Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Eurozone กำลังจะล่มสลายหรือไม่?

Eurozone กำลังจะล่มสลายหรือไม่?

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 2 – วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2554

วิกฤตหนี้ Eurozone กำลังเป็นปัญหาเข้าขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ จนอาจถึงขั้นล่มสลาย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แนวโน้มว่า Eurozone กำลังจะล่มสลายหรือไม่

แนวโน้มการล่มสลายของ Eurozone

วิกฤต Eurozone ในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบปัญหาหนี้สิน ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส แต่ต่อมา สถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่สเปนและอิตาลี โดยที่ผ่านมา ได้มีความพยายามกอบกู้วิกฤต ทั้งในกรอบของ EU IMF และ G20 แต่ก็ยังๆไม่มีความแน่นอนว่า กลไกเหล่านี้จะสามารถกอบกู้วิกฤตได้หรือไม่ โอกาสที่วิกฤตจะลุกลามบานปลาย จนนำไปสู่การล่มสลายของ Eurozone ก็มีความเป็นไปได้ โดยปัจจัยสำคัญๆ ที่จะนำไปสู่การล่มสลายของ Eurozone มีดังนี้

• นักลงทุน : ขณะนี้ ความหวาดวิตกของนักลงทุนต่อการแตกสลายของ Eurozone ทำให้เกิดสภาวะการแตกตื่น หรือ panic โดยได้มีการถอนเงินออกจากประเทศที่มีปัญหาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

• ธนาคาร : สถานะของธนาคารในยุโรปกำลังย่ำแย่อย่างหนัก ทั้งนี้ จากที่ได้กล่าวข้างต้น คือ เกิดจากการแตกตื่น ถอนเงินออกจากธนาคารเป็นจำนวนมาก ตลาดระหว่างธนาคารอยู่ในภาวะตึงเครียด โดยธนาคารเป็นจำนวนมากไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้กันและกัน ซึ่งในที่สุด อาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่จะหนักกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 แม้ว่า การประชุมสุดยอด Eurozone ในเดือนตุลาคม จะได้ออกมาตรการที่จะให้ธนาคารในยุโรปเพิ่มทุนจำนวน 1 แสนล้านยูโร ภายในเดือนมิถุนายน ปี 2012 แล้วก็ตาม แต่การเพิ่มทุนดังกล่าว อาจจะไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยุโรปได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีปัญหา คือ กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี เป็นเงินรวมกว่า 4 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งหากรัฐบาลเหล่านี้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารต่างๆก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

• ประเทศสมาชิก : อาจจะมีบางประเทศถอนตัวออกจาก Eurozone โดยกรีซอาจถูกกดดันให้ถอนตัวออกจาก Eurozone แม้ว่า ในการประชุมสุดยอด Eurozone จะได้มีข้อตกลงกับธนาคารต่างๆ ที่จะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า เอาเข้าจริงๆแล้ว ธนาคารเหล่านี้จะยอมยกเลิกหนี้ให้จริงๆหรือไม่

นอกจากนี้ ประเทศที่น่าเป็นห่วง คือ อิตาลี และสเปน ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หากผิด
นัดชำระหนี้ จะส่งผลกระทบต่อ Eurozone เป็นอย่างมาก กองทุน EFSF แม้จะมีความพยายามเพิ่มเงินเข้าไปเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ หากวิกฤตลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน

โดยสถานการณ์ล่าสุดของสเปนนั้น แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน และพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง คือ People’s Party จะมีนโยบายปฏิรูปและลดการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่สถานการณ์ของสเปนกลับเลวลง โดยค่าให้จ่ายในการกู้ยืมเงินของประเทศกลับสูงขึ้น

สำหรับอิตาลี ที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ Eurozone แต่มีหนี้สูงถึง 2.6 ล้านล้านเหรียญ หากอิตาลีผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลาย จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ถึงแม้ว่า ล่าสุดจะได้มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ Mario Monti แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น และที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ ภายในเดือนมกราคม ปีหน้า อิตาลีจะต้องจ่ายเงินสำหรับพันธบัตรรัฐบาล เป็นเงินประมาณ 40,000 ล้านเหรียญ ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีเงินจ่าย ก็จะทำให้อิตาลีประสบกับภาวะผิดนัดชำระหนี้

นอกจากนี้ ขณะนี้ สถานการณ์ดูจะลุกลามบานปลายเข้าสู่เบลเยียมและฝรั่งเศสแล้ว เพราะทั้ง 2 ประเทศ มีค่าใช้จ่ายในการกู้ยืม หรือ borrowing costs สูงขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น โอกาสของการเกิด domino effect คือ การแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้ จากกรีซไปสู่
ประเทศอื่นๆ ก็ยังมีสูง โดยหากกรีซล้มละลาย โปรตุเกสและไอร์แลนด์ก็จะล้มละลายตาม และจะส่งผลกระทบต่อสเปน อิตาลี และ ฝรั่งเศส ด้วย

• ปัจจัยอีกประการที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง คือ การที่รัฐบาลประเทศต่างๆ
จะต้องมีมาตรการรัดเข็มขัด และการล่มสลายของความเชื่อมั่น ทั้งจากภาคธุรกิจ และจากผู้บริโภค จะนำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของยุโรป ในปี 2012 ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่า “วงจรอุบาทว์” คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ทำให้หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้น และประชาชนจะต่อต้านมาตรการปฏิรูปและรัดเข็มขัดมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนแตกตื่นมากขึ้น และจะถอนเงินออกจากระบบธนาคารมากขึ้นด้วย

• กลไกกอบกู้วิกฤต : ที่ผ่านมา EU IMF และ G20 ได้พยายามออกมาตรการกอบกู้วิกฤต แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ EU ไม่สามารถผลักดันมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ กองทุน EFSF แม้จะมีการเพิ่มเงินเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ก็ไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับบทบาทของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งไม่สามารถเล่นบทบาทเป็นเหมือน IMF ได้ คือ บทบาทที่เราเรียกว่า แหล่งผู้ให้กู้รายสุดท้าย (lender of last resort) ดังนั้น หากกลไกเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ Eurozone ก็อาจแตกสลายลงไปได้

ผลกระทบ

ดังนั้น หาก Eurozone ล่มสลาย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ดังนี้

• การล่มสลายของ Eurozone จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างมาก โดยน่าจะรุนแรงกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008

• EU และ Eurozone ถือเป็นภูมิภาคที่มีบูรณาการทางการเงินที่เข้มข้นที่สุดในโลก ก็อาจจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยสภาวะการผิดนัดชำระหนี้ และการล้มละลายของธนาคารต่างๆ

• การแตกสลายของ Eurozone จะทำให้ประเทศสมาชิก Eurozone เดิมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 จะเป็นสมาชิกที่อยู่ทางเหนือของยุโรป ซึ่งอาจจะยังคงมีการบูรณาการกันได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่ 2 คือประเทศสมาชิกทางตอนใต้ ซึ่งคงจะแตกออกจาก Eurozone อย่างสิ้นเชิง

• การล่มสลายของ Eurozone จะถือเป็นความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของบูรณาการทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยผลกระทบของการล่มสลายของ Eurozone จะทำให้ค่าเงินผันผวนอย่างมาก และอาจจะกระทบต่อตลาดร่วมยุโรป และในที่สุด อาจจะกระทบต่อการคงอยู่ของ EU ในระยะยาวด้วย

• สุดท้าย แน่นอนว่า การล่มสลายของ Eurozone จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ great depression คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งใหม่ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี

ไม่มีความคิดเห็น: