Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

จุดอันตรายน้ำมันโลก

จุดอันตรายน้ำมันโลก
พิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

ในขณะที่วิกฤติราคาน้ำมันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาที่จะมากระทบต่ออุปทานน้ำมันและแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์ถึงจุดอันตราย ที่จะส่งผลกระทบต่อวิกฤติราคาน้ำมัน ดังนี้

รัสเซีย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัสเซียได้ผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังงานของโลก โดยรัสเซียได้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก และด้วยความร่ำรวยที่ได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินี้เอง ที่ทำให้รัสเซียกำลังผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจในโลกอีกครั้ง และได้มีความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างล่าสุดคือการใช้กำลังทหารบุกจอร์เจีย

แต่ตะวันตกก็กำลังมองรัสเซียว่า กำลังใช้ไพ่พลังงาน เป็นอาวุธในการ black mail ประเทศต่างๆ โดยจะเห็นได้จากการตัดการส่งก๊าซต่อยูเครนและต่อประเทศยุโรปตะวันตก เมื่อไม่นานมานี้ รองประธานาธิดีสหรัฐ ดิก เชนีย์ ก็ได้กล่าวโจมตีรัสเซียในเรื่องนี้อย่างรุนแรง และสหรัฐก็มีแผนที่จะสร้างพันธมิตรทางพลังงาน เพื่อต่อต้านรัสเซีย

Caucasus และทะเลสาบ Caspian

จุดอันตรายอีกจุดหนึ่งคือ บริเวณเทือกเขา Caucasus และทะเลสาบ Caspian ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล คาซักสถานและอาเซอร์ไบจานก็กำลังกลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคดังกล่าว โดยเฉพาะระหว่างรัสเซียและจอร์เจีย เบลารุส เติร์กเมนิสถาน และยูเครน มีผลประโยชน์มากมายมหาศาลในภูมิภาค ทั้งในแง่ของผู้ผลิต ผู้ลำเลียงขนส่ง และผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคดังกล่าวก็อ่อนไหวและเปราะบางต่อการที่รัสเซียจะเข้าครอบงำ

สงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียในขณะนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะในประเด็นแผนการสร้างเครือข่ายท่อส่งน้ำมันจากทะเลสาบ Caspian และเอเชียกลาง มายังเมดิเตอร์เรเนียน โดยไม่ผ่านรัสเซีย โดยมีแผนที่จะเชื่อมคาซักสถานกับท่อส่งน้ำมัน Baku Tbilisi Ceyhan (BTC) ซึ่งเป็นท่อส่งน้ำมันจากเมือง Baku ในอาเซอร์ไบจาน ผ่านจอร์เจีย ไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในตุรกี ซึ่งสามารถขนส่งน้ำมันได้ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สงครามรัสเซีย-จอร์เจียในครั้งนี้ รัสเซียพยายามโจมตีโรงงานพลังงานที่เกี่ยวข้องกับท่อส่งน้ำมัน BTC รัสเซียต้องการที่จะทำลายแผนการของจอร์เจีย ที่จะทำให้จอร์เจียเป็นประเทศทางผ่านน้ำมัน จากทะเลสาบ Caspianไปสู่ตลาดในยุโรป ซึ่งจะทำให้ยุโรปพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียน้อยลง

การแข่งขันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างตะวันตก สหรัฐ รัสเซีย และจีน ในเอเชียกลาง Caucasus และทะเลสาบ Caspian กำลังเกิดขึ้น สำหรับรัสเซียต้องการขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคดังกล่าว เพื่อตักตวงผลประโยชน์ทางด้านน้ำมันและก็าซธรรมชาติ สำหรับจีนก็ต้องการขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชียกลาง และต้องการเข้าถึงแหล่งพลังงานสำรองในทะเลสาบ Caspian ในขณะที่ตะวันตกและสหรัฐก็มีความหวาดระแวงต่ออิทธิพลของรัสเซียและจีน โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐคือ การป้องกันไม่ให้จีนและรัสเซีย เข้ามาแย่งแหล่งพลังงานน้ำมันในแถบทะเลสาบ Caspian จากสหรัฐ

ความวุ่นวายและความรุนแรงที่เกี่ยวกับท่อส่งน้ำมัน ในอนาคตอาจกลายเป็นประเด็นหลักด้านความมั่นคง โดยกองกำลังทหารของมหาอำนาจต่างๆ อาจมีภารกิจหลักเพื่อปกป้องคุ้มครองท่อส่งน้ำมัน

