Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551

5 ปีสงครามอิรัก (ตอนจบ)

5 ปีสงครามอิรัก (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์


เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นวาระครบ 5 ปีของสงครามอิรักโดยสหรัฐฯบุกโจมตีอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปี 2003 คอลัมน์โลกทรรศน์ได้ถือโอกาสนี้ ในการย้อนวิเคราะห์ถึงสงครามอิรักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
สำหรับตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 3 ผมได้วิเคราะห์ถึง สาเหตุว่าทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรักและผลกระทบของสงคราม ในคอลัมน์โลกทรรศน์วันนี้ จะเป็นตอนจบ ซึ่งจะได้ประเมินว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล Bush ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

5 ปีสงครามอิรัก: ความสำเร็จ?

แน่นอนสำหรับประธานาธิบดี Bush 5 ปีของสงครามอิรักคือ ความสำเร็จ และตลอดเวลาที่ผ่านมา Bush ได้ตอกย้ำถึงความสำเร็จมาโดยตลอด และล่าสุด ในโอกาสครบรอบ 5 ปีของสงคราม เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม Bush ได้กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสดังกล่าว โดยเน้นถึงความสำเร็จของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

Bush ได้กล่าวว่า สงครามอิรัก 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงกันอย่างมากว่า สงครามนี้คุ้มค่าต่อการต่อสู้หรือไม่? และสหรัฐฯจะชนะสงครามครั้งนี้ได้หรือไม่? Bush ตอบอย่างหนักแน่นว่า การล้มล้าง Saddam Hussein เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และสงครามอิรักเป็นสงครามที่อเมริกาจะสามารถชนะ และจะต้องชนะ
Bush ได้กล่าวว่า เป็นเพราะสงครามอิรักที่อเมริกาล้มล้างรัฐบาล Saddam ทำให้ Saddam ไม่สามารถกดขี่ข่มเหงชาวอิรักได้อีกต่อไป และทำให้ระบอบ Saddam ไม่สามารถบุกรุกและโจมตีประเทศเพื่อนบ้านด้วยอาวุธร้ายแรงได้อีกต่อไป Bush จึงสรุปว่า สงครามอิรักทำให้โลกดีขึ้น และทำให้สหรัฐฯปลอดภัยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการบุกยึดอิรัก ปรากฏว่ายังมีกลุ่มต่อต้าน และต่อมาก็มีกลุ่มก่อการร้ายจากภายนอกเข้ามาในอิรักเพื่อจะต่อต้านการเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยของอิรัก ดังนั้น สงครามในอิรักจึงยาวนานและยากกว่าที่คิด แต่ก็เป็นสงครามที่สหรัฐฯจะต้องชนะ ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังต่อสู้กับการก่อการร้ายในอิรัก และกำลังช่วยให้อิรักพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย

Bush กล่าวต่อว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่า สหรัฐฯกำลังจะพ่ายแพ้ โดยกลุ่มหัวรุนแรงได้ประสบความสำเร็จในการทำให้อิรักจมดิ่งเข้าสู่ความวุ่นวาย และอิรักกลายเป็นฐานที่มั่นใหม่ของขบวนการก่อการร้าย และได้สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างชาวชีอะห์ กับชาวซุนหนี่

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Bush ได้ปรับนโยบายใหม่โดยการส่งทหารเพิ่มเข้าไปอีก 3 หมื่นคน และ Bush ได้กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ใหม่กำลังประสบความสำเร็จ เพราะขณะนี้ ความรุนแรงได้ลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง การโจมตีทหารอเมริกันก็ลดลง และสหรัฐฯได้จับกุม และสังหารกลุ่มหัวรุนแรงในอิรักได้เป็นจำนวนมาก Bush จึงสรุปว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯกำลังประสบความสำเร็จ Bush ประกาศกร้าวว่า ความสำเร็จในอิรัก จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มก่อการร้ายสากล โดยเฉพาะ Al Qaeda และสหรัฐฯจะทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นประชาธิปไตย และไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของขบวนการก่อการร้าย
นั่นคือ ภาพที่ Bush พยายามจะฉายให้เห็นว่า 5 ปีของสงครามอิรัก ขณะนี้อเมริกากำลังประสบชัยชนะ


5 ปีสงครามอิรัก: ความล้มเหลว?

แต่ผมมองว่า ภาพที่ Bush ฉายออกมานั้น เป็นเพียงแค่ภาพลวงตา และผมจะพยายามชี้ให้เห็นว่า 5 ปีสงครามอิรักนั้น ประสบความล้มเหลวอย่างไร

ก่อนที่เราจะประเมินความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ เราต้องรู้ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ของการบุกอิรัก ซึ่งในคอลัมน์ตอนก่อนหน้านี้ ผมได้วิเคราะห์ไปโดยละเอียดแล้ว อยากจะสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า มีเหตุผลใหญ่ด้วยกัน 4 เรื่อง เหตุผลประการแรกคือ การมองอิรักว่าเป็นส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายหลัง 11 กันยาฯ เหตุผลประการที่ 2 คือ ความต้องการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเข้าครอบงำตะวันออกกลาง เหตุผลที่ 3 คือ ความพยายามที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในอิรักและตะวันออกกลาง และเหตุผลประการที่ 4 คือเรื่องอาวุธร้ายแรง

