Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐต่อเอเชียปี 2012




 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ฉบับวันที่ 14 มิถุนายน 2555

                เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Leon Panetta รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายทหารสหรัฐต่อเอเชียล่าสุดในระหว่างการประชุม Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว และยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐต่อภูมิภาคล่าสุด ดังนี้
                ภาพรวม
                สหรัฐตระหนักดีว่า ความมั่นคงและความมั่งคั่งของสหรัฐขึ้นอยู่กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้นเรื่อยๆ ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในโลก มีประชากรมากที่สุดในโลก และมีกองกำลังทหารมากที่สุดในโลกด้วย ด้วยแนวโน้มดังกล่าว เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า สหรัฐจะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ในลำดับสูงสุด โดยนโยบายทางทหารก็จะให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากที่สุด
                พันธมิตร
                สำหรับยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐที่สำคัญที่สุด คือ การกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับพันธมิตร โดยสหรัฐมีพันธมิตรหลักอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย
                ญี่ปุ่น: พันธมิตรระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น จะยังคงเป็นเสาหลักของความมั่นคงในภูมิภาค ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้มีการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร และได้มีการถ่ายโอนทหารบางส่วน จากโอกินาวาไปที่เกาะกวม สหรัฐมีนโยบายที่จะพัฒนาเกาะกวมให้เป็นศูนย์กลางและเป็นฐานทัพทางทหารในภูมิภาค
                เกาหลีใต้: เสาหลักของความมั่นคงในภูมิภาคอีกเสา คือ พันธมิตรระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ โดยสหรัฐจะยังคงกองกำลังทหารในเกาหลีใต้ต่อไป
                ออสเตรเลีย: ยุทธศาสตร์สหรัฐขณะนี้ จะมีการเคลื่อนย้ายกองกำลังทหารจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ การส่งกองกำลังทหารมาประจำการทางตอนเหนือของออสเตรเลียที่เมือง Darwin ซึ่งจะทำให้ทหารสหรัฐมีความคล่องตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย
                ไทย: สำหรับประเทศไทยซึ่งสหรัฐถือเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ จะมีการกระชับความร่วมมือทางการทหารมากขึ้น โดยที่ผ่านมา มีการซ้อมรบระหว่างไทยกับสหรัฐทุกปีภายใต้ชื่อ “COBRA GOLD” ซึ่งถือเป็นการซ้อมรบทางทหารที่มีความสำคัญในระดับโลก
                ฟิลิปปินส์: เมื่อเดือนที่แล้ว ได้มีการจัดประชุมเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมของฟิลิปปินส์กับรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมของสหรัฐ ซึ่งเรียกการประชุมว่า “2+2” สหรัฐจะให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือฟิลิปปินส์
                สิงคโปร์: อีกประเทศที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐในภูมิภาค คือ สิงคโปร์ ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐกับสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต โดยเฉพาะการที่สิงคโปร์จะเป็นท่าเรือสำคัญของเรือรบสหรัฐ
                นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารด้วย อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และนิวซีแลนด์ โดย Leon Panetta รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่สิงคโปร์ ก็ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามและอินเดียด้วย โดยเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกัน
                สถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค
                อีกยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐในภูมิภาค คือ ยุทธศาสตร์ต่อเวทีพหุภาคี โดยเฉพาะต่ออาเซียน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว Panetta ได้พบปะกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่บาหลี ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการหารือระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ สหรัฐสนับสนุนให้การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา หรือที่เรียกย่อว่า ADMM+ กระชับความร่วมมือทางทหารในระดับพหุภาคีมากขึ้น และสหรัฐก็สนับสนุนให้มีการประชุม ADMM+ บ่อยครั้งขึ้น
                สหรัฐเห็นว่าสถาบันในภูมิภาค ควรจะพัฒนาบรรทัดฐานที่ปกป้องสิทธิของทุกประเทศในเรื่องของเสรีภาพในการเดินเรือ ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงสนับสนุนอาเซียนกับจีนในการจัดทำ Code of Conduct เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
                สำหรับปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สหรัฐก็ติดตามอย่างใกล้ชิด จุดยืนของสหรัฐชัดเจน คือต้องการให้แก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการทูต หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง โดยเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ
                การเพิ่มสมรรถนะภาพทางทหารของสหรัฐ
                สหรัฐมียุทธศาสตร์ชัดเจนในการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารในภูมิภาค โดยมีแผนในช่วง 5 ปีข้างหน้าที่จะสร้างเรือรบรุ่นใหม่ 40 ลำ ในอนาคตจะมีการเพิ่มจำนวนและขนาดของการซ้อมรบในภูมิภาค และจะมีการเพิ่มการเยือนท่าเรือต่างๆของเรือรบสหรัฐ โดยภายในปี 2020 จะมีการปรับสัดส่วนกองทัพเรือของสหรัฐครั้งใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วน 50/50 เปอร์เซ็นต์ระหว่างกองกำลังในมหาสมุทรแปซิฟิกกับในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ในอนาคต สัดส่วนจะกลายเป็น 60% ในแปซิฟิก และ40% ในแอตแลนติก
                บทวิเคราะห์
·         ภาพรวม
                โดยรวมแล้ว ผมมองว่า การประกาศยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐในครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ที่น่าตื่นเต้น ส่วนใหญ่เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์เดิมๆของสหรัฐ แต่ที่สำคัญคือ แนวโน้มที่สหรัฐจะเพิ่มบทบาททางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ
                ผมมองว่า สหรัฐมียุทธศาสตร์ที่แท้จริงซึ่งเป็นวาระซ้อนเร้นที่ Panetta ไม่ได้ประกาศอยู่ 3 ยุทธศาสตร์หลักด้วยกัน ยุทธศาสตร์แรก คือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้าทางทหาร ยุทธศาสตร์ที่สองคือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางทหาร และยุทธศาสตร์ที่สามคือ การทำให้สหรัฐเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค
·         ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน
                สำหรับยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐคือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน  แม้ว่า Panetta จะไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ขณะนี้ China Factor กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนบทบาททางทหารของสหรัฐในภูมิภาค