ช่องแคบ Hormuz

จุดอันตรายน้ำมันโลกอีกจุดหนึ่งคือ ช่องแคบ Hormuz ซึ่งช่วงที่แคบที่สุด มีระยะทางเพียง 21 ไมล์ จึงถือได้ว่าเป็นช่องแคบที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะช่องแคบดังกล่าวเป็นช่องทางเดินเรือของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก อาทิ ซาอุดิอาระเบีย อิรัก คูเวต โอมาน และอิหร่าน
อ่าวเปอร์เชีย มีปริมาณน้ำมันสำรองถึง 60 % ของโลก และปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองถึง 40 % และ 40 % ของน้ำมันที่ค้าขายในโลกถูกลำเลียงผ่านช่องแคบนี้

ในระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ในช่วงทศวรรษ 1980 การขนส่งน้ำมันลดลงถึง 25 % เพราะมีการโจมตีเรือขนส่งน้ำมัน ในระหว่างสงคราม ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปัจจุบัน กำลังเป็นเป็นห่วงกันมาก เพราะอิหร่านได้ประกาศกร้าวว่า จะโจมตีปิดช่องแคบ Hormuz หากโรงงานพลังงานนิวเคลียร์อิหร่านถูกโจมตีจากฝ่ายตะวันตก
นอกจากนี้ ทั้งจีนและอินเดีย ซึ่งกำลังกลายเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ก็ต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ผ่านช่องแคบ Hormuz และมหาสมุทรอินเดีย จึงมีแนวโน้ม ที่ทั้งจีนและอินเดีย จะพัฒนากองทัพเรือของตน เพื่อปกป้องเส้นทางการลำเลียงน้ำมันผ่าน ช่องแคบ Hormuz

ไนจีเรีย

จุดอันตรายน้ำมันโลกอีกจุดคือ ไนจีเรีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 5 ให้แก่สหรัฐ แต่เนื่องด้วยมีความไม่สงบและมีความวุ่นวายทางการเมือง จึงทำให้การผลิตน้ำมันลดลง และตกอันดับจากผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 8 ของโลกเป็นอันดับ 12
ตั้งแต่ปี 2005 การผลิตน้ำมันก็ลดลงเกือบ 1 ใน 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกก่อวินาศกรรมโดยขบวนการก่อการร้าย ซึ่งมีทั้งการปิดโรงกลั่นน้ำมัน สังหารคนงาน ระเบิดท่อน้ำมัน และขโมยน้ำมัน

เวเนซุเอลา

ความร่ำรวยที่ได้จากการขายน้ำมัน ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมและต่อต้านสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศผู้ผลิตน้ำมันในละตินอเมริกา โดยเฉพาะเวเนซุเอลา โบลิเวีย และเอกวาดอร์ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่า รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ กำลังเจรจากับบริษัทน้ำมันต่างชาติ เพื่อที่จะให้บริษัทน้ำมันของรัฐ เข้าไปควบคุมกิจการ โดยเฉพาะกรณีของเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 9 ของโลก ก็ปรากฏว่า รัฐบาลเข้าไปควบคุมการผลิตน้ำมันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นโยบายชาตินิยมทางด้านพลังงานของประเทศเหล่านี้ ก็ได้ทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันและก๊าซลดน้อยลง ซึ่งในอนาคต จะทำให้การผลิตลดลง กระทบต่ออุปทานน้ำมันโลก

อิหร่าน

อิหร่านก็เป็นจุดอันตรายอีกจุด เพราะกำลังมีความขัดแย้งอย่างหนักกับสหรัฐ แต่อิหร่านก็เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับ 3 ของโลก สิ่งที่ชาวโลกกำลังกังวลกันก็คือ การเผชิญหน้าทางทหารโดยเฉพาะการโจมตีโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันของโลกเป็นอย่างมาก ในระยะหลังๆ ก็มีข่าวออกมาอยู่เรื่อยๆว่า อิสราเอลกำลังจ้องจะโจมตีอิหร่าน

อิรัก

อิรักมีน้ำมันสำรองเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่หลังจากสงครามตั้งแต่ปี 2003 การผลิตก็ตกต่ำลงไปมาก และโรงงานน้ำมันก็มักจะเป็นเป้าของการก่อวินาศกรรมอยู่เป็นประจำ จึงทำให้อิรักขณะนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะผลิตน้ำมันได้เท่ากับในช่วงทศวรรษ 1990 นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการเมืองก็ยังอยู่ในภาวะล่อแหลม และสงครามกลางเมืองก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก

อ่าวเม็กซิโก

จุดอันตรายสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึง คือ แหล่งพลังงานน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำคัญของสหรัฐ โดยเป็นแหล่งผลิตน้ำมันคิดเป็น 30% และผลิตก๊าซธรรมชาติ 20% ของการผลิตทั้งหมดของสหรัฐ แต่แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ก็ล่อแหลมจากการถูกถล่มโดยพายุ hurricane โดยในช่วงปี 2005 ภายหลังพายุ hurricane Katrina และ Ritaถล่ม ก็ทำให้การผลิตลดลงถึง 8 %