Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

จีน – อินเดีย : การแข่งขันในมหาสมุทรอินเดีย

จีน – อินเดีย : การแข่งขันในมหาสมุทรอินเดีย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วันศุกร์ที่ 21-วันพฤหัสฯที่ 27 มกราคม 2554

เกริ่นนำ

จีนและอินเดีย เป็นประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมาแรงที่สุด ในการเป็นมหาอำนาจ ทั้งสองประเทศ จะเป็นคู่แข่งกัน และกำลังจะขัดแย้งกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จีนมองว่า อินเดียเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่จะต้องถ่วงดุลและสกัดกั้นการขยายอิทธิพล เช่นเดียวกัน จีนก็มองอินเดียว่า เป็นคู่แข่งที่สำคัญ ที่จะต้องหาหนทางปิดล้อม อินเดียมองว่า จีนกำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมอินเดีย

แนวโน้มของความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดีย กำลังจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย การแข่งขันทางทหารในมหาสมุทรอินเดีย ระหว่างทั้งสองประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจีนและอินเดียต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ผ่านมหาสมุทรอินเดีย ทั้งสองประเทศ จึงต้องเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทะเล เพื่อปกป้องเส้นทางการลำเลียงน้ำมันของตน โดยจีนได้สร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Hambantota ทางตอนใต้ของศรีลังกา และที่ Gwadar ปากีสถาน รวมทั้งท่าเรือที่พม่า และบังคลาเทศ ส่วนอินเดียได้ตอบสนองต่อการรุกคืบทางทะเลของจีน ด้วยการพัฒนากองทัพเรือขนานใหญ่ และกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศเกาะเล็กๆในมหาสมุทรอินเดีย อาทิ Mauritius , Seychelles , Madagascar และ Maldives

Gwadar

การแข่งขันกันในมหาสมุทรอินเดียล่าสุด เกิดขึ้นโดยจีนสนับสนุนการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Gwadar ปากีสถาน ส่วนอินเดีย ก็ไปสนับสนุนสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Chabahar อิหร่าน ซึ่งอยู่ใกล้กับ Gwadar

สำหรับ Gwadar นั้น ตั้งอยู่ในอ่าวโอมาน ใกล้กับทางเข้าไปสู่อ่าวเปอร์เซีย ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1973 ตอนที่ประธานาธิบดี Nixon เยือนปากีสถาน ผู้นำปากีสถานในขณะนั้น คือ Ali Bhutto ได้เคยเสนอให้สหรัฐฯมาสร้างท่าเรือที่ Gwadar และเสนอให้กองทัพเรือสหรัฐฯมาใช้ประโยชน์ แต่สหรัฐฯก็ไม่สนใจ ต่อมา ปากีสถานจึงหันไปหาจีน ซึ่งจีนก็ตกลง และได้เริ่มสร้างท่าเรือน้ำลึกตั้งแต่ปี 2002 โดยลงทุนไปกว่า 1,000 ล้านเหรียญ ท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวสร้างเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2006 โดย Gwadar ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก ในเส้นทางการเดินเรือระหว่างตะวันออกกลางกับจีน โดยเฉพาะเส้นทางการลำเลียงน้ำมัน การที่จีนสามารถเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียได้โดยตรง จะทำให้จีนอยู่ในสถานะได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ แม้ว่าจีนจะพัฒนาท่าเรือที่พม่า และศรีลังกา แต่ท่าเรือที่ Gwadar ดูจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดย Gwadar นอกจากจะเป็นประตูสู่มหาสมุทรอินเดียของจีนแล้ว ยังทำให้จีนสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางทหารของกองทัพเรือสหรัฐฯและอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งของจีนในมหาสมุทรอินเดียของจีนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ท่าเรือ Gwadar มีประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงทหาร โดยสามารถใช้เป็นฐานทัพเรือที่สำคัญของจีน ทั้งเรือรบและเรือดำน้ำ

ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างจีนกับปากีสถาน ไม่ใช่มีแต่ในเฉพาะทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียเท่านั้น แต่ขณะนี้จีนมีแผนจะสร้างถนนเชื่อมระหว่างมณฑล Xinjiang ทางตะวันตกของจีน กับเขต Gilgit-Balistan ของปากีสถาน นอกจากนี้ ขณะนี้ มีการหารือที่จะสร้างเส้นทางรถไฟ ยาว 3,000 กิโลเมตร เชื่อมระหว่าง Gwadar กับ Kashgar โดยในระหว่างการเยือนจีนเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วของประธานาธิบดีปากีสถาน Ali Zardari ได้หารือในเรื่องนี้กับประธานาธิบดี Hu Jintao ของจีนในเรื่องนี้ด้วย

Chabahar

แต่สำหรับอินเดีย มองการเคลื่อนไหวของจีนดังกล่าวข้างต้นว่า เป็นยุทธศาสตร์ปิดล้อมอินเดียของจีน ซึ่งอินเดียจะต้องตอบโต้ โดยยุทธศาสตร์ตอบโต้ของอินเดีย คือ การเข้าไปพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมือง Chabahar ในอิหร่าน ซึ่งอยู่ห่างจาก Gwadar เพียง 72 กิโลเมตร

อินเดียมองว่า การที่จีนไปสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Gwadar นั้น เป็นภัยคุกคามต่ออินเดียโดยตรง เพราะ Gwadar อยู่ใกล้กับช่องแคบ Hormuz ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่ง Gwadar จะทำให้จีนและปากีสถาน สามารถควบคุมเส้นทางลำเลียงน้ำมันจากตะวันออกกลางได้

ดังนั้น อินเดียจึงได้ไปช่วยอิหร่านอย่างเต็มที่การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ Chabahar นอกจากนี้ อินเดียยังช่วยในการสร้างถนนจากอิหร่านเข้าสู่อัฟกานิสถาน และช่วยอิหร่านในการปรับปรุงเส้นทางรถไฟ

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างอินเดียกับอิหร่านนั้น อาจประสบอุปสรรคหลายประการ ประการแรกคือ การสร้างเส้นทางจากอิหร่านไปอัฟกานิสถานนั้น อาจจะต้องประสบกับสงครามจากนักรบ Taliban นอกจากนี้ เขต Chabahar ยังเป็นเขตที่ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย เพราะมีกลุ่มก่อการร้ายต่อต้านรัฐบาล โจมตีรัฐบาลบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ การที่อินเดียช่วยเหลืออิหร่านในการพัฒนาท่าเรือที่ Chabahar นั้น อาจจะไปขัดแย้งกับนโยบายของสหรัฐฯ ที่ต้องการโดดเดี่ยวอิหร่าน โดยเฉพาะปัญหาการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ดังนั้น จึงเป็นข้อสงสัยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอิหร่าน จะไปสอดรับกับการเป็นพันธมิตรระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯได้หรือไม่ แม้ว่าสหรัฐฯจะเห็นด้วยกับอินเดีย ถึงความจำเป็นที่จะต้องถ่วงดุลอิทธิพลของจีนใน Gwadar แต่สหรัฐฯก็คงไม่เห็นด้วยกันอินเดีย ที่จะไปถ่วงดุลจีนโดยผ่านทางอิหร่าน
กล่าวโดยสรุป การแข่งขันกันระหว่างจีนกับอินเดีย ในมหาสมุทรอินเดีย กำลังจะเข้มข้นขึ้นทุกขณะ จีนและอินเดีย กำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก แต่ตรรกะของการเมืองโลก จะทำให้ทั้งสองประเทศ มีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียปี 2554 (ตอนที่ 2)