เรามาดูว่า ทั้ง 4 เรื่องนี้ 5 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯประสบความสำเร็จอย่างไร

เรื่องแรกคือ อาวุธร้ายแรง ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯที่ใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม ในที่สุดก็ค้นไม่พบอาวุธร้ายแรงในอิรัก ถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและทำให้สหรัฐฯเสียชื่อมาก

เรื่องที่ 2 คือ การพัฒนาประชาธิปไตยในตะวันออกกลางและอิรัก เรื่องนี้รัฐบาล Bush ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนที่อิรักจะกลายเป็นตัวแบบของประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง แต่กลับกลายเป็นอิรักลุกเป็นไฟ และกำลังเข้าขั้นจะเป็นสงครามกลางเมืองเข้าไปทุกที 5 ปีที่ผ่านมา คนอิรักตายไปนับแสนคน ทหารสหรัฐฯก็ตายไปกว่า 4 พันคนแล้ว ทฤษฎีโดมิโน่ใหม่ของ Bush ที่หวังจะให้อิรักเป็นตัวโดมิโน่ เป็นตัวแบบประชาธิปไตย และต่อไปจะทำให้ตะวันออกกกลางเป็นประชาธิปไตยนั้น ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

เรื่องที่ 3 คือ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย รัฐบาล Bush หวังในตอนแรกว่า การบุกยึดอิรัก จะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และจะทำให้สหรัฐฯประสบชัยชนะในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ 5 ปีที่ผ่านมาก็กลับตาลปัตรหมด อิรักกลับกลายเป็นศูนย์กลางของการทำสงครามศาสนา อิรักกลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก ก่อนอเมริกายึดอิรัก ไม่มีกลุ่ม Al Qaeda ในอิรัก แต่ 5 ปีที่ผ่านมา เครือข่าย Al Qaeda ในอิรักได้ขยายตัว ลุกลามไปทั่ว โดยเฉพาะ เครือข่าย Al Qaeda in Iraq (AQI) ได้กลายเป็นเครือข่ายก่อการร้ายสำคัญที่บั่นทอนเสถียรภาพของอิรักเป็นอย่างมาก

ไม่ใช่แต่ในอิรักเท่านั้น แต่กระแสการก่อการร้ายสากลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ลุกลามขยายตัวไปทั่วโลก เครือข่าย Al Qaeda และเครือข่ายร่วมอุดมการณ์ขยายไปทั่วโลกมุสลิม ในอัฟกานิสถานมีการฟื้นคืนชีพของนักรบตาลีบัน และสงครามในอัฟกานิสถานทำท่าว่าจะลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ปากีสถานก็กำลังเป็นจุดวิกฤตจุดใหม่ ที่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงกำลังพยายามที่จะเพิ่มบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และขณะนี้ทั้ง Al Qaeda, Bin Laden และ ตาลีบันได้มีแหล่งซ่องสุมใหม่ในบริเวณชายแดนปากีสถานกับอัฟกานิสถาน

สำหรับวัตถุประสงค์อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯบุกอิรักคือ ความต้องการครองความเป็นเจ้า ขยายอิทธิพลครอบงำตะวันออกกลาง สำหรับวัตถุประสงค์ข้อนี้ สหรัฐฯก็ล้มเหลวอีกเช่นเดียวกัน เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา อิทธิพลของสหรัฐฯในตะวันออกลางไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กลับลดลง และในทางกลับกัน อิหร่านซึ่งเป็นตัวแสดงสำคัญที่ต้องการผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค อิทธิพลของอิหร่านกลับเพิ่มขึ้น ศัตรูคนสำคัญของอิหร่านก็คือ Saddam ซึ่งได้ถูกอเมริกาจัดการไปแล้ว ขณะนี้ จึงเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ

นอกจากนี้ ชาวชีอะห์ซึ่งในอดีตไม่มีบทบาททางการเมือง เพราะอยู่ภายใต้การนำของชาวซุนหนี่ แต่หลังจาก Saddam ถูกโค่นลง ชาวชีอะห์ก็มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในอิรัก และชีอะห์ในอิรักก็มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับอิหร่าน อิหร่านนั้น ถือเป็นศูนย์กลางของนิกายชีอะห์ และขณะนี้แนวโน้มก็คือ อิทธิพลของชีอะห์กำลังเพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง

สำหรับสหรัฐฯ จากการที่ทำสงครามที่ไม่มีความชอบธรรมในอิรัก ทำให้ชื่อเสียงของสหรัฐฯเสียหายไปอย่างมาก ทั้งในระดับโลก และในตะวันออกกลาง

