้ชิดจีนอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ในตอนนี้บีบให้เราเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ที่ผ่านมา จีนเองก็อ่านเกมออก ทูตจีนน่าจะเป็นทูตคนแรกที่เข้าพบหัวหน้า คสช. จีนรีบมาตีสนิทกับเรา เห็นใจเรา เข้าใจประเทศไทยว่า เราอยู่ในช่วงใด ดังนั้น สถานการณ์ในขณะนี้ จึงทำให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีรัฐประหาร ไทยก็มีแนวโน้มว่า จะเข้าไปใกล้ชิดกับจีนอยู่แล้ว
               ตอนนี้สหรัฐจึงตกอยู่ในสภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ภาษาอังกฤษเรียกว่า dilemma ไม่รู้จะเอาอย่างไรดี ใจหนึ่งก็อยากจะมาตีสนิทกับไทย มาตีสนิทกับอาเซียน เพื่อที่จะแข่งกับจีน แต่อีกใจหนึ่งสหรัฐก็มีกติกาและหลักการว่าจะต้องส่งเสริมประชาธิปไตย จะต้องตอบโต้การทำรัฐประหาร อเมริกาจึงตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ ซึ่งผมคิดว่า สหรัฐคงรู้ดีว่า จะบีบไทยมากไม่ได้ และเห็นชัดว่า ในระยะหลังๆ อเมริกาเริ่มพยายามจะกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย
               ไทยเป็นตัวแสดงที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเป็นพันธมิตรกับอเมริกามายาวนานตั้งแต่สมัยสงครามเย็น เพราะไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เราอยู่ตรงกลางของภูมิภาค เหมือนเราเป็นศูนย์กลางหรือเป็นประตูสู่อาเซียน เราเล่นบทบาทนี้มาตลอด เราเป็นตัวแสดงหลักและมีบทบาทนำ พูดง่ายๆ ว่าไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่า ทำไมประเทศไทยถึงมีสถานทูตมาตั้งอยู่มากมาย และทำไมสถานทูตสหรัฐฯในไทยจึงเป็นสถานทูตที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในโลก และทำไมสถานทูตญี่ปุ่นในไทยจึงเป็นสถานทูตที่มีเจ้าหน้าที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เราเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มหาอำนาจจึงมองข้ามเราไปไม่ได้
               และด้วยบริบทดังกล่าวข้างต้น ผมจึงคาดเดาในตอนแรกว่า การเยือนไทยของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว น่าจะมีเป้าหมายหลักเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐ และเพื่อกลับมาแข่งกับอิทธิพลของจีนที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสหรัฐน่าจะมีท่าทีที่อ่อนลง และน่าจะเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาลชุดนี้
               อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการคาดเดาที่ผิดเพราะในระหว่างการเยือนไทย นายรัสเซล กลับกล่าวสุนทรพจน์โจมตีรัฐบาลหลายเรื่อง เช่นเรื่องการใช้กฎอัยการศึก และความล่าช้าในการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ ในจุดยืนของสหรัฐเช่นนั้น แต่ที่ผมคิดว่า เป็นการล้ำเส้น คือการกล่าวโจมตีกระบวนการถอดถอนว่า ไม่โปร่งใสและมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝง นอกจากนั้น การพบปะกับยิ่งลักษณ์ ก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในเชิงลบจากหลายฝ่ายต่อการเยือนไทยของนายรัสเซลในครั้งนี้ ซึ่งผมมองว่า หากจุดมุ่งหมายหลักของการเยือนไทยคือ การปรับปรุงความสัมพันธ์ ก็ถือว่า ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ถือเป็นการเดินเกมที่ผิดพลาดอีกครั้งของสหรัฐ ผลของการเยือนไทยในครั้งนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐกลับย่ำแย่มากขึ้น และยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ไทย ต้องเข้าหาจีนเร็วขึ้น และเข้มข้นมากขึ้น
               ดังนั้น แนวโน้มความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐในอนาคต จะดำเนินไปในทิศทางใด
               ผมคิดว่า ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในอนาคต ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
               ปัจจัยแรก คือปัจจัยภายในของไทย ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงภายในของไทยว่า เราจะเดินหน้ากันไปอย่างไร แต่ถ้าตาม roadmap ก็จะมีกระบวนการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะมีการเลือกตั้ง หากเป็นไปตามนี้ จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูดีขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อเมริกาจะกลับมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทยอีกครั้ง
               ปัจจัยที่สอง คือปัจจัยที่เกี่ยวกับบทบาทของจีน ขึ้นอยู่กับว่า จีนจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต โดยไทยมีแนวโน้มที่จะใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น
               ปัจจัยที่สาม  คือปัจจัยภายในอเมริกา แม้ว่าอเมริกาจะมียุทธศาสตร์ rebalancing พยายามที่จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค แต่ว่าขณะนี้ การเมืองภายในอเมริกา อยู่ในช่วงของการ “แผ่ว” ของรัฐบาลโอบามาในช่วง 2 ปีสุดท้าย พรรคเดโมแครตตอนนี้สูญเสียที่นั่งข้างมากในสภาคองเกรส ดังนั้น การดำเนินนโยบายของโอบามาจะมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ยุทธศาสตร์ rebalancing หรือ pivot ที่จะกลับมามีบทบาทโดดเด่นในภูมิภาค จะทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ช่วง 2 ปีนี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในปี 2016 ช่วงนี้ จะเป็นช่วงที่ไม่มีอะไรโดดเด่น หวือหวา หรือเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ แต่จะเป็นลักษณะของการประคองไปเรื่อยๆ ในแง่ของบทบาทอเมริกาในภูมิภาค ดังนั้น เราจะดูอีกทีคืออีก 2 ปีข้างหน้า ใครจะมา ถ้าเป็นเดโมแครตมา จะเป็นแบบนี้ต่อไป แต่ถ้าเป็นรีพับลิกันชนะการเลือกตั้งคราวหน้า ซึ่งมีแนวโน้มสูง การเมืองอเมริกาจะเปลี่ยนขั้ว ถ้าเป็นรีพับลิกันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อเอเชียครั้งใหญ่
               และปัจจัยที่สี่ คือการเสื่อมถอยของอำนาจอเมริกา เป็นปัจจัยระดับมหภาค อำนาจของอเมริกากำลังลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจทางทหารและด้านอื่นๆ ด้วย ในระยะยาว จะไม่มี the rise of US แล้ว จะมีแต่ the rise of Asia, the rise of China และ the rise of ASEAN
               ดังนั้นแนวโน้มในระยะยาว จะยากขึ้นเรื่อยๆที่สหรัฐจะประคับประคองสถานะในการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกต่อไป  โดยสหรัฐอาจจะประคองไปได้อีกหลายสิบปี แต่สหรัฐจะไม่สามารถ dictate หรือกำหนดทิศทาง หรือบีบให้ประเทศอื่นทำอย่างที่สหรัฐต้องการได้ง่ายๆ
                การเสื่อมถอยของอเมริกา จะส่งผลกระทบต่อบทบาทของอเมริกาในภูมิภาคในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐด้วย ซึ่งหมายความว่า ในระยะยาว แม้ว่าตอนนี้ไทยจะบอกว่า เราจะไม่เลือกข้าง ไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐและจีน เราจะยืนอยู่ตรงกลาง แต่ว่าถ้าดูจากแนวโน้มต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ในระยะยาว ไทยจะเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และจะออกห่างจากอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ  

โปรดติดตามอ่าน “การต่างประเทศของไทยปี 2015 (ตอนที่ 2)”  ในคอลัมน์กระบวนทัศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 19  กุมภาพันธ์ 2558