·         พันธมิตรใหม่
                แนวโน้มอีกประการของยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐล่าสุด คือ การขยายพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วนออกไปจากเดิมที่มีแค่ 5 ประเทศโดยสหรัฐต้องการใกล้ชิดกับหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะ เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย
·         ไทย
                ซึ่งแนวโน้มการขยายพันธมิตรออกไป จะกระทบต่อสถานะการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยสหรัฐจะมีตัวเลือกมากขึ้น ไทยมีแนวโน้มจะมีความสำคัญต่อสหรัฐลดลง ไทยอาจตกชั้นจากพันธมิตรชั้น 1 และประเทศที่กำลังจะแทรกหน้าไทยในความใกล้ชิดกับสหรัฐ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย
                และด้วยบริบทที่สหรัฐกำลังต้องการเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค ประเด็นเรื่องที่สหรัฐจะมาใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติ รวมทั้งการที่องค์การ NASA จะขอมาใช้สนามบินอู่ตะเภาทำการศึกษาสำรวจภาวะอากาศนั้น จึงอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐในการเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค ประเด็นเรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า การที่ให้ NASA มาใช้สนามบินอู่ตะเภา จะกระทบต่อความมั่นคงของไทยและจะกระทบต่อความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและจีน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ได้ออกมายืนยันว่า การใช้สนามบินอู่ตะเภาของ NASAจะไม่กระทบต่อความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยของไทย
                ผมมองว่าในปัญหาเรื่องการใช้สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐในครั้งนี้ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึง dilemma ของไทยในความสัมพันธ์กับสหรัฐ โดยไทยกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก คือ หากเราไม่ร่วมมือทางทหารกับสหรัฐ สหรัฐก็จะไม่พอใจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐมีแนวโน้มลดความสำคัญไทยอยู่แล้ว ไทยจึงอาจจะถูกลดชั้นจากพันธมิตรชั้น 1 ได้ แต่หากไทยไปร่วมมือทางทหารกับสหรัฐมากเกินไป ก็อาจจะทำให้จีนไม่พอใจ จุดยืนทางการทูตของไทยที่ดำเนินมาตลอดคือ ดำเนินนโยบายสายกลางหรือนโยบาย ตีสองหน้า ที่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับจีนและสหรัฐ ไทยไม่ต้องการเลือกข้าง แต่แนวโน้มในอนาคต คือไทยจะถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะต้องเลือกข้าง ซึ่งก็จะเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของการทูตไทยในอนาคตว่า เราจะดำเนินการทูตแบบ ตีสองหน้าไปได้นานสักเพียงใด