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียปี 2554 (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วันศุกร์ที่ 14-วันพฤหัสฯที่ 20 มกราคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์เรื่องสำคัญๆในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ไปแล้ว ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อ เรื่องอื่นๆ ที่สำคัญเพิ่มเติม ดังนี้

การก่อการร้าย

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ สถานการณ์การก่อการร้ายในเอเชีย ที่น่าห่วงที่สุด คือ สถานการณ์ในเอเชียใต้ คือ ใน อัฟกานิสถาน และปากีสถาน รองลงมา คือ ใน เอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเรื่องอัฟกานิสถาน และปากีสถาน ผมจะแยกเป็นหัวข้ออีกเรื่องต่างหาก เพราะเป็นเรื่องใหญ่ สำหรับอินเดีย ในปีนี้ ก็น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการก่อการร้ายทางตอนเหนือ และทางตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับเมืองใหญ่ๆของอินเดีย เช่น นิวเดลี และมุมไบ ก็น่าเป็นห่วง ที่อาจจะมีการก่อวินาศกรรมเกิดขึ้น สำหรับในเอเชียกลาง มีขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรงที่ต้องการโค่นรัฐบาลสายกลาง โดยเฉพาะใน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน

สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเคลื่อนไหวของขบวนการก่อการร้าย มีอยู่ ใน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในกรณีของอินโดนีเซียนั้น รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ดำเนินมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง แนวโน้มการก่อการร้าย จึงน่าจะลดลง แต่คงยังไม่หมดไป สำหรับในฟิลิปปินส์ ได้มีความพยายามจากหลายๆประเทศร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ สำหรับในกรณีของไทย สถานการณ์การก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ยังคงมีการก่อวินาศกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ไปแล้วกว่า 4,000 คน มีความห่วงกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ อาจจะเข้ามามีความสัมพันธ์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน รวมทั้งยังไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของไทย กับเครือข่ายก่อการร้ายในภูมิภาค โดยเฉพาะกับกลุ่ม Jemaah Islamiyah หรือ JI

ผมมองว่า สถานการณ์การก่อการร้ายในภูมิภาคในปีนี้ คงจะลุกลามบานปลายต่อไป ไม่จบง่ายๆ

การแข่งขันการสะสมอาวุธ

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในภูมิภาค ในปีนี้ คือ แนวโน้มการแข่งขันกันสะสมอาวุธ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันกันสะสมอาวุธและซื้ออาวุธ มีดังนี้
• อินโดนีเซีย ซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซีย จำนวน 6 ลำ มูลค่า 300 ล้านเหรียญ
• ไทย ซื้อรถยานเกราะจากยูเครน จำนวน 96 คัน มูลค่า 125 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ ยังได้ซื้อเครื่องบินรบจากสวีเดน มูลค่า 574 ล้านเหรียญ ซึ่งจะส่งมอบในปีนี้
• สิงคโปร์ ได้ซื้อเรือดำน้ำจากสวีเดนเพิ่มเติมอีก 2 ลำ มูลค่า 128 ล้านเหรียญ
• มาเลเซีย ซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสและสเปน มูลค่าถึง 1,000 ล้านเหรียญ
• เวียดนาม ซื้อเรือดำน้ำจากรัสเซีย จำนวน 6 ลำ มูลค่า 2,000 ล้านเหรียญ และซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซียจำนวน 12 ลำ มูลค่า 1000 ล้านเหรียญ

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซีย นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ เพิ่มขึ้นถึง 84 % สิงคโปร์
เพิ่มขึ้น 146 % และมาเลเซียเพิ่มขึ้นถึง 722 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก การสั่งซื้ออาวุธส่วนใหญ่ เป็น เครื่องบิน เรือรบ และเรือดำน้ำ และขณะนี้ สิงคโปร์ติด 10 อันดับแรกประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่ในโลก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สิงคโปร์ กำลังหวาดวิตกเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือของตน

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสะสมอาวุธ ปัจจัยแรก น่าจะเป็นเพราะ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีความหวาดระแวงต่อกันและกันสูง โดยเฉพาะทางด้านการทหาร และปัจจัยที่ 2 น่าจะมาจากการผงาดขึ้นมาของจีน โดยเฉพาะการสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารของจีน และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ คงจะทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มสะสมอาวุธ เพื่อถ่วงดุลทางทหารกับจีน

ในปีนี้ แนวโน้มของการแข่งขันกันสะสมอาวุธ อาจจะเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้คงไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค

การผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของเอเชีย

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคที่ผมวิเคราะห์มา ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวร้าย แต่เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะวิเคราะห์ น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเอเชีย นั่นคือ แนวโน้มการผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งในปีนี้ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย น่าจะโดดเด่นมากขึ้น ปีที่แล้ว เศรษฐกิจของเอเชีย ได้ฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก กำลังจะย้ายฐานจากตะวันตกมาสู่เอเชีย โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของอินเดีย และจีน ทำให้เอเชียโดดเด่นมาก ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และนวัตกรรมต่างๆ ปีนี้ เราจะเห็นประเทศต่างๆในเอเชีย มีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก ใน G20 ก็มีประเทศในเอเชียหลายประเทศเป็นสมาชิกอยู่ สำหรับ IMF และ ธนาคารโลก ปีที่แล้ว ทางตะวันตกก็ต้องยอมจัดสรรอำนาจในการลงคะแนนเสียงให้กับประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้น

ปีที่แล้ว เอเชียประสบความสำเร็จอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ และความสำเร็จนั้น น่าจะทอดยาวมาถึงปีนี้ โดยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย สูงถึง 8.4% ซึ่งสูงกว่าตะวันตกที่มีอัตราเฉลี่ย 2.1% นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในของจีน จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชีย และ เอเชียก็กำลังเดินหน้าการบูรณาการทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อตกลงทางด้านการค้า และการลงทุนต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เอเชีย ยังจะต้องเผชิญกับปัญหาหลายเรื่อง คือ ความหวาดระแวงกันทางด้านการทหาร ทำให้หลายๆประเทศในเอเชีย เริ่มหวาดระแวงการผงาดขึ้นมาของจีน และหันไปใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อดึงสหรัฐฯเข้ามาถ่วงดุลจีน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวิกฤติการเงินหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาค่าเงิน แนวโน้ม คือ ประเทศต่างๆในเอเชีย คงจะมีการแทรกแซงค่าเงินมากขึ้น นโยบายปั๊มเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ รวมทั้งวิกฤตการเงินในยุโรป จะส่งผลกระทบต่อเอเชีย ซึ่งจะนำไปสู่แนวโน้มของนโยบายการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุน หรือ capital control เพื่อป้องกันการไหลทะลักของเงินทุนตะวันตก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียปี 2554

แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียปี 2554

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วันศุกร์ที่ 7-วันพฤหัสฯที่ 13 มกราคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ เป็นตอนต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคในปีนี้ ซึ่งจะมีเรื่องสำคัญๆ ที่จะต้องจับตามองดังนี้

จีน

สำหรับในปีนี้ ผมคิดว่า เรื่องที่น่าจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคมากที่สุด คือการผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆในภูมิภาค

ในปีนี้ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯอาจจะเข้าสู่จุดวิกฤติ ปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศขัดแย้งกันหลายเรื่อง ปีนี้ ความขัดแย้งอาจจะยืดเยื้อบานปลายต่อไป โดยความขัดแย้งอาจจะขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนกับสหรัฐฯขัดแย้งกัน คือ การผงาดขึ้นมาของจีน นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นอาจทรุดหนักลงเช่นเดียวกัน โดยประเด็นความขัดแย้ง คือ การอ้างสิทธิ์เหนือเกาะในทะเลจีนตะวันออก ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Sensaku ส่วนจีนเรียกว่า Diaoyu และมีแนวโน้มเช่นเดียวกันว่า จีนกับอินเดียอาจขัดแย้งกันมากขึ้น โดยความขัดแย้งจะลามไปหลายมิติ ทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางพรมแดน ความขัดแย้งในมหาสมุทรอินเดีย และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ

ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้พยายามขายไอเดียเรื่องการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise แต่จากท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนที่เพิ่มขึ้นหลายๆเรื่อง เริ่มทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของจีนหวั่นวิตก ซึ่งจะนำไปสู่การปรับนโยบายใหม่ต่อจีน และเราน่าจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในปีนี้ ส่วนมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ก็กำลังจะปรับนโยบายทางทหาร และมีแนวโน้มจะเพิ่มบทบาททางทหารมากขึ้นเพื่อปิดล้อมจีน ประเทศต่างๆในภูมิภาคก็มีแนวโน้มจะใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น เพื่อดึงสหรัฐฯเข้ามาถ่วงดุลทางทหารกับจีน

สหรัฐฯ

สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคเรื่องที่ 2 ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ยุทธศาสตร์ในเชิงรุกของสหรัฐฯ ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯในภูมิภาคคือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และยุทธศาสตร์การป้องกันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

ปีที่แล้ว เราได้เห็นสหรัฐฯ active มากเป็นพิเศษ โดยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ เช่นเวียดนาม และอินโดนีเซีย ในเวทีพหุภาคี สหรัฐฯก็ active มากเป็นพิเศษกับอาเซียน ในปีนี้ Obama จะเข้าร่วมประชุมสุดยอด EAS ที่อินโดนีเซีย เช่นเดียวกับเวที APEC สหรัฐฯกำลังรุกหนัก โดยเฉพาะการผลักดัน FTA ในกรอบ TPP ทางด้านทหาร สหรัฐฯก็ active มากเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการซ้อมรบกับพันธมิตรต่างๆในภูมิภาค และจุดประเด็นความขัดแย้งประเด็นหมู่เกาะสแปรตลีย์กับจีนอีกด้วย

เกาหลีเหนือ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคอีกเรื่องที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ คำถามสำคัญในปีนี้คือ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี จะลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามเกาหลีครั้งใหม่หรือไม่? คำตอบของผมคือ สงครามเกาหลีครั้งใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ความขัดแย้งน่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป เพราะไม่สามารถหาสูตรลงตัวที่จะเจรจากันได้ คือเกาหลีเหนือต้องการเจรจากับสหรัฐฯ โดยต้องการสนธิสัญญาสันติภาพ และหลักประกันความมั่นคงจากสหรัฐฯว่า จะไม่โจมตีหรือโค่นรัฐบาลเกาหลีเหนือ แต่สหรัฐฯก็ตั้งเงื่อนไขว่า จะเจรจาก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน ซึ่งเกาหลีเหนือไม่มีทางยอม ดังนั้น วิกฤติในคาบสมุทรเกาหลีจึงจะยังคงมีต่อไป โดยเราอาจจะเห็นเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 ทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล หรืออาจโจมตีเกาหลีใต้ครั้งใหม่

พม่า

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้คือ สถานการณ์ในพม่า คำถามสำคัญคือ อนาคตการเมืองพม่าจะเป็นอย่างไร? ผมมองว่ารัฐบาลใหม่ของพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง คือพรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้น ถึงแม้จะไม่โปร่งใส แต่ก็มีความชอบธรรมมากขึ้น ดังนั้น ในปีนี้ คาดว่า กระแสต่อต้าน แรงกดดัน และมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ น่าจะลดลง ส่วนเรื่องบทบาทของ อองซาน ซูจี นั้น ยังมีความไม่แน่นอนว่านางจะมีบทบาทอย่างไรต่อไป แต่ผมมองว่า การปล่อยตัวซูจีในครั้งนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักต่อการเมืองพม่า

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้คือ ข้อสงสัยว่า พม่ากำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ และเกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่? ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ดังนั้นแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้คือ กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้มีข่าวออกมาแล้วว่า ทาง IAEA ได้มีหนังสือถึงรัฐบาลพม่า เพื่อขอเข้าไปตรวจสอบ เราคงต้องจับตาติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่วิกฤติที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามในอนาคตได้ คือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์

ปีที่แล้ว สหรัฐฯได้จุดชนวนปัญหาครั้งใหม่ ในระหว่างการประชุม ARF ที่เวียดนาม ท่าทีของสหรัฐฯทำให้จีนไม่พอใจมาก หลังจากนั้น จีนได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนาม เรือรบและเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ได้จอดเทียบท่าที่เมืองดานัง และเวียดนามได้ประณามจีนในการส่งเรือรบเข้าไปในหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเวียดนามถือว่าเป็นของตน

เอเปค

สำหรับเวทีพหุภาคีในภูมิภาคในปีนี้ ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ เอเปค ปีที่แล้ว ในการประชุมสุดยอดเอเปค ที่ญี่ปุ่น สหรัฐฯได้ผลักดันเรื่องการจัดตั้งประชาคมเอเปค ซึ่งน่าจะเป็นการผลักดันขึ้นมาเพื่อแข่งกับประชาคมอาเซียน โดยประชาคมเอเปค หัวใจอยู่ที่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) และ Trans Pacific Partnership หรือ TPP ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯคือ การผลักดัน TPP ให้เป็นรากฐานของการจัดตั้ง FTAAP โดยเป้าหมายระยะยาวคือ การขยายสมาชิกของ TPP จาก 9 ประเทศ ออกไปให้ครอบคลุมประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปีนี้ สหรัฐฯจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดเอเปค ที่ฮาวาย และ TPP ก็คงจะเป็นไฮไลท์ ของการประชุมอย่างแน่นอน

อาเซียน

สำหรับเวทีพหุภาคีอีกเวทีที่ต้องจับตามอง คือ อาเซียน ขณะนี้ อาเซียนกำลังวุ่นอยู่กับ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ การจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้สำเร็จภายในปี 2015 เรื่องที่ 2 คือ การทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

ปีที่แล้ว เวียดนามเป็นประธานอาเซียน ก็ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม และได้มีความคืบหน้าหลายเรื่องในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน รวมทั้งความคืบหน้าในการทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

