Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียปี 2554

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียปี 2554

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วันศุกร์ที่ 7-วันพฤหัสฯที่ 13 มกราคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ เป็นตอนต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคในปีนี้ ซึ่งจะมีเรื่องสำคัญๆ ที่จะต้องจับตามองดังนี้

จีน

สำหรับในปีนี้ ผมคิดว่า เรื่องที่น่าจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคมากที่สุด คือการผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆในภูมิภาค

ในปีนี้ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯอาจจะเข้าสู่จุดวิกฤติ ปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศขัดแย้งกันหลายเรื่อง ปีนี้ ความขัดแย้งอาจจะยืดเยื้อบานปลายต่อไป โดยความขัดแย้งอาจจะขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนกับสหรัฐฯขัดแย้งกัน คือ การผงาดขึ้นมาของจีน นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นอาจทรุดหนักลงเช่นเดียวกัน โดยประเด็นความขัดแย้ง คือ การอ้างสิทธิ์เหนือเกาะในทะเลจีนตะวันออก ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Sensaku ส่วนจีนเรียกว่า Diaoyu และมีแนวโน้มเช่นเดียวกันว่า จีนกับอินเดียอาจขัดแย้งกันมากขึ้น โดยความขัดแย้งจะลามไปหลายมิติ ทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางพรมแดน ความขัดแย้งในมหาสมุทรอินเดีย และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ

ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้พยายามขายไอเดียเรื่องการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise แต่จากท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนที่เพิ่มขึ้นหลายๆเรื่อง เริ่มทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของจีนหวั่นวิตก ซึ่งจะนำไปสู่การปรับนโยบายใหม่ต่อจีน และเราน่าจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในปีนี้ ส่วนมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ก็กำลังจะปรับนโยบายทางทหาร และมีแนวโน้มจะเพิ่มบทบาททางทหารมากขึ้นเพื่อปิดล้อมจีน ประเทศต่างๆในภูมิภาคก็มีแนวโน้มจะใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น เพื่อดึงสหรัฐฯเข้ามาถ่วงดุลทางทหารกับจีน

สหรัฐฯ

สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคเรื่องที่ 2 ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ยุทธศาสตร์ในเชิงรุกของสหรัฐฯ ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯในภูมิภาคคือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และยุทธศาสตร์การป้องกันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

ปีที่แล้ว เราได้เห็นสหรัฐฯ active มากเป็นพิเศษ โดยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ เช่นเวียดนาม และอินโดนีเซีย ในเวทีพหุภาคี สหรัฐฯก็ active มากเป็นพิเศษกับอาเซียน ในปีนี้ Obama จะเข้าร่วมประชุมสุดยอด EAS ที่อินโดนีเซีย เช่นเดียวกับเวที APEC สหรัฐฯกำลังรุกหนัก โดยเฉพาะการผลักดัน FTA ในกรอบ TPP ทางด้านทหาร สหรัฐฯก็ active มากเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการซ้อมรบกับพันธมิตรต่างๆในภูมิภาค และจุดประเด็นความขัดแย้งประเด็นหมู่เกาะสแปรตลีย์กับจีนอีกด้วย

เกาหลีเหนือ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคอีกเรื่องที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ คำถามสำคัญในปีนี้คือ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี จะลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามเกาหลีครั้งใหม่หรือไม่? คำตอบของผมคือ สงครามเกาหลีครั้งใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ความขัดแย้งน่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป เพราะไม่สามารถหาสูตรลงตัวที่จะเจรจากันได้ คือเกาหลีเหนือต้องการเจรจากับสหรัฐฯ โดยต้องการสนธิสัญญาสันติภาพ และหลักประกันความมั่นคงจากสหรัฐฯว่า จะไม่โจมตีหรือโค่นรัฐบาลเกาหลีเหนือ แต่สหรัฐฯก็ตั้งเงื่อนไขว่า จะเจรจาก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน ซึ่งเกาหลีเหนือไม่มีทางยอม ดังนั้น วิกฤติในคาบสมุทรเกาหลีจึงจะยังคงมีต่อไป โดยเราอาจจะเห็นเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 ทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล หรืออาจโจมตีเกาหลีใต้ครั้งใหม่

