Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

เอเชีย ปี 2013



เอเชีย ปี 2013

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556


คอลัมน์กระบวนทัศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ในปี 2013 นี้  ดังนี้

ระบบเศรษฐกิจเอเชีย

ในปีนี้ ระบบเศรษฐกิจเอเชียจะยังคงเดินหน้า ผงาดขึ้นมาในยุค The Rise of Asia พลวัตทางเศรษฐกิจโลกกำลังจะย้ายฐานจากตะวันตกมายังเอเชีย ขณะนี้ เอเชียค้าขายกันกว่า 60 % เศรษฐกิจรวมกันมีมูลค่าเกือบ 20 ล้านล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเอเชีย ขณะนี้ กำลังมีกระแสที่สวนทางกัน โดยขณะที่ระบบเศรษฐกิจกำลังก้าวหน้า แต่ระบบการเมืองความมั่นคงของเอเชียกำลังเดินสวนทาง มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยม นำไปสู่ความขัดแย้งทางดินแดน และความตึงเครียดทางทหาร ดูเหมือนกับว่า ระบบเศรษฐกิจเอเชียและระบบความมั่นคงเอเชีย ไม่ได้เดินไปในทิศทางเดียวกันเสียแล้ว แต่อาจจะกำลังจะเคลื่อนเข้ามาประทะกัน
กล่าวอีกในหนึ่ง ภูมิภาคเอเชียกำลังถูกกดดันด้วยพลังที่ขัดแย้งกัน ในมิติหนึ่ง ก็เป็นพลังของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้ประเทศ เศรษฐกิจ และประชาชนใกล้ชิดกัน โดยสะท้อนออกมาในรูปแบบของการค้าในภูมิภาค ซึ่งมีสูงถึง 60 % แต่ขณะเดียวกัน พลังของลัทธิชาตินิยม ก็กำลังจะคุกคามทำให้ภูมิภาคแตกสลาย
สำหรับระบบเศรษฐกิจในเอเชีย ขณะนี้ กำลังมีจีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน และกำลังมีแนวโน้มของการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็กำลังมีการเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยม และเร่งเสริมสร้างกำลังทางทหารกันเป็นการใหญ่ ประเทศต่างๆในเอเชีย แม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่บูรณาการกัน แต่ประเทศเหล่านี้กลับหันไปหาสหรัฐฯ ไปเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ โดยมีจีนเท่านั้นที่ยกเว้นไม่ได้เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ
การผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของเอเชีย กำลังท้าทายบทบาทและอำนาจทางเศรษฐกิจของอเมริกาในภูมิภาค การค้าการลงทุนระหว่างประเทศต่างๆในภูมิภาค กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ก็เกิดขึ้นมากมาย ระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกันโดยไม่มีสหรัฐฯ โดยนอกจากข้อตกลงทวิภาคีที่มีอยู่มากมายแล้ว ยังมีข้อตกลงพหุภาคี โดยมีอาเซียนเป็นแกนกลางอยู่หลายข้อตกลง นอกจากนี้ กำลังมีการเจรจา FTA ระหว่างญี่ปุ่น จีน เกาหลี และในกรอบอาเซียน  + 3 ก็มีการเพิ่มวงเงิน Chiang Mai Initiative มีมูลค่าสูงถึง 240,000 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประกาศระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา ที่จะเจรจา FTA ในกรอบอาเซียน + 6 ที่มีชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ซึ่งน่าจะมาเป็นคู่แข่งกับ FTA ที่สหรัฐฯ กำลังผลักดัน คือ TPP