วิกฤต Eurozone 2012


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2555

วิกฤตหนี้ของยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ใช้เงินยูโร 17 ประเทศ ที่เรียกว่า Eurozone นั้น เป็นปัญหาเข้าขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ โดยในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบภาวะหนี้สินได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ต่อมา วิกฤตได้ลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่  
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด กำลังมีความตื่นกลัวกันว่าปัญหาหนี้ของกรีซกำลังเข้าขั้นวิกฤตหนักโดยกรีซอาจจะตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย และอาจจะต้องถูกขับออกจาก Eurozone ซึ่งจะส่งผละกระทบเป็นอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจของยุโรป และเศรษฐกิจของโลกโดยรวม ขณะนี้หลายฝ่ายจึงจับตามองไปที่กรีซว่า วิกฤตจะพัฒนาไปในทางบวกหรือในทางลบอย่างไร
ภูมิหลังวิกฤตหนี้กรีซ
กรีซมีปัญหาทางการเงินมาตั้งแต่ก่อนเข้าร่วม Eurozone แต่หลังจากเข้าร่วม Eurozone และใช้เงินยูโรแล้ว รัฐบาลกรีซก็ใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาล โดยมีการขึ้นเงินเดือนบุคลากรภาครัฐกว่า 50 % ในช่วงปี 1999 -2007 รัฐบาลได้มีการใช้จ่ายเงินเกินตัวมาโดยตลอด และเกิดการขาดดุลงบประมาณมหาศาล จนเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลกรีซก็มีหนี้สินล้นพ้นตัว คือมีหนี้มากกว่า GDP ของประเทศเสียอีก
ต่อมาในช่วงปี 2008 เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ขึ้น ซึ่งก็ซ้ำเติมวิกฤตหนี้ของกรีซเข้าไปอีก จนในที่สุด จำนวนหนี้ก็มากขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดที่รัฐบาลไม่สามารถมีเงินพอที่จะชำระหนี้ได้ จนถึงขั้นที่จะผิดนัดชำระหนี้และถึงขั้นล้มละลาย
มาตรการกอบกู้วิกฤต
ที่ผ่านมา EU และ IMF ได้พยายามที่จะเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซอย่างเต็มที่ ในปี 2010 EU และ IMF ได้ให้เงินกู้แก่กรีซกว่า 110,000 ล้านยูโร เพื่อให้รัฐบาลกรีซนำไปชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2011 ปรากฏว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอเสียแล้ว EU และ IMF จึงได้ตกลงที่จะจัดสรรเงินกู้ก้อนใหม่ให้แก่กรีซ ซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 130,000 ล้านยูโร
นอกจากนี้ได้มีการตกลงกันว่า เจ้าหนี้เอกชนจะยอมตัดหนี้หรือที่เรียกว่ามาตรการ hair cut โดยจะยกเลิกหนี้ให้ประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมด
จากมาตรการเหล่านี้ EU และ IMF ได้ตั้งเงื่อนไขให้รัฐบาลกรีซออกมาตรการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะการตัดลดการใช้จ่ายของภาครัฐ การขึ้นภาษี และการปฏิรูประบบราชการและตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของกรีซเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ จากการประเมินขั้นต้นชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของกรีซหดตัวลงกว่า 6 % โดยเศรษฐกิจของกรีซได้ตกอยู่ในสภาวะถดถอยมากว่า 4 ปีแล้ว ดังนั้น ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ รัฐบาลกรีซจึงไม่สามารถที่จะเพิ่มรายได้ ที่จะเอามาชดใช้ชำระหนี้ได้

แนวโน้ม
สถานการณ์ล่าสุดของกรีซ แม้ว่าจะเพิ่งมีการเลือกตั้งไป แต่ก็ปรากฏว่าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ชาวกรีกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัด ดังนั้น จึงจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ คงเป็นการชี้ชะตาว่า กรีซจะเดินไปทางไหน
พรรค Syriza ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 2 ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ชูนโยบายต่อต้าน EU และ IMF และสัญญาว่า จะเจรจากับ EU และ IMF ใหม่ ซึ่งหากพรรคนี้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งใหม่และได้จัดตั้งรัฐบาล ก็มีแนวโน้มว่า กรีซคงจะพยายามเจรจาเงื่อนไขการกู้เงินจาก EU และ IMF ใหม่ แต่แนวโน้มก็คือ เยอรมันนีซึ่งมีท่าทีแข็งกราวในเรื่องนี้ คงจะไม่ยอมยืดหยุ่นในเรื่องเงื่อนไข นอกจากนี้รัฐบาลพรรค Syriza คงอาจจะหยุดการจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งก็ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และคงจะมีผลกระทบมากมายต่อความมั่นใจในระบบธนาคารของ Eurozone และอาจจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่อาจกลัวว่า ประเทศอื่นๆที่ประสบภาวะหนี้สิน อาจจะผิดนัดชำระหนี้เหมือนกรีซ ซึ่งในที่สุด หากเป็นไปใน scenario นี้   กรีซก็จะถูกขับออกจาก Eurozone
แต่หากเป็นอีก scenario หนึ่ง คือพรรคที่สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดได้รับชัยชนะและได้จัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลดังกล่าวก็จะเดินหน้าในมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกรีซ โดยเศรษฐกิจจะถดถอยมากขึ้น รัฐบาลก็จะไม่มีเงินที่จะชำระหนี้ได้และกรีซก็คงจะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก แต่หากไม่มีเงินที่จะให้กู้อีกแล้ว กรีซก็คงจะต้องถอนตัวออกจาก Eurozone ในที่สุด
ผลกระทบ
การที่กรีซจะต้องออกจาก Eurozone และผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของยุโรปและเศรษฐกิจโลก กรีซจะกลายเป็นตัวอย่างที่เป็นอันตราย จะทำให้นักลงทุนมีความห่วงใยมากขึ้นว่า ประเทศที่มีภาระหนี้สินเหมือนกรีซ โดยเฉพาะอิตาลีและสเปน อาจผิดนัดชำระหนี้ตามไปด้วย ซึ่งถ้าหากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ก็อาจจะหยุดซื้อพันธบัตรของรัฐบาลเหล่านี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้รัฐบาลเหล่านี้ไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ได้ ก็จะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ถึงแม้ว่า EU จะได้จัดตั้งกองทุน ประมาณ 700,000 ล้านยูโร เพื่อเป็น firewall ป้องกันไม่ให้วิกฤตกรีซลุกลามระบาดเข้าสู่ประเทศอื่นๆของ Eurozone ก็ตาม แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า กองทุนดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันการระบาดของวิกฤตหนี้กรีซได้หรือไม่
นอกจากนี้ สถานการณ์ของธนาคารในยุโรป ก็ง่อนแง่น โดยหากธนาคารที่ปล่อยกู้ไปจะต้องพบกับปัญหาหนี้เสียหรือ NPL ก็จะทำให้ธนาคารเหล่านี้ อ่อนแอลง และทำลายความเชื่อมั่นของระบบธนาคารทั้งในยุโรปและอาจจะขยายไปทั่วโลก สถานการณ์เช่นนี้ อาจจะทำให้ธนาคารต่างๆไม่กล้าที่จะปล่อยกู้ให้กันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตการเงินครั้งใหม่
ตัวอย่างเช่นธนาคารของฝรั่งเศสปล่อยกู้ให้กับกรีซกว่า 40,000 ล้านยูโร ธนาคารเยอรมันปล่อยกู้ให้กับกรีซประมาณ 16,000 ล้านยูโร และธนาคารอังกฤษปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลกรีซอีกเกือบ 10,000 ล้านยูโร
กล่าวโดยสรุป วิกฤตหนี้ของกรีซที่กำลังลุกลามบานปลาย กำลังจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่หรือไม่ โดยยังไม่มีความแน่นอนว่า มาตรการกอบกู้วิกฤตของ EU และ IMF จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ดังนั้นโอกาสที่วิกฤตกรีซและวิกฤต Eurozone จะลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ ก็อาจจะเป็นไปได้