กล่าวโดยสรุป ผมมองว่า 5 ปีของสงครามอิรัก ถือเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาล Bush และสหรัฐฯกำลังตกอยู่ในสถานะลำบาก เพราะกำลังจมปลักอยู่กับสงครามที่ถอนตัวไม่ขึ้น จะถอนก็ถอนไม่ได้ ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะดึงเอา UN เข้ามาแบกรับภาระก็ไม่ได้ผล ความพยายามที่จะดึงเอาพันธมิตรและประเทศในตะวันออกกลางมาแบกรับภาระก็ไม่ได้ผล และในอนาคต หากสถานการณ์เลวร้ายลงถึงขั้นสหรัฐฯจะต้องถอนทหารออกจากอิรักในขณะที่ทหารอิรักยังไม่พร้อม ก็อาจนำไปสู่การขยายตัวของความรุนแรง และสงครามกลางเมืองที่อาจลุกลามใหญ่โตจนไม่อาจคาดการณ์สถานการณ์ได้



5 ปีสงครามอิรัก (ตอนที่ 3)

5 ปีสงครามอิรัก (ตอนที่ 3)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นวาระครบ 5 ปีของสงครามอิรักโดยสหรัฐฯบุกโจมตีอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปี 2003 คอลัมน์โลกทรรศน์จะได้ถือโอกาสนี้ ในการย้อนวิเคราะห์ถึงสงครามอิรัก โดยจะแบ่งเป็นตอน ๆ ตอนแรก ๆ จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของสงคราม คำถามที่สำคัญคือ ทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรัก ประเด็นต่อมาคือ ผลกระทบของสงคราม หลังจากนั้น ผมจะได้ประเมินว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบุชประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร และในตอนท้าย จะได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของสงครามอิรักในอนาคต

สำหรับตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ผมได้วิเคราะห์ถึง สาเหตุว่าทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรักบ้างแล้ว ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่ 3 นี้ จะได้มาวิเคราะห์ต่อถึงสาเหตุของการบุกอิรัก ดังนี้


1.5 ทฤษฎีโดมิโน่ใหม่

อีกสาเหตุหนึ่งคือ ทฤษฎีโดมิโน่ใหม่ พวกอนุรักษ์นิยมในรัฐบาล Bush หลัก ๆ คือ Dick Cheney, Condoleezza Rice และ Donald Rumsfeld กลุ่มนี้เรียกว่าเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมซึ่งมองตรงกันว่า อเมริกาต้องจัดการกับอิรักเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้มา คือการที่จะต้องเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นแบบประชาธิปไตย ทุนนิยม เพื่อจะทำให้คลายความเป็นปฏิปักษ์ เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ โดยเริ่มที่อิรักก่อน และต่อไปอาจจะลามออกไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง เป็นทฤษฎีโดมิโนใหม่

1.6 สงครามจิตวิทยา

สาเหตุต่อไป เป็นสงครามจิตวิทยา คือ รัฐบาลสหรัฐฯคาดหวังว่า ถ้าทำสงครามชนะอิรักได้ ล้มซัดดัมลงไปได้ ซัดดัมเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสหรัฐฯ และตะวันตก เป็นวีรบุรุษของกลุ่มต่อต้านตะวันตก การยึดครองอิรัก จะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อโลกอาหรับ ในแง่ของการกำหราบ กลุ่มก่อการร้ายที่กำลังคิดจะโจมตีสหรัฐฯอาจจะกลัว เพราะอเมริกาเอาจริง


1.7 น้ำมัน

และสิ่งที่จะเป็นของแถมคือ น้ำมัน แน่นอนว่า อิรักมีน้ำมันสำรองเป็นอันดับ 2 รองจากซาอุดิอารเบีย ตรงนี้เป็นรางวัลชิ้นงามที่จะได้เมื่อเข้าไปจัดการอิรัก

1.8 เป้านิ่ง

สาเหตุสุดท้ายคือ เป้านิ่ง รัฐบาล Bush ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องทำลายขบวนการก่อการร้าย ต้องจับตัว Bin Ladenให้ได้ และจับตัว Al Qaeda ให้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปปรากฏว่า Bin Laden ก็จับไม่ได้ Al Qaeda ก็หายไปหมด ถึงแม้อเมริกาจะมีอานุภาพทางด้านการทหาร แต่ไม่สามารถทำลายขบวนการก่อการร้ายได้ แต่กลับกลายเป็นว่า การก่อการร้ายกลับเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่นี้ รัฐบาล Bush ล้มเหลวในการต่อต้านการก่อการร้ายตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ แล้วรัฐบาล Bush จะประกาศต่อคนอเมริกันได้อย่างไร ดังนั้น รัฐบาล Bush จะต้องรีบหาเป้า ที่เป็นเป้านิ่ง ที่ให้ผลที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตามหา Bin Laden ซึ่งไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป้านิ่งต้องเป็นรัฐบาลอย่างเช่นตาลีบัน เป้านิ่งต่อไปของเมริกาคือ ซัดดัม ถ้าอเมริกาชนะครั้งนี้ ก็จะสามารถประกาศชัยชนะได้อย่างชัดเจนว่าประสบความสำเร็จ ประชาชนจะต้อนรับยินดีกับความสำเร็จของรัฐบาล Bush