พม่า

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้คือ สถานการณ์ในพม่า คำถามสำคัญคือ อนาคตการเมืองพม่าจะเป็นอย่างไร? ผมมองว่ารัฐบาลใหม่ของพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง คือพรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้น ถึงแม้จะไม่โปร่งใส แต่ก็มีความชอบธรรมมากขึ้น ดังนั้น ในปีนี้ คาดว่า กระแสต่อต้าน แรงกดดัน และมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ น่าจะลดลง ส่วนเรื่องบทบาทของ อองซาน ซูจี นั้น ยังมีความไม่แน่นอนว่านางจะมีบทบาทอย่างไรต่อไป แต่ผมมองว่า การปล่อยตัวซูจีในครั้งนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักต่อการเมืองพม่า

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้คือ ข้อสงสัยว่า พม่ากำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ และเกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่? ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ดังนั้นแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้คือ กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้มีข่าวออกมาแล้วว่า ทาง IAEA ได้มีหนังสือถึงรัฐบาลพม่า เพื่อขอเข้าไปตรวจสอบ เราคงต้องจับตาติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่วิกฤติที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามในอนาคตได้ คือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์

ปีที่แล้ว สหรัฐฯได้จุดชนวนปัญหาครั้งใหม่ ในระหว่างการประชุม ARF ที่เวียดนาม ท่าทีของสหรัฐฯทำให้จีนไม่พอใจมาก หลังจากนั้น จีนได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนาม เรือรบและเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ได้จอดเทียบท่าที่เมืองดานัง และเวียดนามได้ประณามจีนในการส่งเรือรบเข้าไปในหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเวียดนามถือว่าเป็นของตน

เอเปค

สำหรับเวทีพหุภาคีในภูมิภาคในปีนี้ ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ เอเปค ปีที่แล้ว ในการประชุมสุดยอดเอเปค ที่ญี่ปุ่น สหรัฐฯได้ผลักดันเรื่องการจัดตั้งประชาคมเอเปค ซึ่งน่าจะเป็นการผลักดันขึ้นมาเพื่อแข่งกับประชาคมอาเซียน โดยประชาคมเอเปค หัวใจอยู่ที่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) และ Trans Pacific Partnership หรือ TPP ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯคือ การผลักดัน TPP ให้เป็นรากฐานของการจัดตั้ง FTAAP โดยเป้าหมายระยะยาวคือ การขยายสมาชิกของ TPP จาก 9 ประเทศ ออกไปให้ครอบคลุมประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปีนี้ สหรัฐฯจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดเอเปค ที่ฮาวาย และ TPP ก็คงจะเป็นไฮไลท์ ของการประชุมอย่างแน่นอน

อาเซียน

สำหรับเวทีพหุภาคีอีกเวทีที่ต้องจับตามอง คือ อาเซียน ขณะนี้ อาเซียนกำลังวุ่นอยู่กับ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ การจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้สำเร็จภายในปี 2015 เรื่องที่ 2 คือ การทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

ปีที่แล้ว เวียดนามเป็นประธานอาเซียน ก็ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม และได้มีความคืบหน้าหลายเรื่องในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน รวมทั้งความคืบหน้าในการทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

สำหรับในปีนี้ อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน อินโดนีเซียเคยมีบทบาทนำในอาเซียนมายาวนาน อินโดนีเซียมีความทะเยอทะยานที่จะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ดังนั้น คาดว่า อินโดนีเซียจะ active ในการเป็นประธานอาเซียน และน่าจะมีการผลักดันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งท้าทายอยู่อีกมาก ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถึงแม้จะคืบหน้าไปมาก แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี และเรื่องการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่วนประชาคมการเมืองความมั่นคง ยังมีปัญหากลไกสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการจัดตั้งกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคนั้น สิ่งท้าทายอาเซียนในปีนี้ คือการผลักดันให้กรอบอาเซียน+3 และ EAS พัฒนาไปอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ อาเซียนกำลังมีคู่แข่ง โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ซึ่งจะใช้เอเปค และ TPP มาเป็นคู่แข่งของอาเซียน ในการที่จะทำให้สหรัฐฯ เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคแข่งกับอาเซียน