สำหรับในปีนี้ อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน อินโดนีเซียเคยมีบทบาทนำในอาเซียนมายาวนาน อินโดนีเซียมีความทะเยอทะยานที่จะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ดังนั้น คาดว่า อินโดนีเซียจะ active ในการเป็นประธานอาเซียน และน่าจะมีการผลักดันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งท้าทายอยู่อีกมาก ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถึงแม้จะคืบหน้าไปมาก แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี และเรื่องการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่วนประชาคมการเมืองความมั่นคง ยังมีปัญหากลไกสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการจัดตั้งกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคนั้น สิ่งท้าทายอาเซียนในปีนี้ คือการผลักดันให้กรอบอาเซียน+3 และ EAS พัฒนาไปอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ อาเซียนกำลังมีคู่แข่ง โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ซึ่งจะใช้เอเปค และ TPP มาเป็นคู่แข่งของอาเซียน ในการที่จะทำให้สหรัฐฯ เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคแข่งกับอาเซียน

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2554 (ตอนที่ 2)

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2554 (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 13 มกราคม 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2554 คือในปีนี้ไปแล้ว ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะเป็นตอนที่ 2 ต่อจากตอนที่แล้ว ซึ่งจะมีเรื่องสำคัญ ที่จะต้องจับตามองในปีนี้อยู่อีกหลายเรื่อง ดังนี้

การก่อการร้าย

ในปีนี้ คาดว่า สถานการณ์ภัยคุกคามต่อโลกจะมีหลายเรื่อง คือจะมีทั้งเรื่องการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และขีปนาวุธ ปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ที่เป็นเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ รวมทั้งปัญหาโจรสลัด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าจะรุนแรงที่สุด คือ เรื่องปัญหาการก่อการร้ายสากล โดยสถานการณ์การก่อการร้าย และการก่อวินาศกรรม ในปีนี้ จะยังคงมีอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก

สำหรับภูมิภาคที่ล่อแหลมต่อการก่อการร้าย น่าจะยังคงเป็น ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ โดยเฉพาะสงครามในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน จะยังคงยืดเยื้อต่อไป (เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งผมจะแยกเป็นหัวข้อต่างหาก) นอกจากนี้ คาบสมุทรอาระเบีย อัฟริกาตะวันออก โซมาเลีย และเยเมน น่าจะเป็นสมรภูมิสำคัญของสงครามการก่อการร้ายในปีนี้

องค์กร Al Qaeda ถึงแม้จะมีบทบาทลดลง แต่องค์กรแนวร่วมอุดมการณ์กับ Al Qaeda ที่กระจายอยู่ทั่วโลกมุสลิม มีแนวโน้มจะเพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยแนวโน้มของ Al Qaeda จะมีอยู่ 5 มิติด้วยกัน มิติที่ 1 คือ องค์กร Al Qaeda ดั้งเดิม ที่เป็นแกนกลางของการก่อการร้าย จะเป็นองค์กรหลักในการกำหนดทิศทางของแนวร่วมก่อการร้ายทั่วโลก มิติที่ 2 คือ เครือข่ายที่เป็นแนวร่วมกับเครือข่าย Al Qaeda โดยเฉพาะกลุ่ม Taliban ในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน มิติที่ 3 คือ แนวร่วมของ Al Qaeda ในโลกมุสลิม ซึ่งมีหลายกลุ่ม อาทิ Al Qaeda in the Arabian Peninsula กลุ่ม Lashkar e-Tayyiba ในอินเดีย และปากีสถาน Al Qaeda in Iraq กลุ่ม Islamic Jihad Union และ Islamic Movement of Uzbekistan และ Turkistani Islamic Party ในแคว้นซินเจียงของจีน มิติที่ 4 คือ กลุ่มก่อการร้าย ที่เรียกว่า home grown terrorist ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นในยุโรปและสหรัฐฯ แต่มีอุดมการณ์ร่วมกับ Al Qaeda และมิติที่ 5 คือ อุดมการณ์ของ Al Qaeda คือการทำสงครามศาสนาต่อต้านตะวันตก ซึ่งอุดมการณ์ดังกล่าวได้แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม
ในปี 2011 จะเป็นปีครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ 11 กันยาฯ จึงมีแนวโน้มว่า Al Qaeda คงจะหาหนทางในการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์ดังกล่าว

สถานการณ์การก่อการร้ายในปีนี้ และในอนาคต จึงยังคงจะลุกลามบานปลายต่อไป

สงครามอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ สถานการณ์สงครามในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน โดยสงครามในอัฟกานิสถานได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ นักรบ Taliban และ Al Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ แหล่งซ่องสุมใหญ่อยู่บริเวณพรมแดนของปากีสถาน และอัฟกานิสถาน นักรบ Taliban ได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานมากขึ้นเรื่อยๆ และกองกำลังนาโต้และสหรัฐฯ กำลังตกที่นั่งลำบาก แม้ว่าขณะนี้เป็นช่วงฤดูหนาว การสู้รบอาจจะดูลดลง แต่มีความเป็นไปได้ว่า หลังฤดูหนาว การสู้รบจะกลับมารุนแรงอีก ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือการจะทำให้ฝ่าย Taliban อ่อนแอลง และทำให้กองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถาน เข้มแข็งขึ้น แต่ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ขณะนี้ ฝ่าย Taliban กลับเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล Karzai ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นงานยากขึ้นเรื่อยๆสำหรับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาความแตกแยกในพันธมิตรนาโต้ โดยหลายประเทศต้องการถอนทหาร สหรัฐฯเอง ก็ประกาศจะค่อยๆถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน แต่ผมดูแล้ว คงยาก ที่สหรัฐฯจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานได้ ในทางตรงข้าม ในอนาคต อาจจะต้องเพิ่มกองกำลังมากขึ้นอีก

สำหรับสถานการณ์ในปากีสถาน ก็กำลังหนักหนาสาหัสเช่นเดียวกัน ปากีสถานกำลังกลายเป็นสมรภูมิใหญ่ ในสงครามการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ และเช่นเดียวกับในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน ได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุม ของทั้ง Al Qaeda และ Taliban และนักรบ Taliban ในปากีสถาน ได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ

วิกฤตินิวเคลียร์

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ วิกฤตินิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ และอิหร่าน ซึ่งยืดเยื้อมาหลายปี และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไปในปีนี้ น่าเป็นห่วงว่า เกาหลีเหนือ จะเดินหน้าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และพยายามขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้กับประเทศอื่นต่อไป เช่นเดียวกับอิหร่าน ก็น่าจะเดินหน้าต่อ ในการพัฒนา สิ่งที่อิหร่านเรียกว่า โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ แต่ทางฝ่ายตะวันตก เรียกว่า โรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าในสมัยรัฐบาลโอบามา จะได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ต่ออิหร่าน และเกาหลีเหนือโดยใช้ไม้อ่อน คือ การเจรจากับทั้ง 2 ประเทศ แต่ขณะนี้ การเจรจาก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ท่าทีของอิหร่าน และเกาหลีเหนือ ยังไม่เปลี่ยนแปลง ที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด ตะวันตกพยายามกดดันอิหร่านด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการผลักดันมาตรการคว่ำบาตรในคณะมนตรีความมั่นคงของ UN แต่มาตรการดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ

สำหรับในกรณี เกาหลีเหนือ ซึ่งแตกต่างจากอิหร่าน อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว ที่ผ่านมา การเจรจา 6 ฝ่ายก็ล้มเหลว และไม่สามารถหาสูตรลงตัวที่จะทำให้เกาหลีเหนือกลับมาเจรจา 6 ฝ่ายอีก โดยเกาหลีเหนือ ต้องการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯก็ตั้งเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือ ต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน แต่เกาหลีเหนือไม่มีทางยอม ดังนั้น วิกฤติเกาหลีเหนือ คงจะยืดเยื้อต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ว่า ในปีนี้ เกาหลีเหนืออาจจะทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ครั้งที่ 3 เพื่อกดดันสหรัฐฯไปเรื่อยๆ

การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ผมจะวิเคราะห์ คือ การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งในปีนี้ คงต้องจับตามองว่า จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โครงสร้างระบบเศรษฐกิจโลกกำลังค่อยๆเปลี่ยนไป โดยอำนาจทางเศรษฐกิจของตะวันตกกำลังลดลง ในขณะที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของเอเชีย และละตินอเมริกา กำลังผงาดขึ้นมา โดยประเทศที่น่าจับตามองคือ ประเทศ BRIC คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ในอนาคต กลุ่ม BRIC จะมีอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอำนาจของตะวันตก

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระเบียบเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ คือ การที่กลไก G20 กลายเป็นกลไกสำคัญในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจโลก สมาชิกครึ่งหนึ่งของ G20 มาจากประเทศกำลังพัฒนา และ 5 ประเทศ มาจากเอเชีย อย่างไรก็ตาม ระเบียบเศรษฐกิจโลกในปี 2554 นี้ กำลังถึงจุดเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีความแน่นอน เพราะกลุ่ม G20 เอง หลังจากเคยโดดเด่นในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่หลังจากนั้น บทบาทก็เริ่มตกลง ดังนั้น ระเบียบเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่ไม่มีความแน่นอน ในเรื่องของกฎเกณฑ์ ตัวแสดง ผู้นำ และองค์กรหลัก คือ ขณะที่ตะวันตก คือ กลุ่ม G7 และ G8 กำลังลดบทบาทลง แต่สหรัฐฯยังคงพยายามครองความเป็นเจ้า และไม่ต้องการให้ G20 มีบทบาทมากเกินไป ในขณะที่เวทีพหุภาคีในระดับโลกก็ประสบปัญหา โดยเฉพาะ UN , WTO , IMF และธนาคารโลก ดังนั้น ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ในปีนี้ คงต้องจับตามองว่า จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ขึ้นมากน้อยเพียงใด มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน อำนาจในการจัดการเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในมือของตะวันตกต่อไปหรือไม่ และ G20 จะมาแทนที่ G 8 ได้หรือไม่ เราคงต้องจับตามองในปี 2554 นี้ ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2554

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2554
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 31 ธันวาคม 2553

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ จะเป็นตอนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2554 ซึ่งน่าจะมีเรื่องที่จะต้องจับตามองอยู่ 5 เรื่อง ดังนี้

การผงาดขึ้นมาของจีน
สำหรับในปี 2554 ผมคิดว่า เรื่องที่น่าจะส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุดคือ การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับมหาอำนาจต่างๆ

ในปี 2554 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ น่าจะเข้าสู่จุดวิกฤติ โดยในปีนี้ ก็ขัดแย้งกันหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่อง Google ถอนตัวออกจากจีน การขายอาวุธให้กับไต้หวัน การที่โอบามา พบกับ ดาไล ลามะ ที่ทำเนียบขาว ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เสื่อมโทรมลง กลายเป็นสงครามการค้าและสงครามค่าเงิน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมองว่า จีนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคว่ำบาตรอิหร่าน พม่า เกาหลีเหนือ เรื่องรางวัลโนเบลสันติภาพ และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และในทะเลเหลือง

ในปี 2554 ความขัดแย้งน่าจะยังคงยืดเยื้อบานปลายต่อไป โดยอาจขยายตัวขัดแย้งกันรุนแรงมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนกับสหรัฐฯ ขัดแย้งกันคือ การผงาดขึ้นมาของจีน ในอนาคตจีนจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในขณะที่จีนผงาดขึ้นมา อำนาจของสหรัฐฯ ก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ สหรัฐฯ กำลังกลัวว่าจีนจะมาแย่งตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกจากตนไป ในขณะที่จีน ก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกในอนาคต ทำให้จีนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ มากขึ้น ปัจจัยนี้ จึงจะทำให้จีนกับสหรัฐฯ จะยังคงขัดแย้งกันไปอีกนาน และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ในปีหน้า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก็อาจจะทรุดหนักลงเช่นเดียวกัน เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปีนี้ ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น โดยประเด็นความขัดแย้ง เป็นการอ้างสิทธิ์เหนือเกาะในทะเลจีนตะวันออก ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Sensaku ส่วนจีนเรียกว่า Diaoyu โดยสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งคือ การแข่งขันกันเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นคือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน โดยร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการปิดล้อมจีน

ในปี 2554 มีแนวโน้มว่า จีนกับอินเดียก็จะมีความขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น โดยจีนและอินเดียเป็นประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมาแรงที่สุด สองประเทศมีลักษณะเป็นคู่แข่งกันและกำลังจะขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยความขัดแย้งจะลามไปในหลายมิติ ทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางพรมแดน ความขัดแย้งในมหาสมุทรอินเดีย และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ

จุดอันตรายอีกจุดหนึ่ง สำหรับในปีหน้าคือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือ หมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งอาจลุกลามใหญ่โตกลายเป็นสงครามในอนาคตได้

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งในปีนี้ ถูกจุดชนวนด้วยการให้รางวัลโนเบลสันติภาพ แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในจีน ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก การให้รางวัลโนเบลในครั้งนี้ ทำให้จีนตกเป็นเป้าในแง่ลบในสายตาประชาคมโลก ทำให้ประชาคมโลกหันมามองเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของจีน และกลายเป็นภาพลบที่สุดของจีน ในปีหน้า มีแนวโน้มว่า ตะวันตกคงจะใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนโจมตีจีนอย่างต่อเนื่อง และเราคงต้องจับตามองกันต่อว่า ในปีหน้า พัฒนาทางการเมืองของจีน โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในอนาคต การทูตจีนทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี คงต้องเผชิญกับการหยิบยกปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมาหารือ รัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ คงจะถูกกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว Liu Xiaobo ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นขัดแย้งหนักในปีหน้าก็ได้

ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้พยายามอย่างยิ่ง ที่จะขายไอเดียเรื่อง การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise แต่จากท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนในหลายๆ เรื่อง ได้ทำลายภาพลักษณ์ของจีน โดยเฉพาะสโลแกนเรื่องการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก พฤติกรรมของจีนได้ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของจีน เริ่มหวั่นวิตกถึงพฤติกรรมที่แข็งกร้าวและก้าวร้าวมากขึ้นของจีน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับนโยบายใหม่ต่อจีน ซึ่งเราน่าจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในปีหน้านี้ โดยญี่ปุ่นได้ประกาศว่า จีนจะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ และญี่ปุ่นกำลังจะปรับนโยบายการป้องกันประเทศใหม่ ส่วนสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น เพื่อปิดล้อมจีน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ก็มีแนวโน้มจะไปใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อที่จะให้สหรัฐฯ มาถ่วงดุลทางทหารกับจีน และเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงต่อภัยคุกคามจากจีนในอนาคต

สงครามค่าเงิน

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์โลก เรื่องที่น่าจะมีความสำคัญเป็นอันดับสองในปีหน้าคือ สงครามค่าเงิน ซึ่งพัวพันกับวิกฤติการเงินโลก เรื่องหลักคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเรื่องค่าเงินหยวน ในปีนี้ สหรัฐฯ ได้กดดันจีนอย่างหนัก โดยขู่ว่าจะประกาศให้จีนเป็น currency manipulator สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อตอบโต้จีน สหรัฐฯ พยายามหาแนวร่วมกับประเทศต่างๆ ในการกดดันจีน ทั้งใน IMF และ G 20 แต่ก็ไม่สำเร็จ

แต่ในปีหน้า สหรัฐฯ น่าจะยังคงเดินหน้ากดดันจีนต่อไป และอาจจะมีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น สงครามค่าเงินได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก ซึ่งน่าจะทอดยาวขยายตัวยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า ปี 2554 เราอาจจะเห็นประเทศต่างๆ เพิ่มมาตรการปกป้องทางการค้ามากขึ้น และมีมาตรการแทรกแซงค่าเงินของตนเลียนแบบจีนมากขึ้น ระบบการเงินโลกยังน่าจะอยู่ในสภาวะปั่นป่วน โดยเฉพาะวิกฤติการเงินในยุโรป และปัญหาการไหลทะลักของเงินทุนเข้าสู่เศรษฐกิจเกิดใหม่ อาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้นได้

ภาวะโลกร้อน

เรื่องที่สามคือ ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญของโลกต่อไปอีกนาน แต่ในช่วงปีที่แล้วและปีนี้ การประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนของ UN ก็ประสบความล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง คือ ทั้งที่โคเปนเฮเกน และที่แคนคูน

ปีหน้า จะมีการประชุมใหญ่ที่อัฟริกาใต้ในช่วงปลายปี แต่ความหวังที่การประชุมจะประสบความสำเร็จก็น้อยเต็มที ทั้งนี้เพราะมี 4 เรื่องใหญ่ที่น่าจะยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรกคือ รูปแบบของข้อตกลง ประเทศยากจนต้องการต่ออายุพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่ เรื่องที่สอง ประเทศยากจนต้องการกำหนดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1 องศา แต่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา เรื่องที่สาม ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2020 แต่ประเทศร่ำรวยโดยเฉพาะสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้มีการกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซ เรื่องที่สี่ ประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินให้กับประเทศยากจน 1% ของ GDP แต่ประเทศร่ำรวยไม่ยอมรับเป้าหมายดังกล่าว ผมคาดการณ์ว่า การประชุมที่อัฟริกาใต้ ปลายปีหน้า ก็คงจะล้มเหลวอีก สาเหตุหลัก มาจากแต่ละประเทศมองในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติ จุดยืนของทุกประเทศก็เหมือนกันหมดคือ พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบน้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด

เกาหลีเหนือ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์โลกปีหน้า อีกเรื่องที่ต้องจับตามองคือ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ เมื่อตอนเดือนพฤศจิกายน เกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่ถล่มฐานทัพทางทหารของเกาหลีใต้รวมทั้งบ้านเรือนของประชาชนที่เกาะ Yeonpyeong ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 1953 ที่เกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่สู่เป้าหมายที่เป็นพลเรือน ดังนั้น คำถามสำคัญในปีหน้าคือ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีจะลุกลามใหญ่โตเป็นสงครามเกาหลีครั้งใหม่หรือไม่ คำตอบของผมคือ สงครามเกาหลีครั้งใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพราะทั้ง 2 เกาหลีรู้ดีว่า หากเกิดสงคราม ทั้ง 2 ประเทศจะประสบกับหายนะ และแหลกลาญกันไปทั้ง 2 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ในปี 2554 ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีน่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป ทั้งนี้เพราะการเจรจาไม่สามารถหาสูตรที่ลงตัวได้ คือ เกาหลีเหนือต้องการเจรจากับสหรัฐฯ โดยต้องการสนธิสัญญาสันติภาพ และหลักประกันความมั่นคงว่า จะไม่โจมตีหรือโค่นรัฐบาลเกาหลีเหนือ แต่สหรัฐฯ ตั้งเงื่อนไขว่า จะเจรจาก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน ซึ่งเกาหลีเหนือก็ไม่มีทางยอม ดังนั้นวิกฤติในคาบสมุทรเกาหลีคงจะมีต่อไป โดยเป็นไปได้ว่า ขั้นต่อไปของเกาหลีเหนือเพื่อกดดันและเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐฯ คือ การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 การทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล หรืออาจมีการโจมตีเกาหลีใต้ครั้งใหม่ก็เป็นไปได้

พม่า

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่จะต้องจับตามองในปีหน้าคือ สถานการณ์ในพม่า ซึ่งมีอยู่หลายเรื่อง คือ การเมืองภายหลังการเลือกตั้ง บทบาทของออง ซาน ซูจี และข้อกล่าวหาเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

หลังจากถูกกดดันจากนานาชาติมานาน รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงถึง 80% คือ พรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ซึ่งเป็นพรรคที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้น ผู้นำทหารหลายคนลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของพรรค เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็คงจะเป็นรัฐบาลทหารเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องแบบจากชุดทหารมาเป็นชุดพลเรือนเท่านั้น และในขณะที่ทั่วโลกกำลังวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งในพม่า รัฐบาลทหารก็ใช้ยุทธศาสตร์ที่แยบยลเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ภายหลังการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน

ดังนั้น ในปีหน้านี้ คำถามสำคัญคือ แนวโน้มอนาคตการเมืองพม่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผมมองว่า รัฐบาลใหม่ของพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้จะไม่โปร่งใส แต่ก็มีความชอบธรรมมากขึ้น ดังนั้น ในปีหน้า กระแสต่อต้าน การกดดัน และมาตรการคว่ำบาตรน่าจะลดลง

ส่วนอีกประเด็นคือ บทบาทของออง ซาน ซูจี ในอนาคต ยังมีความไม่แน่นอนว่า นางจะมีบทบาทต่อไปอย่างไร แต่การที่รัฐบาลทหารพม่ายอมปล่อยตัวนางออกมา เพราะรัฐบาลมองว่า นางจะไม่เป็นพิษเป็นภัยอีกต่อไป ถึงแม้ ซูจี จะตอกย้ำว่า จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไป แต่มีคำถามหลายคำถามว่า นางจะทำได้หรือไม่ แผนที่จะหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ กว่า 30 พรรค อาจจะไม่สำเร็จ รัฐบาลทหารพม่าคงจะจับตามองความเคลื่อนไหวของซูจี อย่างใกล้ชิด และคงจะไม่ปล่อยให้นางมีอิสระเสรีภาพให้นางทำอะไรได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การปล่อยตัว ซูจี ในครั้งนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักต่อการเมืองพม่า