การประชุมสุดยอด NATO ที่ CHICAGO



คอลัมน์โลกปริทรรศน์
27 พฤษภาคม 2555

                เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด NATO ครั้งล่าสุดที่ CHICAGO ประเทศสหรัฐ NATO นับเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญที่สุดของโลก คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ ผลการประชุมดังกล่าวดังนี้

อัฟกานิสถาน
เรื่องที่น่าจะสำคัญที่สุดของการประชุมครั้งนี้ คือบทบาทของ NATO ในสงครามอัฟกานิสถาน ซึ่งก่อนน่าการประชุมประเทศสมาชิก NATO กำลังระส่ำระสาย หลายประเทศอยากจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานโดยเร็วที่สุด แต่สหรัฐก็พยายามจะให้ถอนออกไปตามกำหนดการของสหรัฐคือ ภายในปี 2014
                สำหรับผลการประชุมสุดยอดที่ CHICAGO ในเอกสารปฏิญญาผลการประชุมเขียนไว้ว่า ที่ประชุมได้ตกลงกันในมาตรการที่จะทำให้อัฟกานิสถานมั่นคงและมีเสถียรภาพ และป้องกันไม่ให้อัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ตกลงที่จะถ่ายโอนความรับผิดชอบจากกองกำลัง NATO ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า International Security Assistance Force (ISAF) ไปให้กองกำลังของอัฟกานิสถานรับผิดชอบภายในปี 2014 โดยกองกำลัง NATO จะถอนออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014

                คาบสมุทร Balkan
                อีกภูมิภาคที่ NATO ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือคาบสมุทร Balkan  NATO ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค NATO สนับสนุนกองกำลัง KFOR ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในKosovo และในอนาคต NATO จะแสวงหาโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์กับกองกำลังของ Kosovo

                ตะวันออกกลางและอัฟริกา
                แนวโน้มที่ชัดเจนของ NATO คือ จะขยายบทบาททางทหารไปในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ซึ่งเรียกว่า Global NATO สำหรับในทวีปอัฟริกา NATO มีปฏิบัติการทางทหารในการต่อต้านโจรสลัดในแถบ Horn of Africa และโซมาเลีย นอกจากนี้ NATO ได้ร่วมมือกับสหภาพอัฟริกา หรือ African Union โดยเฉพาะการสนับสนุนกองกำลังของสหภาพอัฟริกาในโซมาเลีย และพัฒนาความสามารถในการรักษาสันติภาพของสหภาพอัฟริกา
                แต่สำหรับบทบาทที่โดดเด่นของ NATO ในภูมิภาคในช่วงปีที่แล้วคือ การทำสงครามโค่นล้มรัฐบาลกัดดาฟีของลิเบีย NATO ได้ปฏิบัติการทางทหารภายใต้ชื่อว่า Operation Unified Protector ซึ่งได้รับไฟเขียวจาก UN ที่ประชุมสุดยอดคราวนี้บอกว่า บทบาทของ NATO ในวิกฤตลิเบียถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่าง NATO กับองค์กรในภูมิภาค อาทิ สันนิบาตอาหรับ และ Gulf Cooperation Council
                สำหรับในกรณีวิกฤตการณ์ในซีเรียในขณะนี้นั้น NATO ได้ติดตามพัฒนาการของวิกฤติอย่างใกล้ชิด โดยประกาศสนับสนุนบทบาทของ UN และสันนิบาตอาหรับ รวมทั้งแผนการสันติภาพของโคฟี อันนัน แต่ NATO ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะปฏิบัติการทางทหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาล Assad