ระบบความมั่นคงเอเชีย

ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจเอเชียกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ระบบความมั่นคงของภูมิภาคกับเดินสวนทาง ขณะนี้กำลังมีความขัดแย้งกันอย่างหนักระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะในเรื่องดินแดน ความขัดแย้งทางด้านความมั่นคงกำลังจะลุกลามบานปลายส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของเอเชียด้วย ขณะนี้ กำลังมีความขัดแย้งกัน ทั้งในทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้ บูรณาการทางเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยทำให้ภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพ แต่กลับกลายเป็นว่าความขัดแย้งทางการเมือง กำลังจะทำให้การผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของเอเชียดูเปราะบาง
ตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ในกรณีพิพาทเกาะเซนกากุ หรือเกาะเตียวหยู ซึ่งทำให้คนจีนเดินขบวนประท้วงญี่ปุ่นในหลายเมืองใหญ่ของจีน นักธุรกิจญี่ปุ่นถูกทำร้าย เที่ยวบินหลายพันเที่ยวบินระหว่างจีนกับญี่ปุ่นถูกยกเลิก บริษัทใหญ่ๆของญี่ปุ่นต้องปิดโรงงานในจีน รวมทั้งสินค้าญี่ปุ่น โดยเฉพาะรถยนต์ญี่ปุ่นที่ขายในจีน ก็มีปริมาณลดลงเป็นอย่างมาก และญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน นักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศก็ลดลงเป็นอย่างมาก ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ตกต่ำลงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ในปี 1972
นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นในกรณีเกาะด็อกโด และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนหลายประเทศ ความขัดแย้งเหล่านี้กำลังจะทำให้ภูมิภาคเอเชียคล้ายกับคาบสมุทรบอลข่านในช่วงศตวรรษที่แล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนาม และจีนกับฟิลิปปินส์ ก็เสื่อมทรามลงเป็นอย่างมาก อาเซียนในฐานะสถาบันในภูมิภาคก็กำลังแตกแยกกันอย่างหนัก  ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ถือเป็นปัญหาใหญ่มากที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าหรือความขัดแย้งทางทหารในภูมิภาคได้ ทั้งจีนและประเทศอาเซียนที่เป็นประเทศคู่กรณี โดยเฉพาะเวียดนามและฟิลิปปินส์ ก็กำลังปลุกกระแสลัทธิชาตินิยมกันเต็มที่ ขณะนี้ ความขัดแย้งยังคุกรุ่นและยังล่อแหลมอยู่ ตัวแปรสำคัญคือสหรัฐฯ ซึ่งต้องการใช้ประเด็นความขัดแย้งนี้ ในการเพิ่มบทบาททางทหารของตน และต้องการยุแหย่ให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ถือเป็นความขัดแย้งที่หนักที่สุดในภูมิภาคอาเซียน คือสงครามอาจจะเกิดขึ้นได้ และอาจลุกลามบานปลาย หากสหรัฐฯ เข้าแทรกแซง และเกิดความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับจีน


ความขัดแย้งจีนสหรัฐฯ

ต้นตอของปัญหา คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ กำลังวิตกกังวลว่า จีนจะผงาดขึ้นมาแข่งกับตน จึงมียุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน และพยายามยุแหย่ให้ประเทศเพื่อนบ้านทะเลาะกับจีน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และระหว่างจีนกับอาเซียนในทะเลจีนใต้ จีนไม่พอใจสหรัฐฯ เป็นอย่างมากที่เข้ามาแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯ ถือหางเวียดนาม และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็เข้าแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นด้วย โดยท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ คือ ถือหางญี่ปุ่นอย่างชัดเจน จีนจึงมองว่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ คือ ต้องการให้จีนกับอาเซียน และจีนกับญี่ปุ่น ทะเลาะกัน และต้องการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีน   
ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ขณะนี้ กำลังมีนโยบายเชิงรุกอย่างหนัก โดยเน้นการสร้างพันธมิตร เน้นสร้างความขัดแย้ง และเน้นการปิดล้อมจีน ประธานาธิบดีโอบามา ก็เพิ่งมาเยือนไทยและกระชับพันธมิตรทางทหารกับไทย รวมทั้ง การไปเยือนพม่าและกัมพูชาด้วย นอกจากนี้สหรัฐฯ ได้เข้าไปมีบทบาทในเวทีต่างๆ ของอาเซียน ทั้งในกรอบอาเซียนสหรัฐฯ และกรอบ EAS เพื่อแข่งกับอิทธิพลของจีนในอาเซียน
ส่วนจีนก็พยายามตอบโต้ยุทธศาสตร์การปิดล้อมของสหรัฐฯ ด้วยการเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียน แต่ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าชนกับสหรัฐฯและอาเซียนในเรื่องทะเลจีนใต้ อิทธิของจีน เห็นได้ชัดจากการที่กัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนปีที่แล้ว ถือหางจีนเต็มที่ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว
ดังนั้น จีนกับสหรัฐฯ กำลังแข่งขันกันในมิติด้านความมั่นคง และผลลัพธ์ของการแข่งขันคือ ความขัดแย้งจีนกับญี่ปุ่น และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ส่วนทางด้านเศรษฐกิจนั้น เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ทั้งสองประเทศแข่งขันกันอย่างหนัก โดยประเด็นหลักคือ การแข่งขันกันในการจัดทำ FTA ในภูมิภาค จีนสนับสนุน RCEP เต็มที่ ในขณะที่สหรัฐฯผลักดัน TPP สหรัฐฯ มี hidden agenda ที่จะผลักดัน TPP เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมและโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ และใช้เป็นตัวกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ เป็นตัวกันในการจัดตั้ง FTA ในกรอบอาเซียน + 3 แต่การเจรจาบรรลุข้อตกลง TPP ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้สหรัฐฯ วิตกกังวลว่า หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลง TPP ได้ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย จะหันไปให้ความสำคัญกับ RCEP ซึ่งมีจีนสนับสนุนอยู่ ดังนั้นการแข่งขันกันระหว่าง TPP กับ RCEP กำลังจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็กำลังจะเข้มข้นขึ้นด้วย  