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องจับตามองในปีหน้าคือ ข้อสงสัยว่า พม่ากำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และการที่เกาหลีเหนือได้แอบช่วยพม่าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากหลายแหล่งข่าว แต่โดยสรุปแล้ว ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง และเกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้านี้คือ กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยจะต้องมีกลไกในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งอาจจะเป็น IAEA เพราะหากพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านติดกับพม่า ซึ่งล่าสุด ได้มีข่าวว่า ทาง IAEA ได้มีหนังสือถึงรัฐบาลพม่า เพื่อขอเข้าไปตรวจสอบในเรื่องโรงงานนิวเคลียร์แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่า รัฐบาลพม่าจะยอมให้ IAEA เข้าไปตรวจสอบหรือไม่ เราคงจะต้องจับตาติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไปในปีหน้า

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

สรุปสถานการณ์โลกปี 2553 (ตอนจบ)

สรุปสถานการณ์โลกปี 2553 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2553 - วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ จะเป็นตอนส่งท้ายปีเก่า ผมจะสรุปเหตุการณ์สถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยจะเลือกมา 10 เรื่อง และจัดอันดับเป็นสถานการณ์โลก Top 10 สิบเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด โดยหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับคือ จะวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ใด จะมีผลกระทบต่อโลกมากที่สุด ตอนที่แล้วได้สรุปอันดับที่ 6-10 ไปแล้ว ตอนนี้จะมาสรุปต่อ ตั้งแต่อันดับที่ 5 จนถึงอันดับ 1

อันดับที่ 5 การประชุม UN เรื่อง MDG
เมื่อปี 2000 ได้มีการประชุมที่เรียกว่า Millennium Summit ที่ UN และได้มีการจัดทำ Millennium Development Goals หรือ MDG ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายช่วยเหลือประเทศยากจน ภายในปี 2015
สำหรับการประชุมสุดยอดของ UN เรื่อง MDG ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน โดยได้มีการประเมินความคืบหน้าของเป้าหมายต่างๆ และมีการกำหนดมาตรการเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย MDG ผมมองว่า เรื่องการประชุม MDG ในครั้งนี้ และผลการประชุม ถือเป็นข่าวดีเพียงเรื่องเดียวใน 10 เรื่องทั้งหมด คือ เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อคนในโลกในทางบวก แต่อีก 9 เรื่อง มีผลกระทบต่อโลกในทางลบทั้งสิ้น
•การแก้ปัญหาความยากจน : MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2015 จะลดจำนวนคนจนและคนอดอยากหิวโหยลงให้ได้ครึ่งหนึ่งจากจำนวนของปี 1990 โดยในปี 2005 มีคนจนที่มีรายได้ไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน อยู่ประมาณ 1,400 ล้านคน แต่ในปี 2015 จะลดลงเหลือ 920 ล้านคน การประชุมสุดยอด MDG ครั้งนี้ ธนาคารโลกได้ประกาศเพิ่มเงินให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแก่ประเทศยากจน เป็นเงิน 6,000-8,000 ล้านเหรียญต่อปี ในช่วง 3 ปี ข้างหน้า
•การศึกษาขั้นประถม : MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2015 จะทำให้เด็กทุกคนในโลกมีการศึกษาอย่างน้อยขั้นประถม ในปี 2000 มีเด็กที่มีการศึกษาขั้นประถมในอัฟริกา จำนวน 58% แต่ในปี 2007 เพิ่มขึ้นเป็น 74% แต่คงเป็นสิ่งยากมากที่จะบรรลุเป้าหมาย MDG และในการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ ธนาคารโลกประกาศให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานในอัฟริกาเพิ่มขึ้นอีก 750 ล้านเหรียญ
•สุขภาพของมารดาและเด็ก : MDG ตั้งเป้าว่า จะลดจำนวนการเสียชีวิตของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ให้ได้ 2 ใน 3 และลดจำนวนมารดาที่เสียชีวิตจากการคลอดบุตร ให้ลดลง 3 ใน 4 ภายในปี 2015 ในการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ ได้มีการประกาศยุทธศาสตร์สุขภาพอนามัยของผู้หญิงและเด็ก เป็นเงิน 4 หมื่นล้านเหรียญภายใน 5 ปีข้างหน้า เงินช่วยเหลือดังกล่าว จะสามารถช่วยชีวิตผู้หญิงเละเด็กได้จำนวน 16 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ผมประเมินว่า การบรรลุเป้าหมาย MDG ในปี 2015 ยังคงเป็นเรื่องยากมาก ทั้งนี้เพราะ ประเทศร่ำรวยไม่ได้มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือประเทศยากจน มาตรการส่วนใหญ่ของการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ ก็เป็นเงินช่วยเหลือเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่คงจะไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย MDG ได้

อันดับที่ 4 การเจรจาภาวะโลกร้อน
ปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลก แต่การประชุมที่โคเปนเฮเกน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก็ประสบความล้มเหลว มี 4 เรื่องใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรกคือ รูปแบบของข้อตกลง ประเทศยากจนต้องการต่ออายุพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2012 ออกไป แต่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่ เรื่องที่สองคือ การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ประเทศยากจนต้องการให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 องศา แต่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา เรื่องที่สามคือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซลง 40% ภายในปี 2020 ส่วนประเทศร่ำรวยโดยเฉพาะสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้มีการกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซ และเรื่องที่สี่คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยต้องช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่าย 1% ของ GDP แต่ประเทศร่ำรวยไม่ยอมรับเป้าดังกล่าว
สำหรับในปีนี้ ได้มีการประชุมภาวะโลกร้อนที่เมือง Cancun ประเทศเม็กซิโก ในช่วงต้นเดือนธันวาคม การประชุมก็จบลงด้วยความล้มเหลวอีกครั้ง ถึงแม้จะมีการจัดตั้ง Green Climate Fund ในวงเงิน 1 แสนล้านเหรียญต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน แต่จำนวนเงินดังกล่าว ก็น้อยกว่าที่ประเทศยากจนเรียกร้องคือ 1% ของ GDP ของประเทศร่ำรวย และสำหรับในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่มีความคืบหน้าใดใด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข้อตกลง แม้ว่าประเทศยากจนจะพยายามผลักดันการต่ออายุพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศร่ำรวยก็ไม่ยอม การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกก็ยังตกลงกันไม่ได้ สำหรับการกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจกนั้น กลายเป็นถอยหลังลงคลอง เพราะจาก Copenhagen Accord กลายเป็นว่า แต่ละประเทศไปกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจกกันเอาเอง ตามความพร้อมของแต่ละประเทศ ด้วยหลักของความสมัครใจ แทนที่จะเป็นการตั้งระดับที่จะใช้กับทุกประเทศ เหมือนกับพิธีสารเกียวโต ความล้มเหลวของการประชุมที่ Cancun สาเหตุหลักมาจาก แต่ละประเทศมองในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติ จุดยืนของทุกประเทศจึงเหมือนกันหมด คือ พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบน้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด

อันดับที่ 3 Wikileaks
ข่าวการรั่วไหลข้อมูลลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านทางเวปไซท์ชื่อ Wikileaks กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อการทูตโลก วงการทูตโลกก็ปั่นป่วนไปหมด เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อโลก เป็นอันดับ 3
โดยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม Wikileaks ได้เปิดเผยว่า มีไฟล์ข้อมูลลับ 250,000 ไฟล์ ซึ่งเป็นไฟล์โทรเลขรายงานข้อมูลลับของสถานทูตสหรัฐฯ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1966 ถึง ปี 2010 โดยหลังจากได้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง Hillary Clinton บอกว่า ขอประณามการเปิดเผยข้อมูลลับอย่างผิดกฎหมาย การกระทำดังกล่าว ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ถือเป็นการโจมตีสหรัฐฯ และเป็นการโจมตีต่อประชาคมโลกด้วย
จากการเปิดเผยข้อมูลลับของ Wikileaks ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการทูตและการเมืองโลก มีข้อมูลหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบ โดยเฉพาะต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น Wikileaks ได้เปิดเผยถึงการที่สหรัฐฯ พยายามเข้าไปแทรกแซงในเรื่องนิวเคลียร์ของปากีสถาน ทำให้ในอนาคต สหรัฐฯ คงจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการเจรจากับปากีสถาน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในกรณีของเยเมน ที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ ที่รัฐบาลเยเมนสนับสนุนให้สหรัฐฯ โจมตีขบวนการก่อการร้ายในประเทศ นอกจากนั้น ข้อมูลลับยังได้เปิดเผยถึงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียๆ หายๆ จากนักการทูตสหรัฐฯ ต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในกรณีของอิหร่าน ข้อมูลลับได้เปิดเผยว่า ผู้นำอาหรับหลายประเทศได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ โจมตีอิหร่าน เพื่อยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น ผลกระทบในระยะยาวคือ ในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆ คงจะระมัดระวัง โดยเฉพาะการเปิดเผยความลับให้กับนักการทูตสหรัฐฯ ฟัง นอกจากนี้ นักการทูตสหรัฐฯ เอง ก็คงจะระมัดระวังและไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อะไรที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในกรณี Wikileaks ในครั้งนี้ คงเป็นสัญญาณเตือนนักการทูตทั่วโลก โดยในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆ คงจะระมัดระวังเป็นพิเศษในการติดต่อสื่อการกัน โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นความลับ

อันดับที่ 2 สงครามค่าเงิน
สถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อโลกเป็นอันดับ 2 คือ เรื่องสงครามค่าเงิน ซึ่งพัวพันไปกับวิกฤติของระบบการเงินโลก เรื่องหลักคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในเรื่องค่าเงินหยวน โดยสหรัฐฯ มองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ และทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่ค่าเงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% จึงทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก
ในช่วงปีนี้ สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการในการกดดันจีนอย่างหนัก โดยขู่ว่า จะประกาศให้จีนเป็น currency manipulator หรือ รัฐบาลที่มีการแทรกแซงและทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง เมื่อเดือนกันยายน สภาคองเกรส ได้มีมติรับร่างกฎหมายที่จะขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้จีน โดยมองว่า การแทรกแซงค่าเงินของจีนนั้น ถือเป็นมาตรการอุดหนุนการส่งออกที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังพยายามหาแนวร่วมกับประเทศต่างๆ ในการกดดันจีน โดยเฉพาะจาก EU และมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และกดดันทั้งในการประชุม IMF และ G20 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ความขัดแย้งดังกล่าวได้กลายเป็นสงครามค่าเงิน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและระบบค่าเงินโลก โดยหลายประเทศมีแนวโน้มจะใช้มาตรการปกป้องทางการค้า และมีมาตรการแทรกแซงค่าเงินของตนเลียนแบบจีน ระบบการเงินโลกก็ปั่นป่วน นำไปสู่การเกิดวิกฤติการเงิน ในยุโรปหลายประเทศ นอกจากนี้ สงครามค่าเงินได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ เงินทุนโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป ไหลทะลักเข้าสู่เศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้เกิดความหวาดวิตกว่า จะทำให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ ไทยก็ได้รับผลกระทบ โดยค่าเงินบาทได้เพิ่มค่าสูงขึ้นมาก และมีการไหลทะลักของเงินทุนต่างชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมองว่า การจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในระดับโลก จะเป็นหนทางในการป้องกันการทะลักการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในไทยได้

อันดับที่ 1 การผงาดขึ้นมาของจีน
สำหรับสถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญอันดับ 1 ในปีนี้ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับมหาอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ อย่างหนัก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวม เข้าทำนองช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในปีนี้ ได้เข้าสู่จุดวิกฤติ โดยได้เกิดความขัดแย้งกันหลายเรื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม ที่บริษัท Google ได้ประกาศถอนตัวออกจากจีน โดยอ้างว่า ถูกล้วงข้อมูลและถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์ ทั้ง Clinton และ Obama ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน ต่อมาเมื่อปลายเดือนมกราคม ได้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จากการที่รัฐบาล Obama ประกาศจะขายอาวุธให้กับไต้หวัน มูลค่า 6,000 ล้านเหรียญ รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง และประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทหาร และประกาศคว่ำบาตรบริษัทที่ขายอาวุธให้กับไต้หวัน โดยเฉพาะบริษัท Boeing และความสัมพันธ์ได้เสื่อมโทรมลงไปอีก หลังจากที่ Obama ได้พบกับ Dalai Lama ที่ทำเนียบขาว ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลจีนได้โจมตีรัฐบาล Obama อย่างรุนแรง โดยบอกว่า การพบปะดังกล่าว เป็นแทรกแซงกิจการภายในของจีน และได้ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของชาวจีนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ จีนโจมตีสหรัฐฯ ว่ามีมาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้น จีนเป็นเหยื่อของมาตรการที่ไม่เป็นธรรม สงครามการค้าก็เกิดขึ้น และสงครามค่าเงินก็ได้เกิดขึ้นตามมา ซึ่งผมได้วิเคราะห์ไปแล้ว (อันดับที่ 2)
นอกจากนี้ จีนยังขัดแย้งกับสหรัฐฯ ในปัญหาสำคัญของโลกหลายเรื่อง เช่น เรื่องการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ มองว่า จีนไม่ให้ความร่วมมือ เช่นเดียวกับเรื่องพม่า (อันดับที่ 7) และเกาหลีเหนือ (อันดับที่ 6) นอกจากนี้ การผงาดขึ้นมาของจีนและพฤติกรรมที่แข็งกร้าวเพิ่มขึ้นของจีน ยังได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาของโลกและปัญหาในภูมิภาคอีกหลายเรื่องที่ผมได้วิเคราะห์ไปแล้ว อาทิ เรื่องการให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (อันดับที่ 9) ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ (อันดับที่ 10) จีนได้ขัดแย้งกับญี่ปุ่น ในกรณี เกาะ Diaoyu หรือ Sensaku และความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดียก็ปะทุขึ้นในปีนี้ด้วย