                เทือกเขา Caucasus
                อีกภูมิภาคที่ NATO ให้ความสำคัญคือ แทบเทือกเขา Caucasus โดยบริเวณนี้มีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศ Armenia, Azerbaijan, Georgia และ Moldova  NATO สนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

                สมาชิกใหม่
                แผนการของ NATO ที่สำคัญในระยะยาวคือ แผนการขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ ให้ครอบคลุมทวีปยุโรปทั้งหมด (ยกเว้นรัสเซีย) ในปฏิญญาผลการประชุมที่ CHICAGO บอกว่า NATO เปิดประตูต้อนรับประเทศประชาธิปไตยที่อยู่ในยุโรปทุกประเทศ ประเทศที่กำลังอยู่ในข่ายที่จะมาเป็นสมาชิกใหม่ของ NATO มีดังนี้
  • คาบสมุคร Balkan เป็นภูมิภาคที่ NATO กำลังจะดึงประเทศในภูมิภาคนี้มาเป็นสมาชิกใหม่ทั้งหมด ประเทศแรกที่อยู่ในข่ายคือ Macedonia ซึ่งที่ประชุมสุดยอดที่ Bucharest ในปี2008 ได้ตกลงที่จะเชิญ Macedonia มาเป็นสมาชิก NATO นอกจากนี้ ยังมี Montenegro ที่กำลังจะเป็นสมาชิกใหม่ รวมทั้ง Bosnia และ Serbiaด้วย
  • Georgia ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ NATO ได้ตัดสินใจที่จะเชิญมาเป็นสมาชิกใหม่ตั้งแต่ปี 2008 แต่ได้สะดุดไปทั้งนี้เพราะรัสเซียแสดงความไม่พอใจ รัสเซียมองว่า NATO และตะวันตกกำลังมีแผนปิดล้อมรัสเซีย โดยพยายามดึงเอาประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาเป็นสมาชิก NATO และการที่ NATO จะดึง Georgia มาเป็นสมาชิกก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งของการเกิดสงครามระหว่าง Georgia กับรัสซียในปี 2008 อย่างไรก็ตามในการประชุมสุดยอดที่ CHICAGO ในครั้งนี้  NATO ตอกย้ำข้อเสนอที่จะให้ Georgia เป็นสมาชิก พร้อมทั้งสนับสนุน บูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของ Georgia โดยได้แสดงความยินดีที่ Georgia ตัดสินใจไม่ใช้กำลังในการแก้ปัญหาความขัดแย้งกับรัสเซีย  NATO ได้เรียกร้องให้รัสเซียยุติการใช้กำลังต่อ Georgia และให้รัสเซียถอนการให้การรับรองเอกราชของ South Ossetia และ Abkhazia
  • Ukraine ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ NATO เชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ตั้งแต่ปี 2008 แต่รัสเซียได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก และจากสงคราม Russia-Georgia ก็น่าจะเป็นบทเรียนให้ประเทศที่คิดจะตีตัวออกห่างจากรัสเซียได้เห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งก็น่าจะทำให้ในระยะหลัง Ukraine ถอยห่างจาก NATO เพราะกลัวรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ NATO ได้ตอกย้ำที่จะพัฒนาความร่วมมือกับ Ukraine ต่อไป

รัสเซีย
                สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง NATO กับรัสเซียก็มีปัญหามาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะวาระซ่อนเร้นของ NATO คือยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย รัสเซียเองก็มองเช่นนั้นเหมือนกัน ทั้งสองฝ่ายจึงมีความหวาดระแวงกันสูง แม้ว่าจะได้มีการจัดตั้ง NATO-Russia Council ขึ้น แต่ก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเชิญ Georgia และ Ukraine เป็นสมาชิก รวมทั้งแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ ซึ่งรัสเซียมองว่าพุ่งเป้ามาที่รัสเซีย สำหรับในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ NATO ได้แสดงความกังวลใจที่รัสเซียได้เพิ่มกำลังทางทหารมากขึ้น ในบริเวณพรมแดนที่ติดกับประเทศสมาชิก NATO นอกจากนี้ NATO ได้ขอให้รัสเซียแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธีกับ Georgia
                กล่าวโดยสรุป จากผลการประชุมสุดยอด NATO ล่าสุดที่ CHICAGO ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า NATO ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารของตะวันตก ยังคงมีแผนการที่จะขยายอิทธิพลทางทหารออกไปเรื่อยๆ NATO จึงจะยังคงเป็นกลไกสำคัญของตะวันตกในการครอบงำโลกทางทหารต่อไป

ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ปี 2020



ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 
ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม 2555