2. ผลกระทบจากสงครามอิรัก

ผลกระทบของสงคราม สิ่งที่อเมริกาจะได้รับคือ บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ทั้งหมดหรือไม่ ดังที่กล่าวในข้างต้นแล้วถึงสาเหตุที่สหรัฐฯบุกอิรัก

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สงครามยืดเยื้อ ผลกระทบทางลบเพิ่มมากขึ้น เพราะสงครามครั้งนี้ถูกมองว่า เป็นสงครามที่ไม่มีความชอบธรรมในสายตาของชาวโลก มีคนมองว่า อเมริกาเป็นอันธพาล เป็นสงครามขาดความชอบธรรม อย่างที่ทราบกันว่า เรื่องนี้ไม่ผ่านมติคณะมนตรีความมั่นคง

ที่ผ่านมา สหรัฐฯเป็นวีรบุรุษมาตลอดในสายตาของประชาคมโลก โลกมองสหรัฐฯในแง่ดีในเรื่องระบอบการเมือง ความมั่นคง ในการรักษาสันติภาพของโลก เป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรม ที่ใคร ๆ อยากเลียนแบบสหรัฐฯ
แต่ในขณะนี้ มองไปทางไหน ก็มีแต่คำด่าว่าอเมริกัน กลายเป็นเรื่องปกติ ที่จะมีการโจมตีอเมริกา การเป็นเจ้าในตอนนี้ ไม่ใช่เพราะความยกย่อง แต่เป็นเพราะคนกลัวอเมริกา อเมริกาได้สูญเสียการเป็นผู้นำที่โลกยกย่องไปเสียแล้ว และการกระทำของอเมริกาได้ทำลายระบบโลก และสถาบันระหว่างประเทศ เพราะอเมริกาละเลยและไม่ให้ความสำคัญต่อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเหมือนกับมติของประชาคมโลก อเมริกาได้เหยียบย่ำมติของคณะมนตรีความมั่นคง อเมริกาอยู่เหนือ UN เพราะฉะนั้น UN สถาบันระหว่างประเทศก็เสื่อมลง

ยุทธศาสตร์ preemption ของอเมริกานั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่อันตราย ยุทธศาสตร์โจมตีเขาก่อนที่เขาจะโจมตีเรา ที่อเมริกาใช้กับอิรักเป็นครั้งแรก ตลอดเวลาที่ผ่านมา การทำสงครามที่ชอบธรรมของฝ่ายถูกโจมตี คือการป้องกันตนเอง แต่ครั้งนี้เป็นการโจมตีก่อนและกลายเป็นว่า แล้วต่อไปจะเป็นใครที่อเมริกาเห็นว่าอีก 5 ปีจะเป็นภัย อเมริกาก็จะโจมตีตั้งแต่วันนี้ แล้วยุทธศาสตร์นี้ประเทศอื่นจะเลียนแบบหรือไม่

ออสเตรเลียประกาศแล้วว่า จะเลียนแบบ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย John Howard เคยประกาศกร้าวว่า จะใช้ preemptive strike บ้าง กับขบวนการก่อการร้ายที่อาจจะอยู่ในประเทศใดก็ได้ อาจจะเป็นมาเลเซียหรือประเทศไทย ถ้าคิดจะไปก่อการร้ายในออสเตรเลีย ออสเตรเลียอาจจะส่งทหารเข้ามาโจมตีก็ได้
ขณะนี้โลกมุสลิมได้ต่อต้านสหรัฐฯมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมไม่ได้ลดลงไปเพราะสหรัฐฯชนะสงครามอิรัก แต่รุนแรงมากขึ้น การเมืองภายในของประเทศที่มีชาวมุสลิมเริ่มวุ่นวาย เพราะชาวมุสลิมที่ต่อต้านสหรัฐฯ มีความรู้สึกต่อต้านรุนแรงมากขึ้น ในแง่ของการต่อต้านรัฐบาลที่สนับสนุนสหรัฐฯ และมีความรู้สึกหัวรุนแรงมากขึ้น ในแง่ของการจะเปลี่ยนระบอบให้เป็นรัฐอิสลาม ตามอุดมการณ์ของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง

เพราะฉะนั้น การก่อการร้ายจึงรุนแรงมากขึ้น อเมริกาหวังว่า หากอเมริกาชนะอิรักจะทำให้ขบวนการการก่อการร้ายกลัว ขยาด ไม่กล้า แต่ผลกลับตรงกันข้าม

ประเทศที่กำลังเป็นเป้าของอเมริกาต่อไป สงครามอาจลุกลามต่อไปคือ อิหร่าน อเมริกาเล็งไว้แล้ว อิหร่านกำลังใกล้กว่า ในแง่ของศักยภาพที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ มากยิ่งกว่าอิรักเสียอีก จากอิหร่านอาจจะต่อไปเป็นเกาหลีเหนือ เยเมน ซูดาน โซมาเลีย ลิเบีย ประเทศเหล่านี้เป็นเป้าหมายทั้งนั้น ประเทศเหล่านี้อาจจะรู้ตัวว่า จะถูกโจมตี จึงต้องพยายามมีอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้ก่อนที่จะสายไป การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรงอาจจะหนักขึ้น


5 ปีสงครามอิรัก (ตอนที่ 2)

5 ปีสงครามอิรัก (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นวาระครบ 5 ปีของสงครามอิรักโดยสหรัฐฯบุกโจมตีอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปี 2003 คอลัมน์โลกทรรศน์จะได้ถือโอกาสนี้ ในการย้อนวิเคราะห์ถึงสงครามอิรัก โดยจะแบ่งเป็นตอน ๆ ตอนแรก ๆ จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของสงคราม คำถามที่สำคัญคือ ทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรัก ประเด็นต่อมาคือ ผลกระทบต่อสงคราม หลังจากนั้น ผมจะได้ประเมินว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบุชประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร และในตอนท้าย จะได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของสงครามอิรักในอนาคต

สำหรับตอนที่ 1 คือตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึง สาเหตุว่าทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรักไป 1 หัวข้อแล้ว ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่ 2 นี้ จะได้มาวิเคราะห์ต่อ ดังนี้


1.2 ลัทธิครองความเป็นเจ้า

สาเหตุต่อไป เป็นสาเหตุที่เรียกว่า วาระซ่อนเร้น เป็นวัตถุประสงค์ที่ประกาศไม่ได้ อันแรกคือ ลัทธิครองความเป็นเจ้า แน่นอนว่า ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อเมริกาเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 มาตลอด ระบบโลกทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นระบบที่อเมริกาสร้างขึ้นมาทั้งหมด ระบบความมั่นคง สหประชาชาติ พันธมิตรนาโต้ SEATO พันธมิตรกับญี่ปุ่น ฯลฯ อเมริกาสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น ในแง่ของเครือข่ายและระบบความสัมพันธ์ทั้งการเมืองและความมั่นคงโลก รวมทั้งสถาบันต่าง ๆ

ทางด้านเศรษฐกิจ หลังจากชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาได้สร้างระบบเศรษฐกิจโลกขึ้นมาโดยมีเสาหลัก 3 เสาคือ GATT IMF World Bank สำหรับ GATT เป็นกลไกระบบการค้า ส่วน IMF กับ World Bank เป็นกลไกจัดการระบบการเงินระหว่างประเทศ และมีดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลัก ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นระเบียบโลกที่เกิดขึ้นโดยที่อเมริกาได้สร้างขึ้นมา ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีการถูกท้าทายบ้างก็จากฝ่ายสหภาพโซเวียต แต่ในที่สุดสหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย และลัทธิที่มาท้าทายทุนนิยมของอเมริกาคือ คอมมิวนิสต์ก็ล่มสลายไปพร้อมกับสหภาพโซเวียตเมื่อประมาณเกือบ 20 ปีมาแล้ว

หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง อเมริกายิ่งโดดเด่นมากขึ้นในการครองความเป็นเจ้าในโลกนี้ นักรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักจะกล่าวว่า สงครามเย็นเป็นระบบ 2 ขั้ว (bi polar system) แต่หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง เห็นแล้วว่าเป็นระบบ 1 ขั้ว (Unipolar system) โดยมีอเมริกาเท่านั้นเป็นอภิมหาอำนาจ 1 เดียวในโลก เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องปกติที่ใครอยู่อันดับ 1 แล้วจะไม่ยอมลงจากอันดับ 1 มาอยู่อันดับ 2 ดังนั้น เป้าหมายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯคือ ทำอย่างไรให้อเมริกาดำรงความเป็นหนึ่งในโลกนี้ต่อไปให้ยืนยาวที่สุด นั่นคือเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ระบบโลกที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกจนถึงปัจจุบัน จะมีลักษณะคล้าย ๆ
รูปปิรามิด คือ มี dominant nation อยู่บนยอดปีระมิด คือสหรัฐฯ และตลอดเวลาที่ผ่านมา อเมริกาได้พยายามประคับประคองระบบที่อเมริกาสร้างขึ้นมาโดยให้มีประเทศอื่น ๆ สนับสนุนค้ำจุนและได้รับประโยชน์จากระเบียบโลกนี้

มหาอำนาจ (great power) ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ส่วนประเทศระดับกลาง (middle power) ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่สนับสนุนระบบโลกของอเมริกา พอใจและได้ประโยชน์จากระบบโลกนี้มาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศในโลกจะพอใจและสนับสนุนระบบโลกของอเมริกา ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่พอใจเช่น จีน รัสเซีย ประเทศในตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศมุสลิม และกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง
ถ้ามีประเทศไม่พอใจมากกว่าประเทศที่พอใจ ระบบโลกของอเมริกาจะถูกท้าทาย อเมริกายอมให้เกิดภาพนี้ไม่ได้

ฐานอำนาจของอเมริกาใหญ่โต อำนาจทางการเมืองการทหารของอเมริกานั้น อันดับที่ 2-10 บวกกันยังไม่เท่าอเมริกา งบประมาณทางด้านการทหารของอเมริกาคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณทางการทหารของประเทศทั้งหมดในโลกรวมกัน คือประมาณ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

ขนาดเศรษฐกิจของอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีขนาดใหญ่คิดเป็นครึ่งหนึ่งของโลก แต่ตอนนี้ลดลงมาอยู่ที่ 20-30% แต่ก็ยังใหญ่

ด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรม อเมริกาก็ครอบทุกด้าน

เพราะฉะนั้น อเมริกาต้องการให้มีประเทศที่สนับสนุน พอใจ ในระบบโลกของอเมริกา ถึงแม้จะมีประเทศที่ไม่พอใจ ท้าทาย ต่อต้าน ทำลายระบบของอเมริกา แต่ถ้ามีจำนวนน้อย ระบบโลกของอเมริกาก็จะมีเสถียรภาพอยู่ต่อไป

1.3 การปะทะกันทางอารยธรรม

หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ได้เกิดมิติใหม่ของความขัดแย้งระหว่างประเทศ คือ การปะทะกันระหว่างอารยธรรม ซึ่งจากหนังสือ Clash of Civilizations เขียนโดย Samuel Huntington ได้อธิบายว่า ความขัดแย้งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมา 1,400 กว่าปีที่แล้ว นับเป็นสงครามครูเสดในรูปแบบใหม่ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ 11กันยาฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะกันระหว่างอารยธรรม ระหว่างตะวันตกกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ต้องการที่จะท้าทายและเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯและตะวันตก อาจกล่าวได้ว่า สงครามที่อเมริกากำลังดำเนินอยู่กับอิรักนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะกันระหว่างอารยธรรม เพราะลึก ๆ แล้วอเมริกามองว่าโลกอาหรับกำลังกระด้างกระเดื่อง กำลังมีกระแสต่อต้านสหรัฐฯ กำลังเป็นปฏิปักษ์เกลียดชังสหรัฐฯมากขึ้นทุกที และต้องการทำลายสหรัฐฯอย่างเช่นที่เกิดในเหตุการณ์ 11 กันยาฯ

1.4 ดุลแห่งอำนาจ

สาเหตุต่อไป คือ การสร้างดุลแห่งอำนาจใหม่ ในตะวันออกกลาง อิรักกำลังจะเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค และถ้าอเมริกาสามารถทำลายระบอบซัดดัมลงไปได้ แล้วเข้าไปยึดครองอิรักได้ ดุลแห่งอำนาจจะเปลี่ยนไป อเมริกาจะเข้าไปมีอิทธิพลอย่างมาก ต่อไปถึง อิหร่าน ซีเรีย ซาอุดิอารเบีย ดินแดนเหล่านี้ คือดินแดนที่รัฐบาล Bush มองว่าเป็นบ่อเกิดของขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรง เป็นบ่อเกิดของการต่อต้านตะวันตก เพราะฉะนั้นอเมริกาต้องเข้าไปจัดการ


5 ปีสงครามอิรัก (ตอนที่ 1)

5 ปีสงครามอิรัก (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นวาระครบ 5 ปีของสงครามอิรักโดยสหรัฐฯบุกโจมตีอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปี 2003 คอลัมน์โลกทรรศน์จะได้ถือโอกาสนี้ ในการย้อนวิเคราะห์ถึงสงครามอิรัก โดยจะแบ่งเป็นตอน ๆ ตอนแรก ๆ จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของสงคราม คำถามที่สำคัญคือ ทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรัก ประเด็นต่อมาคือ ผลกระทบต่อสงคราม หลังจากนั้น ผมจะได้ประเมินว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบุชประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร และในตอนท้าย จะได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของสงครามอิรักในอนาคต

1. ทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรัก?

1. 1 การก่อการร้ายและอาวุธร้ายแรง

สาเหตุของสงคราม ประการแรกคือ เรื่องการก่อการร้าย และอาวุธร้ายแรง

ถ้ามองย้อนกลับไปช่วงก่อนเหตุการณ์ 11 กันยาฯ อิรักถึงแม้จะมีปัญหากับสหรัฐฯก็ตาม บุกคูเวต และในที่สุด ก็แพ้สงคราม ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานั้น อิรักเป็นตัวปัญหาก็จริง แต่ไม่ถึงกับวิกฤต ไม่ถึงกับว่าสหรัฐฯต้องไปบุกอิรัก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา อเมริกาใช้วิธีคว่ำบาตรและปิดล้อม แต่หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างมาก
อาจกล่าวได้ว่า หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ อเมริกาได้เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ความรุนแรงของเหตุการณ์ 11 กันยาฯ สำหรับชาวอเมริกัน นับเป็นผลกระทบ เป็นเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ เพราะถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของอเมริกา 200 ปี สงครามที่ถูกคุกคามจากภายนอก เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1 อเมริกาก็ไม่โดนอะไร เพราะสมรภูมิรบอยู่ในยุโรป อเมริกาส่งทหารไปรบในยุโรปและชนะ สงครามโลกครั้งที่ 2 โดนที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ แต่ตัวแผ่นดินใหญ่อเมริกาไม่ได้ถูกกระทบอะไร อเมริกาส่งทหารไปรบในยุโรป และเอเชียก็ชนะ หลังจากนั้นเป็นสงครามเย็น สงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งอเมริกาก็ไม่ได้โดนอะไร สงครามเกาหลี เกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้ อเมริกาส่งทหารไปรบ สงครามเวียดนามก็เช่นกัน เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น สงครามก็หมดไป