อาเซียน

ดังนั้น การที่ระบบการเมืองความมั่นคงในภูมิภาค และระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค กำลังระส่ำระสาย ก็จะส่งผลกระทบต่ออาเซียนด้วย
ที่ผ่านมา อาเซียนค่อนข้างจะเสียเครดิต ในฐานะที่เป็นสถาบันความมั่นคงในภูมิภาค แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาจัดการความขัดแย้งในภูมิภาคได้เลย
มิหนำซ้ำ อาเซียนกำลังจะถูกระบบความมั่นคง และความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ ทำให้อาเซียนแตกแยก ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ เมื่อกลางปีที่แล้ว อาเซียนก็ขัดแย้งกันถึงขั้นแตกหัก เรื่องที่ทำให้เกิดปัญหา คือ ปัญหาทะเลจีนใต้ โดยมีกัมพูชาถือหางจีน ไม่ยอมตามคำขอของเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่ต้องการให้ใส่ข้อความเกี่ยวกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ในแถลงการณ์ร่วม แต่ในที่สุดก็ตกลงกันไม่ได้ จึงทำให้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 45 ปีของอาเซียน ที่ไม่มีแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
สำหรับกรอบการประชุมอื่นๆของอาเซียน ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความขัดแย้งในภูมิภาค  โดยเฉพาะเวที ASEAN Regional Forum หรือ ARF ที่เป็นเวทีหารือทางด้านความมั่นคงที่สำคัญในภูมิภาค แต่ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะเรื่องความขัดแย้งสำคัญๆ ก็ไม่สามารถนำมาหารือในเวทีนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ ปัญหาไต้หวัน และปัญหาอินเดีย-ปากีสถาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในมิติด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแข่งขันกันระหว่าง TPP กับ RCEP ก็ส่งผลกระทบต่ออาเซียนด้วย ทั้งสหรัฐฯ และจีน ก็คงต้องการให้อาเซียนแตกแยก และ RCEP และ TPP ก็จะทำให้อาเซียนแตกแยก ที่เห็นชัดคือ TPP ที่ขณะนี้มี 4 ประเทศอาเซียนเข้าร่วม แต่อีก 6ประเทศ ยังไม่เข้าร่วม
ความแตกแยกเช่นนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา อาเซียนพยายามผลักดันหลักการเรื่อง ASEAN Centrality คือ การที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค แต่การแตกแยกและการไม่มีเอกภาพของอาเซียน จะทำให้อาเซียนเล่นบทบาทนี้ยากขึ้นทุกที
ดังนั้น อาเซียนจะต้องรีบกำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างเอกภาพและยุติความแตกแยก และกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อมหาอำนาจ โดยเฉพาะต่อสหรัฐฯ และจีน และรีบเร่งในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของอาเซียนในการเป็นกลไกจัดการความขัดแย้งในภูมิภาค และทำให้ระบบความมั่นคงในภูมิภาคมีเสถียรภาพและเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะต้องพยายามทำให้ระบบความมั่นคงเอเชียไม่เดินสวนทางกับระบบเศรษฐกิจเอเชีย หากอาเซียนประสบความสำเร็จ อาเซียนก็จะผงาดขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นมาของเอเชีย หรือ The Rise of Asia ใน ศตวรรษที่ 21