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐในปี 2030 โดยในตอนแรก จะวิเคราะห์ว่า อาเซียนปี 2030 จะมีลักษณะอย่างไร และสหรัฐจะมียุทธศาสตร์รองรับอย่างไร และอาเซียนจะมียุทธศาสตร์อย่างไรต่อสหรัฐ
อาเซียนในปี 2030
                ปัจจุบัน อาเซียนเป็นตลาดใหญ่ของสหรัฐ โดยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ4 มูลค่าการลงทุนของสหรัฐในอาเซียนมีมูลค่าเกือบ 3 เท่าของการลงทุนในจีน และกว่า 9 เท่าของการลงทุนในอินเดีย อย่างไรก็ตาม สหรัฐได้สูญเสีย market share ในอาเซียน จาก 20 % ในปี 1998 เหลือเพียง 9% ในปี 2010
                ในปี 2030 อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 6.5 ล้านล้านเหรียญ ADB ได้คาดการณ์ว่าในปี 2030 ประชากรในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านคน และอาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก
                นอกจากนั้นในปี 2030 อาเซียนก็คงจะวิวัฒนาการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่า อาเซียนอาจจะก้าวข้ามการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปเป็นสหภาพเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว
                ปี 2030 คาดว่า อาเซียนจะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยมีอาเซียนเป็นแกนและมีกรอบความร่วมมือต่างๆล้อมรอบอาเซียน ทั้งอาเซียน+1 อาเซียน +3  และ East Asia Summit
                โดยที่อาเซียนไม่ได้เป็นมหาอำนาจซึ่งต่างจากบทบาทของ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐ มหาอำนาจต่างๆจึงยอมให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม ที่ผ่านมา อาเซียนมี FTA กับมหาอำนาจต่างๆ (ยกเว้น สหรัฐ) อาเซียนได้กลายเป็นศูนย์กลางของบูรนาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยง ( connectivity) และโครงสร้างพื้นฐาน โดยในปี 2030 การเชื่อมต่อทางด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมขนส่ง คงจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น  โดยมีความเป็นไปได้ว่า เราจะสามารถขับรถจากกรุงจาการ์ตาไปกรุงปักกิ่งได้ และเป็นไปได้ว่า East-West Corridor and North-South Corridor คงจะคืบหน้าไปมาก ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้าน logistics และการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค
                สำหรับสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค ในปี 2030 ก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาทางทหารของจีนและอินเดีย ซึ่งอาจจะมีงบประมาณทางทหารสูงถึงกว่าล้านล้านเหรียญ นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางทหารของจีนและอินเดียก็คงจะก้าวหน้าไปมาก อาเซียนเองก็คงจะพยายามเพิ่มบทบาทในด้านความมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และขยายความร่วมมือทางทหารของอาเซียน เพื่อพยายามถ่วงดุลอำนาจทางทหารกับมหาอำนาจอื่นๆ
                ยุทธศาสตร์ของสหรัฐ
                จากแนวโน้มดังกล่าว Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ซึ่งเป็น think tank สำคัญของสหรัฐ ได้เขียนบทวิเคราะห์แนวโน้มดังกล่าวและได้เสนอว่า สหรัฐควรมียุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรองรับ อาเซียน 2030 โดยมองว่า ขณะนี้สหรัฐไม่มีกรอบความร่วมมือทางการค้ากับอาเซียนชัดเจน สหรัฐกำลังผลักดัน FTA ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP อย่างไรก็ตาม TPP มีประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมเพียง 4 ประเทศ คือ เวียนนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน โดย TPP กำหนดไว้ว่า สมาชิกจะต้องเป็นสมาชิก APEC แต่โดยที่ลาว พม่า และกัมพูชาไม่ได้เป็นสมาชิก APEC จึงไม่สามารถเข้าร่วม TPP ได้ นอกจากนี้ สหรัฐก็ไม่ได้เป็นผู้เล่นสำคัญในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ผิดกับในอดีต โดยเฉพาะในสมัยสงครามเย็น ที่บริษัทก่อสร้างสหรัฐมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ปัจจุบัน บริษัทสหรัฐจะมีบทบาทโดดเด่นในด้าน soft infrastructure เท่านั้น คือด้านสารสนเทศ ธนาคาร และระบบการเงิน  CSIS จึงเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐจะต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ต่อภูมิภาคโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านการค้า
                อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังมีจุดแข็งทางด้านการทหารและความมั่นคง โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียได้ให้ความสำคัญต่อบทบาททางทหารของสหรัฐมากขึ้น ปัจจัยสำคัญคือ การผงาดขึ้นมาของจีนทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้จีนเริ่มมีนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวและก้าวร้าวมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย อาทิ กรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้หลายประเทศเริ่มไม่ไว้ใจจีน จึงพยายามดึงสหรัฐเข้ามาในภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลจีน อย่างไรก็ตาม ในปี 2030 อำนาจทางทหารของจีนจะเพิ่มขึ้นมาก CSIS จึงได้เสนอว่าสหรัฐจะต้องรีบลงทุนในการสร้างกรอบความมั่นคงในภูมิภาคใหม่ โดยการขยายและกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วภูมิภาค
CSIS ย้ำว่า สหรัฐจะต้องรีบลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน โดยจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์และแนวคิดใหม่ๆสำหรับยุทธศาสตร์ต่ออาเซียนในอนาคต
ข้อเสนอยุทธศาสตร์อาเซียนต่อสหรัฐ
                จากการวิเคราะห์แนวโน้มอาเซียนในปี 2030 ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาเซียนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นตัวแสดงสำคัญในเวทีภูมิภาค และในเวทีโลก ผมมองว่า อาเซียนจะผงาดขึ้นมาเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค อำนาจการต่อรองของอาเซียนจะมีมากขึ้น โดยสถาปัตยกรรมในภูมิภาคน่าจะมีลักษณะเป็นระบบลูกผสม ที่เป็นการเหลื่อมทับกันระหว่างระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ที่มีสหรัฐเป็นแกนกลางของระบบ กับระบบหลายขั้วอำนาจ ที่จะมีจีนกับอินเดียผงาดขึ้นมา และระบบพหุภาคี ที่จะมีอาเซียนเป็นแกนกลางของระบบ ดังนั้นยุทธศาสตร์อาเซียนต่อสหรัฐจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบในอนาคตที่จะมีลักษณะเป็นลูกผสม โดยยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนต่อสหรัฐคือ จะต้องดึงสหรัฐให้ปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน เพื่อให้ระบบที่มีสหรัฐเป็นแกน กับระบบที่มีอาเซียนเป็นแกน อยู่คู่กันได้ ขณะเดียวกัน อาเซียนก็ควรดึงสหรัฐมาถ่วงดุลการผงาดขึ้นมาของจีน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบบหลายขั้วอำนาจ ซึ่งในระบบหลายขั้วอำนาจ มหาอำนาจจะเป็นตัวแสดงหลัก ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน แต่อาเซียนก็ต้องระมัดระวังในการปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐ โดยจะต้องไม่เผลอที่จะให้สหรัฐฉวยโอกาสครอบงำสถาปัตยกรรมในภูมิภาคแต่เพียงผู้เดียว
                ผมขอสรุปยุทธศาสตร์ของอาเซียนต่อสหรัฐ (ซึ่งก็จะเป็นยุทธศาสตร์อาเซียนต่อมหาอำนาจอื่นๆด้วย) ดังนี้
·       ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนคือ ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์บวกกับยุทธศาสตร์การถ่วงดุลอำนาจในลักษณะ soft balancing
·       อาเซียนต้องสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆในลักษณะที่มีดุลยภาพโดยไม่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจหนึ่งมหาอำนาจใดมากเกินไป
·       อาเซียนจะต้องมีเอกภาพในการกำหนดท่าทีต่อสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆ ในอดีต อาเซียนมักจะถูกแบ่งแยกและปกครองมาโดยตลอด และอาเซียนมักจะมีท่าทีที่แตกแยกและขัดแย้งกัน
·       ต้องผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยดึงสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆเข้ามาในเวทีอาเซียนอย่างสมดุล ทั้งในกรอบ อาเซียน+1 อาเซียน+3 และ EAS
·       สำหรับยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์หลักคือ การทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเน้นทำ FTA กับสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะในกรอบ อาเซียน +1 อาเซียน +3 และ EAS โดยอาเซียนจะต้องพยายามป้องกันไม่ให้สหรัฐขยายบทบาทของ TPP ซึ่งจะมาแข่งกับ FTA ของอาเซียน
·       สำหรับบทบาทของไทยในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐนั้น ไทยจะต้องผลักดันให้สหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน และเป็น hub หรือศูนย์กลางของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้สหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของ ASEAN Connectivity โดยไทยจะเป็นศูนย์กลางทางด้าน logistics การคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน

1 ปี การก่อการร้าย ในยุคหลัง Bin Laden



คอลัมน์โลกปริทรรศน์
13 พฤษภาคม 2555

                Osama Bin Laden ผู้นำ al-Qaeda ได้ถูกสังหารไป เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หลังจากนั้น ได้มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า al-Qaeda และการก่อการร้าย กำลังจะถึงจุดจบ แต่ 1 ปีผ่านไป สถานการณ์การก่อการร้ายยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และทำท่าว่าจะทรุดหนักลงเสียด้วยซ้ำ คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์การก่อการร้ายในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ดังนี้
                al-Qaeda
                แม้ว่า โดยรวม องค์กร al-Qaeda จะถูกลดบทบาทลง ฐานที่มั่นในอัฟกานิสถานได้ถูกกองกำลังสหรัฐฯทำลายลง ผู้นำหลายคนได้ถูกสังหาร รวมทั้ง Bin Laden ขณะนี้ ฐานที่มั่นใหญ่ของ al-Qaeda ได้ย้ายไปอยู่ในพรมแดน ระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถาน และจำนวนสมาชิกได้ลดลงไปเหลือเพียงไม่กี่ร้อยคน หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 al-Qaeda ยังไม่สามารถก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐฯได้
                อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน al-Qaeda ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเน้นให้องค์กรสาขาย่อย และกลุ่มพันธมิตรที่มีอุดมการณ์ร่วม เป็นหัวหอกในการก่อวินาศกรรมแทน องค์กรย่อยของ al-Qaeda มีกระจายอยู่ทั่วตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ นอกจากนี้ al-Qaeda ได้ใช้เครื่องมือใหม่ในการหาผู้สนับสนุน คือ internet และเหตุการณ์ Arab spring ที่มีการลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลในโลกอาหรับนั้น al-Qaeda ก็สนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลดังกล่าว ซึ่ง al-Qaeda มองว่า เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของพวกนอกรีตจากตะวันตกและสหรัฐฯ al-Qaeda มองว่า Arab spring สอดรับกับความต้องการของ al-Qaeda ที่ต้องการปลุกระดมให้ชาวมุสลิมลุกฮือขึ้น อย่างไรก็ตาม al-Qaeda กำลังจ้องมองที่จะฉวยโอกาสจากสถานการณ์การเมืองในยุคหลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง และอาจเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ ที่ al-Qaeda จะใช้เป็นโอกาส ปลุกระดมและยึดอำนาจรัฐให้ได้
                นอกจากนี้ al-Qaeda ยังดึงให้สหรัฐฯและพันธมิตร ตกอยู่ในกับดักสงครามในอัฟกานิสถาน โดยหากสหรัฐฯและนาโต้ถอนกำลังออกไป นักรบ Taliban ก็อาจเข้ายึดกุมอำนาจรัฐได้ และสถานการณ์ขณะนี้ กำลังลุกลามเข้าสู่ปากีสถาน ซึ่งก็จะเปิดโอกาสให้ al-Qaeda และ Taliban เพิ่มบทบาทมากขึ้น
                องค์กรสาขาย่อย
                แนวโน้มการก่อการร้ายสากลในขณะนี้ คือ การเพิ่มบทบาทขององค์กรสาขาย่อยของ al-Qaeda ซึ่งองค์กรสำคัญๆ มีดังนี้
·      al-Qaeda in the Arabian Peninsula (AQAP) : มีบทบาทในประเทศเยเมน และขณะนี้ ได้ขยายการครอบครองหลายจังหวัดของเยเมน AQAP เป็นการควบรวมระหว่างกลุ่ม al-Qaeda ในซาอุดิอาระเบีย กับในเยเมน AQAP ถือได้ว่า เป็นองค์กรที่อันตรายที่สุดในขณะนี้ โดยมีแผนก่อวินาศกรรมในตะวักตก รวมทั้งในสหรัฐฯด้วย
·      al-Qaeda in the Islamic Maghreb (AQIM) : มีบทบาทสำคัญในทวีปอัฟริกาตอนเหนือ การล่มสลายของรัฐบาล Gaddafi ในลิเบีย ทำให้ AQIM ขยายอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
·      Haqqani : เครือข่ายนี้มีสมาชิกหลายพันคน ปฏิบัติการอยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้ง Taliban และ al-Qaeda
·      Taliban : กลุ่มนักรบ Taliban เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่เคยยึดกุมอำนาจรัฐในอัฟกานิสถาน ในช่วงหลังสงครามเย็น แต่ถูกโค่นอำนาจลง ด้วยกองกำลังทหารสหรัฐฯในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ Taliban สนับสนุนให้ al-Qaeda และBin Laden ใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่นสำคัญ ขณะนี้ นักรบ Taliban ก็ประสบความสำเร็จในการทำสงครามกองโจร กับกองกำลังนาโต้และสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน
·      Lashkar-E-Taiba (LET) : เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่แยกออกมาจาก Pakistani Islamist Organization เป้าหมาย คือ การทำให้อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองขงอิสลาม โดยมุ่งเป้าไปที่ภูมิภาคแคชเมียร์ กลุ่ม LET ได้ปฏิบัติการร่วมกับ al-Qaeda อยู่บ่อยครั้ง รัฐบาลอินเดียได้กล่าวหา LET ว่า เป็นกลุ่มที่ก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบในปี 2008
·      al-Shabaab : เป็นกลุ่มก่อการร้ายในโซมาเลีย ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลโซมาเลีย ขณะนี้ ได้ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ในโซมาเลียไว้ได้ และ al-Shabaab ได้ขยายการก่อวินาศกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน คือ อูกันดา ด้วย
·      Boka Haram : เป็นกลุ่มก่อการร้ายทางตอนเหนือของไนจีเรีย เป้าหมาย คือ การจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นในไนจีเรีย กลุ่มนี้ได้รับการฝึกฝนและได้รับการช่วยเหลือจาก AQIM และ al-Shabaab เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Boka Haram ได้ก่อวินาศกรรมระเบิดสำนักงานของ UN ในเมือง Abuja
กล่าวโดยสรุป สถานการณ์การก่อการร้าย 1 ปี ในยุคหลัง Bin Laden ไม่ได้ลดลง แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจาก Global Terrorism Database ของมหาวิทยาลัย Maryland ชี้ให้เห็นว่า จำนวนการก่อการร้าย โดย al-Qaeda และองค์กรร่วมขบวนการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ 1 ปี หลังจาก Bin Laden เสียชีวิต องค์กรสาขาย่อยของ al-Qaeda ได้เพิ่มปฏิบัติการมากขึ้น จากข้อมูลที่ผมได้วิเคราะห์มาทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า การคาดการณ์ของรัฐบาล Obama ที่มองว่า การก่อการร้ายจะตายไปพร้อมกับ Bin Laden นั้น ไม่เป็นความจริง