แต่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ เป็นเหตุการณ์ที่ต่างไปจากประวัติศาสตร์ของอเมริกา ที่อเมริกาถูกโจมตีในส่วนที่เป็นหัวใจของอเมริกา คือกลางนครนิวยอร์ค สัญลักษณ์ของอเมริกาคือ ตึก World Trade Center ไม่เพียงเท่านั้น ตึกเพนตากอน ตึกสำนักงานใหญ่ของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่เป็นศูนย์กลาง เป็นหัวใจของอำนาจทางทหารของอเมริกาก็ถูกโจมตีด้วย

ในวันนั้น ประธานาธิบดี Bush ต้องขึ้นเครื่องบินหนีและไม่กล้าร่อนลง พอร่อนลงที่ฐานทัพทหาร ต้องรีบบินต่อ เพราะกลัวจะถูกโจมตี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯที่ประธานาธิบดีต้องหนีกระเซอะกระเซิงขนาดนั้น

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ 11 กันยาฯ สำหรับคนอเมริกันถือว่าเจ็บปวดมาก นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อเมริกาเปลี่ยนไปเหมือน “คนเลือดเข้าตา”

หลังจากวันนั้น อเมริกาก็ประกาศนโยบายที่จะทำลายขบวนการก่อการร้ายให้ได้ ขบวนการก่อการร้ายกลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ประธานาธิบดี Bush ประกาศว่า จะต้องทำลายเครือข่าย Al Qaeda จะต้องจับตัว Bin Laden ล้มล้างระบอบตาลีบัน หลังจากดำเนินการไปได้ซักพักหนึ่ง ก็สามารถล้มล้างระบอบตาลีบันลงไปได้ที่อัฟกานิสถาน

แต่ว่า Bin Ladenก็หายไป Al Qaeda ก็หายไป อเมริกาดำเนินยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์ระยะยาวคือ การทำลายเครือข่ายการก่อการร้ายทั่วโลก หยุดยั้งรัฐบาลที่สนับสนุนการก่อการร้าย ปฏิรูปการป้องกันประเทศใหม่ ดำเนินนโยบายทั้งด้านการทูต คือ สร้างแนวร่วมในการต่อต้านการก่อการร้าย ด้านข่าวกรอง การบังคับใช้กฎหมาย เศรษฐกิจ และทหาร ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน

หลังจากอเมริกาดำเนินนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายได้พักหนึ่ง เป็นภาค 1 เข้าสู่ภาค 2 เป็นภาคที่เรียกว่า Bush Doctrine เป็นการประเมินนโยบายการป้องกันประเทศใหม่ ประเมินรูปแบบภัยคุกคามต่ออเมริกา หลังจากที่ใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง ผลออกมาคือ หลังจากปราบปรามได้พักหนึ่ง อเมริกาเริ่มกลัวว่า การโจมตีของขบวนการก่อการร้ายครั้งต่อไป อาจจะเป็นอาวุธร้ายแรง อาจจะเป็นอาวุธเคมี อาวุธเชื้อโรค อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธกัมมันตภาพรังสี จึงกลายเป็นว่า แล้วอเมริกาจะป้องกันไม่ให้ขบวนการก่อการร้ายมีอาวุธเหล่านั้นได้อย่างไร ทางฝ่ายสหรัฐฯมุ่งเป้าไปที่ “อักษะแห่งความชั่วร้าย” คือ อิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือ 3 ประเทศนี้คือ 3 ประเทศที่มีศักยภาพมากที่สุด ในการที่จะพัฒนาอาวุธร้ายแรงเหล่านี้ และสามารถส่งต่ออาวุธเหล่านั้นให้แก่ขบวนการก่อการร้าย

จากข้อมูลของ CIA ได้มีการประเมินในแง่ของอิรักว่า ในตอนสงครามอ่าวครั้งที่ 1 ตอนนั้นอิรักเกือบจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้อยู่แล้ว แต่ว่าถูกทำลายเสียก่อนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน อย่างไรก็ตาม อิรักหลบ ๆ ซ่อน ๆ ที่จะพัฒนาอาวุธเหล่านี้กลับขึ้นมาอีก จากข้อมูลของ CIA คาดการณ์ว่า ภายในอีกไม่กี่ปีหรือร้ายไปกว่านั้นคือ ไม่กี่เดือน ถ้าไม่ทำอะไรซักอย่าง อิรักคงจะสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ และแน่นอนว่า ในแง่ของสหรัฐฯมีความเชื่อว่า อิรักนั้นมีการสร้างอาวุธเคมีและอาวุธเชื้อโรคอยู่ รวมทั้งความพยายามที่จะพัฒนา ขีปนาวุธพิสัยไกล

หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ มีการประเมินกันว่า เครือข่าย Al Qaeda รวมทั้ง Bin Ladenประกาศจุดยืนอย่างชัดเจน ต้องการที่จะมีอาวุธร้ายแรงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธเคมี เชื้อโรคและนิวเคลียร์ อาวุธตัวใหม่ที่ขบวนการก่อการร้ายจะได้มาง่าย ๆ คืออาวุธกัมมันตภาพรังสี หรือภาษาง่าย ๆ เรียกว่า dirty bomb ซึ่งจะทำขึ้นมาไม่ยากนัก โดยใช้กากนิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลให้มีคนตายได้ไม่น้อยเหมือนกัน
ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในอดีตที่ป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรงมี 3 ยุทธศาสตร์ คือ prevention, defense, deterrence

prevention คือป้องกันการแพร่ขยายของเทคโนโลยีของอาวุธเหล่านั้นไปสู่ประเทศหรือขบวนการก่อการร้าย
ส่วนยุทธศาสตร์การป้องปราม (deterrence) คือยุทธศาสตร์ ในสมัยสงครามเย็น เป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯและโซเวียตที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ในตอนนั้นยุทธศาสตร์การป้องปราม หมายความว่า ถ้าโซเวียตโจมตีสหรัฐฯ สหรัฐฯสามารถจะโจมตีรัสเซียกลับได้ และทั้ง 2 ประเทศก็จะหายนะด้วยกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้น อย่าคิดที่จะมีสงครามนิวเคลียร์จะดีกว่า ไม่มีประโยชน์อะไร ยิงมาก็ยิงกลับ หายนะด้วยกันทั้งคู่ นั่นคือการป้องปรามไม่ให้เกิดสงคราม

แต่ปัญหาคือ ยุทธศาสตร์การป้องกัน (prevention) รัฐบาลสหรัฐฯกำลังคิดว่าคงไม่ได้ผลแล้ว ในที่สุด ประเทศที่ต้องการมีอาวุธเหล่านี้ก็จะมี รวมทั้งขบวนการก่อการร้าย และยุทธศาสตร์การป้องปราม (deterrence) ก็คงไม่ได้ผลเช่นกัน เพราะในอดีตป้องปรามโซเวียตได้เพราะมีประเทศ มีประชากร แต่สหรัฐฯคิดว่าคงจะป้องปรามขบวนการก่อการร้ายไม่ได้

แล้วถ้าทั้ง 2 อย่างนี้ไม่ได้ผลก็ต้องใช้ defense คือ โครงการการสร้างเกราะป้องกันสหรัฐฯ ในกรณีที่อเมริกาถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธติดหัวรบอาวุธร้ายแรง อเมริกาจะสามารถทำลายขีปนาวุธเหล่านี้กลางอากาศ ก่อนที่จะมาตกที่อเมริกา ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯอยากจะสร้างระบบนี้อย่างมากก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แต่พอเกิดเหตุการณ์แล้ว ได้พิสูจน์ว่า เกราะกำบังคงไม่ได้ผล ถ้าขบวนการก่อการร้ายจะโจมตีอเมริกา คงจะไม่ยิงขีปนาวุธมาแน่ คงจะมาด้วยวิธีที่อเมริกาคาดไม่ถึง อาจจะใช้รถบรรทุก หรือเรือสินค้า แล้วซ่อนอาวุธร้ายแรงนั้นเข้ามา ดังนั้น defense คงไม่ได้ผล

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การป้องกันสหรัฐฯ ป้องกันการโจมตีจากอาวุธร้ายแรง ในที่สุดอเมริกาได้คิดยุทธศาสตร์ใหม่ขึ้นมา คือ preemption ยุทธศาสตร์การโจมตีก่อนที่เขาจะโจมตีเรา ซึ่งกรณีของอิรักเป็นกรณีแรก เป็นการเริ่มยุทธศาสตร์นี้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เพราะอเมริกามองแล้วว่า ถ้าปล่อยไว้ อิรักจะมีอาวุธนิวเคลียร์ และอาจจะส่งต่อให้ขบวนการก่อการร้าย จะให้อเมริกานั่งอยู่เฉย ๆ รอการโจมตีจากอาวุธร้ายแรงเหล่านี้ก่อนหรือ? Bush บอกว่านั่นเหมือนการฆ่าตัวตาย อเมริกาต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ คือ การตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

นี้คือสาเหตุที่อเมริกาบุกอิรักข้อที่ 1 คือ อาวุธร้ายแรง ซึ่งเป็นสาเหตุที่รัฐบาลสหรัฐฯประกาศอย่างเป็นทางการว่า นี่คือสาเหตุหลักที่อเมริกาต้องเข้าไปปลดอาวุธ ล้มระบอบซัดดัมเพื่อป้องกันอาวุธร้ายแรง แต่ จริง ๆ แล้ว สาเหตุที่อเมริกาบุกอิรักนั้น มีสาเหตุจากอะไรบ้าง นอกจากอาวุธร้ายแรง?